ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ในที่สุด ฉันก็พบเสรีภาพแท้!

ในที่สุด ฉันก็พบเสรีภาพแท้!

“ไม่​มี​ใคร​มา​ถาม​หา​พวก​คุณ​เลย. จะ​อยู่​ที่​นี่​ต่อ​ไป​ก็​ได้​นะ.” เจ้าหน้าที่​เรือน​จำ​คน​หนึ่ง​พูด​แกม​หัวเราะ. เรื่อง​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1950 หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​ยุติ​ลง​เพียง​ห้า​ปี. ครอบครัว​ชาว​รัสเซีย​ที่​รัก​สงบ​และ​ขยัน​ขันแข็ง​อย่าง​เรา​กลาย​มา​เป็น​นัก​โทษ​ใน​เกาหลี​เหนือ​ได้​อย่าง​ไร?

เอกสาร​ที่​ฉัน​มี​อยู่​ระบุ​ว่า​ฉัน​เกิด​ใน​ปี 1924. บ้าน​เกิด​ของ​ฉัน​คง​เป็น​หมู่​บ้าน​ชมาคอฟคา​ใน​เขต​ตะวัน​ออก​ไกล​ของ​รัสเซีย​ใกล้​กับ​ชายแดน​ประเทศ​จีน.

หมู่​บ้าน​ชมาคอฟคา ใน​พรีมอร์สกีไคร ทาง​ตะวัน​ออก​ไกล​ของ​รัสเซีย​ซึ่ง​เป็น​บ้าน​เกิด​ของ​ฉัน

วัน​หนึ่ง​พ่อ​กับ​พวก​พี่​ชาย​ถูก​กลุ่ม​กองโจร​จับ​ตัว​ไป และ​แม่​ไม่​ได้​พบ​หน้า​พวก​เขา​อีก​เลย. แม่​ถูก​ทิ้ง​ให้​เลี้ยง​ดู​ลูก​เล็ก ๆ หลาย​คน​และ​ท่าน​ไม่​สามารถ​ดู​แล​ลูก​ทุก​คน​ได้. เพื่อน​บ้าน​คน​หนึ่ง​บอก​แม่​ว่า​เขา​จะ​ช่วย​พา​พวก​เรา​ไป​ให้​สถาน​เลี้ยง​เด็ก​กำพร้า​ของ​คริสตจักร​รัสเซีย​ออร์โทด็อกซ์​และ​จะ​บอก​พวก​เรา​ว่า​แม่​ทิ้ง​เรา​ไป​แล้ว.

แม่​ยอม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา​เพราะ​กลัว​ว่า​ถ้า​ยัง​ขืน​เลี้ยง​ลูก​ตาม​ลำพัง​ต่อ​ไป เด็ก ๆ คง​ต้อง​อด​ตาย. ตอน​นี้​ฉัน​อายุ 80 กว่า​ปี​แล้ว ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​แม่​ส่ง​พวก​เรา​ไป​อยู่​สถาน​เลี้ยง​เด็ก​กำพร้า. เรา​คง​รอด​ชีวิต​มา​ได้​เพราะ​เหตุ​นี้. แต่​กระนั้น เมื่อ​คิด​ถึง​เรื่อง​นี้​ที​ไร​ฉัน​ก็​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ทุก​ที.

