กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
วิธีแก้ปัญหา
สามี: “ลูกสาวของเราไปไหนกันหมด?”
ภรรยา: “ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ห้างค่ะ.”
สามี: [หงุดหงิดและขึ้นเสียง] “คุณหมายความว่ายังไงที่ว่า ‘ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่’ น่ะ? ลูก ๆ เพิ่งซื้อชุดใหม่เมื่อเดือนที่แล้วเองนะ!”
ภรรยา: [ปกป้องตัวเอง รู้สึกเสียใจมากและคิดว่าสามีกำลังตำหนิเธอ] “แต่ตอนนี้เป็นช่วงลดราคานะ. ถึงยังไงลูกก็ขออนุญาตฉันแล้ว ฉันก็เลยให้ไป.”
สามี: [ระเบิดอารมณ์และตะโกน] “คุณก็รู้ว่าผมไม่ชอบให้ลูก ๆ ใช้เงินโดยไม่ปรึกษาผมก่อน! คุณรีบตัดสินใจโดยไม่บอกผมได้ยังไง?”
คุณคิดว่าสามีภรรยาคู่นี้มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไข? เห็นได้ชัดว่าสามีมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์. แต่นอกจากนั้น ทั้งคู่ดูจะมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าควรให้อิสระกับลูก ๆ มากแค่ไหน. และดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเรื่องการสื่อความด้วย.
ไม่มีการสมรสใดสมบูรณ์แบบ. คู่สมรสทุกคู่ต่างเจอปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง. ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่หรือเล็ก นับว่าสำคัญที่สามีและภรรยาจะเรียนรู้วิธีแก้ไข. เพราะเหตุใด?
เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการสื่อความ. โซโลมอน กษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมให้ข้อสังเกตว่า “มีการขัดแย้งกันที่เหมือนดาลประตูป้อม.” (สุภาษิต 18:19, ล.ม.) คุณจะทำอย่างไรเพื่อเปิดโอกาสให้มีการสื่อความที่ดีขึ้นเมื่อจัดการกับปัญหา?
หากการสื่อความเป็นเหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตสมรส ความรักและความนับถือก็เป็นเหมือนหัวใจและปอดของสัมพันธภาพนั้น. (เอเฟโซส์ 5:33) เมื่อมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ความรักจะกระตุ้นคู่สมรสให้มองข้ามความผิดพลาดในอดีตซึ่งทำให้เจ็บช้ำใจและมุ่งสนใจปัญหาที่เผชิญอยู่ในเวลานั้น. (1 โครินท์ 13:4, 5; 1 เปโตร 4:8) คู่สมรสที่แสดงความนับถือต่อกันจะยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดอย่างเปิดอกและพยายามจะเข้าใจว่าเขาหมายความอย่างไร ไม่เพียงแต่ฟังว่าพูดอะไรเท่านั้น.
สี่ขั้นตอนที่ช่วยแก้ปัญหา
ลองพิจารณาสี่ขั้นตอนต่อไปนี้ และสังเกตดูว่าหลักการของคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณแก้ปัญหาด้วยท่าทีที่แสดงความรักและความนับถือได้อย่างไร.
1. กำหนดเวลาพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหา.
“มีเวลากำหนดสำหรับทุกสิ่ง . . . เวลานิ่งเงียบและเวลาพูด.” (ท่าน ผู้ประกาศ 3:1, 7, ล.ม.) ดังที่เห็นจากการโต้เถียงในตอนต้น ปัญหาบางอย่างอาจก่อความรู้สึกที่รุนแรง. ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น จงควบคุมตัวเองและหยุดการสนทนาไว้ก่อน—“นิ่งเงียบ”—ก่อนที่อารมณ์จะระเบิดออกมา. คุณจะรักษาความสัมพันธ์กับคู่ของคุณไม่ให้ถึงขั้นที่เสียหายร้ายแรงได้ หากคุณเชื่อฟังคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “การเริ่มต้นชิงดีกัน [“วิวาท,” ล.ม.] เปรียบเหมือนช่องรั่วแห่งหนึ่งที่ทำนบกันน้ำ; เพราะฉะนั้นจงเลิกการโต้เถียงกันเสียก่อนที่จะเกิดการทะเลาะวิวาท.”—สุภาษิต 17:14.
