บท 18
งานของราชอาณาจักรได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างไร?
1, 2. (ก) เมื่อนักเทศน์คนหนึ่งถามเกี่ยวกับวิธีหาเงินทุนของกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พี่น้องรัสเซลล์ตอบอย่างไร? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทนี้?
ครั้งหนึ่ง นักเทศน์ของคริสตจักรคนหนึ่งมาพบพี่น้องชาลส์ ที. รัสเซลล์ เพราะอยากรู้ว่ากลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมีวิธีหาเงินทุนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขาอย่างไร
พี่น้องรัสเซลล์อธิบายว่า “เราไม่เคยเรี่ยไร”
นักเทศน์ถามว่า “แล้วคุณเอาเงินมาจากไหน?”
รัสเซลล์ตอบว่า “ถ้าผมจะบอกความจริงที่ง่ายที่สุดให้ฟัง คุณก็อาจจะไม่เชื่อ เมื่อคนที่สนใจความจริงเข้ามาประชุมกับเรา เขารู้ว่าที่นี่คงต้องมีค่าใช้จ่ายบางอย่าง แต่ไม่มีใครยื่นตะกร้าเรี่ยไรมาตรงหน้าเขา เขาจึงคิดในใจว่า ‘ห้องประชุมนี้ต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง . . . ผมจะบริจาคเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ที่นี่ได้อย่างไร?’”
นักเทศน์คนนั้นมองพี่น้องรัสเซลล์ด้วยความสงสัย
รัสเซลล์พูดต่อไปอีกว่า “ผมกำลังบอกความจริงง่าย ๆ ให้คุณฟัง ผู้สนใจที่มาประชุมถามว่า ‘ผมจะบริจาคเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่นี่ได้อย่างไร?’ เมื่อคนเราได้รับสิ่งดี ๆ แล้วถ้าเขาพอมีเงินบ้าง เขาก็อยากใช้เงินนั้นเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ถ้าเขาไม่มี เราจะไปบีบบังคับเขาทำไม?” a
2 ใช่แล้ว พี่น้องรัสเซลล์กำลังบอก “ความจริงง่าย ๆ” ให้ฟัง ประชาชนของพระเจ้าตั้งแต่สมัยโบราณก็เต็มใจบริจาคเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้ ในบทนี้เราจะพิจารณาบางตัวอย่างจากพระคัมภีร์และประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริจาค ขณะที่เราเรียนรู้ว่ามีการใช้เงินอย่างไรในปัจจุบันเพื่อสนับสนุนงานของราชอาณาจักร ขอให้เราแต่ละคนถามตัวเองว่า ‘ฉันจะสนับสนุนราชอาณาจักรได้อย่างไรบ้าง?’
ให้ผู้ที่ “มีน้ำใจสมัคร . . . นำของมาถวาย”
3, 4. (ก) พระยะโฮวามั่นใจว่าผู้นมัสการพระองค์จะทำอะไร? (ข) ชาวอิสราเอลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาอยากสนับสนุนงานสร้างพลับพลา?
3 พระยะโฮวามั่นใจในตัวผู้นมัสการแท้ว่าถ้าพระองค์ให้โอกาส พวกเขาก็อยากแสดงความเลื่อมใสด้วยการให้อย่างเต็มอกเต็มใจ ขอให้เราดู 2 ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล
4 หลังจากพระยะโฮวานำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระองค์ก็บอกให้พวกเขาสร้างเต็นท์หรือพลับพลาสำหรับนมัสการพระองค์รวมทั้งทำข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ด้วย งานนี้ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก พระยะโฮวาจึงให้ประชาชนมีโอกาสสนับสนุนโครงการนี้ โดยสั่งโมเซให้ไปบอกพวกเขาว่า “ผู้ใดมีน้ำใจสมัครให้ผู้นั้นนำของมาถวายพระยะโฮวา” (เอ็ก. 35:5) ประชาชนที่เพิ่งพ้นจากการเป็นทาสซึ่งเคยถูกบังคับให้ทำงานหนักจน “เหลือกำลัง” ตอบรับอย่างไร? (เอ็ก. 1:14) พวกเขาแสดงให้เห็นว่าอยากสนับสนุนงานนี้โดยเต็มใจบริจาคทั้งเงิน ทอง และสิ่งของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มาจากนายทาสชาวอียิปต์ที่เคยกดขี่พวกเขา (เอ็ก. 12:35, 36) ชาวอิสราเอลนำสิ่งของมามากจนใช้ไม่หมด และถึงกับต้องประกาศห้าม “ไม่ให้นำของมาถวายอีก”—เอ็ก. 36:4-7
5. เมื่อดาวิดให้ชาวอิสราเอลมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสร้างวิหาร พวกเขาตอบรับอย่างไร?
