รู้ว่าอะไรถูกต้อง แล้วทำสิ่งนั้น
เรื่องราวชีวิตจริง
รู้ว่าอะไรถูกต้อง แล้วทำสิ่งนั้น
เล่าโดยเฮเดน แซนเดอร์สัน
พระเยซูเคยตรัสกับอัครสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วและประพฤติตาม, ท่านก็จะเป็นสุข.” (โยฮัน 13:17) ใช่แล้ว เราอาจรู้ว่าอะไรถูกต้อง แต่บางครั้งการทำสิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย! อย่างไรก็ตาม หลังจากมีชีวิตมานานกว่า 80 ปี โดยใช้เวลา 40 ปีในงานมิชชันนารี ผมมั่นใจว่าคำตรัสของพระเยซูนั้นเป็นความจริง. การทำสิ่งที่พระเจ้าตรัสทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง. ขอให้ผมอธิบายให้คุณฟัง.
ในปี 1925 เมื่อผมอายุได้สามขวบ พ่อกับแม่ไปร่วมฟังคำบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจัดในเมืองของเราที่นิวคาสเซิล ออสเตรเลีย. คำบรรยายเรื่อง “หลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตายเลย” ทำให้แม่มั่นใจว่าท่านได้พบความจริงแล้ว จากนั้นท่านก็เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ. แต่ความสนใจของพ่อกลับเหือดหายไปอย่างรวดเร็ว. พ่อต่อต้านความเชื่อใหม่ของแม่ และขู่จะทิ้งพวกเราไปหากแม่ไม่ยอมทิ้งความเชื่อนี้. แม่รักพ่อและต้องการให้เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว. กระนั้น ท่านก็รู้ว่าการเชื่อฟังพระเจ้านั้นสำคัญเหนือสิ่งใด และท่านตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระองค์. (มัดธาย 10:34-39) พ่อทิ้งพวกเราไป และหลังจากนั้นผมได้พบท่านเป็นครั้งคราวเท่านั้น.
เมื่อมองย้อนกลับไป ผมรู้สึกชื่นชมความภักดีของแม่ที่มีต่อพระเจ้า. การตัดสินใจของท่านทำให้ทั้งบิวลาห์พี่สาวและตัวผมมีชีวิตที่ได้พระพรฝ่ายวิญญาณมากมาย. เรื่องนี้ยังสอนบทเรียนสำคัญแก่เราด้วยว่า เมื่อเรารู้ว่าอะไรถูกต้อง เราต้องบากบั่นที่จะทำสิ่งนั้น.
การทดสอบความเชื่อ
พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในเวลานั้น ได้ให้ความช่วยเหลือมากมายแก่ครอบครัว
ของเรา. คุณยายย้ายมาอยู่กับเราและท่านได้ตอบรับความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลเช่นกัน. คุณยายกับแม่กลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานประกาศที่ไม่เคยแยกจากกัน และการปรากฏตัวที่น่านับถือกับบุคลิกที่อบอุ่นของพวกท่านทำให้ท่านได้รับความนับถือจากคนทั่วไป.ขณะเดียวกัน พี่น้องชายคริสเตียนที่อายุมากกว่าก็คอยช่วยเหลือผมเป็นพิเศษและให้การฝึกสอนที่มีค่าแก่ผม. ไม่ช้าผมก็เรียนวิธีใช้บัตรให้คำพยานเพื่อเสนอข่าวดีแบบง่าย ๆ กับประชาชนตามบ้าน. ผมยังได้เปิดแผ่นเสียงบันทึกคำบรรยายจากเครื่องเล่นจานเสียงกระเป๋าหิ้วและร่วมในการเดินขบวนไปตามถนนสายหลักในเมืองโดยแขวนแผ่นป้ายโฆษณาไว้กับตัวด้วย. การทำเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะผมยังกลัวหน้ามนุษย์อยู่. แต่ผมก็รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและตั้งใจแน่วแน่จะทำสิ่งนั้น.
หลังจากเรียนจบ ผมก็เริ่มทำงานกับธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ทำให้ผมต้องเดินทางไปยังสาขาต่าง ๆ ของธนาคารทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์. ถึงแม้ว่าในรัฐนี้จะมีพยานฯ อยู่ไม่มาก แต่การฝึกสอนที่ผมได้รับช่วยให้ผมรักษาความเชื่อไว้ได้. จดหมายที่หนุนใจจากแม่ก็ช่วยเสริมกำลังผมทางฝ่ายวิญญาณ.
