ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทสิบเจ็ด

จงเข้าใกล้พระเจ้าโดยการอธิษฐาน

จงเข้าใกล้พระเจ้าโดยการอธิษฐาน
  • ทำไมเราควรอธิษฐานถึงพระเจ้า?

  • เราต้องทำอะไรเพื่อพระเจ้าจะทรงฟังเรา?

  • พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเราโดยวิธีใด?

พระผู้สร้างฟ้าและแผ่นดินโลก’ ทรงเต็มพระทัยที่จะฟังคำอธิษฐานของเรา

1, 2. ทำไมเราควรถือว่าการอธิษฐานเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ และทำไมเราจำเป็นต้องรู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรในเรื่องนี้?

เมื่อเทียบกับเอกภพอันกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว โลกนับว่าเล็กนิดเดียว. ที่จริง สำหรับพระยะโฮวา “ผู้ซึ่งทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินโลก” แล้ว ประเทศชาติทั้งสิ้นเป็นเหมือนน้ำหยดเดียวจากถัง. (บทเพลงสรรเสริญ 115:15; ยะซายา 40:15) ถึงกระนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้คนทั้งปวงที่ทูลต่อพระองค์, คือคนที่ทูลพระองค์ด้วยใจสัตย์ซื่อ. พระองค์จะทรงโปรดตามความปรารถนาของคนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระองค์; พระองค์จะทรงสดับฟังคำร้องทุกข์ของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:18, 19) คิดดูสิว่านั่นหมายถึงอะไร! พระผู้สร้างที่มีฤทธานุภาพทุกประการทรงอยู่ใกล้เราและจะสดับฟังหากเรา “ทูลพระองค์ด้วยใจสัตย์ซื่อ.” นับว่าเป็นเกียรติจริง ๆ ที่เราสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าโดยการอธิษฐาน!

2 อย่างไรก็ดี หากเราต้องการให้พระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานของเรา เราต้องอธิษฐานถึงพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงยอมรับ. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไรถ้าเรายังไม่เข้าใจสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเกี่ยวกับการอธิษฐาน? นับว่าสำคัญที่เรารู้ว่าพระคัมภีร์กล่าวอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะการอธิษฐานจะช่วยเราให้ใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น.

ทำไมจึงอธิษฐานถึงพระยะโฮวา?

3. อะไรคือเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรอธิษฐานถึงพระยะโฮวา?

3 เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรอธิษฐานถึงพระยะโฮวาก็คือ พระองค์ทรงเชิญเราให้ทำเช่นนั้น. พระคำของพระองค์สนับสนุนเราว่า “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจและจิตใจท่านทั้งหลายไว้โดยทางพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7) แน่นอน เราไม่ต้องการจะมองข้ามการจัดเตรียมด้วยความกรุณาเช่นนั้นที่ผู้ปกครององค์สูงสุดของเอกภพได้ทรงทำเพื่อเรา!

4. การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นประจำช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ให้แน่นแฟ้นขึ้นอย่างไร?

4 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่เราควรอธิษฐานคือ การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นประจำเป็นวิธีเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ให้แน่นแฟ้นขึ้น. เพื่อนแท้ไม่ได้พูดจากันเฉพาะตอนที่ต้องการอะไรบางอย่างเท่านั้น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เพื่อนที่ดีสนใจกันและกัน และเขาจะยิ่งสนิทกันมากขึ้นเมื่อเขาเปิดเผยความคิด, ความห่วงใย, และความรู้สึกของตนออกมา. ความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้าในบางแง่ก็คล้ายกันนั้น. โดยอาศัยหนังสือเล่มนี้ คุณได้เรียนรู้หลายอย่างว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนเช่นไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา, บุคลิกลักษณะ, และพระประสงค์ของพระองค์. คุณได้มารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่มีตัวตนอยู่จริง. การอธิษฐานทำให้คุณมีโอกาสแสดงความคิดและความรู้สึกในส่วนลึกที่คุณมีต่อพระบิดาของคุณผู้สถิตในสวรรค์. ขณะที่คุณทำเช่นนี้ คุณก็จะใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น.—ยาโกโบ 4:8.

เราต้องทำตามข้อเรียกร้องอะไรบ้าง?

5. อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาไม่ได้ฟังคำอธิษฐานของทุกคน?