5 ประมาณ 475 ปีต่อมา ดาวิดก็บริจาคทองคำและ “เงินที่คลังใน” (เงินส่วนตัว) เพื่อสร้างวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งแรกที่ตั้งเป็นหลักแหล่งสำหรับการนมัสการแท้บนแผ่นดินโลก และเพื่อให้เพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอลมีส่วนในการให้ ดาวิดจึงถามว่า “ผู้ใด ๆ มีใจศรัทธาจะถวายของแก่พระยะโฮวาในวันนี้บ้าง?” ประชาชนก็ตอบรับโดย “นำของมาถวายพระยะโฮวาโดยความศรัทธา และใจสุจริต” (1 โคร. 29:3-9) ดาวิดรู้ว่าเงินและสิ่งของที่บริจาคจริง ๆ แล้วมาจากพระยะโฮวา เขาจึงพูดกับพระเจ้าในคำอธิษฐานว่า “สรรพสิ่งย่อมเป็นมาจากพระองค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายนำแต่ของที่มาจากพระหัตถ์ของพระองค์มาถวาย”—1 โคร. 29:14
6. ทำไมต้องใช้เงินเพื่อทำงานของราชอาณาจักรในทุกวันนี้ และมีคำถามอะไรเกิดขึ้น?
6 โมเซและดาวิดไม่ต้องกดดันประชาชนของพระเจ้าให้บริจาคเพราะพวกเขาเต็มใจให้เอง แล้วพวกเราในทุกวันนี้ล่ะ? เรารู้ดีว่างานของราชอาณาจักรพระเจ้าในทุกวันนี้ต้องใช้เงินมากเพื่อพิมพ์และแจกจ่ายพระคัมภีร์รวมทั้งหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล เพื่อสร้างและซ่อมบำรุงสถานที่ประชุมและอาคารของสาขา และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเมื่อเกิดภัยพิบัติ ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือ จะเอาเงินมาจากไหนเพื่อทำสิ่งเหล่านี้? กษัตริย์เยซูต้องบีบบังคับผู้ติดตามท่านให้บริจาคไหม?
“จะไม่แบมือขอหรือร้องขอการสนับสนุนจากมนุษย์”
7, 8. ทำไมประชาชนของพระยะโฮวาไม่แบมือขอหรือร้องขอเงินจากใคร?
7 พี่น้องรัสเซลล์และเพื่อน ๆ ของเขาไม่ยอมใช้วิธีแบบเดียวกับที่คริสตจักรนิกายต่าง ๆ ใช้เพื่อหาเงินให้ได้มาก ๆ ในหอสังเกตการณ์ ฉบับที่ 2 ที่มีหัวเรื่องว่า “คุณอยากได้ ‘หอสังเกตการณ์’ ไหม?” รัสเซลล์บอกว่า “เราเชื่อว่า ‘หอสังเกตการณ์’ มีพระยะโฮวา เป็นผู้หนุนหลัง และตราบเท่าที่เป็นเช่นนี้ เราจะไม่แบมือขอ หรือร้องขอ การสนับสนุนจากมนุษย์ เมื่อไรที่พระเจ้าซึ่งพูดว่า “เงินและทองเป็นของเราทั้งสิ้น” ไม่ช่วยให้เรามีเงินทุนอีกต่อไป เราก็จะ รู้เลยว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกพิมพ์” (ฮาฆี 2:7-9) จนถึงตอนนี้ เวลาก็ผ่านมา 130 กว่าปีแล้ว หอสังเกตการณ์ และองค์การที่พิมพ์หนังสือนี้ก็ยังยืนหยัดอย่างมั่นคง!
