บท 25
พระเจ้า “เอ็นดูสงสาร” เรา
1, 2. (ก) ปกติแล้วตอนที่ลูกร้อง แม่จะทำยังไง? (ข) ใครมีความเอ็นดูสงสารมากกว่าแม่?
เมื่อลูกน้อยร้องไห้ตอนกลางดึก แม่ก็ตื่นทันที ตั้งแต่ลูกเกิดมา เธอนอนหลับไม่สนิทเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้เธอรู้ว่าลูกต้องการอะไรเมื่อได้ยินเสียงร้องของเขา เช่น ลูกอาจจะหิวนม อยากให้อุ้ม หรืออยากให้แม่สนใจ แต่ไม่ว่าลูกจะร้องไห้เพราะอะไรก็ตาม แม่ก็จะรีบลุกขึ้นมาดูทันทีเพราะเธอรักและเอ็นดูสงสารลูก
2 ถึงแม้ความเอ็นดูสงสารที่แม่มีต่อลูกที่เพิ่งเกิดเป็นความรู้สึกที่อ่อนโยนที่สุดที่มนุษย์มี แต่พระยะโฮวาพระเจ้ารู้สึกเมตตาสงสารเรามากกว่านั้นอีก ถ้าเราเข้าใจคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมนี้ เราก็จะยิ่งใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น ตอนนี้ให้เรามาดูว่าความเอ็นดูสงสารหมายถึงอะไร และพระเจ้าแสดงคุณลักษณะนี้ยังไง
ความสงสารหมายถึงอะไร?
3. คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “แสดงความเมตตา” หรือ “สงสาร” หมายถึงอะไร?
3 ในคัมภีร์ไบเบิลความสงสารกับความเมตตาเกี่ยวข้องกัน คำภาษาฮีบรูและคำภาษากรีกหลายคำถ่ายทอดความรู้สึกเอ็นดูสงสาร ตัวอย่างเช่น คำภาษาฮีบรู ราคัม ซึ่งบ่อยครั้งแปลว่า “แสดงความเมตตา” หรือ “สงสาร” พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งบอกว่า คำกริยา ราคัม “หมายถึงความรู้สึกสงสารที่ลึกซึ้งและอ่อนโยน เช่น ความรู้สึกที่เรามีตอนที่เห็นคนที่เรารักทนทุกข์และต้องการความช่วยเหลือ” พระยะโฮวาใช้คำฮีบรูนี้เพื่ออธิบายความรู้สึกของพระองค์ คำนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ครรภ์” และแปลว่า “ความสงสารของแม่” ได้ด้วย a—อพยพ 33:19; เยเรมีย์ 33:26
4, 5. คัมภีร์ไบเบิลใช้ความรู้สึกที่แม่มีต่อลูกเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความเมตตาสงสารของพระยะโฮวายังไง?
4 คัมภีร์ไบเบิลใช้ความรู้สึกที่แม่มีต่อลูกเพื่อสอนเราว่าความสงสารของพระยะโฮวาหมายถึงอะไร อิสยาห์ 49:15 บอกว่า “คนเป็นแม่จะลืมลูกที่ยังไม่หย่านมและไม่สงสาร [ราคัม] ลูกที่เธอคลอดออกมาหรือ? ถึงแม้เธอจะลืม แต่เราไม่มีทางลืมเจ้าเลย” ข้อนี้แสดงว่าพระยะโฮวาเมตตาสงสารประชาชนของพระองค์มาก ทำไมถึงบอกอย่างนั้น?
