พบความพอใจยินดีโดยการใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล
พบความพอใจยินดีโดยการใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล
ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงเคยเห็นแมวที่นอนบิดตัวพร้อมกับส่งเสียงครางอย่างมีความสุข. นั่นเป็นภาพที่บ่งบอกถึงความพึงพอใจอย่างเห็นได้ชัด. คงจะดีสักเพียงไรถ้าเราได้นอนบิดตัวเหมือนแมวและรู้สึกพึงพอใจแบบนั้นบ้าง! แต่สำหรับหลายคนความพอใจยินดีเป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีอยู่เพียงประเดี๋ยวประด๋าว. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เนื่องจากคนเรามักทำผิดพลาดเนื่องจากเราไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์ และเราต้องทนกับข้อบกพร่องของคนอื่นด้วย. นอกจากนั้น เรามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “สมัยสุดท้าย” ซึ่งมี “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” เป็นลักษณะสำคัญ. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) แม้เราจะมีความทรงจำในวัยเด็กที่ทำให้พอใจยินดีอยู่บ้าง แต่พวกเราส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ประสบกับความกดดันอย่างหนักเนื่องจาก “วิกฤตกาล” ที่ว่านี้. เป็นไปได้ไหมที่จะพบความพอใจยินดีในยุคสมัยของเรา?
ขอให้สังเกตว่า พระคัมภีร์กล่าวว่าวิกฤตกาลเหล่านี้จะยาก ที่จะรับมือได้ ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะรับมือ. เราสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้โดยนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. เราไม่อาจจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเราได้เสมอไป แต่เราจะพบความพอใจยินดีในระดับหนึ่ง. ให้เราพิจารณาหลักการสามข้อที่ช่วยได้.
มองตัวเองตามความเป็นจริงเสมอ
เพื่อจะมีความพอใจยินดี เราต้องมองดูข้อจำกัดของตัวเองและของคนอื่นอย่างที่ตรงกับความเป็นจริงเสมอ. ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนไปถึงชาวโรมัน ท่านชี้ว่า “คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า.” (โรม 3:23, ล.ม.) มีหลายแง่มุมเกี่ยวกับสง่าราศีของพระยะโฮวาที่เราไม่สามารถเข้าใจได้. ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ข้อเท็จจริงง่าย ๆ ซึ่งกล่าวไว้ในเยเนซิศ 1:31 ที่ว่า “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.” เมื่อไรก็ตามที่พระยะโฮวาทรงประสงค์จะระลึกถึงสิ่งที่ทรงทำไปแล้ว พระองค์ทรงสามารถตรัสได้ทุกครั้งว่า “ดีนัก.” ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถอ้างได้ว่าทุกสิ่งที่เขาทำดีทั้งนั้น. การยอมรับขีดจำกัดของตนเองเป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่ความพอใจยินดี. แต่ก็มีอะไรมากกว่านั้นอีก. เราจำต้องเข้าใจและยอมรับทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ ด้วย.
คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “บาป” มาจากรากศัพท์ที่มีความหมายว่า “พลาดเป้า.” เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้นึกภาพชายคนหนึ่งที่หวังจะได้รางวัลจากการยิงธนูให้ถูกเป้า. เขามีลูกธนูอยู่สามดอก. เขายิงดอกแรกและพลาดเป้าไปเป็นเมตร. ดอกที่สองเขาเล็งให้ดีขึ้น แต่ก็ยังพลาดเป้าไปหนึ่งฟุต. เขารวบรวมสมาธิเต็มที่ ยิงลูกธนูดอกสุดท้ายออกไปและพลาดเป้าไปเพียงนิ้วเดียว. มันใกล้เป้ามากจริง ๆ แต่ก็ยังถือว่าพลาดอยู่ดี.
