“พระยะโฮวาเป็นกำลังของข้าพเจ้า”
“พระยะโฮวาเป็นกำลังของข้าพเจ้า”
เล่าโดย โจน โควิลล์
ฉันเกิดเดือนกรกฎาคม ปี 1925 ที่เมืองฮัดเดอร์สฟีลด์ ประเทศอังกฤษ. ฉันเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวและสุขภาพไม่สู้ดีนัก. ที่จริง พ่อเคยพูดว่า “ลูกโดนลมเมื่อไร ลูกก็ไม่สบายทุกที.” และดูเหมือนว่าเป็นอย่างนั้นจริง!
สมัยที่ฉันเป็นเด็ก นักเทศน์นักบวชอธิษฐานอย่างเร่าร้อนขอสันติภาพ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาพากันอธิษฐานขอชัยชนะ. เรื่องนี้ทำให้ฉันงงและคิดสงสัย. ตอนนั้น แอนนี แรตคลิฟฟ์มาเยี่ยมเรา เธอเป็นพยานพระยะโฮวาคนเดียวในละแวกบ้านของเรา.
ฉันเรียนรู้ความจริง
แอนนีให้หนังสือความรอดแก่เราและได้เชิญแม่ไปร่วมพิจารณาเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจัดขึ้นในบ้านของแอนนี. * แม่ชวนฉันไปด้วย. ฉันยังจำการพิจารณาครั้งแรกนั้นได้. นั่นคือเรื่องค่าไถ่ และฉันแปลกใจที่ไม่รู้สึกเบื่อเมื่อฟังการสนทนาโต้ตอบกัน. การพิจารณาครั้งนั้นมีคำตอบให้ฉันสำหรับข้อสงสัยหลายข้อ. สัปดาห์ต่อมาเราได้ไปร่วมอีก. คราวนี้มีการอธิบายคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับสัญญาณที่บอกว่าเราอยู่ในสมัยสุดท้าย. เมื่อเห็นสภาพการณ์ต่าง ๆ อันเลวร้ายน่าสลดใจในโลก ฉันกับแม่เข้าใจได้ทันทีว่าเรื่องที่เราเรียนนี้เป็นความจริง. วันนั้น เราได้รับเชิญไปยังหอประชุมราชอาณาจักร.
ณ หอประชุม ฉันพบไพโอเนียร์สาว ๆ บางคน และในจำนวนนั้นมีจอยซ์ บาร์เบอร์ (ปัจจุบันคือเอลลิส) เธอยังคงร่วมรับใช้กับปีเตอร์ ผู้เป็นสามีที่สำนักเบเธล กรุงลอนดอน. ฉันคิดว่าทุกคนต้องทำงานไพโอเนียร์. ดังนั้น ฉันเริ่มงานประกาศ 60 ชั่วโมงทุกเดือนทันที ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นฉันยังไปโรงเรียนอยู่.
อีกห้าเดือนต่อมา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1940 ฉันและแม่ได้รับบัพติสมา ณ การประชุมหมวดในเมืองแบรดฟอร์ด. พ่อไม่ขัดขวางศาสนาใหม่ของเรา แต่พ่อก็ไม่ได้เป็นพยานฯ. ตอนที่ฉันรับบัพติสมาก็เริ่มจะมีการให้คำพยานตามถนน. ฉันร่วมงานนี้เช่นกัน ด้วยการสะพายกระเป๋าวารสารและแขวนป้ายประกบทั้งด้านหน้าและหลัง. วันเสาร์วันหนึ่ง ฉันถูกมอบหมายให้ยืนในบริเวณที่ผู้คนเดินขวักไขว่ซื้อสินค้ากัน. ฉันยังคงกลัวหน้ามนุษย์ และก็เป็นดังที่หวั่นเกรง ดูเหมือนว่านักเรียนทุกคนในชั้นเดินเลี้ยวมาทางที่ฉันยืนอยู่!
