เขาภักดีเมื่อเผชิญการทดสอบ
จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
เขาภักดีเมื่อเผชิญการทดสอบ
เปโตรมองไปรอบ ๆ เขารู้สึกกังวลขณะมองหน้าผู้คนที่ฟังพระเยซูอยู่. พวกเขาอยู่ในธรรมศาลาในเมืองคาเปอร์นาอุม. บ้านของเปโตรอยู่ในเมืองนี้ เขาทำธุรกิจประมงที่นี่ บนชายฝั่งทะเลแกลิลี เพื่อนและญาติ ๆ หลายคนรวมทั้งคนที่เขาติดต่อค้าขายด้วยก็อยู่ที่นี่. ไม่ต้องสงสัยว่า เปโตรคงอยากจะรู้เหลือเกินว่าผู้คนเมืองเดียวกันกับเขาจะมองพระเยซูอย่างที่เขามองไหม พวกเขาจะตื่นเต้นไหมที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าจากครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์นี้. ดูเหมือนว่าวันนี้พวกเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น.
หลายคนเลิกฟังพระองค์. บางคนก็บ่นเสียงดังไม่พอใจกับสิ่งที่พระเยซูตรัส. แต่สิ่งที่ทำให้เปโตรกังวลใจมากที่สุดก็คือปฏิกิริยาของสาวกบางคนของพระเยซู. ใบหน้าของพวกเขาไม่ได้แสดงให้เห็นอีกต่อไปว่าพวกเขามีความสุขที่ได้เข้าใจเรื่องสำคัญ พวกเขาไม่ตื่นเต้นที่ได้ยินเรื่องใหม่ ๆ ไม่ยินดีที่ได้เรียนรู้ความจริง. ตอนนี้พวกเขาดูข้องขัดใจ กระทั่งเป็นทุกข์. บางคนพูดออกมาว่าคำตรัสของพระเยซูนั้นรับไม่ได้. เนื่องจากไม่ต้องการฟังอีกต่อไป พวกเขาจึงออกไปจากธรรมศาลา แล้วก็เลิกติดตามพระเยซูด้วย.
นั่นเป็นช่วงที่ลำบากใจสำหรับเปโตรและเพื่อนอัครสาวกเช่นกัน. เปโตรไม่เข้าใจเรื่องที่พระเยซูตรัสในวันนั้นอย่างเต็มที่. ไม่ต้องสงสัย เขาคงมองออกว่าทำไมคำตรัสของพระเยซูเมื่อฟังเผิน ๆ อาจทำให้ขุ่นเคืองได้. แต่เปโตรจะทำอย่างไร? นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความภักดีของเขาต่อผู้เป็นนายถูกทดสอบ และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย. ให้เรามาดูว่าความเชื่อของเปโตรได้ช่วยเขาอย่างไรให้เอาชนะข้อท้าทายเหล่านี้และยังคงภักดีต่อไป.
ภักดีแม้คนอื่นไม่ภักดี
เปโตรพบว่าพระเยซูมักทำให้เขาประหลาดใจอยู่บ่อย ๆ. ครั้งแล้วครั้งเล่านายของเขาได้ทำและพูดแบบที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้คนคาดหมาย. ก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน พระเยซูเพิ่งทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารฝูงชนหลายพันคน. ผู้คนจึงพยายามจะตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์. แต่พระองค์ก็ทำให้หลายคนประหลาดใจเมื่อเสด็จไปจากที่นั่นและสั่งให้พวกสาวกลงเรือและข้ามไปยังคาเปอร์นาอุม. เมื่อพวกสาวกข้ามฝั่งมาในตอนกลางคืน พระเยซูก็ทำให้พวกเขาประหลาดใจอีกด้วยการเดินบนทะเลแกลิลีขณะมีพายุ และสอนบทเรียนสำคัญเรื่องความเชื่อให้แก่เปโตร. *
ในตอนเช้า ไม่ช้าพวกเขาก็พบว่าฝูงชนได้ลงเรือตามพวกเขามา. แต่เห็นได้ชัดว่า ผู้คนติดตามพระเยซูมาเพื่อจะได้เห็นพระองค์เลี้ยงอาหารด้วยการอัศจรรย์อีก ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า. พระเยซูทรงตำหนิพวกเขาที่ฝักใฝ่แต่เรื่องทางกาย. มีการสนทนาเรื่องนี้อีกที่ธรรมศาลาในเมืองคาเปอร์นาอุม และอีกครั้งหนึ่งพระเยซูได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเมื่อพยายามสอนความจริงเรื่องหนึ่งที่สำคัญแต่เข้าใจยาก.
