คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
การทรงเรียกคริสเตียนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์สิ้นสุดลงเมื่อใด?
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคำถามนี้. เราทราบว่าการเจิมสาวกของพระเยซูพร้อมกับมีความหวังจะได้รับมรดกทางภาคสวรรค์เริ่มต้นในปีสากลศักราช 33. (กิจการ 2:1-4) เรายังทราบด้วยว่าหลังจากที่เหล่าอัครสาวกเสียชีวิตไปหมดแล้ว คริสเตียนผู้ถูกเจิมแท้ซึ่งเปรียบเหมือน “ข้าวดี” ได้ “จำเริญไปด้วยกัน” กับคริสเตียนปลอมหรือ “ข้าวละมาน.” (มัดธาย 13:24-30) และแล้วคริสเตียนผู้ถูกเจิมก็เริ่มดำเนินงานอย่างโดดเด่นอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19. ในปี 1919 การ “เก็บเกี่ยวจากแผ่นดินโลก” ซึ่งรวมถึงการรวบรวมผู้ถูกเจิมกลุ่มสุดท้ายได้เริ่มต้นขึ้น.—วิวรณ์ 14:15, 16, ล.ม.
นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปี 1931 เป้าหมายหลักของงานประกาศก็คือการรวบรวมสมาชิกที่ยังไม่ครบแห่งพระกายของพระคริสต์. ในปี 1931 นักศึกษาพระคัมภีร์รับเอาชื่อพยานพระยะโฮวาซึ่งเป็นชื่อที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก และวารสารหอสังเกตการณ์ฉบับ 15 พฤศจิกายน 1933 (ภาษาอังกฤษ) แสดงความคิดเห็นว่า ชื่อที่ไม่เหมือนใครนี้คือค่าจ้างหนึ่ง “เดนาริอน” ซึ่งกล่าวถึงในคำอุปมาของพระเยซูดังบันทึกในมัดธาย 20:1-16 (ล.ม.). เชื่อกันว่าเวลา 12 ชั่วโมงที่กล่าวถึงในอุปมาตรงกับช่วงเวลา 12 ปีนับจากปี 1919 ถึงปี 1931. เป็นเวลานานหลายปีที่เชื่อกันว่าการเรียกฝ่ายสวรรค์สิ้นสุดลงในปี 1931 และคนที่ถูกเรียกให้ร่วมรับสง่าราศีกับพระคริสต์ในปี 1930 และ 1931 เป็นกลุ่ม “สุดท้าย” ที่ถูกเรียก. (มัดธาย 20:6-8) อย่างไรก็ตาม ในปี 1966 มีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องอุปมานี้ และได้มาเห็นชัดว่าอุปมานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับช่วงสิ้นสุดของการทรงเรียกผู้ถูกเจิม.
ในปี 1935 มีการเข้าใจว่า “ชนฝูงใหญ่” ที่กล่าวถึงในวิวรณ์ 7:9-15 (ล.ม.) หมายถึง “แกะอื่น” หรือคริสเตียนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกผู้ซึ่งปรากฏตัวบนฉากของโลกใน “สมัยสุดท้าย” และจะรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนฐานะเป็นกลุ่มชน. (โยฮัน 10:16; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; วิวรณ์ 21:3, 4) หลังจากปีนั้น เป้าหมายของงานทำให้คนเป็นสาวกก็เปลี่ยนเป็นการรวบรวมชนฝูงใหญ่. ฉะนั้น โดยเฉพาะหลังปี 1966 เชื่อกันว่าการเรียกคนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์สิ้นสุดลงในปี 1935. เรื่องนี้ดูเหมือน ได้รับการยืนยันเมื่อเกือบทุกคนที่รับบัพติสมาหลังปี 1935 รู้สึกว่าพวกเขามีความหวังทางแผ่นดินโลก. เชื่อกันว่าการทรงเรียกสำหรับความหวังทางภาคสวรรค์ใด ๆ ก็ตามหลังจากปีนั้นเป็นการทรงเรียกเพื่อเข้ามาแทนที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ได้พิสูจน์ตัวว่าไม่ซื่อสัตย์.
ไม่ต้องสงสัย ถ้าผู้ถูกเจิมคนใดล้มพลาดไปจากความจริงโดยไม่กลับใจ พระยะโฮวาก็จะทรงเรียกอีกคนหนึ่งให้เข้ามาแทนที่เขา. (โรม 11:17-22) อย่างไรก็ดี ผู้ถูกเจิมแท้ที่ไม่ได้รักษาความซื่อสัตย์คงจะมีจำนวนไม่มาก. ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป คริสเตียนบางคนที่รับบัพติสมาหลังปี 1935 ได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าซึ่งทำให้พวกเขามีความหวังทางภาคสวรรค์. (โรม 8:16, 17) ด้วยเหตุนั้น ดูเหมือนเราไม่สามารถกำหนดแน่นอนได้ว่าการทรงเรียกคริสเตียนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด.
ควรมีทัศนะเช่นไรต่อคนซึ่งตัดสินใจแล้วว่าตอนนี้เขาเป็นผู้ถูกเจิมและเริ่มรับประทานสิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่การประชุมอนุสรณ์? ไม่ควรมีใครตัดสินเขา. นี่เป็นเรื่องระหว่างเขากับพระยะโฮวา. (โรม 14:12) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนผู้ถูกเจิมแท้ไม่เรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษ. พวกเขาไม่คิดว่าการเป็นผู้ถูกเจิมจะทำให้เขามี “ความหยั่งเห็นเข้าใจ” พิเศษล้ำเลิศกว่าที่สมาชิกที่มีประสบการณ์บางคนของชนฝูงใหญ่อาจมีด้วยซ้ำ. พวกเขาไม่คิดว่าตนคงมีพระวิญญาณบริสุทธิ์มากกว่าแกะอื่นซึ่งเป็นสหายของพวกเขา ทั้งพวกเขาไม่คาดหมายว่าจะได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษ หรืออ้างว่าการที่พวกเขารับประทานสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์จะทำให้เขาอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคม. ด้วยความถ่อมใจ พวกเขาระลึกว่า ผู้ถูกเจิมบางคนในสมัยศตวรรษแรกก็ไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะรับใช้ฐานะผู้ปกครองหรือผู้ช่วยงานรับใช้. (1 ติโมเธียว 3:1-10, 12, 13; ติโต 1:5-9; ยาโกโบ 3:1) คริสเตียนที่ถูกเจิมบางคนถึงกับอ่อนแอฝ่ายวิญญาณด้วยซ้ำ. (1 เธซะโลนิเก 5:14) และพี่น้องหญิงแม้เป็นผู้ถูกเจิมก็ไม่ได้สอนในประชาคม.—1 ติโมเธียว 2:11, 12.
ฉะนั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมรวมทั้งแกะอื่นสหายของพวกเขาจึงพยายามรักษาสภาพฝ่ายวิญญาณให้เข้มแข็ง โดยปลูกฝังผลพระวิญญาณและส่งเสริมสันติสุขของประชาคม. คริสเตียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือแกะอื่น ต่างก็ทำงานอย่างแข็งขันในการประกาศข่าวดีและงานทำให้คนเป็นสาวกภายใต้การชี้นำของคณะกรรมการปกครอง. คริสเตียนผู้ถูกเจิมเต็มใจทำสิ่งเหล่านี้ตราบที่พระเจ้ามีพระทัยประสงค์ให้พวกเขายังคงอยู่บนแผ่นดินโลกฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา.