ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อ “รู้จักพระเจ้าแล้ว” ควรทำอะไรต่อไป?

เมื่อ “รู้จักพระเจ้าแล้ว” ควรทำอะไรต่อไป?

“ท่านทั้งหลายรู้จักพระเจ้าแล้ว.”—กลา. 4:9

1. เหตุใดนักบินจึงตรวจสอบเครื่องบินตามรายการตรวจสอบก่อนที่จะออกบิน?

ทุกครั้งที่นักบินเตรียมความพร้อมสำหรับเที่ยวบิน เขาจะตรวจสอบเครื่องบินอย่างละเอียดตามรายการตรวจสอบซึ่งมีมากกว่า 30 รายการ. ถ้านักบินไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแต่ละครั้งก่อนจะออกบินก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง. คุณทราบไหมว่านักบินกลุ่มไหนที่ถูกกระตุ้นเตือนเป็นพิเศษให้ตรวจสอบตามรายการให้ครบถ้วนทุกครั้ง? คำตอบคือนักบินที่มีประสบการณ์มาก! นักบินที่มีประสบการณ์ในการบินหลายปีอาจประมาทเลินเล่อได้ง่ายและไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างตามรายการ.

2. เราจำเป็นต้องตรวจสอบอะไร?

2 เช่นเดียวกับนักบินที่สำนึกถึงความปลอดภัย คุณสามารถใช้รายการตรวจสอบอย่างหนึ่งเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าความเชื่อของคุณจะมั่นคงเข้มแข็งอยู่เสมอแม้แต่เมื่อประสบความยุ่งยากลำบาก. ไม่ว่าคุณเพิ่งรับบัพติสมาหรือรับใช้พระเจ้ามานานหลายปี คุณจำเป็นต้องตรวจสอบความเชื่อของคุณอยู่เสมอ. การไม่ได้ตรวจสอบเช่นนี้เป็นประจำอาจทำให้เราสูญเสียสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาได้. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “ให้ผู้ที่คิดว่าตนยืนมั่นอยู่แล้วระวังให้ดีจะได้ไม่ล้มลง.”—1 โค. 10:12

3. คริสเตียนในเมืองกาลาเทียต้องทำอะไร?

3 คริสเตียนในเมืองกาลาเทียจำเป็นต้องตรวจสอบว่าความเชื่อของพวกเขายังมั่นคงดีอยู่หรือไม่และเห็นคุณค่าเสรีภาพที่พวกเขามีในฐานะผู้รับใช้พระเจ้า. โดยทางค่าไถ่ พระเยซูทรงเปิดทางให้แก่คนที่แสดงความเชื่อในพระองค์ให้มารู้จักพระเจ้าในแนวทางที่พิเศษสุด คือพวกเขาสามารถเป็นบุตรของพระเจ้า! (กลา. 4:9) เพื่อจะรักษาสายสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมนี้ไว้ คริสเตียนในเมืองกาลาเทียต้องปฏิเสธคำสอนของพวกผู้ส่งเสริมลัทธิยูดายซึ่งยืนกรานว่าคริสเตียนจะเป็นคนชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาปฏิบัติตามพระ บัญญัติของโมเซด้วย. คิดดูก็แล้วกันว่าคนต่างชาติที่อยู่ในประชาคมคริสเตียนไม่เคยอยู่ภายใต้พระบัญญัติเลยด้วยซ้ำ! ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติจำเป็นต้องก้าวหน้าต่อๆไปในความจริง. พวกเขาต้องเข้าใจว่าพระเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้คนทำตามพระบัญญัติอีกต่อไป.

ขั้นตอนต่างๆที่ทำให้เรารู้จักพระเจ้า

4, 5. เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่คริสเตียนในเมืองกาลาเทีย และทำไมคำแนะนำนี้จึงสำคัญสำหรับเรา?