8 ประชาชนของพระยะโฮวาไม่ต้องแบมือขอเงินจากใคร พวกเขาไม่ยื่นถาดหรือส่งจดหมายเรี่ยไร พวกเขายังไม่ต้องหาวิธีจูงใจผู้คนให้บริจาค พวกเขายึดหลักการที่บอกไว้นานแล้วในหอสังเกตการณ์ ที่ว่า “เราไม่เคยคิดว่าการเรี่ยไรเงินเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างที่คริสตจักรต่าง ๆ มักจะทำ . . . เราคิดว่าการแบมือขอเงินด้วยวิธีต่าง ๆ โดยอ้างชื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและรับไม่ได้ พระองค์จะไม่อวยพรทั้งคนที่ให้เงินและงานที่ทำอยู่นั้น” b
“ให้แต่ละคนทำอย่างที่เขามุ่งหมายไว้ในใจ”
9, 10. เหตุผลหนึ่งที่เราบริจาคด้วยความเต็มใจคืออะไร?
9 ในทุกวันนี้ พวกเราที่เป็นประชาชนของพระเจ้าก็เต็มใจให้โดยไม่ต้องมีใครมาบีบบังคับให้บริจาค เรายินดีใช้เงินและทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนงานของราชอาณาจักร ทำไมล่ะ? ให้เรามาดู 3 เหตุผลด้วยกัน
10 หนึ่ง เราบริจาคด้วยความเต็มใจเพราะเรารักพระยะโฮวาและอยากทำ “สิ่งที่พระองค์พอพระทัย” (1 โย. 3:22) ที่จริง พระยะโฮวาชอบผู้นมัสการที่ให้ด้วยใจ ให้เราลองสังเกตคำพูดของอัครสาวกเปาโลเกี่ยวกับการให้แบบคริสเตียน (อ่าน 2 โครินท์ 9:7) คริสเตียนแท้ไม่ได้ให้แบบฝืนใจหรือเพราะถูกบังคับ แต่เขาทำตามที่ “มุ่งหมายไว้ในใจ” c นั่นหมายความว่า เขาสังเกตเห็นความจำเป็นบางอย่างและคิดว่าตัวเองจะช่วยอะไรได้บ้าง แล้วเขาก็ให้ด้วยความเต็มใจ ผู้ให้แบบนี้แหละที่พระเจ้ารัก เพราะ “พระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี” สำนวนนี้มีการแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้ารักคนที่รักการให้”
11. อะไรทำให้เราอยากให้ของขวัญที่คิดว่าดีที่สุดแก่พระยะโฮวา?
11 สอง การบริจาคเงินหรือสิ่งของเป็นวิธีหนึ่งที่เราขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับสิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากพระองค์ ลองสังเกตหลักการในกฎหมายของโมเซที่ช่วยให้เราตรวจสอบหัวใจตัวเอง (อ่านพระบัญญัติ 16:16, 17) เมื่อผู้ชายชาวอิสราเอลไปร่วมเทศกาลสำคัญปีละ 3 ครั้ง พวกเขาทุกคนต้องให้ “ตามที่พระยะโฮวา . . . อวยพระพร” ดังนั้น ก่อนไปร่วมเทศกาล พวกเขาต้องคิดทบทวนและถามตัวเองว่าพระเจ้าได้อวยพรหรือให้สิ่งดี ๆ อะไรบ้าง แล้วเขาก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้พระองค์ คล้ายกัน เมื่อเราคิดดี ๆ ว่าพระยะโฮวาอวยพรเราอย่างไรบ้าง เราก็รู้สึกอยากให้สิ่งที่คิดว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดแก่พระองค์ ของขวัญที่ให้ด้วยใจซึ่งอาจรวมถึงการบริจาคเงินหรือสิ่งของที่เรามี เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเรารู้สึกขอบคุณมากขนาดไหนสำหรับสิ่งดี ๆ มากมายที่พระยะโฮวาให้เรามาตลอด—2 โค. 8:12-15
12, 13. การบริจาคด้วยความเต็มใจแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรารักกษัตริย์เยซู และเราแต่ละคนจะให้ได้มากน้อยแค่ไหน?
