ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมยิระมะยา

จุดเด่นจากพระธรรมยิระมะยา

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​ยิระมะยา

ความ​หายนะ​ที่​ยิระมะยา​แจ้ง​เตือน​ประชาชน​ของ​ท่าน​เอง​คง​จะ​น่า​สะพรึงกลัว​สัก​เพียง​ไร! วิหาร​อัน​สง่า​งาม​ซึ่ง​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​กว่า​สาม​ศตวรรษ​จะ​ถูก​เผา​เป็น​จุณ. กรุง​เยรูซาเลม​และ​แผ่นดิน​ยูดาห์​จะ​ถูก​ทำ​ให้​ร้าง​เปล่า ประชาชน​จะ​ถูก​จับ​ไป​เป็น​เชลย. บันทึก​เรื่อง​ราว​เหล่า​นี้​และ​คำ​แถลง​การ​พิพากษา​อื่น ๆ ปรากฏ​ใน​พระ​ธรรม​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​เป็น​อันดับ​สอง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​ก็​คือ​พระ​ธรรม​ยิระมะยา. พระ​ธรรม​นี้​ยัง​กล่าว​ถึง​สิ่ง​ที่​ยิระมะยา​ประสบ​เป็น​ส่วน​ตัว​เมื่อ​ท่าน​ทำ​งาน​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​มา​นาน 67 ปี. ข่าวสาร​ใน​พระ​ธรรม​นี้​ไม่​ได้​เรียบเรียง​ตาม​ลำดับ​เวลา​แต่​ตาม​หัวเรื่อง.

เหตุ​ใด​เรา​ควร​สนใจ​พระ​ธรรม​ยิระมะยา? คำ​พยากรณ์​ที่​สำเร็จ​เป็น​จริง​ของ​พระ​ธรรม​นี้​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ใน​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​ผู้​ทำ​ให้​คำ​สัญญา​เป็น​จริง. (ยะซายา 55:10, 11) งาน​ของ​ยิระมะยา​ฐานะ​ผู้​พยากรณ์​และ​ปฏิกิริยา​ของ​ผู้​คน​เมื่อ​ได้​ฟัง​ข่าวสาร​คล้ายคลึง​กับ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สมัย​ของ​เรา. (1 โกรินโธ 10:11) นอก​จาก​นั้น บันทึก​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ยัง​เน้น​ถึง​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​พระเจ้า​และ​สิ่ง​นี้​น่า​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​อย่าง​ลึกซึ้ง.—เฮ็บราย 4:12.

“ไพร่​พล​ของ​เรา​ได้​ประพฤติ​ความ​ชั่ว​สอง​อย่าง”

(ยิระมะยา 1:1–20:18)

ยิระมะยา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เป็น​ผู้​พยากรณ์​ใน​ปี​ที่ 13 แห่ง​รัชกาล​โยซียา​กษัตริย์​แห่ง​ยูดาห์ เป็น​เวลา 40 ปี​ก่อน​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​จะ​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน​สากล​ศักราช. (ยิระมะยา 1:1, 2) การ​แจ้ง​ข่าว​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ทำ​กัน​ใน​ช่วง 18 ปี​ที่​เหลือ​แห่ง​รัชกาล​โยซียา ได้​เปิดโปง​ความ​ชั่ว​ใน​ยูดาห์​และ​ประกาศ​การ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​อาณาจักร​นั้น. พระ​ยะโฮวา​ประกาศ​ว่า “เรา​จะ​กระทำ​ให้​เมือง​ยะรูซาเลม​เป็น​กอง ๆ, . . . แล​เรา​จะ​กระทำ​ให้​บ้าน​เมือง​แห่ง​ยะฮูดา​ร้าง​ไป, ปราศจาก​คน​หนึ่ง​คน​ใด​อยู่.” (ยิระมะยา 9:11) เพราะ​เหตุ​ใด? พระองค์​ตรัส​ว่า “เพราะ​ไพร่​พล​ของ​เรา​ได้​ประพฤติ​ความ​ชั่ว​สอง​อย่าง.”—ยิระมะยา 2:13.

