ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เรื่องราวชีวิตจริง

ได้รับพรทั้ง “ในเวลาที่สะดวกและในยามยากลำบาก”

ได้รับพรทั้ง “ในเวลาที่สะดวกและในยามยากลำบาก”

ผมเกิดเดือนมีนาคม ค.ศ. 1930 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองนัมคุมบา ประเทศมาลาวี ผมเกิดในครอบครัวที่รับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ในปี 1942 ผมได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมาในแม่น้ำที่สวยงามแห่งหนึ่ง ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามทำตามสิ่งที่อัครสาวกเปาโลสนับสนุนติโมเธียวให้ทำที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงประกาศอย่างรีบด่วนทั้งในเวลาที่สะดวกและในยามยากลำบาก”—2 ติโม. 4:2

ในปี 1948 พี่น้องนาธาน เอช. นอร์และมิลตัน จี. เฮนเชลมาที่มาลาวี การเยี่ยมของพวกเขากระตุ้นผมให้รับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา ต่อมา ผมได้พบกับไลดาซีพี่น้องหญิงที่น่ารัก เธอมีเป้าหมายรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลาเหมือนกับผม ในปี 1950 เราจึงแต่งงานกันและในปี 1953 เราก็มีลูกสองคน แม้เราจะมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในครอบครัว แต่เราก็คุยกันว่าผมน่าจะเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำได้ หลังจากที่เป็นไพโอเนียร์ประจำได้สองปี ผมก็ได้รับเชิญให้เป็นไพโอเนียร์พิเศษ

การประชุมใหญ่เสริมกำลังเราให้พร้อมรับมือกับการกดขี่ข่มเหงที่จะตามมา

หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ดูแลหมวดไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ผมสามารถดูแลความจำเป็นต่าง ๆ ของครอบครัวและยังคงทำงานรับใช้เต็มเวลาต่อไปได้เพราะไลดาซีคอยสนับสนุนผมเป็นอย่างดี * เนื่องจากเราทั้งสองอยากรับใช้เต็มเวลาด้วยกัน เราจึงวางแผนอย่างรอบคอบและลูก ๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในปี 1960 ไลดาซีก็ได้เริ่มรับใช้เต็มเวลา

ในปี 1962 เรามีความสุขกับการประชุมภาคที่มีหัวเรื่องการประชุมว่า “ผู้รับใช้ที่กล้าหาญ” และหลังจากนั้นอีกหนึ่งปี พี่น้องเฮนเชลได้มาเยี่ยมที่มาลาวีเพื่อร่วมการประชุมพิเศษที่จัดใกล้กับเมืองแบลนไทร์ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน เมื่อผมย้อนคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ยินจากการประชุมเหล่านี้ ผมเห็นว่านั่นเป็นการเตรียมเราไว้ล่วงหน้าและเสริมกำลังเราทุกคนในมาลาวีให้พร้อมรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาถึง

รัฐบาลสั่งห้ามงานของพยานและยึดทรัพย์สินของสำนักงานสาขา

ในปี 1964 พยานพระยะโฮวาถูกกดขี่ข่มเหงเพราะไม่ยอมมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ผลคือมีหอประชุมมากกว่า 100 แห่งและบ้านของพี่น้องมากกว่า 1,000 หลังถูกทำลาย แต่ผมกับไลดาซียังทำงานเยี่ยมหมวดต่อไปจนถึงปี 1967 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลสั่งห้ามงานของพยานพวกเขายึดทรัพย์สินของสำนักงานสาขา บังคับมิชชันนารีให้ออกจากประเทศ และจับพยานหลายคนขังคุกรวมทั้งผมกับไลดาซีด้วย หลังจากถูกปล่อยตัว เราก็ทำงานเยี่ยมหมวดต่อไปอย่างระมัดระวัง

วันหนึ่งในเดือนตุลาคมปี 1972 สมาชิกกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงที่เรียกว่าสันนิบาตเยาวชนแห่งมาลาวีมุ่งตรงมาที่บ้านของเรา แต่คนหนึ่งในกลุ่มนั้นวิ่งมาบอกผมก่อนและบอกให้ผมไปซ่อนตัวเพราะพวกเขาวางแผนจะฆ่าผม ผมจึงบอกภรรยาและลูก ๆ ให้ไปซ่อนในดงกล้วยที่อยู่ใกล้ ๆ ส่วนผมก็ปีนขึ้นไปดูลาดเลาบนต้นมะม่วง ผมเห็นพวกเขาทำลายบ้านและทุกสิ่งทุกอย่างของเรา