12 สาม การบริจาคด้วยความเต็มใจแสดงว่าเรารักกษัตริย์เยซูคริสต์ อย่างไรล่ะ? ลองสังเกตว่าพระเยซูพูดอะไรกับสาวกในคืนสุดท้ายที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลก (อ่านโยฮัน 14:23) พระเยซูบอกว่า “ถ้าผู้ใดรักเรา เขาจะทำตามคำของเรา” และ “คำ” ของพระเยซูก็รวมถึงคำสั่งที่ให้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก (มัด. 24:14; 28:19, 20) เราทำตาม “คำ” นั้นโดยทำทุกสิ่งที่เราทำได้ เช่น ใช้เวลา ใช้กำลัง และใช้เงินทองเพื่อสนับสนุนงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร เมื่อทำอย่างนี้เราก็กำลังแสดงความรักต่อกษัตริย์มาซีฮา
13 ประชาชนที่ภักดีต่อราชอาณาจักรอย่างเรา ๆ ก็อยากแสดงให้เห็นจากใจจริงว่าเราสนับสนุนราชอาณาจักรนี้โดยการบริจาคเงิน แล้วเราจะทำได้อย่างไร? แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และให้สุดความสามารถที่เราให้ได้ ในขณะที่เพื่อนร่วมความเชื่อหลายคนอาจมีเงินทองไม่มากที่จะบริจาค (มัด. 19:23, 24; ยโก. 2:5) แต่คนที่ไม่ค่อยมีทรัพย์สินเงินทองก็สบายใจได้เมื่อรู้ว่า พระยะโฮวาและลูกชายของพระองค์เห็นค่าแม้แต่เงินเพียงไม่กี่บาทที่บริจาคด้วยใจ—มโก. 12:41-44
เงินได้มาอย่างไร?
14. เป็นเวลาหลายปี พยานพระยะโฮวาเคยเสนอหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลโดยวิธีใด?
14 เป็นเวลาหลายปีที่พยานพระยะโฮวาเสนอหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลโดยให้ผู้อ่านบริจาคค่าหนังสือ มีการกำหนดค่าหนังสือในอัตราต่ำสุดซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ค่อยมีเงินก็รับอ่านได้ และถ้าเจ้าของบ้านอยากอ่านแต่ไม่มีเงินบริจาค ผู้ประกาศก็ยินดีและเต็มใจให้หนังสือเขา เพราะอยากให้คนที่สนใจจริง ๆ ได้อ่านและได้รับประโยชน์จากหนังสือนั้น
15, 16. (ก) ในปี 1990 คณะกรรมการปกครองเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีเสนอหนังสือของเราเป็นวิธีไหน? (ข) การบริจาคด้วยใจสมัครทำได้โดยวิธีใด? (ดูกรอบ “ เงินบริจาคของเราไปไหน?”)
15 ในปี 1990 คณะกรรมการปกครองเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีเสนอหนังสือของเรา เริ่มตั้งแต่ปีนั้นในสหรัฐ เราขอให้คนที่อยากอ่านหนังสือบริจาคด้วยความสมัครใจ ทุกประชาคมในสหรัฐได้รับจดหมายแจ้งว่า จะไม่มีการเรียกร้องให้ผู้ประกาศและผู้สนใจช่วยบริจาคเงินค่าวารสารและสิ่งพิมพ์อีกต่อไป และไม่ต้องแนะว่าผู้อ่านควรบริจาคเท่าไร แต่ถ้าใครอยากบริจาคเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในโครงการสอน เขาก็ทำได้ วิธีใหม่นี้ช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนจริง ๆ ว่านี่เป็นงานอาสาสมัคร เป็นงานด้านศาสนา และ “เราไม่ใช่คนเร่ขายพระคำของพระเจ้า” (2 โค. 2:17) จากนั้น การบริจาคด้วยความสมัครใจก็กลายเป็นวิธีที่ใช้กันทุกสาขาทั่วโลก
16 การบริจาคด้วยความสมัครใจทำได้โดยวิธีใด? ในหอประชุมของพยานพระยะโฮวามีกล่องบริจาคตั้งไว้ตรงจุดที่พอมองเห็นได้ ถ้าใครอยากบริจาคก็สามารถใส่เงินในกล่องนั้นหรืออาจส่งเงินบริจาคไปยังนิติบุคคลของพยานพระยะโฮวา ทุก ๆ ปีหอสังเกตการณ์ จะลงบทความหนึ่งที่พูดถึงวิธีบริจาคด้วยความสมัครใจ
มีการใช้เงินบริจาคอย่างไร?