เราทุกคนก็เป็นเหมือนกับผู้ยิงธนูที่ผิดหวังคนนั้น. บางคราวดูเหมือนว่าเราจะ “พลาดเป้า” ไปมาก. บางครั้งเรายิงเกือบจะเข้าเป้าแต่ก็ยังพลาดไป. เราข้องขัดใจเพราะเราได้พยายามมากแล้วแต่ก็ยังไม่ดีพอ. ตอนนี้ให้เราคิดถึงผู้ยิงธนูคนนั้นอีกครั้งหนึ่ง.
เขาหันหลังเดินจากไปช้า ๆ ผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะเขาอยากได้รางวัลนั้นจริง ๆ. ทันใดนั้น ผู้ดูแลการแข่งขันก็เรียกเขากลับมาแล้วยื่นรางวัลให้ พร้อมกับพูดว่า “ผมต้องการมอบรางวัลนี้ให้คุณเพราะผมชอบคุณ และผมเห็นว่าคุณได้พยายามมากเหลือเกิน.” ผู้ยิงธนูคนนั้นรู้สึกปีติยินดีอย่างเหลือล้น!
ปีติยินดีอย่างเหลือล้น! ทุกคนที่ได้รับ “ของประทาน” แห่งชีวิตนิรันดร์ในสภาพมนุษย์สมบูรณ์จากพระเจ้าจะรู้สึกเช่นนั้น. (โรม 6:23) หลังจากนั้น ทุกสิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นสิ่งดีทั้งสิ้น พวกเขาจะไม่พลาดเป้าอีกต่อไป. พวกเขาจะมีความพอใจยินดีอย่างเต็มที่. ในเวลานี้ ถ้าเรารักษาทัศนะเช่นนี้ไว้เสมอ เราจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อตัวเองและต่อคนรอบข้าง.
สำนึกว่าทุกสิ่งต้องใช้เวลา
เป็นความจริงที่ว่าทุกสิ่งต้องใช้เวลา. แต่คุณเคยสังเกตไหมว่าเป็นเรื่องยากเพียงไรที่จะรักษาความพอใจยินดีเอาไว้เมื่อต้องรอคอยอะไรบางอย่างนานกว่าที่คิด หรือเมื่อเหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดีดูเหมือนยืดเยื้อนานกว่าที่คาดไว้? กระนั้น บางคนสามารถรักษาความพอใจยินดีไว้ได้ในสถานการณ์เช่นนั้น. ขอให้นึกถึงตัวอย่างของพระเยซู.
ก่อนจะเสด็จมายังโลก พระเยซูทรงอยู่ในสวรรค์และทรงเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องการเชื่อฟัง. อย่างไรก็ตาม บนโลกนี่เองที่พระองค์ “ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง.” โดยวิธีใด? ก็โดยเรียน “จากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา.” ก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงเคยเห็นความทุกข์ยาก แต่ไม่เคยประสบด้วยพระองค์เอง. เมื่อพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ที่ทรงรับบัพติสมาที่แม่น้ำจอร์แดนจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่โกลโกทา พระองค์ได้ประสบความทุกข์ลำบากมากมาย. เราไม่ทราบรายละเอียดทุกอย่างว่าในเรื่องนี้พระเยซูทรง “ถูกทำให้สมบูรณ์” โดยวิธีใด แต่เราทราบว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา.—เฮ็บราย 5:8, 9, ล.ม.
พระเยซูทรงประสบความสำเร็จเนื่องจากพระองค์ทรงใคร่ครวญถึง “ความยินดีที่มีอยู่ตรงหน้า” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับความซื่อสัตย์ของพระองค์. (เฮ็บราย 12:2) อย่างไรก็ตาม มีบางครั้งที่พระองค์ “ได้ถวายคำวิงวอนและคำขอร้องด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) บางครั้งเราเองก็อาจอธิษฐานทั้งน้ำตาอย่างนั้นเช่นกัน. พระยะโฮวาทรงมองดูเรื่องนี้อย่างไร? ข้อคัมภีร์เดียวกันนี้แสดงว่าพระยะโฮวาทรงสดับคำอธิษฐานของพระเยซู “ด้วยความพอพระทัย.” พระเจ้าจะทรงทำเช่นนั้นกับเราด้วย. เพราะเหตุใด?
