จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
เธอดำเนินการอย่างรอบคอบ กล้าหาญ และไม่เห็นแก่ตัว
เอศเธระค่อย ๆ เดินเข้ามาใกล้บัลลังก์ของกษัตริย์ด้วยหัวใจที่เต้นรัว. ท้องพระโรงในพระราชวังที่กรุงชูชานของเปอร์เซียเงียบสงัดจนเอศเธระได้ยินเสียงฝีเท้าเบา ๆ ของเธอและเสียงพลิ้วไหวของเครื่องทรงที่เธอสวมใส่. เธอพยายามควบคุมความคิดไม่ให้ความโอ่อ่าของท้องพระโรงมาทำให้เธอวอกแวก ไม่ว่าจะเป็นเสาต้นใหญ่ที่สง่างาม หรือเพดานที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงซึ่งทำจากไม้สนซีดาร์ที่นำเข้าจากเลบานอนอันไกลโพ้น. เธอมุ่งความสนใจทั้งหมดไปยังผู้ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ บุรุษผู้กำชีวิตเธอไว้.
กษัตริย์มองตรงมาที่เอศเธระขณะที่เธอเดินเข้าไปใกล้ แล้วเขาก็ยื่นทัณฑกรทองคำให้เธอ. แม้จะเป็นสัญญาณง่าย ๆ แต่สำหรับเธอแล้วนั่นหมายถึงชีวิต เพราะเท่ากับว่ากษัตริย์ได้ให้อภัยเธอที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยมาเข้าเฝ้าทั้งที่ไม่มีรับสั่ง. เมื่อเอศเธระมายืนอยู่ตรงหน้าบัลลังก์ เธอยื่นมือออกไปแตะยอดทัณฑกรด้วยความซาบซึ้งใจในความเมตตากรุณาของบุรุษผู้เป็นสามี.—เอศเธระ 5:1, 2 *
ทุกสิ่งที่เป็นของกษัตริย์อะหัศวะโรศล้วนแสดงถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งร่ำรวยของเขา. กล่าวกันว่าเครื่องทรงของกษัตริย์แห่งเปอร์เซียสมัยนั้นมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์. แต่สายตาของเขาเมื่อมองมาที่เอศเธระก็ทำให้เธอรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น. ที่จริง เขาก็รักเธอแม้ว่าเขาจะไม่แสดงออกมากนัก. แล้วกษัตริย์ก็ถามว่า “เอศเธระมเหสีเอ๋ย, พระนางประสงค์อะไร? และจะขอสิ่งใด? เราจะให้สิ่งนั้นแก่พระนางถึงครึ่งแผ่นดิน.”—เอศเธระ 5:3
เอศเธระได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอมีความเชื่อและกล้าหาญมากเพียงไรที่มาเข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อปกป้องชนร่วมชาติจากแผนชั่วที่มุ่งกวาดล้างพวกเขา. ตอนนี้เธอทำสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง แต่ภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ยังไม่เสร็จสิ้น. เอศเธระยังต้องโน้มน้าวให้กษัตริย์ผู้เย่อหยิ่งคนนี้ยอมเชื่อว่าที่ปรึกษาที่เขาไว้ใจที่สุดเป็นคนชั่วช้าและได้หลอกเขาให้ออกกฎหมายเพื่อทำลายชนร่วมชาติของเธอ. เธอจะโน้มน้าวใจเขาอย่างไร และเราเรียนอะไรได้จากความเชื่อของเธอ?
เธอเลือก “วาระพูด” อย่างสุขุมรอบคอบ
เอศเธระควรบอกปัญหาทั้งหมดแก่กษัตริย์ต่อหน้าทุกคนในท้องพระโรงไหม? การทำเช่นนั้นอาจทำให้เขาอับอายและทำให้ฮามานที่ปรึกษาของเขามีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้. ถ้าเช่นนั้นเอศเธระจะทำอย่างไร? หลายศตวรรษก่อนหน้านี้ กษัตริย์โซโลมอนผู้ฉลาดสุขุมได้รับการดลใจให้เขียนว่า “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง . . . มีวาระนิ่งเงียบ และวาระพูด.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 7, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) เราคงนึกภาพออกว่ามาระดะคายผู้ซื่อสัตย์ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมของเอศเธระคงได้สอนลูกสาวของเขาตั้งแต่วัยเด็กเกี่ยวกับหลักการเหล่านี้. เอศเธระคงเข้าใจดีว่าการเลือก “วาระพูด” อย่างสุขุมเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด.
