จงเรียนจากเหล่าอัครสาวกของพระเยซูในเรื่องการเฝ้าระวัง
“จง . . . เฝ้าระวังอยู่กับเรา.”—มัด. 26:38
1-3. เหล่าอัครสาวกไม่ได้เฝ้าระวังอยู่เสมออย่างไรในคืนสุดท้ายของชีวิตพระเยซูบนแผ่นดินโลก และอะไรแสดงว่าพวกเขาได้บทเรียนจากข้อผิดพลาดของตน?
ขอให้นึกถึงฉากเหตุการณ์ในคืนสุดท้ายของชีวิตพระเยซูบนแผ่นดินโลก. พระเยซูเสด็จมายังสถานที่ที่พระองค์ทรงชื่นชอบ คือสวนเกทเซมาเน ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของกรุงเยรูซาเลม. พระองค์เสด็จมาที่นี่พร้อมกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์. เนื่องจากมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องคิด พระเยซูจึงจำเป็นต้องหาที่ที่พระองค์จะอยู่ตามลำพังเพื่อจะอธิษฐานได้.—มัด. 26:36; โย. 18:1, 2
2 อัครสาวกสามคน คือเปโตร ยาโกโบ และโยฮัน ไปด้วยกันกับพระเยซูจนถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในสวนแห่งนี้. พระองค์ทรงบอกพวกเขาว่า “จงอยู่ที่นี่และเฝ้าระวังอยู่กับเรา” แล้วก็ทรงออกไปอธิษฐาน. เมื่อกลับมา พระองค์ทรงพบว่าสหายของพระองค์กำลังหลับสนิท. พระองค์ทรงวิงวอนพวกเขาอีกว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ.” ถึงกระนั้น พวกเขาผล็อยหลับไปอีกสองครั้ง! ต่อมา ในคืนเดียวกันนั้นเอง ไม่มีอัครสาวกสักคนที่พร้อมจะรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. คิดดูก็แล้วกันว่า พวกเขาถึงกับทิ้งพระเยซูและหนีไป!—มัด. 26:38, 41, 56
3 แน่นอน เหล่าอัครสาวกเสียใจที่พวกเขาไม่ได้เฝ้าระวังอยู่เสมอ. ชายผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนอย่างรวดเร็ว. หนังสือกิจการในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าในเวลาต่อมาพวกเขาเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องการเฝ้าระวัง. แนวทางชีวิตที่ซื่อสัตย์ของพวกเขาคงต้องส่งผลให้เพื่อนคริสเตียนทำอย่างเดียวกัน. ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอยิ่งกว่าสมัยที่ผ่านมา. (มัด. 24:42) ให้เรามาพิจารณาบทเรียนสามประการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่เราจะเรียนได้จากหนังสือกิจการ.
ตื่นตัวเพื่อรับการชี้นำว่าจะประกาศที่ไหน
4, 5. เปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร?
4 บทเรียนแรกคือ เหล่าอัครสาวกตื่นตัวเพื่อรับการชี้นำว่าจะกิจ. 2:33) ขอให้เราร่วมเดินทางไปกับพวกเขา.—อ่านกิจการ 16:6-10
ประกาศที่ไหน. จากบันทึกตอนหนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่าพระเยซูทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระยะโฮวาประทานแก่พระองค์อย่างไรเพื่อชี้นำอัครสาวกเปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางในการเดินทางที่ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง. (5 เปาโล ซีลัส และติโมเธียวเดินทางออกจากเมืองลิสตราซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแคว้นกาลาเทีย. หลายวันต่อมา พวกเขามาถึงทางหลวงของโรมันซึ่งจะนำพวกเขาไปทางตะวันตกจนถึงภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของแคว้นเอเชีย. พวกเขาต้องการเดินทางไปตามถนนนั้นเพื่อเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ที่ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องได้ยินเรื่องพระคริสต์. แต่มีอะไรบางอย่างยับยั้งพวกเขาไว้. ข้อ 6 กล่าวว่า “เปาโลกับพวกเดินทางผ่านแคว้นฟรีเกียและแคว้นกาลาเทียไปเพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ห้ามพวกเขาไม่ให้ประกาศพระคำในแคว้นเอเชีย.” ดังนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ห้ามพวกเขาไว้ไม่ให้ประกาศในแคว้นเอเชีย แต่จะห้ามโดยวิธีใดนั้นพระคัมภีร์ไม่ได้เปิดเผย. ดูเหมือนว่า พระเยซูทรงประสงค์จะนำเปาโลและสหายให้ไปอีกทางหนึ่ง โดยอาศัยพระวิญญาณของพระเจ้า.
