จุดเด่นจากพระธรรมฮาฆีและซะคาระยา
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมฮาฆีและซะคาระยา
ในปี 520 ก่อนสากลศักราช สิบหกปีผ่านไปแล้วนับตั้งแต่ชาวยิวที่กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนได้วางรากพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม. กระนั้น พระวิหารก็ยังไม่แล้วเสร็จ และงานก่อสร้างก็ถูกสั่งห้าม. พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งผู้พยากรณ์ฮาฆี และอีกสองเดือนต่อมาก็ตั้งผู้พยากรณ์ซะคาระยาให้กล่าวคำของพระองค์.
ฮาฆีและซะคาระยามีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ กระตุ้นผู้คนให้กลับไปสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. ความพยายามของผู้พยากรณ์ทั้งสองท่านนี้บรรลุผล และพระวิหารก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ห้าปีหลังจากนั้น. สิ่งที่ฮาฆีและซะคาระยาประกาศมีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลพระธรรมที่เรียกตามชื่อของพวกท่าน. พระธรรมฮาฆีและซะคาระยาเขียนเสร็จในปี 520 ก่อน ส.ศ. และ 518 ก่อน ส.ศ. ตามลำดับ. เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์เหล่านี้ เราก็มีงานที่พระเจ้าประทานให้เช่นกัน ซึ่งต้องทำให้เสร็จก่อนอวสานของระบบนี้. งานที่ว่านั้นก็คือการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานสอนคนเป็นสาวก. ให้เรามาดูว่าเราสามารถได้รับการหนุนใจเช่นไรจากพระธรรมฮาฆีและซะคาระยา.
“จงให้หัวใจของพวกเจ้าพิจารณาแนวทางของเจ้า”
ภายใน 112 วัน ฮาฆีประกาศข่าวสารที่กระตุ้นหนุนใจถึงสี่เรื่อง. ข่าวสารแรกคือ “ ‘จงให้หัวใจของพวกเจ้าพิจารณาแนวทางของเจ้า. จงขึ้นไปยังภูเขา, และเจ้าต้องนำไม้มาเป็นท่อน ๆ. และสร้างพระวิหาร เพื่อเราจะยินดีปรีดาในวิหารนั้น และเราจะได้รับการถวายเกียรติ’ พระยะโฮวาได้ตรัส.” (ฮาฆี 1:7, 8, ล.ม.) ผู้คนต่างตอบรับด้วยความพอใจ. ข่าวสารที่สองมีคำสัญญาดังนี้: “เรา [พระยะโฮวา] จะตกแต่งวิหารหลังนี้ให้งามสะพรั่ง.”—ฮาฆี 2:7.
ตามที่ข่าวสารที่สามกล่าวไว้ การที่พวกเขาละเลยเรื่องการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่นั้นทำให้ ‘ผู้คนและการงานทั้งปวงของเขา’ เป็นมลทินจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่พวกเขาเริ่มงานบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ พระยะโฮวา “จะอวยพร” ให้พวกเขา. ดังที่กล่าวในข่าวสารที่สี่ พระยะโฮวาจะ “ล้างอำนาจของอาณาจักรแห่งนานาประเทศให้สิ้นเชิง” และตั้งผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลไว้ดัง “แหวนตรา.”—ฮาฆี 2:14, 19, 22, 23.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:6—อะไรคือความหมายของถ้อยคำที่ว่า “ได้ดื่มแต่ไม่หายอยาก [“ไม่ถึงขั้นเมา,” ล.ม.]”? ถ้อยคำดังกล่าวเพียงแต่บ่งชี้ถึงการขาดแคลนเหล้าองุ่น. เนื่องจากขาดพระพรของพระยะโฮวา เหล้าองุ่นที่ทำได้คงจะมีปริมาณจำกัด—แน่นอนว่าไม่พอที่จะทำให้เมา.