เอศเธระทูลกษัตริย์ว่า “ถ้าพระองค์ทรงเห็นชอบแล้ว, ขอเชิญพระองค์เสด็จมากับฮามานในการเลี้ยงวันนี้ที่ข้าพเจ้าได้จัดเตรียมไว้สำหรับถวายพระองค์.” (เอศเธระ 5:4) กษัตริย์ตอบรับคำเชิญและส่งคนไปเรียกฮามาน. คุณสังเกตเห็นคำพูดที่ฉลาดสุขุมของเอศเธระไหม? เธอคำนึงถึงศักดิ์ศรีของสามีและสร้างโอกาสที่เหมาะสมกว่าเพื่อจะเปิดเผยความกังวลใจของเธอแก่สามี.
เอศเธระคงต้องจัดเตรียมงานเลี้ยงนี้อย่างพิถีพิถัน. เธอคงสรรหาแต่สิ่งที่สามีชอบมาเอาใจเขา. ในงานเลี้ยงนี้ยังมีเหล้าองุ่นชั้นเลิศเพื่อทำให้อารมณ์ชื่นบาน. (บทเพลงสรรเสริญ 104:15) อะหัศวะโรศทรงสำราญพระทัยยิ่งนักจนถึงกับถามเอศเธระอีกครั้งว่าเธอปรารถนาจะขอสิ่งใด. ตอนนี้ถึงเวลาที่ควรจะพูดแล้วไหม?
เอศเธระคิดว่ายังไม่เหมาะ. เธอจึงเชิญกษัตริย์และฮามานมางานเลี้ยงอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น. (เอศเธระ 5:7, 8) ทำไมเธอยังไม่พูด? อย่าลืมว่า ชนร่วมชาติของเอศเธระกำลังจะถูกฆ่าตามกฤษฎีกาของกษัตริย์. เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย เอศเธระจึงต้องดูให้แน่ใจว่าเวลาไหนเหมาะที่สุดที่จะพูด. ดังนั้น เธอจึงอดทนรอและจัดงานเลี้ยงอีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงให้สามีเห็นว่าเธอนับถือเขาอย่างยิ่ง.
ความอดทนเป็นคุณสมบัติที่มีค่าและหาได้ยาก. แม้จะทุกข์ใจและอยากพูดเหลือเกิน แต่เอศเธระก็อดทนรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม. เราได้บทเรียนมากมายจากตัวอย่างของเธอเพราะเราทุกคนอาจเคยพบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกต้องและอยากให้มีการจัดการแก้ไข. ถ้าเราต้องการโน้มน้าวผู้มีอำนาจหน้าที่ให้จัดการเรื่องเหล่านั้น เราก็ต้องเลียนแบบเอศเธระและรู้จักอดทน. สุภาษิต 25:15 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) กล่าวว่า “จงอดทนแล้วจะชนะใจเจ้านายได้ ลิ้นที่อ่อนโยนสามารถบดขยี้กระดูกได้.” ถ้าเราอดทนรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมและพูดอย่างสุภาพอ่อนโยนเหมือนที่เอศเธระทำ เราก็อาจเอาชนะการต่อต้านที่แข็งราวกับกระดูกได้. แล้วพระยะโฮวาพระเจ้าของเอศเธระทรงอวยพรความอดทนและความสุขุมรอบคอบของเธอไหม?