พระเยซูไม่ต้องการให้ผู้คนมองพระองค์เป็นเพียงผู้ประทานอาหารเลี้ยงพวกเขาเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา ซึ่งชีวิตและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะช่วยคนอื่นให้มีโอกาสได้รับชีวิตนิรันดร์. ดังนั้น พระเยซูจึงเปรียบพระองค์เป็นเหมือนมานา อาหารที่มาจากสวรรค์ในสมัยของโมเซ. เมื่อมีบางคนคัดค้าน พระองค์ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนโดยตรัสว่าเพื่อจะได้ชีวิตพวกเขาจำเป็นต้องกินเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์. เมื่อตรัสเช่นนี้ผู้คนก็ยิ่งไม่เห็นด้วย. บางคนกล่าวว่า “พระองค์ตรัสอะไรอย่างนี้ ใครจะรับได้?” หลายคนที่เป็นสาวกของพระเยซูเองก็ตัดสินใจเลิกติดตามพระองค์.เปโตรจะทำอย่างไร? เขาคงประหลาดใจกับคำตรัสของพระเยซูเช่นกัน. เขายังไม่เข้าใจที่พระเยซูต้องสิ้นพระชนม์เพื่อจะทำให้พระทัยของพระเจ้าสำเร็จ. แต่เปโตรรู้สึกอยากทำเหมือนกับพวกสาวกที่โลเลซึ่งทิ้งพระเยซูไปในวันนั้นไหม? ไม่เลย มีบางสิ่งที่สำคัญซึ่งทำให้เปโตรไม่เหมือนกับคนเหล่านั้น. สิ่งนั้นคืออะไร?
พระเยซูหันมาหาพวกอัครสาวกและตรัสว่า “พวกเจ้าไม่อยากไปด้วยหรือ?” (โยฮัน 6:67) พระองค์ตรัสกับทั้ง 12 คน แต่เปโตรเป็นคนตอบ ซึ่งก็มักจะเป็นเช่นนั้นบ่อย ๆ. เปโตรอาจเป็นคนที่อายุมากที่สุดในหมู่พวกเขา. ไม่ว่าจะอย่างไร ที่แน่ ๆ ก็คือเขาเป็นคนที่กล้าพูดมากกว่าใคร และดูเหมือนว่ามีน้อยครั้งที่เปโตรลังเลที่จะพูดสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา. ในครั้งนี้ สิ่งที่อยู่ในใจของเขานั้นได้ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดที่ซาบซึ้งและน่าจดจำที่ว่า “พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะไปหาผู้ใดเล่า? พระองค์ทรงมีถ้อยคำที่ให้ชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 6:68
คุณคงซาบซึ้งกับคำกล่าวนี้มิใช่หรือ? ความเชื่อที่เปโตรมีในพระเยซูได้ช่วยเขาให้พัฒนาคุณลักษณะที่โดดเด่น นั่นคือความภักดี. เปโตรเข้าใจชัดเจนว่าไม่มีผู้อื่นที่ช่วยให้รอดนอกจากพระเยซู และเข้าใจว่าพระเยซูทรงช่วยให้รอดด้วยคำตรัสต่าง ๆ ซึ่งได้แก่คำสอนของพระองค์เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. เปโตรรู้ว่าแม้จะมีบางอย่างที่เขาไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะไปถ้าเขาต้องการได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าและได้รับพระพรคือชีวิตนิรันดร์.
