วิธีปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าในหัวใจของลูก
วิธีปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าในหัวใจของลูก
ทุกวันนี้ นับว่าเป็นข้อท้าทายจริง ๆ ที่คนเราจะปลูกฝังสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 16:8) จริงตามคำพยากรณ์ เรามีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” คนส่วนใหญ่เป็น “คนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ใช่แล้ว ความรักแท้ต่อพระเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยากจริง ๆ ในโลกทุกวันนี้.
การพัฒนาความรักต่อพระเจ้าในหัวใจลูกไม่อาจปล่อยให้เป็นเรื่องตามแต่จะเป็นไป. เราต้องปลูกฝังความรักต่อพระยะโฮวาพระเจ้าในหัวใจลูกของเรา. เราจะทำเช่นนี้ได้โดยวิธีใด?
การสื่อความแบบเปิดอก
เราสามารถปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าในหัวใจลูกได้หากหัวใจของเราเองเปี่ยมด้วยความรักต่อพระองค์. (ลูกา 6:40) คัมภีร์ไบเบิลชี้แจงเรื่องนี้เมื่อกล่าวว่า “เจ้าจงรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจ, สุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า. และถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้.”—พระบัญญัติ 6:4-7.
เราจะปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าในหัวใจลูกของเราได้โดยวิธีใด? ประการแรก เราต้องรู้สิ่งที่อยู่ในหัวใจลูกของเรา. ประการที่สอง เราต้องเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเราเอง.
ระหว่างเดินทางไปบ้านเอ็มมาอูกับสาวกสองคน ทีแรกพระเยซูคริสต์ทรงสนับสนุนพวกเขาให้พูดออกมาในเรื่องที่เขาคาดหวังและกังวล. เฉพาะหลังจากฟังพวกเขาพูดพอสมควรแล้ว พระเยซูจึงแก้ไขความคิดของเขาโดยการอธิบายพระคัมภีร์. ภายหลังพวกเขาออกความเห็นว่า “ใจของเราเร่าร้อนภายในเราเมื่อพระองค์ทรงพูดกับเรา . . . มิใช่หรือ?” การสนทนานั้นเป็นตัวอย่างของการสื่อความแบบเปิดอก. (ลูกา 24:15-32) เราจะเข้าใจความรู้สึกของลูกได้อย่างไร?
ไม่นานมานี้ ได้มีการถามบิดามารดาบางคนซึ่งตอนนี้ลูก ๆ ของเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือกำลังจะเป็นผู้ใหญ่และเป็นตัวอย่างที่ดีในประชาคมในเรื่องการสื่อความแบบเปิดอก. ตัวอย่างเช่น เกลนซึ่งอยู่ในเม็กซิโกมีลูกสี่คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว. * เขากล่าวว่า “การสื่อความอย่างเปิดอกระหว่างพ่อแม่กับลูกไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ. ผมกับภรรยาตกลงกันที่จะใช้เวลาน้อยลงกับกิจกรรมที่ไม่สำคัญเพื่อเราจะใช้เวลามากขึ้นกับลูก ๆ ได้. ตอนที่พวกเขาอยู่ในช่วงวัยรุ่น บางครั้งเราใช้เวลาตลอดช่วงเย็นกับพวกเขา พูดคุยกันไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่พวกเขาอยากคุย. ตอนรับประทานอาหารก็เช่นเดียวกัน โดยฟังลูก ๆ สนทนากัน เราจะเข้าใจปัญหาที่พวกเขามีและค่อย ๆ แก้ไขแนวโน้มที่ผิดของพวกเขา บ่อยครั้งโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว.”
การสื่อความแบบเปิดอกยังเกี่ยวข้องกับการเผยสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเราเองด้วย. พระเยซูตรัสว่า “คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน, . . . เพราะว่าใจเต็มบริบูรณ์อย่างไรปากก็พูดออกอย่างนั้น.” (ลูกา 6:45) โทชิกิซึ่งมีลูกสามคนที่เป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาในญี่ปุ่นกล่าวว่า “ผมเล่าให้พวกเขาฟังหลายครั้งว่าทำไมผมจึงมีความเชื่อในพระยะโฮวา—วิธีที่ผมได้มาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่และประสบการณ์ของผมเองในชีวิตทำให้ผมเชื่อมั่นอย่างไรว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริงและเป็นเครื่องนำทางที่ดีที่สุดในชีวิต.” ซินดีซึ่งอยู่ในเม็กซิโกกล่าวว่า “สามีของดิฉันได้อธิษฐานกับลูก ๆ เสมอ. เมื่อลูกได้ฟังคำพูดอย่างจริงใจของพ่อ พวกเขารู้ว่าพระยะโฮวาไม่ใช่เป็นเรื่องในจินตนาการ.”
