“มุ่งทำสิ่งที่สร้าง สันติสุข”
“มุ่งทำสิ่งที่สร้าง สันติสุข”
ถนนที่เพิ่งลาดยางเสร็จปรากฏให้เห็นพื้นแน่นแข็ง ดูเหมือนไม่มีอะไรมาทำให้ถนนชำรุดเสียหายได้. อย่างไรก็ตาม นาน ๆ เข้า ถนนอาจเกิดรอยแตกและเป็นหลุมเป็นบ่อบนพื้นผิว. จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเพื่อจะแน่ใจได้ในด้านความปลอดภัยและเพื่อรักษาสภาพถนน.
ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นบางครั้งก็อาจตึงเครียดและอาจร้าวฉานด้วยซ้ำ. อัครสาวกเปาโลยอมรับว่าท่ามกลางคริสเตียนในกรุงโรมมีแง่คิดที่แตกต่างกัน. ท่านได้แนะนำเพื่อนคริสเตียนเหล่านั้นว่า “ให้เรามุ่งทำสิ่งที่สร้างสันติสุขและสิ่งที่ส่งเสริมกันให้เจริญ.” (โรม 14:13, 19) เหตุใดจึงมีความจำเป็นที่จะ “มุ่งทำสิ่งที่สร้างสันติสุข”? เราจะมุ่งสร้างสันติสุขอย่างกล้าหาญและบังเกิดผลได้อย่างไร?
เพราะเหตุใดเราควรมุ่งสร้างสันติสุข?
ถ้าไม่ได้ซ่อม รอยแยกเล็ก ๆ บนผิวถนนอาจขยายกว้างกลายเป็นหลุมที่เป็นอันตราย. การปล่อยความขัดแย้งส่วนตัวไว้โดยไม่แก้ไขก็อาจกลายเป็นอันตรายได้เหมือนกัน. อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “ถ้าผู้ใดบอกว่า ‘ฉันรักพระเจ้า’ แต่เกลียดชังพี่น้อง ผู้นั้นก็พูดมุสา. ด้วยว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องที่เขามองเห็นย่อมจะรักพระเจ้าที่เขามองไม่เห็นไม่ได้.” (1 โย. 4:20) ความขัดแย้งส่วนตัวซึ่งไม่ได้แก้ไขในที่สุดแล้วอาจเป็นเหตุให้คริสเตียนถึงกับเกลียดชังพี่น้องของตนได้.
พระเยซูคริสต์ทรงชี้ว่าการนมัสการที่เราถวายพระยะโฮวานั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับหากเราไม่ได้มุ่งสร้างสันติกับผู้อื่น. พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “ฉะนั้น ถ้าเจ้านำของถวายมายังแท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของเจ้ามีเรื่องขุ่นเคืองเจ้า จงวางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาและไปคืนดีกับพี่น้องก่อน แล้วค่อยกลับมาถวายของของเจ้า.” (มัด. 5:23, 24) ถูกแล้ว เหตุผลประการแรกที่เรามุ่งสร้างสันติสุขคือเราต้องการทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าพอพระทัย. *
สถานการณ์ในประชาคมฟิลิปปอยเน้นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรจะติดตามสันติสุข. ปัญหาหนึ่งซึ่งไม่ได้ระบุชัดระหว่างพี่น้องคริสเตียนสองคนคือนางยุโอเดียและนางซินติเค ดูเหมือนว่าจะเป็นภัยคุกคามสันติสุขของประชาคมโดยรวม. (ฟิลิป. 4:2, 3) ความขัดแย้งส่วนตัวหากไม่ ขจัดให้หมดไปอาจกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวอย่างรวดเร็ว. ความปรารถนาที่จะรักษาความรักและเอกภาพของประชาคมกระตุ้นเราให้มุ่งสร้างสันติกับเพื่อนร่วมความเชื่อ.
พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่สร้างสันติก็มีความสุข.” (มัด. 5:9) การมุ่งสร้างสันตินำมาซึ่งความพอใจยินดี. ยิ่งกว่านั้น สันติสุขส่งเสริมสุขภาพที่ดี เพราะ “ใจที่สงบเป็นความจำเริญชีวิตฝ่ายกาย.” (สุภา. 14:30) ในทางตรงกันข้าม ความขุ่นข้องหมองใจอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เราล้มป่วยได้.
แม้คริสเตียนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าการพยายามมุ่งสร้างสันติสุขเป็นเรื่องจำเป็น คุณอาจสงสัยว่าจะยุติความขัดแย้งส่วนตัวโดยวิธีใด. ขอให้เราทบทวนหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่อาจชี้นำเรา.
