คริสเตียนยุคแรกในโลกที่พูดภาษากรีก
คริสเตียนยุคแรกในโลกที่พูดภาษากรีก
คริสเตียนในศตวรรษแรกทำงานประกาศในดินแดนที่ผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษากรีก. พระคัมภีร์ที่พวกเขาใช้เพื่อสนับสนุนข่าวสารเรื่องพระเยซูก็มีการแปลเป็นภาษากรีก. เมื่อผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้รับการดลใจให้บันทึกเรื่องราวซึ่งในเวลาต่อมาคือพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก พวกเขาส่วนใหญ่เขียนพระคัมภีร์เป็นภาษากรีกและใช้ถ้อยคำสำนวนรวมทั้งตัวอย่างที่เข้าใจง่ายสำหรับคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมกรีก. แต่ทั้งพระเยซูและอัครสาวกรวมถึงผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทุกคนต่างก็ไม่ใช่ชาวกรีก. ที่จริงแล้วพวกเขาทุกคนเป็นชาวยิว.—โรม 3:1, 2.
ภาษากรีกเข้ามามีความสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสเตียนถึงขนาดนั้นได้อย่างไร? คริสเตียนผู้เขียนพระคัมภีร์และมิชชันนารีในศตวรรษแรกเสนอข่าวสารของพวกเขาอย่างไรเพื่อให้น่าสนใจสำหรับผู้ที่พูดภาษากรีก? และทำไมเราควรสนใจประวัติศาสตร์โบราณในช่วงเวลาดังกล่าว?
วัฒนธรรมกรีกแผ่ออกไป
ในศตวรรษที่สี่ก่อนสากลศักราช อะเล็กซานเดอร์มหาราชได้โค่นจักรวรรดิเปอร์เซียและเริ่มพิชิตส่วนอื่น ๆ ของ
โลก. เพื่อจะรวบรวมดินแดนต่าง ๆ ที่พิชิตได้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อะเล็กซานเดอร์และเหล่ากษัตริย์ที่สืบอำนาจต่อจากท่านจึงได้ส่งเสริมนโยบาย “ทำให้เป็นกรีก” ซึ่งก็คือการทำให้ชาติต่าง ๆ รับเอาภาษาและวัฒนธรรมกรีก.แม้ว่าในเวลาต่อมาโรมจะเอาชนะกรีซและล้มล้างอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้นของกรีซได้ แต่วัฒนธรรมกรีกก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อชนชาติที่อยู่รายรอบ. ระหว่างศตวรรษที่สองและหนึ่งก่อนสากลศักราช ชนชั้นสูงชาวโรมันมีความคลั่งไคล้ในทุกสิ่งที่เป็นของกรีก ทั้งในเรื่องศิลปะ, สถาปัตยกรรม, วรรณกรรม, และปรัชญา จนกวีชื่อโฮเรซถึงกับกล่าวว่า “กรีซซึ่งเป็นเบี้ยล่างได้ทำให้ชาติที่พิชิตตนตกเป็นเบี้ยล่างเสียเอง.”
ภายใต้การปกครองของโรมัน เมืองสำคัญ ๆ ทั่วเอเชียไมเนอร์, ซีเรีย, และอียิปต์ล้วนเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมกรีกที่เจริญเฟื่องฟู. คตินิยมกรีกนี้มีผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในทุกด้าน ตั้งแต่สถาบันต่าง ๆ ของรัฐและทางกฎหมาย ไปจนถึงการค้า, อุตสาหกรรม, และกระทั่งแฟชั่น. เป็นเรื่องธรรมดาที่ในเมืองส่วนใหญ่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกรีกจะมีโรงพลศึกษาที่พวกคนหนุ่มได้รับการฝึก และมีโรงละครที่มีการแสดงละครกรีกด้วย.
นักประวัติศาสตร์เอมีล ชือเรอร์ กล่าวว่า “ชาวยิวก็ไม่สามารถต้านทานกระแสความนิยมวัฒนธรรมกรีกนี้ได้เช่นกัน แม้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่เต็มใจนัก.” ในตอนแรก ชาวยิวที่เคร่งครัดได้ต้านทานอิทธิพลของศาสนานอกรีตซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดแบบกรีก แต่ในที่สุดชีวิตของชาวยิวก็ได้รับผลกระทบในหลายด้าน. ที่จริง ชือเรอร์ได้ให้ข้อสังเกตว่า “เขตแดนเล็ก ๆ ของชาวยิวเกือบทุกด้านถูกห้อมล้อมด้วยดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลกรีก และเนื่องจากเหตุผลทางการค้า พวกเขาจึงต้องติดต่อกันเป็นประจำ.”