5 เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าแม่จะไม่ดูแลและเอาใจใส่ลูกที่ยังกินนมอยู่ ที่จริง ลูกยังช่วยตัวเองไม่ได้ และต้องได้รับความรักและการเอาใจใส่จากแม่ทั้งวันทั้งคืน น่าเศร้าที่แม่บางคนทอดทิ้งลูกของตัวเอง โดยเฉพาะใน “ช่วงเวลาวิกฤติ” นี้ที่หลายคน “ไม่รักญาติพี่น้อง” (2 ทิโมธี 3:1, 3) แต่พระยะโฮวาบอกว่า “เราไม่มีทางลืมเจ้าเลย” ความเมตตาสงสารที่พระยะโฮวามีต่อผู้รับใช้ของพระองค์ไม่มีวันเปลี่ยน ความเมตตาที่พระองค์มีนั้นมากกว่าความรู้สึกตามธรรมชาติที่แม่มีต่อลูกของเธอ ไม่น่าแปลกใจที่นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายเกี่ยวกับอิสยาห์ 49:15 ว่า “นี่เป็นการแสดงความรักยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของพระเจ้าที่พูดถึงในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู”
6. หลายคนคิดยังไงกับการแสดงความเมตตาสงสาร แต่พระยะโฮวาช่วยให้เรามั่นใจในเรื่องอะไร?
6 ถ้าเราแสดงความเมตตาสงสารนั่นหมายความว่าเราเป็นคนอ่อนแอไหม? หลายคนคิดอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลกมีนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งสอนว่า “ความสงสารเป็นความอ่อนแอ” เขาเชื่อว่าคนเราจะมีชีวิตที่ดีที่สุดได้ถ้าไม่รู้สึกเสียใจหรือดีใจ เขาบอกว่า คนฉลาดอาจช่วยเหลือคนที่กำลังลำบากได้ แต่เขาต้องไม่รู้สึกสงสาร เพราะนั่นจะทำให้เขาไม่มีสันติสุข คนแบบนั้นที่คิดถึงแต่ตัวเองจะไม่สามารถแสดงความเมตตาสงสารออกมาได้เลย แต่พระยะโฮวาไม่ เป็นอย่างนั้น ในคัมภีร์ไบเบิลพระองค์ช่วยให้เรามั่นใจว่าพระองค์ “เมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ” (ยากอบ 5:11) เราจะได้เห็นว่าความเมตตาสงสารไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นคุณลักษณะที่เข้มแข็งและสำคัญมาก ให้เรามาดูว่าพระยะโฮวาเป็นเหมือนพ่อที่รักเราและพระองค์เมตตาสงสารเรายังไง
พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารกับชาติอิสราเอล
7, 8. ชาวอิสราเอลต้องเจอความลำบากอะไรบ้างในอียิปต์ และพระยะโฮวารู้สึกยังไงกับสิ่งที่พวกเขาเจอ?
7 ความเมตตาสงสารของพระยะโฮวาเห็นชัดในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับชาติอิสราเอล หลังจากโยเซฟเสียชีวิตชาวอิสราเอลที่มีจำนวนหลายล้านคนตกเป็นทาสในอียิปต์และมีชีวิตที่ลำบากมาก พวกอียิปต์ “ทำให้ชีวิตชาวอิสราเอลขมขื่นโดยใช้ให้ทำงานหนัก บังคับให้ทำอิฐ ทำปูน และทำงานทุกอย่าง” (อพยพ 1:11, 14) เมื่อเจอเรื่องแบบนี้ ชาวอิสราเอลร้องขอให้พระยะโฮวาช่วย พระยะโฮวารู้สึกยังไง และพระองค์ทำอะไร?