การหารือกันด้วยใจเย็น ๆ ทำให้สันติสุขกลับคืนมา
ถนนลาดยางที่เกิดรอยแยกเล็ก ๆ บ่อยครั้งซ่อมได้โดยการใช้วัสดุปิดตรงรอยแยกนั้น. เป็นไปได้ไหมที่เราจะให้อภัยและมองข้ามข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พี่น้องทำต่อเรา? วิธีการเช่นนี้น่าจะได้ผลเป็นส่วนใหญ่ในกรณีที่มีความขัดแย้งส่วนตัว เพราะอัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “ความรักปิดคลุมบาปไว้มากมาย.”—1 เป. 4:8.
อย่างไรก็ตาม บางครั้งดูเหมือนว่าปัญหานั้นร้ายแรงจนเราไม่อาจมองข้ามได้. จงพิจารณาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับชาติอิสราเอลไม่นานหลังจากเข้าไปครอบครองแผ่นดินตามคำสัญญา. ก่อน “ตระกูลรูเบนและฆาดและครึ่งตระกูลมะนาเซ” ได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปพวกเขาได้ตั้ง “แท่นใหญ่งามน่าดู.” ชาวอิสราเอลตระกูลอื่นเชื่อว่าแท่นนั้นถูกใช้เพื่อการนมัสการรูปเคารพ และจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหานั้น. พวกเขาจึงเตรียมกำลังพลพร้อมออกไปสู้รบ.—ยโฮ. 22:9-12.
อาจมีชาวอิสราเอลจำนวนหนึ่งคิดว่าหลักฐานการกระทำผิดนั้นมีมากพอ และการลอบจู่โจมอาจไม่ทำให้คนเสียชีวิตมาก. อย่างไรก็ดี แทนที่จะด่วนลงมือปฏิบัติการ ตระกูลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนได้ส่งตัวแทนไปเพื่อพิจารณาปัญหานี้กับพี่น้องของตน. พวกเขาถามว่า “พวกเจ้าได้กระทำผิดอย่างไรต่อพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, วันนี้จึงได้หันกลับจากติดตามพระยะโฮวา?” ที่แท้แล้ว ตระกูลต่าง ๆ ที่ได้สร้างแท่นไม่ได้ทำเพราะขาดความซื่อสัตย์. แต่พวกเขาตอบโต้คำกล่าวโทษนั้นอย่างไร? พวกเขาจะต่อว่าคนที่กล่าวโทษหรือไม่ยอมเจรจาด้วยเช่นนั้นไหม? ตระกูลที่ถูกกล่าวโทษตอบอย่างสุภาพอ่อนโยนและชัดเจนว่าจริง ๆ แล้วที่พวกตนกระทำไปนั้นก็เพราะประสงค์จะปฏิบัติพระยะโฮวา. คำตอบอ่อนโยนของพวกเขาได้รักษาสายสัมพันธ์กับพระเจ้าและเป็นการพิทักษ์ชีวิต. การหารือกันอย่างใจเย็นได้แก้ไขปัญหานั้นให้หมดไป และความสงบสุขก็กลับคืนมาดังเดิม.—ยโฮ. 22:13-34.
ก่อนดำเนินการขั้นตอนที่สำคัญ ชาวอิสราเอลตระกูลอื่น ๆ ได้พิจารณาหารือปัญหาของตนอย่างรอบคอบกับตระกูลรูเบน, ตระกูลฆาด, และครึ่งตระกูลมะนาเซ. พระคำของพระเจ้ากล่าวดังนี้: “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว, เพราะผู้ป. 7:9) วิธีจัดการแก้ไขความขัดแย้งส่วนตัวตามแนวทางของพระคัมภีร์คือต้องใจเย็น และพูดอย่างตรงไปตรงมา. เราคาดหวังจริง ๆ ไหมว่าจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวาถ้าเรายังเก็บความขุ่นเคืองไว้และไม่ไปปรับความเข้าใจกับฝ่ายที่ทำให้เราเจ็บใจ?
ความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” (ในทางกลับกัน เราจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรถ้าเพื่อนคริสเตียนมาหาเราก่อนเนื่องจากเขาคิดว่าเราเป็นฝ่ายทำให้เขาเจ็บใจ บางทีอาจเป็นการกล่าวหาอย่างผิด ๆ ด้วยซ้ำ? มีคำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลดังนี้: “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป.” (สุภา. 15:1) สองตระกูลครึ่งของอิสราเอลที่ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองได้ชี้แจงสถานะของตนอย่างสุภาพอ่อนโยนแต่ชัดเจน และการทำเช่นนี้สามารถระงับอารมณ์ร้อนขณะเผชิญหน้าพวกพี่น้องของเขา. ไม่ว่าเราเป็นฝ่ายริเริ่มไปหาพี่น้องก่อน หรือเขาตั้งใจมาพูดกับเราเกี่ยวกับปัญหา เราก็น่าจะถามตัวเองว่า ‘คำพูด, น้ำเสียง, และท่าทีแบบไหนที่น่าจะส่งเสริมสันติสุขได้ดีที่สุด?’
