พระนามยะโฮวาควรปรากฏในพันธสัญญาใหม่ไหม?
การที่พระนามของพระเจ้าปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องสำคัญไหม? เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าทรงรู้สึกเช่นนั้น. พระนามของพระองค์ซึ่งแสดงไว้โดยอักษรฮีบรูสี่ตัวที่รู้จักกันว่าเททรากรัมมาทอน ปรากฏอยู่เกือบ 7,000 ครั้งในข้อความต้นฉบับภาษาฮีบรูของพระคัมภีร์ส่วนที่มักเรียกกันว่าพันธสัญญาเดิม. *
ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่ามีพระนามเฉพาะของพระเจ้าปรากฏอยู่ในพันธสัญญาเดิมหรือพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. แต่หลายคนรู้สึกว่าไม่มีพระนามนี้ปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษากรีกของส่วนที่เรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่.
ถ้าผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ยกข้อความจากพันธสัญญาเดิมที่มีเททรากรัมมาทอนขึ้นมากล่าวล่ะ? ในกรณีเช่นนี้ ผู้แปลส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนที่จะใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้า. แต่พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ไม่ได้ใช้วิธีที่นิยมกันนี้. ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้พระนามยะโฮวา 237 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก หรือพันธสัญญาใหม่.
ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลประสบปัญหาอะไรบ้างเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะใช้พระนามของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่หรือไม่? มีเหตุผลอะไรที่ควรใช้พระนามของพระเจ้าในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ส่วนนี้? และการใช้พระนามของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบเช่นไรต่อคุณ?
ปัญหาในการแปล
ฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่เรามีอยู่ในเวลานี้ไม่ใช่ต้นฉบับดั้งเดิม. ต้นฉบับดั้งเดิมซึ่งเขียนโดยมัดธาย, โยฮัน, เปาโลและคนอื่น ๆ คงถูกใช้มากจนเก่าและชำรุดไปภายในเวลาไม่นาน. ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำสำเนาเอาไว้ และเมื่อสำเนาเหล่านี้เก่าและชำรุด ก็มีการทำสำเนาซ้ำอีก. สำเนาพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่จำนวนนับพันฉบับที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำขึ้นหลังจากการเขียนต้นฉบับดั้งเดิมอย่างน้อยสองร้อยปี. ดูเหมือนว่าพอถึงตอนนั้นผู้ที่คัดลอกสำเนาได้แทนที่เททรากรัมมาทอนด้วยคำภาษากรีกคูริโอส หรือคีริโอส ซึ่งแปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือมิฉะนั้นก็คัดลอกจากฉบับที่ทำเช่นนั้นมาแล้ว. *
เมื่อรู้เช่นนี้ ผู้แปลจึงต้องดูว่ามีหลักฐานที่สมเหตุผลหรือไม่ที่พิสูจน์ว่าเททรากรัมมาทอนเคยปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษากรีกดั้งเดิมจริง ๆ. มีหลักฐานเช่นว่านี้บ้างไหม? ขอพิจารณาการหาเหตุผลต่อไปนี้:
-
เมื่อพระเยซูทรงอ้างถึงข้อความจากพันธสัญญาเดิมหรืออ่านจากส่วนนั้น พระองค์ทรงใช้พระนามของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 6:13, 16; 8:3; บทเพลงสรรเสริญ 110:1; ยะซายา 61:1, 2; มัดธาย 4:4, 7, 10; 22:44; ลูกา 4:16-21) ในสมัยพระเยซูและสาวก เททรากรัมมาทอนได้ปรากฏอยู่ในสำเนาข้อความภาษาฮีบรูของส่วนที่มักเรียกกันว่าพันธสัญญาเดิมเหมือนที่มีอยู่ในทุกวันนี้. อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ผู้เชี่ยวชาญเคยเข้าใจว่าไม่มีเททรากรัมมาทอนอยู่ในฉบับสำเนาเซปตัวจินต์ซึ่งแปลพันธสัญญาเดิมเป็นภาษากรีก รวมถึงในฉบับสำเนาต่าง ๆ ของพันธสัญญาใหม่ด้วย. เมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีบางสิ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ การค้นพบชิ้นส่วนที่เก่าแก่มากของฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์จากสมัยพระเยซู. ชิ้นส่วนเหล่านี้มีพระนามเฉพาะของพระเจ้าซึ่งเขียนเป็นอักขระฮีบรูอยู่ด้วย.
-
พระเยซูทรงใช้พระนามของพระเจ้าและทรงบอกให้คนอื่นรู้จักพระนามนั้น. (โยฮัน 17:6, 11, 12, 26) พระเยซูตรัสชัดเจนว่า “เรามาในนามพระบิดาของเรา.” พระองค์ทรงเน้นด้วยว่าทรงทำการงาน “ในนามพระบิดาของ [พระองค์].” อันที่จริง พระนามของพระเยซูเองมี ความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นความรอด.”—โยฮัน 5:43; 10:25.
-
มีพระนามของพระเจ้าแบบย่อปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก. ที่วิวรณ์ 19:1, 3, 4, 6 พระนามของพระเจ้าเป็นส่วนประกอบในคำว่า “อาเลลูยา” หรือ “ฮาเลลูยาห์.” คำนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญยาห์!” ยาห์ เป็นคำย่อของพระนามยะโฮวา.
-
ข้อเขียนของชาวยิวยุคแรก ๆ บ่งชี้ว่าคริสเตียนชาวยิวใช้พระนามของพระเจ้าในข้อเขียนของพวกเขา. โทเซฟทา หรือประมวลกฎหมายสืบปากที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งเขียนเสร็จประมาณปีสากลศักราช 300 กล่าวถึงข้อเขียนของคริสเตียนที่ถูกไฟเผาในวันซะบาโตดังนี้: “บรรดาหนังสือของผู้เผยแพร่และหนังสือของพวกมินิม [เข้าใจกันว่าคือคริสเตียนชาวยิว] พวกเขาไม่ช่วยให้รอดจากไฟ. แต่หนังสือเหล่านั้นถูกปล่อยให้ไฟเผาในที่ที่มันอยู่, . . . ทั้งหนังสือกับส่วนที่เป็นพระนามของพระเจ้าซึ่งอยู่ในนั้นด้วย.” โทเซฟทา หรือประมวลกฎหมายดังกล่าวได้ยกคำพูดของรับบี โยเซ ชาวแกลิลีผู้มีชีวิตอยู่ตอนต้นศตวรรษที่สองสากลศักราช ซึ่งกล่าวไว้ว่า ในวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ “เขาควรตัดส่วนที่เป็นพระนามของพระเจ้าออกจากหนังสือเหล่านั้น [ข้อเขียนของคริสเตียน] และเก็บไว้ ส่วนที่เหลือก็เผา.” ฉะนั้นจึงมีหลักฐานหนักแน่นว่าชาวยิวที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สองสากลศักราชเชื่อว่าคริสเตียนใช้พระนามยะโฮวาในข้อเขียนของพวกเขา.
ผู้แปลจัดการปัญหานี้อย่างไร?
ฉบับแปลโลกใหม่ เป็นคัมภีร์ไบเบิลฉบับเดียวเท่านั้นไหมที่นำพระนามของพระเจ้ามาใส่ไว้ที่เดิมเมื่อแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก? ไม่ใช่. เมื่อพิจารณาหลักฐานที่กล่าวไปข้างต้น ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลหลายคนรู้สึกว่าควรใส่พระนามของพระเจ้าไว้ในที่เดิมเมื่อพวกเขาแปลพันธสัญญาใหม่.
ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่หลายฉบับในภาษาของแอฟริกา, อเมริกา, เอเชีย, และหมู่เกาะแปซิฟิกใช้พระนามของพระเจ้าหลายต่อหลายครั้ง. (ดูแผนภูมิหน้า 21.) ฉบับแปลเหล่านี้บางฉบับเพิ่งแปลเมื่อไม่นานมานี้ เช่น คัมภีร์ไบเบิลภาษาโรตูมา (1999) ซึ่งใช้พระนามจีโฮวา 51 ครั้งใน 48 ข้อของพันธสัญญาใหม่ และในฉบับบาทัก-โทบา (1989) ของอินโดนีเซีย ซึ่งใช้พระนามเยโฮวา 110 ครั้งในพันธสัญญาใหม่. พระนามของพระเจ้ายังปรากฏในฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, และสเปนด้วย. ตัวอย่างเช่น พาโบล เบสสันได้แปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาสเปนเมื่อต้นศตวรรษที่ 20. ฉบับแปลของเขาได้ใช้พระนามเคโอบาที่ยูดาข้อ 14 และมีเชิงอรรถเกือบ 100 แห่งที่ระบุว่าน่าจะใช้พระนามของพระเจ้าที่ตำแหน่งนั้น.