ปี 1940 ประชาคมที่เราร่วมนั้นจำเป็นต้องแบ่งเป็นสองประชาคม. เมื่อแบ่งเรียบร้อยแล้ว เพื่อนวัยเดียวกันกับฉันเกือบทั้งหมดแยกไปอยู่อีกประชาคมหนึ่ง. ฉันบ่นเรื่องนี้ต่อผู้ดูผู้เป็นประธาน. เขาพูดว่า “ถ้าคุณต้องการมีเพื่อนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ออกไปประกาศสิ แล้วคุณจะพบพวกเขาในเขตงาน.” และแน่นอน ฉันทำอย่างนั้นจริง ๆ! ไม่ช้าไม่นาน
ฉันก็ได้พบเอลซี โนเบิล. เธอรับเอาความจริงและเรากลายเป็นเพื่อนกันตลอดชีวิต.งานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์และพระพรมากมาย
ภายหลังจบโรงเรียน ฉันทำงานให้กับนักบัญชีคนหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ฉันสังเกตเห็นผู้รับใช้เต็มเวลาหลายคนมีความชื่นชมยินดี และฉันยิ่งปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาโดยการเป็นไพโอเนียร์. เดือนพฤษภาคม 1945 ฉันมีความยินดีที่ได้เริ่มรับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษ. ตลอดวันแรกที่ทำงานไพโอเนียร์ ฝนตกหนักทั้งวัน. กระนั้น ด้วยความดีใจที่ได้ออกไปประกาศ ฉันไม่รู้สึกกังวลเรื่องฝน. จริง ๆ แล้ว การอยู่นอกบ้านทุกวันและขี่จักรยานไปประกาศเป็นการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ มีผลดีต่อสุขภาพของฉัน. ถึงแม้ฉันไม่เคยหนักเกิน 42 กิโลกรัม แต่ก็ไม่เจ็บป่วยถึงกับทำให้การเป็นไพโอเนียร์ของฉันมีอันต้องชะงักไป. ตลอดหลายปี ฉันประสบด้วยตัวเองในความหมายตามตัวอักษรที่ว่า ‘พระยะโฮวาเป็นกำลังของข้าพเจ้า.’—เพลง. 28:7.
โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมใหม่ ฉันในฐานะไพโอเนียร์พิเศษจึงถูกส่งไปยังเมืองที่ไม่มีพยานฯเลย. ทีแรกฉันประกาศในประเทศอังกฤษนานสามปี ต่อจากนั้นอีกสามปีประกาศในไอร์แลนด์. ระหว่างเป็นไพโอเนียร์ในลิสเบิร์น ไอร์แลนด์ ฉันนำการศึกษากับชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ศิษยาภิบาลในโบสถ์โปรเตสแตนต์. เมื่อเขาได้เรียนความจริงเกี่ยวกับคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล เขาก็นำความรู้ใหม่นี้ไปสอนในโบสถ์ของเขา. สานุศิษย์บางคนในกลุ่มได้ฟ้องผู้ดูแลคริสตจักร และแน่นอน ศิษยาภิบาลคนนี้จำต้องชี้แจงให้เหตุผล. เขาพูดว่าเขาสำนึกถึงหน้าที่ของคริสเตียนที่ต้องบอกสานุศิษย์ว่าเขาเคยสอนหลายอย่างที่ไม่ถูกต้อง. ถึงแม้ครอบครัวของเขาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่เขาได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์มั่นคงกระทั่งสิ้นชีวิต.
ในเมืองลาร์น เขตงานมอบหมายของฉันแห่งที่สองในไอร์แลนด์ ฉันประกาศที่นั่นคนเดียวนานหกสัปดาห์ เนื่องจากเพื่อนไพโอเนียร์ของฉันได้ไปร่วมการประชุมใหญ่การเพิ่มพูนแห่งระบอบของพระเจ้าที่นิวยอร์กในปี 1950. นั่นเป็นช่วงที่ฉันรู้สึกแย่มาก ๆ. ฉันต้องการอย่างยิ่งจะไปร่วมการประชุมครั้งนั้น. กระนั้น ในช่วงหลายสัปดาห์ระหว่างรับใช้ในเขตงาน ฉันได้ประสบหลายเหตุการณ์ซึ่งทำให้ฉันมีกำลังใจ. ฉันได้พบชายสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเคยรับหนังสือเล่มหนึ่งของเราไว้เมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้านั้น. ตลอดเวลาหลายปี เขาอ่านหนังสือเล่มนั้นหลายครั้งแทบท่องจำได้ทั้งหมด. เขาได้รับเอาความจริงพร้อมกับลูกชายและลูกสาว.
รับการอบรมที่โรงเรียนกิเลียด
ปี 1951 ฉันได้รับเชิญพร้อมกับไพโอเนียร์สิบคนจากประเทศอังกฤษไปเป็นนักเรียนรุ่นที่ 17 ของโรงเรียนกิเลียดในเซาท์แลนซิง นิวยอร์ก. ฉันชื่นชมเสียนี่กระไรที่พวกเราได้รับคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิลในช่วงหลายเดือนนั้น! เมื่อก่อน พี่น้องหญิงยังไม่มีโอกาสเป็นนักเรียนในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าในประชาคม แต่ที่กิเลียด พวกเราได้รับมอบหมายเป็นนักเรียนบรรยายและรายงาน. นึกภาพเอาเถอะว่าพวกเราประหม่าและตื่นเต้นเพียงใด! ขณะฉันบรรยายหน้าชั้นครั้งแรก มือที่จับกระดาษสั่นระริกตลอดเวลา. บราเดอร์ แมกซ์เวลล์ เฟรนด์ ผู้สอน
ให้คำแนะนำฉันด้วยคำพูดติดตลกว่า “คุณไม่ใช่แค่มีอาการประหม่าตอนเริ่มต้นเหมือนนักพูดที่ดีทุกคนเท่านั้น แต่คุณประหม่าตั้งแต่ต้นจนจบ.” ในช่วงการอบรม พวกเราทุกคนได้ปรับปรุงความสามารถของตัวเองในการพูดหน้าชั้น. เวลาที่เราได้รับการฝึกอบรมผ่านไปเร็วเหลือเกิน และพวกเราที่จบหลักสูตรได้รับหน้าที่มอบหมายไปทำงานต่างแดนในหลายประเทศ. เขตมอบหมายของฉันคือประเทศไทย!“สยามเมืองยิ้ม”
ฉันถือว่าได้รับของประทานจากพระยะโฮวาที่แอสทริด แอนเดอร์สันได้รับมอบหมายให้เป็นเพื่อนมิชชันนารีทำงานด้วยกันในประเทศไทย. เราโดยสารเรือสินค้านานเจ็ดสัปดาห์กว่าจะถึงที่หมายปลายทาง. เมื่อพวกเรามาถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวง เราเห็นเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านซื้อขายของในตลาด และมีคูคลองเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อกัน. ปี 1952 ประเทศไทยมีผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรไม่ถึง 150 คน.
เมื่อเราเห็นวารสารหอสังเกตการณ์ภาษาไทยครั้งแรก เราสงสัยว่า ‘เราจะสามารถอ่านตัวหนังสือแบบนี้ได้อย่างไรนะ?’ มันเป็นข้อท้าทายโดยเฉพาะที่จะอ่านคำต่าง ๆ ด้วยการออกเสียงสูงต่ำให้ถูกต้อง. ตัวอย่างเช่น คำว่า “ข้าว” จะเริ่มออกเสียงสูงแล้วลงมาต่ำ. แต่คำเดียวกันนี้ถ้าออกเสียงต่ำจะหมายถึง “ข่าว.” ดังนั้น ขณะที่เราออกไปในงานประกาศ เราไม่เฉลียวใจเลยที่บอกประชาชนว่า “ดิฉันนำข้าวดีมาบอก” แทนที่จะเป็น “ข่าวดี”! แต่ทีละเล็กทีละน้อย และหลังจากเราเจอเรื่องที่ชวนให้หัวเราะหลายครั้ง เราก็พูดภาษานี้ได้.
คนไทยยิ้มง่าย. เหมาะสมแล้วที่รับสมญาว่าสยามเมืองยิ้ม. เขตงานมอบหมายแรกของเราคือเมืองโคราช (ปัจจุบันเรียกว่านครราชสีมา) เราทำงานประกาศที่นั่นสองปี. ต่อจากนั้น เราถูกมอบหมายไปเชียงใหม่. ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและไม่ค่อยรู้จักคัมภีร์ไบเบิล. ระหว่างอยู่ที่โคราช ฉันเคยนำการศึกษาพระคัมภีร์กับนายไปรษณีย์. เราพิจารณากันเกี่ยวกับเรื่องอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ. เนื่องจากเขาเคยได้ยินชื่ออับราฮาม เขาพยักหน้าแสดงอาการรับรู้อย่างตื่นเต้น. แต่ไม่นานฉันก็รู้ว่าเราไม่ได้พูดเรื่องอับราฮามคนเดียวกัน. นายไปรษณีย์นึกถึงอับราฮาม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐต่างหาก!
