ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รับใช้พระยะโฮวาก่อนที่ยามทุกข์ร้อนจะมาถึง

รับใช้พระยะโฮวาก่อนที่ยามทุกข์ร้อนจะมาถึง

“จงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเจ้านั้น”—ผู้ป. 12:1

1, 2. (ก) โซโลมอนให้คำแนะนำอะไรแก่คนหนุ่มสาว? (ข) ทำไมคริสเตียนที่อายุ 50 หรือ 60 ปีควรสนใจคำแนะนำของโซโลมอน?

พระยะโฮวาดลใจกษัตริย์โซโลมอนให้เขียนถึงคนหนุ่มสาวว่า “ในปฐมวัยของเจ้าจงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเจ้านั้น, ก่อนที่ยามทุกข์ร้อนจะมาถึง” “ยามทุกข์ร้อน” ที่โซโลมอนพูดถึงคือวัยชรา วัยที่ทำอะไรก็ลำบาก เพราะมือไม้สั่น แขนขาอ่อนแรง ฟันหลุดร่วง หูตาฝ้าฟาง ผมหงอก หลังโกง เจ็บโน่นปวดนี่ คงไม่มีใครอยากรอให้แก่เฒ่าขนาดนั้นแล้วค่อยเริ่มรับใช้พระยะโฮวา—อ่านท่านผู้ประกาศ 12:1-5

2 คริสเตียนที่อายุ 50 หรือ 60 ปีหลายคนยังมีเรี่ยวแรงและกระฉับกระเฉงอยู่ ผมอาจจะเริ่มหงอกแล้ว แต่ก็ยังไม่แก่หง่อมถึงขนาดที่โซโลมอนบอกไว้ พี่น้องสูงวัยเหล่านี้จะ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้าง’ เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวได้อย่างไร?

3. เราจะ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้าง’ ได้โดยวิธีใด?

 3 แม้เราจะรับใช้พระยะโฮวามานานหลายปีแล้ว เราสามารถ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้าง’ ได้โดยคิดอย่างจริงจังว่าพระองค์ทำอะไรเพื่อเราบ้าง ขอให้คิดถึงร่างกายที่น่าอัศจรรย์ของเรา ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด พระยะโฮวายังสร้างสิ่งสารพัดในธรรมชาติให้เราได้กิน ได้ดู และได้ชื่นชม ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราจะยิ่งซาบซึ้งในความรัก สติปัญญา และฤทธิ์อำนาจของพระองค์ (เพลง. 143:5) การ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้าง’ ยังหมายถึงการคิดด้วยว่าพระองค์อยากให้เราทำอะไร การใคร่ครวญอย่างนี้จะกระตุ้นเราให้ขอบคุณพระองค์โดยรับใช้อย่างสุดกำลังตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่—ผู้ป. 12:13

โอกาสทองของผู้สูงวัย

4. คริสเตียนที่สูงวัยมีโอกาสอะไร และทำไม?

4 ถ้าคุณมีประสบการณ์ชีวิตมามาก คุณจะใช้สิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างไรตอนที่ยังมีกำลังเรี่ยวแรงนี้? คุณมีโอกาสทำหลายอย่างที่คนวัยอื่นทำไม่ได้ เช่น ช่วยคนที่อายุน้อยกว่าให้เข้าใจพระคัมภีร์มากขึ้น หรือให้กำลังใจพี่น้องโดยเล่าประสบการณ์ดีในงานรับใช้ให้เขาฟัง กษัตริย์ดาวิดอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ได้ทรงฝึกสอนข้าพเจ้าตั้งแต่เด็กมา . . . แม้ว่าข้าพเจ้าชราผมหงอกแล้ว, ขออย่าทรงละทิ้งข้าพเจ้าจนกว่าข้าพเจ้าจะได้พรรณนาถึงพลานุภาพของพระองค์แก่คนชั่วอายุต่อมา”—เพลง. 71:17, 18

5. คริสเตียนที่สูงวัยจะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์แก่คนอื่นได้อย่างไร?

