เขียนโดยมาระโก 16:1-8
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
สะบาโต: วันสะบาโต (วันที่ 15 เดือนนิสาน) สิ้นสุดลงตอนที่ดวงอาทิตย์ตก หนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มมีบันทึกเหตุการณ์ตอนที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย—มธ 28:1-10; มก 16:1-8; ลก 24:1-12; ยน 20:1-29
มารีย์มักดาลา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:56
ยากอบ: คือยากอบน้อย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
สะโลเม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
ซื้อเครื่องหอม . . . เทบนศพของพระเยซู: ตอนนั้นศพของพระเยซูถูกเตรียมไว้แล้วสำหรับฝัง “ตามธรรมเนียมการฝังศพของชาวยิว” (ยน 19:39, 40) แต่เนื่องจากพระเยซูตายประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนที่วันสะบาโตจะเริ่มและชาวยิวไม่สามารถเตรียมศพในวันสะบาโตได้ พวกเขาจึงต้องรีบเตรียมศพพระเยซู ดังนั้น ทันทีที่วันสะบาโตผ่านพ้นไป คือวันที่ 3 หลังจากพระเยซูถูกประหาร พวกผู้หญิงจึงอาจเอาเครื่องหอมและน้ำมันมาเทเพิ่มบนศพของท่านเพื่อรักษาศพให้อยู่ได้นานขึ้น (ลก 23:50-24:1) ดูเหมือนว่าพวกเธอเทเครื่องหอมและน้ำมันลงบนศพของพระเยซูที่ห่อผ้าไว้
วันแรกของสัปดาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:1
อุโมงค์ฝังศพ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:60
หิน: ดูเหมือนเป็นแผ่นหินกลม เพราะข้อนี้บอกว่าพวกผู้หญิงพูดกันว่าใครจะเป็นคน “กลิ้งหินออก” และข้อ 4 ก็บอกว่าหินนี้ “ถูกกลิ้งออกไป” หินนี้น่าจะหนักประมาณ 1 ตันหรือมากกว่านั้น บันทึกของมัทธิวใช้คำว่า “หินก้อนใหญ่”—มธ 27:60
ไปบอกพวกสาวก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:7
และเปโตร: มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีเพียงคนเดียวที่ให้รายละเอียดว่าทูตสวรรค์พูดถึงชื่อเปโตรโดยเฉพาะ (เทียบกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันใน มธ 28:7) ยน 20:2 บอกว่ามารีย์มักดาลาไปบอกเรื่องนี้กับ “ซีโมนเปโตรกับสาวกคนนั้น” ซึ่งก็คือยอห์น ดูเหมือนว่าก่อนที่พระเยซูจะปรากฏตัวให้พวกสาวกเห็น ท่านไปหาเปโตรที่อยู่ตามลำพัง (ลก 24:34; 1คร 15:5) การที่เปโตรได้รับความสนใจเป็นส่วนตัวและการที่ทูตสวรรค์พูดถึงชื่อเขาโดยเฉพาะคงต้องทำให้เปโตรมั่นใจว่าพระเยซูให้อภัยเขาที่ได้ปฏิเสธว่าไม่รู้จักท่านถึง 3 ครั้ง—มธ 26:73-75
เพราะกลัวมาก: สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่หาได้ในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนสุดท้ายของหนังสือมาระโกจบด้วยข้อความในข้อ 8 อย่างไรก็ตาม บางคนให้ความเห็นว่าการจบแบบนั้นห้วนเกินไปจนไม่น่าจะเป็นคำลงท้ายที่อยู่ในต้นฉบับของหนังสือนี้ แต่ถ้ามองจากสไตล์การเขียนที่กระชับของมาระโกแล้ว ความเห็นแบบนั้นไม่น่าจะถูกต้อง นอกจากนั้น เจโรมกับยูเซบิอุสผู้เชี่ยวชาญในศตวรรษที่ 4 ก็บอกว่าต้นฉบับของหนังสือมาระโกจบด้วยคำว่า “เพราะกลัวมาก”