เราพึงพอใจเมื่อเราสอนพระคัมภีร์แก่ชาวไทยที่มีหัวใจสุจริต และในเวลาเดียวกัน คนไทยก็สอนเราในเรื่องการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย. บทเรียนดังกล่าวมีค่า เพราะบ้านมิชชันนารีแห่งแรกในโคราชไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา. การอยู่ในเขตงานมอบหมายเช่นนั้น เรา “ได้เรียนรู้เคล็ดลับทั้ง . . . ของการอยู่อย่างที่มีบริบูรณ์และการอยู่อย่างขัดสน.” เช่นเดียวกันกับอัครสาวกเปาโล เราได้ประสบว่าการ ‘มีกำลังโดยพระองค์ผู้ทรงประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า’ หมายความเช่นไร.—ฟิลิปปอย. 4:12, 13.
เพื่อนร่วมงานคนใหม่และเขตงานใหม่
ย้อนไปเมื่อปี 1945 ฉันได้ไปเที่ยวลอนดอน. ระหว่างการเยือนครั้งนั้น ฉันพร้อมด้วยไพโอเนียร์และพี่น้องจากเบเธลบางคนได้ไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตน. หนึ่งในนั้นคือแอลลัน โควิลล์ ซึ่งต่อมาไม่นานได้เข้าเรียนในรุ่นที่ 11 ของโรงเรียนกิเลียด. เขาถูกมอบหมายไปที่ประเทศฝรั่งเศส และภายหลังไปที่เบลเยียม. * ต่อมา ช่วงที่ฉันยังรับใช้ฐานะมิชชันนารีในประเทศไทย เขาขอฉันแต่งงานด้วย และฉันได้ตอบรับคำขอของเขา.
เราแต่งงานในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1955. ฉันใฝ่ฝันอยู่เสมอที่จะไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ปารีส ดังนั้น แอลลันจึงเตรียมแผนจะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่นั่นในสัปดาห์ถัดไป. อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เราไปถึง แอลลันถูกขอร้องให้เป็นล่ามตลอดช่วงที่มีการประชุมใหญ่. ทุกวันเขาออกจากที่พักแต่เช้า และกว่าเรากลับถึงที่พักก็ดึกแล้ว. ฉะนั้น เป็นอันว่าฉันดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ในปารีส ทว่าส่วนใหญ่แล้ว ฉันมองเห็นแอลลันจากระยะไกล—บนเวทีโน่น! แม้เป็นเช่นนั้นก็ตาม ฉันดีใจที่เห็นสามีผู้ซึ่งฉันเพิ่งแต่งงานด้วยนั้นกำลังรับใช้พี่น้องชายหญิง และไม่มีข้อสงสัยใด ๆ คาใจฉันเลยว่า หากพระยะโฮวาทรง
เป็นส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตสมรสของเรา เราย่อมมีความสุขอย่างแท้จริง.การสมรสยังนำฉันสู่เขตงานใหม่อีกแห่งหนึ่ง—เบลเยียม. เกือบทุกอย่างที่ฉันรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเบลเยียมก็คือ ประเทศนี้เคยเป็นสมรภูมิหลายครั้ง แต่ไม่นานจึงได้มารู้ว่าชาวเบลเยียมส่วนใหญ่รักความสงบ. เขตงานของฉันยังหมายรวมไปถึงการที่จะต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย ซึ่งเป็นภาษาพูดในภูมิภาคทางใต้ของประเทศ.
ในปี 1955 มีผู้ประกาศมากกว่า 4,500 คนในเบลเยียม. เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่ฉันกับแอลลันรับใช้ในเบเธล และเดินทางเยี่ยมหมวด. เริ่มแรกในช่วงสองปีครึ่ง เราใช้จักรยานเป็นพาหนะ ทั้งขึ้นเขาลงห้วย ไม่ว่าสภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร. ตลอดเวลาหลายปี เราพักค้างคืนที่บ้านของพี่น้องพยานฯมากกว่า 2,000 ครอบครัว! บ่อยครั้งฉันพบเห็นพี่น้องชายหญิงซึ่งสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แต่พวกเขาก็ยังคงรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดกำลังที่มีอยู่. ตัวอย่างของพวกเขาสนับสนุนฉันที่จะไม่ทิ้งงานรับใช้. พอสิ้นสัปดาห์ของการเยี่ยมแต่ละประชาคม เรารู้สึกได้รับการหนุนกำลังใจเสมอ. (โรม 1:11, 12) แอลลันได้พิสูจน์ตัวเขาเองว่าเป็นเพื่อนแท้. ถ้อยคำที่ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10 เป็นจริงสักเพียงใดที่ว่า “สองคนก็ดีกว่าคนเดียว . . . ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง, อีกคนหนึ่งจะได้พยุงยกเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น”!