17-19. ขอให้อธิบายว่ามีการใช้จ่ายเงินบริจาคอย่างไรสำหรับ (ก) งานทั่วโลก? (ข) การสร้างหอประชุม? (ค) ค่าใช้จ่ายของประชาคมท้องถิ่น?
17 งานทั่วโลก กองทุนสำหรับงานทั่วโลกเป็นเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายในงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานประกาศ ซึ่งรวมถึงการผลิตหนังสือเพื่อแจกจ่ายทั่วโลก การสร้างและซ่อมบำรุงสำนักงานสาขา การจัดโรงเรียนต่าง ๆ ขององค์การ กองทุนนี้ยังใช้สำหรับการดูแลเอาใจใส่มิชชันนารี ผู้ดูแลเดินทาง และไพโอเนียร์พิเศษ เงินบริจาคของเรายังนำไปใช้ในงานบรรเทาทุกข์เพื่อจัดหาสิ่งจำเป็นให้พี่น้องของเราในช่วงที่เกิดภัยพิบัติด้วย d
18 การสร้างหอประชุมราชอาณาจักรทั่วโลก กองทุนนี้ให้ประชาคมที่ต้องการสร้างหรือปรับปรุงหอประชุมกู้ยืมได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย และขณะที่ประชาคมส่งเงินคืนเข้ากองทุน ประชาคมอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นก็จะกู้ยืมต่อได้ e
19 ค่าใช้จ่ายของประชาคมท้องถิ่น เงินที่บริจาคให้กับประชาคมจะใช้สำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน การดูแลรักษาหอประชุม และคืนเงินให้สาขาในกรณีที่ประชาคมยืมเงินเพื่อก่อสร้างหรือปรับปรุงหอประชุม ผู้ปกครองอาจเสนอต่อประชาคมและขอมติจากพี่น้องเรื่องการแบ่งเงินบางส่วนจากบัญชีของประชาคมเพื่อให้สาขานำไปใช้สำหรับงานทั่วโลกต่อไป ถ้าพี่น้องเห็นด้วย ผู้ปกครองก็จะทำตามมตินั้น ในแต่ละเดือน พี่น้องที่ดูแลเรื่องบัญชีของประชาคมจะต้องทำรายงานบัญชี และอ่านรายงานนี้ที่หอประชุม
20. คุณจะทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติด้วย “ทรัพย์” ที่คุณมีได้อย่างไร?
20 เมื่อเราพิจารณารายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงานประกาศและงานสอนคนให้เป็นสาวกที่กำลังทำอยู่ทั่วโลก เรารู้สึกอยาก “ถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของ [พวกเรา]” (สุภา. 3:9, 10) ทรัพย์ที่ว่านี้ก็คือ ความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเชื่อและคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้จากพระเจ้า แน่นอนว่า เราอยากใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสนับสนุนงานของราชอาณาจักรอย่างเต็มที่ แต่ขอจำไว้เสมอว่า ทรัพย์นี้ยังหมายถึงเงินและสิ่งของที่เรามีด้วย ขอให้เราตั้งใจว่าทุกครั้งที่เราทำได้ เราจะให้สิ่งดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้ เมื่อเราบริจาคด้วยความเต็มใจ เราก็จะทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติ และแสดงให้เห็นว่าเราสนับสนุนรัฐบาลมาซีฮา
a หอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 1915 หน้า 218-219
b หอสังเกตการณ์ 1 สิงหาคม 1899 หน้า 201
c นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่าคำภาษากรีกที่แปลว่า “มุ่งหมายไว้” แฝงความหมายว่า “ตัดสินใจไว้ก่อนแล้ว” เขายังบอกอีกว่า “ถึงแม้จะมีความสุขที่ได้ให้ แต่ก็ยังต้องวางแผนและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ”—1 โค. 16:2