4 จดหมายที่พระยะโฮวาทรงดลใจให้อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองกาลาเทียช่วยเตือนสติคริสเตียนให้ระวังที่จะไม่ละทิ้งความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้. เราต้องไม่หวนกลับไปหาสิ่งที่เราละไว้เบื้องหลัง. จดหมายถึงคริสเตียนในเมืองกาลาเทียสามารถช่วยเราทุกคน ให้รักษาความซื่อสัตย์อยู่เสมอ.

5 เราทุกคนควรระลึกถึงตอนที่เราตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวา. ขอให้พิจารณาคำถามต่อไปนี้: คุณจำขั้นตอนต่างๆที่คุณต้องทำเพื่อจะรับบัพติสมาได้ไหม? คุณจำได้ไหมว่าคุณได้มารู้จักพระเจ้าได้อย่างไรและคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อพระองค์ทรงรู้จักคุณ?

6. เราจะพิจารณาขั้นตอนอะไร?

6 มีเก้าขั้นตอนที่เราต้องทำเมื่อเราเข้ามาในความจริง. (โปรดดูกรอบ  “ขั้นตอนต่างๆที่นำไปสู่การรับบัพติสมาและทำให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง”) เราสามารถมองขั้นตอนเหล่านี้ว่าเป็นเหมือนกับรายการตรวจสอบที่ใช้ตรวจสอบความเชื่อของเราว่ายังมั่นคงเข้มแข็งอยู่หรือไม่และเพื่อจะป้องกันเราไว้จากการหวนกลับไปหาสิ่งที่เป็นของโลก. เช่นเดียวกับนักบินที่ตรวจสอบตามรายการที่กำหนดไว้เสมอก่อนจะออกบิน เราควรทบทวนรายการตรวจสอบของเราอยู่เสมอ.

คนที่พระเจ้าทรงรู้จักเติบโตอย่างต่อเนื่อง

7. เราต้องปฏิบัติตามแบบแผนอะไร และเพราะเหตุใด?

7 เช่นเดียวกับที่นักบินตรวจสอบรายการต่างๆทุกครั้งก่อนที่เขาจะออกบิน เราก็สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของเราในทางความจริงเป็นประจำได้ด้วย. เปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “จงยึดถือแบบแผนถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ที่ท่านได้ยินจากข้าพเจ้านั้นด้วยความเชื่อและความรักอันเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์เยซู.” (2 ติโม. 1:13) “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ดังกล่าวมีอยู่ในพระคำของพระเจ้า. (1 ติโม. 6:3) เช่นเดียวกับภาพร่างคร่าวๆที่จิตรกรเขียนทำให้เห็นว่าภาพนั้นมีลักษณะอย่างไร ‘แบบแผนของความจริง’ ก็ให้เค้าโครงที่ช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมว่าพระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราทำอะไร. ดังนั้น ตอนนี้ขอให้เราทบทวนขั้นตอนต่างๆที่นำเราไปสู่การรับบัพติสมาเพื่อจะดูว่าเรากำลังปฏิบัติตามแบบแผนของความจริงอย่างถี่ถ้วนขนาดไหน.

8, 9. (ก) ทำไมเราควรเติบโตต่อๆไปในด้านความรู้และความเชื่อ? (ข) ทำไมความก้าวหน้าของเราในฐานะคริสเตียนจึงสำคัญ และทำไมความก้าวหน้านี้จึงเหมือนกับการเติบโตของต้นไม้?

8 ขั้นตอนแรกที่เราทำคือการรับเอาความรู้ ซึ่งทำให้เรามีความเชื่อ. แต่เราจำเป็นต้องรับเอาความรู้ต่อๆไปและพัฒนาความเชื่อให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ. (2 เทส. 1:3) หลังจากรับบัพติสมาแล้ว ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าควรจะพัฒนาเติบโตและมั่นคงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ.

เช่นเดียวกับที่ต้นไม้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คริสเตียนควรก้าวหน้าต่อๆไป.