บทบาทของฉบับเซปตัวจินต์
เมื่อชาวยิวจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกเขาก็พบว่าเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขาไปอยู่นั้นเต็มไปด้วยวัฒนธรรมกรีกและพูดภาษากรีก. ชาวยิวที่ย้ายถิ่นเหล่านี้ยังคงปฏิบัติกิจของศาสนายิวและเดินทางไปร่วมงานเทศกาลของยิวในกรุงเยรูซาเลมเป็นประจำทุกปี. แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวยิวเหล่านี้จำนวนมากก็เริ่มไม่คุ้นเคยกับภาษาฮีบรูอีกต่อไป. * ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องแปลพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีกซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้พูดกัน. เหล่านักปราชญ์ชาวยิวเป็นผู้ทำงานแปลนี้เมื่อประมาณปี 280 ก่อน ส.ศ. และดูเหมือนว่าสถานที่ทำงานของพวกเขาคืออะเล็กซานเดรียในอียิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของวัฒนธรรมกรีก. ผลงานที่ออกมาก็คือฉบับเซปตัวจินต์.
มีการเรียกฉบับเซปตัวจินต์ ว่าเป็นผลงานสำคัญที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์. ฉบับแปลนี้เป็นกุญแจไขขุมทรัพย์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูให้ปรากฏสู่อารยธรรมตะวันตก. หากไม่มีฉบับแปลนี้ เรื่องราวระหว่างพระเจ้ากับชาวอิสราเอลก็คงจะยังปิดซ่อนอยู่ในข้อเขียนซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักเนื่องจากเขียนในภาษาที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และก็คงไม่มีอิทธิพลมากนักต่องานเผยแพร่ทั่วโลก. แต่ความรู้พื้นฐานและแนวคิดต่าง ๆ ที่มีในฉบับเซปตัวจินต์ รวมไปถึงภาษาที่ใช้ในฉบับนี้ทำให้การถ่ายทอดความรู้ของพระยะโฮวาพระเจ้าแก่ประชาชนจากหลากหลายเชื้อชาติมีทางเป็นไปได้. เนื่องจากคนมากมายคุ้นเคยกับภาษากรีก จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้ภาษานี้เพื่อประกาศความจริงอันศักดิ์สิทธิ์แก่คนทั้งโลก.
ผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวกับผู้ยำเกรงพระเจ้า
พอถึงศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. งานเขียนหลายชิ้นของชาวยิวก็ได้รับการแปลเป็นภาษากรีกแล้ว และมีการเขียนผลงานใหม่ ๆ เป็นภาษากรีกโดยตรง. ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้ประวัติศาสตร์และศาสนาของอิสราเอลเป็นที่รู้จักแก่ชนต่างชาติ. นักประวัติศาสตร์รายงานว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีชาวต่างชาติหลายคน “ติดต่อคบหากับชุมชนชาวยิวอยู่บ้าง, เข้าร่วมในการนมัสการของชาวยิว และปฏิบัติตามกฎข้อห้ามของศาสนายิว บ้างก็ทำมาก บ้างก็ทำน้อย.”—ประวัติศาสตร์ชาวยิวในยุคพระเยซูคริสต์ (ภาษาอังกฤษ).
ชาวต่างชาติบางคนถึงกับเปลี่ยนมานับถือศาสนายิว, รับสุหนัตและเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. บางคนก็ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของศาสนายิวแต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนศาสนา. ในวรรณกรรมกรีกมักเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้ยำเกรงพระเจ้า.” คอร์เนลิอุสถูกเรียกว่า “คนที่เลื่อมใสและยำเกรงพระเจ้า.” อัครสาวกเปาโลได้พบผู้ยำเกรงพระเจ้าหลายคนซึ่งคบหาสมาคมกับชาวยิวในเอเชียไมเนอร์และกรีซ. ตัวอย่างเช่น ที่เมืองอันทิโอกแคว้นปิซิเดีย เปาโลเรียกผู้ที่มาชุมนุมในธรรมศาลาว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นชาวอิสราเอลและท่านทั้งหลายที่ยำเกรงพระเจ้า.”—กิจการ 10:2; 13:16, 26; 17:4; 18:4.
ดังนั้น เมื่อสาวกของพระเยซูเริ่มประกาศข่าวดีในชุมชนชาวยิวที่อยู่นอกเขตแดนแคว้นยูเดีย พวกเขาจึงพบหลายคนที่คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมกรีกอยู่แล้ว. ชุมชนเหล่านั้นเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับการแผ่ขยายศาสนาคริสเตียน. เมื่อพวกสาวกได้เห็นหลักฐานชัดเจนว่าพระเจ้าทรงประทานความหวังเรื่องความรอดแก่ชนต่างชาติเช่นกัน พวกเขาจึงตระหนักว่าในสายพระเนตรพระเจ้านั้น “ไม่มีทั้งชาวยิวและชาวกรีก.”—กาลาเทีย 3:28.