อย่างไรก็ตาม มี “เวลาพูด” ด้วย. ปัญหาก็เหมือนวัชพืช หากปล่อยไว้ไม่จัดการก็จะโตเร็ว. ดังนั้น อย่าทิ้งปัญหาไว้โดยหวังว่ามันจะหมดไปเอง. ถ้าคุณหยุดการสนทนาไว้ก่อน จงแสดงความนับถือต่อคู่ของคุณโดยกำหนดเวลาที่จะพูดคุยปัญหานั้นอีกไม่นานหลังจากนั้น. การสัญญาเช่นนั้นสามารถช่วยคุณทั้งสองให้ใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “อย่าโกรธจนถึงดวงอาทิตย์ตก.” (เอเฟโซส์ 4:26) และแน่นอน คุณก็ต้องทำตามที่คุณสัญญาไว้ด้วย.
ลองวิธีนี้: จัดเวลาไว้สัปดาห์ละครั้งเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาในครอบครัว. ถ้าคุณสังเกตว่าคุณมีแนวโน้มจะทะเลาะกันในเวลาใดเวลาหนึ่งของวัน เช่น เมื่อเพิ่งกลับจากทำงานหรือก่อนรับประทานอาหาร ก็ตกลงกันว่าจะไม่พูดถึงปัญหาในเวลาเหล่านั้น แต่เลือกเวลาที่คุณทั้งสองผ่อนคลายกว่านี้แทน.
2. แสดงความคิดเห็นของคุณอย่างตรงไปตรงมาและด้วยความนับถือ.
“ให้พวกท่านแต่ละคนพูดความจริงกับเพื่อนบ้าน.” (เอเฟโซส์ 4:25) ถ้าคุณสมรสแล้ว เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของคุณก็คือคู่สมรสของคุณ. ดังนั้น จงซื่อสัตย์และบอกความรู้สึกของคุณให้ชัดเจนเมื่อสนทนากับคู่สมรส. มาร์กาเรตา * ซึ่งแต่งงานมา 26 ปีแล้วบอกว่า “ตอนแต่งงานใหม่ ๆ ดิฉันคิดว่าสามีน่าจะรู้โดยไม่ต้องให้บอกว่าดิฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น. ดิฉันรู้แล้วว่าการคาดหมายเช่นนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง. ตอนนี้ดิฉันพยายามบอกให้ชัดเจนว่าดิฉันคิดและรู้สึกอย่างไร.”
ขอจำไว้ว่า เป้าหมายของคุณเมื่อพูดคุยถึงปัญหาคือเพื่อบอกให้คู่ของคุณรู้ว่าคุณคิดอะไรเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อจะได้ชัยชนะในการต่อสู้หรือเพื่อพิชิตศัตรู. เพื่อจะทำเช่นนั้นได้ คุณควรบอกว่าคุณคิดว่าปัญหาคืออะไร, และบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อไร, จากนั้นก็อธิบายว่าปัญหานั้นทำให้คุณรู้สึกอย่างไร. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณหงุดหงิดที่คู่ของคุณทำบ้านรก คุณอาจพูดด้วยความนับถือว่า ‘ถ้าคุณกลับจากทำงานแล้วถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้บนพื้น [เมื่อไร และอะไร ที่เป็นปัญหา] ฉันรู้สึกว่าการที่ฉันพยายามจะดูแลบ้านก็เปล่าประโยชน์ [บอกตรง ๆ ว่าคุณรู้สึกอย่างไร].’ จากนั้นก็ค่อย ๆ เสนอแนะวิธีที่คุณคิดว่าจะแก้ปัญหาได้.