2:6, 7, 21, 22 (ล.ม.)—ใครหรืออะไรที่ทำให้เกิดการเขย่า และมีผลเช่นไร? พระยะโฮวา ‘ทรงเขย่าชาติทั้งปวง’ โดยให้มีการประกาศข่าวเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก. นอกจากนี้ งานประกาศยังส่งผลให้ “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” หลั่งไหลเข้ามาในพระนิเวศของพระยะโฮวา ด้วยเหตุนี้ พระนิเวศจึงเต็มไปด้วยสง่าราศี. จากนั้น “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา” จะเขย่า “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและทะเลและพื้นดินแห้ง,” ทำให้ระบบของสิ่งต่าง ๆ ที่ชั่วช้าทั้งสิ้นในปัจจุบันสะเทือนสะท้านจนพินาศหมดสิ้น.—เฮ็บราย 12: 26, 27.
2:9—‘ความสง่างามของวิหารใหม่หลังนี้จะยิ่งกว่าหลังก่อน’ ในทางใดบ้าง? มีอย่างน้อยสามทางคือ จำนวนปีที่พระวิหารนั้นตั้งอยู่, ใครสั่งสอนที่นั่น, และใครพากันไปที่นั่นเพื่อนมัสการพระยะโฮวา. แม้ว่าพระวิหารอันสง่างามของซะโลโมยืนยงอยู่ได้ถึง 420 ปี คือตั้งแต่ปี 1027 ก่อน ส.ศ. ถึงปี 607 ก่อน ส.ศ. มีการใช้ “วิหารใหม่” หลังนี้มากกว่า 580 ปี นับตั้งแต่ที่สร้างเสร็จในปี 515 ก่อน ส.ศ. จนถึงเวลาที่วิหารหลังนี้ถูกทำลายในปี ส.ศ. 70. ยิ่งกว่านั้นมาซีฮา—พระเยซูคริสต์—ทรงสั่งสอนใน “วิหารใหม่” และมีผู้คนมาที่พระวิหารหลังนี้มากกว่า “หลังก่อน” เพื่อนมัสการพระเจ้า.—กิจการ 2:1-11.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2-4. การขัดขวางงานประกาศไม่ควรเป็นเหตุให้เราเปลี่ยนลำดับความสำคัญจากการ ‘แสวงหาราชอาณาจักรก่อน’ ไปเป็น “แสวงหาผลประโยชน์ของตนเองก่อน.—มัดธาย 6:33.
1:5, 7. นับว่าดีที่เราจะให้ ‘หัวใจของเราพิจารณาแนวทางของเรา’ และไตร่ตรองดูว่าวิธีที่เราดำเนินชีวิตมีผลกระทบเช่นไรต่อสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า.
1:6, 9-11; 2:14-17. ชาวยิวในสมัยท่านฮาฆีทำงานหนักเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองแต่ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลสมกับความเหนื่อยยากของตน. พวกเขาละทิ้งพระวิหาร ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ได้รับพระพรจากพระเจ้า. เราควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก และถวายการรับใช้พระเจ้าอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ พึงจำไว้ว่า ไม่ว่าเราจะมีน้อยหรือมากเพียงไรทางด้านวัตถุ แต่ “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง.”—สุภาษิต 10:22.
2:15, 18. พระยะโฮวาทรงเตือนชาวยิวให้ใส่ใจกับเรื่องการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่นับแต่วันนั้นเป็นต้นไป ไม่ใช่กับสิ่งที่พวกเขาปล่อยปละละเลยในอดีต. เราก็ควรจดจ่อกับการนมัสการพระยะโฮวานับแต่นี้ไปเช่นกัน.
“ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา”
ซะคาระยาเริ่มทำหน้าที่ผู้พยากรณ์ด้วยการเชิญชวนชาวยิวให้ ‘กลับมาหาพระยะโฮวา.’ (ซะคาระยา 1:3) นิมิตแปดเรื่องที่ตามมาทำให้แน่ใจว่าพระเจ้าทรงสนับสนุนงานก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. (ดูกรอบ “นิมิตเชิงเปรียบเทียบแปดเรื่องของซะคาระยา.”) งานก่อสร้างจะสำเร็จได้ “ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของ [พระยะโฮวา].” (ซะคาระยา 4:6) ผู้ที่มีชื่อว่า พระอังกูร “จะได้สร้างวิหารแห่งพระยะโฮวาขึ้น” และ “จะดำรงตำแหน่งปุโรหิต.”—ซะคาระยา 6:12, 13.