การประกาศแก่ชาวกรีก
เมื่อคำนึงถึงศาสนาและมาตรฐานทางศีลธรรมของชนชาติอื่น ๆ ทีแรกคริสเตียนชาวยิวในยุคแรกบางคนจึงลังเลใจที่จะต้อนรับคนต่างชาติเข้ามายังประชาคมคริสเตียน. ดังนั้น เมื่อได้เห็นหลักฐานว่าพระเจ้าเต็มพระทัยยอมรับชนต่างชาติ พวกอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลมจึงชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคนเหล่านี้ที่เข้ามานับถือศาสนาคริสเตียนจะต้องละเว้นจากเลือด, การผิดประเวณี, และการไหว้รูปเคารพ. (กิจการ 15:29) นี่เป็นข้อเรียกร้องที่จำเป็นสำหรับทุกคนที่เคยดำเนินชีวิตตามแบบชาวกรีก เพราะสังคมแบบกรีกและโรมันนั้นเต็มไปด้วย “ราคะตัณหาที่น่าอาย” และการรักร่วมเพศ. ไม่มีที่สำหรับคนเหล่านั้นในสังคมคริสเตียน.—โรม 1:26, 27; 1 โครินท์ 6:9, 10.
ในบรรดามิชชันนารีคริสเตียนที่เคยทำงานประกาศอยู่ในโลกที่พูดภาษากรีกนั้น ไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าอัครสาวกเปาโล. จนถึงทุกวันนี้ผู้ที่เดินทางไปยังเอเธนส์ ประเทศกรีซจะได้เห็นแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่เชิงเขาอารีโอพากุสซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงคำบรรยายที่มีชื่อเสียงของเปาโลในเมืองนั้น. เรื่องราวดังกล่าวมีบันทึกไว้ที่บท 17 ของหนังสือกิจการในคัมภีร์ไบเบิล. คำขึ้นต้นของเปาโลที่ว่า “ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย” เป็นคำขึ้นต้นที่นักพูดชาวกรีกนิยมใช้และคงจะทำให้ผู้ฟังของท่านซึ่งมีนักปรัชญาชาวเอพิคิวเรียนและชาวสโตอิกรวมอยู่ด้วยรู้สึกเป็นกันเองอย่างแน่นอน. แทนที่จะแสดงความไม่พอใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อของผู้ฟัง เปาโลพยายามเป็นมิตรกับพวกเขาโดยกล่าวยอมรับว่าพวกเขาดูจะเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนามาก. ท่านพูดถึงแท่นบูชา “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก” ซึ่งพวกเขาทำขึ้น และท่านหาจุดที่เห็นพ้องกันโดยบอกว่าพระเจ้าองค์นี้แหละที่ท่านตั้งใจจะพูดถึง.—กิจการ 17:16-23.
เปาโลเข้าถึงผู้ฟังโดยใช้แนวคิดต่าง ๆ ที่พวกเขายอมรับได้. พวกสโตอิกอาจเห็นพ้องกับเปาโลว่าพระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตมนุษย์, มนุษย์ทุกคนเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน, พระเจ้าไม่ได้อยู่ไกลจากพวกเราและชีวิตมนุษย์ต้องพึ่งอาศัยพระเจ้า. เปาโลสนับสนุนประเด็นสุดท้ายนี้โดยอ้างถึงผล
งานของกวีชาวสโตอิกคืออะราทุส (ฟีโนมีนา) และเคลียนเทส (บทเพลงสรรเสริญแด่ซูส). พวกเอพิคิวเรียนก็อาจรู้สึกเช่นกันว่าตนมีความคิดหลายอย่างคล้ายกับเปาโล คือเชื่อว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่และมนุษย์สามารถรู้จักพระองค์ได้, พระองค์ไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด, ไม่ทรงประสงค์สิ่งใดจากมนุษย์ และพระองค์ไม่ได้สถิตในวิหารที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์.ผู้ฟังของเปาโลคุ้นเคยดีกับคำต่าง ๆ ที่ท่านใช้. อันที่จริง แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า คำว่า “โลก (คอสมอส),” “เชื้อสาย” และ “พระเจ้า” ล้วนแต่เป็นคำที่นักปรัชญาชาวกรีกมักจะใช้. (กิจการ 17:24-29, ฉบับ R73) เปาโลไม่ได้เจตนาจะบิดเบือนความจริงเพื่อทำให้พวกเขาเห็นพ้องกับท่าน. ตรงกันข้าม คำลงท้ายของท่านที่พูดถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายและการพิพากษานั้นขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเขาโดยตรง. แต่เปาโลก็ได้ปรับเนื้อหาและรูปแบบการเสนอข่าวสารของท่านอย่างชำนิชำนาญเพื่อทำให้เป็นที่สนใจของผู้ฟังซึ่งฝักใฝ่ในเรื่องปรัชญา.