9 เราอาจเปรียบการเติบโตของเราในฐานะผู้รับใช้พระเจ้าได้กับการเติบโตของต้นไม้. ต้นไม้อาจเติบโตจนมีขนาดใหญ่โตอย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะเมื่อรากของมันแข็งแรง. ตัวอย่างเช่น ต้นสนซีดาร์ของเลบานอนอาจสูงเท่ากับตึก 12 ชั้น และมีเส้นรอบวงลำต้นยาวถึง 12 เมตร. (ไพเราะ. 5:15) ในช่วงแรก ต้นไม้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว. เมื่อรากหยั่งลึกและแผ่ออกไปอย่างกว้างไกล ลำต้นก็จะโตขึ้นและสูงขึ้น. แต่หลังจากนั้นเราจะมองไม่เห็นการเติบโตของต้นไม้อย่างชัดเจนเหมือนในตอนแรก. เรื่องนี้คล้ายกันกับความก้าวหน้าของเราในฐานะคริสเตียน. เราอาจได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตเราหลาย อย่างเมื่อเราเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้วก็รับบัพติสมาในที่สุด. คนอื่นๆในประชาคมสังเกตเห็นความก้าวหน้าของเรา. เราอาจเริ่มเป็นไพโอเนียร์หรือได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆในประชาคม. เมื่อเวลาผ่านไป ความก้าวหน้าของเราในทางของความจริงอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนในตอนแรก. ถึงกระนั้น เราทุกคนจำเป็นต้องเติบโตต่อๆไปในด้านความรู้และความเชื่อจนกระทั่ง “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ เติบโตถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์.” (เอเฟ. 4:13) ดังนั้น เมื่อเราก้าวหน้าในฐานะคริสเตียน เราเป็นเหมือนกับต้นอ่อนเล็กๆที่เติบโตจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง.

10. ทำไมแม้แต่คริสเตียนที่อาวุโสก็ยังจำเป็นต้องก้าวหน้าต่อๆไป?

10 แต่ความก้าวหน้าของเราไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น. ความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าและความเชื่อของเราเป็นเหมือนกับรากที่ทำให้เรามั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น. รากดังกล่าวต้องแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ. (สุภา. 12:3) มีพี่น้องหลายคนในประชาคมคริสเตียนที่ยังคงก้าวหน้าต่อๆไปเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปกครองมามากกว่า 30 ปีบอกว่าเขายังคงก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ. เขากล่าวว่าในตอนนี้เขาเห็นคุณค่าคัมภีร์ไบเบิลยิ่งกว่าเมื่อก่อน. เขามองเห็นวิธีใหม่ๆอยู่เสมอที่จะนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ และเขาเพลิดเพลินกับงานรับใช้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆด้วย.

จงพัฒนามิตรภาพกับพระเจ้า

11. เราจะรู้จักพระยะโฮวาดียิ่งขึ้นได้อย่างไร?

11 หากเราต้องการก้าวหน้าต่อๆไปในฐานะคริสเตียน เราต้องพยายามพัฒนาสายสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อยๆ. พระองค์ประสงค์ให้เรารู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รักของพระองค์ เช่นเดียวกับเด็กที่รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับพ่อ หรือผู้ใหญ่ที่รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับเพื่อนที่ภักดี. แน่นอน ต้องใช้เวลาและความพยายามเพื่อจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากพอที่จะรู้สึกว่าปลอดภัยและเป็นที่รักของพระองค์. ดังนั้น จงจัดเวลาไว้เพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน และอ่านหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ทุกฉบับ รวมทั้งหนังสืออื่นๆที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. การทำอย่างนี้จะช่วยคุณให้รู้จักพระยะโฮวาในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นบุคคลดียิ่งขึ้นและพัฒนามิตรภาพของคุณกับพระองค์.

12. เราจำเป็นต้องทำอะไรถ้าต้องการรักษามิตรภาพของเรากับพระเจ้าให้แน่นแฟ้น?