5 พระยะโฮวาทรงฟังคำอธิษฐานของทุกคนไหม? ขอพิจารณาสิ่งที่พระองค์ตรัสแก่ชาวอิสราเอลที่กบฏขัดขืนในสมัยของผู้พยากรณ์ยะซายาห์ว่า “เมื่อเจ้าอธิษฐานมากมายหลายหน, เราจะไม่ฟัง: ด้วยมือของพวกเจ้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต.” (ยะซายา 1:15) ดังนั้น การกระทำบางอย่างอาจเป็นเหตุให้พระเจ้าไม่ฟังคำอธิษฐานของเรา. เพราะฉะนั้น เพื่อให้พระเจ้าฟังคำอธิษฐานของเราด้วยความพอพระทัย เราต้องทำตามข้อเรียกร้องพื้นฐานบางประการของพระองค์.

6. เพื่อพระเจ้าจะฟังคำอธิษฐานของเรา อะไรเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญประการแรก และเราจะทำตามข้อเรียกร้องนั้นได้อย่างไร?

6 ข้อเรียกร้องสำคัญประการแรกคือเราต้องแสดงความเชื่อ. (มาระโก 11:24) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้เลย เพราะผู้ที่เข้ามาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และเชื่อว่าพระองค์ทรงประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.” (ฮีบรู 11:6) การมีความเชื่อแท้ไม่ใช่แค่รู้ว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่และรู้ว่าพระองค์ทรงฟังและตอบคำอธิษฐาน. ความเชื่อพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ. เราต้องแสดงหลักฐานชัดเจนว่าเรามีความเชื่อโดยวิธีที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน.—ยาโกโบ 2:26.

7. (ก) เหตุใดเราควรแสดงความนับถือเมื่อพูดกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน? (ข) เมื่ออธิษฐานถึงพระเจ้า เราจะแสดงความถ่อมใจและความจริงใจได้อย่างไร?

7 พระยะโฮวายังต้องการให้คนเหล่านั้นที่อธิษฐานเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความถ่อมใจและความจริงใจ. เรามีเหตุผลที่จะถ่อมใจเมื่อพูดกับพระยะโฮวามิใช่หรือ? เมื่อผู้คนมีโอกาสพูดกับกษัตริย์หรือนายกรัฐมนตรี ตามปกติแล้วเขาทำเช่นนั้นด้วยความเคารพนับถือ เนื่องจากยอมรับตำแหน่งอันสูงส่งของผู้ปกครองคนนั้น. เราควรแสดงความนับถือมากกว่านั้นสักเพียงไรเมื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวา! (บทเพลงสรรเสริญ 138:6) ที่จริง พระองค์เป็น “พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ยิ่งที่สุด.” (เยเนซิศ 17:1) เมื่อเราอธิษฐานถึงพระเจ้า กิริยาท่าทางของเราขณะเข้าเฝ้าพระองค์นั้น ควรแสดงให้เห็นว่าเรายอมรับฐานะของเราต่อพระพักตร์พระองค์ด้วยความถ่อมใจ. นอกจากนี้ ความถ่อมใจจะกระตุ้นเราให้อธิษฐานด้วยความจริงใจ โดยหลีกเลี่ยงการอธิษฐานแบบซ้ำซากเป็นกิจวัตร.—มัดธาย 6:7, 8.

8. เราจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราอธิษฐานขอได้โดยวิธีใด?

8 ข้อเรียกร้องอีกอย่างหนึ่งเพื่อที่พระเจ้าจะฟังเราก็คือ เราต้องปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเรา. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราพยายามสุดความสามารถเพื่อจะทำตามสิ่งที่เราอธิษฐานขอนั้น. ตัวอย่างเช่น หากเราอธิษฐานว่า “ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้” เราก็ต้องทำงานใด ๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยความขยันขันแข็ง. (มัดธาย 6:11; 2 เทสซาโลนิเก 3:10) หากเราทูลขอให้พระองค์ช่วยเหลือเพื่อจะเอาชนะความอ่อนแอของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราก็ต้องระวังที่จะไม่เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดการล่อใจ. (โกโลซาย 3:5) นอกจากข้อเรียกร้องพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ยังมีคำถามเกี่ยวกับการอธิษฐานที่เราจำเป็นต้องได้รับคำตอบ.

การตอบคำถามบางอย่างเกี่ยวกับการอธิษฐาน

9. เราควรอธิษฐานถึงผู้ใด และในนามของใคร?

9 เราควรอธิษฐานถึงใคร? พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานถึง “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์.” (มัดธาย 6:9) ดังนั้น คำอธิษฐานของเราต้องมุ่งไปยังพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาทรงต้องการให้เรายอมรับฐานะตำแหน่งของพระเยซูคริสต์ พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์. ดังที่เราได้เรียนในบท 5 พระเยซูถูกส่งมายังแผ่นดินโลกเพื่อเป็นค่าไถ่ที่จะปลดเปลื้องเราให้พ้นจากบาปและความตาย. (โยฮัน 3:16; โรม 5:12) พระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตและผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้ง. (โยฮัน 5:22; ฮีบรู 6:20) ดังนั้น พระคัมภีร์จึงสั่งให้เราอธิษฐานผ่านทางพระเยซู. พระองค์เองตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) เพื่อพระยะโฮวาจะฟังคำอธิษฐานของเรา เราต้องอธิษฐานถึง พระยะโฮวาเท่านั้นโดยผ่านทาง หรือในนาม พระบุตรของพระองค์.

10. ทำไมไม่มีการกำหนดท่าทางเฉพาะเมื่อเราอธิษฐาน?

10 เราต้องทำท่าทางพิเศษเมื่ออธิษฐานไหม? ไม่. พระยะโฮวาไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำมืออย่างไรหรือทำท่าทางอย่างไรโดยเฉพาะ. คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า การอธิษฐานด้วยท่าทางต่าง ๆ นั้นเป็นที่ยอมรับได้. ท่าเหล่านี้รวมไปถึงการนั่ง, การก้มศีรษะ, การคุกเข่า, และการยืน. (1 โครนิกา 17:16, ล.ม.; นะเฮมยา 8:6; ดานิเอล 6:10; มาระโก 11:25) สิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง ไม่ใช่ท่าทางพิเศษบางอย่างที่คนอื่นมองเห็นได้ แต่เป็นทัศนะที่ถูกต้องจากหัวใจ. ที่จริง ระหว่างที่เราทำงานประจำวันหรือเมื่อเราเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราอาจอธิษฐานในใจได้ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน. พระยะโฮวาทรงฟังคำอธิษฐานดังกล่าวถึงแม้คนที่อยู่รอบข้างเราอาจไม่สังเกตเห็นเลย.—นะเฮมยา 2:1-6.

11. เรื่องส่วนตัวอะไรบ้างที่เหมาะซึ่งเราจะรวมไว้ในคำอธิษฐาน?

11 เราจะอธิษฐานขออะไรบ้าง? คัมภีร์ไบเบิลชี้แจงว่า “สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงฟังเรา.” (1 โยฮัน 5:14) ดังนั้น เราจะอธิษฐานขอสิ่งใด ๆ ก็ได้ที่สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระเจ้าประสงค์ให้เราอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวที่ทำให้เรากังวลอยู่นั้นไหม? แน่นอน! การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาก็เหมือนการพูดคุยกับเพื่อนสนิท. เราอาจพูดอย่างเปิดอก ‘ระบายความในใจของเรา’ กับพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ฉบับ R73 ) นับว่าเหมาะสมที่เราจะขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะนั่นจะช่วยเราให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง. (ลูกา 11:13) นอกจากนี้ เราสามารถขอการชี้นำเพื่อตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมและขอกำลังเพื่อจะอดทนกับความยากลำบากได้. (ยาโกโบ 1:5) เมื่อเราทำบาป เราควรขออภัยโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. (เอเฟโซส์ 1:3, 7) แน่นอน เราไม่ควรอธิษฐานแต่เรื่องส่วนตัวของเราเท่านั้น. เราควรอธิษฐานเผื่อคนอื่น ๆ ด้วย เช่น สมาชิกในครอบครัวรวมทั้งเพื่อนร่วมนมัสการของเรา.—กิจการ 12:5; โกโลซาย 4:12.

12. เราจะทำให้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระบิดาของเราในสวรรค์มาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในคำอธิษฐานของเราได้โดยวิธีใด?

