ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เบเธลบรุกลิน—ประวัติที่ยาวนานถึง 100 ปี

เบเธลบรุกลิน—ประวัติที่ยาวนานถึง 100 ปี

เบเธล เลข​ที่ 122-124 โคลัมเบีย​ไฮตส์

เลข​ที่ 13-17 ถนน​ฮิกส์ (ปี 1909-1918)

ปี 1909 นับ​เป็น​ปี​ที่​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​นคร​นิวยอร์ก. มี​การ​เปิด​สะพาน​ควีนส์โบโร​ที่​เชื่อม​ระหว่าง​เขต​ควีนส์​กับ​เกาะ​แมนฮัตตัน และ​เปิด​สะพาน​แมนฮัตตัน​ที่​เชื่อม​ระหว่าง​เกาะ​แมนฮัตตัน​กับ​เขต​บรุกลิน.

ปี​เดียว​กัน​นี้​ยัง​มี​ความ​สำคัญ​สำหรับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน. ก่อน​หน้า​นั้น ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ นายก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์​ซึ่ง​เป็น​องค์กร​ทาง​กฎหมาย​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​เล็ง​เห็น​แล้ว​ว่า​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ขยาย​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ออก​ไป. (มัดธาย 24:14) เขา​เชื่อ​ว่า​การ​ย้าย​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​สมาคม​จาก​พิตส์เบิร์ก เพนซิลเวเนีย​มา​ยัง​บรุกลิน นิวยอร์ก​เป็น​ขั้น​ตอน​สำคัญ​ที่​จะ​ช่วย​ให้​งาน​ก้าว​หน้า​ไป​ถึง​ขั้น​นั้น. พวก​เขา​เริ่ม​เตรียม​การ​ขน​ย้าย​ตั้ง​แต่​ปี 1908 และ​ได้​ย้าย​ไป​ยัง​บรุกลิน​ใน​ต้น​ปี​ถัด​มา.

ทำไม​จึง​ย้าย​ไป​บรุกลิน?

บรรดา​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ใน​งาน​ประกาศ​ใน​เวลา​นั้น​ทราบ​ว่า​การ​เผยแพร่​โดย​ใช้​วิธี​ตี​พิมพ์​คำ​เทศน์​ลง​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เป็น​วิธี​แพร่​กระจาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ได้​ผล​ดี. อัน​ที่​จริง เมื่อ​ถึง​ปี 1908 มี​คำ​เทศน์​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​รัสเซลล์​ตี​พิมพ์​อยู่​แล้ว​ทุก​สัปดาห์​ใน​หนังสือ​พิมพ์ 11 ฉบับ โดย​มี​ยอด​พิมพ์​ทั้ง​สิ้น 402,000 ฉบับ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม รัสเซลล์​ได้​เขียน​ว่า “พวก​พี่​น้อง​ที่​คุ้น​เคย​กับ​วิธี​การ​ทำ​งาน​ของ​หนังสือ​พิมพ์ . . . ให้​ความ​มั่น​ใจ​แก่​เรา​ว่า​ถ้า​หาก​คำ​เทศน์​ประจำ​สัปดาห์​เหล่า​นี้​มา​จาก [ศูนย์กลาง​ที่​ใหญ่​กว่า] ก็​มี​โอกาส​ที่​คำ​เทศน์​เหล่า​นั้น​จะ​ได้​รับ​การ​ตี​พิมพ์​ลง​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ทั่ว​สหรัฐ และ​ภาย​ใน​หนึ่ง​ปี​ก็​อาจ​จะ​มี​หนังสือ​พิมพ์​หลาย​ร้อย​ฉบับ​ตี​พิมพ์​คำ​เทศน์​เหล่า​นั้น​เป็น​ประจำ.” ฉะนั้น พวก​เขา​จึง​มอง​หา​สถาน​ที่​ที่​เหมาะ​ที่​สุด​สำหรับ​การ​ขยาย​งาน​ประกาศ.