เพราะพระยะโฮวาทรงทราบขีดจำกัดของเรา และพระองค์ทรงช่วยเรา. ความอดทนของทุกคนมีขีดจำกัด. ในเบนิน ทวีปแอฟริกา มีคำกล่าวว่า “น้ำที่มากเกินไปทำให้แม้แต่กบจมได้ในที่สุด.” พระยะโฮวาทรงทราบดียิ่งกว่าตัวเราเองว่าเมื่อไรที่เราใกล้ถึงขีดที่ทนไม่ได้. ด้วยความรัก พระองค์ทรงจัดเตรียม “ความเมตตาและ . . . พระกรุณาอันไม่พึงได้รับเพื่อช่วยในเวลาอันเหมาะ.” (เฮ็บราย 4:16, ล.ม.) พระองค์ได้ทรงทำเช่นนั้นเพื่อพระเยซู และพระองค์ทรงทำเช่นเดียวกันเพื่อคนอื่น ๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน. ขอให้พิจารณาว่าโมนิกาได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างไรบ้าง.
โมนิกาเติบโตขึ้นมาเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ชีวิตของเธอแทบไม่มีอะไรให้กังวล. ในปี 1968 ขณะที่ยังอยู่ในวัยยี่สิบ
ต้น ๆ เธอต้องตกใจสุดขีดเมื่อได้รู้ว่าตนเองเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งโดยปกติแล้วโรคนี้จะทำให้ร่างกายบางส่วนเป็นอัมพาต. ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและเธอต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ในหลายด้านเกี่ยวกับงานรับใช้เต็มเวลาที่ทำอยู่. โมนิการู้ดีว่าโรคที่เธอเป็นจะต้องใช้เวลานานในการรักษา. สิบหกปีต่อมา เธอกล่าวว่า “โรคของดิฉันยังคงไม่มีทางรักษาและคงจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าระบบใหม่ของพระเจ้าจะเปลี่ยนทุกสิ่งเสียใหม่.” เธอยอมรับว่ามันไม่ง่ายเลย “ถึงแม้พวกเพื่อน ๆ จะบอกว่าดิฉันยังเป็นคนร่าเริงและมองโลกในแง่ดีเหมือนเดิม . . . แต่เพื่อนที่สนิทที่สุดจะรู้ว่าบางครั้งดิฉันก็ร้องไห้มากเหมือนกัน.”อย่างไรก็ตาม เธอให้ข้อสังเกตว่า “ดิฉันได้เรียนรู้ที่จะอดทนและมีความสุขกับสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่แสดงว่าสุขภาพของดิฉันดีขึ้น. สัมพันธภาพส่วนตัวระหว่างดิฉันกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อดิฉันได้มองเห็นว่ามนุษย์ช่างไร้ความสามารถที่จะช่วยดิฉันต่อสู้กับโรคภัย. มีเพียงพระยะโฮวาเท่านั้นที่สามารถให้การเยียวยารักษาได้อย่างแท้จริง.” ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา โมนิกายังคงรักษาความพอใจยินดีเอาไว้ได้และเดี๋ยวนี้เธอสามารถหวนระลึกถึงเวลานานกว่า 40 ปีที่เธอได้อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา.
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์อย่างที่โมนิกาเผชิญอยู่นั้นรับมือไม่ได้ง่าย ๆ. แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน นั่นคือ คุณจะมีความพอใจยินดีมากขึ้นถ้าคุณตระหนักว่าบางสิ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คุณคิด. เช่นเดียวกับโมนิกา คุณก็สามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรง “ช่วยในเวลาอันเหมาะ.”