6, 7. (ก) เมื่อใกล้จะถึงแคว้นบิทีเนีย เกิดอะไรขึ้นกับเปาโลและเพื่อนนักเดินทางคนอื่น ๆ? (ข) สาวกเหล่านี้ตัดสินใจทำอะไร และผลเป็นอย่างไร?
6 นักเดินทางที่กระตือรือร้นเหล่านี้ไปที่ไหน? ข้อ 7 อธิบายว่า “เมื่อมาถึงแคว้นมีเซียแล้ว พวกเขาพยายามเข้าไปในแคว้นบิทีเนีย แต่พระเยซูทรงใช้พระวิญญาณห้ามพวกเขาไว้.” เพราะถูกยับยั้งไว้ไม่ให้ประกาศในแคว้นเอเชีย เปาโลกับสหายจึงบ่ายหน้าไปทางเหนือ ตั้งใจว่าจะไปประกาศในเมืองต่าง ๆ ของแคว้นบิทีเนีย. อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาเดินทางใกล้จะถึงแคว้นบิทีเนีย พระเยซูทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ยับยั้งพวกเขาไว้อีกครั้งหนึ่ง. ถึงตอนนี้ ชายเหล่านี้คงต้องรู้สึกสับสน. พวกเขารู้ว่าจะประกาศเรื่องอะไร และประกาศอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าจะประกาศที่ไหน. อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาได้เคาะประตูสู่แคว้นเอเชีย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป. พวกเขาได้เคาะประตูสู่แคว้นบิทีเนีย แต่ก็เข้าไปไม่ได้อีก. พวกเขาเลิกเคาะไหม? ถ้าเป็นคนอื่นอาจทำอย่างนั้นไปแล้ว แต่ไม่ใช่ผู้ประกาศที่มีใจแรงกล้าเหล่านี้!
7 ถึงตรงนี้ พวกเขาตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งที่อาจดูเหมือนว่าแปลกอยู่บ้าง. ข้อ 8 บอกเราว่า “พวกเขาจึงเดินทางผ่านแคว้นมีเซียไปแล้วมายังเมืองโตรอัส.” ดังนั้น นักเดินทางเหล่านี้บ่ายหน้าไปทางตะวันตกและเดินประมาณ 550 กิโลเมตร ผ่านเมืองแล้วเมืองเล่าไปจนกระทั่งถึงเมืองท่าโตรอัส ซึ่งเป็นประตูสู่แคว้นมาซิโดเนีย. ที่นั่น เปาโลและสหายเคาะประตูเป็นครั้งที่สาม แต่คราวนี้ประตูเปิดกว้างให้พวกเขา! ข้อ 9 รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นว่า “คืนนั้น เปาโลเห็นนิมิต ในนิมิตนั้นมีชายชาวมาซิโดเนียคนหนึ่งยืนวิงวอนเขาว่า ‘โปรดมาช่วยพวกข้าพเจ้าที่แคว้นมาซิโดเนียด้วย.’ ” ในที่สุด เปาโลก็รู้แล้วว่าจะประกาศที่ไหน. พวกเขาแล่นเรือไปมาซิโดเนียโดยไม่รอช้า.
8, 9. เราเรียนอะไรได้จากบันทึกการเดินทางของเปาโล?
8 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? ขอสังเกตว่า หลังจากที่เปาโลเริ่มออกเดินทางไปแคว้นเอเชียแล้ว พระวิญญาณของพระเจ้าจึงเข้าแทรกแซง. และหลังจากที่เปาโลใกล้จะถึงแคว้นบิทีเนียแล้ว พระเยซูจึงเข้ามาขัดจังหวะ. และในที่สุด หลังจากที่เปาโลไปถึงเมืองโตรอัสแล้ว พระเยซูจึงชี้นำท่านไปยังแคว้นมาซิโดเนีย. ในฐานะประมุขของประชาคม พระเยซูอาจชี้นำเราในวิธีที่คล้ายกัน. (โกโล. 1:18) ตัวอย่างเช่น คุณอาจคิดถึงเรื่องการเป็นไพโอเนียร์หรือการย้ายไปยังที่ที่มีความจำเป็นมากกว่า. แต่อาจเป็นได้ที่พระเยซูจะทรงชี้นำเราโดยทางพระวิญญาณของพระเจ้าหลังจากที่เราลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของเราแล้วเท่านั้น. เพื่อเป็นตัวอย่าง คนขับรถจะบังคับรถให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้ก็ต่อเมื่อรถกำลังวิ่งอยู่เท่านั้น. เช่นเดียวกัน พระเยซูอาจชี้นำเราในการขยายงาน รับใช้ เฉพาะแต่เมื่อเราเคลื่อนไหว ซึ่งก็คือเมื่อเราพยายามบรรลุเป้าหมายของเรา.
