อินโดนีเซีย ใต้แอกญี่ปุ่น เล่น ใต้แอกญี่ปุ่น ต้นปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดอินโดนีเซียอย่างโหดเหี้ยม พี่น้องผู้ชายหลายคนถูกบังคับให้ทำงานหนัก เช่น สร้างถนนหรือขุดท้องร่อง บางคนถูกขังคุกที่ซอมซ่อสกปรกในค่ายนักโทษเพราะไม่ยอมเข้าร่วมสงคราม พี่น้องอย่างน้อย 3 คนตายในคุก โจฮันนา ฮาร์ปกับลูกสาว 2 คน และเบท โกเดนซีเพื่อนของพวกเขา (กลาง) พี่น้องผู้หญิงชาวดัตช์คนหนึ่งชื่อโจฮันนา ฮาร์ป อยู่ที่หมู่บ้านบนเขาที่ห่างไกลในชวาตะวันออก เธอรอดจากการถูกจับตลอด 2 ปีแรกของสงครามได้ โจฮันนากับลูกวัยรุ่น 3 คนใช้เวลาที่เป็นอิสระนั้นในการแปลหนังสือความรอด และวารสารหอสังเกตการณ์ จาก ภาษาอังกฤษเป็นภาษาดัตช์ * พวกเขาจะทำสำเนาสิ่งพิมพ์ที่แปลเสร็จแล้วและส่งให้พยานฯทั่วชวาอย่างลับ ๆ พยานฯไม่กี่คนที่ยังเป็นอิสระรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และประกาศอย่างระมัดระวัง โจเซฟีน เอเลียส (นามสกุลเดิมคือตัน) บอกว่า “ฉันคอยหาช่องที่จะประกาศแบบไม่เป็นทางการ เวลาไปเยี่ยมผู้สนใจที่บ้านฉันจะเอากระดานหมากรุกไปด้วย คนอื่นจะได้คิดว่าฉันไปเล่นหมากรุก” ฟีลิกซ์ ตันกับภรรยาชื่อโบลาไปประกาศตามบ้านโดยปลอมเป็นคนขายสบู่ เขาเล่าว่า “พวกเราถูกสายลับของเคมเปไต หรือสารวัตรทหารญี่ปุ่นที่น่ากลัวสะกดรอยตามบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตพวกเราเปลี่ยนเวลาไปหานักศึกษาเรื่อย ๆ นักศึกษา 6 คนของเราก้าวหน้าอย่างดีและรับบัพติศมาในช่วงสงคราม” ความขัดแย้งในจาการ์ตา ช่วงสงครามที่ลำบากพี่น้องพยายามปรับเปลี่ยนอย่างมาก แต่พวกเขาก็ต้องเจอการทดสอบที่หนักขึ้นอีก รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้ชาวต่างชาติทุกคน (รวมทั้งคนที่เป็นลูกครึ่งจีนกับอินโดนีเซีย) ไปขึ้นทะเบียนรับบัตรประจำตัวและให้สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อจักรวรรดิญี่ปุ่น พี่น้องหลายคนลังเลว่า ‘เราควรจะไปขึ้นทะเบียนและเซ็นชื่อบนบัตรประจำตัวดีไหม หรือจะปฏิเสธดี?’ โจเซฟีน เอเลียสกับฟีลิกซ์พี่ชายของเธอ ฟีลิกซ์ ตันอธิบายว่า “พี่น้องในจาการ์ตาแนะนำให้พวกเราในซูกาบูมิปฏิเสธการเซ็นชื่อบนบัตรประจำตัว แต่พวกเราถามเจ้าหน้าที่ว่าเราจะเปลี่ยนข้อความบนบัตรได้ไหมจาก ‘เจ้าของลายเซ็นนี้ขอสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อ’ เป็น ‘เจ้าของลายเซ็นนี้จะไม่ขัดขวาง’ กองทัพญี่ปุ่น แปลกมากที่พวกเขายอม พวกเราก็เลยมีบัตรประจำตัว พอพี่น้องในจาการ์ตารู้ว่าเราทำแบบนี้ พวกเขาบอกว่าพวกเราทรยศพระเจ้าและเลิกคบหากับเรา” น่าเศร้าที่พี่น้องที่สุดโต่งส่วนใหญ่ในจาการ์ตาถูกจับและเลิกรับใช้พระเจ้า พี่น้องผู้ชายคนหนึ่งที่ปฏิเสธการเซ็นชื่อแม้จะเปลี่ยนข้อความบนบัตรแล้วถูกจับเข้าคุกเดียวกันกับอังเดร เอเลียส อังเดรเล่าว่า “ผมอธิบายเหตุผลเรื่องการขึ้นทะเบียนและช่วยปรับความคิดเขาให้สมดุลขึ้น เขาถ่อมตัวขอโทษที่เลิกคบหากับพวกเรา จากนั้นก็เป็นเวลาที่ยอดเยี่ยมสำหรับพวกเราที่คอยให้กำลังใจกัน