ความอดทนนำไปถึงความยุติธรรม
ความอดทนของเอศเธระทำให้มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น. ฮามานกลับจากงานเลี้ยงครั้งแรกด้วยความเบิกบานและ “มีใจชื่นชมยินดี” เพราะคิดว่ากษัตริย์และราชินีโปรดปรานตนมาก. แต่เมื่อฮามานเดินผ่านประตูพระราชวัง เขาก็เห็นมาระดะคายชาวยิวนั่งเฉยไม่ยอมลุกขึ้นทำความเคารพเขา. เหตุผลที่มาระดะคายไม่ทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะต้องการดูหมิ่นเหยียดหยามฮามาน แต่เพราะการทำความเคารพฮามานขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบของเขาและพระยะโฮวาพระเจ้าก็จะไม่พอพระทัย. แต่ฮามาน “โกรธมาระดะคายเป็นอันมาก.”—เอศเธระ 5:9
เมื่อฮามานเล่าให้ภรรยาและเพื่อน ๆ ฟังว่ามาระดะคายไม่ยอมทำความเคารพตน พวกเขาก็แนะให้ฮามานทำเอศเธระ 5:12-14
ขาหยั่งอันใหญ่สูงห้าสิบศอก (22 เมตร) และขออนุญาตกษัตริย์เพื่อเอาตัวมาระดะคายไปแขวนคอบนขาหยั่งนั้น. คำแนะนำนี้ถูกใจฮามานมาก เขาจึงรีบไปเตรียมการทันที.—คัมภีร์ไบเบิลเล่าว่าคืนนั้น “กษัตริย์ทรงบรรทมไม่หลับ” โดยไม่ทราบสาเหตุ. เขาจึงสั่งให้เจ้าพนักงานเอาบันทึกต่าง ๆ มาอ่านให้ฟัง. เรื่องที่เจ้าพนักงานอ่านนั้นรวมถึงแผนลอบสังหารกษัตริย์อะหัศวะโรศด้วย. เขาจำเหตุการณ์นั้นได้ และจำได้ว่าเขาสั่งให้จับคนร้ายไปประหารชีวิตแล้ว. แต่สำหรับมาระดะคายคนที่เปิดโปงแผนชั่วนี้ล่ะ? ทันใดนั้น กษัตริย์ก็ตรัสถามว่ามาระดะคายได้รับบำเหน็จอะไรบ้าง. เจ้าพนักงานจึงทูลว่ากษัตริย์ยังไม่ได้ประทานรางวัลให้เขาเลย.—เอศเธระ 6:1-3
กษัตริย์รู้สึกไม่สบายใจจึงถามว่ามีเจ้าพนักงานคนใดที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้บ้าง. ตอนนั้นในท้องพระโรงไม่มีใครเลยนอกจากฮามานซึ่งดูเหมือนว่ามารอเข้าเฝ้ากษัตริย์แต่เช้ามืดเพื่อขออนุญาตประหารชีวิตมาระดะคาย. แต่ฮามานยังไม่ทันได้ทูลขอ กษัตริย์ก็ถามเขาว่าจะตอบแทนคนที่ทำให้กษัตริย์ชอบใจอย่างไรจึงจะดีที่สุด. เนื่องจากคิดว่ากษัตริย์หมายถึงตน ฮามานจึงเสนอแนะให้ยกย่องคนนั้นอย่างยิ่งใหญ่. ฮามานเสนอให้เอาฉลองพระองค์ของกษัตริย์มาสวมให้คนนั้น และให้ขึ้นขี่ม้าทรงโดยมีข้าราชการชั้นสูงจูงม้าไปพร้อมกับป่าวประกาศยกย่องคุณความดีของเขาไปรอบเมือง. คิดดูสิว่า ฮามานจะทำหน้าอย่างไรเมื่อรู้ว่าชายคนที่ได้รับเกียรติอย่างสูงนั้นคือมาระดะคาย! แล้วคนที่กษัตริย์สั่งให้ทำหน้าที่ป่าวประกาศคุณความดีของมาระดะคายคือใคร? ฮามานนั่นเอง!—เอศเธระ 6:4-10
ฮามานคับแค้นใจยิ่งนัก. หลังจากทำตามที่กษัตริย์รับสั่งแล้วเขาก็รีบกลับบ้านด้วยความทุกข์ใจ. ภรรยาและเพื่อน ๆ ของเขาบอกว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฮามานคงต้องพ่ายแพ้แก่มาระดะคายชายชาวยิวคนนั้นเป็นแน่.—เอศเธระ 6:12, 13
เนื่องจากเอศเธระอดทนรอให้เวลาผ่านไปอีกวันหนึ่งก่อนจะทูลขอต่อกษัตริย์ ฮามานจึงมีโอกาสแสดงธาตุแท้ที่ชั่วช้าออกมาอีกซึ่งเป็นหลักฐานที่เอศเธระจะใช้มัดตัวเขาได้. และเป็นไปได้ไหมว่าพระยะโฮวาพระเจ้าอาจเกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับของกษัตริย์ในคืนนั้น? (สุภาษิต 21:1) ไม่แปลกที่พระคำของพระเจ้าสนับสนุนให้เรา “คอยท่า” พระองค์. (มีคา 7:7) เมื่อเราคอยท่าพระเจ้า เราจะได้เห็นวิธีแก้ปัญหาของพระองค์ซึ่งล้ำลึกเกินกว่าที่เราจะคิดออกได้.