นอก​จาก​นี้​ยัง​เป็น​ข่าวสาร​เกี่ยว​กับ​การ​ฟื้นฟู​ชน​ที่​เหลือ​ที่​กลับ​ใจ​ด้วย. (ยิระมะยา 3:14-18; 12:14, 15; 16:14-21) แต่​ผู้​ส่ง​ข่าวสาร​กลับ​ไม่​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ. “นาย​ใหญ่​แห่ง​วิหาร​พระ​ยะโฮวา” เฆี่ยน​ยิระมะยา​และ​จับ​ท่าน​ใส่​ขื่อ​ตลอด​คืน.—ยิระมะยา 20:1-3.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

1:11, 12 (ล.ม.)—เหตุ​ใด​การ​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์​จึง​เกี่ยว​ข้อง​กับ “การ​แตก​กิ่ง​ของ​ต้น​อัลมอนด์”? ต้น​อัลมอนด์​เป็น​ต้น​ไม้​ชนิด​แรก ๆ ที่​ออก​ดอก​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ. พระ​ยะโฮวา “ตื่น​ขึ้น​แต่​เช้า​มืด” ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​และ​ใช้ ‘ผู้​ทำนาย​ทั้ง​ปวง​ของ​พระองค์’ ไป​เตือน​ประชาชน​เกี่ยว​กับ​การ​พิพากษา​ของ​พระองค์​และ​ทรง “ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ” จน​กว่า​การ​พิพากษา​นั้น​จะ​เกิด​ขึ้น.—ยิระมะยา 7:25.

2:10, 11อะไร​ทำ​ให้​การ​กระทำ​ของ​ชาว​อิสราเอล​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​เป็น​เรื่อง​ไม่​ปกติ​อย่าง​ยิ่ง? ขณะ​ที่​ชาติ​นอก​รีต​ทาง​ตะวัน​ตก​ไป​ทาง​คิททิม​และ​ทาง​ตะวัน​ออก​ไป​ทาง​เคดาร์ อาจ​นำ​พระ​ของ​ชาติ​อื่น ๆ มา​เพิ่ม​เข้า​กับ​พระ​ของ​ตน แต่​ความ​คิด​ที่​จะ​นำ​พระ​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​มา​แทน​ที่​พระ​ของ​ตน​ทั้ง​หมด​เป็น​เรื่อง​ที่​ไม่​เคย​ได้​ยิน​มา​ก่อน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชาว​อิสราเอล​ละ​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา​โดย​หัน​ไป​นมัสการ​รูป​เคารพ​ที่​ไร้​ชีวิต​แทน​ที่​จะ​นมัสการ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่.

3:11-22; 11:10-12, 17เหตุ​ใด​ยิระมะยา​จึง​รวม​เอา​อาณาจักร​สิบ​ตระกูล​ทาง​เหนือ​ไว้​ใน​การ​ประกาศ​เตือน​ของ​ท่าน​ด้วย​ทั้ง ๆ ที่​ซะมาเรีย​ได้​ถูก​ทำลาย​ไป​แล้ว​ใน​ปี 740 ก่อน ส.ศ.? นั่น​เป็น​เพราะ​พินาศกรรม​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. เป็น​การ​สำแดง​การ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ชาติ​อิสราเอล​ทั้ง​ชาติ ไม่​ใช่​ต่อ​ยูดาห์​พวก​เดียว. (ยะเอศเคล 9:9, 10) ยิ่ง​กว่า​นั้น หลัง​จาก​ซะมาเรีย​ถูก​ทำลาย ความ​หวัง​เรื่อง​การ​ฟื้นฟู​อาณาจักร​สิบ​ตระกูล​ขึ้น​ใหม่​ยัง​คง​มี​ใน​เยรูซาเลม เนื่อง​จาก​ข่าวสาร​ของ​ผู้​พยากรณ์​ของ​พระเจ้า​ยัง​คง​กล่าว​ถึง​ชาติ​อิสราเอล​ทั้ง​ชาติ.