อิทธิพลที่มีพลังจากตัวอย่างของเรา
แนวทางชีวิตของเรามีพลังยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก เพราะนั่นแสดงให้ลูกของเราเห็นว่าเรารักพระเจ้ามากเพียงไร. โดยสังเกตว่าพระเยซูคริสต์ทรงเชื่อฟังพระยะโฮวา ผู้คนจึงเข้าใจได้ว่าพระองค์มีความรักอันลึกซึ้งต่อพระเจ้า. พระเยซูตรัสว่า “เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา และพระบิดาได้ตรัสสั่งเราอย่างไร เราจึงกระทำอย่างนั้น.”—โยฮัน 14:31.
แกเรท พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งในเวลส์ออกความเห็นว่า “ลูก ๆ ของเราต้องเห็นว่าเรารักพระยะโฮวาและเห็นว่าเราพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระองค์. ตัวอย่างเช่น ลูก ๆ เห็นว่า ผมยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเพราะเชื่อฟังสิ่งที่พระเจ้าทรงบอกเรา. ตอนนี้ลูก ๆ พยายามทำแบบนั้น.”
เกรกซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียกล่าวว่า “เราต้องการให้ลูก ๆ เห็นว่าความจริงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเรา. เมื่อเราทำการตัดสินใจในเรื่องงานหรือนันทนาการ ทีแรกเราพิจารณาว่าพันธะหน้าที่คริสเตียนของเราจะได้รับผลกระทบอย่างไร. เรารู้สึกยินดีที่สังเกตว่าลูกสาววัย 19 ปีของเราได้ทำเช่นนั้นในการรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบ.”
การช่วยลูกของเราให้เข้าใจพระเจ้า
เราไม่สามารถรักหรือไว้วางใจใครบางคนที่เราไม่เข้าใจ. เมื่ออัครสาวกเปาโลต้องการให้คริสเตียนในเมืองฟิลิปปีเติบโตในความรักที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวา ท่านได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป เพื่อว่าความรักของท่านทั้งหลายจะอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมด้วยความรู้ถ่องแท้และความสังเกตเข้าใจครบถ้วน.” (ฟิลิปปอย 1:9, ล.ม.) ฟัลโคเนริโอซึ่งเลี้ยงดูลูกสี่คนในเปรูกล่าวว่า “การอ่านและการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำกับลูก ๆ เสริมสร้างความเชื่อของพวกเขา. บางครั้งผมละเลยไม่ได้ศึกษากับพวกเขา และก็ได้เห็นว่าความรักที่พวกเขามีต่อพระเจ้าลดน้อยลง.” แกรีจากออสเตรเลียกล่าวว่า “บ่อยครั้งผมแสดงให้ลูก ๆ เห็นหลักฐานที่ว่าคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลกำลังสำเร็จเป็นจริง. ผมยังชี้ถึงผลประโยชน์ของการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้. การที่ครอบครัวของเรามีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความเชื่อของพวกเขา.”
ความรู้จะเข้าถึงหัวใจเด็กได้ดีที่สุดในบรรยากาศที่ผ่อนคลายแต่ก็เป็นแบบที่น่านับถือ ซึ่งการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีในบรรยากาศเช่นนั้น. (ยาโกโบ 3:18) ฌอน กับพอลีนจากบริเตนซึ่งมีลูกสี่คนบอกว่า “ระหว่างการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในครอบครัว เราพยายามไม่ดุด่าลูก ๆ ถึงแม้พวกเขาเอะอะตึงตังกันอยู่บ้าง. เรานำการศึกษาในวิธีที่หลากหลาย. บางครั้งเราขอให้พวกเขาเลือกเรื่องที่จะศึกษา. เราใช้วีดิทัศน์ที่องค์การของพยานพระยะโฮวาได้จัดทำขึ้น. บางครั้งเราเล่นซ้ำวีดิทัศน์ตอนหนึ่งหรือหยุดไว้ก่อนเพื่อให้มีการอภิปรายกัน.” จากบริเตนด้วย มารดาคนหนึ่งชื่อคิมกล่าวว่า “ดิฉันเตรียมตัวสำหรับการศึกษาในครอบครัวอย่างละเอียดเพื่อดิฉันจะสามารถใช้คำถามที่จะทำให้ลูก ๆ คิด. เราเพลิดเพลินกับการศึกษา. เราหัวเราะกันมากทีเดียว.”