9 แต่จะว่าอย่างไรถ้าความพยายามของคุณไม่เห็นผลในทันที? คุณควรลงความเห็นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าไม่ช่วยชี้นำคุณและเลิกพยายามไหม? ขอให้จำไว้ว่าเปาโลก็พบอุปสรรคด้วย. แต่ท่านค้นหาและเคาะต่อ ๆ ไปจนกระทั่งประตูเปิดให้ท่าน. คล้ายกัน ถ้าคุณแสวงหา “โอกาสจะได้ทำงาน” อย่างไม่ท้อถอย คุณก็อาจได้รับบำเหน็จเช่นกัน.—1 โค. 16:9
จงตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน
10. อะไรแสดงว่าการตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐานเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะเฝ้าระวังอยู่เสมอได้?
10 ตอนนี้ ขอพิจารณาบทเรียนที่สองเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่เราอาจเรียนได้จากพี่น้องคริสเตียนของเราในศตวรรษแรก คือการที่พวกเขาคอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน. (1 เป. 4:7) เพื่อจะเฝ้าระวังอยู่เสมอได้ นับว่าสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องหมั่นอธิษฐาน. ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ในสวนเกทเซมาเนก่อนพระเยซูจะถูกจับ พระองค์ทรงบอกอัครสาวกสามคนว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอและอธิษฐานไม่หยุดหย่อน.”—มัด. 26:41
11, 12. เหตุใดเฮโรดจึงทำร้ายคริสเตียน รวมทั้งเปโตรด้วย และเขาทำเช่นนั้นอย่างไร?
11 ในเวลาต่อมา เปโตรซึ่งอยู่ด้วยในโอกาสนั้นได้เห็นพลังของการอธิษฐานด้วยความรู้สึกอันแรงกล้าด้วยตัวท่านเอง. (อ่านกิจการ 12:1-6) ในข้อแรก ๆ ของกิจการบท 12 เราเห็นว่าเฮโรดทำร้ายคริสเตียนเพื่อเอาใจชาวยิว. เขาคงรู้ว่ายาโกโบเป็นอัครสาวกที่เคยใกล้ชิดกับพระเยซูเป็นพิเศษ. ด้วยเหตุนั้น เฮโรดสั่งให้ฆ่ายาโกโบ “ด้วยดาบ.” (ข้อ 2) ประชาคมคริสเตียนจึงสูญเสียอัครสาวกที่พวกเขารักไปคนหนึ่ง. นับเป็นเรื่องที่ทดสอบความเชื่อของพี่น้องเหล่านั้นจริง ๆ!
12 เฮโรดทำอะไรอีกหลังจากนั้น? ข้อ 3 บอกว่า “เมื่อเห็นว่าพวกยิวชอบใจที่เขาทำเช่นนั้น เขาจึงจับเปโตรด้วย.” แต่คุกไม่อาจกักตัวเหล่าอัครสาวกไว้ได้เสมอไป รวมทั้งเปโตรด้วย. (กิจ. 5:17-20) เฮโรดอาจรู้เรื่องนั้นดี. ผู้ปกครองผู้นี้ไม่กล้าเสี่ยงจึงสั่งการอย่างรอบคอบ. เขาจับเปโตรจำคุกไว้ แล้วให้มี “ทหารคุมวันละสี่ผลัด ผลัดละสี่คน ตั้งใจว่าจะนำตัวออกมาต่อหน้าประชาชนหลังเทศกาลปัศคา.” (ข้อ 4) คิดดูสิ! เฮโรดได้สั่งให้ล่ามเปโตรไว้กับทหารยาม 2 คน. มียามทั้งหมด 16 คนทำงานเป็นผลัดทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อให้มั่นใจว่าอัครสาวกผู้นี้จะหนีไปไม่ได้. เฮโรดตั้งใจว่าจะนำตัวเปโตรออกมาต่อหน้าประชาชนหลังเทศกาลปัศคา และจะตัดสินประหารชีวิตท่านเพื่อให้ประชาชนพอใจ. ในสภาพการณ์ที่เลวร้ายเช่นนั้น เพื่อนคริสเตียนของเปโตรอาจทำอะไรได้?
