ผู้ประสบภัยพายุไซโคลนในพม่าได้รับการบรรเทาทุกข์
ผู้ประสบภัยพายุไซโคลนในพม่าได้รับการบรรเทาทุกข์
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2008 พายุไซโคลนนาร์กีสได้พัดถล่มประเทศพม่าจนเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว. * มีรายงานว่าประชาชนเสียชีวิตหรือสูญหายไปเกือบ 140,000 คนหลังจากที่เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งอย่างรุนแรงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี.
น่าอัศจรรย์ใจจริง ๆ ที่พยานพระยะโฮวาหลายคนในบริเวณนั้นไม่มีใครได้รับอันตรายเลย. พวกเขาส่วนใหญ่รอดชีวิตมาได้เพราะเข้าไปหลบภัยในหอประชุมราชอาณาจักรซึ่งมีโครงสร้างที่แข็งแรง. ในที่แห่งหนึ่ง มีพยานฯ 20 คนกับชาวบ้านอีก 80 คน นั่งอยู่บนหลังคาหอประชุมนานถึงเก้าชั่วโมงเพราะน้ำท่วมสูงถึงเกือบ 5 เมตร. พวกเขาทุกคนรอดชีวิต. แต่น่าเศร้าที่คนอื่น ๆ อีก 300 คนในหมู่บ้านนั้นเสียชีวิต. ในหลายหมู่บ้าน หอประชุมราชอาณาจักรเป็นอาคารหลังเดียวที่ไม่พังลง.
สองวันหลังจากเกิดพายุ สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในย่างกุ้งได้ส่งทีมบรรเทาทุกข์ไปยังประชาคมในหมู่บ้านโบทิงกอนซึ่งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ. ขณะเดินทางผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน พวกเขาต้องคอยระวังพวกโจรที่จะมาแย่งชิงข้าวของและผ่านซากศพมากมายที่เริ่มเน่าเปื่อย จนมาถึงโบทิงกอนพร้อมกับสิ่งของจำนวนมาก ทั้งข้าว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, น้ำและเทียนไข. พวกเขาเป็นทีมบรรเทาทุกข์กลุ่มแรกที่ไปถึงบริเวณนั้น. หลังจากมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับพยานฯ ในท้องถิ่นแล้ว ทีมบรรเทาทุกข์ก็จัดให้มีคำบรรยายเพื่อหนุนกำลังใจคนเหล่านั้นและให้คัมภีร์ไบเบิลกับหนังสือ
อธิบายคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขา เนื่องจากข้าวของต่าง ๆ ของพวกเขาถูกพายุพัดหายไปหมดแล้ว.พยานฯ ที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนมีทัศนะที่น่าทึ่งจริง ๆ. พยานฯ คนหนึ่งจากประชาคมในเขตอิรวดีซึ่งเป็นเขตที่ได้รับความเสียหายมากบอกว่า “ทุกอย่างที่เรามีสูญสิ้นไปหมดแล้ว. บ้านของเราพังพินาศทั้งหมด. พืชผักในไร่นาก็ไม่มีเหลือ. น้ำดื่มก็ดื่มไม่ได้เพราะน้ำท่วมหมด. แต่พวกพี่น้องก็ไม่รู้สึกวิตกกังวลเหมือนคนอื่น ๆ. พวกเขาวางใจในพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์. เราจะทำทุกอย่างตามที่ได้รับการชี้นำไม่ว่าเราจะอยู่ในหมู่บ้านหรือไปอยู่ที่อื่น.”