เธอพูดอย่างกล้าหาญ
เอศเธระไม่ต้องการทดสอบความอดทนของกษัตริย์อีกต่อไป เธอจึงต้องทูลทุกสิ่งต่อกษัตริย์ในงานเลี้ยงครั้งที่สองนี้. แต่เธอจะพูดอย่างไร? แล้วโอกาสก็มาถึงเมื่อกษัตริย์ตรัสถามอีกครั้งว่าเธอต้องการขอสิ่งใด. (เอศเธระ 7:2) ตอนนี้แหละเป็น “วาระพูด” ของเอศเธระ.
เราอาจนึกภาพออกว่าเอศเธระคงอธิษฐานในใจถึงพระเจ้าก่อนจะทูลตอบว่า “ข้าแต่กษัตริย์, ถ้าแม้นข้าพเจ้ามีความชอบในคลองพระเนตรของพระองค์, และถ้าแม้นพระองค์ทรงเห็นเป็นการสมควรแล้ว, ขอพระองค์ทรงประทานชีวิตให้ข้าพเจ้าตามที่ข้าพเจ้ากราบทูลขอนั้น, และญาติพี่น้องของข้าพเจ้าตามที่ข้าพเจ้าได้กราบทูลขอนี้เถิด.” (เอศเธระ 7:3) ขอให้สังเกตว่าเธอทำให้กษัตริย์มั่นใจว่าเธอจะเคารพการตัดสินของเขาไม่ว่ากษัตริย์จะคิดเห็นอย่างไรก็ตาม. เอศเธระแตกต่างมากจริง ๆ จากวัศธีมเหสีคนก่อนที่จงใจทำให้สามีอับอายขายหน้า! (เอศเธระ 1:10-12) นอกจากนี้ เอศเธระไม่ได้ตำหนิกษัตริย์ที่ไปหลงเชื่อคนอย่างฮามาน. แต่เอศเธระขอให้กษัตริย์ช่วยปกป้องเธอจากคนที่คิดจะเอาชีวิตเธอ.
คำขอของเอศเธระคงทำให้กษัตริย์ทั้งประทับใจและประหลาดใจ. ใครกันที่กล้าคิดร้ายต่อมเหสีของพระองค์? เอศเธระ 7:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) ขอให้สังเกตว่าเอศเธระพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา. เธอยังบอกด้วยว่าหากเรื่องนี้เป็นเพียงการวางแผนที่จะขายชนชาติของเธอให้เป็นทาส เธอก็คงไม่นำขึ้นมากราบทูลกษัตริย์. แต่ที่เธอไม่อาจนิ่งเฉยก็เพราะแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครั้งนี้จะส่งผลเสียต่อกษัตริย์เอง.