ใน​วัน​แต่งงาน​ของ​ฉัน​กับ​อีวาน ปี 1941

ใน​ปี 1941 ฉัน​ย้าย​ไป​เกาหลี​และ​ได้​แต่งงาน​กับ​อีวาน​ชาย​ชาว​รัสเซีย​ที่​ใจ​ดี. โอลียา​ลูก​สาว​ของ​เรา​เกิด​ใน​ปี 1942 ที่​กรุง​โซล ประเทศ​เกาหลี. โคลียา​ลูก​ชาย​คน​ต่อ​มา​เกิด​ใน​ปี 1945 และ​จอร์รา​ลูก​ชาย​คน​สุด​ท้อง​เกิด​ใน​ปี 1948. สามี​ของ​ฉัน​เปิด​ร้าน​ขาย​ของ ส่วน​ฉัน​ก็​รับจ้าง​เย็บ​ผ้า. เนื่อง​จาก​เวลา​นั้น​เกาหลี​ถูก​ญี่ปุ่น​ยึด​ครอง ลูก ๆ ของ​เรา​จึง​พูด​ภาษา​ญี่ปุ่น​ได้​ตั้ง​แต่​เล็ก แม้​ว่า​เรา​จะ​พูด​ภาษา​รัสเซีย​เมื่อ​อยู่​ที่​บ้าน​ก็​ตาม. ก่อน​ปี 1950 ดู​เหมือน​ว่า​ชาว​โซเวียต ชาว​อเมริกัน และ​ชาว​เกาหลี​ใน​กรุง​โซล​จะ​อยู่​กัน​ได้​อย่าง​สันติ. คน​เหล่า​นี้​มัก​จะ​มา​ซื้อ​ของ​ที่​ร้าน​ของ​เรา.

ถูก​ทหาร​เกาหลี​เหนือ​จับ​ตัว

เมื่อ​ถึง​ปี 1950 จู่ ๆ สถานการณ์​ก็​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​ราว​สาย​ฟ้า​ฟาด. กองทัพ​เกาหลี​เหนือ​เข้า​ยึด​กรุง​โซล. เรา​ถูก​จับ​พร้อม​กับ​ชาว​ต่าง​ชาติ​คน​อื่น ๆ เพราะ​ไม่​สามารถ​หนี​ได้. เป็น​เวลา​ถึง​สาม​ปี​ครึ่ง​ที่​ครอบครัว​ของ​เรา​กับ​เชลย​สงคราม​ชาว​อังกฤษ รัสเซีย อเมริกัน และ​ฝรั่งเศส​ถูก​บังคับ​ให้​ย้าย​ที่​อยู่​ไป​เรื่อย ๆ ทั่ว​เกาหลี​เหนือ. พวก​เขา​ให้​เรา​อยู่​ใน​ที่​ที่​พอ​พัก​อาศัย​ได้​และ​เรา​ต้อง​คอย​หลบ​ลูก​ระเบิด​ที่​ทิ้ง​ลง​มา​อยู่​เรื่อย.

บาง​ครั้ง​เรา​ได้​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​มี​ระบบ​ทำ​ความ​ร้อน​และ​มี​อาหาร​พอ​กิน. แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เรา​มี​แค่​ข้าว​ฟ่าง​เป็น​อาหาร​และ​ต้อง​นอน​ใน​ตึก​ร้าง​ที่​หนาว​เย็น. หลาย​คน​ใน​กลุ่ม​ของ​เรา​ตาย​เพราะ​ขาด​อาหาร​และ​ถูก​ทิ้ง​โดย​ไม่​มี​ใคร​เหลียว​แล. ฉัน​แทบ​ทน​ไม่​ได้​ที่​เห็น​ลูก ๆ ต้อง​อยู่​อย่าง​ยาก​ลำบาก. ฤดู​หนาว​ใน​เกาหลี​เหนือ​เริ่ม​เร็ว​กว่า​ทาง​ใต้. ฉัน​จำ​ได้​ว่า​ฉัน​มัก​จะ​นั่ง​ข้าง​กอง​ไฟ​ตลอด​คืน​แล้ว​คอย​เอา​หิน​ที่​เผา​จน​ร้อน​ไป​ใส่​ใต้​ที่​นอน​ของ​ลูก ๆ.

