เขียนโดยยอห์น 16:1-33
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ถูกไล่ออกจากที่ประชุมของชาวยิว: หรือ “ถูกขับไล่, ถูกห้ามไม่ให้เข้าที่ประชุมของชาวยิว” มีการใช้คำคุณศัพท์กรีก อาพอสูนาโกกอส แค่ 3 ครั้งคือในข้อนี้กับ ยน 9:22 และ 12:42 คนที่ถูกไล่ออกจากที่ประชุมของชาวยิวจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและถูกสังคมรังเกียจ ใครที่ถูกตัดขาดแบบนี้คงจะลำบากและยากจนมาก ปกติแล้วที่ประชุมของชาวยิวเป็นที่ที่ใช้สำหรับการเรียนรู้เรื่องพระเจ้า แต่บางครั้งก็ใช้เป็นศาลท้องถิ่นด้วย ศาลเหล่านี้มีอำนาจตัดสินลงโทษโดยการเฆี่ยนและขับไล่ออกจากชุมชน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:17) การที่พระเยซูบอกล่วงหน้าว่าพวกสาวกจะถูกไล่ออกจากที่ประชุมเป็นการเตือนให้พวกเขารู้ว่าการติดตามท่านอาจส่งผลกับพวกเขาอย่างไร ถึงแม้ก่อนหน้านี้พระเยซูเคยบอกแล้วว่าโลกนี้จะเกลียดชังสาวกของท่าน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ท่านบอกตรง ๆ ว่าพวกเขาบางคนจะถูกฆ่า
การรับใช้พระเจ้า: มาจากคำกรีก ลาเตร่อา หมายถึงการนมัสการ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคำนามนี้ใช้หมายถึงการรับใช้พระเจ้าเท่านั้น (รม 9:4; 12:1; ฮบ 9:1, 6)—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกริยากรีก ลาตรือโอ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:74
ผู้ช่วย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 14:16
ผู้ช่วยนั้น: หมายถึง “ผู้ช่วย” ที่พูดถึงในข้อก่อนหน้านี้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 16:13) ตอนที่พระเยซูพูดถึงพลังบริสุทธิ์ซึ่งไม่ใช่บุคคลว่าเป็นผู้ช่วยและบอกว่าพลังนี้จะ “สอน” “เป็นพยานยืนยัน” ‘ช่วยให้เข้าใจ’ “พูด” และ “ได้ยิน” ท่านไม่ได้หมายความว่าพลังนี้เป็นบุคคลจริง ๆ (ยน 14:26; 15:26; 16:7-15) ในพระคัมภีร์เป็นเรื่องปกติที่จะให้ภาพเปรียบเทียบสิ่งที่ไม่มีชีวิตว่าทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต ในท้องเรื่องนี้ พลังของพระเจ้าจะทำให้โลกรู้ความจริงเกี่ยวกับบาปในความหมายที่ว่าจะมีการเปิดโปงว่าโลกไม่ได้แสดงความเชื่อในลูกของพระเจ้า และพลังนี้จะทำให้โลกรู้ความจริงเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมในความหมายที่ว่าการขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเป็นการพิสูจน์ว่าท่านมีความถูกต้องชอบธรรม และพลังนี้จะทำให้รู้ว่าทำไมซาตาน “ผู้ปกครองโลกนี้” สมควรถูกตัดสินลงโทษ (ยน 16:9-11) คำกรีก เอะเล็งโฆ ที่แปลในข้อนี้ว่า “ทำให้ . . . รู้ความจริง” อาจแปลได้ด้วยว่า “ว่ากล่าวตักเตือน”—1ทธ 5:20; ทต 1:9
ผู้ช่วยนั้น: หมายถึง “ผู้ช่วย” ที่พูดถึงใน ยน 16:7 พระเยซูใช้คำว่า “ผู้ช่วย” (คำนามกรีกเพศชาย) เพื่อให้ภาพเปรียบเทียบพลังบริสุทธิ์ (คำนามกรีกที่ไม่ระบุเพศ) ที่ไม่มีชีวิตว่าทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 14:16
โลก: ในท้องเรื่องนี้ คำกรีก คอสม็อส หมายถึงสังคมมนุษย์ที่ไม่นมัสการพระเจ้าและไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 15:19