เอศเธระทูลต่อไปว่า “พวกเราถูกขายทั้งหม่อมฉันและชนชาติของหม่อมฉัน ให้ถูกทำลาย ให้ถูกสังหารและให้ถูกล้างผลาญ ถ้าพวกเราถูกขายเพียงให้เป็นทาสชายและหญิง หม่อมฉันก็จะไม่ปริปาก เพราะความทุกข์ยากเพียงแค่นี้ไม่อาจเปรียบกับความเสียหายของกษัตริย์ได้.” (ตัวอย่างของเอศเธระสอนบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจ. ถ้าคุณจำเป็นต้องพูดกับคนที่คุณรักหรือแม้แต่คนที่มีตำแหน่งสูงเกี่ยวกับปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง คุณอาจได้ประโยชน์มากจากตัวอย่างของเอศเธระในเรื่องความอดทน การให้ความนับถือต่อผู้อื่น และการพูดอย่างตรงไปตรงมา.—สุภาษิต 16:21, 23
อะหัศวะโรศจึงรับสั่งว่า “ผู้ใดมีใจอาจคิดกระทำอย่างนั้นเล่า, มันคือผู้ใด, และอยู่ที่ไหน?” ขอให้นึกภาพเอศเธระชี้หน้าฮามานพร้อมกับพูดว่า “ผู้ร้ายและศัตรูนั้นคือฮามานคนชั่วนี้.” ความเงียบครอบงำไปชั่วขณะ. ฮามานตกใจกลัวยิ่งนัก. ลองนึกภาพใบหน้าของกษัตริย์ที่แดงก่ำด้วยความโกรธเมื่อรู้ว่าถูกเสนาบดีที่ตนไว้ใจหลอกให้ออกกฎหมายเพื่อทำร้ายมเหสีผู้เป็นที่รักของเขาเอง! กษัตริย์จึงผลุนผลันออกไปสงบสติอารมณ์ในสวน.—เอศเธระ 7:5-7
ฝ่ายฮามานเมื่อถูกเปิดโปงแผนชั่ว คนขี้ขลาดอย่างเขาก็เข้าไปหมอบแทบเท้าของราชินี. เมื่อกษัตริย์กลับเข้ามาในห้อง เขาเห็นฮามานกำลังวิงวอนขอความเมตตาจากเอศเธระอยู่บนแท่นประทับของพระนาง. กษัตริย์จึงโพล่งออกมาด้วยความเดือดดาลว่าฮามานกำลังจะข่มขืนพระราชินีในวังของเขา. พอสิ้นเสียงกษัตริย์ ฮามานก็รู้ว่าความตายรออยู่ตรงหน้าแล้ว. เขาถูกคลุมหน้าแล้วพาตัวออกไป. แล้วเจ้าพนักงานคนหนึ่งของกษัตริย์ก็ทูลขึ้นมาว่าฮามานได้ทำขาหยั่งอันใหญ่ไว้เพื่อเตรียมแขวนคอมาระดะคาย. อะหัศวะโรศจึงสั่งให้เอาฮามานไปแขวนบนขาหยั่งนั้นทันที.—เอศเธระ 7:8-10
ในโลกทุกวันนี้ที่ไร้ความยุติธรรม เราอาจคิดว่าไม่มีวันที่จะเห็นความยุติธรรมได้. คุณเคยคิดอย่างนั้นไหม? เอศเธระไม่เคยสิ้นหวัง ไม่เคยมองในแง่ร้าย ไม่เคยขาดความเชื่อ. เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เธอกล้าพูดเพื่อเห็นแก่ความถูกต้องและเธอไว้ใจว่าพระยะโฮวาจะทำส่วนของพระองค์. ให้เราทำเช่นเดียวกับเอศเธระ! ตั้งแต่สมัยของเอศเธระจนถึงทุกวันนี้ พระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลง. พระองค์ยังคงสามารถทำให้คนชั่วและคนเจ้าเล่ห์ติดกับดักของพวกเขาเอง เช่นเดียวกับที่พระองค์เคยจัดการฮามาน.—บทเพลงสรรเสริญ 7:11-16
เธอทำเพื่อพระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์อย่างไม่เห็นแก่ตัว
ในที่สุด กษัตริย์ได้รู้ว่ามาระดะคายไม่เพียงเป็นผู้ภักดีที่เคยช่วยพระองค์ไว้จากการถูกลอบสังหาร แต่ยังเป็นบิดาเอศเธระ 8:1, 2
บุญธรรมของเอศเธระด้วย. อะหัศวะโรศได้แต่งตั้งมาระดะคายเป็นนายกรัฐมนตรีแทนฮามาน. เขายังยกบ้านและทรัพย์สมบัติมากมายของฮามานให้เอศเธระ และเธอได้ตั้งมาระดะคายให้ดูแลทรัพย์สินเหล่านั้น.—ตอนนี้เอศเธระและมาระดะคายปลอดภัยแล้ว เธอจะวางมือและใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไหม? ถ้าเธอคิดถึงแต่ตัวเอง เธอก็คงทำเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กฤษฎีกาที่ฮามานทำขึ้นเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวถูกส่งออกไปทั่วจักรวรรดิแล้ว. ก่อนหน้านี้ ฮามานได้จับฉลาก (ฟูระ) ซึ่งดูเหมือนเป็นการเสี่ยงทายรูปแบบหนึ่งเพื่อเลือกวันที่จะลงมือกวาดล้างชาวยิวให้สิ้นซาก. (เอศเธระ 9:24-26) วันนั้นยังอยู่อีกหลายเดือนข้างหน้า แต่เวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว. ยังมีเวลาที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ไหม?
