ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“จงให้จิตใจของท่านทั้งหลายยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ”

“จงให้จิตใจของท่านทั้งหลายยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ”

“จงให้จิตใจของท่านทั้งหลายยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ ไม่ใช่กับสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก”—โกโล. 3:2

1, 2. (ก) ประชาคมคริสเตียนในเมืองโกโลซายตกอยู่ในอันตรายอย่างไร? (ข) คำแนะนำอะไรที่ช่วยพี่น้องในเมืองโกโลซายให้รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน?

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาคมคริสเตียนในเมืองโกโลซายสมัยศตวรรษแรกตกอยู่ในอันตราย! พี่น้องบางคนบอกว่าทุกคนต้องทำตามบัญญัติของโมเซ ส่วนคนอื่น ๆ ก็บอกว่าการสนุกสนานเพลิดเพลินกับชีวิตเป็นสิ่งผิด เปาโลเตือนพวกเขาเรื่องแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายโดยบอกว่า “ระวังให้ดี อาจมีคนทำให้ท่านทั้งหลายตกเป็นเหยื่อเขาโดยใช้หลักปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลที่อาศัยประเพณีของมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ที่โลกถือว่าสำคัญ ไม่ใช่อาศัยคำสอนของพระคริสต์”—โกโล. 2:8

2 ถ้าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ทำตามแนวคิดของมนุษย์ พวกเขาจะสูญเสียสิทธิพิเศษในการเป็นลูกของพระเจ้า (โกโล. 2:20-23) เพื่อจะช่วยพวกเขาให้รักษาความสัมพันธ์อันล้ำค่าที่เขามีกับพระเจ้า เปาโลบอกพวกเขาว่า “จงให้จิตใจของท่านทั้งหลายยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ ไม่ใช่กับสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก” (โกโล. 3:2) คริสเตียนผู้ถูกเจิมต้องไม่ลืมว่าพวกเขามีความหวังพิเศษที่จะได้อยู่บนสวรรค์ตลอดไป—โกโล. 1:4, 5

3. (ก) คริสเตียนผู้ถูกเจิมมีความหวังอะไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรในบทความนี้?

3 ทุกวันนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมรักษาใจของพวกเขาให้ยึดมั่นกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและความหวังที่จะ “เป็นผู้รับมรดกร่วมกับพระคริสต์” ในสวรรค์ (โรม 8:14-17) แล้วสิ่งที่เปาโลพูดนี้ใช้กับคนที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนโลกได้ด้วยไหม? พวกเขาจะรักษาใจให้ยึดมั่นกับ “สิ่งที่อยู่เบื้องบน” ได้อย่างไร? (โย. 10:16) อับราฮามและโมเซรักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอแม้ในยามยากลำบาก เราจะเลียนแบบพวกเขาได้อย่างไร?

การรักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนหมายถึงอะไร

4. คนที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนโลกจะรักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนได้อย่างไร?

4 คนที่หวังว่าจะมีชีวิตตลอดไปบนโลกต้องรักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนโดยให้ความสำคัญกับพระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต (ลูกา 10:25-27) พระเยซูก็ทำอย่างนี้และนี่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำด้วย (1 เป. 2:21) ในศตวรรษแรก คริสเตียนต้องเจอกับการหาเหตุผลผิด ๆ ปรัชญาความคิดแบบโลก และการนิยมวัตถุที่มีอยู่เต็มไปหมด ทุกวันนี้ เราเห็นว่าโลกของซาตานก็เป็นอย่างนั้นด้วย (อ่าน 2 โครินท์ 10:5) เราต้องเลียนแบบพระเยซูและปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาไว้ไม่ให้อะไรมาทำลายได้

5. เราต้องถามตัวเองว่าเราคิดอย่างไรในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ?

5 เราปล่อยให้ความคิดแบบโลกที่ว่าต้องรวยต้องมีเงินมาก ๆ ส่งผลต่อความคิดจิตใจของเราไหม? เราจะพิสูจน์ว่าเรารักอะไรจริง ๆ ได้จากวิธีที่เราคิดและทำ พระเยซูอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อพระองค์บอกว่า “ทรัพย์สมบัติของเจ้าอยู่ที่ไหน ใจของเจ้าจะอยู่ที่นั่นด้วย” (มัด. 6:21) เราต้องถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เรามัวแต่กังวลกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ คิดแต่จะหางานที่ดีกว่า หรือพยายามจะยกระดับชีวิตให้สะดวกสบายกว่านี้ไหม? หรือเราพยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายและจดจ่ออยู่กับความสัมพันธ์ที่มีกับพระเจ้า? (มัด. 6:22) พระเยซูบอกว่าถ้าเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับ “ทรัพย์สมบัติ” ในโลก เราก็อาจสูญเสียความสัมพันธ์กับพระยะโฮวา—มัด. 6:19, 20, 24

6. เราจะเอาชนะการต่อสู้กับแนวโน้มที่ไม่ดีในตัวเราเองได้อย่างไร?