4:3, 4—พระ​บัญชา​นี้​หมาย​ความ​เช่น​ไร? ชาว​ยิว​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ต้อง​เตรียม, พรวน, และ​ทำ​ความ​สะอาด​ดิน​แห่ง​หัวใจ​ของ​ตน. พวก​เขา​ต้อง​ขจัด “หนัง​ที่​หน้า” หัวใจ​ซึ่ง​ก็​คือ​การ​กำจัด​ความ​คิด, ความ​รู้สึก, และ​เจตนา​ที่​ไม่​สะอาด​ออก​ไป. (ยิระมะยา 9:25, 26; กิจการ 7:51) จำเป็น​ต้อง​เปลี่ยน​วิถี​ชีวิต—จาก​ทำ​สิ่ง​ชั่ว​มา​เป็น​ทำ​สิ่ง​ที่​พระเจ้า​พอ​พระทัย.

4:10; 15:18—ใน​แง่​ใด​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ล่อ​ลวง​ประชาชน​ของ​พระองค์​ที่​ขืน​อำนาจ? ใน​สมัย​ยิระมะยา​มี​ผู้​พยากรณ์​ที่ “ทำนาย​มุสา.” (ยิระมะยา 5:31; 20:6; 23:16, 17, 25-28, 32) พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ห้าม​พวก​เขา​ประกาศ​ข่าวสาร​ที่​นำ​ไป​ผิด​ทาง.

16:16 (ฉบับ​แปล​ใหม่)—การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง “ส่ง​ชาว​ประมง​มา​เป็น​อัน​มาก” และ “พา​พราน​มา​เป็น​อัน​มาก” นั้น​หมาย​ความ​อย่าง​ไร? นี่​อาจ​พาด​พิง​ถึง​การ​ส่ง​กอง​กำลัง​ศัตรู​ไป​ตาม​ล่า​ชาว​ยิว​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​พิพากษา​ลง​โทษ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​มี​กล่าว​ไว้​ใน​ยิระมะยา 16:15 ข้อ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ค้น​หา​ชาว​อิสราเอล​ที่​กลับ​ใจ​ได้​ด้วย.

20:7 (ฉบับ​แปล​ใหม่)—พระ​ยะโฮวา ‘ทรง​ใช้​กำลัง​ของ​พระองค์’ ต่อ​ต้าน​ยิระมะยา​และ​หลอก​ท่าน​ใน​แง่​ใด? เนื่อง​จาก​เผชิญ​กับ​ความ​ไม่​แยแส, การ​ปฏิเสธ, และ​การ​ข่มเหง​เมื่อ​ประกาศ​การ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา ยิระมะยา​คง​จะ​รู้สึก​ว่า​ท่าน​ไม่​มี​กำลัง​ที่​จะ​ทำ​งาน​ต่อ​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​กำลัง​ของ​พระองค์​ที่​จะ​ต่อ​ต้าน​แนว​โน้ม​เช่น​นั้น​และ​เสริม​กำลัง​ยิระมะยา​ให้​ทำ​ต่อ​ไป. โดย​วิธี​นี้ พระ​ยะโฮวา​ทรง​หลอก​ยิระมะยา​โดย​ใช้​ท่าน​ให้​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ใน​สิ่ง​ที่​ตัว​ผู้​พยากรณ์​เอง​คิด​ว่า​ทำ​ไม่​ได้.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:8. บาง​ครั้ง​พระ​ยะโฮวา​อาจ​ช่วย​ประชาชน​ของ​พระองค์​ให้​พ้น​จาก​การ​ข่มเหง บาง​ที​อาจ​ใช้​ผู้​พิพากษา​ที่​เที่ยงธรรม, โดย​นำ​คน​ที่​มี​เหตุ​ผล​มา​แทน​คน​ที่​เป็น​ปฏิปักษ์, หรือ​โดย​ประทาน​กำลัง​แก่​ผู้​นมัสการ​ของ​พระองค์​เพื่อ​จะ​อด​ทน​ได้.—1 โกรินโธ 10:13.

