ทำไมจึงหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง?
ทำไมจึงหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง?
พระยะโฮวาทรงเป็นแบบฉบับในเรื่องความสมดุล. “พระราชกิจของพระองค์ก็สมบูรณ์” และความยุติธรรมของพระองค์ไม่เคยเป็นแบบแข็งกระด้าง เนื่องจากทรงสำแดงความยุติธรรมพร้อมกับความเมตตาเสมอ. (พระบัญญัติ 32:4, ฉบับแปลใหม่) ความรักของพระองค์ไม่เคยขาดหลักการ เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติอย่างที่สอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ อันสมบูรณ์. (บทเพลงสรรเสริญ 89:14; 103:13, 14) บิดามารดาคู่แรกของเราถูกสร้างอย่างสมดุลในทุกด้าน. พวกเขาไม่มีแนวโน้มที่จะสุดโต่งในทางใดทางหนึ่ง. อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มมีบาป ก็เกิดมี “ตำหนิ” หรือความไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียความสมดุลที่มีในตอนแรกนั้น.—พระบัญญัติ 32:5.
เพื่อเป็นตัวอย่าง: คุณเคยนั่งรถยนต์หรือจักรยานที่มียางบวมโตไหม? ไม่ต้องสงสัยว่า ลักษณะที่ผิดปกติเช่นนั้นคงจะทำให้รถวิ่งกระเด้งกระดอนแถมยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย. ยางอย่างนั้นจำเป็นต้องได้รับการซ่อมก่อนที่มันจะบวมมากขึ้นและแบนไปในที่สุด. ทำนองเดียวกัน บุคลิกที่ไม่สมบูรณ์ของเราทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม. ถ้าเราปล่อยให้ “อาการบวม” นี้กำเริบต่อไป ชีวิตของเราก็อาจดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น ถึงกับเป็นอันตรายด้วยซ้ำ.
บางครั้งคุณลักษณะที่ดีในตัวเรา ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ก็อาจกลายเป็นความสุดโต่งไปได้เหมือนกัน. ตัวอย่างเช่น แม้ว่าพระบัญญัติของโมเซกำหนดให้ชาวอิสราเอลทำพู่ติดรอบชายเสื้อ แต่พวกฟาริซายในสมัยพระเยซู ‘ขยายพู่ห้อยเสื้อของเขาให้ใหญ่’ ที่สุดเท่าที่จะใหญ่ได้ เพราะต้องการจะโดดเด่นกว่าฝูงชน. สิ่งที่กระตุ้นพวกเขาคือความต้องการที่จะดูน่าเลื่อมใสกว่าคนอื่น ๆ.—มัดธาย 23:5; อาฤธโม 15:38-40.
ทุกวันนี้บางคนพยายามเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นโดยใช้ทุกวิธีที่เป็นไปได้ กระทั่งการทำให้คนอื่นตกตะลึง. แท้จริงแล้วนี่อาจเป็นการร้องอ้อนวอนว่า “สนใจฉันหน่อย! ฉันก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน!” แต่การเป็นคนสุดโต่งในเรื่องเครื่องแต่งกาย, ทัศนคติ, และการกระทำจะไม่สามารถสนองความต้องการที่แท้จริงของคริสเตียนได้.
ทัศนะที่สมดุลในเรื่องงาน
ไม่ว่าเราจะเป็นใครและไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน งานที่ดีเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตมีความหมาย. เราถูกสร้างมาให้พอใจยินดีกับการทำงานเช่นนั้น. (เยเนซิศ 2:15) ด้วยเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลจึงตำหนิความเกียจคร้าน. อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ชัดเจนว่า “ถ้าผู้ใดไม่ยอมทำงานก็อย่าให้เขากิน.” (2 เธซะโลนิเก 3:10, ฉบับแปลใหม่) จริงทีเดียว ความเกียจคร้านในการทำงานอาจไม่เพียงทำให้ยากจนและขาดความพอใจยินดีเท่านั้น แต่ยังทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัยอีกด้วย.
