ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โยเซฟุสเป็นผู้เขียนจริงๆไหม?

โยเซฟุสเป็นผู้เขียนจริงๆไหม?

ในหนังสือยุคโบราณของยิว เล่ม 20 ฟลาวิอุส โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษแรก กล่าวถึงการตายของ “ยาโกโบ น้องชายของพระเยซูผู้ถูกเรียกว่าพระคริสต์.” ผู้คงแก่เรียนหลายคนถือว่าข้อความนี้เป็นข้อความที่โยเซฟุสเขียนจริง. แต่ผู้คงแก่เรียนบางคนสงสัยอีกข้อความหนึ่งที่กล่าวเกี่ยวกับพระเยซู ซึ่งอยู่ในงานเขียนเดียวกันนี้ ว่าเป็นข้อความที่โยเซฟุสเขียนจริงๆหรือไม่. ข้อความดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในนาม คำแถลงการของฟลาเวียส โยเซฟุส (เตสตีโมนีอุม ฟลาวีอานุม) อ่านว่า:

“ประมาณช่วงเวลานี้เองที่เยซูปรากฏตัวขึ้นมา. เขาเป็นคนที่ฉลาดสุขุม หากเป็นเรื่องถูกต้องที่จะเรียกเขาว่าคน เพราะเขาได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่มหัศจรรย์ และเป็นผู้สอนที่หลายคนชื่นชอบ. เขาชักนำผู้คนมากมายให้มาหาเขา ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติ. เขาคือพระคริสต์; และเมื่อปีลาตทำตามคำชี้แนะจากบรรดาเจ้าใหญ่นายโตในหมู่พวกเราโดยตัดสินให้ตรึงเขาที่กางเขน คนที่รักเขามาตั้งแต่แรกไม่ได้ละทิ้งเขา เพราะเขากลับมามีชีวิตและปรากฏแก่คนเหล่านี้อีกในวันที่สาม ดังที่ผู้พยากรณ์ทั้งหลายของพระเจ้าได้บอกล่วงหน้าไว้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้รวมทั้งเรื่องอันยอดเยี่ยมที่เกี่ยวกับเขาอีกนับหมื่นเรื่อง; และชนคริสเตียน ซึ่งได้ชื่อมาจากเขา ไม่ได้สูญสิ้นไปในเวลานี้.”—งานประพันธ์ครบชุดของโยเซฟุส ซึ่งแปลโดยวิลเลียม วิสตัน.

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมามีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างคนที่เชื่อว่าข้อความนี้โยเซฟุสเป็นผู้เขียนกับคนที่สงสัยว่าโยเซฟุสเป็นคนเขียนจริงหรือไม่. เสิร์จ บาร์เดต์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมยุคคลาสสิก ได้พยายามสะสางปมที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันนี้ซึ่งมีมาตลอดสี่ศตวรรษที่ผ่านไป. เขารายงานการค้นคว้าของเขาในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Le Testimonium Flavianum—Examen historique considérations historiographiques (การศึกษาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของเตสตีโมนีอุม ฟลาวีอานุม).

โยเซฟุสไม่ใช่นักเขียนที่เป็นคริสเตียน. เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวยิว; ดังนั้น ความเห็นที่ขัดแย้งกันส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การเรียกพระเยซูว่าเป็น “พระคริสต์.” ในการวิเคราะห์ของบาร์เดต์ เขายืนยันว่าชื่อตำแหน่งนี้สอดคล้อง “ในทุกแง่กับวิธีการกล่าวถึงชื่อผู้คนในภาษากรีก.” บาร์เดต์ยังกล่าวเสริมอีกว่าจากมุมมองของศาสนายิวและศาสนาคริสเตียน “การที่โยเซฟุสใช้คำคริสตอส ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้” แต่ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า “คนที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ทำผิดพลาดอย่างมากที่มองข้ามรายละเอียดดังกล่าว.”

อาจเป็นไปได้ไหมว่าข้อความนี้ถูกแต่งเติมในภายหลังโดยนักปลอมแปลงที่เลียนแบบรูปแบบการเขียนของโยเซฟุส? เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตัวข้อความเองแล้ว บาร์เดต์ลงความเห็นว่าถ้าเป็นการเลียนแบบจริงก็เกือบเป็นเรื่องที่ถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์เลยทีเดียว. การทำอย่างนี้คงต้องใช้นักปลอมแปลงที่มี “ความชำนาญในการเลียนแบบอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ไม่ว่าจะในยุคใดในสมัยโบราณ” หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่จะปลอมแปลงได้เหมือนถึงขนาดนี้ต้องเป็นคนที่ “มีลักษณะเฉพาะตัวเหมือนกับโยเซฟุสทุกประการ.”

ถ้าอย่างนั้น ทำไมผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นจึงตั้งข้อสงสัยว่าข้อความนี้เป็นของแท้หรือไม่? บาร์เดต์ระบุว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงโดยกล่าวว่า “การที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเตสตีโมนีอุม นั้นก็เพียงเพราะมีบางคนตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับคำแถลงการของฟลาเวียส โยเซฟุส ทั้งๆที่ไม่เป็นอย่างนั้นกับข้อความจากยุคโบราณส่วนใหญ่.เขากล่าวต่อไปว่าจุดยืนของคนเหล่านี้อยู่บนฐานของการมี “เจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้น” หรือความเชื่อส่วนตัวมากกว่าจะอาศัยการวิเคราะห์เนื้อความโดยใช้การคาดคะเนตามหลักเหตุผลซึ่งทำให้ลงความเห็นว่าเตสตีโมนีอุมเป็นของแท้.

การวิเคราะห์ของบาร์เดต์จะเปลี่ยนความเห็นของเหล่าผู้คงแก่เรียนที่มีต่อเตสตีโมนีอุม ฟลาวีอานุม หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป. การวิเคราะห์นี้ได้ทำให้ปีแอร์ เกอโอแตรง ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมกรีก ศาสนายิว และศาสนาคริสเตียนดั้งเดิม เชื่อมั่นว่าเตสตีโมนีอุม ฟลาวีอานุม เป็นของแท้. เขาเคยเชื่อมาเป็นเวลานานแล้วว่าเตสตีโมนีอุม เป็นข้อความที่สอดแทรกเข้าไป และเย้ยหยันคนที่เชื่อว่าข้อความนี้เป็นของจริงด้วยซ้ำ. แต่เขาเปลี่ยนความคิดเห็นของเขา. เขาลงความเห็นว่างานเขียนของบาร์เดต์ทำให้เขาเปลี่ยนทัศนะ. ตอนนี้ เกอโอแตรงกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “นับแต่นี้ไป ไม่ควรมีใครที่จะกล้าสงสัยว่าโยเซฟุสเป็นผู้เขียน [เตสตีโมนีอุม ] จริงหรือไม่.”

แน่นอน พยานพระยะโฮวามีเหตุผลหนักแน่นกว่านั้นมากที่จะยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลเอง.—2 ติโม. 3:16