เอศเธระยอมเสี่ยงชีวิตอีกครั้งโดยไม่เห็นแก่ตัว. เธอไปเข้าเฝ้าอีกแม้ว่าไม่มีรับสั่งจากกษัตริย์. ครั้งนี้เธอร้องไห้และอ้อนวอนให้สามียกเลิกกฎหมายที่มุ่งทำลายชนร่วมชาติของเธอ. แต่กฎหมายที่ตราขึ้นในนามกษัตริย์แห่งเปอร์เซียไม่อาจยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้. (ดานิเอล 6:12, 15) ดังนั้น กษัตริย์จึงมอบอำนาจให้เอศเธระและมาระดะคายตรากฎหมายขึ้นใหม่. หมายประกาศฉบับที่สองซึ่งถูกส่งออกไปให้สิทธิ์ชาวยิวต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองได้. ม้าเร็วได้นำข่าวดีนี้ไปแจ้งแก่ชาวยิวทั่วจักรวรรดิ. ข่าวนี้จุดประกายแห่งความหวังขึ้นในใจของประชาชน. (เอศเธระ 8:3-16) เราคงนึกภาพออกว่าชาวยิวทั่วจักรวรรดิอันกว้างใหญ่เตรียมจัดหา อาวุธและผู้คนเอาไว้เพื่อการต่อสู้ ซึ่งพวกเขาคงทำเช่นนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับใหม่นี้. แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “พระยะโฮวาของพลโยธา” จะอยู่กับประชาชนของพระองค์ไหม?—1 ซามูเอล 17:45
เมื่อวันที่ฮามานกำหนดไว้มาถึง ประชาชนของพระเจ้าก็พร้อมแล้ว. ตอนนี้แม้แต่ข้าราชการชาวเปอร์เซียหลายคนก็มาอยู่ฝ่ายพวกเขาเพราะข่าวที่แพร่ออกไปทั่วทุกสารทิศว่ามาระดะคายชาวยิวได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่. พระยะโฮวาประทานชัยชนะอันยิ่งใหญ่แก่ประชาชนของพระองค์. แน่นอนว่าพระองค์ต้องปราบศัตรูของชาวยิวให้ราบคาบเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนของพระองค์จะไม่ถูกทำร้ายอีกในวันข้างหน้า. *—เอศเธระ 9:1-6
นอกจากนั้น มาระดะคายคงไม่สามารถปกครองครัวเรือนของฮามานได้อย่างราบรื่นถ้าลูกชายสิบคนของชายที่ชั่วช้านี้ยังมีชีวิตอยู่. พวกเขาจึงถูกฆ่าเช่นกัน. (เอศเธระ 9:7-10) ด้วยเหตุนี้ คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลจึงสำเร็จตามที่พระเจ้าทรงบอกไว้ล่วงหน้าว่าชาวอะมาเลคจะต้องถูกทำลายจนสิ้นชาติ เพราะพวกเขาเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของประชาชนของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 25:17-19) ลูกชายสิบคนของฮามานคงเป็นชาติอะมาเลคกลุ่มสุดท้ายที่ถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษ.