2:13, 18. ชาว​อิสราเอล​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ทำ​สิ่ง​ชั่ว​สอง​อย่าง. พวก​เขา​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​เป็น​แหล่ง​แห่ง​พระ​พร, การ​ชี้​นำ, และ​การ​ปก​ป้อง​ที่​มั่นคง. และ​พวก​เขา​ยัง​สกัด​อ่าง​น้ำ​โดย​นัย​ของ​ตน​โดย​พยายาม​สร้าง​พันธมิตร​ทาง​ทหาร​กับ​อียิปต์​และ​อัสซีเรีย. ใน​สมัย​ของ​เรา การ​ละ​ทิ้ง​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​และ​หัน​ไป​หมกมุ่น​สนใจ​ใน​ปรัชญา​และ​ทฤษฎี​ของ​มนุษย์​และ​การ​เมือง​ของ​โลก เปรียบ​ได้​กับ​การ​เอา ‘อ่าง​ที่​แตก’ มา​แทน “น้ำพุ​ประกอบ​ด้วย​น้ำ​มี​ชีวิต.”

6:16. พระ​ยะโฮวา​กระตุ้น​เตือน​ให้​ประชาชน​ที่​ขืน​อำนาจ​ของ​พระองค์​หยุด​คิด, ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง, และ​หัน​กลับ​มา​สู่ “ทาง” ของ​บรรพบุรุษ​ที่​ซื่อ​สัตย์. ไม่​ควร​หรอก​หรือ​ที่​เรา​จะ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​เพื่อ​ดู​ว่า​เรา​กำลัง​ดำเนิน​ใน​แนว​ทาง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประสงค์​ให้​เรา​เดิน​จริง ๆ หรือ​ไม่?

7:1-15. การ​หมาย​พึ่ง​พระ​วิหาร​โดย​มอง​ว่า​เป็น​เครื่องราง​คุ้มครอง​ชนิด​หนึ่ง​ไม่​ได้​ช่วย​ปก​ป้อง​ชาว​ยิว​ให้​ปลอด​ภัย. เรา​ควร​ดำเนิน​โดย​ความ​เชื่อ​ไม่​ใช่​ด้วย​สิ่ง​ที่​มอง​เห็น.—2 โกรินโธ 5:7.

15:16, 17. เช่น​เดียว​กับ​ยิระมะยา เรา​สามารถ​ต่อ​สู้​กับ⁠ความ​ท้อ​แท้​ใจ​ได้. เรา​จะ​ทำ​ได้​โดย​มี​ความ​ยินดี​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่วน​ตัว​อย่าง​จริงจัง, สรรเสริญ​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​งาน​รับใช้, และ​หลีก​เลี่ยง​การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี.

17:1, 2. บาป​ที่​ประชาชน​ใน​ยูดาห์​กระทำ​ส่ง​ผล​ให้​พระ​ยะโฮวา​ไม่​พอ​พระทัย​เครื่อง​บูชา​ของ​พวก​เขา. ความ​ไม่​สะอาด​ทาง​ศีลธรรม​ทำ​ให้​เครื่อง​บูชา​แห่ง​คำ​สรรเสริญ​ของ​เรา​ไม่​เป็น​ที่​ยอม​รับ.

17:5-8. มนุษย์​และ​สถาบัน​ต่าง ๆ ควร​ค่า​แก่​การ​ไว้​วางใจ​ก็​ต่อ​เมื่อ​พวก​เขา​ประพฤติ​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​และ​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​เรื่อง​ความ​รอด​และ​สันติภาพ​แท้​และ​ความ​ปลอด​ภัย นับ​ว่า​สุขุม​ที่​เรา​ควร​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​เท่า​นั้น.—บทเพลง​สรรเสริญ 146:​3.

20:8-11. เรา​ไม่​ควร​ปล่อย​ให้​ความ​เฉยเมย, การ​ต่อ​ต้าน, หรือ​การ​ข่มเหง​มา​ทำ​ให้​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ลด​น้อย​ลง.—ยาโกโบ 5:10, 11.

“ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เอา​คอ​พวก​ท่าน​มา​ใส่​ไว้​ใน​ใต้​แอก​ของ​กษัตริย์​เมือง​บาบูโลน”

(ยิระมะยา 21:1–51:64)

ยิระมะยา​ประกาศ​การ​พิพากษา​ต่อ​กษัตริย์​สี่​องค์​สุด​ท้าย​ของ​ยูดาห์​รวม​ทั้ง​ต่อ​เหล่า​ผู้​พยากรณ์​เท็จ, ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ที่​ไม่​รับผิดชอบ​ใน​หน้า​ที่, และ​เหล่า​ปุโรหิต​ที่​กิน​สินบน. ใน​การ​พูด​ถึง​ชน​ที่​เหลือ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ว่า​เป็น​เหมือน​มะเดื่อ​เทศ​ดี พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​ตั้ง​ตา​ของ​เรา​ดู​เหนือ​เขา​ทั้ง​ปวง​เพื่อ​จะ​เป็น​ความ​ดี​แก่​เขา.” (ยิระมะยา 24:5, 6) คำ​พยากรณ์​สาม​เรื่อง​ใน​บท​ที่ 25 เป็น​การ​สรุป​คำ​พิพากษา​ซึ่ง​มี​การ​กล่าว​ถึง​ราย​ละเอียด​ใน​บท​ต่อ ๆ ไป.

เหล่า​ปุโรหิต​และ​ผู้​พยากรณ์​วาง​แผน​สังหาร​ยิระมะยา. ข่าวสาร​ที่​ท่าน​ประกาศ​คือ พวก​เขา​ต้อง​ปรนนิบัติ​กษัตริย์​บาบิโลน. ยิระมะยา​กล่าว​แก่​กษัตริย์​ซิดคียา​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เอา​คอ​พวก​ท่าน​มา​ใส่​ไว้​ใน​ใต้​แอก​ของ​กษัตริย์​เมือง​บาบูโลน.” (ยิระมะยา 27:12) อย่าง​ไร​ก็​ตาม “ท่าน​ที่​กระจาย​อิสราเอล​นั้น​จะ​รวบ​รวม​เขา.” (ยิระมะยา 31:10, ฉบับ​แปล​ใหม่) ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี พระเจ้า​ทำ​คำ​สัญญา​กับ​ชาว​เรคาบ. ยิระมะยา​ถูก​จับ “ไป​ใส่​ไว้​ใน​ที่​บริเวณ​คุก.” (ยิระมะยา 37:21) กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย และ​ประชาชน​ส่วน​ใหญ่​ถูก​จับ​เป็น​เชลย. ยิระมะยา​และ​บารุค เลขานุการ​ของ​ท่าน​อยู่​ใน​หมู่​คน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่. คน​ที่​กลัว​ได้​หนี​ไป​ยัง​อียิปต์​แม้​ยิระมะยา​จะ​เตือน​แล้ว​ก็​ตาม. บท 46 ถึง 51 กล่าว​ถึง​ถ้อย​คำ​ของ​ยิระมะยา​เกี่ยว​กับ​ชาติ​ต่าง ๆ.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

22:30—คำ​ประกาศิต​นี้​ทำ​ให้​สิทธิ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ที่​จะ​ได้​สืบ​ทอด​ราชบัลลังก์​ของ​ดาวิด​เป็น​โมฆะ​ไหม? (มัดธาย 1:1, 11) ไม่​เลย. คำ​ประกาศิต​ห้าม​ไม่​ให้​คน​ใด ๆ ใน​เชื้อ​วงศ์​ของ​ยะโฮยาคิน “นั่ง​บน​พระ​ที่​นั่ง​ของ​ดาวิด​ครอบครอง​เมือง​ยะฮูดา.” พระ​เยซู​ทรง​ปกครอง​จาก​สวรรค์​ไม่​ใช่​จาก​ราชบัลลังก์​ใน​ยูดาห์.