ชาวเบ็ธเอลส่งตัวแทนไปถามเหล่าปุโรหิตเกี่ยวกับการถือศีลอดอาหารเพื่อระลึกถึงพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลม. พระยะโฮวาตรัสกับซะคาระยาว่า การร้องไห้คร่ำครวญระหว่างการถือศีลอดอาหารสี่ครั้งที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความหายนะที่เกิดกับกรุงเยรูซาเลมนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็น “ความยินดีแลความชื่นใจ, แลเป็นคราวเทศกาลเลี้ยง.” (ซะคาระยา 7:2; 8:19) คำแถลงสองเรื่องที่ตามมานั้นรวมถึงการพิพากษาโทษแก่ชาติต่าง ๆ และพวกผู้พยากรณ์เท็จ, คำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮา, และข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูประชาชนของพระเจ้า.—ซะคาระยา 9:1; 12:1.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:1—เหตุใดชายคนหนึ่งจึงวัดกรุงเยรูซาเลมด้วยเชือก? ดูเหมือนว่า การวัดนี้บ่งชี้ถึงการสร้างกำแพง ป้องกันล้อมรอบกรุงนั้น. ทูตสวรรค์ของพระเจ้าแจ้งแก่ชายผู้นั้นว่ากรุงเยรูซาเลมจะแผ่ขยายออกไปและจะได้รับการปกป้องจากพระยะโฮวา.—ซะคาระยา 2:3-5.
6:11-13—การสวมมงกุฎของมหาปุโรหิตยะโฮซูอะนั้นทำให้ท่านกลายเป็นกษัตริย์และปุโรหิตไหม? ไม่ ยะโฮซูอะไม่ได้มาจากราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด. อย่างไรก็ตาม การสวมมงกุฎของท่านทำให้ท่านกลายเป็นแบบอย่างเชิงพยากรณ์ของมาซีฮา. (เฮ็บราย 6:20) คำพยากรณ์เกี่ยวกับ “พระอังกูร” สำเร็จเป็นจริงกับพระเยซูคริสต์กษัตริย์และปุโรหิตในสวรรค์. (ยิระมะยา 23:5) เช่นเดียวกับที่ยะโฮซูอะทำหน้าที่เป็นมหาปุโรหิตเพื่อชาวยิวที่กลับคืนถิ่นในพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ พระเยซูก็ทำหน้าที่เป็นมหาปุโรหิตเพื่อการนมัสการแท้ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาเช่นกัน.
8:1-23—คำแถลงสิบข้อซึ่งกล่าวถึงในข้อคัมภีร์เหล่านี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? คำแถลงแต่ละครั้งจะตามด้วยสำนวน “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า” และคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับสันติสุขท่ามกลางประชาชนของพระองค์. คำแถลงเหล่านี้บางข้อสำเร็จเป็นจริงแล้วในศตวรรษที่หกก่อน ส.ศ. แต่คำแถลงทั้งหมด ถ้าไม่สำเร็จเป็นจริงแล้วตั้งแต่ปี 1919 ก็กำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในขณะนี้. *
8:3—เหตุใดเยรูซาเลมจึงถูกเรียกว่า “เมืองแห่งความจริง”? ก่อนถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. กรุงเยรูซาเลมเป็น ‘เมืองซึ่งข่มขี่’ เมืองนี้มีผู้พยากรณ์และปุโรหิตที่ทุจริตและประชาชนที่ไม่ซื่อสัตย์อาศัยอยู่. (ซะฟันยา 3:1; ยิระมะยา 6:13; 7:29-34) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พระวิหารได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และประชาชนก็พร้อมใจกันนมัสการพระยะโฮวา มีการพูดถึงความจริงเกี่ยวกับการนมัสการบริสุทธิ์ที่พระวิหารนั้น และเยรูซาเลมจึงถูกเรียกว่า “เมืองแห่งความจริง.”