คุณรู้สึกเช่นนั้นด้วยไหม? น่าเสียดายที่หลายคนในโลกทุกวันนี้อ้างว่ารักพระเยซู แต่ไม่ได้ภักดีต่อพระองค์เมื่อถูกทดสอบ. หากเราภักดีต่อพระคริสต์อย่างแท้จริง เราก็ต้องมีทัศนะแบบเปโตรในเรื่องคำสอนของพระเยซู. เราจำเป็นต้องเรียนรู้คำสอนเหล่านั้น, ต้องเข้าใจความหมาย, และดำเนินชีวิตตามคำสอนนั้น แม้เมื่อคำสอนนั้นอาจทำให้เราประหลาดใจเนื่องจากไม่ตรงกับความคาดหมายของเราหรือความชอบส่วนตัวของเรา. เฉพาะเมื่อเราพิสูจน์ตัวภักดีเท่านั้น เราจึงหวังได้ว่าจะได้รับชีวิตนิรันดร์ซึ่งพระเยซูต้องการให้เราได้รับ.
ภักดีเมื่อถูกว่ากล่าวแก้ไข
ไม่นานหลังจากช่วงที่ยุ่งยากนั้น พระเยซูได้พาอัครสาวกและสาวกบางคนเดินทางไกลขึ้นไปทางเหนือ. ยอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะของภูเขาเฮอร์โมนซึ่งตั้งอยู่สุดเขตด้านเหนือของแผ่นดินตามคำสัญญา บางครั้งสามารถมองเห็นได้จากเงาสะท้อนในน้ำสีครามของทะเลแกลิลี. ภูเขาลูกนั้นยิ่งดูสูงขึ้นขณะที่พระเยซูกับเหล่าสาวกเข้าไปใกล้เมื่อเดินไป * ท่ามกลางทิวทัศน์ที่สวยงามนี้ซึ่งมองเห็นแผ่นดินตามคำสัญญาที่อยู่ทางใต้เกือบทั้งหมด พระเยซูทรงถามเหล่าผู้ติดตามพระองค์ด้วยคำถามสำคัญข้อหนึ่ง.
ตามภูมิประเทศที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้กับเมืองซีซาเรียฟิลิปปี.พระองค์ต้องการทราบว่า “ผู้คนพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด?” เราคงนึกภาพได้ว่าเปโตรกำลังมองเข้าไปในพระเนตรที่สะท้อนถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และอีกครั้งหนึ่งที่เขารู้สึกได้ถึงความกรุณาและปัญญาอันล้ำเลิศของนายของเขา. พระเยซูอยากทราบว่าผู้ที่ฟังพระองค์มีความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้ยิน. สาวกของพระเยซูตอบคำถามโดยพูดถึงความคิดผิด ๆ ของผู้คนทั่วไปในเรื่องที่ว่าพระเยซูเป็นใคร. แต่พระเยซูต้องการทราบมากกว่านั้น. ผู้ติดตามที่ใกล้ชิดของพระองค์มีความคิดที่ผิด ๆ เช่นนั้นด้วยไหม? พระองค์ทรงถามว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าว่าเราเป็นผู้ใด?”—ลูกา 9:18-22
อีกครั้งหนึ่ง เปโตรรีบตอบทันที. เขาพูดอย่างชัดเจนและกล้าหาญซึ่งตรงกับความคิดของหลายคนที่อยู่ที่นั่น. เขาตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” เราคงนึกภาพออกว่าพระเยซูทรงยิ้มให้เปโตรด้วยความพอพระทัยและชมเชยเขาอย่างอบอุ่น. พระเยซูทรงเตือนใจเปโตรว่าผู้ที่ช่วยให้คนที่มีความเชื่อแท้ได้เข้าใจความจริงสำคัญนี้มิใช่มนุษย์ แต่เป็นพระยะโฮวาพระเจ้า. เปโตรได้รับความช่วยเหลือให้เข้าใจความจริงที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงเปิดเผย นั่นคือ ใครคือพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ตามที่ได้สัญญาไว้นานมาแล้ว!—มัดธาย 16:16, 17