ข้างล่างนี้คือตัวอย่างฉบับแปลภาษาอังกฤษ, ไทย, และลาวที่ใช้พระนามของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่:
-
A Literal Translation of the New Testament . . . From the Text of the Vatican Manuscript โดยเฮอร์มัน ไฮน์เฟตเตอร์ (1863)
-
The Emphatic Diaglott โดยเบนจามิน วิลสัน (1864)
-
The Epistles of Paul in Modern English โดยจอร์จ บาร์เกอร์ สตีเวนส์ (1898)
-
St. Paul’s Epistle to the Romans โดยดับเบิลยู. จี. รัทเทอร์ฟอร์ด (1900)
-
The Christian’s Bible—New Testament โดยจอร์จ เอ็น. เลอเฟฟเรอ (1928)
-
The New Testament Letters โดยเจ. ดับเบิลยู. ซี. วานด์, บิชอปแห่งลอนดอน (1946)
-
ฉบับแปลเก่า (Thai OV83) โดยสมาคมพระคริสตธรรมไทย
-
La Sainte Bible, Les Societies Biblique au Laos, OV53-1991 (ภาษาลาว)
ไม่นานมานี้ ฉบับแปลนิว ลิฟวิง ฉบับปี 2004 ซึ่งได้รับความนิยมมาก (ภาษาอังกฤษ) ได้กล่าวในคำนำภายใต้หัวเรื่อง “การแปลพระนามของพระเจ้า” ดังนี้: “โดยทั่วไปเราแปลเททรากรัมมาทอน (ยฮวฮ) อย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า ‘the LORD’ (องค์พระผู้เป็นเจ้า) โดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็กซึ่งนิยมทำกันในฉบับแปลภาษาอังกฤษ. วิธีนี้จะทำให้คำนี้ดูต่างไปจากชื่อ อะโดนาย ซึ่งเราแปลว่า ‘Lord.’” และเมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่ ฉบับแปลนี้กล่าวว่า “คำภาษากรีกคูริโอสได้รับการแปลอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า ‘Lord’ เว้นแต่จะแปลว่า
‘LORD’ ในที่ที่เห็นได้ชัดว่าพันธสัญญาใหม่ยกข้อความมาจากพันธสัญญาเดิม และจะปรากฏเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็ก.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) ดังนั้น ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จึงยอมรับว่าเททรากรัมมาทอน (ยฮวฮ) ควรมีการแสดงไว้ในข้อคัมภีร์เหล่านี้ที่ยกมากล่าวในพันธสัญญาใหม่.น่าสนใจทีเดียว พจนานุกรมดิ แองเคอร์ ไบเบิล ได้ให้ความเห็นไว้ที่หัวข้อ “เททรากรัมทอนในพันธสัญญาใหม่” ดังนี้: “มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่า เททรากรัมมาทอน หรือพระนามยาห์เวห์ ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าเคยปรากฏอยู่ในทุกข้อความที่ยกจากพันธสัญญาเดิมมากล่าวในพันธสัญญาใหม่ในตอนที่มีการเขียนพันธสัญญาใหม่ขึ้นครั้งแรก.” และผู้เชี่ยวชาญจอร์จ เฮาเวิร์ด กล่าวว่า “เนื่องจากเททรากรัมมาทอนยังคงมีเขียนอยู่ในสำเนาคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีก [ฉบับแปลเซปตัวจินต์] ซึ่งเป็นส่วนแห่งพระคัมภีร์ของคริสตจักรรุ่นแรก จึงมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ได้รักษาเททรากรัมมาทอนไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อยกข้อความจากพระคัมภีร์มาอ้าง.”
เหตุผลหนักแน่นสองประการ
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าฉบับแปลโลกใหม่ ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิลฉบับแรกที่มีพระนามของพระเจ้าปรากฏอยู่ในพันธสัญญาใหม่. เช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่ถูกร้องขอให้ตัดสินความในคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานคนใดยังมีชีวิตอยู่ คณะกรรมการการแปลฉบับแปลโลกใหม่จึงได้วิเคราะห์หลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรอบคอบ. โดยอาศัยข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน พวกเขาลงความเห็นว่าควรใส่พระนามของพระยะโฮวาเข้าไปในการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกของพวกเขา. ขอสังเกตเหตุผลหนักแน่นสองประการที่พวกเขาทำเช่นนั้น.