11:7-14—การที่ซะคาระยาตัดไม้เท้าชื่อ “ความเมตตา” และอีกอันหนึ่งชื่อ “ความสามัคคี” ออกเป็นท่อน ๆ นั้นหมายความเช่นไร? มีการให้ภาพว่าซะคาระยาเป็นคนที่ถูกส่งไป ‘เลี้ยงฝูงแกะซึ่งต้องถูกฆ่า’—ผู้คนเยี่ยงแกะที่ถูกผู้นำของพวกเขาเอารัดเอาเปรียบ. ในบทบาทของผู้เลี้ยงแกะ ซะคาระยาเป็นภาพเล็งถึงพระเยซูคริสต์ ซึ่งถูกส่งไปหาประชาชนแห่งสัญญาของพระเจ้า แต่ก็ถูกพวกเขาปฏิเสธ. การตัด “ความเมตตา” เป็นสัญลักษณ์ว่าพระเจ้าทรงหักสัญญาแห่งพระบัญญัติที่ทำกับชาวยิวและเลิกปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความโปรดปราน. การตัด “ความสามัคคี” หมายถึงการตัดขาดความเป็นพี่เป็นน้องที่ยูดาห์กับยิศราเอลเคยมีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวอาศัยการนมัสการพระยะโฮวาเป็นหลัก.
12:11—“การร้องไห้แห่งฮะดัดริโมนที่หุบเขาแห่งมะฆิโดน” คืออะไร? กษัตริย์โยซียาแห่งยูดาห์ถูกสังหารในการสู้รับกับฟาโรห์นะโคแห่งอียิปต์ในที่ราบแห่ง “หุบเขาแห่งมะฆิโดน” และมีการคร่ำครวญถึงการสิ้นพระชนม์ของท่านใน “เพลงแสดงทุกข์” ตลอดหลายปี. (2 โครนิกา 35:25) ดังนั้น “การร้องไห้แห่งฮะดัดริโมน” อาจหมายถึงการคร่ำครวญร้องไห้เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของโยซียา.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2-6; 7:11-14 (ฉบับแปลใหม่). พระยะโฮวาทรงชอบพระทัยและหันมาใฝ่พระทัยคนเหล่านั้นที่ยอมรับการว่ากล่าวด้วยความสำนึกผิดและกลับมาหาพระองค์โดยถวายการนมัสการอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ. ในทางตรงกันข้าม พระองค์ไม่ทรงตอบเสียงร้องขอความช่วยเหลือของคนเหล่านั้นที่ “ปฏิเสธไม่ยอมฟังและหันบ่าดื้อเข้าใส่ และอุดหูของเขาเสีย” เพื่อจะไม่ได้ยินข่าวสารของพระองค์.
4:6, 7. ไม่มีอุปสรรคใดใหญ่เกินกว่าจะขัดขวางพระวิญญาณของพระยะโฮวาในการดำเนินการก่อสร้างพระวิหาร ขึ้นใหม่จนสำเร็จลุล่วงได้. ปัญหาใด ๆ ก็ตามที่เราอาจประสบในงานรับใช้ที่เราถวายแด่พระเจ้าสามารถเอาชนะได้โดยที่เราแสดงความเชื่อในพระยะโฮวา.—มัดธาย 17:20.
4:10. ภายใต้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนของพระยะโฮวา ซะรูบาเบลและประชาชนของท่านสร้างพระวิหารเสร็จสมบูรณ์ตามมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้า. การปฏิบัติตามความคาดหมายของพระยะโฮวาจึงไม่ยากเกินไปสำหรับมนุษย์ไม่สมบูรณ์.
7:8-10; 8:16, 17. เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวา เราต้องสำแดงความยุติธรรม, ความกรุณารักใคร่, ความเมตตาปรานี, และพูดความจริงต่อกัน.
8:9-13. พระยะโฮวาอวยพรให้เราเมื่อ ‘มือของเรามีกำลัง’ ในการทำงานที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราทำ. พระพรเหล่านี้รวมถึงสันติสุข ความปลอดภัย และความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.
12:6. คนเหล่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งผู้ดูแลท่ามกลางประชาชนของพระยะโฮวาควรเป็น “ดุจดังไต้ไฟ” คือมีใจแรงกล้าอย่างเห็นได้ชัด.
13:3. ความภักดีที่เรามีต่อพระเจ้าองค์เที่ยงแท้และองค์การของพระองค์ควรมีมากยิ่งกว่าความภักดีต่อมนุษย์คนใด ๆ ไม่ว่าจะใกล้ชิดสนิทสนมกับคนนั้นสักเพียงไร.