เอศเธระต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งหลายอย่างแม้เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เช่น การออกกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับสงครามและการประหารชีวิตเหล่าศัตรู. ภารกิจเหล่านี้คงไม่ง่ายสำหรับเธอ. แต่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์ได้รับการปกป้องจากการถูกทำลายล้าง. ชาติอิสราเอลต้องอยู่ต่อไปจนกว่าพระมาซีฮาจะมาประสูติและท่านผู้นี้คือความหวังเดียวของมนุษยชาติ! (เยเนซิศ 22:18) ผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยนี้ดีใจที่ได้รู้ว่าเมื่อพระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลกในฐานะมาซีฮา พระองค์ได้สั่งเหล่าสาวกว่าพวกเขาต้องไม่มีส่วนในสงครามหรือการสู้รบใด ๆ.—มัดธาย 26:52
อย่างไรก็ตาม คริสเตียนยังมีการสู้รบอีกแบบหนึ่งคือการต่อสู้เพื่อความเชื่อ และซาตานก็ทุ่มเทความพยายามมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อทำลายความเชื่อของเราในพระยะโฮวาพระเจ้า. (2 โครินท์ 10:3, 4) นับว่าเป็นประโยชน์จริง ๆ ที่เรามีเอศเธระเป็นแบบอย่าง! ขอให้เราเลียนแบบความเชื่อของเอศเธระโดยใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจอย่างรอบคอบและอดทน แสดงความกล้าหาญ และเต็มใจเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ในเรื่องแรกของชุดบทความนี้ เราได้รู้ว่าเอศเธระเป็นเด็กกำพร้าและมาระดะคายลูกพี่ลูกน้องที่อายุมากกว่าได้รับเธอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และต่อมาเธอถูกเลือกเป็นมเหสีของกษัตริย์อะหัศวะโรศแห่งเปอร์เซีย. ฮามานที่ปรึกษาของกษัตริย์คิดวางแผนชั่วเพื่อกำจัดชาวยิวชนร่วมชาติของมาระดะคาย. มาระดะคายแนะนำให้เอศเธระไปเข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อขอให้ไว้ชีวิตประชาชนของเธอ.—ดูบทความ “จงเลียนแบบความเชื่อของเขา—เธอเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 2011.
^ วรรค 32 กษัตริย์อนุญาตให้ชาวยิวกวาดล้างศัตรูได้อีกในวันที่สอง. (เอศเธระ 9:12-14) ทุกวันนี้ ในฤดูใบไม้ผลิของทุกปีชาวยิวยังฉลองชัยชนะครั้งนั้นในเทศกาลที่เรียกว่าพูริม (ฟูริม) ซึ่งตั้งชื่อตามฉลากที่ฮามานจับเพื่อกำหนดวันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิสราเอล.
[กรอบหน้า 28]
คำถามเกี่ยวกับเอศเธระ
ทำไมมาระดะคายยอมให้เอศเธระแต่งงานกับคนต่างชาติที่ไม่นมัสการพระเจ้า?
ไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนคำกล่าวของนักวิชาการบางคนที่อ้างว่ามาระดะคายเป็นนักฉวยโอกาสที่ต้องการให้เอศเธระแต่งงานเพราะเห็นแก่เกียรติยศชื่อเสียง. ในฐานะชาวยิวที่ซื่อสัตย์ มาระดะคายคงไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานเช่นนั้น. (พระบัญญัติ 7:3) คำสอนสืบปากของชาวยิวโบราณบอกว่ามาระดะคายพยายามขัดขวางการแต่งงานครั้งนี้. แต่ดูเหมือนว่าทั้งมาระดะคายและเอศเธระไม่มีทางเลือก เพราะพวกเขาเป็นเพียงชนต่างชาติที่มาอาศัยในดินแดนซึ่งกษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดราวกับเทพเจ้า. เมื่อเวลาผ่านไปก็เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงใช้การแต่งงานของเอศเธระเป็นช่องทางในการปกป้องประชาชนของพระองค์.—เอศเธระ 4:14
ทำไมไม่มีการเอ่ยถึงนามยะโฮวา พระนามเฉพาะของพระเจ้าในหนังสือเอศเธระ?