8 พระยะโฮวารู้สึกเสียใจมากที่เห็นว่าพวกเขาต้องเจอความลำบาก พระองค์บอกว่า “เราเห็นแล้วว่าประชาชนของเราซึ่งอยู่ในอียิปต์กำลังเจอกับความทุกข์ยากลำบาก เราได้ยินเสียงร้องของพวกเขาเพราะถูกหัวหน้างานบังคับให้ทำงานหนัก เรารู้ดีว่าพวกเขาเจ็บปวดขนาดไหน” (อพยพ 3:7) เป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะเห็นความทุกข์และได้ยินเสียงร้องของพวกเขาโดยไม่รู้สึกอะไรเลย ในบท 24 เราได้เรียนว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจคือการร่วมความรู้สึก กับคนที่เจ็บปวด แต่พระยะโฮวาไม่เพียงแค่รู้สึกกับประชาชนของพระองค์เท่านั้น พระองค์ถูกกระตุ้นให้ลงมือทำบางอย่างเพื่อช่วยพวกเขา อิสยาห์ 63:9 บอกว่า “พระองค์ไถ่พวกเขาคืนมาด้วยความรักและความเมตตาสงสาร” พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ด้วย “พลังอำนาจ” ของพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:34) หลังจากนั้น พระองค์ยังแสดงความเมตตากับพวกเขาโดยให้มานาและพาพวกเขาเข้าไปในแผ่นดินที่พระองค์สัญญา
9, 10. (ก) หลังจากชาวอิสราเอลเข้าไปอยู่ในแผ่นดินที่พระยะโฮวาสัญญาแล้ว ทำไมพระองค์ถึงช่วยพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ? (ข) ในสมัยของเยฟธาห์ พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลจากการกดขี่ยังไง และอะไรกระตุ้นพระองค์ให้ทำอย่างนั้น?
9 หลังจากชาวอิสราเอลเข้าไปอยู่ในแผ่นดินที่พระยะโฮวาสัญญาแล้ว พระองค์ยังแสดงความเมตตาสงสารกับพวกเขาต่อไป ถึงแม้พวกเขาไม่เชื่อฟังบ่อย ๆ และต้องเจอกับความทุกข์ แต่พอพวกเขากลับใจและร้องขอให้พระยะโฮวาช่วย พระองค์ก็ช่วยพวกเขาทุกครั้ง ทำไม? พระองค์ทำอย่างนั้น ‘เพราะพระองค์สงสารประชาชนของพระองค์’—2 พงศาวดาร 36:15; ผู้วินิจฉัย 2:11-16
10 เราเห็นเรื่องนี้ได้จากตัวอย่างของเยฟธาห์ เพราะชาวอิสราเอลนมัสการพระเท็จ พระยะโฮวาเลยปล่อยให้พวกอัมโมนกดขี่พวกเขานานถึง 18 ปี ในที่สุด ชาวอิสราเอลกลับใจ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พวกเขาก็กำจัดพระต่าง ๆ ของคนต่างชาติและกลับมานมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าก็ทนไม่ได้ที่เห็นชาวอิสราเอลเป็นทุกข์เดือดร้อน” (ผู้วินิจฉัย 10:6-16) พอพวกเขากลับใจจริง ๆ พระยะโฮวาทนไม่ไหวที่เห็นพวกเขาต้องทนทุกข์อยู่ พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารกับพวกเขาโดยใช้เยฟธาห์ช่วยชาวอิสราเอลให้พ้นจากศัตรู—ผู้วินิจฉัย 11:30-33
11. เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารกับชาวอิสราเอล?
11 เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารกับ ชาวอิสราเอล? เราได้เรียนว่าการแสดงความเมตตาสงสารไม่ใช่แค่ความรู้สึกเสียใจเมื่อเห็นคนอื่นเจอความลำบากเท่านั้น ให้เรานึกถึงตัวอย่างของแม่ที่พูดถึงในตอนต้น เมื่อลูกร้องเธอก็เข้าไปช่วยเพราะสงสารลูก คล้ายกัน เมื่อพระยะโฮวาได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนของพระองค์ พระองค์ก็ช่วยเพราะสงสารพวกเขา เรายังได้เรียนอีกว่าคนที่แสดงความสงสารไม่ใช่คนอ่อนแอ เพราะพระยะโฮวารู้สึกสงสารชาวอิสราเอล พระองค์เลยต่อสู้และช่วยพวกเขาให้พ้นจากศัตรู แต่พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารกับผู้รับใช้ของพระองค์เป็นกลุ่มเท่านั้นไหม?