13, 14. (ก) ประชาคมทำอย่างไรเมื่อเปโตรถูกจำคุก? (ข) เราอาจเรียนอะไรได้จากตัวอย่างที่เพื่อนคริสเตียนของเปโตรวางไว้ในเรื่องการอธิษฐาน?
13 ประชาคมรู้ว่าต้องทำอะไร. ข้อ 5 บอกว่า “ด้วยเหตุนั้น เปโตรจึงถูกจำคุกไว้ และประชาคมได้ทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อเปโตรด้วยใจแรงกล้า.” ใช่แล้ว คำอธิษฐานเพื่อพี่น้องที่พวกเขารักนั้นเป็นคำวิงวอนอย่างแรงกล้าจากใจจริง. ความตายของยาโกโบไม่ได้ทำให้พวกเขาหมดกำลังใจ; ทั้งไม่ได้ทำให้พวกเขามองว่าการอธิษฐานของตนไม่ได้ผล. ในทางตรงกันข้าม พวกเขารู้ว่าการอธิษฐานของผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์มีความหมายมากสำหรับพระยะโฮวา. หากคำอธิษฐานนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานนั้น.—ฮีบรู 13:18, 19; ยโก. 5:16
14 เราเรียนอะไรได้จากปฏิกิริยาของเพื่อนคริสเตียนของเปโตร? การเฝ้าระวังอยู่เสมอเกี่ยวข้องกับการอธิษฐานไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อพี่น้องคริสเตียนของเราด้วย. (เอเฟ. 6:18) คุณรู้จักเพื่อนร่วมความเชื่อที่ประสบความลำบากไหม? บางคนอาจถูกข่มเหง ถูกรัฐบาลสั่งห้าม หรือประสบภัยธรรมชาติ. คุณน่าจะให้เรื่องดังกล่าวรวมอยู่ในคำอธิษฐานอย่างจริงใจของคุณมิใช่หรือ? นอกจากนั้น คุณอาจรู้ว่าบางคนประสบความลำบาก อื่น ๆ ที่เห็นได้ยากกว่า. พวกเขาอาจกำลังดิ้นรนรับมือปัญหาในครอบครัว ความท้อแท้ หรือปัญหาสุขภาพ. คุณอาจคิดถึงบางคนที่คุณจะเอ่ยชื่อได้ในคำอธิษฐานถึงพระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน.”—เพลง. 65:2
15, 16. (ก) จงเล่าว่าทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาช่วยเปโตรออกจากคุกอย่างไร. (ดูภาพข้างล่าง) (ข) เหตุใดจึงเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจที่จะพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงช่วยเปโตร?
15 แต่เกิดอะไรขึ้นกับเปโตร? ระหว่างคืนสุดท้ายที่อยู่ในคุก เปโตรประสบเหตุการณ์ที่น่าพิศวง. (อ่านกิจการ 12:7-11) ขอให้นึกภาพสิ่งที่เกิดขึ้น. ขณะที่เปโตรหลับสนิทอยู่ระหว่างทหารยามสองคน ทันใดนั้น เกิดมีแสงสว่างจ้าไปทั่วห้องขัง. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งยืนอยู่ที่นั่นและรีบปลุกเปโตรให้ตื่น โดยที่ทหารยามดูเหมือนจะมองไม่เห็น. แล้วโซ่ที่ล่ามมือท่านอยู่ก็หลุดออกอย่างง่ายดาย! ทูตสวรรค์นำทางเปโตรออกจากห้องขัง เดินผ่านทหารยามที่ยืนประจำการอยู่ข้างนอก และเดินผ่านประตูเหล็กบานใหญ่ที่เปิด “ให้เอง.” เมื่อมาอยู่นอกคุกแล้ว ทูตสวรรค์ก็หายวับไป. เปโตรเป็นอิสระแล้ว!