23:33 (ล.ม.)—อะไร​คือ “ภาระ​หนัก​ของ​พระ​ยะโฮวา”? ใน​สมัย​ยิระมะยา คำ​แถลง​สำคัญ​ที่​ผู้​พยากรณ์​ประกาศ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พินาศกรรม​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​นั้น​เป็น​ภาระ​หนัก​สำหรับ​ชน​ร่วม​ชาติ​ของ​ท่าน. ที่​จริง ประชาชน​ที่​ไม่​ตอบรับ​ก็​เป็น​เหมือน​ภาระ​หนัก​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​ถึง​ขนาด​ที่​พระองค์​จะ​ทรง​ละ​ทิ้ง​พวก​เขา. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ข่าวสาร​ใน​พระ​คัมภีร์​เกี่ยว​กับ​การ​ทำลาย​ล้าง​คริสต์​ศาสนจักร​ที่​ใกล้​เข้า​มา​เป็น​ภาระ​หนัก​สำหรับ​คริสต์​ศาสนจักร และ​ประชาชน​ที่​ไม่​ใส่​ใจ​ใน​ข่าวสาร​ก็​เป็น​ภาระ​หนัก​สำหรับ​พระเจ้า.

31:33 (ล.ม.)—บทบัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ถูก​เขียน​ไว้​ใน​หัวใจ​อย่าง​ไร? เมื่อ​คน​เรา​รัก​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​มาก​ถึง​ขนาด​เกิด​ความ​ปรารถนา​อย่าง​แรง​กล้า​ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา สามารถ​กล่าว​ได้​ว่า​บทบัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ถูก​เขียน​ไว้​ใน​หัวใจ​ของ​เขา.

32:10-15—มี​การ​เขียน​หนังสือ​ข้อ​ตก​ลง​ที่​เหมือน​กัน​สอง​ฉบับ​เพื่อ​วัตถุ​ประสงค์​อะไร? ฉบับ​ที่​ไม่​ได้​ผนึก​ตรา​มี​ไว้​เพื่อ​ตรวจ​ดู. ส่วน​ฉบับ​ที่​ผนึก​ตรา​มี​ไว้​เป็น​หลักฐาน​สำรอง​เพื่อ​พิสูจน์​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ฉบับ​ที่​ไม่​ได้​ผนึก​ตรา หาก​จำเป็น. ยิระมะยา​ได้​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ไว้​ให้​เรา​โดย​การ​ทำ​ตาม​ขั้น​ตอน​ทาง​กฎหมาย​อย่าง​สม​เหตุ​ผล​แม้​เมื่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ญาติ​และ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ.

33:23, 24—“สอง​ตระกูล” ใด​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ที่​นี้? ตระกูล​หนึ่ง​คือ​ราชวงศ์​ที่​สืบ​เชื้อ​สาย​จาก​กษัตริย์​ดาวิด และ​อีก​ตระกูล​หนึ่ง​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​ปุโรหิต​ที่​สืบ​เชื้อ​สาย​จาก​อาโรน. เนื่อง​ด้วย​มี​การ​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​และ​พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา จึง​ดู​เหมือน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ปฏิเสธ​สอง​ตระกูล​นี้ และ​จะ​ไม่​มี​อาณาจักร​ที่​ปกครอง​แผ่นดิน​โลก​หรือ​การ​กอบ​กู้​การ​นมัสการ​ของ​พระองค์​อีก​ต่อ​ไป.

46:22—เหตุ​ใด​จึง​มี​การ​เปรียบ​เสียง​ของ​อียิปต์​เหมือน​เสียง​ของ​งู? นี่​อาจ​พาด​พิง​ถึง​เสียง​ดัง​ฟ่อ ๆ ของ​งู​ที่​กำลัง​ล่า​ถอย​หรือ​ไม่​ก็​เสียง​ของ​ชาติ​อียิปต์​ที่​ได้​รับ​ความ​อับอาย​ขายหน้า​เนื่อง​จาก​ประสบ​ความ​หายนะ. การ​เปรียบ​เทียบ​เช่น​นี้​ยัง​เผย​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า การ​ที่​ฟาโรห์​แห่ง​อียิปต์​สวม​มงกุฎ​ที่​มี​รูป​งู​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​จะ​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​จาก​อูอัทชิท​เทพ​ธิดา​แห่ง​อสรพิษ ช่าง​ไร้​ค่า​สัก​เพียง​ไร.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

21:8, 9; 38:19. แม้​ใน​นาที​สุด​ท้าย​พระ​ยะโฮวา​ก็​ยัง​เสนอ​ทาง​เลือก​แก่​ชาว​กรุง​เยรูซาเลม​ที่​ไม่​กลับ​ใจ​ซึ่ง​สม​ควร​ตาย. ใช่​แล้ว “พระ​เมตตา​ของ​พระองค์​ก็​ล้น​เหลือ.”—2 ซามูเอล 24:14; บทเพลง​สรรเสริญ 119:156.