พระยะโฮวาเมตตาสงสารเราแต่ละคน
12. กฎหมายที่พระยะโฮวาให้กับชาวอิสราเอลแสดงว่าพระองค์สงสารประชาชนของพระองค์เป็นรายบุคคลยังไง?
12 กฎหมายที่พระยะโฮวาให้กับชาวอิสราเอลแสดงว่าพระองค์สงสารประชาชนของพระองค์เป็นรายบุคคลด้วย ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดดูว่าพระยะโฮวาเป็นห่วงคนจนมากขนาดไหน พระยะโฮวารู้ว่าอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นที่ทำให้บางคนกลายเป็นคนจน แล้วพวกเขาควรปฏิบัติกับคนจนยังไง? พระยะโฮวาสั่งชาวอิสราเอลว่า “อย่าใจจืดใจดำไม่ช่วยเหลือเขา คุณต้องใจกว้างให้เขายืมโดยไม่นึกเสียดาย เพื่อพระยะโฮวาพระเจ้าจะอวยพรการงานทุกอย่างและทุกสิ่งที่คุณทำ” (เฉลยธรรมบัญญัติ 15:7, 10) พระยะโฮวายังสั่งไม่ให้พวกเขาเกี่ยวข้าวที่ริมคันนาจนหมดหรือเก็บส่วนที่เหลือจากการเกี่ยวเพื่อคนจนจะมีโอกาสเก็บข้าวที่ตกได้ (เลวีนิติ 23:22; นางรูธ 2:2-7) เมื่อชาวอิสราเอลเชื่อฟังกฎหมายนี้ คนจนก็จะไม่ต้องเป็นขอทาน นั่นแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาสงสารคนที่กำลังลำบาก
13, 14. (ก) คำพูดของดาวิดทำให้เรามั่นใจยังไงว่าพระยะโฮวาห่วงใยเราแต่ละคนมากจริง ๆ? (ข) มีตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระยะโฮวาอยู่ใกล้คนที่ “หัวใจแตกสลาย” หรือ “เศร้าเสียใจ”?
13 ในทุกวันนี้พระเจ้าก็ยังรักและสนใจเราแต่ละคนด้วย เรามั่นใจได้ว่าพระองค์รู้ว่าเราต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่า “ตาของพระยะโฮวาเฝ้าดูคนทำดี หูของพระองค์ก็คอยฟังเมื่อพวกเขาร้องขอความช่วยเหลือ พระยะโฮวาอยู่ใกล้คนที่หัวใจแตกสลาย พระองค์คอยช่วยคนที่เศร้าเสียใจ” (สดุดี 34:15, 18) นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งอธิบายคำว่า “หัวใจแตกสลาย” และ “เศร้าเสียใจ” หมายถึงคนที่ท้อใจเพราะความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า พวกเขาอาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาอยู่ไกลและคิดว่าตัวเองไม่มีค่าพอที่พระองค์จะสนใจ แต่พระองค์ไม่ได้คิดอย่างนั้น คำพูดของดาวิดทำให้เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะไม่ทิ้งคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า พระเจ้าที่เมตตาสงสารรู้ว่า ตอนนั้นแหละเป็นเวลาที่เราต้องการพระองค์มากที่สุด และพระองค์ก็อยู่ใกล้เรา
14 ให้เรามาดูประสบการณ์หนึ่งด้วยกัน แม่คนหนึ่งในสหรัฐรีบพาลูกชายอายุสองขวบไปโรงพยาบาลเพราะหายใจไม่ออก หลังจากหมอตรวจดูอาการแล้ว เขาบอกว่าลูกของเธอต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล แล้วคุณคิดว่าคืนนั้นแม่จะอยู่ที่ไหน? แน่นอน แม่อยู่ข้างเตียงลูกชายที่โรงพยาบาล ลูกของเธอป่วยอยู่และเธอก็อยากอยู่ใกล้ ๆ ลูก สิ่งที่แม่ทำเป็นการเลียนแบบความเมตตาสงสารของพระยะโฮวาเพราะเราถูกสร้างตามแบบพระองค์ (ปฐมกาล 1:26) เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์รักและห่วงใยเรามากกว่านั้นอีก คำพูดที่น่าประทับใจในสดุดี 34:18 บอกว่าเมื่อเรา “หัวใจแตกสลาย” หรือ “เศร้าเสียใจ” พระยะโฮวาก็ “อยู่ใกล้” พระองค์สงสารและพร้อมจะช่วยเราเสมอเหมือนพ่อที่รักเรา
15. พระยะโฮวาช่วยเราแต่ละคนยังไงบ้าง?