16 เมื่อเราพิจารณาอำนาจของพระยะโฮวาที่ช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ นั่นย่อมเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็งมิใช่หรือ? แน่นอน เราไม่คาดหมายว่าพระยะโฮวาจะช่วยเราอย่างอัศจรรย์ในเวลานี้. อย่างไรก็ตาม เรามีความเชื่อเต็มเปี่ยมว่าพระองค์ทรงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้. (2 โคร. 16:9) โดยอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงพลัง พระองค์ทรงสามารถช่วยเราให้อดทนการทดสอบใด ๆ ก็ตามที่เราอาจเผชิญ. (2 โค. 4:7; 2 เป. 2:9) และในไม่ช้าพระยะโฮวาจะประทานอำนาจแก่พระบุตรให้ปลดปล่อยคนจำนวนนับไม่ถ้วนออกจากความตาย ซึ่งเป็นเหมือนคุกที่ไม่มีใครหนีออกมาได้. (โย. 5:28, 29) การที่เราเชื่อคำสัญญาของพระเจ้าจะช่วยให้เรามีความกล้าหาญอย่างมากเมื่อเราเผชิญความยากลำบากในทุกวันนี้.
ประกาศอย่างถี่ถ้วนแม้มีอุปสรรค
17. เปาโลวางตัวอย่างที่โดดเด่นในการประกาศด้วยใจแรงกล้าและด้วยความเร่งด่วนอย่างไร?
17 บทเรียนที่สามที่เราเรียนได้จากเหล่าอัครสาวกในเรื่องการเฝ้าระวังก็คือ พวกเขาประกาศอย่างถี่ถ้วนต่อ ๆ ไปแม้มีอุปสรรค. เพื่อจะเฝ้าระวังอยู่เสมอ เราต้องประกาศด้วยใจแรงกล้าและด้วยความเร่งด่วน. อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้. ท่านทุ่มเทตัวด้วยใจแรงกล้า เดินทางไปทั่ว และก่อตั้งประชาคมหลายแห่ง. ท่านอดทนความลำบากมากมาย แต่ก็ไม่เคยสูญเสียความมีใจแรงกล้าหรือความสำนึกถึงความเร่งด่วน.—2 โค. 11:23-29
18. เปาโลประกาศต่อไปอย่างไรเมื่อถูกควบคุมตัวในกรุงโรม?
18 ขอให้เราพิจารณาชีวิตของเปาโลในช่วงท้าย ๆ ซึ่งบันทึกไว้ที่หนังสือกิจการบท 28. เปาโลมาถึงกรุงโรม ซึ่งท่านจะถูกพิจารณาคดีต่อหน้าจักรพรรดิเนโรที่นี่. ท่านถูกควบคุมตัวไว้ โดยที่อาจถูกล่ามโซ่ไว้กิจการ 28:17, 23, 24) สามวันหลังจากนั้น เปาโลก็เชิญพวกผู้นำของชาวยิวมาหาท่านแล้วประกาศแก่พวกเขา. หลังจากนั้น ในวันที่มีการนัดหมายกัน ท่านได้ประกาศมากกว่าครั้งแรกเสียอีก. ข้อ 23 บอกว่า “พวกเขา [ชาวยิวในท้องถิ่น] จึงนัดวันมาพบกับเปาโล และมีคนมาหาเปาโลที่บ้านพักของเขามากขึ้น. เปาโลจึงชี้แจงเรื่องราวให้พวกเขาฟังตั้งแต่เช้าจดเย็นโดยอธิบายเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่พวกเขาอย่างถี่ถ้วน และโดยการพูดจูงใจพวกเขาด้วยเรื่องพระเยซูทั้งจากพระบัญญัติที่ทรงประทานผ่านทางโมเซ และจากหนังสือของพวกผู้พยากรณ์.”
กับทหารยาม. แต่ไม่มีโซ่เส้นใดที่จะทำให้อัครสาวกที่มีใจแรงกล้าผู้นี้เงียบเสียงได้! เปาโลยังคงหาวิธีที่จะประกาศต่อ ๆ ไป. (อ่าน19, 20. (ก) เหตุใดเปาโลจึงประกาศอย่างมีประสิทธิภาพ? (ข) เปาโลมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนตอบรับข่าวดี?