ลองวิธีนี้: เพื่อช่วยให้คุณมีความคิดที่ชัดเจนก่อนจะพูดกับคู่สมรส ลองเขียนว่าคุณคิดว่าปัญหาคืออะไรและคุณอยากจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร.
3. ฟังและยอมรับความรู้สึกของคู่สมรส.
สาวกยาโกโบเขียนว่า คริสเตียนควร “ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) แทบไม่มีอะไรจะพรากความสุขไปจากชีวิตสมรสได้มากไปกว่าการรู้สึกว่าคู่สมรสไม่เข้าใจว่าคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น. ดังนั้น จงตั้งใจว่าจะไม่ทำให้คู่ของคุณรู้สึกเช่นนั้น!—มัดธาย 7:12.
โวล์ฟกัง ซึ่งแต่งงานมา 35 ปีบอกว่า “เมื่อเราคุยเรื่องปัญหา ผมจะรู้สึกเครียด โดยเฉพาะเวลาที่ผมรู้สึกว่าภรรยาไม่เข้าใจวิธีคิดของผม.” ไดแอนนา ซึ่งแต่งงานมา 20 ปีแล้วยอมรับว่า “ดิฉันบ่นกับสามีบ่อย ๆ ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจฟังสิ่งที่ดิฉันพูดเมื่อเราคุยถึงปัญหาต่าง ๆ.” คุณจะเอาชนะอุปสรรคนี้ได้อย่างไร?
อย่าคิดเอาเองว่าคุณรู้ว่าคู่ของคุณคิดอะไรหรือรู้สึกเช่นไร. พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “เมื่อกระทำโดยพลการ เขาย่อมก่อการโต้เถียง แต่ปัญญาอยู่กับคนที่ปรึกษาหารือกัน.” สุภาษิต 13:10, ล.ม.) จงให้เกียรติคู่สมรสของคุณโดยยอมให้เขาหรือเธอแสดงความคิดเห็นโดยไม่พูดขัดจังหวะ. และเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจคำพูดนั้น จงพูดออกมาให้คู่ของคุณฟังว่าคุณได้ยินอย่างไร โดยไม่ทำแบบประชดประชันหรือเกรี้ยวกราด. จงยอมให้คู่ของคุณแก้ไขคำพูดของคุณ หากคุณเข้าใจอะไรผิดไป. อย่าพูดฝ่ายเดียว. จงผลัดกันพูดและฟังเช่นนี้จนกระทั่งคุณทั้งคู่เข้าใจความคิดและความรู้สึกของกันและกันในเรื่องนั้นแล้ว.
(จริงทีเดียว คุณจำเป็นต้องมีความถ่อมใจและความอดทนเพื่อจะตั้งใจฟังและยอมรับความคิดเห็นของคู่สมรส. แต่ถ้าคุณแสดงให้เห็นก่อนว่าคุณให้เกียรติคู่สมรสด้วยวิธีนี้ ก็เป็นไปได้มากกว่าที่คู่ของคุณจะให้เกียรติคุณ.—มัดธาย 7:2; โรม 12:10.
ลองวิธีนี้: เมื่อคุณพูดทวนความเห็นของคู่สมรส อย่าพูดซ้ำทุกคำแบบนกแก้วนกขุนทอง. พยายามอธิบายด้วยท่าทีที่แสดงความเห็นอกเห็นใจว่าคุณเข้าใจทั้งคำพูดและความรู้สึกของคู่สมรสอย่างไร.—1 เปโตร 3:8.
4. เลือกวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน.
“สองคนก็ดีกว่าคนเดียว, เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดีกว่า. ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง, อีกคนหนึ่งจะได้พยุงยกเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น.” (ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10) คู่สมรสแทบไม่อาจจะแก้ไขปัญหาชีวิตสมรสได้เลยถ้าทั้งคู่ไม่ร่วมมือและช่วยเหลือกัน.