บ้านของพี่น้องที่ถูกเผาเพราะพวกเขาไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

การกดขี่ข่มเหงทวีความรุนแรงมากขึ้น พยานหลายพันคนจึงต้องหนีออกจากมาลาวีไปอยู่ในศูนย์อพยพในโมซัมบิกจนถึงเดือนมิถุนายน 1974 ตอนนั้น ผมกับไลดาซีถูกขอให้ไปรับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในเมืองโดมัว ประเทศโมซัมบิก เราเป็นไพโอเนียร์พิเศษที่นั่นจนถึงปี 1975 จากนั้น รัฐบาลก็บังคับเราให้ออกจากโมซัมบิกและกลับไปมาลาวีซึ่งที่นั่นพยานก็ยังถูกกดขี่ข่มเหงอยู่

ที่มาลาวี ผมได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในลิลองเวซึ่งเป็นเมืองหลวง แม้จะเจอการกดขี่ข่มเหงและความลำบากมากมายแต่จำนวนประชาคมในหมวดที่เรารับใช้อยู่กลับมีเพิ่มมากขึ้น

การสนับสนุนด้วยความรักจากพระยะโฮวา

วันหนึ่ง เรามาที่หมู่บ้านซึ่งกำลังมีการประชุมทางการเมือง พอบางคนรู้ว่าเราเป็นพยานพวกเขาก็บังคับเราให้นั่งกับกลุ่มแกนนำเยาวชนแห่งมาลาวี เราจึงอธิษฐานขอความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระยะโฮวาทันที พอการประชุมจบ พวกเขาก็เริ่มทุบตีเรา ทันใดนั้น ยายคนหนึ่งก็วิ่งมาและตะโกนบอกพวกเขาว่า “ปล่อยพวกเขาไปเถอะ ขอร้องล่ะ เขาเป็นหลานยาย ปล่อยเขาไปเถอะ” คนที่เป็นแกนนำการประชุมเลยสั่งว่า “ปล่อยพวกเขาไป!” เราไม่รู้ว่าทำไมยายคนนั้นพูดแบบนี้เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่รู้จักยายคนนี้เลย แต่เราก็เชื่อว่าพระยะโฮวาได้ยินคำอธิษฐานของเรา

บัตรพรรคการเมือง

ในปี 1981 ขณะที่เรากำลังเดินทาง เราก็เจอกับกลุ่มแกนนำเยาวชนแห่งมาลาวีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกเขายึดรถจักรยาน กระเป๋าเดินทาง หนังสือ และเอกสารสำคัญเกี่ยวกับพี่น้องในหมวด เราพากันวิ่งหนีไปที่บ้านของพี่น้องผู้ปกครองคนหนึ่ง แต่เราก็กังวลเกี่ยวกับเอกสารที่พวกเขายึดไป เมื่อแกนนำเยาวชนแห่งมาลาวีค้นดูในเอกสาร พวกเขาพบจดหมายหลายฉบับที่พี่น้องทั่วมาลาวีส่งมาให้ผม พวกเขาตกใจกลัวมากเพราะคิดว่าผมเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของรัฐบาล ดังนั้น พวกเขาจึงรีบส่งเอกสารทั้งหมดคืนให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นทันที

อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เรานั่งเรือข้ามแม่น้ำ เจ้าของเรือลำนั้นซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองอยากดูบัตรพรรคการเมืองของทุกคน ขณะที่เขาเดินเข้ามาใกล้เรา เขาก็เจอกับหัวขโมยที่ตำรวจกำลังตามล่า ทุกคนก็เลยหันไปสนใจหัวขโมยคนนั้นและเจ้าของเรือก็เลิกตรวจดูบัตรพรรคการเมือง นี่เป็นอีกครั้งที่เรารู้ว่าพระยะโฮวาสนับสนุนเราด้วยความรัก

ถูกจับและถูกขังคุก

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1984 ขณะที่ผมเดินทางไปเมืองลิลองเวเพื่อส่งรายงานไปที่สำนักงานสาขาในแซมเบีย ตำรวจสั่งให้ผมหยุดและค้นกระเป๋าของผม เขาเจอหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลบางเล่ม เขาจึงนำตัวผมไปที่สถานีตำรวจและซ้อมผม จากนั้น เขาจับผมมัดแล้วขังผมรวมกับนักโทษที่เป็นขโมย