6 เพราะเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราจึงทำผิดได้ง่าย (อ่านโรม 7:21-25) ถ้าเราไม่พึ่งพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า เราอาจ “กินเลี้ยงเฮฮาอย่างเลยเถิดและดื่มจนเมามาย” ทำผิดศีลธรรม หรือแม้กระทั่ง “ประพฤติไร้ยางอาย” และไม่นับถือกฎหมายของพระเจ้า (โรม 13:12, 13) เราต้องต่อสู้กับแนวโน้มที่ไม่ดีในตัวเราตลอดเวลา เราเอาชนะการต่อสู้นี้ได้ถ้าเรารักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบน การทำอย่างนี้ต้องใช้ความพยายามมาก นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเปาโลบอกว่า “ข้าพเจ้าทุบตีร่างกายข้าพเจ้าและจูงมันเยี่ยงทาส” (1 โค. 9:27) เราจำเป็นต้องพยายามควบคุมตัวเองด้วย ตอนนี้ให้เรามาดูตัวอย่างของชายที่ซื่อสัตย์สองคนด้วยกัน—ฮีบรู 11:6

อับราฮาม “แสดงความเชื่อในพระยะโฮวา”

7, 8. (ก) อับราฮามและซาราห์ต้องเจอปัญหาอะไร? (ข) อับราฮามรักษาใจของเขาให้ยึดมั่นกับเรื่องอะไร?

7 ตอนที่พระยะโฮวาบอกอับราฮามให้ย้ายไปแผ่นดินคะนาอันทั้งครอบครัว ท่านเต็มใจเชื่อฟัง พระยะโฮวาจึงตอบแทนความเชื่อและการเชื่อฟังของอับราฮามโดยทำสัญญากับเขา พระยะโฮวาบอกเขาว่า “เราจะให้ตระกูลของเจ้าเป็นประเทศใหญ่ เราจะอวยพรให้เจ้า” (เย. 12:2) แต่หลายปีผ่านไปอับราฮามกับซาราห์ก็ยังไม่มีลูกสืบตระกูล อับราฮามจะสงสัยไหมว่าพระยะโฮวาคงลืมสัญญาที่ให้ไว้กับเขาไปแล้ว? ในเวลานั้น อับราฮามต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก เขาทิ้งความสะดวกสบายในเมืองอูร์ที่มั่งคั่งไว้ข้างหลังแล้วเดินทางมากกว่า 1,600 กิโลเมตรมุ่งหน้าสู่แผ่นดินคะนาอัน เขาและครอบครัวต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ อดมื้อกินมื้อ และเสี่ยงอันตรายเพราะมีโจรขโมยชุกชุม (เย. 12:5, 10; 13:18; 14:10-16) แต่ถึงอย่างนั้นอับราฮามกับครอบครัวก็ไม่ต้องการกลับไปหาความสะดวกสบายในเมืองอูร์—อ่านฮีบรู 11:8-12, 15

8 อับราฮาม “เชื่อวางใจในพระยะโฮวา” และไม่ได้มัวแต่คิดถึง “สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก” (เย. 15:6) เขารักษาใจให้ยึดมั่นกับคำสัญญาของพระเจ้าตลอดเวลา พระยะโฮวาเห็นความเชื่อของอับราฮามและพูดกับเขาว่า “‘จงแลดูฟ้า ถ้าเจ้าอาจนับดาวทั้งหลายได้ ก็นับไปเถิด’ แล้วพระองค์ตรัสว่า ‘พงศ์พันธุ์ของเจ้าจะเป็นเช่นนั้น’” (เย. 15:5) เมื่ออับราฮามได้ยินอย่างนั้นก็รู้ว่าพระยะโฮวาไม่เคยลืมเขาเลย ทุกครั้งที่เขาเงยหน้ามองดาว เขานึกถึงคำสัญญาของพระเจ้าที่จะให้มีลูกหลานมากมาย และเมื่อถึงเวลาที่พระยะโฮวากำหนดไว้ อับราฮามก็ได้ลูกชายตามที่พระเจ้าสัญญาจริง ๆ—เย. 21:1, 2

9. เราจะเลียนแบบอับราฮามได้อย่างไร?