หลายคนเป็นคนสุดโต่งในอีกด้านหนึ่ง คือกลายเป็นคนบ้างาน สมัครใจเป็นทาสของงาน. พวกเขาออกจากบ้านแต่เช้าตรู่และกลับบ้านดึกดื่น โดยอาจหาเหตุผลว่าที่เขาทำงานก็เพื่อครอบครัวจะมีสิ่งที่ดีที่สุด. แต่แท้จริงแล้วครอบครัวของพวกเขาอาจเป็นทุกข์เพราะเขาทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างนั้น. แม่บ้านคนหนึ่งซึ่งสามีทำงานล่วงเวลาบ่อย ๆ กล่าวว่า “ฉันยินดีที่จะแลกทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านที่หรูหรานี้กับโอกาสที่สามีจะอยู่กับฉันและลูก ๆ.” คนที่ทำงานมากเกินไปควรคิดอย่างจริงจังถึงประสบการณ์ส่วนตัวของกษัตริย์ซะโลโมที่ว่า “ข้าฯ ได้หันมาดูบรรดาการงานที่มือของข้าฯ ได้กระทำนั้น, และบรรดาการที่ข้าฯ ได้ออกแรงทำนั้น; และดูเถอะ, การทั้งหลายเป็นอนิจจังเหมือนวิ่งไล่ตามลม.”—ท่านผู้ประกาศ 2:11.
ใช่แล้ว ในเรื่องงาน เราต้องหลีกเลี่ยงการเป็นคนสุดโต่งไม่ว่าในด้านใด. เราสามารถเป็นคนที่เอาการเอางานได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรระลึกเสมอว่าการเป็นทาสของงานจะปล้นความสุขไปจากเราและอาจจะเอาไปมากกว่านั้นด้วยซ้ำ.—หลีกเลี่ยงทัศนะที่สุดโต่งในเรื่องความสนุกสนาน
คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าในสมัยของเรา “คนจะเป็น . . . คนรักการสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:2, 4) การติดตามความสนุกสนานกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดซึ่งซาตานใช้เพื่อล่อมนุษย์ให้หันไปจากพระเจ้า. ความลุ่มหลงมัวเมาในนันทนาการและความบันเทิง เช่น ในกีฬาท้ามฤตยูหรือที่ทำให้ “อะดรีนาลิน” สูบฉีดไปทั่วร่างนั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก. กิจกรรมเช่นนั้นกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจำนวนคนซึ่งเข้าร่วมในกิจกรรมเหล่านั้นก็เพิ่มขึ้นด้วย. ทำไมจึงเป็นที่นิยมกันมากอย่างนั้น? ผู้คนมากมายไม่พอใจกับชีวิตประจำวันของตนเองและแสวงหาความตื่นเต้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. แต่เพื่อจะมีความตื่นเต้นอยู่เรื่อยไป พวกเขาต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ. คริสเตียนที่สำนึกถึงฐานะของตนเองจะหลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงอันตรายเพราะพวกเขานับถือชีวิตซึ่งเป็นของประทานและพระผู้ทรงประทานชีวิตนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 36:9.
เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์คู่แรก พระองค์ทรงให้พวกเขาอยู่ที่ไหน? ในสวนเอเดน ซึ่งในภาษาเดิมหมายความว่า “ความเพลิดเพลิน” หรือ “ความยินดี.” (เยเนซิศ 2:8) เห็นได้ชัดว่า ชีวิตที่น่าเพลิดเพลินและน่ายินดีเป็นส่วนหนึ่งของพระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับมนุษยชาติ.
พระเยซูทรงวางแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมไว้ให้เราในเรื่องการมีทัศนะที่สมดุลในเรื่องความสนุกเพลิดเพลิน. พระองค์ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่เพื่อทำให้พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ และพระองค์ไม่เคยหยุดดำเนินชีวิตตามกฎหมายและหลักการของพระเจ้า. พระองค์ทรงให้เวลากับคนที่จำเป็นต้องได้รับ แม้ในเวลาที่ทรงเหน็ดเหนื่อย. (มัดธาย 14:13, 14) ใช่แล้ว พระเยซูทรงตอบรับคำเชิญไปร่วมรับประทานอาหารและทรงมีเวลาสำหรับพักผ่อนและหาความสดชื่น. แน่นอน พระองค์ทรงทราบว่าศัตรูบางคนอาจมองดูพระองค์อย่างตำหนิติเตียนที่ทรงทำเช่นนี้. พวกเขาพูดถึงพระองค์ว่า “ดูเถิดนี่เป็นคนกินเติบและขี้เมา.” (ลูกา 7:34, ฉบับแปลใหม่; 10:38; 11:37) แต่พระเยซูไม่ทรงเชื่อว่าความเลื่อมใสแท้หมายถึงการตัดความเพลิดเพลินทุกอย่างออกจากชีวิต.
เห็นได้ชัดว่า เป็นการฉลาดที่เราจะไม่เป็นคนสุดโต่งในเรื่องนันทนาการ. การให้ความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นเรื่องหลักในชีวิตไม่อาจทำให้มีความสุขแท้ได้. การทำเช่นนั้นอาจยังผลให้เราละเลยสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า รวมถึงสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. กระนั้น เราไม่ควรปฏิเสธความสนุกสนานทุกอย่างหรือกลายเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นซึ่งใช้ชีวิตอย่างสมดุลในเรื่องความสนุกสนาน.—ท่านผู้ประกาศ 2:24; 3:1-4.
พบความสุขในการใช้ชีวิตอย่างสมดุล
สาวกยาโกโบเขียนไว้ว่า “เราทั้งหลายย่อมพลาดพลั้งกันหลาย ๆ สิ่ง.” (ยาโกโบ 3:2) เราอาจพบว่านี่เป็นความจริงในกรณีของเรา ขณะที่เราพยายามจะไม่เป็นคนสุดโต่ง. อะไรจะช่วยเราให้รักษาความสมดุลเอาไว้? สิ่งนั้นคือ เราจำเป็นต้องรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของเราเอง. การมองตามความเป็นจริงอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. เราอาจมีแนวโน้มจะเป็นคนสุดโต่งในบางเรื่องโดยไม่รู้ตัว. ถ้าเช่นนั้น เราควรอยู่ใกล้กับคริสเตียนคนอื่น ๆ ที่อาวุโสและรับฟังคำแนะนำที่สมดุล. (ฆะลาเตีย 6:1) เราอาจขอคำแนะนำจากเพื่อนที่เราไว้ใจหรือผู้ปกครองในประชาคมที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้. คำแนะนำที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักเช่นนั้นพร้อมด้วยข้อคัมภีร์ต่าง ๆ สามารถเป็น “กระจกเงา” ให้เราตรวจดูว่าตัวเราเป็นเช่นไรในทัศนะของพระยะโฮวา.—ยาโกโบ 1:22-25, ฉบับแปลใหม่.
น่าดีใจที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. ด้วยความพยายามอย่างมุ่งมั่นและการสนับสนุนจากพระยะโฮวา เราสามารถเป็นคนที่สมดุลและดังนั้นเราจึงมีความสุข. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพี่น้องคริสเตียนชายหญิง และอาจถึงกับเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งขึ้นแก่คนที่เราประกาศด้วย. เหนือสิ่งอื่นใด เราจะเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าผู้สมดุลและเปี่ยมด้วยความรักได้อย่างใกล้เคียงยิ่งขึ้น.—เอเฟโซ 5:1.
[ที่มาของภาพหน้า 28]
©Greg Epperson/age fotostock