คำ​เทศน์​ของ​รัสเซลล์​ซึ่ง​ตี​พิมพ์​ใน​หนังสือ​พิมพ์

ทำไม​ต้อง​เป็น​ที่​บรุกลิน? รัสเซลล์​บอก​ว่า “หลัง​จาก​ได้​ขอ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระเจ้า​แล้ว เรา​จึง​ลง​ความ​เห็น​ว่า บรุกลิน นิวยอร์ก ซึ่ง​เป็น​เขต​ที่​มี​ประชากร​มาก​มาย . . . และ​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น ‘นคร​แห่ง​โบสถ์’ น่า​จะ​เป็น​ศูนย์กลาง​ที่​เหมาะ​ที่​สุด​สำหรับ​งาน​เก็บ​เกี่ยว.” ผล​ที่​ตาม​มา​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ใน​เรื่อง​นี้. ภาย​ใน​เวลา​ไม่​นาน​ก็​มี​หนังสือ​พิมพ์ 2,000 ฉบับ​ที่​ตี​พิมพ์​คำ​เทศน์​ของ​รัสเซลล์.

ยัง​มี​เหตุ​ผล​อีก​ประการ​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​นิวยอร์ก​เป็น​ตัว​เลือก​ที่​เหมาะ​สม. เมื่อ​ถึง​ปี 1909 ได้​มี​การ​ตั้ง​สำนักงาน​สาขา​ขึ้น​แล้ว​ใน​บริเตนใหญ่ เยอรมนี ออสเตรเลีย​และ​กำลัง​จะ​มี​ใน​อีก​หลาย​แห่ง. ฉะนั้น จึง​นับ​ว่า​เหมาะ​ที่​จะ​ตั้ง​สำนักงาน​ใหญ่​ขึ้น​ใน​เมือง​ท่า​ซึ่ง​มี​โครง​ข่าย​ถนน​และ​ทาง​รถไฟ​หลาย​สาย​เชื่อม​ต่อ​ไป​ยัง​ที่​อื่น ๆ ได้.

ทำไม​จึง​เรียก​ว่า​เบเธล?

เลข​ที่ 18 ถนน​คองคอร์ด (ปี 1922-1927)

เลข​ที่ 117 ถนน​อดัมส์ (ปี 1927 จน​ปัจจุบัน)

สำนักงาน​ใหญ่​แห่ง​แรก​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์​ตั้ง​ขึ้น​เมื่อ​ปี 1880 ใน​แอลเลเกนี (ปัจจุบัน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พิตส์เบิร์ก) รัฐ​เพนซิลเวเนีย. ใน​เวลา​นั้น​มี​การ​เรียก​สำนักงาน​แห่ง​นี้​ว่า บ้าน​คัมภีร์​ไบเบิล. เมื่อ​ถึง​ปี 1896 ที่​นี่​มี​สมาชิก 12 คน.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​มี​การ​ย้าย​สำนักงาน​ใหญ่​ไป​ยัง​บรุกลิน​ใน​ปี 1909 อาคาร​ที่​พัก​แห่ง​ใหม่​สำหรับ​ผู้​ที่​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน​นี้​ถูก​เรียก​ว่า เบเธล. * ทำไม​จึง​ชื่อ​เบเธล? อาคาร​เลข​ที่ 13-17 บน​ถนน​ฮิกส์​ซึ่ง​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ได้​ซื้อ​นั้น​เดิม​เป็น​ของ​นัก​เทศน์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ชื่อ​เฮนรี วอร์ด บีเชอร์ และ​อาคาร​แห่ง​นี้​เคย​เรียก​กัน​ว่า บีเชอร์​เบเธล. สมาคม​ยัง​ได้​ซื้อ​บ้าน​พัก​เดิม​ของ​บีเชอร์​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​เลข​ที่ 124 ถนน​โคลัมเบีย ไฮตส์​ด้วย. วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ​วัน​ที่ 1 มีนาคม 1909 รายงาน​ว่า “ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​แปลก​จริง ๆ ที่​เรา​ได้​ซื้อ​อาคาร​ที่​เคย​เป็น​บีเชอร์​เบเธล​และ​ยัง​บังเอิญ​ได้​บ้าน​พัก​เก่า​ของ​เขา​ด้วย. . . . เรา​จะ​เรียก​บ้าน​ใหม่​นี้​ว่า ‘เบเธล’ และ​เรียก​อาคาร​สำนักงาน​กับ​ห้อง​ประชุม​ใหม่​ว่า ‘พลับพลา​บรุกลิน’ ชื่อ​ทั้ง​สอง​นี้​จะ​มา​แทน​คำ​ว่า ‘บ้าน​คัมภีร์​ไบเบิล.’”