เปาโลได้เขียนจดหมายหลายฉบับไปถึงประชาคมต่าง ๆ ที่อยู่ในกรีซและในอาณานิคมของโรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกรีกอย่างเต็มที่. จดหมายเหล่านั้นซึ่งเขียนในภาษากรีกที่ลื่นไหลและเปี่ยมพลัง ได้กล่าวถึงแนวคิดและตัวอย่างต่าง ๆ ที่ผู้คนในวัฒนธรรมกรีกคุ้นเคยดี. เปาโลพูดถึงการแข่งกีฬา, รางวัลของผู้ชนะ, พี่เลี้ยงที่พาเด็กไปโรงเรียนและสิ่งอื่น ๆ มากมายที่พบเห็นได้ในวิถีชีวิตแบบกรีก. (1 โครินท์ 9:24-27; กาลาเทีย 3:24, 25) ถึงแม้เปาโลพร้อมจะใช้คำและสำนวนเหล่านั้น แต่ท่านปฏิเสธแนวคิดทางศีลธรรมและศาสนาของกรีกอย่างเด็ดขาด.
ติดต่อกับคนแบบใดก็ทำตัวเป็นคนแบบนั้น
อัครสาวกเปาโลยอมรับว่าเพื่อจะบอกข่าวดีแก่คนอื่น ๆ เมื่อท่านติดต่อกับคนแบบใด ท่านก็ต้อง “ทำตัวเป็นคนแบบนั้น.” ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าจึงทำตัวเป็นคนยิวเมื่อติดต่อกับพวกยิวเพื่อจะได้คนยิวเข้ามา” และเมื่อติดต่อกับคนกรีกท่านก็ทำตัวเป็นคนกรีก เพื่อจะช่วยพวกเขาให้เข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า. แน่นอนว่าเปาโลมีคุณสมบัติเหมาะที่จะทำเช่นนั้น เพราะท่านเป็นพลเมืองยิวที่เกิดในเมืองซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมกรีก. คริสเตียนทุกคนในปัจจุบันนี้ก็ต้องทำคล้าย ๆ กัน.—1 โครินท์ 9:20-23.
หลายล้านคนในทุกวันนี้ย้ายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือจากวัฒนธรรมแบบหนึ่งไปอยู่ในวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคริสเตียนที่พยายามจะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูที่ให้ “สอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก.” (มัดธาย 24:14; 28:19) บ่อยครั้งพวกเขาพบว่าเมื่อผู้คนได้ยินข่าวดีในภาษาของตนเอง คนเหล่านั้นรู้สึกประทับใจและตอบรับอย่างดี.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีการจัดพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา นี้เป็นประจำทุกเดือนใน 169 ภาษา และวารสารตื่นเถิด! ที่ออกคู่กันมีใน 81 ภาษา. นอกจากนี้ เพื่อจะบอกข่าวดีแก่ประชาชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในละแวกเดียวกัน พยานพระยะโฮวาจำนวนมากจึงได้พยายามเรียนภาษาใหม่—รวมทั้งภาษายาก ๆ เช่น ภาษาอาหรับ, จีนและรัสเซีย. พวกเขาทำเช่นนั้นโดยมีจุดประสงค์อย่างเดียวกับคริสเตียนในศตวรรษแรก. อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้อย่างเหมาะเจาะทีเดียวว่า “เมื่อข้าพเจ้าติดต่อกับคนแบบใด ข้าพเจ้าก็ทำตัวเป็นคนแบบนั้น เพื่อข้าพเจ้าจะช่วยคนให้รอดได้บ้างไม่ว่าจะโดยวิธีใด.”—1 โครินท์ 9:22.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 มีชาวยิวจำนวนมากในกรุงเยรูซาเลมที่พูดภาษากรีก. ตัวอย่างเช่น มีคนจาก “กลุ่มที่เรียกว่าธรรมศาลาของอดีตทาส บางคนมาจากเมืองไซรีนีและอะเล็กซานเดรีย บางคนมาจากแคว้นซิลิเซียและแคว้นเอเชีย” ซึ่งคงจะพูดภาษากรีก.—กิจการ 6:1, 9.
[แผนที่หน้า 18]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
โรม
กรีซ
เอเธนส์
เอเชีย
อันทิโอก (ในปิซิเดีย)
ซิลิเซีย
ซีเรีย
ยูเดีย
เยรูซาเลม
อียิปต์
อะเล็กซานเดรีย
ไซรีนี
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
[ภาพหน้า 19]
ฉบับ “เซปตัวจินต์” ช่วยทำให้ความรู้ของพระยะโฮวาแพร่ออกไปในศตวรรษแรก
[ที่มาของภาพ]
Israel Antiquities Authority
[ภาพหน้า 20]
แผ่นจารึกที่อารีโอพากุสเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคำบรรยายของเปาโล