ขอเชิญคุณด้วยความจริงใจ
คุณอาจพบเห็นหอประชุมราชอาณาจักรของพยานพระยะโฮวามาแล้ว และสงสัยว่าเขาทำอะไรกันข้างใน. คุณทราบไหมว่าการประชุมประจำสัปดาห์ของพวกเขาเปิดให้สาธารณชนเข้าฟังได้? ผู้เข้าร่วมจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น.
แต่คุณอาจมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้. ทำไมพยานพระยะโฮวามาร่วมประชุมกัน? ที่การประชุมมีอะไรบ้าง? และผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาพูดอย่างไรเกี่ยวกับการประชุม?
“จงให้คนทั้งปวงมาประชุมกัน”
ตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คนได้มาประชุมร่วมกันเพื่อนมัสการพระเจ้าและเรียนรู้เรื่องของพระองค์. เกือบ 3,500 ปีมาแล้วที่มีการบอกชาวอิสราเอลว่า “จงให้คนทั้งปวงมาประชุมกัน, ทั้งชายหญิงกับเด็กทั้งปวง, และคนต่างชาติซึ่งอยู่ในเขตแดนภายในประตูเมืองทั้งปวงของเจ้า, ให้เขาทั้งหลายได้ยินฟัง, และกลัวเกรงพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, และเชื่อฟังประพฤติตามพระบัญญัติทั้งปวงนี้.” (พระบัญญัติ 31:12) ดังนั้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในอิสราเอลได้รับการสอนให้นมัสการและเชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้า.
หลายศตวรรษต่อมา เมื่อประชาคมคริสเตียนได้รับการก่อตั้งขึ้น การประชุมยังคงเป็นลักษณะเด่นของการนมัสการแท้. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ให้เราพิจารณากันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการดี อย่าขาดการประชุมกันอย่างที่บางคนทำเป็นนิสัย แต่ให้ชูใจกัน.” (ฮีบรู 10:24, 25) สายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อสมาชิกครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันฉันใด สายสัมพันธ์แห่งความรักระหว่างผู้ปรารถนาจะรับใช้พระเจ้าก็แน่นแฟ้นขึ้นเมื่อคริสเตียนมาร่วมประชุมกันเพื่อการนมัสการฉันนั้น.
สอดคล้องกับแบบอย่างในพระคัมภีร์ดังข้างต้น พยานพระยะโฮวามาร่วมประชุมกันที่หอประชุมราชอาณาจักรของพวกเขาสัปดาห์ละสองครั้ง. การประชุมช่วยผู้เข้าร่วมให้มองเห็นคุณค่าและเข้าใจหลักการในคัมภีร์ไบเบิล แล้วนำไปใช้. มีการจัดระเบียบวาระการประชุมให้เหมือนกันทั่วโลกเท่าที่เป็นไปได้ และการประชุมแต่ละรายการมีวัตถุประสงค์ทางฝ่ายวิญญาณที่แตกต่างกันไป. ก่อนและหลังการประชุม ผู้เข้าร่วมสามารถ “หนุนกำลังใจกัน” โดยการสนทนาที่เสริมสร้าง. (โรม 1:12) พวกเขาทำอะไรกันบ้างที่การประชุมเหล่านี้?
คำบรรยายที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก
การประชุมแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าร่วมคือ คำบรรยายสำหรับสาธารณชนทั่วไปที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วจะจัดในวันสุดสัปดาห์. พระเยซูคริสต์มักจะให้คำบรรยายสาธารณะเสมอ หนึ่งในนั้นคือคำเทศน์บนภูเขาซึ่งเป็นคำเทศน์ที่มีชื่อเสียง. (มัดธาย 5:1; 7:28, 29) อัครสาวกเปาโลให้คำบรรยายต่อชาวเอเธนส์. (กิจการ 17:22-34) โดยติดตามแบบอย่างนี้ การประชุมของพยานพระยะโฮวาจึงเน้นคำบรรยายที่จัดเตรียมเพื่อสาธารณชนโดยเฉพาะ ซึ่งบางคนอาจเข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งแรก.
การประชุมเริ่มด้วยการร้องเพลงจากหนังสือจงร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. * ใครที่ประสงค์จะยืนขึ้นและร่วมร้องเพลงดังกล่าวก็สามารถทำได้. หลังจากการอธิษฐานสั้น ๆ ผู้บรรยายที่มีคุณวุฒิจะนำเสนอคำบรรยาย 30 นาที. ( ดูกรอบ “คำบรรยายซึ่งคนทั่วไปรับประโยชน์ได้.”) คำบรรยายของเขาอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจริง ๆ. ผู้บรรยายมักจะเชิญผู้ฟังให้เปิดดูข้อคัมภีร์ที่เหมาะกับเรื่อง และเชิญให้ดูตามไปขณะที่มีการอ่าน. ฉะนั้น คุณคงอยากจะนำพระคัมภีร์ฉบับส่วนตัวมาด้วย หรือคุณอาจขอพระคัมภีร์จากพยานพระยะโฮวาก่อนการประชุมก็ได้.
การศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์
ในประชาคมส่วนใหญ่ของพยานพระยะโฮวา คำบรรยายสาธารณะจะต่อด้วยการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องราวจากพระคัมภีร์หนึ่งชั่วโมงด้วยวิธีถาม-ตอบ. การประชุมนี้สนับสนุนผู้เข้าร่วมให้ติดตามแบบอย่างของชาวเมืองเบโรยาในสมัยของเปาโลซึ่งพวกเขา “รับฟังถ้อยคำ . . . ด้วยใจกระตือรือร้นอย่างยิ่งและค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบ.”—กิจการ 17:11.
การศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ จะเริ่มด้วยการร้องเพลง. เรื่องที่พิจารณาและคำถามที่ผู้นำการศึกษายกขึ้นมานั้นมีอยู่ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับศึกษา. คุณอาจขอฉบับศึกษานี้จากพยานพระยะโฮวาได้. เรื่องที่พิจารณาเมื่อไม่นานมานี้มีหลากหลาย เช่น “บิดามารดา—จงอบรมสั่งสอนบุตรด้วยความรัก,” “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย,” และ “เหตุผลที่ความทุกข์ทั้งสิ้นจะยุติลงในไม่ช้า.” แม้การประชุมใช้วิธีถาม-ตอบ แต่การมีส่วนร่วมของผู้ฟังจะเป็นแบบสมัครใจ ซึ่งโดยปกติคำตอบจะมาจากผู้ที่ได้อ่านและใคร่ครวญเนื้อหากับข้อคัมภีร์อ้างอิงในบทความนั้นมาก่อนแล้ว. การประชุมจะจบด้วยการร้องเพลงและคำอธิษฐาน.—มัดธาย 26:30; เอเฟโซส์ 5:19
การศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคม
ช่วงเย็นของวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์พยานพระยะโฮวาจะประชุมกันอีกครั้งที่หอประชุมราชอาณาจักร โดยระเบียบวาระการประชุมจะแยกเป็นสามส่วน ใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง 45 นาที. ส่วนแรกจะเป็นการศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคม ใช้เวลา 25 นาที. ส่วนนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมคุ้นเคยมากขึ้นกับพระคัมภีร์ของเขา, ปรับความคิดและเจตคติของเขา, และช่วยปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นฐานะเป็นผู้ติดตามพระคริสต์. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) เช่นเดียวกับการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ การประชุมนี้เป็นการพิจารณาเรื่องราวในพระคัมภีร์โดยใช้วิธีถาม-ตอบ. ผู้ที่ ออกความเห็นจะทำด้วยความสมัครใจ. ปกติแล้วจะใช้หนังสือหรือจุลสารที่จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวาเป็นเครื่องช่วยในการศึกษาพระคัมภีร์.
ทำไมจึงใช้หนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในการประชุมดังกล่าว? ย้อนไปในสมัยที่มีการจารึกพระคัมภีร์ แค่การอ่านพระคำของพระเจ้ายังไม่พอ. จะต้อง “อธิบายและชี้แจงความหมาย; และ . . . ทำให้สิ่งที่ได้อ่านเข้าใจได้.” (นะเฮมยา 8:8, ล.ม.) ไม่กี่ปีมานี้ หนังสือที่พิจารณาพระธรรมยะซายา, ดานิเอล, และวิวรณ์ ได้ช่วยผู้เข้าร่วมประชุมให้เข้าใจส่วนดังกล่าวของพระคัมภีร์มาแล้ว.
โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า
การศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคมจะต่อด้วยโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. การประชุมที่ใช้เวลา 30 นาทีนี้มุ่งหมายจะช่วยคริสเตียนให้พัฒนา “ศิลปะในการสอน.” (2 ติโมเธียว 4:2) เพื่อเป็นตัวอย่าง ลูกหรือเพื่อนของคุณเคยถามคุณเกี่ยวกับพระเจ้าหรือคัมภีร์ไบเบิลไหมและคุณรู้สึกว่ายากที่จะตอบให้จุใจเขา? โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าสามารถสอนคุณให้รู้วิธีตอบคำถามยาก ๆ ได้ในแบบที่หนุนกำลังใจและอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. โดยวิธีนี้ เราสามารถกล่าวอย่างเดียวกับที่ผู้พยากรณ์ยะซายาได้กล่าวไว้ที่ว่า “พระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศรเองได้ทรงประทานลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอนแก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะรู้วิธีตอบคนที่เหนื่อยล้าด้วยถ้อยคำ.”—ยะซายา 50:4, ล.ม.
โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าจะเริ่มด้วยคำบรรยายที่อาศัยส่วนหนึ่งจากพระคัมภีร์ซึ่งผู้เข้าร่วมได้รับการสนับสนุนให้อ่านในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น. เมื่อบรรยายเสร็จ ผู้บรรยายจะเชิญผู้ฟังให้ออกความเห็นสั้น ๆ เกี่ยวกับจุดต่าง ๆ จากพระคัมภีร์ที่กำหนดให้อ่านซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์. หลังจากส่วนนี้ นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมในโรงเรียนจะนำเสนอส่วนมอบหมายของตน.
นักเรียนจะได้รับมอบหมายให้อ่านส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์จากเวที หรือไม่ก็มอบหมายให้สาธิตวิธีสอนเรื่องในพระคัมภีร์แก่อีกคนหนึ่ง. หลังจากการนำเสนอแต่ละส่วน ผู้ให้คำแนะนำที่มีประสบการณ์จะให้คำชมเชยในสิ่งที่นักเรียนได้ทำ โดยอาศัยคำแนะนำจากคู่มือการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. หลังจากนั้น
เขาอาจให้ข้อเสนอแนะเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับวิธีที่นักเรียนอาจปรับปรุงให้ดีขึ้นได้.ส่วนของระเบียบวาระที่ดำเนินไปตามกำหนดเวลาโดยไม่ชักช้านี้มุ่งหมายจะช่วยไม่เพียงนักเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยผู้เข้าร่วมทุกคนที่ต้องการปรับปรุงทักษะการอ่าน, การพูด, และการสอนให้ดีขึ้น. เมื่อจบโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าแล้วจะมีการร้องเพลงที่อาศัยตอนหนึ่งจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อนำเข้าสู่การประชุมการรับใช้.