15 แล้วพระยะโฮวาช่วยเราแต่ละคนยังไงบ้าง? พระองค์ไม่ได้ทำให้ปัญหาทุกอย่างของเราหมดไป แต่พระยะโฮวาเตรียมหลายอย่างเพื่อช่วยคนที่ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เช่น พระองค์ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์เพื่อช่วยเรารับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ และพระองค์ก็ให้มีผู้ดูแลในประชาคมที่พร้อมจะช่วยเหลือเราเพราะพวกเขาพยายามเต็มที่ที่จะเลียนแบบความเมตตาสงสารของพระยะโฮวา (ยากอบ 5:14, 15) พระยะโฮวาเป็น “ผู้ฟังคำอธิษฐาน” พระองค์ให้ “พลังบริสุทธิ์กับคนที่ขอพระองค์” (สดุดี 65:2; ลูกา 11:13) พลังบริสุทธิ์จะช่วยเราให้มี “กำลังที่มากกว่าปกติ” เพื่อจะอดทนรอจนกว่ารัฐบาลของพระเจ้ามาแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่ทำให้เราทุกข์ใจ (2 โครินธ์ 4:7) เรารู้สึกขอบคุณทุกอย่างที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้เรา ขอจำไว้ว่าทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่พระยะโฮวาแสดงความเมตตาสงสารเรา
16. ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงว่าพระยะโฮวาเมตตาสงสารเราคืออะไร และเรื่องนี้มีผลยังไงกับคุณ?
16 ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงว่าพระยะโฮวาเมตตาสงสารก็คือการให้ลูกชายที่พระองค์รักที่สุดมาเป็นค่าไถ่ให้พวกเรา พระยะโฮวาเสียสละด้วยความรักเพื่อช่วยเราให้รอดจากบาปและความตาย เราต้องไม่ลืมว่าค่าไถ่เป็นของขวัญที่พระยะโฮวาให้กับเราเป็นส่วนตัว เศคาริยาห์พ่อของยอห์นผู้ให้บัพติศมาบอกไว้ล่วงหน้าว่าค่าไถ่นี้ช่วยให้เห็นชัดเจนว่า “พระองค์ . . . เอ็นดูสงสารพวกเขา”—ลูกา 1:78
เมื่อพระยะโฮวาไม่เมตตาสงสาร
17-19. (ก) คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นยังไงว่าความสงสารของพระยะโฮวามีขีดจำกัด? (ข) อะไรทำให้พระยะโฮวาไม่สงสารประชาชนของพระองค์อีกต่อไป?
17 เราควรคิดไหมว่าพระยะโฮวาจะแสดงความสงสารอย่างไม่มีขีดจำกัด? ไม่ ตรงกันข้าม คัมภีร์ไบเบิลทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาไม่แสดงความ เมตตาสงสารกับคนที่จงใจทำสิ่งที่พระองค์ไม่ชอบ (ฮีบรู 10:28) เพื่อช่วยเราให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ให้เรามาดูตัวอย่างของชาวอิสราเอลด้วยกัน
18 ถึงแม้พระยะโฮวาจะช่วยชาวอิสราเอลจากศัตรูหลายครั้ง แต่ในที่สุดพระองค์ก็ไม่สงสารพวกเขาอีกต่อไป เพราะพวกเขาไม่ยอมเลิกไหว้รูปเคารพและถึงกับเอารูปเคารพที่น่ารังเกียจเข้ามาในวิหารของพระยะโฮวา (เอเสเคียล 5:11; 8:17, 18) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังบอกอีกว่า “พวกเขากลับเยาะเย้ยผู้ส่งข่าวของพระเจ้าเที่ยงแท้ พวกเขาดูถูกคำเตือนของพระองค์และสบประมาทผู้พยากรณ์ของพระองค์ พระยะโฮวาจึงโกรธประชาชนเหล่านี้จนไม่มีหวังที่พวกเขาจะฟื้นตัวได้อีก” (2 พงศาวดาร 36:16) ชาวอิสราเอลทำผิดถึงขั้นที่พระยะโฮวาไม่สามารถจะแสดงความเมตตาสงสารพวกเขาได้อีก พวกเขาทำให้พระองค์โกรธ แล้วผลเป็นยังไง?