พระคริสต์องค์นี้คือผู้ที่ถูกเรียกในคำพยากรณ์เก่าแก่ว่าเป็นหินที่ช่างก่อได้ทิ้งเสีย. (บทเพลงสรรเสริญ 118:22; ลูกา 20:17) เมื่อนึกถึงคำพยากรณ์เหล่านั้น พระเยซูทรงเปิดเผยว่าพระยะโฮวาจะทรงตั้งประชาคมหนึ่งบนหินหรือศิลานั้น ซึ่งเปโตรเพิ่งได้ระบุว่าหมายถึงใคร. * จากนั้นพระองค์ได้มอบสิทธิพิเศษที่สำคัญมากบางอย่างในประชาคมนั้นให้แก่เปโตร. พระองค์ไม่ได้ให้เปโตรมีฐานะเหนือกว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ อย่างที่บางคนคิดกัน แต่พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้เขา. พระองค์ทรงให้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” แก่เปโตร. (มัดธาย 16:19) เปโตรจะเป็นผู้ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์สามกลุ่มมีความหวังที่จะเข้าสู่ราชอาณาจักรของพระเจ้า อันดับแรกคือชาวยิว, จากนั้นก็ชาวซะมาเรีย, และสุดท้ายคือชนต่างชาติหรือคนที่ไม่ใช่ชาวยิว.
อย่างไรก็ตาม ต่อมาพระเยซูตรัสว่าคนที่ได้รับมากจะถูกเรียกเอามาก และข้อนี้เป็นจริงในกรณีของเปโตรด้วย. (ลูกา 12:48) พระเยซูทรงเปิดเผยความจริงที่สำคัญต่อไปเกี่ยวกับพระมาซีฮา รวมทั้งการที่พระองค์จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์ในกรุงเยรูซาเลมในไม่ช้าอย่างที่ไม่อาจเลี่ยงได้. เปโตรไม่สบายใจที่ได้ยินเช่นนั้น. เขาดึงพระองค์ออกมาแล้วทัดทานว่า “พระองค์เจ้าข้า ทรงกรุณาพระองค์ เองเถิด พระองค์จะไม่ประสบเหตุการณ์เช่นนั้นเลย.”—มัดธาย 16:21, 22
แน่นอนว่าเปโตรมีเจตนาดี ดังนั้น คำพูดของพระเยซูที่ตอบกลับมาคงต้องทำให้เขาตกตะลึง. พระองค์ทรงหันหลังให้เปโตรแล้วมองไปยังสาวกคนอื่น ๆ ซึ่งคงจะคิดเช่นเดียวกับเปโตร และตรัสว่า “ซาตาน, จงถอยไปข้างหลังเรา. เจ้าเป็นเหมือนก้อนหินที่ให้เราสะดุด เจ้ามิได้คิดตามพระดำริของพระเจ้าแต่ตามความคิดของมนุษย์.” (มัดธาย 16:23, OV83; มาระโก 8:32, 33) คำตรัสของพระเยซูมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเราทุกคน. เป็นเรื่องง่ายสักเพียงไรที่จะปล่อยให้ความคิดของมนุษย์มีความสำคัญกว่าความคิดของพระเจ้า. ถ้าเราทำอย่างนั้น แม้มีเจตนาที่จะช่วย เราก็อาจกลายเป็นผู้สนับสนุนจุดประสงค์ของซาตานโดยไม่รู้ตัวแทนที่จะเป็นผู้สนับสนุนพระประสงค์ของพระเจ้า. แต่เปโตรตอบอย่างไร?