การประชุมการรับใช้
ส่วนสุดท้ายของระเบียบวาระคือ การประชุมการรับใช้. โดยทางคำบรรยาย, การสาธิต, การสัมภาษณ์, และการออกความเห็นของผู้ฟัง ผู้เข้าร่วมจะเรียนรู้วิธีสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพ. ก่อนที่พระเยซูจะส่งเหล่าสาวกออกไปประกาศ พระองค์ทรงเรียกพวกเขามารวมกันและให้คำแนะนำอย่างละเอียดแก่พวกเขา. (ลูกา 10:1-16) เมื่อได้รับการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับงานเผยแพร่กิตติคุณ พวกเขาจึงมีประสบการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง. หลังจากนั้น เหล่าสาวกของพระเยซูได้รายงานผลให้พระองค์ทราบ. (ลูกา 10:17) เหล่าสาวกมักจะแบ่งปันประสบการณ์ให้กันและกันเสมอ.—กิจ. 4:23; 15:4.
กำหนดการสำหรับการประชุมการรับใช้ซึ่งใช้เวลา 35 นาที มีลงในจดหมายข่าวรายเดือนที่มีชื่อว่าพระราชกิจของเรา. หัวเรื่องที่มีการพิจารณาเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ “การนมัสการพระยะโฮวาร่วมกันทั้งครอบครัว,” “เหตุที่เราจึงกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า,” “จงเลียนแบบพระคริสต์ในงานประกาศของคุณ.” ระเบียบวาระจะจบด้วยการร้องเพลงและสมาชิกคนหนึ่งในประชาคมจะได้รับมอบหมายให้อธิษฐานปิด.
คำพูดของผู้เข้าร่วม
ประชาคมต่าง ๆ ยินดีต้อนรับผู้เข้าร่วมทุกคน. เพื่อเป็นตัวอย่าง แอนดรูว์ ได้ยินเรื่องราวในแง่ลบมากมายเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา. แต่เมื่อมายังการประชุมครั้งแรก เขารู้สึกแปลกใจที่ได้รับการต้อนรับอย่างดี. แอนดรูว์เล่าว่า “เป็นที่ที่เข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจจริง ๆ. ผมแปลกใจมากที่ผู้คนที่นั่นเป็นมิตร แสดงความสนใจและเป็นห่วงผม.” แอเชล วัยรุ่นคนหนึ่งในแคนาดาเห็นพ้องด้วย โดยกล่าวว่า “การประชุมนั้นน่าสนใจมาก! เข้าใจง่าย.”
ชูเซ อยู่ในบราซิล ในชุมชนเขาได้ชื่อว่าเป็นคนก้าวร้าว. ถึงกระนั้น เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักรในท้องถิ่น. เขาบอกว่า “ผู้คนที่หอประชุมต้อนรับผมอย่างอบอุ่น แม้พวกเขาจะรู้ว่าที่ผ่านมาผมเป็นคนอย่างไร.” อะสึชิ ซึ่งอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเล่าว่า “ผมต้องยอมรับว่าเมื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกกับพยานพระยะโฮวา ผมรู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้าง. แต่ผมก็ตระหนักว่าผู้คนเหล่านี้คือคนธรรมดา ๆ. พวกเขาพยายามอย่างแท้จริงที่จะทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย.”
ยินดีต้อนรับคุณ
ดังความเห็นที่กล่าวมานี้ การเข้าร่วมประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักรอาจเป็นประสบการณ์ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง. คุณจะเรียนรู้จักพระเจ้า และโดยทางคำแนะนำที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักซึ่งคุณได้รับจากหอประชุม พระยะโฮวาพระเจ้าจะสอนคุณ ‘เพื่อประโยชน์แก่ตัวของคุณเอง.’—ยะซายา 48:17.
การประชุมของพยานพระยะโฮวา เข้าฟังฟรี ไม่มีการเรี่ยไร. คุณอยากเข้าร่วมการประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักรในชุมชนของคุณสักครั้งไหม? เราขอเชิญคุณด้วยความจริงใจให้ทำเช่นนั้น.
^ วรรค 10 หนังสือทุกเล่มที่กล่าวถึงในบทความนี้ จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.