9 เรารอคอยวันที่คำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาจะเกิดขึ้นจริงเหมือนอับราฮาม (2 เป. 3:13) ถ้าเราไม่ได้รักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบน เราอาจรู้สึกว่าทำไมคำสัญญาของพระเจ้าไม่สำเร็จสักทีและทำให้ความกระตือรือร้นในการทำงานรับใช้พระยะโฮวาที่เราเคยมีค่อย ๆ น้อยลง เมื่อก่อนคุณอาจเสียสละมากมายเพื่อพระยะโฮวา คุณเคยเป็นไพโอเนียร์หรือทำงานรับใช้ประเภทพิเศษบางอย่าง แต่ตอนนี้คุณกำลังทำอะไร? คุณทำเพื่อพระยะโฮวามากที่สุดเท่าที่ทำได้เหมือนอับราฮาม และจดจ่ออยู่กับพระพรที่จะได้รับในอนาคตไหม? (ฮีบรู 11:10) อับราฮาม “เชื่อวางใจในพระยะโฮวา” และถูกนับว่าเป็นเพื่อนของพระเจ้า—โรม 4:3

โมเซเห็น “พระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา”

10. ตอนเป็นเด็กชีวิตของโมเซเป็นอย่างไร?

10 โมเซเป็นอีกคนหนึ่งที่รักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ เขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและถือเป็นคนหนึ่งในราชวงศ์กษัตริย์แห่งอียิปต์ และตอนนั้นอียิปต์เป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าโมเซ “ได้รับการสอนวิชาการทุกอย่างของชาวอียิปต์” การได้ร่ำเรียนสูงทำให้โมเซ “มีความสามารถมากในการพูดและในการงานต่าง ๆ” (กิจ. 7:22) ด้วยภูมิหลังแบบนี้ทำให้โมเซมีโอกาสมากมายที่จะได้เป็นคนสำคัญในแผ่นดินอียิปต์ แต่โมเซได้รับการศึกษาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่าด้วย

11, 12. การศึกษาแบบไหนที่สำคัญที่สุดสำหรับโมเซ? และเรารู้ได้อย่างไร?

11 ตอนที่โมเซเป็นเด็ก โยเคเบ็ดแม่ของเขาสอนเขาเกี่ยวกับพระเจ้าของชาวฮีบรู โมเซถือว่าความรู้เรื่องพระยะโฮวาสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น ๆ เขายอมทิ้งโอกาสที่จะร่ำรวยและมีอำนาจเพื่อจะได้ทำงานตามความต้องการของพระเจ้า (อ่านฮีบรู 11:24-27) สิ่งที่ได้เรียนรู้ตอนเป็นเด็กและความเชื่อของโมเซที่มีต่อพระยะโฮวาช่วยเขาให้รักษาหัวใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ

12 ถึงแม้ว่าโมเซได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ในยุคนั้น แต่เขาก็ไม่ได้ใช้สิ่งนี้เพื่อแสวงหาความร่ำรวย ชื่อเสียง และอำนาจในอียิปต์ ที่จริงคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าโมเซ “ไม่ยอมให้ใครเรียกว่าบุตรของราชธิดาฟาโรห์ เขาเลือกเอาการถูกทำทารุณร่วมกับประชาชนของพระเจ้าแทนที่จะเพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป” ในภายหลัง โมเซได้ใช้ความรู้ของพระยะโฮวาชี้นำประชาชนของพระองค์

13, 14. (ก) ก่อนที่โมเซจะนำหน้าในการปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าให้เป็นอิสระเขาต้องเรียนรู้อะไร? (ข) เราเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องอะไร?

13 โมเซรักพระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์ซึ่งตอนนั้นเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ เมื่อโมเซอายุได้ 40 ปี เขาคิดว่าเขาพร้อมแล้วที่จะนำหน้าในการปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าให้เป็นอิสระ (กิจ. 7:23-25) แต่พระยะโฮวารู้ว่าจริง ๆ แล้วโมเซยังไม่พร้อม เขาต้องเรียนรู้เรื่องความถ่อม ความอดทน ความกรุณา และการควบคุมตัวเองมากกว่านี้ (สุภา. 15:33) โมเซต้องได้รับการฝึกเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับปัญหาหนัก ๆ หลายอย่างที่จะมีมาในอนาคต เวลา 40 ปีที่โมเซใช้ไปกับการเป็นผู้เลี้ยงแกะช่วยเขาให้พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีเหล่านี้

14 การฝึกแบบนี้ช่วยโมเซได้จริง ๆ ไหม? แน่นอน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเขา “เป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน” (อาฤ. 12:3) เนื่องจากเขาต้องเรียนรู้เรื่องความถ่อมตัว เขาจึงอดทนกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่มาพร้อมกับปัญหาสารพัดได้ (เอ็ก. 18:26) เราก็จำเป็นต้องมีคุณลักษณะที่ช่วยเราให้รอดผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” และเข้าโลกใหม่ของพระเจ้า (วิ. 7:14) เราเข้ากับทุกคนได้ไหม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนที่เราคิดว่าโมโหง่ายหรือชอบคิดมาก? สิ่งที่อัครสาวกเปโตรพูดไว้ช่วยเราในเรื่องนี้ “จงให้เกียรติคนทุกชนิด จงรักทุกคนในสังคมพี่น้องคริสเตียน”—1 เป. 2:17

รักษาใจของเราให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ

15, 16. (ก) ทำไมเราต้องรักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ? (ข) ทำไมคริสเตียนต้องประพฤติตัวให้ดีตลอดเวลา?