เขารู้ว่าพระเยซูไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นซาตานพญามารจริง ๆ. ที่จริง พระเยซูไม่ได้ตรัสกับเปโตรเหมือนที่ได้ตรัสกับซาตาน. พระเยซูตรัสกับซาตานว่า “ไปให้พ้น” แต่ตรัสกับเปโตรว่า “จงถอยไปข้างหลังเรา.” (มัดธาย 4:10) พระเยซูไม่ได้ไล่อัครสาวกคนนี้ซึ่งพระองค์เห็นว่ามีความดีมากมายในตัวเขา พระองค์เพียงแต่แก้ไขความคิดที่ผิดของเขาในเรื่องนี้เท่านั้น. เราเข้าใจได้ไม่ยากว่าเปโตรจำต้องเลิกเป็นหินสะดุดอยู่ข้างหน้านายของเขาแล้วถอยไปอยู่ข้างหลังพระองค์ฐานะผู้ติดตามที่คอยสนับสนุน.
เปโตรโต้เถียง, โกรธ, หรือบึ้งตึงไม่พูดจาไหม? ไม่เลย เขายอมรับการแก้ไขอย่างถ่อมใจ. นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขาแสดงให้เห็นว่ามีความภักดี. ทุกคนที่ติดตามพระคริสต์อาจจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเป็นครั้งคราว. เฉพาะเมื่อเรายอมรับการตีสอนอย่างถ่อมใจและเรียนรู้จากการตีสอนเท่านั้น เราจึงจะใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระเยซูคริสต์และพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์ได้ต่อ ๆ ไป.—สุภาษิต 4:13
ความภักดีได้รับผลตอบแทน
ไม่นานหลังจากนั้นพระเยซูตรัสถ้อยคำที่ทำให้ประหลาดใจว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า บางคนที่ยืนอยู่ที่นี่จะไม่ตายจนกว่าพวกเขาจะเห็นบุตรมนุษย์มาในฐานะกษัตริย์เสียก่อน.” (มัดธาย 16:28) ถ้อยคำเหล่านี้คงทำให้เปโตรสงสัยแน่ ๆ. เขาคงจะสงสัยว่าพระเยซูหมายความว่าอย่างไร? บางทีเปโตรอาจคิดว่าตนเองคงจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษนั้นเพราะเพิ่งถูกว่ากล่าวแก้ไขอย่างรุนแรง.
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ พระเยซูได้พายาโกโบ, โยฮัน, และเปโตรขึ้นไปบน “ภูเขาสูง” บางทีอาจเป็นภูเขาเฮอร์โมน ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร. ดูเหมือนว่าตอนนั้นเป็นเวลากลางคืนเนื่องจากสาวกทั้งสามคนกำลังง่วงมาก. แต่เมื่อพระเยซูอธิษฐานก็มีบางสิ่งเกิดขึ้นซึ่งทำให้พวกเขาหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง.—มัดธาย 17:1; ลูกา 9:28, 29, 32
พระเยซูเริ่มเปลี่ยนไปต่อหน้าพวกเขา. พระพักตร์ของพระองค์เริ่มมีแสงเรือง ๆ และค่อย ๆ สว่างขึ้นจนเจิดจ้าเหมือนดวงอาทิตย์. ฉลองพระองค์ก็ขาวแวววาว. แล้วมีชายสองคนอยู่กับพระเยซู คนหนึ่งดูเหมือนโมเซและอีกคนหนึ่งเหมือนเอลียาห์. พวกเขาได้สนทนากับพระองค์เรื่อง “การจากไปของพระองค์ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นที่กรุงเยรูซาเลม” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหมายถึงการที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์และได้รับการปลุกให้ฟื้นคืนพระชนม์. ปรากฏชัดว่าเปโตรเป็นฝ่ายผิดที่พูดว่าพระเยซูจะไม่เจอกับประสบการณ์ที่เจ็บปวดเช่นนั้น!—ลูกา 9:30, 31
เปโตรรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในนิมิตที่น่าอัศจรรย์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. ดูเหมือนว่าโมเซกับเอลียาห์กำลังจะจากพระเยซูไป. เปโตรจึงพูดขึ้นมาว่า “อาจารย์ ดีที่พวกเราอยู่ที่นี่ ให้พวกข้าพเจ้าตั้งพลับพลาขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเซ อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์.” แน่ละ บุคคลในภาพนิมิตซึ่งดูเหมือนผู้รับใช้สองคนของพระยะโฮวาที่เสียชีวิตไปนานแล้วไม่จำเป็นต้องมีพลับพลา. เปโตรไม่รู้จริง ๆ ว่าพูดอะไรออกไป. คุณคงรู้สึกประทับใจชายคนนี้เพราะความกระตือรือร้นและจิตใจดีของเขามิใช่หรือ?—ลูกา 9:33
เขาและยาโกโบกับโยฮันได้รับสิทธิพิเศษอีกอย่างหนึ่งในคืนนั้น. ขณะที่ยังอยู่บนภูเขาเมฆก้อนหนึ่งก่อตัวขึ้นและปกคลุมพวกเขา. มีเสียงพูดออกมาจากเมฆนั้น ซึ่งก็คือพระสุรเสียงของพระยะโฮวาพระเจ้านั่นเอง! พระองค์ตรัสว่า “นี่ลูกา 9:34-36
คือบุตรของเรา ผู้ที่เราเลือกไว้. จงฟังท่านเถิด.” หลังจากนั้น นิมิตก็จบลง และพวกเขาอยู่เพียงลำพังกับพระเยซูบนภูเขานั้น.—ภาพนิมิตนั้นเป็นสิ่งที่พิเศษจริง ๆ สำหรับเปโตร และสำหรับเราด้วย! หลายสิบปีต่อมาเขาได้เขียนถึงสิทธิพิเศษที่ได้รับในคืนนั้นที่ได้เป็นหนึ่งใน ‘พยานรู้เห็นเรื่องความสง่างามของพระองค์’ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการเห็นภาพล่วงหน้าตอนที่พระเยซูได้รับสง่าราศีฐานะกษัตริย์ในสวรรค์. นิมิตนั้นยืนยันคำพยากรณ์หลายข้อในพระคำของพระเจ้า และเสริมความเชื่อของเปโตรเพื่อรับมือกับการทดสอบที่จะมีมาในวันข้างหน้า. (2 เปโตร 1:16-19) นิมิตนั้นสามารถช่วยเราได้เช่นเดียวกันถ้าเราเป็นเหมือนเปโตรโดยรักษาความภักดีต่อนายของเราผู้ซึ่งพระยะโฮวาได้แต่งตั้งไว้เพื่อดูแลเรา โดยเรียนรู้จากพระองค์ ยอมรับการตีสอนและการแก้ไขจากพระองค์ และติดตามพระองค์ด้วยความถ่อมใจวันแล้ววันเล่า.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ดูบทความ “จงเลียนแบบความเชื่อของเขา—เขาต่อสู้กับความกลัวและความสงสัย” ในหอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 2009.
^ วรรค 9 เห็นได้ชัดว่าฝูงชนที่ธรรมศาลาเป็นคนที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายเมื่อเทียบปฏิกิริยาของพวกเขาต่อคำตรัสของพระเยซูในครั้งนี้กับคำกล่าวของพวกเขาเพียงหนึ่งวันก่อนหน้านั้นที่พูดอย่างตื่นเต้นว่า พระองค์เป็นผู้พยากรณ์ของพระเจ้า.—โยฮัน 6:14
^ วรรค 15 เมื่อเดินทางจากชายฝั่งทะเลแกลิลีที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 210 เมตรไปเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตรโดยผ่านภูมิภาคต่าง ๆ ที่งดงามเป็นธรรมชาติ พระเยซูกับสาวกก็มาถึงบริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 350 เมตร.
