จงแสวงหา “ความชอบธรรมของพระองค์”ก่อนเสมอไป
จงแสวงหา “ความชอบธรรมของพระองค์”ก่อนเสมอไป
“ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า.”—มัด. 6:33
1, 2. ความชอบธรรมของพระเจ้าคืออะไร และอาศัยอะไรเป็นหลัก?
“ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป.” (มัด. 6:33) พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้รู้จักคำกระตุ้นเตือนที่พระเยซูคริสต์ทรงให้ไว้ในคำเทศน์บนภูเขานี้เป็นอย่างดี. ในทุกแง่มุมของชีวิต เราพยายามแสดงให้เห็นว่าเรารักราชอาณาจักรนี้และต้องการภักดีต่อรัฐบาลนี้. แต่เราต้องจำส่วนที่สองของคำกระตุ้นเตือนนี้ไว้เสมอด้วยที่ว่า “และ [จงแสวงหา] ความชอบธรรมของพระองค์ก่อน.” ความชอบธรรมของพระเจ้าคืออะไร และการแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนหมายความว่าอย่างไร?
2 คำภาษาเดิมสำหรับ “ความชอบธรรม” อาจแปลได้ด้วยว่า “ความยุติธรรม” หรือ “ความเที่ยงตรง.” ดังนั้น ความชอบธรรมของพระเจ้าคือความเที่ยงตรงตามมาตรฐานและค่านิยมของพระองค์เอง. ในฐานะพระผู้สร้าง พระยะโฮวาทรงมีสิทธิที่จะวางมาตรฐานว่าอะไรดีอะไรไม่ดีและอะไรถูกอะไรผิด. (วิ. 4:11) แต่ความชอบธรรมของพระเจ้าไม่ใช่ประมวลกฎหมายที่เย็นชาและไม่ยืดหยุ่น อีกทั้งไม่ใช่กฎและข้อบังคับที่ยาวเหยียดไม่รู้จบ. แทนที่จะ เป็นอย่างนั้น ความชอบธรรมของพระยะโฮวาอาศัยบุคลิกภาพของพระองค์และความยุติธรรม รวมทั้งคุณลักษณะหลักอื่น ๆ ของพระองค์ด้วย อันได้แก่ ความรัก, สติปัญญา และอำนาจ. ดังนั้น ความชอบธรรมของพระเจ้าจึงเชื่อมโยงกับพระประสงค์และจุดมุ่งหมายของพระองค์. ความชอบธรรมของพระเจ้ายังรวมถึงสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหมายจากคนที่ปรารถนาจะรับใช้พระองค์ด้วย.
3. (ก) การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนหมายความเช่นไร? (ข) เหตุใดเราจึงสนับสนุนมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวา?
3 การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนหมายความเช่นไร? พูดง่าย ๆ การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนก็คือการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อทำให้พระองค์พอพระทัย. การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้ายังรวมถึงการพยายามดำเนินชีวิตตามค่านิยมและมาตรฐานที่สมบูรณ์ของพระองค์ ไม่ใช่ของเราเอง. (อ่านโรม 12:2) การดำเนินชีวิตเช่นนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา. เราไม่ได้เชื่อฟังกฎหมายของพระองค์เพราะกลัวถูกลงโทษ. แต่ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าต่างหากที่กระตุ้นเราให้พยายามทำให้พระองค์พอพระทัยและสนับสนุนมาตรฐานของพระองค์ไม่ใช่ตั้งมาตรฐานของตัวเองขึ้น. เราตระหนักว่านี่คือสิ่งถูกต้องที่ควรทำ และเราถูกสร้างมาให้ทำอย่างนี้. เราต้องรักความชอบธรรมเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.—ฮีบรู 1:8, 9
4. เหตุใดการแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าจึงสำคัญมาก?
4 การแสวงหาความชอบธรรมของพระยะโฮวาสำคัญขนาดไหน? ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปนี้: ประเด็นพื้นฐานของการทดสอบแรกที่เกิดขึ้นในสวนเอเดนก็คืออาดามและฮาวาจะยอมรับสิทธิของพระยะโฮวาในการตั้งมาตรฐานหรือไม่. (เย. 2:17; 3:5) เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับสิทธิของพระเจ้าในการตั้งมาตรฐาน พวกเราที่เป็นลูกหลานจึงต้องประสบความทุกข์ยากและต้องตาย. (โรม 5:12) ในทางตรงกันข้าม พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “คนที่ประพฤติตามความชอบธรรมและความเมตตาจะประสบชีวิต, ความชอบธรรมและเกียรติศักดิ์.” (สุภา. 21:21) ดังนั้น การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนยังผลให้มีสายสัมพันธ์ที่ประสานกลมเกลียวกันกับพระยะโฮวาซึ่งจะนำเราไปสู่ความรอด.—โรม 3:23, 24
อันตรายของการถือว่าตัวเองชอบธรรม
5. เราควรหลีกเลี่ยงอันตรายอะไร?