เมื่อ​อากาศ​อุ่น​ขึ้น ชาว​เกาหลี​บาง​คน​ใน​หมู่​บ้าน​ที่​เรา​ไป​อาศัย​อยู่​ได้​สอน​เรา​ให้​รู้​จัก​พืช​ผัก​ใน​ป่า​ที่​กิน​ได้. เรา​ไป​หา​ต้น​หอม​ป่า ใบ​ไม้​ใบ​หญ้า รวม​ทั้ง​ราสป์เบอร์รี องุ่น และ​เห็ด​มา​กิน. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ชาว​บ้าน​ไม่​ได้​เกลียด​ชัง​เรา​แต่​สงสาร​ที่​เรา​ต้อง​มา​อยู่​ใน​สภาพ​เช่น​นี้. ฉัน​ได้​เรียน​รู้​วิธี​จับ​กบ​มา​ทำ​อาหาร​เพื่อ​จะ​มี​เนื้อ​สัตว์​กิน​บ้าง. หัวใจ​ฉัน​แทบ​สลาย​เมื่อ​ลูก​ร้อง​อยาก​กิน​กบ​อยู่​เรื่อย ๆ.

ปี​หนึ่ง​ใน​เดือน​ตุลาคม เรา​ถูก​สั่ง​ให้​ย้าย​ไป​มานโป. พวก​เจ้าหน้าที่​บอก​เรา​ว่า​เฉพาะ​คน​ป่วย​และ​เด็ก​เล็ก ๆ เท่า​นั้น​ที่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​นั่ง​เกวียน​ไป​ได้. สามี​ของ​ฉัน​กับ​โอลียา​ถูก​บังคับ​ให้​แยก​ไป​กับ​กลุ่ม​ที่​ต้อง​เดิน​เท้า. ฉัน​กับ​ลูก​เล็ก ๆ อีก​สอง​คน​รอ​ด้วย​ความ​กระวนกระวาย​ใจ​อยู่​หลาย​วัน​จน​กว่า​เกวียน​จะ​มา. ใน​ที่​สุด เกวียน​ก็​มา​รับ​เรา.

คน​ป่วย​ถูก​จับ​โยน​สุม​ไว้​บน​เกวียน​เหมือน​กระสอบ​ข้าว. ช่าง​เป็น​ภาพ​ที่​น่า​เวทนา​เหลือ​เกิน! ฉัน​แบก​จอร์รา​ไว้​ข้าง​หลัง และ​พยายาม​จะ​อุ้ม​โคลียา​ขึ้น​ไป​นั่ง​บน​เกวียน แต่​เขา​ร้อง​ลั่น​แล้ว​พูด​ว่า “ไม่​เอา ผม​จะ​ไป​กับ​แม่! แม่​อย่า​ทิ้ง​ผม​นะ!”

โคลียา​เดิน​ตาม​ฉัน​มา มือ​น้อย ๆ ของ​เขา​จับ​ชาย​กระโปรง​ของ​ฉัน​ไว้​แน่น​ขณะ​ที่​เขา​พยายาม​เดิน​ตาม​ฉัน​ให้​ทัน. นัก​โทษ​หลาย​คน​ถูก​ยิง​ตาย​ใน​ช่วง​การ​เดิน​ทาง​ที่​แสน​ทรมาน​นี้​ซึ่ง​กิน​เวลา​หลาย​วัน. ฝูง​กา​บิน​ตาม​เรา​มา และ​คอย​จิก​ทึ้ง​ซาก​ศพ​ที่​ถูก​ทิ้ง​ไว้​ข้าง​หลัง. ใน​ที่​สุด ฉัน​ก็​ได้​พบ​สามี​กับ​ลูก​สาว. เรา​ร้องไห้​และ​สวมกอด​กัน. คืน​นั้น ฉัน​ไม่​ได้​นอน​ตลอด​ทั้ง​คืน. ฉัน​นั่ง​อยู่​ข้าง​กอง​ไฟ​คอย​เผา​หิน​ให้​ร้อน​เพื่อ​บรรเทา​ความ​หนาว​เย็น​ให้​ลูก ๆ. ฉัน​รู้สึก​สุข​ใจ​เพราะ​ตอน​นี้​ฉัน​ได้​ดู​แล​ลูก​ทุก​คน ให้​อบอุ่น.