แต่น่าเสียใจที่เขาตายเพราะทนสภาพที่เลวร้ายในคุกไม่ไหว” เมอร์เดกา! สงครามเลิกในปี 1945 พี่น้องชายหญิงกระตือรือร้นที่จะเริ่มงานประกาศอีกครั้ง พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งถูกขังคุกและถูกทรมานเขียนจดหมายถึงสำนักงานสาขาออสเตรเลียว่า “สี่ปีที่ยาวนานและอ่อนล้าผ่านไปแล้ว ผมอยู่ที่นี่พร้อมกับใจที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ตลอด เวลาที่เจอปัญหาหนักผมไม่เคยลืมพี่น้องเลย ขอช่วยส่งหนังสือมาให้ผมได้ไหมครับ?” ไม่นานนักพี่น้องในอินโดนีเซียก็ได้รับหนังสือที่คอยมานาน ตอนแรกส่งมาทีละน้อยและค่อย ๆ มากขึ้นในตอนหลัง ผู้ประกาศ 10 คนในจาการ์ตากลับมาแปลสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นภาษาอินโดนีเซียอีกครั้ง วันที่ 17 สิงหาคม 1945 พวกผู้นำอินโดนีเซียเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชและประกาศให้อินโดนีเซียเป็นสาธารณรัฐ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการปฏิวัตินาน 4 ปีเพื่อต่อต้านดัตช์ที่พยายามกลับเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมอีก ผู้คนนับหมื่นต้องตายในความโกลาหลที่เกิดขึ้น และอีกมากกว่า 7 ล้านคนกลายเป็นคนพลัดถิ่น พี่น้องยังประกาศตามบ้านอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงการปฏิวัติ โจเซฟีน เอเลียสบอกว่า “พวกที่คลั่งชาติพยายามบังคับให้พวกเราตะโกนว่า ‘เมอร์เดกา’ ที่แปลว่า ‘อิสรภาพ’ แต่พวกเราบอกไปว่าเราเป็นกลางทางการเมือง” ปี 1949 ดัตช์คืนเอกราชให้สาธารณรัฐแห่งสหรัฐอินโดนีเซีย (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐอินโดนีเซีย) หลังจากยึดครองเป็นอาณานิคมมายาวนาน * พอถึงปี 1950 พี่น้องในอินโดนีเซียได้อดทนกับความสับสนวุ่นวายมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่มีงานมากมายมหาศาลรออยู่ พวกเขาจะประกาศข่าวดีกับคนอินโดนีเซียหลายล้านคนได้อย่างไร? จากมุมมองของมนุษย์ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่พี่น้องทำงานประกาศต่อไปด้วยความเชื่อที่เข้มแข็งและมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะ “ส่งคนไปมากขึ้นเพื่อทำงานเกี่ยวของพระองค์” (มธ. 9:38) และพระยะโฮวาก็ทำอย่างนั้น ^ วรรค 2 เฮร์มินเน (มีมี) ลูกสาวคนเล็กของพี่น้องฮาร์ป เข้าโรงเรียนกิเลียดหลังสงครามสงบและกลับไปเป็นมิชชันนารีที่อินโดนีเซีย ^ วรรค 3 ดัตช์ยังเป็นเจ้าอาณานิคมของปาปัวตะวันตก (ตอนหลังชื่อนิวกินีตะวันตก) จนถึงปี 1962 ย้อนหลัง ถัดไป เรื่องที่คุณอาจสนใจ คำถามที่พบบ่อย ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง? พยานฯเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศไหม? พิมพ์ แชร์ แชร์ ใต้แอกญี่ปุ่น หนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 2016 อินโดนีเซีย ใต้แอกญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย ใต้แอกญี่ปุ่น https://cms-imgp.jw-cdn.org/img/p/302016007/univ/art/302016007_univ_sqr_xl.jpg