จดหมายเหล่านี้ได้ช่วยผมในเวลาที่เหมาะจริง ๆ. สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นแล้ว และผมได้รับหมายเกณฑ์ทหาร. ผู้จัดการธนาคารเป็นคนเคร่งศาสนาและไปโบสถ์เป็นประจำ ทั้งยังเป็นผู้บัญชาการกองทหารท้องถิ่นด้วย. เมื่อผมอธิบายจุดยืนของผมเรื่องความเป็นกลางฐานะคริสเตียนให้เขาฟัง เขาก็ยื่นคำขาดกับผมว่าถ้าไม่ทิ้งศาสนาของผม ก็ต้องออกจากงาน! เรื่องมาถึงจุดแตกหักเมื่อผมไปรายงานตัวต่อหน่วยเกณฑ์ทหารของกองทัพในท้องถิ่น. ผู้จัดการธนาคารก็อยู่ที่นั่นและจับตาดูด้วยความสนอกสนใจขณะที่ผมเดินเข้าไปใกล้โต๊ะลงทะเบียน. เมื่อผมปฏิเสธจะเซ็นชื่อในเอกสารการเกณฑ์ทหาร พวกเจ้าหน้าที่ก็เริ่มไม่พอใจ. นั่นเป็นช่วงเวลาที่กดดันมาก แต่ผมก็ยังตั้งใจแน่วแน่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ผมสงบนิ่งและแน่วแน่. ต่อมาเมื่อผมรู้ว่ามีบางคนคอยจะทำร้าย ผมก็รีบเก็บข้าวของจับรถไฟขบวนถัดไปออกจากเมืองทันที!
หลังจากกลับมาที่นิวคาสเซิล ผมก็ถูกเรียกตัวขึ้นศาลพร้อมกับพี่น้องชายอีกเจ็ดคนซึ่งปฏิเสธการเป็นทหาร. ผู้พิพากษาตัดสินจำคุกพวกเราสามเดือนและให้ทำงานหนัก. แม้ชีวิตในคุกจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก แต่การทำสิ่งที่ถูกต้องทำให้ได้รับพระพรมากมาย. หลังจากได้รับการปล่อยตัว เพื่อนร่วมห้องขังคนหนึ่งชื่อฮิลตัน วิลคินสันซึ่งเป็นพยานฯ เหมือนกัน ได้ชวนผมไปทำงานที่ร้านถ่ายรูปของเขา. ที่นั่นผมได้พบกับเมโลดี ภรรยาในอนาคต ซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับอยู่ที่ร้าน. ไม่นานหลังจากได้รับการปล่อยตัว ผมก็รับบัพติสมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.
วางเป้าหมายรับใช้เต็มเวลา
หลังจากแต่งงาน เมโลดีกับผมก็เปิดร้านถ่ายรูปของเราเองในเมืองนิวคาสเซิล. ไม่ช้าเราก็มีงานมากจนสุขภาพร่างกายและฝ่ายวิญญาณของเราเริ่มได้รับผลกระทบ. ในช่วงนั้นเอง เทด จารัซ ซึ่งเวลานั้นรับใช้อยู่ที่สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่ออสเตรเลียและปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองได้พูดคุยกับเราเกี่ยวกับเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ. หลังจากได้คุยกับเขา เราก็ตัดสินใจจะขายกิจการและปรับเปลี่ยนชีวิตให้เรียบง่าย. ปี 1954 เราซื้อบ้านรถพ่วงเล็ก ๆ และย้ายไปอยู่ที่เมืองบัลลารัต ในรัฐวิกตอเรีย แล้วเริ่มเป็นไพโอเนียร์หรือผู้เผยแพร่เต็มเวลา.