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกและฉบับแปลหลายฉบับเพิ่มคำลงท้ายแบบยาวและแบบสั้นต่อจากข้อ 8 คำลงท้ายแบบยาว (เพิ่มมา 12 ข้อ) มีอยู่ในโคเดกซ์อะเล็กซานดรินุส โคเดกซ์เอแฟรมิ ซีรี เรสคริปทุส และโคเดกซ์เบแซ แคนตาบริจิเอนซิส ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากศตวรรษที่ 5 และยังมีอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับวัลเกต ภาษาละติน ฉบับเคอร์โตเนียนภาษาซีรีแอก และฉบับเพชิตตา ภาษาซีรีแอกด้วย แต่คำลงท้ายแบบยาวนี้ไม่ได้อยู่ในสำเนาภาษากรีก 2 ฉบับจากศตวรรษที่ 4 ที่เก่าแก่กว่า คือโคเดกซ์ไซนายติคุสและโคเดกซ์วาติกานุส และไม่ได้อยู่ในโคเดกซ์ไซนายติคุสซีเรียคุสจากศตวรรษที่ 4 หรือ 5 รวมทั้งไม่ได้อยู่ในสำเนาของหนังสือมาระโกที่เก่าแก่ที่สุดในภาษาคอปติกแบบซาฮิดิกจากศตวรรษที่ 5 ด้วย นอกจากนั้น สำเนาของหนังสือมาระโกที่เก่าแก่ที่สุดในภาษาอาร์เมเนียและภาษาจอร์เจียก็จบที่ข้อ 8 เหมือนกัน
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกและฉบับแปลบางฉบับในยุคต่อมามีคำลงท้ายแบบสั้น (เพิ่มมาไม่กี่ประโยค) ส่วนโคเดกซ์เรจิอุสจากศตวรรษที่ 8 มีคำลงท้ายทั้งสองแบบโดยเรียงจากแบบสั้นก่อน ซึ่งคำนำของคำลงท้ายทั้งแบบสั้นและแบบยาวในโคเดกซ์นี้บอกว่า ถึงแม้ข้อความเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้อยู่ในต้นฉบับ แต่ก็เป็นที่ยอมรับจากคนบางกลุ่มในศตวรรษที่ 8
คำลงท้ายแบบสั้น
คำลงท้ายแบบสั้นหลัง มก 16:8 ไม่ใช่ข้อความในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ คำลงท้ายแบบนี้อ่านว่า
แต่ทุกสิ่งที่ทรงสั่งไว้นั้น พวกเขาได้เล่าให้คนที่อยู่กับเปโตรฟังอย่างย่อ ๆ หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ พระเยซูทรงส่งพวกเขาไปประกาศข่าวอันศักดิ์สิทธิ์และไม่มีวันเสื่อมสูญเรื่องความรอดนิรันดร์ตั้งแต่ทิศตะวันออกจนถึงทิศตะวันตก
คำลงท้ายแบบยาว
คำลงท้ายแบบยาวหลัง มก 16:8 ไม่ใช่ข้อความในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ คำลงท้ายแบบนี้อ่านว่า
9 หลังจากพระองค์ทรงเป็นขึ้นจากตายในตอนเช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์แล้ว พระองค์ทรงปรากฏแก่มาเรียมักดาลาเป็นคนแรก คือคนที่พระองค์เคยขับปิศาจออกเจ็ดตน 10 นางจึงไปบอกเรื่องนี้แก่คนที่เคยอยู่กับพระองค์ซึ่งกำลังโศกเศร้าและร้องไห้อยู่ 11 แต่พวกเขาไม่เชื่อเมื่อได้ยินว่าพระองค์คืนพระชนม์แล้วและนางได้เห็นพระองค์ 12 นอกจากนั้น หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ พระองค์ทรงปรากฏกายอีกแบบหนึ่งแก่สาวกสองคนขณะที่พวกเขากำลังเดินทางไปนอกเมือง 13 และสองคนนั้นได้กลับมาบอกคนอื่น ๆ คนเหล่านั้นก็ไม่เชื่อสองคนนี้เช่นกัน 14 แต่ต่อมาพระองค์ทรงปรากฏแก่สาวกสิบเอ็ดคนขณะที่พวกเขากำลังนั่งเอนกายอยู่ที่โต๊ะ และพระองค์ทรงตำหนิที่พวกเขาขาดความเชื่อและมีหัวใจแข็งกระด้าง เพราะพวกเขาไม่เชื่อคนที่ได้เห็นพระองค์ซึ่งถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายแล้ว 15 และพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “จงไปทั่วโลกและประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทั้งปวง 16 คนที่เชื่อและรับบัพติสมาจะได้รับการช่วยให้รอด แต่คนที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ 17 นอกจากนั้น ผู้ที่เชื่อจะทำการอัศจรรย์เหล่านี้ด้วย คือ พวกเขาจะขับปิศาจโดยใช้นามของเรา จะพูดภาษาต่าง ๆ 18 จะจับงูพิษด้วยมือเปล่า และถ้าพวกเขาดื่มอะไรที่มีพิษถึงตาย พวกเขาจะไม่เป็นอันตรายเลย พวกเขาจะวางมือบนคนป่วยและคนเหล่านั้นจะหายดี”