5 คุณจะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่คุณมีแก่คนอื่นได้อย่างไร? คุณอาจชวนคนที่อายุน้อยกว่ามาที่บ้านเพื่อสังสรรค์และพูดคุยกัน หรือชวนเขาไปประกาศด้วยเพื่อเขาจะเห็นว่าคุณมีความสุขแค่ไหนในการรับใช้พระยะโฮวา เอลีฮูเคยบอกไว้ว่า “ข้าเห็นว่าผู้ที่เกิดก่อนควรจะพูดก่อน, และผู้ที่มีอายุมากปีควรจะให้โอวาทตักเตือน” (โยบ 32:7) เปาโลก็บอกว่าพี่น้องหญิงที่มีประสบการณ์ควรให้กำลังใจคนอื่นด้วยคำพูดและการกระทำ เขาเขียนว่า “ผู้หญิงสูงอายุก็เช่นเดียวกัน ให้ . . . เป็นผู้สอนสิ่งที่ดี”—ทิทุส 2:3

คุณจะช่วยอะไรคนอื่นได้บ้าง?

6. ทำไมพี่น้องที่มีประสบการณ์จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาคม?

6 ถ้าคุณรับบัพติสมานานแล้ว คุณก็สามารถช่วยคนอื่นได้มาก ตอนนี้คุณมีความรู้มากกว่าเมื่อ 30 หรือ 40 ปีที่แล้ว คุณรู้ว่าจะเอาคำแนะนำในพระคัมภีร์ไปใช้อย่างไรเมื่อมีปัญหาหรือต้องตัดสินใจเรื่องต่างในชีวิต คุณสามารถสอนพระคัมภีร์อย่างชำนาญและเข้าถึงใจนักศึกษา ถ้าคุณเป็นผู้ปกครอง คุณคงรู้วิธีช่วยพี่น้องก่อนที่เขาจะพลาดพลั้งทำผิด (กลา. 6:1) คุณคงได้ทำงานร่วมกับพี่น้องในประชาคมมานาน เคยดูแลแผนกต่างในการประชุมใหญ่หรือในการก่อสร้างหอประชุม คุณอาจรู้วิธีพูดกับหมอเกี่ยวกับการรักษาโดยไม่ใช้เลือด แต่ถึงแม้คุณจะเพิ่งรับบัพติสมา คุณก็มีประสบการณ์ชีวิตมาไม่น้อย เช่น ถ้าคุณเคยอบรมเลี้ยงดูลูก คุณก็แนะนำคนอื่นได้ เห็นได้ชัดว่า พี่น้องสูงอายุสามารถช่วยเพื่อนคริสเตียนได้มากจริงทั้งโดยการสอน ให้คำแนะนำ และให้กำลังใจ—อ่านโยบ 12:12

7. พี่น้องสูงอายุจะช่วยคนหนุ่มสาวได้อย่างไร?

7 คุณจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม? คุณจะช่วยคนหนุ่มสาวให้รู้วิธีนำการศึกษาพระคัมภีร์ได้ไหม? ถ้าคุณเป็นผู้หญิง คุณจะสอนพี่น้องหญิงที่มีลูกเล็กให้เอาใจ ใส่หน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวโดยไม่ละเลยกิจกรรมคริสเตียนได้ไหม? ถ้าคุณเป็นผู้ชาย คุณจะสอนหนุ่มให้เป็นผู้บรรยายที่ดีและเป็นผู้ประกาศที่มีคุณภาพได้ไหม? คุณจะพาพวกเขาไปเยี่ยมพี่น้องสูงอายุได้ไหมเพื่อช่วยพวกเขารู้วิธีให้กำลังใจพี่น้องเหล่านั้น? แม้ว่าตอนนี้คุณไม่มีเรี่ยวแรงมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีหลายวิธีที่คุณจะช่วยคนหนุ่มสาวได้ พระคำของพระเจ้าบอกว่า “สง่าราศีของคนหนุ่มคือกำลังของเขา แต่ความงามของคนแก่คือผมหงอกของเขา”—สุภา. 20:29

ย้ายไปรับใช้ในที่ที่มีความจำเป็นมากกว่า

8. เปาโลทำอะไรตอนที่เขาอายุมากแล้ว?

8 อัครสาวกเปาโลรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ชีวิตของเขาผ่านความลำบากมามากมายในช่วงที่เป็นมิชชันนารี เมื่อถูกปล่อยตัวจากการคุมขังในกรุงโรมในปี 61 เขาอาจเลือกที่จะประกาศในกรุงโรมต่อไปก็ได้ (2 โค. 11:23-27) พี่น้องที่นั่นคงจะดีใจถ้าเปาโลอยู่ช่วยประชาคมนั้น แต่เปาโลรู้ว่าที่อื่นมีความจำเป็นมากกว่า เขาจึงตัดสินใจทำงานมิชชันนารีต่อ เปาโลพาติโมเธียวกับทิทุสไปเยี่ยมพี่น้องที่เอเฟโซส์ เกาะครีต และอาจไปมาซิโดเนียด้วย (1 ติโม. 1:3; ทิทุส 1:5) เราไม่รู้ว่าเปาโลเดินทางไปถึงสเปนไหม แต่พระคัมภีร์บอกว่าเขาตั้งใจจะไปที่นั่น—โรม 15:24, 28

9. เปโตรย้ายไปรับใช้ที่บาบิโลนตอนอายุเท่าไร? (ดูภาพแรก)

9 อัครสาวกเปโตรคงจะอายุ 50 กว่าปีแล้วตอนที่ย้ายไปรับใช้ในต่างแดน เรารู้ได้อย่างไร? ถ้าเขาอายุพอกับพระเยซูหรือมากกว่านิดหน่อยตอนที่เข้ามาเป็นสาวก เขาก็ต้องอายุประมาณ 50 แล้วตอนที่มาประชุมร่วมกับอัครสาวกคนอื่นในกรุงเยรูซาเลมในปี 49 (กิจ. 15:7) หลังจากนั้นไม่นาน เปโตรก็ย้ายไปบาบิโลนเพื่อประกาศกับชาวยิวจำนวนมากที่อาศัยอยู่ที่นั่น (กลา. 2:9) เขายังอยู่ที่บาบิโลนตอนที่พระเจ้าดลใจให้เขียนจดหมายฉบับแรกในปี 62 (1 เป. 5:13) ชีวิตในต่างแดนคงไม่ง่ายสำหรับเปโตร แต่เขาก็ไม่ได้คิดว่าตอนนี้อายุมากแล้วไม่ต้องรับใช้พระยะโฮวามากขนาดนั้นก็ได้

10, 11. โรเบิร์ตกับภรรยาทำอะไรเมื่ออายุมากแล้ว?

10 ทุกวันนี้ พี่น้องหลายคนที่อยู่ในวัย 50 หรือมากกว่านั้นเห็นว่าสภาพการณ์ของเขาเปลี่ยนไปและสามารถรับใช้พระยะโฮวาได้มากขึ้น บางคนก็ย้ายไปช่วยในที่ที่มีความจำเป็นมากกว่า เช่น โรเบิร์ตเล่าว่า “ผมกับภรรยาอายุ 55 ปีแล้วตอนที่เรามีโอกาสที่จะรับใช้มากขึ้น เรามีลูกชายคนเดียวซึ่งก็ย้ายออกไปแล้ว เราเองไม่มีภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ และเราก็มีมรดกอยู่บ้าง ผมคิดว่าจะขายบ้านเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ แล้วก็ใช้เงินที่เหลือไปจนกว่าจะได้รับบำนาญ เราได้ยินว่าที่ประเทศโบลิเวียมีคนอยากศึกษาพระคัมภีร์เยอะมากและค่าครองชีพก็ถูก เราจึงตัดสินใจย้ายไปที่นั่น ชีวิตในต่างประเทศไม่ง่ายเลย ไม่มีอะไรเหมือนบ้านเราที่อเมริกาเหนือ แต่เราก็ได้รับพระพรมากมาย”