พระพรมากหลายในชีวิตเนื่องด้วยการรับใช้ที่ได้ ‘กำลังจากพระยะโฮวา’
ในช่วงหลายปี ฉันและแอลลันมีประสบการณ์ที่น่ายินดีหลายครั้งจากการช่วยบางคนให้รับใช้พระยะโฮวา. อย่างเช่น ในปี 1983 เราได้ไปเยี่ยมประชาคมภาษาฝรั่งเศสในเมืองแอนทเวิร์ป ที่นั่นเราพักกับครอบครัวหนึ่งซึ่งได้ต้อนรับเบนจามิน บันดิวิลา บราเดอร์หนุ่มจากสาธารณรัฐซาอีร์ด้วย (เวลานี้คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก). เบนจามินย้ายมาเบลเยียมเพื่อศึกษาต่อ. เขาบอกพวกเราว่า “ผมอิจฉาพวกคุณจริง ๆ ที่ใช้ชีวิตแบบนี้ ซึ่งได้สละเวลาเต็มที่ทำงานรับใช้พระยะโฮวา.” แอลลันตอบว่า “คุณพูดว่าคุณอิจฉาพวกเรา แล้วคุณเองยังมุ่งมั่นแสวงอาชีพทางโลก. คุณคิดหรือเปล่าว่ามันขัดกัน?” การพูดอย่างตรงไปตรงมาคราวนั้นทำให้เบนจามินคิดใคร่ครวญชีวิตตัวเอง. ภายหลัง เมื่อกลับไปที่ซาอีร์ เขาได้เริ่มงานไพโอเนียร์ และเวลานี้รับใช้ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการสาขา.
ปี 1999 ฉันต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาแผลในหลอดอาหาร. ตั้งแต่นั้น น้ำหนักตัวฉันเหลือเพียง 30 กิโลกรัม. ฉันเป็น “ภาชนะดิน” ที่บอบบางจริง ๆ. กระนั้น ฉันสำนึกในพระคุณของพระยะโฮวาที่ทรงประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่ฉัน. หลังการผ่าตัด พระองค์ทรงโปรดให้ฉันสามารถร่วมรับใช้ในงานเดินทางกับแอลลันได้อีก. (2 โค. 4:7) ครั้นแล้ว ในเดือนมีนาคม 2004 แอลลันก็สิ้นลมขณะนอนหลับ. ฉันอาลัยคิดถึงเขามาก แต่สิ่งที่ปลอบประโลมฉันคือการรู้ว่าเขาอยู่ในความทรงจำของพระยะโฮวา.
ตอนนี้ ฉันอายุ 83 ปี มองย้อนเวลาที่รับใช้เต็มเวลามานานกว่า 63 ปี. ฉันยังคงขันแข็งทำงานรับใช้โดยนำการศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้านและใช้โอกาสต่าง ๆ ทุกวันพูดถึงพระประสงค์ที่น่าพิศวงของพระยะโฮวา. บางครั้ง ฉันประหลาดใจเหมือนกันว่า ‘ชีวิตฉันจะเป็นอย่างไรถ้าฉันไม่ได้เริ่มงานไพโอเนียร์ในปี 1945?’ ตอนนั้น สุขภาพไม่แข็งแรงดูเหมือนเป็นเหตุผลสมควรที่จะไม่รับใช้เต็มเวลาก็ได้. แต่ฉันรู้สึกขอบคุณเพียงใดที่ยึดเอางานไพโอเนียร์เมื่ออายุยังน้อย! ฉันถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ประสบด้วยตัวเองว่า ถ้าเราจัดให้พระยะโฮวาเป็นอันดับแรก พระองค์จะทรงเป็นกำลังของเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 หนังสือความรอดพิมพ์ในปี 1939. แต่เดี๋ยวนี้งดพิมพ์แล้ว.
^ วรรค 22 ชีวประวัติของบราเดอร์โควิลล์ปรากฏในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 มีนาคม 1961.
[ภาพหน้า 18]
กับเพื่อนร่วมงานมิชชันนารี แอสทริด แอนเดอร์สัน (ขวามือ)
[ภาพหน้า 18]
กับสามีในงานเดินทางปี 1956
[ภาพหน้า 20]
กับแอลลันปี 2000