ดูเหมือนว่ามาระดะคายได้รับการดลใจให้เขียนหนังสือนี้. ตอนแรกหนังสือเล่มนี้อาจถูกรวมไว้ในพงศาวดารของเปอร์เซียก่อนจะถูกนำกลับมายังกรุงเยรูซาเลม. การใช้พระนามยะโฮวาอาจทำให้ผู้นมัสการพระต่าง ๆ ของชาวเปอร์เซียโกรธแค้นและทำลายหนังสือนี้. ไม่ว่าจะอย่างไร บทบาทของพระยะโฮวาก็เห็นได้ชัด. น่าสนใจที่ว่าในข้อความต้นฉบับภาษาฮีบรูมีพระนามของพระเจ้าซ่อนอยู่ในแบบอะครอสติก ซึ่งถ้านำอักษรตัวแรกหรือตัวสุดท้ายของแต่ละวรรคมาเรียงกันก็จะปรากฏเป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้า.—เอศเธระ 1:20
หนังสือเอศเธระไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์จริง ๆ หรือ?
บรรดานักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนสังเกตว่าผู้เขียนหนังสือนี้ให้รายละเอียดที่น่าทึ่งเกี่ยวกับราชสำนัก สถาปัตยกรรม และธรรมเนียมประเพณีของชาวเปอร์เซีย. จริงอยู่ ไม่มีการเอ่ยถึงราชินีเอศเธระในเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่เธอก็ไม่ใช่สมาชิกราชวงศ์เพียงคนเดียวที่ถูกลบชื่อออกจากพงศาวดารที่ประชาชนทั่วไปหาอ่านได้. นอกจากนั้น บันทึกของนักประวัติศาสตร์ยังแสดงว่าเคยมีชายคนหนึ่งชื่อมาร์ดูคา (ชื่อภาษาเปอร์เซียของมาระดะคาย) เป็นข้าราชสำนักในราชวังชูชานสมัยเดียวกับที่มีการเขียนหนังสือนี้.
[กรอบหน้า 29]
คำพยากรณ์ข้อหนึ่งสำเร็จเป็นจริง
ในการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนของพระเจ้า เอศเธระกับมาระดะคายได้ทำให้คำพยากรณ์อีกข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง. กว่าหนึ่งพันสองร้อยปีก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาทรงดลใจให้ยาโคบปฐมบรรพบุรุษบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับบุตรชายคนหนึ่งของท่านดังนี้: “เบ็นยามินนั้นเป็นสุนัขป่าที่เที่ยวยื้อแย่งอาหาร; เวลาเช้าก็กินเสีย, เวลาเย็นก็แบ่งปันของที่แย่งชิงไว้.” (เยเนซิศ 49:27) ใน “เวลาเช้า” หรือช่วงต้นของประวัติศาสตร์ชาติอิสราเอลสมัยที่มีกษัตริย์ปกครอง ลูกหลานตระกูลเบนยามินตามคำพยากรณ์ข้อนี้ได้แก่กษัตริย์ซาอูลและนักรบผู้กล้าคนอื่น ๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาชนของพระยะโฮวา. ส่วนใน “เวลาเย็น” หรือช่วงปลายของประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอิสราเอลไม่มีกษัตริย์ปกครอง ลูกหลานตระกูลเบนยามินสองคนคือเอศเธระกับมาระดะคายได้ต่อสู้และเอาชนะศัตรูของพระยะโฮวา. นอกจากนี้ พวกเขาได้แบ่งปันของที่แย่งชิงมาในแง่ที่ว่าพวกเขาได้ครอบครองทรัพย์สินมากมายของฮามาน.
[ภาพหน้า 25]
เอศเธระยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าจำเป็นต้องได้รับความเมตตาจากกษัตริย์
[ภาพหน้า 26, 27]
เอศเธระกล้าเปิดโปงความชั่วช้าของฮามาน
[ภาพหน้า 28, 29]
เอศเธระกับมาระดะคายส่งหมายประกาศไปถึงชาวยิวทั่วจักรวรรดิเปอร์เซีย