11 โรเบิร์ตเล่าต่อว่า “เวลาส่วนใหญ่ของเราใช้ไปกับการประชุมและการประกาศ นักศึกษาของเราบางคนรับบัพติสมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งที่เราศึกษาด้วยอยู่ในหมู่บ้านที่ยากจนห่างจากตัวเมืองหลายกิโลเมตร แต่ทุกคนก็มาร่วมประชุมในเมืองทุกอาทิตย์ทั้งที่เดินทางลำบาก เราดีใจมากที่เห็นครอบครัวนี้ก้าวหน้าและลูกชายคนโตของเขาเป็นไพโอเนียร์”

 เรียนภาษาใหม่เพื่อประกาศกับคนต่างชาติ

12, 13. หลังจากเกษียณอายุ ไบรอันกับภรรยาทำอะไร?

12 ประชาคมและกลุ่มภาษาต่างประเทศได้ประโยชน์มากจากตัวอย่างของพี่น้องสูงอายุ และพี่น้องสูงอายุที่ย้ายไปช่วยก็ได้ประสบการณ์ดีเช่นกัน ไบรอันเล่าว่า “หลังจากผมเกษียณจากงานอาชีพตอนอายุ 65 ผมกับภรรยารู้สึกว่าชีวิตเงียบเหงาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ลูกก็ออกจากบ้านไปหมดแล้ว ไปประกาศก็ไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาพระคัมภีร์ แต่วันหนึ่งผมเจอชายหนุ่มคนจีนที่มาทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยที่อยู่แถวบ้านของเรา ผมชวนเขามาหอประชุม เขาก็มาและเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับผมด้วย ไม่กี่อาทิตย์ถัดมา เขาก็พาเพื่อนร่วมงานคนจีนคนหนึ่งมาประชุมด้วย หลังจากนั้นสองอาทิตย์ เขาก็พามาอีกคนหนึ่ง จากสามคนก็เป็นสี่คน”

13 “พอเขาพาเพื่อนคนที่ห้ามาขอศึกษาพระคัมภีร์ ผมก็คิดว่า ‘ถึงผมจะอายุ 65 ปีแล้วผมก็ยังทำงานของพระยะโฮวาได้อยู่ เพราะงานนี้ไม่มีวันเกษียณอายุ’ ผมชวนภรรยาที่อายุ 63 ปีเรียนภาษาจีนด้วยกัน เราเรียนภาษาจากแผ่นซีดี นั่นก็สิบปีมาแล้ว เรารู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาอีกครั้งเมื่อประกาศกับคนต่างชาติ ช่วงที่ผ่านมา เรามีนักศึกษาคนจีนทั้งหมด 112 คน ส่วนใหญ่มาร่วมการประชุมกับเรา มีคนหนึ่งเป็นไพโอเนียร์กับเราในตอนนี้”

ทำสิ่งที่คุณทำได้

14. พี่น้องสูงอายุควรจำอะไรไว้เสมอ และเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเขาอย่างไร?

14 แม้ว่าคริสเตียนหลายคนที่อายุ 50 กว่าจะทำอะไรได้หลายอย่างในการรับใช้พระยะโฮวา แต่บางคนก็ ทำไม่ได้เพราะสุขภาพไม่ดี ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราหรือลูกที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ขอให้จำไว้เสมอว่าพระยะโฮวาเห็นค่าทุกสิ่งที่คุณทำเพื่อพระองค์ไม่ว่ามากหรือน้อย ดังนั้น แทนที่คุณจะท้อใจที่ทำได้ไม่มากเหมือนคนอื่น ขอให้คุณทำสิ่งที่ทำได้ต่อไป เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ตอนที่ถูกคุมขังอยู่แต่ในบ้านเป็นปีทำงานมิชชันนารีต่อไปไม่ได้ เขาก็ยังประกาศกับคนที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องให้รับใช้พระเจ้าต่อไป—กิจ. 28:16, 30, 31

15. ทำไมพี่น้องสูงอายุมีค่ามากจริงๆ?