12 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระยะโฮวาพระเจ้าควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในคำอธิษฐานของเรา. แน่นอน เรามีเหตุผลที่จะสรรเสริญและขอบพระคุณพระองค์ด้วยใจจริงสำหรับคุณความดีทั้งสิ้นของพระองค์. (1 โครนิกา 29:10-13) ในคำอธิษฐานแบบอย่างที่พระเยซูทรงให้ไว้ ตามที่บันทึกในมัดธาย 6:9-13 พระองค์ทรงสอนเราอธิษฐานขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ คือถือว่าพระนามนั้นศักดิ์สิทธิ์. อันดับต่อไปก็ขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาและขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนที่สำเร็จในสวรรค์. หลังจากกล่าวถึงเรื่องสำคัญเหล่านี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระยะโฮวาแล้ว พระเยซูจึงหันมาพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความกังวลส่วนตัว. เมื่อเราให้พระเจ้าอยู่ในอันดับสำคัญที่สุดในคำอธิษฐานของเราเช่นเดียวกัน ก็แสดงว่าเราสนใจไม่เพียงแต่สวัสดิภาพของตัวเราเองเท่านั้น.

13. พระคัมภีร์ชี้แจงเช่นไรเกี่ยวกับความยาวของคำอธิษฐานที่พระเจ้าทรงยอมรับ?

13 คำอธิษฐานของเราควรยาวขนาดไหน? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กำหนดไว้ว่าคำอธิษฐานส่วนตัวหรือคำอธิษฐานในที่สาธารณะควรยาวขนาดไหน. อาจมีตั้งแต่คำอธิษฐานสั้น ๆ ก่อนรับประทานอาหารไปจนถึงคำอธิษฐานส่วนตัวที่ยาวกว่านั้นเมื่อเราระบายความในใจของเรากับพระยะโฮวา. (1 ซามูเอล 1:12, 15) อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงตำหนิคนที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมซึ่งอธิษฐานยืดยาวอย่างโอ้อวดต่อหน้าคนอื่น. (ลูกา 20:46, 47) คำอธิษฐานดังกล่าวไม่ทำให้พระยะโฮวาประทับใจ. สิ่งสำคัญคือเราต้องอธิษฐานจากหัวใจ. ดังนั้น ความยาวของคำอธิษฐานที่พระเจ้าทรงยอมรับอาจแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและสภาพแวดล้อม.

พระองค์ทรงฟังไม่ว่าคุณอธิษฐานในโอกาสใดก็ตาม

14. การที่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน” นั้นหมายความเช่นไร และเรื่องนี้เป็นการปลอบโยนอย่างไร?

14 เราควรอธิษฐานบ่อยแค่ไหน? คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน,” ให้ “อธิษฐานเสมอไม่ลดละ,” และให้ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” (มัดธาย 26:41; ลูกา 18:1; โรม 12:12) แน่นอน ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาตลอดทั้งวัน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนเราให้อธิษฐานเป็นประจำ ขอบคุณพระยะโฮวาไม่หยุดหย่อนสำหรับคุณความดีของพระองค์ที่มีต่อเรา และให้เราแสวงหาการชี้นำ, การปลอบโยน, และกำลังจากพระองค์. เป็นการปลอบโยนมิใช่หรือที่รู้ว่าพระยะโฮวาไม่ได้กำหนดว่าเราจะพูดกับพระองค์ในคำอธิษฐานนานเท่าไรหรือบ่อยแค่ไหน? หากเราเห็นว่าการอธิษฐานเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างแท้จริง เราจะพบว่ามีหลายโอกาสที่จะอธิษฐานถึงพระบิดาของเราในสวรรค์ได้.

15. ทำไมเราควรพูดว่า “อาเมน” ในตอนจบของคำอธิษฐานส่วนตัวและคำอธิษฐานในที่สาธารณะ?

15 ทำไมเราควรพูดว่า “อาเมน” ในตอนจบคำอธิษฐาน? คำ “อาเมน” หมายความว่า “แน่นอน” หรือ “ขอให้เป็นอย่างนั้น.” ตัวอย่างในพระคัมภีร์แสดงว่า เป็นการเหมาะสมที่จะพูดว่า “อาเมน” ในตอนจบของคำอธิษฐานส่วนตัวและคำอธิษฐานในที่สาธารณะ. (1 โครนิกา 16:36; บทเพลงสรรเสริญ 41:13) การพูดว่า “อาเมน” ในตอนจบคำอธิษฐาน เป็นการยืนยันว่าคำพูดของเรานั้นมาจากใจจริง. เมื่อเราพูดว่า “อาเมน” ในใจหรือพูดออกเสียงหลังจากที่ผู้นำอธิษฐานกล่าวจบแล้ว นั่นแสดงว่าเราเห็นด้วยกับความคิดที่เขาพูดออกมานั้น.—1 โครินท์ 14:16.

วิธีที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเรา

16. เรามั่นใจได้ในเรื่องอะไรเกี่ยวกับคำอธิษฐาน?