ปัจจุบัน สำนักงาน​ใน​บรุกลิน​ที่​มี​การ​ต่อ​ขยาย​จน​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​เดิม​มาก​และ​สถาน​ที่​อีก​สอง​แห่ง​ใน​รัฐ​นิวยอร์ก คือ​วอลล์คิลล์​และ​แพตเทอร์สัน รวม​ถึง​อาคาร​ที่​พัก, โรง​พิมพ์, สำนักงาน​ต่าง ๆ ถูก​เรียก​ว่า เบเธล. ที่​จริง ขณะ​นี้​มี​เบเธล​ใน 113 ประเทศ​ทั่ว​โลก โดย​มี​ผู้​ทำ​งาน​มาก​กว่า 19,000 คน ช่วย​ใน​การ​แจก​จ่าย​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล.

เลข​ที่ 35 ถนน​เมอร์เทิล (ปี 1920-1922)

ต้อนรับ​ผู้​มา​เยือน​อย่าง​อบอุ่น

มี​การ​อุทิศ​อาคาร​สำนักงาน​และ​ที่​พัก​ใน​วัน​ที่ 31 มกราคม 1909. วัน​จันทร์​ที่ 6 กันยายน 1909 เป็น​วัน​ที่​มี​การ​ต้อนรับ​ผู้​มา​เยือน​เบเธล. นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล (ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เวลา​นั้น) หลาย​ร้อย​คน​ได้​มา​เยี่ยม​ชม. พวก​เขา​หลาย​คน​เดิน​ทาง​มา​จาก​การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​คริสเตียน​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ที่​ซาราโทกาสปริงส์ ซึ่ง​อยู่​เหนือ​นคร​นิวยอร์ก​ขึ้น​ไป​ประมาณ 320 กิโลเมตร. ชาลส์ เทซ รัสเซลล์​กล่าว​ต้อนรับ​และ​ทักทาย​ผู้​มา​เยือน​ด้วย​ตน​เอง. *

ทุก​วัน​นี้ เบเธล​ยัง​คง​ต้อนรับ​ผู้​มา​เยือน​อยู่​เช่น​เคย. อัน​ที่​จริง ใน​แต่​ละ​ปี​มี​มาก​กว่า 40,000 คน​ที่​มา​เยี่ยม​ชม​อาคาร​สำนักงาน​ที่​บรุกลิน. เบเธล​บรุกลิน​ยัง​คง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​เพิ่ม​พูน​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​นำ​พระ​พร​มา​สู่​ผู้​คน​จำนวน​นับ​ล้าน ๆ.

โรง​พิมพ์​วอลล์คิลล์

ศูนย์​การ​ศึกษา​แพตเทอร์สัน

^ วรรค 11 คำ​ภาษา​ฮีบรู “เบเธล” แปล​ว่า “บ้าน​ของ​พระเจ้า.” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล เบเธล (เบทเอล) เป็น​เมือง​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​อิสราเอล. มี​เพียง​กรุง​เยรูซาเลม​เท่า​นั้น​ที่​มี​การ​พูด​ถึง​มาก​กว่า.

^ วรรค 14 สำหรับ​ราย​ละเอียด​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​ประวัติ​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา โปรด​ดู​หนังสือ​พยาน​พระ​ยะโฮวา—ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) หน้า 718-723 ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.