ใน​ปี 1953 ชีวิต​ของ​เรา​เริ่ม​ดี​ขึ้น​บ้าง​เมื่อ​มา​อยู่​ใกล้​ชายแดน​ตรง​เส้น​รุ้ง​ที่ 38 องศา​เหนือ​ซึ่ง​เป็น​เส้น​แบ่ง​เขต​ระหว่าง​เกาหลี​เหนือ​และ​เกาหลี​ใต้. เรา​ได้​เสื้อ​ผ้า​ใหม่​ที่​สะอาด ได้​ใส่​รอง​เท้า ได้​กิน​ขนมปัง​และ​ขนม​หวาน​ด้วย. ต่อ​มา​ไม่​นาน ชาว​อังกฤษ​ถูก​ปล่อย​ตัว จาก​นั้น​ก็​ชาว​ฝรั่งเศส. แต่​เรา​เป็น​คน​ไม่​มี​สัญชาติ. เมื่อ​นัก​โทษ​กลุ่ม​สุด​ท้าย​ถูก​ปล่อย​ตัว​หมด​แล้ว จึง​เหลือ​แต่​เรา​เท่า​นั้น. เรา​ได้​แต่​ร้องไห้​อย่าง​สิ้น​หวัง​และ​ไม่​อยาก​กิน​อะไร​เลย. ตอน​นั้น​เอง​ที่​เจ้าหน้าที่​ชาว​เกาหลี​มา​พูด​กับ​เรา​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ทิ่ม​แทง​ใจ​ดัง​ที่​เล่า​ใน​ตอน​ต้น.

ชีวิต​ใหม่​ใน​สหรัฐ

เรา​แปลก​ใจ​มาก​ที่​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เรา​ถูก​พา​ตัว​ออก​จาก​เกาหลี​เหนือ​ผ่าน​เขต​ปลอด​ทหาร​เข้า​มา​ยัง​เกาหลี​ใต้. หลัง​จาก​ถูก​เจ้าหน้าที่​ทหาร​ของ​สหรัฐ​สอบสวน เรา​ก็​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ไป​ลี้​ภัย​ใน​สหรัฐ. เรา​ลง​เรือ​ไป​ที่​ซานฟรานซิสโก รัฐ​แคลิฟอร์เนีย และ​เมื่อ​ไป​ถึง​ก็​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​องค์กร​การ​กุศล​แห่ง​หนึ่ง. ต่อ​มา เรา​ย้าย​ไป​รัฐ​เวอร์จิเนีย และ​ที่​นั่น​มี​คน​รู้​จัก​บาง​คน​ได้​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​จน​เรา​สามารถ​เลี้ยง​ดู​ตัว​เอง​ได้. ใน​ที่​สุด เรา​ย้าย​มา​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​ที่​รัฐ​แมริแลนด์.

กับ​สามี​และ​ลูก​สอง​คน​ของ​เรา ปี 1954

แม้​แต่​สิ่ง​ของ​เครื่อง​ใช้​ธรรมดา ๆ เช่น เครื่อง​ดูด​ฝุ่น ก็​ทำ​ให้​เรา​ตื่นเต้น​มาก. เนื่อง​จาก​เป็น​ผู้​อพยพ เรา​จึง​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​วัน​ละ​หลาย​ชั่วโมง. แต่​ฉัน​รู้สึก​เสียใจ​ที่​เห็น​ว่า​ผู้​อพยพ​บาง​คน​ที่​ย้าย​มา​อยู่​ก่อน​และ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ใหม่​ได้​ดี​กลับ​เอา​เปรียบ​ผู้​อพยพ​ที่​มา​ที​หลัง. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน เรา​ได้​พบ​กับ​บาทหลวง​นิกาย​รัสเซีย​ออร์โทด็อกซ์​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​บอก​เรา​ว่า “ตอน​นี้​ลูก​มา​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​พระเจ้า​อวย​พร​แล้ว ถ้า​ลูก​อยาก​มี​ชีวิต​ที่​ดี​ขึ้น​ก็​อย่า​ได้​คบหา​กับ​คน​ชาติ​เดียว​กับ​ลูก​เป็น​อัน​ขาด.” ฉัน​ตกใจ​มาก​และ​ไม่​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​บาทหลวง​พูด​เช่น​นั้น. คน​ชาติ​เดียว​กัน​ก็​ควร​ช่วยเหลือ​กัน​มิ​ใช่​หรือ?