การเลือกเพื่อน
ความรักที่มีต่อพระยะโฮวาและความหยั่งรู้ค่าต่อการนมัสการแท้อาจพัฒนาขึ้นในตัวลูกของเราได้โดยง่ายหากคนที่เป็นมิตรกับพระเจ้าอยู่รอบตัวเขา. การเตรียมการเพื่อให้ลูก ๆ ของเราคบหากับเพื่อน ๆ ซึ่งจะพูดคุยและเล่นด้วยอย่างที่เป็นประโยชน์อาจต้องใช้ความพยายาม. แต่การทำเช่นนั้นนับว่าคุ้มค่าทีเดียว! นอกจากนี้ นับว่าสมควรที่จะหาโอกาสให้ลูก ๆ ของเราพบปะกับพยานพระยะโฮวาผู้ซึ่งให้งานรับใช้เต็มเวลาเป็นงานประจำชีพของเขา. หลายคนที่เลือกแนวทางดังกล่าวทำเช่นนั้นเนื่องจากการคบหากับผู้รับใช้ของพระเจ้าที่มีใจแรงกล้า. พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งได้มาเป็นมิชชันนารีกล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันได้เชิญพวกไพโอเนียร์มารับประทานอาหารที่บ้านของเราในหลายโอกาส. เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีความสุขจริง ๆ ในงานรับใช้จนดิฉันอยากรับใช้พระเจ้าในแบบเดียวกัน.”
แน่นอน เจตคติของลูกเราอาจได้รับผลกระทบทั้งในทางที่ดีและไม่ดี. ดังนั้น อันตรายของการคบหาที่ไม่ดีจึงทดสอบทักษะของเราฐานะเป็นบิดามารดา. (1 โกรินโธ 15:33) นับว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะสอนพวกเด็ก ๆ ให้รู้วิธีหลีกเลี่ยงการสังสรรค์กับคนเหล่านั้นที่ไม่ได้รักพระยะโฮวาทั้งไม่รู้จักพระองค์. (สุภาษิต 13:20) ฌอนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “เราสอนลูก ๆ ให้มีความสัมพันธ์ฉันมิตรในการทำงานร่วมกับเพื่อนนักเรียน แต่ให้ทิ้งความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ที่โรงเรียน. ลูกของเราเข้าใจเหตุผลที่พวกเขาไม่ควรเข้าร่วมในกิจกรรมนอกหลักสูตรหรือการแข่งขันกีฬาของโรงเรียน.”
คุณค่าของการฝึกอบรม
โดยการฝึกอบรมลูก ๆ ให้อธิบายความเชื่อของเขาแก่คนอื่น เราช่วยพวกเขาให้ประสบความยินดีในการแสดงความรักต่อพระเจ้า. มาร์กซึ่งอยู่ในสหรัฐกล่าวว่า “เราต้องการให้ลูกชายทั้งสองของเรารู้สึกว่าพวกเขาสามารถพูดถึงความเชื่อของเขากับคนอื่นได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ไม่เพียงแต่เมื่อพวกเขาเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมในงานเผยแพร่แก่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ. ดังนั้น เมื่อเราไปพักผ่อนที่ไหนสักแห่ง เช่น ไปสวนสาธารณะ, ชายหาด, หรือไปเที่ยวป่า เราเอาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือเกี่ยวกับพระคัมภีร์ติดตัวไปด้วย และเราพูดคุยกับผู้คนที่นั่นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เราเชื่อ. เด็ก ๆ ชอบจริง ๆ กับการให้คำพยานแบบไม่เป็นทางการพร้อมกับเราในลักษณะนี้. พวกเขาเข้าร่วมในการสนทนาและพูดถึงความเชื่อของเขา.”
อัครสาวกโยฮันผู้ชราได้ช่วยหลายคนให้เติบโตในความรักที่พวกเขามีต่อพระเจ้า. ท่านได้เขียนเกี่ยวกับพวกเขาว่า “ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณยิ่งไปกว่าสิ่งเหล่านี้ คือที่ข้าพเจ้าได้ยินว่าลูก [ฝ่ายวิญญาณ] ทั้งหลายของข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป.” (3 โยฮัน 4, ล.ม.) หากเราปลูกฝังความรักต่อพระเจ้าในหัวใจลูกของเรา เราจะมีความยินดีอย่างเดียวกันนั้นแน่นอน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
[ภาพหน้า 9]
การพูดคุยแบบเปิดอกในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
[ภาพหน้า 10]
จงฝึกอบรมบุตรของคุณให้แสดงความรักต่อพระเจ้า
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of Green Chimneys Farm