ในช่วงที่รับใช้ร่วมกับประชาคมเล็ก ๆ ในบัลลารัตนั้นพระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของเรา. ภายใน
เวลาปีครึ่ง จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 17 คนเป็น 70 คน. แล้วเราก็ได้รับคำเชิญให้ทำงานเยี่ยมหมวดในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย. ในช่วงสามปีถัดจากนั้น เรามีความสุขกับการเยี่ยมเยียนประชาคมต่าง ๆ ในเมืองแอดิเลดและในเขตผลิตไวน์กับผลไม้จำพวกส้มริมฝั่งแม่น้ำเมอร์เรย์. ชีวิตของเราเปลี่ยนไปมากจริง ๆ! เราสุขใจที่ได้รับใช้ร่วมกับพี่น้องชายหญิงซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก. ช่างเป็นรางวัลอันยอดเยี่ยมสำหรับการทำสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง!งานมอบหมายฐานะมิชชันนารี
ปี 1958 เราแจ้งให้สาขาออสเตรเลียทราบว่าเราตั้งใจจะไปร่วมการประชุมนานาชาติ “พระทัยประสงค์ของพระเจ้า” ที่นครนิวยอร์กในปีนั้น. ทางสาขาตอบรับโดยส่งใบสมัครโรงเรียนมิชชันนารีกิเลียดที่สหรัฐมาให้เรา. เนื่องจากเราอยู่ในวัยสามสิบกว่ากันแล้ว เราจึงคิดว่าเราแก่เกินไปที่จะเข้าเรียนในกิเลียด. ถึงกระนั้นเราก็ส่งใบสมัครไปและได้รับเชิญให้เข้าเรียนในรุ่นที่ 32. เมื่อเรียนไปได้ครึ่งหลักสูตร เราก็ได้รับแจ้งที่ที่เราได้รับมอบหมายไปเป็นมิชชันนารี นั่นคือ อินเดีย! แม้จะหวั่นวิตกในตอนแรก แต่เราก็ต้องการจะทำสิ่งที่ถูกต้องและตอบรับงานมอบหมายด้วยความยินดี.
เราโดยสารเรือมาถึงบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) ในเช้าตรู่วันหนึ่งของปี 1959. คนงานนับร้อย ๆ นอนเหยียดยาวกันอยู่บนท่าเรือ. อากาศมีกลิ่นแปลก ๆ ที่เราไม่คุ้น. เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราก็เริ่มรู้สึกได้ถึงสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า. เราไม่เคยเจออากาศร้อนอย่างนี้มาก่อนเลย! ลินตันและเจนนี เดาเออร์ มิชชันนารีสามีภรรยาซึ่งเคยเป็นไพโอเนียร์กับเราที่บัลลารัตมารับเรา. พวกเขาพาเราไปที่สำนักงานสาขาอินเดียและบ้านเบเธลซึ่งอยู่ในอพาร์ตเมนต์ชั้นบนที่แออัดแห่งหนึ่งใกล้กับใจกลางเมือง. มีอาสาสมัครทำงานอยู่ในอพาร์ตเมนต์ซึ่งใช้เป็นเบเธลนี้หกคน. บราเดอร์เอดวิน สกินเนอร์ ซึ่งรับใช้เป็นมิชชันนารีในอินเดียมาตั้งแต่ปี 1926 แนะนำให้เราซื้อถุงผ้าใบใส่สัมภาระสักสองใบก่อนที่เราจะเดินทางต่อไปยังเขตมอบหมาย. เราเห็นถุงแบบนี้บ่อย ๆ บนรถไฟของอินเดียและมันมีประโยชน์มากสำหรับการเดินทางของเราในเวลาต่อมา.
หลังจากนั่งรถไฟมาได้สองวัน เราก็มาถึงเขตมอบหมายของเราในตีรัจจิรัปปาลลิ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ของรัฐมัทราส (ปัจจุบันคือทมิฬนาฑู). เรารับใช้อยู่ที่นั่นร่วมกับไพโอเนียร์พิเศษชาวอินเดียอีกสามคนซึ่งกำลังให้คำพยานแก่ประชากร 250,000 คน. สภาพความเป็นอยู่ยังเป็นแบบดั้งเดิม. ครั้งหนึ่งเราเหลือเงินติดกระเป๋าอยู่ไม่ถึง 150 บาท. แต่เมื่อเงินหมดพระยะโฮวาก็ไม่ทรงทอดทิ้งเรา. ชายคนหนึ่งที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเราได้ให้เรายืมเงินไปเช่าบ้านหลังหนึ่งซึ่งเหมาะจะใช้จัดการประชุม. คราวหนึ่งเราแทบไม่มีอะไรจะกิน เพื่อนบ้านก็มีน้ำใจแบ่งแกงที่เขาทำมาให้. ผมชอบแกงนั้นมาก แต่มันเผ็ดเสียจนทำให้ผมสะอึก!