19 เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสกับพวกเขาแล้ว พระองค์ก็ถูกรับไปสวรรค์และทรงนั่งด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า 20 ดังนั้น พวกเขาจึงออกไปประกาศทุกแห่งหน ขณะที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานร่วมกับพวกเขาและทรงสนับสนุนข่าวสารนั้นด้วยการอัศจรรย์ต่าง ๆ
วีดีโอและรูปภาพ
โคเดกซ์ไซนายติคุสเป็นสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่เขียนบนแผ่นหนังลูกวัว สำเนานี้ทำขึ้นในศตวรรษที่ 4 มีข้อความจากพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทั้งหมดและบางส่วนจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษากรีก นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลถือว่าโคเดกซ์ไซนายติคุสเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก โคเดกซ์นี้อยู่ในอารามเซนต์ แคเทอรีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาซีนายจนกระทั่งถูกค้นพบในช่วงกลางทศวรรษ 1800 ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ของโคเดกซ์ไซนายติคุสรวมทั้งส่วนที่เห็นในภาพนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งอังกฤษ ในกรุงลอนดอน ภาพนี้แสดงให้เห็นตอนจบของหนังสือข่าวดีของมาระโก (หมายเลข 1) และตอนเริ่มต้นของหนังสือลูกา (หมายเลข 2) โคเดกซ์นี้และโคเดกซ์ที่สำคัญพอ ๆ กันจากศตวรรษที่ 4 คือโคเดกซ์วาติกานุสแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรื่องราวในหนังสือมาระโกจบที่มาระโก 16:8 เหมือนกับคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับในปัจจุบัน
สำเนาวาติกันหมายเลข 1209 มีอีกชื่อหนึ่งว่าโคเดกซ์วาติกานุส ทำขึ้นในศตวรรษที่ 4 นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลเชื่อว่าโคเดกซ์นี้เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก ภาพนี้แสดงให้เห็นตอนจบของหนังสือข่าวดีของมาระโก โคเดกซ์นี้และโคเดกซ์ที่สำคัญพอ ๆ กันจากศตวรรษที่ 4 คือโคเดกซ์ไซนายติคุสแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรื่องราวในหนังสือมาระโกจบที่มาระโก 16:8 เหมือนกับคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับในปัจจุบัน โคเดกซ์วาติกานุสน่าจะทำขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรียประเทศอียิปต์ ตัวหนังสือจาง ๆ ที่เห็นในแผ่นโคเดกซ์นี้แสดงว่าผู้คัดลอกอาจเอาแผ่นหนังเก่ามาใช้ ตอนแรกโคเดกซ์นี้มีคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มในภาษากรีกซึ่งอาจมีประมาณ 820 แผ่น แต่ตอนนี้มี 759 แผ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ แผ่นที่หายไปคือหนังสือปฐมกาลแทบทั้งหมด ส่วนหนึ่งของหนังสือสดุดี หนังสือฮีบรู 9:14 ถึง 13:25 และทั้งหมดของ 1 และ 2 ทิโมธี ทิตัส ฟีเลโมน และวิวรณ์ เป็นที่รู้กันว่าโคเดกซ์วาติกานุสถูกเก็บไว้ในหอสมุดวาติกันในกรุงโรมประเทศอิตาลีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15