19 พระยะโฮวาไม่สงสารประชาชนของพระองค์อีกต่อไป พระองค์บอกว่า “เราจะไม่สงสารและไม่เสียใจและไม่เมตตาเลย เราจะทำลายพวกเขา และไม่มีอะไรหยุดเราได้” (เยเรมีย์ 13:14) ดังนั้น กรุงเยรูซาเล็มและวิหารจึงถูกทำลาย และชาวอิสราเอลก็ถูกจับไปเป็นเชลยที่บาบิโลน เป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ ที่มนุษย์ไม่ยอมเชื่อฟังจนทำให้พระยะโฮวาไม่เมตตาสงสารพวกเขาอีกต่อไป—เพลงคร่ำครวญ 2:21
20, 21. (ก) จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระยะโฮวาไม่แสดงความเมตตาสงสารอีกต่อไป? (ข) บทถัดไปเราจะดูเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา?
20 แล้วทุกวันนี้ล่ะพระยะโฮวายังรู้สึกแบบนั้นไหม? พระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพระองค์สงสารผู้คน พระองค์เลยให้มีการประกาศ “ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” ไปทั่วโลก (มัทธิว 24:14) เมื่อคนที่มีหัวใจที่ดีอยากเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ พระองค์ก็ช่วยเขาให้เข้าใจ ความจริง (กิจการ 16:14) แต่งานประกาศจะไม่ได้ทำไปตลอด ถ้าพระยะโฮวายังปล่อยให้คนชั่วสร้างปัญหาและทำให้คนอื่นลำบากต่อไป ก็เท่ากับว่าพระองค์ไม่แสดงความเมตตา เมื่อพระยะโฮวาตัดสินว่าจะไม่แสดงความสงสารอีกต่อไป พระองค์ก็จะทำลายโลกชั่วนี้ แต่การที่พระองค์ทำแบบนั้นก็เป็นการแสดงความสงสารด้วย พระองค์จะทำให้ “ชื่อที่บริสุทธิ์” ของพระองค์ได้รับการยกย่องและจะช่วยคนที่รักพระองค์ให้รอด (เอเสเคียล 36:20-23) พระยะโฮวาจะกำจัดความชั่วและจะทำให้ทั้งโลกมีแต่ความชอบธรรม พระยะโฮวาบอกกับคนชั่วว่า “เราจะไม่เมตตาและจะไม่สงสาร เราจะตอบแทนพวกเขาให้สาสมกับการกระทำของพวกเขา”—เอเสเคียล 9:10
21 จนกว่าจะถึงตอนนั้น พระยะโฮวารู้สึกสงสารผู้คน รวมถึงคนเหล่านั้นที่อาจถูกทำลายไปพร้อมกับโลกชั่วนี้ แต่คนที่กลับใจจริง ๆ จะได้ประโยชน์จากความเมตตายิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา คือการให้อภัย ในบทถัดไปเราจะดูบางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้เราเห็นการให้อภัยของพระยะโฮวา
a น่าสนใจ ที่สดุดี 103:13 คำภาษาฮีบรู ราคัม หมายความว่าความเมตตาหรือความสงสารที่พ่อมีต่อลูก