ในเขตประกาศ
แม้จะมีบางคนในเมืองที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่คนส่วนใหญ่พูดภาษาทมิฬ. ดังนั้น เราจึงพยายามอย่างหนักที่จะเรียนวิธีเสนอแบบง่าย ๆ เพื่อประกาศเป็นภาษาทมิฬ. ประชาชนในท้องถิ่นหลายคนนับถือความพยายามของเรา.
งานรับใช้ตามบ้านทำให้เราชื่นชมยินดีจริง ๆ. ชาวอินเดียโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนที่มีน้ำใจต้อนรับแขก และส่วนใหญ่มักชวนเราเข้าไปดื่มน้ำในบ้าน. เนื่องจากอุณหภูมิมักอยู่ที่ประมาณ 40 องศา เราจึงหยั่งรู้ค่าน้ำใจต้อนรับแขกของพวกเขาอย่างยิ่ง. ก่อนจะเริ่มพูดถึงข่าวสารของเรา นับว่าสุภาพที่เราจะไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของพวกเขา. เจ้าของบ้านมักถามภรรยากับผมว่า “พวกคุณมาจากที่ไหน? พวกคุณมีลูกไหม? ทำไมไม่มีล่ะ?” เมื่อรู้ว่าเราไม่มีลูก พวกเขาก็มักเสนอจะแนะนำหมอดี ๆ ให้เรา! ไม่ว่าจะอย่างไร การสนทนาเช่นนั้นเปิดโอกาสให้เราได้แนะนำตัวเองและอธิบายถึงความสำคัญของงานสอนคัมภีร์ไบเบิลที่เราทำอยู่.
คนที่เราประกาศด้วยส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่มีระบบความเชื่อแตกต่างจากศาสนาคริสเตียนมาก. แทนที่จะโต้แย้งเกี่ยวกับปรัชญาฮินดูที่ซับซ้อน เราจะเพียงแต่ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลดี. ภายในหกเดือน มีเกือบ 20 คนเริ่มเข้าร่วมการประชุมที่บ้านมิชชันนารีของเรา. หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นวิศวกรโยธาชื่อว่านาลาทัมบิ. ต่อมาเขากับวิจายาลายันลูกชาย ได้ช่วยประมาณ 50 คนให้เข้ามาเป็น
ผู้รับใช้พระยะโฮวา. วิจายาลายันเคยรับใช้ที่สาขาอินเดียช่วงหนึ่งด้วย.เดินทางตลอดเวลา
เรามาอยู่ที่อินเดียยังไม่ถึงหกเดือนเมื่อผมได้รับเชิญให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลภาคถาวรคนแรกของประเทศ. งานของผมรวมถึงการเดินทางไปทั่วอินเดีย จัดการประชุมใหญ่และทำงานร่วมกับพี่น้องที่พูดภาษาอื่น ๆ อีกเก้ากลุ่ม. นี่เป็นงานที่เหนื่อยยาก. เราเก็บเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้สำหรับหกเดือนใส่หีบที่ทำจากดีบุกสามหีบ พร้อมกับถุงผ้าใบที่เราใช้เป็นประจำแล้วออกเดินทางจากเมืองมัทราส (ปัจจุบันคือ เชนไน) โดยรถไฟ. เนื่องจากเขตรับผิดชอบของผมครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 6,500 กิโลเมตร เราจึงต้องเดินทางกันอยู่ตลอดเวลา. ครั้งหนึ่ง เราเสร็จจากการประชุมหมวดที่เมืองบังคาลอร์ทางใต้ของอินเดียในวันอาทิตย์. จากนั้นเราก็เดินทางขึ้นเหนือไปดาร์ชีลิงซึ่งอยู่แถบเชิงเขาหิมาลัยเพื่อจะร่วมการประชุมหมวดอีกแห่งหนึ่งในสัปดาห์ถัดไป. ระยะทางจากบังคาลอร์ไปดาร์ชีลิงห่างกันประมาณ 2,700 กิโลเมตร และกว่าจะไปถึงก็ต้องต่อรถไฟห้าครั้ง.