ปี 1970 ชาย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เบอร์นี แบตเทิลแมน ซึ่ง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มา​เยี่ยม​เรา​ที่​บ้าน​เพื่อ​พูด​คุย​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล. เขา​เป็น​คน​โผง​ผาง​พูด​จา​ตรง​ไป​ตรง​มา​เหมือน​กับ​พวก​เรา. เรา​คุย​กัน​นาน​หลาย​ชั่วโมง. เนื่อง​จาก​ฉัน​โต​มา​ใน​สถาน​เลี้ยง​เด็ก​กำพร้า​ของ​คริสตจักร​ออร์โทด็อกซ์ ฉัน​จึง​จำ​บท​สวด​และ​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​ได้​ขึ้น​ใจ. แต่​ฉัน​ไม่​เคย​คิด​ว่า​ต้อง​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ของ​ตัว​เอง! เบอร์นี​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เรา​เล่ม​หนึ่ง​แล้ว​พูด​ว่า “ผม​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​นี้​กับ​พวก​คุณ เพราะ​ผม​รัก​พวก​คุณ.” นอก​จาก​นั้น เขา​ยัง​แนะ​นำ​ให้​เรา​รู้​จัก​กับ​เบน พยาน​ฯ จาก​ประเทศ​เบลารุส​ที่​พูด​ภาษา​รัสเซีย​ได้.

เมื่อ​ฉัน​ถาม​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล เบน​กับ​ภรรยา​ก็​ตอบ​อย่าง​ใจ​เย็น​เสมอ. ถึง​กระนั้น ฉัน​ก็​ปักใจ​เชื่อ​ว่า​พวก​พยาน​ฯ บิดเบือน​พระ​คำ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​พระเจ้า. ฉัน​โกรธ​มาก​เมื่อ​เห็น​ว่า​หนังสือ​ของ​พยาน​ฯ สอน​ว่า​มาเรีย​มี​ลูก​อีก​หลาย​คน​หลัง​จาก​ให้​กำเนิด​พระ​เยซู​แล้ว เพราะ​ที่​โบสถ์​ไม่​ได้​สอน​อย่าง​นั้น.

ฉัน​โทร​ไป​หา​เพื่อน​ชาว​โปแลนด์​และ​ขอ​ให้​ดู​ว่า​ที่​มัดธาย 13:55, 56 ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โปแลนด์​บันทึก​ไว้​อย่าง​ไร. เมื่อ​เธอ​อ่าน​ข้อ​นั้น​ให้​ฟัง ฉัน​ตกใจ​มาก​ที่​รู้​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​มี​น้อง​ชาย​จริง ๆ! เพื่อน​คน​นี้​ยัง​โทร​ไป​หา​คน​รู้​จัก​ที่​ทำ​งาน​ใน​หอ​สมุด​รัฐสภา​ใน​วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อ​ตรวจ​ดู​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ต่าง ๆ ที่​มี​ใน​หอ​สมุด​นั้น. เธอ​โท​รก​ลับ​มา​บอก​ฉัน​ว่า​ทุก​ฉบับ​บอก​ตรง​กัน​ว่า​พระ​เยซู​มี​น้อง​ชาย​และ​น้อง​สาว​หลาย​คน!