วันต่อมา หัวหน้าตำรวจพาผมไปอีกห้องหนึ่งและให้ผมเซ็นชื่อในเอกสารที่บอกว่า “ข้าพเจ้า นายโทรฟิม อาร์. ซอมบาได้เลิกเป็นพยานพระยะโฮวาแล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นอิสระ” แต่ผมไม่ยอมเซ็นและบอกเขาว่า “ผมไม่ใช่แค่พร้อมติดคุกเท่านั้นแต่พร้อมที่จะตายด้วย ถึงยังไงผมก็จะเป็นพยานของพระยะโฮวาต่อไป” นั่นทำให้หัวหน้าตำรวจโกรธและทุบโต๊ะอย่างแรงจนตำรวจในห้องข้าง ๆ วิ่งมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น หัวหน้าตำรวจบอกว่า “เขาไม่ยอมเซ็นชื่อว่าจะเลิกเป็นพยานถ้าอย่างนั้นให้เขาเซ็นว่าเป็นพยานพระยะโฮวา แล้วส่งไปขังที่ลิลองเว” ตอนนั้น ภรรยาไม่รู้ว่าผมหายไปไหน แต่สี่วันต่อมา พี่น้องบางคนก็บอกเธอว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม

ที่สถานีตำรวจในลิลองเว ตำรวจปฏิบัติกับผมอย่างกรุณา หัวหน้าตำรวจเอาจานข้าวมาให้และบอกว่า “นี่อาหารของคุณ คุณติดคุกเพราะทำตามคำสอนของพระเจ้าแต่คนอื่นติดคุกเพราะเป็นขโมย” จากนั้น เขาส่งผมไปที่เรือนจำคาเชเร ผมอยู่ที่นั่นห้าเดือน

หัวหน้าผู้คุมดีใจมากที่ผมมาที่นี่เพราะเขาอยากให้ผมเป็น “บาทหลวง” ประจำคุกแทนบาทหลวงคนก่อน และเขาบอกบาทหลวงคนนั้นว่า “ผมไม่อยากให้คุณสอนเรื่องพระเจ้าที่นี่อีก คุณติดคุกก็เพราะขโมยเงินจากโบสถ์!” ดังนั้น ทุกสัปดาห์ผมจึงสอนคัมภีร์ไบเบิลในการประชุมที่คุกจัดขึ้นสำหรับนักโทษ

ต่อมา สถานการณ์กลับพลิกผัน เจ้าหน้าที่ในคุกซักถามผมเพราะพวกเขาอยากรู้ว่าพยานในมาลาวีมีจำนวนเท่าไร แต่ผมไม่ยอมบอก ดังนั้น พวกเขาจึงตีผมจนสลบ อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาอยากรู้ว่าสำนักงานใหญ่ของเราอยู่ที่ไหน ผมตอบว่า “คำถามนี้ง่ายมาก เดี๋ยวผมจะบอกให้” ผมบอกพวกเขาว่า สำนักงานใหญ่ของเรามีบอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาแปลกใจและถามว่า “ที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิล?”

ผมบอกเขาว่า “ที่ยะซายา 43:12” พวกเขาจึงดูข้อนั้นและอ่านว่า “เจ้าก็เป็นพยานของเรา ว่าเราเป็นพระเจ้าของเจ้า พระยะโฮวาได้ตรัสดังนั้น” พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ข้อนั้นถึงสามรอบก็ยังไม่เข้าใจ แล้วพวกเขาก็ถามอีกว่า “สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาจะมาอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลได้ยังไง ไม่ใช่ที่อเมริกาเหรอ?” ผมบอกพวกเขาว่า “พยานพระยะโฮวาในอเมริกาก็ถือว่าข้อนี้เป็นสำนักงานใหญ่ของพวกเขาด้วยเหมือนกัน” เนื่องจากผมไม่ยอมบอกสิ่งที่พวกเขาอยากรู้ ผมจึงถูกส่งไปเรือนจำซาเลกาที่อยู่ทางเหนือของลิลองเว

ได้รับพรแม้ในยามยากลำบาก

เมื่อผมถูกส่งมาที่เรือนจำซาเลกาในเดือนกรกฎาคมปี 1984 มีพยานฯ 81 คนถูกขังอยู่ที่นั่น ในเรือนจำนี้มีนักโทษมากถึง 300 คนจนทำให้ทุกคนต้องนอนเบียดกันอยู่บนพื้น แต่พยานทั้งหมดก็สามารถจัดประชุมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ได้ทุกวันเพื่อพิจารณาพระคัมภีร์ซึ่งให้กำลังใจเรามาก