ระหว่างการเดินทางช่วงแรก ๆ เราชอบฉายภาพยนตร์เรื่องสมาคมโลกใหม่ในภาคปฏิบัติ. ภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยให้ประชาชนคุ้นเคยกับขอบข่ายและกิจกรรมที่องค์การของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลกกำลังทำอยู่. บ่อยครั้งมีหลายร้อยคนมาชมการฉายภาพยนตร์นี้. ครั้งหนึ่ง เราฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนกลุ่มหนึ่งที่ชุมนุมกันอยู่ริมถนนได้ดู. ขณะที่ฉายอยู่นั้นมีเมฆฝนก่อตัวขึ้นเหมือนจะมีพายุและเคลื่อนมาทางเราอย่างรวดเร็ว. เนื่องจากเราเคยเจอฝูงชนก่อความวุ่นวายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อการฉายภาพยนตร์ถูกขัดจังหวะ ครั้งนี้ผมจึงตัดสินใจฉายต่อไปแต่เร่งภาพให้เร็วขึ้น. ดีที่ภาพยนตร์จบลงโดยไม่มีอะไรขัดจังหวะก่อนที่ฝนจะลงเม็ดพอดี.
ช่วงปีต่อ ๆ มา เมโลดีกับผมเดินทางไปเกือบทั่วทุกส่วนของอินเดีย. เนื่องจากแต่ละภาคต่างก็มีลักษณะเด่นแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ทั้งเรื่องอาหาร, เครื่องแต่งกาย, ภาษา, และทัศนียภาพ เราจึงรู้สึกเหมือนว่าได้เดินทางจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง. สิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาช่างมีความหลากหลายน่าทึ่งเสียจริง ๆ! ความจริงข้อนี้เห็นได้ในหมู่สัตว์ป่าของอินเดียด้วย. ครั้งหนึ่งตอนที่ตั้งแคมป์กันอยู่ในป่าของเนปาล เราได้เห็นเสือตัวใหญ่ถนัดตาทีเดียว. มันเป็นสัตว์ที่สวยมาก. การได้เห็นเสือยิ่งทำให้เราอยากจะอยู่ในอุทยานมากขึ้น เพราะที่นั่นจะมีสันติสุขระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในที่สุด.
ปรับเปลี่ยนให้ประสานกับองค์การ
ในสมัยแรก ๆ พวกพี่น้องในอินเดียจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประสานกับระเบียบการดำเนินงานในองค์การของพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น. ในบางประชาคม ผู้ชายจะนั่งรวมกันอยู่ฟากหนึ่งของห้องประชุม ส่วนผู้หญิงก็นั่งอยู่อีกฟากหนึ่ง. การประชุมแทบไม่เคยเริ่มตรงเวลา. ในที่แห่งหนึ่ง มีการเคาะระฆังเสียงดังเพื่อเรียกให้ผู้ประกาศราชอาณาจักรมาประชุม. ในที่อื่น ๆ บางแห่ง ผู้ประกาศค่อย ๆ ทยอยกันเข้ามาเมื่อเห็นดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่พวก
เขาคิดว่าเป็นเวลาประชุม. การประชุมใหญ่และการเยี่ยมของผู้ดูแลหมวดก็ไม่สม่ำเสมอ. พวกพี่น้องเต็มใจจะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการฝึกสอน.ในปี 1959 องค์การของพระยะโฮวาได้ตั้งโรงเรียนพระราชกิจขึ้น. โครงการฝึกอบรมซึ่งจัดขึ้นทั่วโลกนี้ได้ช่วยผู้ดูแลหมวด, ไพโอเนียร์พิเศษ, มิชชันนารี, และผู้ปกครองในประชาคมให้ทำหน้าที่รับผิดชอบของตนตามหลักคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น. เมื่อโรงเรียนนี้เริ่มขึ้นในอินเดียในเดือนธันวาคม ปี 1961 ผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้สอน. ทีละเล็กทีละน้อยผลของการฝึกอบรมนี้ก็ปรากฏให้เห็นในประชาคมต่าง ๆ ทั่วประเทศ และประชาคมเหล่านั้นก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. เมื่อพวกพี่น้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง พระวิญญาณของพระเจ้าจะกระตุ้นพวกเขาให้ทำสิ่งนั้น.