12 การอธิษฐาน และการคบหาสมาคม ที่ดีจะช่วยพัฒนามิตรภาพของเรากับพระเจ้าได้ด้วย. (อ่านมาลาคี 3:16) เมื่อมิตรของพระเจ้าอธิษฐานถึงพระองค์ พระองค์ “ฟังคำวิงวอนของพวกเขา.”  (1 เป. 3:12) เช่นเดียวกับบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงตั้งใจฟังคำอธิษฐานของเราที่ร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์. ดังนั้น เราต้อง “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” (โรม 12:12) เราไม่อาจเป็นมิตรของพระเจ้าต่อๆไปได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์. หากเราเลิกอธิษฐานถึงพระองค์ เราก็จะไม่ได้รับกำลังความเข้มแข็งที่จำเป็น. เราอาจท้อแท้เนื่องด้วยระบบชั่วนี้หรือถูกล่อใจให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง. แต่พระองค์ทรงอยู่พร้อมที่จะประทานความช่วยเหลือทุกอย่างที่จำเป็นถ้าเราทูลขอพระองค์. คุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาแบบเดียวกับที่คุณคุยกับเพื่อนที่คุณไว้ใจไหม? มีวิธีใดบ้างที่คุณจะปรับปรุงคำอธิษฐานของคุณ?—ยิระ. 16:19

13. ทำไมเราจำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำหากต้องการจะรักษามิตรภาพของเรากับพระเจ้าให้แน่นแฟ้น?

13 เราจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาคมเพื่อจะสามารถคบหากับคนอื่นๆที่เป็นมิตรของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงรักพวกเขาเพราะพวกเขา “เข้ามาพึ่งอาศัยในพระองค์.” (นาฮูม 1:7) เนื่องจากโลกนี้ชั่วร้ายมาก เราจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันกับพี่น้องของเรา. เราสามารถช่วยกันและกันให้เข้มแข็งอยู่เสมอ. พี่น้องจะกระตุ้นเราให้แสดงความรักต่อคนอื่นๆและให้ทำ “การดี.” (ฮีบรู 10:24, 25) คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำตามคำแนะนำนี้ของเปาโลนอกจากเราจะคบหาสมาคมกับพี่น้องในประชาคม. ดังนั้น จงเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำและมีส่วนร่วมโดยการออกความคิดเห็น.

14. ทำไมเราจำเป็นต้องกลับใจและเปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตเราอยู่เสมอ?

14 เราต้องกลับใจ และเปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อเราเข้ามาเป็นคริสเตียน. แต่เราต้องพร้อมที่จะกลับใจและเปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตเราอยู่เสมอ. เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์และมีข้ออ่อนแอ เป็นเรื่องง่ายมากที่เราอาจทำบาป. บาปเป็นเหมือนกับงูที่ขดอยู่และพร้อมจะฉกเรา. (โรม 3:9, 10; 6:12-14) ดังนั้น เราไม่อาจแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นว่าเรามีข้ออ่อนแอ. พระยะโฮวาทรงอดทนกับเราขณะที่เราต่อสู้กับข้ออ่อนแอของเรา. (ฟิลิป. 2:12; 2 เป. 3:9) จงใช้เวลาและกำลังของคุณในการรับใช้พระยะโฮวาแทนที่จะมุ่งแสวงหาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง. พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งเติบโตขึ้นมาในความจริงคิดว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่น่ากลัวมาก และคิดว่าเธอคงไม่มีทางจะทำให้พระองค์พอพระทัยได้. เธอไม่รู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์เลยและทำอะไรบางอย่างผิดพลาด. เธอบอกว่า “ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่รักพระยะโฮวา แต่เป็นเพราะดิฉันไม่รู้จักพระองค์อย่างแท้จริง.” ดังนั้น เธอจึงอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและเริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตเธอ. เธอกล่าวว่า “ดิฉันพบว่าพระยะโฮวาทรงจูงดิฉันไปเหมือนจูงเด็ก ทรงคอยประคับประคองและช่วยเหลือดิฉันให้เอาชนะอุปสรรคทีละอย่าง และทรงชี้ให้ดิฉันเห็นว่าดิฉันต้องทำอะไร.”