15 สำหรับพี่น้องที่ชราแล้ว ขอให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาเห็นคุณค่าสิ่งที่พวกคุณทำเช่นกัน แม้โซโลมอนจะยอมรับว่าเมื่อ “ยามทุกข์ร้อน” มาถึงคนเราก็ทำอะไรได้ไม่มากแล้ว แต่สิ่งที่พวกคุณทำเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาก็มีค่ามาก (ลูกา 21:2-4) พี่น้องในประชาคมก็เห็นค่าผู้สูงอายุที่รับใช้ด้วยความอดทนและซื่อสัตย์มานานหลายปี

16. นางอันนาไม่มีโอกาสอะไร แต่นางทำอะไรบ้างเพื่อนมัสการพระเจ้า?

16 พระคัมภีร์พูดถึงหญิงม่ายคนหนึ่งชื่ออันนาที่สรรเสริญพระยะโฮวาจนแก่ชรา นางอายุ 84 ปีแล้วตอนที่พระเยซูเกิด นางเสียชีวิตก่อนจะมาเป็นสาวกของพระเยซู นางไม่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และไม่ได้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร แต่นางอันนาก็ทำสิ่งที่ทำได้อย่างดีที่สุด “นางไม่เคยหายหน้าไปจากพระวิหารเลย นางนมัสการพระเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน” (ลูกา 2:36, 37) นางอันนามาที่พระวิหารทุกวัน และเมื่อปุโรหิตถวายเครื่องหอมตอนเช้าและตอนเย็น นางก็จะอยู่ที่ลานพระวิหารเพื่ออธิษฐานเงียบนานประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อนางอันนาเห็นพระเยซูตอนที่ยังเป็นทารก นางก็ “พูดถึงทารกนั้นให้คนทั้งปวงที่คอยท่าการปลดปล่อยกรุงเยรูซาเลมได้ฟัง”—ลูกา 2:38

17. พี่น้องในประชาคมจะช่วยผู้สูงอายุหรือคนที่เจ็บป่วยได้อย่างไร?

17 ทุกวันนี้ เราควรหาโอกาสช่วยเหลือพี่น้องที่สูงอายุหรือที่เจ็บป่วย ผู้สูงอายุหลายคนอยากไปหอประชุมและไปร่วมประชุมใหญ่แต่ไม่สามารถไปได้ บางประชาคมต่อสายโทรศัพท์เพื่อให้พวกเขาฟังการประชุมที่บ้าน บางแห่งก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ถึงแม้มาประชุมไม่ได้ พี่น้องสูงอายุก็สนับสนุนการนมัสการแท้ในวิธีอื่นได้ เช่น อธิษฐานเพื่อพี่น้องในประชาคม—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 92:13, 14

18, 19. (ก) แบบอย่างของผู้สูงอายุเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไร? (ข) ใครควรทำตามคำแนะนำที่ให้ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้าง’?

18 พี่น้องสูงอายุอาจไม่รู้ว่าตัวอย่างของพวกเขาให้กำลังใจคนอื่นมากแค่ไหน เช่น นางอันนารับใช้ที่พระวิหารอย่างซื่อสัตย์หลายสิบปี นางคงไม่รู้ว่าคนรุ่นหลังนับพันปีก็ยังได้ประโยชน์จากตัวอย่างของนาง เพราะเรื่องของนางและความรักที่นางมีต่อพระยะโฮวาได้รับการบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ขอให้คุณมั่นใจว่าพี่น้องสังเกตเห็นความรักที่คุณมีต่อพระยะโฮวา และจดจำสิ่งที่คุณทำเพื่อพระองค์ พระคำของพระเจ้าบอกว่า “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม”—สุภา. 16:31

19 คริสเตียนแต่ละคนรับใช้พระยะโฮวาได้มากน้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้าเรายังมีกำลังวังชาและเรี่ยวแรงอยู่ก็ขอให้ทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์ ที่ว่า “จงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเจ้า . . . ก่อนที่ยามทุกข์ร้อนจะมาถึง”—ผู้ป. 12:1