16 พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานจริง ๆ ไหม? ใช่ พระองค์ทรงตอบจริง ๆ! เรามีหลักฐานหนักแน่นที่ทำให้มั่นใจว่า “พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงตอบคำอธิษฐานอย่างจริงใจของมนุษย์หลายล้านคน. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) พระยะโฮวาอาจตอบคำอธิษฐานของเราในหลายวิธี.

17. ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์และผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกเพื่อตอบคำอธิษฐานของเรา?

17 พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์และผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกเพื่อตอบคำอธิษฐาน. (ฮีบรู 1:13, 14) มีประสบการณ์หลายเรื่องของคนที่ได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้พบกับพยานพระยะโฮวา. ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงว่าทูตสวรรค์ชี้นำงานประกาศราชอาณาจักร. (วิวรณ์ 14:6) เพื่อตอบคำอธิษฐานของเราในคราวที่เราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง พระยะโฮวาอาจกระตุ้นคริสเตียนคนหนึ่งให้มาช่วยเรา.—สุภาษิต 12:25; ยาโกโบ 2:16.

เพื่อตอบคำอธิษฐานของเรา พระยะโฮวาสามารถกระตุ้นคริสเตียนคนหนึ่งให้มาช่วยเหลือเรา

18. พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์และพระคำของพระองค์อย่างไรเพื่อตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้พระองค์?

18 พระยะโฮวาพระเจ้ายังใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์และคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์เพื่อตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้พระองค์. พระองค์อาจตอบคำอธิษฐานที่เราทูลขอให้พระองค์ช่วยเหลือเพื่อจะอดทนกับความยากลำบาก โดยประทานการชี้นำและกำลังให้เราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (2 โครินท์ 4:7) บ่อยครั้งคำตอบที่เราได้รับสำหรับคำอธิษฐานเพื่อขอคำแนะนำนั้นมาจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งพระยะโฮวาทรงให้ความช่วยเหลือเพื่อเราจะทำการตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. เราอาจพบข้อคัมภีร์ที่เป็นประโยชน์ระหว่างการศึกษาส่วนตัวและขณะที่เราอ่านสรรพหนังสือของคริสเตียน เช่นหนังสือเล่มนี้. อาจมีการชี้ถึงจุดต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่เราจำเป็นต้องพิจารณา ณ การประชุมคริสเตียนหรือโดยทางความคิดเห็นของผู้ปกครองในประชาคมซึ่งเป็นห่วงสวัสดิภาพของเรา.—กาลาเทีย 6:1.

19. เราควรจำอะไรไว้หากบางครั้งคำอธิษฐานของเราดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบ?

19 หากพระยะโฮวาดูเหมือนจะตอบคำอธิษฐานของเราช้า นี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่สามารถตอบคำอธิษฐานได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานตามที่พระองค์เห็นสมควรและในเวลาที่พระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสม. พระองค์ทรงทราบความจำเป็นของเราและรู้วิธีที่จะดูแลเรื่องนั้นดียิ่งกว่าเรา. บ่อยครั้ง พระองค์ทรงให้เรา ‘ขอ หา และเคาะต่อ ๆ ไป.’ (ลูกา 11:5-10) ความพยายามบากบั่นเช่นนั้นแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าและมีความเชื่อแท้. นอกจากนี้ พระยะโฮวาอาจตอบคำอธิษฐานของเราในวิธีที่เรามองไม่ออก. ตัวอย่างเช่น พระองค์อาจตอบคำอธิษฐานของเราในเรื่องการทดลองเฉพาะอย่าง โดยประทานกำลังให้เราเพื่อจะอดทนความยากลำบากได้ ไม่ใช่โดยขจัดปัญหาออกไป.—ฟิลิปปอย 4:13.

20. ทำไมเราควรใช้สิทธิพิเศษอันล้ำค่าในการอธิษฐานอย่างเต็มที่?

20 เรารู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรที่พระผู้สร้างเอกภพอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ทรงอยู่ใกล้ทุกคนที่ทูลอธิษฐานถึงพระองค์อย่างเหมาะสม! (บทเพลงสรรเสริญ 145:18) ขอให้เราใช้สิทธิพิเศษอันล้ำค่าในการอธิษฐานอย่างเต็มที่. หากเราทำอย่างนั้น เราจะมีโอกาสที่น่ายินดีที่จะได้เข้าใกล้พระยะโฮวาผู้สดับคำอธิษฐานมากยิ่งขึ้น.