เกิดมาในโลก: ในข้อนี้พระเยซูใช้การเกิดของมนุษย์เป็นภาพเปรียบเทียบให้เห็นว่าความทุกข์และความโศกเศร้าจะ “เปลี่ยนเป็นความสุข” ได้อย่างไร (ยน 16:20) ผู้หญิงตอนคลอดลูกจะเจ็บปวดมาก แต่พอลูกคลอดออกมาเธอก็ลืมความเจ็บปวดนั้นไปหมด ในท้องเรื่องนี้ คำว่า “โลก” (คำกรีก คอสม็อส) หมายถึงระบบสังคมมนุษย์หรือสภาพแวดล้อมที่เด็กเกิดมา บางครั้งในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้คำว่า “โลก” ในความหมายนี้ด้วย—1คร 14:10; 1ทธ 6:7; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 9:25
อะไร: นอกจากเรื่องที่พระเยซูพูดถึงในคำอธิษฐานแบบอย่างของท่าน (มธ 6:9-13) พระคัมภีร์ก็ยังพูดถึงอีกหลายเรื่องที่มีผลกระทบต่อผู้รับใช้ของพระเจ้าและเป็นเรื่องที่เหมาะจะพูดในคำอธิษฐาน ดังนั้น เราสามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ในคำอธิษฐานส่วนตัวของเรา—ฟป 4:6; 1ปต 5:7; 1ยน 5:14
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 10:6
รักพวกคุณ: มีการแปลคำกริยากรีก ฟิเละโอ ว่า “รัก” “ชอบ” และ “จูบ” (มธ 23:6; ยน 12:25; มก 14:44) คำนี้อาจใช้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสนิท ตอนที่พระเยซูเดินไปที่อุโมงค์ฝังศพของลาซารัส ท่าน “ร้องไห้น้ำตาไหล” จนคนที่เห็นบอกว่า “ดูสิ เขารัก [รูปคำหนึ่งของคำกริยากรีก ฟิเละโอ] ลาซารัสมากจริง ๆ” (ยน 11:35, 36) นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูก (มธ 10:37) อย่างที่เห็นในข้อนี้ มีการใช้คำกริยา ฟิเละโอ เพื่อแสดงถึงความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดมากที่พระยะโฮวามีต่อสาวกของพระเยซู รวมทั้งความรู้สึกสนิทสนมที่สาวกมีต่อพระเยซูด้วย นอกจากนั้น ที่ ยน 5:20 ยังมีการใช้คำกริยากรีกเดียวกันนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพระยะโฮวาและพระเยซู
เพราะผม: ในท้องเรื่องนี้ คำบุพบทกรีก (เอน) อาจมีความหมายได้ทั้งการเป็นตัวแทน (“เพราะผม”) และความใกล้ชิดสนิทสนม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 10:38
ผมชนะโลกแล้ว: ในท้องเรื่องนี้ คำกรีก คอสม็อส (“โลก”) หมายถึงสังคมมนุษย์ที่ไม่นมัสการพระเจ้าและไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ มีการใช้คำว่า “โลก” ในความหมายนี้ที่ ยน 12:31; 15:19; 2ปต 2:5; 3:6 และ 1ยน 2:15-17; 5:19 ด้วย การกระทำและความคิดของคนส่วนใหญ่ใน “โลกนี้” ไม่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้าที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (1ยน 2:16) ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูอยู่บนโลกท่านพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ผมชนะโลกแล้ว” พระเยซูชนะโลกโดยที่ท่านไม่เป็นเหมือนคนในโลก และไม่ยอมให้ความคิดและการการกระทำของคนที่ไม่นมัสการพระเจ้ามีอิทธิพลกับท่านเลย การที่พระเยซูมีความเชื่อ ความภักดี และซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเป็นการพิสูจน์ว่าซาตาน “ผู้ปกครองโลก” นี้ “ไม่มีอำนาจ” เหนือท่าน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 14:30) คำอธิษฐานของพระเยซูที่บันทึกในยอห์นบท 17 แสดงให้เห็นว่าทั้งตัวท่านและสาวกไม่ได้เป็นคนของโลกนี้ (ยน 17:15, 16) และตอนที่พระเยซูถูกปีลาตผู้ว่าราชการโรมันสอบสวน ท่านก็บอกเขาว่า “รัฐบาลของผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้” (ยน 18:36) หลังจากเหตุการณ์นั้นมากกว่า 60 ปี ยอห์นได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ความเชื่อของเรานี่แหละที่ทำให้เราชนะโลก”—1ยน 5:4, 5