พี่น้องหลายคนถูกนำตัวไปหลังจากถูกสอบสวน

ในเดือนตุลาคมปี 1984 เราทุกคนไปขึ้นศาลและถูกตัดสินให้จำคุกสองปี เราถูกขังรวมกับคนที่ไม่ใช่พยานเหมือนก่อนหน้านั้น แต่หัวหน้าผู้คุมบอกทุกคนว่า “พยานพระยะโฮวาไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น ขอผู้คุมทุกคนอย่าไปยุ่งกับพวกเขา ไม่ต้องขอบุหรี่จากพวกเขาและอย่าใช้พวกเขาให้ไปเอาถ่านไฟมาจุดบุหรี่ให้พวกคุณ พวกเขาเป็นประชาชนของพระเจ้า พยานพระยะโฮวาทุกคนควรได้รับอาหารวันละสองมื้อ ที่พวกเขาถูกขังไม่ใช่เพราะทำความผิดแต่เพราะพวกเขาทำตามคัมภีร์ไบเบิล”

การประพฤติที่ดีทำให้เราได้รับประโยชน์มาก ในตอนกลางคืนหรือช่วงฝนตก ปกติผู้คุมจะไม่ยอมให้นักโทษออกไปข้างนอก แต่พวกเขาอนุญาตให้เราออกนอกอาคารได้เพราะไว้ใจเราและรู้ว่าเราจะไม่พยายามหนี เช่น ครั้งหนึ่งขณะที่เรากำลังทำงานในไร่ ผู้คุมก็ไม่สบายขึ้นมากะทันหัน พวกเราจึงช่วยกันหามเขากลับมาที่เรือนจำ เนื่องจากการประพฤติที่ดีของเราชื่อของพระยะโฮวาจึงได้รับการสรรเสริญในหมู่ผู้คุม—1 เป. 2:12 *

เวลาที่สะดวกกลับมาอีกครั้ง

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 1985 ผมถูกปล่อยตัวจากเรือนจำซาเลกา ผมมีความสุขมากที่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง เราขอบคุณพระยะโฮวาที่ช่วยให้เรารักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ในช่วงที่ยากลำบากเหล่านั้น เรารู้สึกเหมือนอัครสาวกเปาโลที่เขียนว่า “เราอยากให้พวกท่านรู้เรื่องความทุกข์ลำบากที่เกิดขึ้นกับเรา . . . เราคิดว่าคงเอาชีวิตไม่รอด ที่จริง เราคิดว่าถูกตัดสินประหารไปแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นก็เพื่อให้เราไว้วางใจพระเจ้าผู้ทรงปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมา ไม่ใช่ไว้วางใจตัวเอง พระเจ้าเคยช่วยเราให้รอดจากอันตรายถึงตายมาแล้ว”—2 โค. 1:8-10

พี่น้องโทรฟิมและไลดาซียืนอยู่หน้าหอประชุมราชอาณาจักรในปี 2004

บางครั้ง ดูเหมือนว่าเราไม่น่าจะรอด แต่ทุกครั้งเราอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้เรามีความกล้าหาญ สติปัญญา และความถ่อมตัวเสมอ การทำอย่างนั้นทำให้ชื่ออันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้รับเกียรติต่อ ๆ ไป

พระยะโฮวาได้อวยพรงานรับใช้ที่เราทำเพื่อพระองค์ทั้งใน “เวลาที่สะดวกและในยามยากลำบาก” ทุกวันนี้ เราตื่นเต้นที่เห็นสำนักงานสาขาที่สวยงามในลิลองเวและมีหอประชุมใหม่มากกว่า 1,000 แห่งในมาลาวี สำหรับผมกับไลดาซีพระพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระยะโฮวาช่างมหัศจรรย์จริง ๆ ราวกับความฝัน! *

^ วรรค 6 พี่น้องชายที่มีลูกเล็ก ๆ ที่บ้านจะไม่ถูกเชิญให้ทำงานเดินหมวดอีกต่อไป

^ วรรค 27 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงในมาลาวีได้ในหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 1999 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 171-223

^ วรรค 31 พี่น้องโทรฟิมได้เสียชีวิตระหว่างที่เราเตรียมบทความนี้เมื่ออายุ 83 ปี