5 เมื่อเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลเน้นถึงอันตรายอย่างหนึ่งที่เราทุกคนต้องหลีกเลี่ยงหากเราต้องการจะแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อน. เปาโลพูดถึงเพื่อนร่วมชาติชาวยิวว่า “ข้าพเจ้ายืนยันกับพวกเขาว่า พวกเขามีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า แต่ไม่ได้เป็นไปตามความรู้ถ่องแท้ เนื่องจากพวกเขาไม่รู้จักความชอบธรรมของพระเจ้าแต่พยายามตั้งความชอบธรรมของตนเองขึ้น พวกเขาไม่ยอมรับความชอบธรรมของพระเจ้า.” (โรม 10:2, 3) ตามที่เปาโลกล่าว ผู้นมัสการเหล่านั้นไม่เข้าใจความชอบธรรมของพระเจ้าเพราะพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการตั้งความชอบธรรมของตัวเองขึ้น. *
6. เราควรหลีกเลี่ยงทัศนคติเช่นไร และเพราะเหตุใด?
6 วิธีหนึ่งที่เราอาจตกหลุมพรางนี้ก็คือการมองว่าการรับใช้พระเจ้าของเราเป็นการแข่งขัน โดยเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น. ทัศนคติแบบนี้อาจชักนำเราให้มั่นใจความสามารถของตนเองมากเกินไป. แต่แท้จริงแล้ว หากเราทำอย่างนั้น เรากำลังหลงลืมความชอบธรรมของพระยะโฮวา. (กลา. 6:3, 4) แรงกระตุ้นที่ถูกต้องสำหรับการทำสิ่งที่ถูกคือความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวา. ความพยายามใด ๆ ที่จะพิสูจน์ว่าตัวเราเองชอบธรรมอาจหักล้างคำกล่าวอ้างที่ว่าเรารักพระองค์.—อ่านลูกา 16:15
7. พระเยซูตรัสเช่นไรในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการถือว่าตัวเองชอบธรรม?
7 พระเยซูทรงเป็นห่วงคนที่ “มั่นใจว่าตนเองชอบธรรมลูกา 18:9-14
และดูถูกคนอื่น.” พระองค์ตรัสถึงปัญหาเกี่ยวกับการถือว่าตัวเองชอบธรรมโดยเล่าอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้: “มีสองคนขึ้นไปอธิษฐานในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นฟาริซายและอีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี. คนที่เป็นฟาริซายยืนอธิษฐานในใจว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่เป็นคนกรรโชกทรัพย์ คนอธรรม คนเล่นชู้ หรือไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้. ข้าพเจ้าอดอาหารสัปดาห์ละสองครั้ง ข้าพเจ้าถวายหนึ่งในสิบของทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้มา.’ แต่คนเก็บภาษียืนอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าเงยหน้ามองฟ้าด้วยซ้ำ เอาแต่ตีอกชกหัวและพูดว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงโปรดกรุณาข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนบาปเถิด.’ ” พระเยซูตรัสลงท้ายว่า “เราบอกพวกเจ้าว่า เมื่อคนนี้กลับบ้าน เขาเป็นคนชอบธรรมยิ่งกว่าอีกคนหนึ่ง เพราะทุกคนที่ยกตัวเองจะถูกเหยียดลง แต่คนที่ถ่อมตัวลงจะถูกยกฐานะให้สูงขึ้น.”—อันตรายของการ “เป็นคนชอบธรรมเกินไป”
8, 9. การเป็น “คนชอบธรรมเกินไป” หมายความว่าอย่างไร และนั่นอาจนำเราไปสู่อะไร?
8 ท่านผู้ประกาศ 7:16 (ฉบับ R73) กล่าวถึงอันตรายอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงว่า “อย่าเป็นคนชอบธรรมเกินไป และอย่าฉลาดเกินตัว เหตุใดเจ้าจะทำตัวให้พินาศเสียเล่า?” แล้วผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้รับการดลใจผู้นี้ก็กล่าวต่อไปเพื่อให้เหตุผลที่เราควรหลีกเลี่ยงทัศนคติเช่นนั้น ดังจะเห็นได้ในข้อ 20 ว่า “แน่ทีเดียว ไม่มีคนชอบธรรมสักคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่ได้ประพฤติล้วนแต่ความดีและไม่กระทำบาปเลย.” คนที่กลายเป็น “คนชอบธรรมเกินไป” วางมาตรฐานของตัวเองในเรื่องความชอบธรรมและตัดสินคนอื่นโดยอาศัยมาตรฐานนั้น. กระนั้น เขาไม่ตระหนักว่าการทำอย่างนั้นเป็นการยกมาตรฐานของตัวเองเหนือมาตรฐานของพระเจ้า และด้วยเหตุนั้นจึงทำให้ตัวเขาเองไม่ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า.