ฉัน​ยัง​มี​คำ​ถาม​อีก​หลาย​ข้อ. ทำไม​เด็ก ๆ ต้อง​ตาย? ทำไม​ชาติ​ต่าง ๆ จึง​สู้​รบ​กัน? ทำไม​ผู้​คน​จึง​ไม่​เข้าใจ​กัน​ทั้ง ๆ ที่​พูด​ภาษา​เดียว​กัน? คำ​ตอบ​ที่​ได้​รับ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​ฉัน​ตื่นเต้น​มาก. ฉัน​ได้​รู้​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​มนุษย์​ไม่​ได้​เป็น​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. ฉัน​ดีใจ​มาก​ที่​รู้​ว่า​ฉัน​มี​ความ​หวัง​จะ​ได้​พบ​คน​ที่​ฉัน​รัก​ซึ่ง​ตาย​ไป​เพราะ​ความ​ขัด​แย้ง​และ​สงคราม. ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย ฉัน​เริ่ม​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา.

วัน​หนึ่ง ฉัน​ยืน​อยู่​ตรง​หน้า​รูป​บูชา​และ​อธิษฐาน​ขอ​ให้​พระเจ้า​ช่วย​ลูก​ชาย​ที่​เพิ่ง​กลับ​จาก​สงคราม​เวียดนาม​และ​กลาย​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​อย่าง​หนัก. จู่ ๆ ฉัน​ก็​คิด​ใน​ใจ​ว่า​แทน​ที่​จะ​อธิษฐาน​ถึง​รูป​เหล่า​นี้ ฉัน​น่า​จะ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่. ฉัน​หยิบ​รูป​บูชา​ขึ้น​มา​แกะ​ดู​แล้ว​ก็​เห็น​ว่า​เป็น​เพียง​แผ่น​อะลูมิเนียม​ที่​ระบาย​สี​ให้​สวย​งาม. ฉัน​ซื้อ​รูป​เหล่า​นี้​มา​จาก​โบสถ์ แต่​คืน​นั้น​ฉัน​เอา​ไป​ทำลาย​จน​หมด.

ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​ออก​จาก​ศาสนา​ที่​ฉัน​นับถือ​มา​ตลอด​ชีวิต. แต่​ฉัน​รู้​ว่า​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ค่า​มาก​กว่า​สิ่ง​ใด​ทั้ง​สิ้น. หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา ฉัน​พา​ลูก​สาว​กับ​สามี​ไป​หา​บาทหลวง​นิกาย​รัสเซีย​ออร์โทด็อกซ์. ฉัน​เขียน​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใส่​กระดาษ​โน้ต แล้ว​จด​ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ ไว้​ด้าน​หลัง. ฉัน​อ่าน​ข้อ​คัมภีร์​เหล่า​นั้น​ให้​บาทหลวง​ฟัง แต่​เขา​สั่น​ศีรษะ​แล้ว​พูด​ว่า “พ่อ​หมด​ปัญญา​ที่​จะ​ช่วย​ลูก​แล้ว.” เขา​บอก​เรา​ว่า​อย่า​กลับ​มา​เหยียบ​ที่​นี่​อีก.

เหตุ​การณ์​นี้​ทำ​ให้​โอลียา​ลูก​สาว​ของ​ฉัน​ซึ่ง​เป็น​คน​เด็ด​เดี่ยว​และ​ชอบ​เรียน​รู้​หัน​มา​สนใจ​พระ​คัมภีร์​มาก​ขึ้น. เธอ​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​จริงจัง​และ​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ก็​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​พยาน​ฯ กับ​ฉัน​เป็น​ประจำ. ฉัน​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1972 และ​โอลียา​ก็​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี​ถัด​มา.