จริงอยู่ พระยะโฮวาทรงตั้งสามีเป็นประมุขของครอบครัว. (1 โครินท์ 11:3; เอเฟโซส์ 5:23) แต่การเป็นประมุขไม่ใช่การใช้อำนาจแบบเผด็จการ. สามีที่ฉลาดสุขุมจะไม่ตัดสินใจตามอำเภอใจ. เดวิดซึ่งแต่งงานมา 20 ปีบอกว่า “ผมพยายามจะหาจุดที่เห็นพ้องกับภรรยาและหาวิธีตัดสินใจที่เราทั้งคู่จะทำตามได้.” ทันยาซึ่งแต่งงานมาเจ็ดปีแล้วบอกว่า “มันไม่เกี่ยวกับว่าใครถูกใครผิด. บางทีเราก็แค่มีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องวิธีแก้ปัญหา. ดิฉันพบว่ากุญแจสู่ความสำเร็จคือการเป็นคนยืดหยุ่นและมีเหตุผล.”
ลองวิธีนี้: สร้างความรู้สึกที่ว่าคุณเป็นทีมเดียวกันโดยให้คุณทั้งคู่ช่วยกันเขียนวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้หลาย ๆ วิธีเท่าที่จะนึกออก. เมื่อเขียนจนคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรแล้วก็ลองทบทวนรายการที่คุณเขียนไว้และเลือกวิธีที่คุณทั้งสองเห็นพ้องกัน. จากนั้น กำหนดเวลาที่แน่นอนและไม่นานเกินไปเพื่อมาดูว่าคุณได้ทำตามที่ตัดสินใจไปแล้วหรือยังและประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง.
ร่วมมือกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
พระเยซูตรัสถึงการสมรสว่า “ที่พระเจ้าทรงผูกมัดไว้ด้วยกันแล้วนั้นอย่าให้มนุษย์ทำให้แยกจากกันเลย.” (มัดธาย 19:6) สำนวน “ผูกมัดไว้ด้วยกัน” แปลจากคำภาษากรีกที่มีความหมายว่า “เทียมแอก.” ในสมัยของพระเยซู แอกคือไม้ท่อนหนึ่งซึ่งใช้เทียมสัตว์สองตัวเข้าด้วยกันเพื่อให้มันทำงาน. ถ้าสัตว์สองตัวไม่ร่วมมือกัน มันก็ทำงานได้ไม่ดีและแอกจะเสียดสีกับคอทำให้มันเจ็บ. แต่ถ้าทั้งสองตัวร่วมมือกันมันก็สามารถลากของหนักหรือไถนาได้.
ในทำนองเดียวกัน สามีภรรยาที่ไม่ร่วมมือกันเป็นทีมก็จะอึดอัดและไม่มีความสุขภายใต้แอกแห่งการสมรส. อีกด้านหนึ่ง ถ้าพวกเขาเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกัน พวกเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้เกือบทุกเรื่องและทำอะไรดี ๆ ได้มากมาย. ชายคนหนึ่งชื่อคาลาลา ซึ่งมีชีวิตสมรสที่มีความสุขกล่าวสรุปเรื่องนี้ว่า “เป็นเวลา 25 ปีมาแล้วที่ผมกับภรรยาแก้ปัญหาของเราด้วยการพูดคุยกันอย่างเปิดอก, เอาใจเขามาใส่ใจเรา, อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา, และนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้.” คุณจะทำอย่างเดียวกันได้ไหม?
จงถามตัวเองว่า . . .
-
ปัญหาอะไรที่ฉันต้องการพูดกับคู่สมรสมากที่สุด?
-
ฉันจะแน่ใจได้อย่างไรว่าฉันเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของคู่สมรสในเรื่องนี้?
-
ถ้าฉันยืนกรานจะทำตามวิธีที่ฉันคิด ฉันอาจสร้างปัญหาอะไรขึ้น?
^ วรรค 17 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.