พยานฯ กลุ่มหนึ่งจำนวน 30 คน ซึ่งสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างเช่นกันได้ร้องเพลงราชอาณาจักรอย่างมีความสุขขณะที่เดินทางนานสิบชั่วโมงไปยังสถานที่ที่ทีมบรรเทาทุกข์ได้เตรียมอาหาร เสื้อผ้า และที่พักเอาไว้ให้. ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทาง พวกเขาได้ทราบข่าวว่าพยานพระยะโฮวาในเมืองใกล้ ๆ กำลังจัดการประชุมใหญ่. พวกเขาจึงตัดสินใจไปร่วมการประชุมนั้นก่อนเพื่อรับการหนุนใจจากคัมภีร์ไบเบิลและพบปะกับพี่น้อง.
ทั่วบริเวณที่ถูกพายุไซโคลนพัดถล่ม มีบ้านของพยานฯ ถูกทำลาย 35 หลัง อีก 125 หลังเสียหายเป็นบางส่วนและหอประชุม 8 หลังเสียหายเล็กน้อย. น่ายินดีที่อาคารสำนักงานสาขาไม่ได้รับความเสียหายมากนัก.
ในตอนแรกพายุไซโคลนได้ทำให้สำนักงานสาขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะมีต้นไม้ใหญ่ล้มลงมาปิดถนนสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ. เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากพายุสงบ ผู้ที่ทำงานในสำนักงานสาขามากกว่า 30 คนก็ช่วยกันขนต้นไม้เหล่านั้นออกไปโดยไม่มีอุปกรณ์ทุ่นแรง. ขณะที่พวกเขาทำงานอยู่ก็มีประชาชนมายืนดูด้วยความประหลาดใจ. หลังจากนั้นไม่นาน พยานฯ ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งก็นำเครื่องดื่มเย็น ๆ และผลไม้มาบริการให้แก่คนที่ทำงานรวมทั้งพวกเพื่อนบ้านเหล่านั้นซึ่งแทบจะไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาเห็น. เมื่อนักข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเห็นเช่นนั้น เขาก็ถามว่า “พวกที่ทำงานมีประสิทธิภาพดีอย่างนี้เป็นใครกัน?” เมื่อมีคนบอกเขา เขาก็พูดว่า “ผมอยากให้มีคนที่เต็มใจช่วยเหลือสังคมจริง ๆ เหมือนพวกพยานพระยะโฮวามากกว่านี้!”
ในเวลาอันรวดเร็ว พยานฯ ได้ตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์ขึ้นสองคณะเพื่อดูแลงานบรรเทาทุกข์ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ. มีอาสาสมัครหลายร้อยคนเข้าร่วมในทีมบรรเทาทุกข์นี้. ภายในไม่กี่วัน มีการสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับพยานฯ ที่สูญเสียบ้านเนื่องจากพายุ. เมื่อทีมบรรเทาทุกข์มาถึงและกำลังจะสร้างบ้านให้พยานฯ คนหนึ่ง พวกเพื่อนบ้านของเธอมายืนดูอย่างไม่เชื่อสายตาตัวเอง. เพื่อนบ้านคนหนึ่งบอกว่า “ผู้หญิงพยานฯ คนนี้มีคนที่โบสถ์ของเธอมาสร้างบ้านให้ใหม่. แต่ไม่มีเพื่อนที่เป็นชาวพุทธมาช่วยฉันบ้างเลย. ฉันน่าจะไปเป็นพยานฯ เสียตั้งแต่เมื่อก่อนตอนที่เธอมาพูดให้ฟังแล้ว!”
เมื่อทีมก่อสร้างและคณะกรรมการบรรเทาทุกข์สำรวจพบว่ามีบ้านหลังหนึ่งของพยานฯ ในเมืองตันลยินถูกทำลายจนแทบไม่เหลืออะไร พวกเขารู้สึกประทับใจมากเมื่อครอบครัวนั้นบอกกับพวกเขาว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น. บ้านเราก็ยังดีอยู่. เราอยู่กันได้ไม่มีปัญหา! พยานฯ บางคนไม่มีบ้านจะอยู่ด้วยซ้ำ. พวกคุณไปช่วยพวกเขาเถอะ!”