15 เราอยู่ในยุคที่ “เกิดวิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้” (2 ติโม. 3:1) นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องรักษาใจของเราให้ยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกต้องเพื่อจะใกล้ชิดกับพระเจ้าเสมอ (1 เทส. 5:6-9) ให้เรามาดู 3 วิธีที่เราจะทำอย่างนั้นได้

16 ความประพฤติของเรา เปโตรอธิบายว่าความประพฤติที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาบอกว่า “จงประพฤติอย่างดีงามท่ามกลางชนต่างชาติต่อ ๆ ไป” เขาเสริมว่าคนที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาอาจสังเกตความประพฤติของเราและเขาอาจ “สรรเสริญพระเจ้า” (1 เป. 2:12) เราต้องทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อส่งเสริมชื่อเสียงของพระยะโฮวา ไม่ว่าจะเป็นความประพฤติที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียน เมื่อพักผ่อน หรือในงานประกาศ แน่นอนว่าเราทุกคนไม่สมบูรณ์เราอาจทำผิดพลาดได้ (โรม 3:23) แต่เราไม่ควรท้อใจ พระยะโฮวาจะช่วยเราให้ “ต่อสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ”—1 ติโม. 6:12

17. เราจะเลียนแบบวิธีคิดของพระเยซูได้อย่างไร? (ดูภาพแรก)

17 วิธีคิดของเรา เพื่อจะประพฤติอย่างดีเสมอ เราจำเป็นต้องมีความคิดที่ถูกที่ควรด้วย อัครสาวกเปาโลบอกว่า “ท่านทั้งหลายจงรักษาทัศนคติอย่างนี้ไว้ ซึ่งพระคริสต์เยซูก็มีทัศนคติอย่างนี้ด้วย” (ฟิลิป. 2:5) พระเยซูมีวิธีคิดอย่างไร? พระเยซูถ่อมตัวถ่อมใจ และนี่ทำให้ท่านต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่พระยะโฮวา ท่านคิดถึงงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเสมอ (มโก. 1:38; 13:10) พระเยซูไม่เคยทำอะไรตามใจตัวเอง แต่เชื่อฟังและทำตามสิ่งที่พระเจ้าบอกเสมอ (โย. 7:16; 8:28) ท่านขยันศึกษาพระคัมภีร์เพื่อจะยกข้อคัมภีร์ขึ้นมากล่าว เพื่อจะอธิบายพระคัมภีร์ได้และปกป้องพระคัมภีร์ด้วย ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนถ่อมใจ ขยันศึกษาพระคัมภีร์และกระตือรือร้นในงานรับใช้ เราก็จะยิ่งมีความคิดเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

พระเยซูรักษาใจให้จดจ่ออยู่กับการประกาศ ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า (ดูข้อ 17)

18. เราจะมีส่วนร่วมในงานของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

18 การมีส่วนร่วมของเรา พระเจ้าต้องการให้ “ใครก็ตามที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก” อยู่ใต้อำนาจของพระเยซู (ฟิลิป. 2:9-11) ถึงแม้ว่าพระเยซูมีตำแหน่งที่สำคัญมาก ๆ แต่ท่านก็ยังถ่อมตัวและยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาพ่อของท่าน เราก็ควรทำอย่างนั้นด้วย (1 โค. 15:28) เรามีส่วนร่วมในงานของพระยะโฮวาเมื่อเรา “สอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก” (มัด. 28:19) เมื่อเราทำสิ่งดี ๆ ให้เพื่อนบ้านและพี่น้องของเรา เราก็ได้ “ทำดีต่อทุกคน”—กลา. 6:10

19. เราควรตั้งใจที่จะทำอะไร?

19 เราขอบคุณพระยะโฮวาที่คอยเตือนเราให้รักษาใจให้ยึดมั่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องบนเสมอ! เราต้อง “วิ่งด้วยความเพียรอดทน” และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ถูกต้อง (ฮีบรู 12:1) ขอให้เราตั้งใจทำทุกอย่าง “สุดชีวิตอย่างที่ทำถวายพระยะโฮวา” และมั่นใจว่าพ่อบนสวรรค์ของเราจะอวยพรเราอย่างเต็มที่—โกโล. 3:23, 24