^ วรรค 18 ดูกรอบ “ใครคือศิลา?” ในหน้า 28.
[กรอบ/ภาพหน้า 28]
ใครคือศิลา?
“เราบอกเจ้าอีกว่า เจ้าคือเปโตร และบนศิลานี้เราจะสร้างประชาคมของเรา.” (มัดธาย 16:18) มักเข้าใจกันว่าถ้อยคำเหล่านี้ที่พระเยซูตรัสกับอัครสาวกเปโตรหมายความว่า เปโตรจะเป็นฐานรากของประชาคมคริสเตียน. คริสตจักรคาทอลิกสอนว่า พระเยซูตรัสเช่นนั้นเป็นการยกย่องเปโตรเหนืออัครสาวกคนอื่น ๆ เสมือนหนึ่งว่ากำลังตั้งเขาให้เป็นโปปองค์แรก. ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจารึกคำตรัสดังกล่าวของพระเยซูในภาษาละตินขนาดตัวอักษรสูงกว่าคนไว้ในโดมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม.
พระเยซูทรงหมายความไหมว่าเปโตรคือศิลาซึ่งพระองค์จะตั้งประชาคมของพระองค์ขึ้น? ไม่ใช่เช่นนั้น. ให้เราพิจารณาเหตุผลสามประการที่ทำให้เรามั่นใจในเรื่องนี้. ประการแรก อัครสาวกคนอื่น ๆ ก็อยู่ที่นั่นด้วย และพวกเขาไม่ได้เข้าใจว่าพระเยซูทรงหมายความเช่นนั้น. ถ้าพระเยซูทรงยกย่องเปโตรต่อหน้าพวกเขาทุกคนแล้วทำไมหลังจากนั้นพวกเขาจึงเถียงกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าใครน่าจะเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่พวกเขา? (มาระโก 9:33-35; ลูกา 22:24-26) ประการที่สอง อัครสาวกเปาโลได้แสดงให้เห็นในเวลาต่อมาว่าศิลานั้นไม่ใช่เปโตร แต่เป็นพระเยซูคริสต์. (1 โครินท์ 3:11; 10:4) ประการที่สาม อีกหลายสิบปีต่อมาเปโตรเองก็ได้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นศิลา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาได้เขียนว่าพระเยซูคือ “หินหัวมุมของฐานราก” ที่พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้ด้วยพระองค์เอง.—1 เปโตร 2:4-8
กระนั้น บางคนยังยืนกรานว่า พระเยซูกำลังบอกว่าเปโตรคือศิลา เนื่องจากชื่อเปโตรหมายความว่า “ก้อนหิน.” แต่ที่จริงแล้ว ชื่อเปโตรไม่ได้มีความหมายตรงกับคำว่า “ศิลา” ที่ใช้ในข้อคัมภีร์เดียวกันนั้น. ชื่อเปโตรมีความหมายว่า “หินก้อนหนึ่ง” และเป็นคำนามเพศชาย ส่วนคำที่แปลว่า “ศิลา” เป็นคำนามเพศหญิง. ถ้าเช่นนั้นเราควรเข้าใจคำตรัสของพระเยซูอย่างไร? แท้จริงแล้ว พระองค์กำลังตรัสกับเปโตรว่า “เจ้า ซึ่งเราเรียกว่าเปโตรหรือก้อนหิน ได้เข้าใจอย่างแท้จริงแล้วว่าใครคือ ‘ศิลา’ หรือพระคริสต์ผู้ซึ่งจะเป็นฐานรากของประชาคมคริสเตียน.” ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เปโตรได้มีส่วนช่วยเปิดเผยความจริงสำคัญข้อนี้!
[ภาพหน้า 24, 25]
เปโตรพิสูจน์ตัวว่าภักดีแม้เมื่อถูกว่ากล่าวแก้ไข
[ภาพหน้า 26]
ความภักดีของเปโตรได้รับผลตอบแทนโดยได้เห็นนิมิตที่ตื่นตาตื่นใจ