นอกจากนี้ การประชุมใหญ่ ๆ ได้ช่วยหนุนใจพวกพี่น้องและทำให้พวกเขาเป็นเอกภาพ. การประชุมครั้งหนึ่งที่น่าประทับใจเป็นพิเศษคือ การประชุมนานาชาติ “ข่าวดีนิรันดร์” ซึ่งจัดขึ้นในนิวเดลี เมื่อปี 1963. พยานฯ จากทั่วอินเดียเดินทางนับพัน ๆ กิโลเมตรเพื่อเข้าร่วมการประชุมนี้ ซึ่งหลายคนต้องใช้เงินเก็บทั้งหมดของพวกเขาเพื่อจะเข้าร่วมได้. เนื่องจากมีตัวแทนทั้งหมด 583 คนจากอีก 27 ประเทศมาร่วมประชุมด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่พยานฯ ในอินเดียได้พบและคบหาสมาคมกับพี่น้องที่มาเยี่ยมจำนวนมากอย่างนี้.
ในปี 1961 เมโลดีกับผมได้รับเชิญให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเบเธลในบอมเบย์ ซึ่งต่อมาผมได้รับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขาที่นั่น. หลังจากนั้นมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ตามมาอีก. ผมได้รับใช้ฐานะผู้ดูแลโซนเพื่อเยี่ยมส่วนต่าง ๆ ของเอเชียและตะวันออกกลางอยู่หลายปี. เนื่องจากงานประกาศในประเทศเหล่านั้นหลายแห่งถูกสั่งห้าม พี่น้องท้องถิ่นจึงจำเป็นต้อง “ระแวดระวังเหมือนงูและกระนั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ.”—มัดธาย 10:16, ล.ม.
การขยายและการเปลี่ยนแปลง
ในปี 1959 เมื่อเรามาถึงอินเดียใหม่ ๆ ทั้งประเทศมีผู้ประกาศ 1,514 คน. ปัจจุบัน จำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นจนมีมากกว่า 24,000 คน. เพื่อจะรองรับการเติบโตนี้ เราได้ย้ายสำนักงานสาขามาแล้วสองครั้ง ทั้งในเมืองบอมเบย์และบริเวณใกล้ ๆ. แล้วในเดือนมีนาคม 2002 ครอบครัวเบเธลก็ต้องย้ายกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เราสร้างเบเธลแห่งใหม่ใกล้กับเมืองบังคาลอร์ ทางใต้ของอินเดีย. อาคารสำนักงานที่ทันสมัยแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นที่พักของสมาชิกครอบครัวเบเธล 240 คน และบางคนในจำนวนนี้กำลังแปลสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาต่าง ๆ 20 ภาษา.
แม้ว่าเมโลดีกับผมเฝ้ารอคอยด้วยใจจดจ่อที่จะย้ายไปบังคาลอร์ แต่สุขภาพที่ไม่ดีทำให้เราต้องกลับไปออสเตรเลียในปี 1999. ขณะนี้เรารับใช้เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลในซิดนีย์. แม้ว่าเราจะจากอินเดียมาแล้ว แต่ความรักอันแรงกล้าที่เรามีต่อเพื่อนและลูก ๆ ฝ่ายวิญญาณที่รักในประเทศนั้นไม่ได้ลดน้อยลงเลย. เรารู้สึกปีติยินดีเสียจริง ๆ เมื่อได้รับจดหมายจากพวกเขา!
เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเวลามากกว่า 50 ปีที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา เมโลดีกับผมรู้สึกว่าได้รับพระพรอย่างล้นเหลือ. ครั้งหนึ่งเราเคยทำงานรักษาภาพของผู้คนให้คงอยู่บนแผ่นกระดาษ แต่งานรักษาชีวิตผู้คนให้คงอยู่ในความทรงจำของพระเจ้านั้นเป็นงานที่ดีกว่ามาก. การที่เราได้ตัดสินใจให้พระประสงค์ของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่มีค่าเสียจริง ๆ! ใช่แล้ว การทำสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าถูกต้องนั้นทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง!
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อินเดีย
นิวเดลี
ดาร์ชีลิง
บอมเบย์ (มุมไบ)
บังคาลอร์
มัทราส (เชนไน)
ตีรัจจิรัปปาลลิ
[ภาพหน้า 13]
เฮเดนกับเมโลดี ปี 1942
[ภาพหน้า 16]
ครอบครัวเบเธลอินเดีย ปี 1975