31:34. ช่าง​เป็น​การ​ปลอบ​ประโลม​ใจ​ที่​รู้​ว่า พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​จด​จำ​บาป​ของ​คน​ที่​พระองค์​ทรง​ให้​อภัย​และ​คิด​บัญชี​ใน​อนาคต!

38:7-13; 39:15-18. พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​ลืม​งาน​รับใช้​ที่⁠เรา​ทำ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ ซึ่ง​รวม​ถึง ‘การ​ปรนนิบัติ​สิทธชน.’—เฮ็บราย 6:10.

45:4, 5. เช่น​เดียว​กับ​สภาพการณ์​ใน​สมัย​สุด​ท้าย​ของ​ยูดาห์ “สมัย​สุด​ท้าย” ของ​ระบบ​นี้​ไม่​ใช่​เวลา​ที่​จะ​มา​แสวง​หา “ของ​ใหญ่” เช่น ความ​มั่งคั่ง, ความ​เด่น​ดัง, หรือ​ความ​มั่นคง​ทาง​วัตถุ.—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:17.

กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​เผา

(ยิระมะยา 52:1-34)

ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ซิดคียา​ครอง​ราชย์​เป็น​ปี​ที่ 11. กษัตริย์​นะบูคัดเนซัร​แห่ง​บาบิโลน​ได้​ล้อม​กรุง​เยรูซาเลม​นาน 18 เดือน. ใน​วัน​ที่​เจ็ด​เดือน​ที่​ห้า​ของ​ปี​ที่ 19 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​นะบูคัดเนซัร นะบูซาระดาน​ผู้​บัญชา​การ​ทหาร​รักษา​พระองค์​ได้ “มา​ยัง” หรือ​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเลม. (2 กษัตริย์ 25:8) บาง​ที​จาก​ค่าย​ของ​เขา​ที่​อยู่​นอก​กรุง นะบูซาระดาน​ได้​ประเมิน​สถานการณ์​และ​วาง​แผนการ​ที่​จะ​ลง​มือ. สาม​วัน​ถัด​มา ใน​วัน​ที่​สิบ​ของ​เดือน​นั้น เขา “ได้​เข้า​ไป​ใน” กรุง​เยรูซาเลม และ​ได้​เผา​กรุง​นั้น.—ยิระมะยา 52:12, 13, ฉบับ​แปล​ใหม่.

ยิระมะยา​กล่าว​ถึง​พินาศกรรม​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​อย่าง​ละเอียด. ด้วย​เหตุ​นั้น คำ​พรรณนา​ของ​ท่าน​จึง​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​บทเพลง​คร่ำ​ครวญ. งาน​ประพันธ์​ดัง​กล่าว​ปรากฏ​ใน​พระ​ธรรม​บทเพลง​ร้อง​ทุกข์​ของ​ยิระมะยา.

[ภาพ​หน้า 8]

คำ​แถลง​ของ​ยิระมะยา​รวม​ถึง​คำ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​กรุง​เยรูซาเลม

[ภาพ​หน้า 9]

พระ​ยะโฮวา ‘ทรง​ใช้​กำลัง​ของ​พระองค์’ ต่อ​ต้าน​ยิระมะยา​ใน​แง่​ใด?

[ภาพ​หน้า 10]

“เหมือน​อย่าง​ลูก​มะเดื่อ​เทศ​ที่​ดี​นั้น, เรา​จะ​รับ​พวก​ยะฮูดา​ที่​ต้อง​กวาด⁠เอา​ไป​เป็น​เชลย​นั้น.”—ยิระมะยา 24:5