9 การเป็น “คนชอบธรรมเกินไป” อาจถึงกับทำให้เราตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการเรื่องต่าง ๆ. แต่เราต้องจำไว้ว่า ถ้าเราสงสัยการตัดสินของพระยะโฮวาว่ายุติธรรมหรือถูกต้องหรือไม่ นั่นเท่ากับว่าเราเริ่มตั้งมาตรฐานความชอบธรรมของเราเหนือมาตรฐานของพระยะโฮวา. การทำอย่างนั้นก็เป็นเหมือนกับว่าเราถือว่าพระยะโฮวาเป็นจำเลย และตัดสินพระองค์โดยใช้มาตรฐานของเราเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. แต่ที่จริงแล้วพระยะโฮวาเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตั้งมาตรฐานความชอบธรรม ไม่ใช่เรา!—โรม 14:10
10. อะไรอาจทำให้เราตัดสินพระเจ้าอย่างที่โยบทำ?
10 แม้ว่าไม่มีใครในพวกเราที่ต้องการตัดสินพระเจ้าโดยเจตนา แต่ลักษณะที่ไม่สมบูรณ์อาจนำเราไปสู่แนวทางนี้ได้. เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเราเห็นว่ามีบางสิ่งที่ไม่ยุติธรรมหรือหากเราประสบความยากลำบาก. แม้แต่โยบผู้ซื่อสัตย์ก็พลาดพลั้งในเรื่องนี้. พระคัมภีร์พรรณนาถึงโยบในตอนเริ่มแรกว่า “เป็นคนดีรอบคอบและชอบธรรม, เป็นผู้ยำเกรงพระเจ้าและหลบหลีกจากความชั่ว.” (โยบ 1:1) แต่แล้วโยบประสบภัยพิบัติอย่างแล้วอย่างเล่าที่ทำให้ท่านรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม. นั่นทำให้โยบประกาศว่า ท่าน “เป็นฝ่ายถูกยิ่งกว่าพระเจ้า.” (โยบ 32:1, 2) โยบต้องปรับทัศนะของท่านให้ถูกต้อง. ดังนั้น เราไม่ควรแปลกใจถ้าในบางครั้งเราพบว่าเราเองอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กันนั้น. ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น อะไรจะช่วยเราให้ปรับความคิดของเราให้ถูกต้อง?
เราไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดเสมอไป
11, 12. (ก) ถ้าเรารู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม เราต้องจำอะไรไว้? (ข) เหตุใดบางคนอาจรู้สึกว่าอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องคนงานสวนองุ่นมีอะไรบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม?
11 สิ่งแรกที่ควรจำไว้คือเราไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดเสมอไป. เป็นเช่นนั้นในกรณีของโยบ. ท่านไม่รู้เรื่องการประชุมในสวรรค์ของเหล่าทูตสวรรค์ของพระเจ้าซึ่งซาตานได้กล่าวหาท่านอย่างผิด ๆ. (โยบ 1:7-12; 2:1-6) โยบไม่รู้ว่าปัญหาของท่านที่แท้แล้วเกิดมาจากซาตาน. ที่จริง เราไม่อาจแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่าโยบรู้หรือไม่ว่ามีซาตาน! ดังนั้น ท่านทึกทักอย่างผิด ๆ ว่าปัญหาของท่านเกิดมาจากพระเจ้า. เป็นเรื่องง่ายที่อาจลงความเห็นอย่างผิด ๆ เมื่อเราไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่าง.
12 ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องคนงานสวนองุ่น. (อ่านมัดธาย 20:8-16) ในที่นี้ พระเยซูทรงพรรณนาถึงเจ้าของสวนคนหนึ่งซึ่งจ่ายเงินให้คนงานทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานเต็มวันหรือเพียงแค่ชั่วโมงเดียว. คุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้? ดูเหมือนว่านั่นไม่ยุติธรรมไหม? คุณอาจรู้สึกเห็นใจคนงานที่ทำงานกรำแดดทั้งวัน. แน่ละ พวกเขาสมควรจะได้รับค่าจ้างมากกว่า! โดยลงความเห็นอย่างนี้เราอาจมองว่าเจ้าของสวนคนนี้ไม่มีความรักและไม่ยุติธรรม. แม้แต่คำตอบที่เจ้าของสวนให้แก่คนงานที่บ่นต่อว่าก็อาจดูเหมือนเขาใช้อำนาจตามอำเภอใจ. แต่เรารู้ข้อเท็จจริงทุกอย่างไหม?
13. มีมุมมองอีกอย่างหนึ่งอะไรที่เราจะวิเคราะห์ได้เกี่ยวกับอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องคนงานสวนองุ่น?
13 ให้เรามาวิเคราะห์อุทาหรณ์นี้จากอีกมุมมองหนึ่ง. ไม่ต้องสงสัยว่า เจ้าของสวนในอุทาหรณ์รู้ว่าคนงานทุกคนต้องเลี้ยงดูครอบครัว. ในสมัยของพระเยซู คนงานในสวนได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน. ครอบครัวของพวกเขาต้องพึ่งค่าจ้างที่ได้รับในแต่ละวัน. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้แล้ว ขอให้คิดเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนงานที่เจ้าของสวนพบในตอนบ่ายแก่ ๆ และจึงทำงานได้แค่ชั่วโมงเดียว. พวกเขาอาจไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยค่าจ้างสำหรับการทำงานชั่วโมงเดียว แต่พวกเขาก็เต็มใจจะทำงานและคอยทั้งวันจนกว่ามีคนมาว่าจ้าง. (มัด. 20:1-7) ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาที่ไม่ได้ทำงานเต็มวัน. ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่าพวกเขาจงใจหลบเลี่ยงงาน. ขอให้นึกภาพว่าถ้าคุณต้องคอยทั้งวันโดยรู้ว่ามีคนอื่นต้องพึ่งเงินที่คุณจะหาได้ในวันนั้น. คุณจะรู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่อย่างน้อยก็ได้ทำงานบ้าง และคุณคงแปลกใจสักเพียงไรที่ได้รับค่าจ้างเพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว!
14. เราได้บทเรียนอันมีค่าอะไรจากอุทาหรณ์เรื่องสวนองุ่น?
14 ตอนนี้ขอให้เรามาประเมินการกระทำของเจ้าของสวนกันใหม่. เขาไม่ได้จ่ายให้ใครน้อยเกินไป. แต่เขาถือว่าคนงานทุกคนต่างมีสิทธิ์จะเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัว. เนื่องจากมีคนงานมากมายที่อยากได้งาน เจ้าของสวนอาจฉวยประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อจะกดค่าจ้างคนงาน. แต่เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น. คนงานทุกคนกลับบ้านโดยมีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว. เมื่อพิจารณารายละเอียดเหล่านี้แล้วเราอาจเปลี่ยนทัศนะของเราที่มีต่อการกระทำของเจ้าของสวน. การตัดสินใจของเขาเป็นการกระทำที่เปี่ยมด้วยความรัก ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ. เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? การพิจารณาข้อเท็จ
จริงเพียงแค่บางส่วน อาจทำให้เราลงความเห็นอย่างผิด ๆ. ที่จริง อุทาหรณ์นี้เน้นให้เห็นว่าความชอบธรรมของพระเจ้าสูงส่งกว่า เพราะไม่ได้อาศัยตัวบทกฎหมายและคุณความดีของมนุษย์เท่านั้น.มุมมองของเราอาจผิดเพี้ยนหรือแคบเกินไป
15. เหตุใดมุมมองของเราเกี่ยวกับความยุติธรรมอาจผิดเพี้ยนหรือแคบเกินไป?
15 อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจำไว้เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าไม่ยุติธรรมคือมุมมองของเราอาจผิดเพี้ยนหรือแคบเกินไป. มุมมองของเราอาจผิดเพี้ยนไปได้เพราะความไม่สมบูรณ์, อคติ, หรือภูมิหลังด้านวัฒนธรรม. นอกจากนั้น มุมมองของเราอาจแคบเกินไปด้วยเพราะเราไม่สามารถรู้แรงกระตุ้นหรือรู้ว่าจริง ๆ แล้วมีอะไรอยู่ในใจของผู้คน. ตรงกันข้าม ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูไม่มีข้อจำกัดอย่างนั้น.—สุภา. 24:12; มัด. 9:4; ลูกา 5:22
16, 17. เมื่อดาวิดทำบาปกับนางบัธเซบะ เหตุใดพระยะโฮวาไม่บังคับใช้กฎหมายของพระองค์ว่าด้วยการเล่นชู้?