อย่าเปรียบเทียบ—ตั้งเป้าที่สมเหตุสมผล
คุณคือปัจเจกบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตัว. ไม่มีใครที่จะเหมือนคุณทุกอย่าง. ภาษิตภาษากันในแอฟริกาแสดงข้อเท็จจริงนี้อย่างง่าย ๆ ดังนี้: “นิ้วทุกนิ้วย่อมยาวไม่เท่ากัน.” คงเป็นเรื่องโง่เขลาหากจะเปรียบเทียบนิ้วหนึ่งกับอีกนิ้วหนึ่ง. คุณคงไม่ต้องการให้พระยะโฮวาเปรียบเทียบคุณกับคนอื่น และพระองค์ก็ไม่มีวันทำเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางมนุษย์ แนวโน้มที่จะเปรียบเทียบมีอยู่แพร่หลายและสิ่งนี้อาจบั่นทอนความพอใจยินดีของคนเราได้. ขอให้สังเกตว่าพระเยซูทรงแสดงให้เห็นเรื่องนี้อย่างน่าประทับใจอย่างไร ขณะที่เราอ่านมัดธาย 20:1-16.
พระเยซูตรัสเกี่ยวกับ “เจ้าของสวน” ที่ต้องการคนมาทำงานในสวนองุ่นของเขา. เขาพบคนว่างงานกลุ่มหนึ่งจึงได้จ้างคนเหล่านั้นตั้งแต่ “เวลาเช้า” ซึ่งคงจะเป็นเวลา 6 โมงเช้า. พวกเขาตกลงจะรับค่าแรงปกติสำหรับหนึ่งวันในสมัยนั้น คือหนึ่งเดนาริอนสำหรับหนึ่งวันทำงานที่นาน 12 ชั่วโมง. ไม่ต้องสงสัยว่าคนเหล่านี้คงต้องดีใจที่ได้งานทำและยังเป็นงานที่ได้ค่าแรงอัตราปกติ. ต่อมา เจ้าของสวนก็พบคนว่างงานกลุ่มอื่น ๆ และจ้างมาทำงานตอนเก้าโมงเช้า, เที่ยงวัน, บ่ายสามโมง, และแม้แต่ตอนห้าโมงเย็นด้วยซ้ำ. พวกที่มาทีหลังนี้ไม่มีกลุ่มไหนทำงานเต็มวัน. เจ้าของสวนสัญญากับพวกเขาว่าจะให้ค่าจ้าง “ตามที่ถูกต้อง” ซึ่งพวกเขาก็ตกลง.
เมื่อสิ้นสุดวัน เจ้าของสวนก็สั่งให้เจ้าพนักงานจ่ายค่าจ้าง. เขาบอกให้เรียกคนงานมาและจ่ายเงินให้พวกที่จ้างมาหลังสุดก่อน. คนกลุ่มนี้ทำงานไปเพียงชั่วโมงเดียว แต่น่าแปลกที่พวกเขาได้รับค่าจ้างเต็มวัน. เรานึกภาพออกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงกัน. คนงานที่ได้ทำงานครบ 12 ชั่วโมงก็ลงความเห็นว่าพวกเขาคงจะได้ค่าแรงเพิ่มตามส่วน. แต่พวกเขาก็ได้ค่าแรงเท่ากัน.
พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไร? “เมื่อเขารับเงินไปแล้วก็บ่นต่อว่าเจ้าของสวน, ว่า, ‘พวกที่มาสุดท้ายได้ทำการชั่วโมงเดียว, และท่านได้ให้ค่าจ้างแก่เขาเท่ากันกับพวกเราที่ทำการตรากตรำกลางแดดตลอดวัน.’”
แต่เจ้าของสวนไม่ได้มองแบบเดียวกัน. เจ้าของสวนชี้แจงว่าพวกเขาได้รับตามที่ตกลงไว้ ไม่ได้น้อยไปกว่านั้นเลย. ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เขาก็ตกลงใจจะจ่ายค่าจ้างให้เต็มวัน ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่ามากกว่าที่พวกเขาคาดว่าจะได้. ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครได้รับน้อยกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ อันที่จริง หลายคนได้รับมากกว่าที่พวกเขาคาดไว้เสียอีก. ดังนั้น ในตอนท้าย เจ้าของสวนได้ถามว่า “เราจะทำแก่ของ ๆ เราเองตามใจของเราไม่ยุติธรรมหรือ?”