(1) คณะผู้แปลเชื่อว่าเนื่องจากพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นข้อความที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งเพิ่มเติมเข้ากับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ภาคภาษาฮีบรู การที่พระนามของพระเจ้าหายไปอย่างกะทันหันจึงดูเป็นการขาดความเสมอต้นเสมอปลาย.
ทำไมการลงความเห็นเช่นนั้นจึงสมเหตุผล? ราว ๆ กลางศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช อัครสาวกยาโกโบได้กล่าวกับผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลมว่า “ซีเมโอนได้เล่าอย่างละเอียดแล้วว่าพระเจ้าทรงหันไปใฝ่พระทัยชนต่างชาติเป็นครั้งแรกอย่างไรเพื่อนำคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป็นประชาชนสำหรับพระนามพระองค์.” (กิจการ 15:14) คุณคิดว่ามีเหตุผลไหมที่ยาโกโบจะกล่าวเช่นนั้นถ้าหากไม่มีใครในศตวรรษแรกรู้จักหรือใช้พระนามของพระเจ้าเลย?
(2) เมื่อมีการค้นพบสำเนาพระคัมภีร์ฉบับแปลเซปตัวจินต์ ซึ่งใช้พระนามของพระเจ้าแทนที่จะใช้คำว่าคีริโอส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ผู้แปลจึงเห็นชัดเจนว่าในสมัยพระเยซูนั้น สำเนาพระคัมภีร์ยุคต้น ๆ ที่เป็นภาษากรีก และแน่นอนว่าที่เป็นภาษาฮีบรู มีพระนามของพระเจ้าปรากฏอยู่จริง ๆ.
ดูเหมือนว่า ธรรมเนียมที่ไม่ให้เกียรติพระเจ้าโดยการตัดพระนามของพระองค์ออกจากฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกมีขึ้นหลังจากสมัยพระเยซู. คุณคิดอย่างไร? พระเยซูกับอัครสาวกของพระองค์จะสนับสนุนธรรมเนียมเช่นนั้นไหม?—มัดธาย 15:6-9.
ทูลอ้อนวอน “โดยออกพระนามพระยะโฮวา”
จริงทีเดียว พระคัมภีร์เองเป็นเหมือนคำให้การอันเป็นที่ยุติของ “ประจักษ์พยาน” ที่ยืนยันว่าคริสเตียนในยุคแรกใช้พระนามยะโฮวาในข้อเขียนของพวกเขาจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขายกข้อความจากพันธสัญญาเดิมที่มีพระนามนี้อยู่. ฉะนั้น ไม่มีข้อสงสัยว่าฉบับแปลโลกใหม่มีเหตุผลหนักแน่นที่จะนำพระนามยะโฮวา ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้ากลับมาใส่ไว้ที่เดิมในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกอีกครั้ง.
คุณคิดอย่างไรเมื่อได้รู้เช่นนี้? อัครสาวกเปาโลได้ยกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อเตือนใจคริสเตียนในกรุงโรมดังนี้: “ทุกคนที่ทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” แล้วท่านก็ถามว่า “ผู้คนจะทูลอ้อนวอนพระองค์ได้อย่างไรถ้าเขายังไม่เชื่อในพระองค์? และเขาจะเชื่อในพระองค์ได้อย่างไรถ้าเขาไม่เคยได้ยินเรื่องพระองค์?” (โรม 10:13, 14; โยเอล 2:32) ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้พระนามของพระเจ้าในที่ที่ควรใช้จะช่วยคุณให้เข้าใกล้พระเจ้า. (ยาโกโบ 4:8) นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้รับอนุญาตให้รู้จักและทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามยะโฮวา พระนามเฉพาะของพระเจ้า.
^ วรรค 2 เททรากรัมมาทอน หมายถึงอักษรสี่ตัว ยฮวฮ ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าในภาษาฮีบรู. โดยทั่วไปมีการแปลอักษรสี่ตัวนี้เป็นภาษาไทยว่า ยะโฮวาหรือเยโฮวาห์.
^ วรรค 7 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแทนที่พระนามพระเจ้าเช่นนี้ โปรดดูจุลสารพระนามของพระเจ้าซึ่งจะยืนยงตลอดกาล (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา หน้า 23-27.