คติ​ประจำ​ใจ​ของ​เรา

สวน​ที่​บ้าน​ของ​ฉัน​ใน​รัฐ​แมริแลนด์ สหรัฐ​อเมริกา ประมาณ​ปี 1990

ครอบครัว​เรา​มี​คติ​ประจำ​ใจ​ว่า จง​อยู่​เพื่อ​วัน​นี้​และ​อย่า​จมปลัก​กับ​อดีต. ดัง​นั้น เรา​จึง​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​ทำ​สิ่ง​ใหม่ ๆ ถ้า​มั่น​ใจ​ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. เมื่อ​ฉัน​กับ​ลูก​สาว​รู้สึก​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น เรา​คิด​กัน​ว่า​อยาก​กลับ​ไป​บ้าน​เกิด​ของ​เรา​เพื่อ​ช่วย​ผู้​คน​ที่​นั่น​ให้​รู้​ความ​จริง. ฉัน​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​บุคลิก​ที่​แข็ง​กร้าว​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​ฉัน​ทำ​ให้​บาง​ครั้ง​พยาน​ฯ คน​อื่น ๆ ต้อง​มา​ช่วย​อธิบาย​ให้​เจ้าของ​บ้าน​ฟัง​อีก​ที​หนึ่ง. แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป ฉัน​ได้​เรียน​รู้​วิธี​พูด​คุย​กับ​ผู้​คน​หลาย​เชื้อชาติ​และ​ภูมิหลัง​ซึ่ง​อยาก​มี​ชีวิต​ที่​ดี​ขึ้น​เช่น​เดียว​กับ​ฉัน.

หลาย​ปี​ต่อ​มา ฉัน​กับ​ลูก​สาว​มัก​จะ​พูด​กัน​ว่า​ถ้า​ระบอบ​คอมมิวนิสต์​ใน​โซเวียต​ล่ม​สลาย​เมื่อ​ไร เรา​จะ​เข้า​ไป​ช่วย​ผู้​คน​หลัง​ม่าน​เหล็ก​ให้​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า. เมื่อ​เหตุ​การณ์​นั้น​เกิด​ขึ้น​ตอน​ต้น​ทศวรรษ 1990 โอลียา​ก็​ทำ​ให้​ฝัน​ของ​เรา​เป็น​จริง. เธอ​ย้าย​ไป​รัสเซีย​และ​ทำ​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​อยู่​ที่​นั่น 14 ปี. เธอ​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ราย​และ​เคย​ช่วย​แปล​หนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​ภาษา​อังกฤษ​เป็น​ภาษา​รัสเซีย​ที่​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​รัสเซีย.

ตอน​นี้​ฉัน​ได้​แต่​นอน​อยู่​บน​เตียง​ลุก​ไป​ไหน​มา​ไหน​ไม่​ได้ แต่​ลูก ๆ ก็​ช่วย​ดู​แล​ฉัน​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​พวก​เขา​จะ​ทำ​ได้. ฉัน​ขอบคุณ​พระเจ้า​ที่​แม้​ใน​วัย​เด็ก​ฉัน​จะ​ลำบาก​มาก แต่​พระองค์​ทรง​ช่วย​ฉัน​ให้​พบ​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า. ฉัน​เห็น​ด้วย​กับ​ถ้อย​คำ​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ​ที่​ดาวิด​แต่ง​ไว้​ตอน​ที่​ท่าน​ยัง​เป็น​เด็ก​เลี้ยง​แกะ​ที่​ว่า “[พระเจ้า] ทรง​นำ​ข้าพเจ้า​ไป​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​ที่​สงบ​เงียบ. พระองค์​ทรง​โปรด​ให้​จิตต์​ใจ​ข้าพเจ้า​ฟื้น​ชื่น​ขึ้น: ทรง​พา​ข้าพเจ้า​ไป​ตาม​ทาง​ชอบธรรม​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​นาม​ของ​พระองค์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 23:2, 3 *

^ วรรค 29 มารียา กีลิน​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​วัน​ที่ 1 มีนาคม 2010 ระหว่าง​ที่​มี​การ​เตรียม​จัด​พิมพ์​เรื่อง​ราว​ของ​เธอ.