15. พระเยซูและพระบิดาทรงสังเกตและเห็นคุณค่าสิ่งใด?

15 ทูตสวรรค์ของพระเจ้าบอกเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆให้ ‘ไปประกาศ ข่าวดีให้ประชาชนฟัง’ หลังจากที่พวกเขาถูกช่วยให้ออกจากคุกอย่างอัศจรรย์. (กิจ. 5:19-21) งานรับใช้ของเราในแต่ละสัปดาห์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรตรวจสอบเพื่อจะรักษาความเชื่อให้เข้มแข็ง. พระเยซูและพระยะโฮวาทรงสังเกตดูว่าเรามีความเชื่อมากขนาดไหนและทรงเห็นคุณค่าสิ่งที่เราทำในงานรับใช้. (วิ. 2:19) ตามที่ผู้ปกครองที่เรากล่าวถึงแล้วในตอนต้นได้พูดไว้ “การประกาศเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเรา.”

16. เหตุใดเราควรคิดถึงการอุทิศตัวของเราบ่อยๆ?

16 ขอให้คิดถึงการอุทิศตัว ของคุณบ่อยๆ. สายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เรามี. พระองค์ทรงรู้จักทุกคนที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ. (อ่านยะซายา 44:5) จงตรวจสอบสายสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวา และอธิษฐานขอให้ พระองค์ช่วยรักษาสายสัมพันธ์นี้ให้มั่นคง. นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงการรับบัพติสมา ของคุณ และอย่าลืมวันที่คุณรับบัพติสมา. การรับบัพติสมาของคุณเป็นการแสดงให้คนอื่นๆเห็นว่าคุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. นี่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดที่คุณเคยทำในชีวิต.

เราต้องเพียรอดทนเพื่อจะใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ

17. ทำไมเราจำเป็นต้องเพียรอดทนถ้าเราต้องการใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ?

17 ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองกาลาเทีย ท่านเน้นเกี่ยวกับความจำเป็นที่คริสเตียนต้องเพียรอดทน. (กลา. 6:9) นั่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ด้วย. คุณจะเผชิญความยุ่งยากลำบากต่างๆ แต่พระยะโฮวาจะทรงช่วยคุณ. จงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เสมอ แล้วพระองค์จะช่วยคุณให้มีความยินดีและสันติสุข แม้ว่าปัญหายังไม่หมดไป. (มัด. 7:7-11) ขอให้คิดอย่างนี้: ถ้าพระยะโฮวาทรงดูแลนก พระองค์จะทรงดูแลคุณซึ่งรักพระองค์และอุทิศตัวแด่พระองค์มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด? (มัด. 10:29-31) ไม่ว่าคุณจะเผชิญความกดดันอะไรก็ตาม อย่าท้อถอย. อย่าทิ้งความจริงแล้วกลับไปหาสิ่งที่คุณทิ้งไว้เบื้องหลัง. เราได้รับพระพรอย่างมากมายจากการมีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวา!

18. เมื่อ “รู้จักพระเจ้าแล้ว” คุณควรทำอะไรต่อไป?

18 ไม่ว่าคุณรับบัพติสมาเมื่อไม่นานมานี้หรือรับบัพติสมาหลายปีแล้ว คุณควรทำอะไรต่อไป? จงพยายามรู้จักพระยะโฮวาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ และก้าวหน้าในทางของความจริงต่อๆไป. คุณควรระวังที่จะไม่คิดว่าคุณรู้จักพระเจ้าดีพอแล้วและไม่จำเป็นต้องพัฒนาสายสัมพันธ์กับพระองค์อีกต่อไป. ขอให้ทบทวนสิ่งที่เราได้พิจารณาในบทความนี้เป็นครั้งคราวเพื่อคุณจะใกล้ชิดอยู่เสมอกับพระยะโฮวา พระบิดา มิตร และพระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความรัก.—อ่าน 2 โครินท์ 13:5, 6