16 ให้เรามาวิเคราะห์เรื่องราวของดาวิดที่เล่นชู้กับนางบัธเซบะ. (2 ซามู. 11:2-5) ตามพระบัญญัติของโมเซ ทั้งสองควรถูกประหารชีวิต. (เลวี. 20:10; บัญ. 22:22) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงลงโทษทั้งสอง แต่พระองค์ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายของพระองค์เอง. พระยะโฮวาไม่ยุติธรรมไหม? พระองค์เข้าข้างดาวิดและฝ่าฝืนมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์เองไหม? ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลบางคนคิดอย่างนั้น.
17 อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาประทานกฎหมายว่าด้วยการเล่นชู้นี้แก่ผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งไม่สามารถอ่านหัวใจได้. แม้มีข้อจำกัด กฎหมายนี้ทำให้พวกเขาสามารถตัดสินได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย. ในทางตรงกันข้าม พระยะโฮวาทรงอ่านหัวใจมนุษย์ได้. (เย. 18:25; 1 โคร. 29:17) ดังนั้น เราไม่ควรคาดหมายว่าพระยะโฮวาจะต้องถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่พระองค์ทรงตราไว้สำหรับผู้พิพากษาที่ไม่สมบูรณ์. หากเป็นเช่นนั้น นั่นย่อมเหมือนกับการบังคับใครคนหนึ่งที่มีสายตาดีเยี่ยมให้สวมแว่นสายตาสำหรับคนที่การมองเห็นบกพร่องมิใช่หรือ? พระยะโฮวาทรงสามารถอ่านหัวใจของดาวิดและนางบัธเซบะและเห็นว่าเขาทั้งสองกลับใจจริง ๆ. เมื่อพิจารณาปัจจัยดังกล่าว พระองค์จึงพิพากษาพวกเขาตามนั้นในแบบที่เมตตาและเปี่ยมด้วยความรัก.
จงแสวงหาความชอบธรรมของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
18, 19. อะไรจะช่วยเราไม่ให้ตัดสินพระยะโฮวาโดยอาศัยมาตรฐานความชอบธรรมของเราเอง?
18 ดังนั้น ถ้าบางครั้งเราเห็นอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่ยุติธรรม ไม่ว่าเราอ่านเรื่องนั้นในคัมภีร์ไบเบิลหรือประสบด้วยตัวเอง ขอเราอย่าตัดสินพระเจ้าโดยอาศัยมาตรฐานความชอบธรรมของเราเอง. จำไว้ว่า เราไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดเสมอไปและมุมมองของเราอาจผิดเพี้ยนหรือแคบเกินไป. อย่าลืมว่า “ความโกรธของมนุษย์ไม่ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมตามที่พระเจ้าประสงค์.” (ยโก. 1:19, 20) โดยวิธีนี้ ใจเราจะไม่ “ขุ่นเคืองต่อพระยะโฮวา.”—สุภา. 19:3, ล.ม.
19 เช่นเดียวกับพระเยซู ขอให้เรายอมรับเสมอว่าพระยะโฮวาเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตั้งมาตรฐานว่าอะไรชอบธรรมและอะไรดี. (มโก. 10:17, 18) จงพากเพียรในการรับ “ความรู้ถ่องแท้” ในเรื่องมาตรฐานของพระองค์. (โรม 10:2; 2 ติโม. 3:7) การยอมรับอย่างนั้นและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าเรากำลังแสวงหา “ความชอบธรรมของพระองค์” ก่อน.—มัด. 6:33
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ตามที่ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวไว้ คำภาษาเดิมที่แปลไว้ว่า “ตั้ง” ยังอาจมีความหมายด้วยว่า ‘สร้างอนุสาวรีย์.’ ดังนั้น พวกยิวเหล่านี้จึงทำประหนึ่งสร้างอนุสาวรีย์โดยนัยเพื่อสรรเสริญตัวเองไม่ใช่เพื่อสรรเสริญพระเจ้า.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดการแสวงหาความชอบธรรมของพระยะโฮวาจึงสำคัญ?
• อันตรายสองอย่างอะไรที่เราต้องหลีกเลี่ยง?
• เราจะแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
เราเรียนรู้อะไรจากอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องชายสองคนที่อธิษฐาน ณ พระวิหาร?
[ภาพหน้า 10]
เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมไหมที่เจ้าของสวนจ่ายค่าจ้างให้คนที่ทำงานตอนห้าโมงเย็นเท่ากับคนที่ทำงานเต็มวัน?