19 เหตุใดเปาโลจึงประกาศอย่างมีประสิทธิภาพมาก? ขอให้สังเกตว่าข้อ 23 บอกเหตุผลบางอย่าง. (1) ท่านเน้นเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและพระเยซูคริสต์. (2) ท่านพยายามทำให้ผู้ฟังสนใจ “โดยการพูดจูงใจ.” (3) ท่านถกเรื่องในพระคัมภีร์กับพวกเขา. (4) ท่านมีน้ำใจเสียสละ ประกาศ “ตั้งแต่เช้าจดเย็น.” เปาโลประกาศอย่างมีพลัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบรับ. ข้อ 24 บอกว่า “บางคนเชื่อที่เปาโลพูด บางคนก็ไม่เชื่อ.” เมื่อเกิดความเห็นไม่ตรงกัน คนเหล่านั้นก็จากไป.
20 เปาโลท้อใจไหมเมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนตอบรับข่าวดี? ไม่เลย! กิจการ 28:30, 31 บอกเราว่า “เปาโลจึงอยู่ในบ้านที่ตนเช่าตลอดสองปี และยินดีต้อนรับทุกคนที่มาหา เปาโลประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าและสอนเรื่องพระเยซูคริสต์เจ้าแก่คนเหล่านั้นด้วยความมั่นใจยิ่งโดยไม่มีการขัดขวาง.” หนังสือกิจการที่มีขึ้นโดยการดลใจลงท้ายด้วยถ้อยคำดังกล่าวที่ให้กำลังใจอย่างแท้จริง.
21. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโลเมื่อท่านถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้าน?
21 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโล? เพราะถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้าน เปาโลจึงไม่มีอิสระที่จะไปประกาศตามบ้านได้. กระนั้น ท่านยังมีทัศนะในแง่บวก และประกาศแก่ทุกคนที่มาหาท่าน. คล้ายกัน ประชาชนของพระเจ้าหลายคนในทุกวันนี้ยังมีความยินดีและประกาศต่อ ๆ ไปแม้ถูกจำคุกอย่างไม่ยุติธรรมเนื่องด้วยความเชื่อของพวกเขา. พี่น้องที่รักของเราบางคนต้องอยู่แต่ในบ้าน บางคนอาจถึงกับต้องอยู่ในสถานพยาบาลเนื่องจากอายุมากหรือเจ็บป่วย. พวกเขาประกาศแก่หมอและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ผู้มาเยี่ยม และคนอื่น ๆ ที่มาหาพวกเขา เท่าที่ทำได้. พวกเขาปรารถนาอย่างจริงใจที่จะประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน. เราเห็นค่าตัวอย่างของพวกเขาจริง ๆ!
22. (ก) มีการจัดเตรียมอะไรที่ช่วยเราให้ได้รับประโยชน์จากหนังสือกิจการ? (ดูกรอบข้างบน) (ข) คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไรขณะคอยท่าอวสานของระบบเก่านี้?
22 เห็นได้ชัดว่า มีหลายสิ่งเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่เราจะเรียนได้จากอัครสาวกและคริสเตียนคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือกิจการ. ขณะที่เราคอยท่าอวสานของระบบเก่านี้ ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเลียนแบบคริสเตียนในศตวรรษแรกในเรื่องการประกาศอย่างกล้าหาญด้วยใจแรงกล้า. ในเวลานี้ ไม่มีสิทธิพิเศษใดยิ่งใหญ่กว่าสิทธิพิเศษที่เรามีในการ “ประกาศอย่างถี่ถ้วน” เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า!—กิจ. 28:23
[คำถาม]
[กรอบหน้า 13]
“หนังสือกิจการจะไม่มีวันเป็นเหมือนเดิมอีกแล้วสำหรับผม”
หลังจากอ่านหนังสือประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งพรรณนาความรู้สึกของเขาดังต่อไปนี้: “หนังสือกิจการจะไม่มีวันเป็นเหมือนเดิมอีกแล้วสำหรับผม. ผมได้ ‘เดิน’ ตามบันทึกในหนังสือกิจการหลายครั้งแล้ว แต่มันเหมือนกับว่าผมอ่านใต้แสงเทียนและใส่แว่นตาที่สกปรก. เดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกราวกับว่าได้รับการอวยพรให้มองเห็นความงามของหนังสือนี้โดยอาศัยแสงอันเจิดจ้าของดวงอาทิตย์.”
[ภาพหน้า 12]
ทูตสวรรค์พาเปโตรผ่านประตูเหล็กบานใหญ่