13:8, 9. พวกผู้ออกหากที่ถูกพระยะโฮวาปฏิเสธมีเป็นจำนวนมากคือ สองในสามส่วนของประชาชนในแผ่นดินนั้น. เพียงหนึ่งในสามส่วนเท่านั้นที่ถูกชำระราวกับถูกถลุงในไฟ. คริสต์ศาสนจักรในสมัยของเรา ซึ่งประกอบด้วยคนเป็นอันมากที่อ้างตัวว่าเป็นคริสเตียนถูกพระยะโฮวาปฏิเสธ. มีแต่คริสเตียนผู้ถูกเจิมจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่ ‘ร้องเรียกพระนามพระยะโฮวา’ และยอมรับเอาการถลุงนี้. พวกเขาและเพื่อนร่วมความเชื่อพิสูจน์ตัวว่าไม่ได้เป็นเพียงพยานของพระยะโฮวาแต่ในนามเท่านั้น.
ได้รับการกระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ
สิ่งที่ฮาฆีและซะคาระยาประกาศมีผลกระทบต่อเราอย่างไรในทุกวันนี้? เมื่อเราไตร่ตรองดูว่าข่าวสารของท่านทั้งสองกระตุ้นชาวยิวอย่างไรให้ใส่ใจกับการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เราเองก็ได้รับการกระตุ้นให้เข้าร่วมในงานประกาศราชอาณาจักรและงานสอนคนเป็นสาวกด้วยความกระตือรือร้นมิใช่หรือ?
ซะคาระยาบอกล่วงหน้าว่ามาซีฮาจะเสด็จ “นั่งบนลา” และพระองค์จะถูกทรยศเพราะ “เงินสามสิบแผ่น” ซึ่งพระองค์จะถูกตี และ “แกะฝูงนั้นก็จะกระจัดกระจายไป.” (ซะคาระยา 9:9; 11:12; 13:7) การคิดรำพึงเรื่องความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮาของซะคาระยานั้นนับว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อของเราจริง ๆ! (มัดธาย 21:1-9; 26:31, 56; 27:3-10) ความมั่นใจในพระคำของพระยะโฮวาและการจัดเตรียมเพื่อช่วยเราให้รอดนั้นได้รับการเสริมให้หนักแน่นยิ่งขึ้น.—เฮ็บราย 4:12.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1996 หน้า 9-22.
[กรอบหน้า 11]
นิมิตเชิงเปรียบเทียบแปดเรื่องของซะคาระยา
1:8-17: รับรองว่าพระวิหารจะแล้วเสร็จและแสดงว่ากรุงเยรูซาเลมอีกทั้งเมืองอื่น ๆ ในอาณาจักรยูดาห์จะได้รับการอวยพร.
1:18-21: สัญญาเรื่องอวสานของ ‘สิงค์สองคู่ที่ขวิดยะฮูดาให้กระจัดกระจายไป’ ซึ่งก็คือรัฐบาลทั้งสิ้นที่ต่อต้านการนมัสการพระยะโฮวา.
2:1-13: บอกว่ากรุงเยรูซาเลมจะแผ่ขยายออกไป และพระยะโฮวาจะเป็น “กำแพงไฟตั้งล้อมรอบ” เมืองนั้น—ให้การปกป้องคุ้มครอง.
3:1-10: แสดงว่าซาตานมีส่วนเกี่ยวข้องในการขัดขวางงานสร้างพระวิหาร และมหาปุโรหิตยะโฮซูอะได้รับการช่วยให้รอดและถูกชำระให้สะอาด.
4:1-14: ให้คำรับรองว่าอุปสรรคที่เป็นเหมือนภูเขาจะถูกปราบให้ราบ และผู้สำเร็จราชการซะรูบาเบลจะดำเนินการก่อสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จ.
5:1-4: เป็นการกล่าวคำแช่งสาปแก่คนที่กระทำชั่วซึ่งยังไม่ถูกปรับโทษ.
5:5-11: บอกล่วงหน้าเรื่องอวสานของความชั่วช้า.
6:1-8: สัญญาเรื่องการดูแลและการปกป้องจากเหล่าทูตสวรรค์.
[ภาพหน้า 8]
ข่าวสารของฮาฆีและซะคาระยามีวัตถุประสงค์เช่นไร?
[ภาพหน้า 10]
ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้ดูแลเป็น “ดุจดังไต้ไฟ” ได้อย่างไร?