ตอนนี้ขอให้นึกภาพเจ้าพนักงานจ่ายค่าจ้างให้คนงานกลุ่มแรกก่อนและพวกเขาจากไปทันที. หากเป็นเช่นนี้พวกเขาคงจะพอใจ. พวกเขาเกิดไม่พอใจขึ้นมาเพราะเห็นว่า
คนอื่นได้รับค่าจ้างเท่ากับตนทั้ง ๆ ที่ทำงานน้อยกว่า. พวกเขาจึงโกรธ และถึงกับบ่นต่อว่าเจ้าของสวนผู้ที่ตอนแรกพวกเขาเคยรู้สึกขอบคุณอย่างมากเพราะได้จ้างพวกเขามาทำงาน.เรื่องนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น. ถ้าคุณใคร่ครวญถึงสัมพันธภาพส่วนตัวของคุณกับพระยะโฮวาและรู้สึกขอบพระคุณที่พระองค์ทรงอวยพรคุณ คุณก็จะมีความพอใจยินดี. อย่าเปรียบเทียบสถานการณ์ของคุณกับคนอื่น ๆ. ถ้าดูเหมือนว่าพระยะโฮวาทรงทำอะไรให้คนอื่นเป็นพิเศษ ก็จงดีใจและร่วมความยินดีกับพวกเขา.
อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้คุณทำอะไรบางอย่าง. สิ่งนั้นคืออะไร? ฆะลาเตีย 6:4 (ล.ม.) กล่าวว่า “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น.” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ให้คุณตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผลสำหรับตัวคุณเอง. วางแผนอย่างที่คุณสามารถทำได้จริง ๆ แล้วทำตามนั้น. ถ้าคุณมีเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและคุณบรรลุเป้านั้น คุณจะ “มีเหตุที่จะปีติยินดี.” คุณจะมีความพอใจยินดี.
มีรางวัลรออยู่ข้างหน้า
หลักการสามข้อที่เราได้พิจารณาไปแสดงให้เห็นว่าการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ช่วยเราให้พบความพอใจยินดีได้จริง ๆ แม้แต่ในสมัยสุดท้ายนี้และแม้เราจะเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. ขณะที่คุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน คุณน่าจะลองสังเกตดูหลักการเหล่านั้น ทั้งที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนและที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่าและอุทาหรณ์ต่าง ๆ.
ถ้าคุณรู้สึกว่ามีความพอใจยินดีลดน้อยลง ก็จงพยายามหาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง. จากนั้น หาดูว่ามีหลักการใดที่คุณจะใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้นได้บ้าง. ตัวอย่างเช่น คุณอาจดูที่หน้า 110-111 ของหนังสือ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์.” * ที่นั่นมีการพิจารณาพระธรรมสุภาษิต และคุณจะพบรายการที่รวบรวมหลักการและคำแนะนำต่าง ๆ ไว้มากมายถึง 12 หัวข้อ. ดัชนีสรรพหนังสือของว็อชเทาเวอร์ * (ภาษาอังกฤษ) และห้องสมุดว็อชเทาเวอร์ (ภาษาอังกฤษ) บนแผ่นซีดีรอม * ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีเยี่ยมเช่นกัน. หากคุณใช้แหล่งข้อมูลเหล่านี้บ่อย ๆ คุณก็จะชำนาญในการค้นหาหลักการที่จะนำมาใช้ได้.
ใกล้จะถึงเวลาที่พระยะโฮวาจะประทานชีวิตนิรันดร์อันสมบูรณ์พร้อมในอุทยานบนแผ่นดินโลกให้แก่คนที่คู่ควร. ชีวิตของพวกเขาจะมีความพอใจยินดีอย่างเต็มที่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 30 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 30 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 30 จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 12]
“คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า.”—โรม 3:23, ล.ม.
[ภาพหน้า 13]
พระเยซู “ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา.”—เฮ็บราย 5:8, 9, ล.ม.
[ภาพหน้า 15]
“เขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”—ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.