ระวังคำพูด
พระยะโฮวาทรงทราบว่าเราคงต้องการพูดเรื่องที่เราเป็นกังวล. ถ้าเราไม่แก้ไขความขัดแย้งส่วนตัว เราคงรู้สึกอยากจะบอกคนอื่นให้รับรู้. ความรู้สึกขัดเคืองที่สั่งสมอยู่ในใจอาจนำไปสู่การใช้วาจาวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยง่าย. ว่ากันถึงเรื่องการใช้ลิ้นอย่างไม่สมควร สุภาษิต 11:11 กล่าวดังนี้: “ปากของคนชั่วเป็นที่บ้านเมืองทรุดลง.” คล้ายกัน การพูดเรื่องของเพื่อนคริสเตียนอย่างไม่ระมัดระวังย่อมจะทำให้ประชาคมอันเปรียบได้กับบ้านเมืองไม่สงบสุขเช่นเดียวกัน.
อย่างไรก็ตาม การแสวงสันติสุขไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลี่ยงการพูดเรื่องพี่น้องชายหญิงของเราเสียทุกอย่าง. อัครสาวกเปาโลแนะนำเพื่อนร่วมความเชื่อดังนี้: “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย.” แต่ได้กล่าวเสริมว่า “ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง. . . . จงกรุณาต่อกัน แสดงความเห็นใจกัน ให้อภัยกัน.” (เอเฟ. 4:29-32) ถ้าพี่น้องคนหนึ่งเข้ามาหาคุณ เนื่องจากรู้สึกขุ่นเคืองเพราะคำพูดหรือการกระทำของคุณ คงจะง่ายกว่าที่คุณจะขอโทษและคืนดี หากเขาไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์คุณให้คนอื่นฟัง? ด้วยเหตุนี้ ถ้าปกติแล้วเราชอบพูดถึงแต่เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับเพื่อนคริสเตียน มันก็จะง่ายขึ้นที่จะทำให้สันติสุขกลับคืนมาเมื่อเกิดความขัดแย้ง.—ลูกา 6:31.
รับใช้พระเจ้า “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน”
เราที่เป็นคนผิดบาปมีแนวโน้มที่จะปลีกตัวอยู่ห่างจากคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง. แต่การกระทำดังกล่าวไม่ฉลาด. (สุภา. 18:1) ในฐานะประชาชนที่มีเอกภาพซึ่งได้ออกพระนามของพระยะโฮวา พวกเราตั้งใจแน่วแน่ “จะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.”—ซฟัน. 3:9, ล.ม.
คำพูดไม่ดีหรือความประพฤติไม่เหมาะสมของผู้อื่นไม่น่าจะเป็นเหตุให้เราย่อหย่อนความกระตือรือร้นในการนมัสการอันบริสุทธิ์. เพียงไม่กี่วันก่อนเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูจะมาแทนที่การถวายเครื่องบูชาที่พระวิหาร และไม่นานหลังจากพระเยซูทรงตำหนิพวกอาลักษณ์อย่างรุนแรง พระองค์ทรงสังเกตเห็นหญิงม่ายที่ยากจนได้บริจาค “เงินทั้งหมดที่นางมีสำหรับเลี้ยงชีวิต” ใส่ลงในที่ใส่เงินถวายของพระวิหาร. พระเยซูพยายามห้ามนางไหม? ตรงกันข้าม พระองค์กลับชมเชยนางที่ได้สนับสนุนประชาคมของพระยะโฮวาสมัยนั้น. (ลูกา 21:1-4) การกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนอื่นไม่ได้ทำให้นางพ้นจากพันธะหน้าที่ที่จะสนับสนุนการนมัสการพระยะโฮวา.
แม้นเราอาจรู้สึกว่าพี่น้องคริสเตียนบางคนประพฤติปฏิบัติอย่างไม่สมควร ถึงกับไม่ยุติธรรม เราจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? เราจะปล่อยให้เรื่องนี้กระทบงานรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดชีวิตของเราหรือ? หรือว่าเราจะจัดการแก้ไขความขัดแย้งส่วนตัวอย่างกล้าหาญเพื่อรักษาสันติสุขอันล้ำค่าแห่งประชาคมของพระเจ้าในเวลานี้?
คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำว่า “ถ้าเป็นได้ จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.” (โรม 12:18) ขอให้เราตั้งใจทำอย่างนั้น และเราจะคงอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิตด้วยความปลอดภัย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 เกี่ยวกับคำแนะนำของพระเยซูตามบันทึกในมัดธาย 18:15-17 โปรดอ่านหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ตุลาคม 1999 หน้า 17-22.
[ภาพหน้า 17]
นางยุโอเดียและนางซินติเคจำต้องมุ่งสร้างสันติสุข
[ภาพหน้า 18]
คำพูด, น้ำเสียง, และท่าทีแบบไหนที่น่าจะส่งเสริมสันติสุขได้ดีที่สุด?