ในเขตหนึ่งของย่างกุ้ง มีบางคนพยายามจะเข้าไปหลบพายุในโบสถ์แห่งหนึ่ง. แต่ทว่าประตูโบสถ์ถูกล็อคไว้ จึงไม่มีใครเข้าไปได้. คนเหล่านั้นโมโหมากและคิดจะพังประตูโบสถ์. ตรงกันข้าม พยานพระยะโฮวาได้ช่วยคนมากมายเข้ามาหลบภัยในหอประชุมราชอาณาจักรระหว่างที่เกิดพายุ. ตัวอย่างเช่น ที่หอประชุมในเมืองดาลา สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งเป็นพยานฯ ได้ให้ที่พักแก่เพื่อนบ้าน 20 คนที่เดือดร้อนซึ่งหนีมาหลบภัย. เมื่อถึงเวลาเช้า คนเหล่านั้นก็ไม่มีบ้านให้กลับและต่างก็หิว. พยานฯ ผู้เป็นสามีได้พบคนขายข้าว เขาจึงซื้อมาให้ทุกคนได้รับประทาน.
ในย่างกุ้ง มีครอบครัวหนึ่งซึ่งสมาชิกบางคนเป็นพยานพระยะโฮวา และที่เหลือก็เป็นสมาชิกโบสถ์ต่าง ๆ. หลังจากเกิดพายุไซโคลน ทั้งครอบครัวมาประชุมที่หอประชุม
ราชอาณาจักร. ทำไมเป็นเช่นนั้น? สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวอธิบายว่า “คริสตจักรของเราบอกว่าจะมาเยี่ยมเราหลังจากพายุสงบ แต่ก็ไม่เห็นมาสักที. มีแต่พยานฯ ที่มา. พวกคุณให้ข้าวและน้ำแก่เรา. พวกคุณไม่เหมือนโบสถ์อื่นเลย!” สมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้เป็นพยานฯ รู้สึกชอบเมื่อได้เข้าร่วมการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ เรื่อง “พระยะโฮวาทรงสดับเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากเรา” และพวกเขาถึงกับออกความคิดเห็นหลายครั้งด้วย.ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานฯ มาร่วมประชุมในสัปดาห์หลังจากที่เกิดพายุไซโคลน. ระหว่างการประชุม มีการอ่านจดหมายจากสำนักงานสาขาซึ่งอธิบายว่าได้มีการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างและเล่าประสบการณ์ของคนที่รอดชีวิตจากพายุ. ขณะที่มีการอ่านจดหมาย ผู้หญิงคนนี้ก็เริ่มร้องไห้. เธอรู้สึกประทับใจและมีความสุขมากที่ได้ยินว่าพยานฯ ทุกคนปลอดภัยดี. หลังจากนั้น เธอก็ได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์และพี่น้องได้ตั้งเต็นท์หลังหนึ่งให้ที่ข้าง ๆ บ้านของเธอ. เธอบอกว่าเธอรู้สึกว่าพยานฯ ดูแลเธอดีจริง ๆ.
พระเยซูตรัสว่า “เพราะเหตุนี้แหละ คนทั้งหลายจะรู้ว่าพวกเจ้าเป็นสาวกของเรา ถ้าพวกเจ้ารักกัน.” (โยฮัน 13:35) สาวกยาโกโบก็เน้นว่าความเชื่อแท้ต้องควบคู่ไปกับการกระทำที่ดี. (ยาโกโบ 2:14-17) พยานพระยะโฮวาถือว่าข้อคัมภีร์นี้สำคัญมากและพยายามจะแสดงความรักเช่นนั้นโดยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลแคริบเบียนมักเรียกพายุไซโคลนเขตร้อนว่าเฮอร์ริเคน ในขณะที่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนจะเรียกว่าไต้ฝุ่น.”
[ที่มาของภาพหน้า 11]
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความเชื่อแท้ต้องควบคู่ไปกับการกระทำที่ดี