มหาปุโรหิตผู้กล่าวโทษพระเยซู
มหาปุโรหิตผู้กล่าวโทษพระเยซู
ในเดือนพฤศจิกายน 1990 คนงานที่กำลังทำงานบริเวณสวนสาธารณะและถนนสายหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเยรูซาเลมเก่าไปทางใต้ประมาณหนึ่งกิโลเมตร ได้ค้นพบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง. รถแทรกเตอร์ทำให้เพดานอุโมงค์ฝังศพโบราณยุบลงโดยบังเอิญ. บริเวณนั้นเคยเป็นสุสานขนาดใหญ่ที่ถูกใช้งานระหว่างช่วงศตวรรษที่หนึ่งก่อนสากลศักราชไปจนถึงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. นักโบราณคดีพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในอุโมงค์ฝังศพแห่งนี้.
ในอุโมงค์มีหีบเก็บอัฐิ 12 ใบซึ่งใช้เป็นที่เก็บกระดูกของคนตาย ที่ได้จากศพที่วางทิ้งไว้ในอุโมงค์ประมาณหนึ่งปีจนเนื้อหนังเน่าเปื่อยหลุดออกหมด. ที่ข้างหีบอัฐิแกะสลักไว้อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นหนึ่งในหีบที่สวยที่สุดเท่าที่เคยพบ มีคำจารึกเขียนไว้ว่า เยโฮเซฟ บาร์ กายะฟา (โยเซฟบุตรของกายะฟา).
หลักฐานบ่งชี้ว่า สถานที่นี้อาจเป็นอุโมงค์ฝังศพของมหาปุโรหิตซึ่งเป็นประธานในคราวที่มีการพิจารณาคดีที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นคือการพิจารณาคดีพระเยซูคริสต์. โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวบ่งชี้ว่า มหาปุโรหิตคนดังกล่าวคือ “โยเซฟ ซึ่งถูกเรียกว่ากายะฟา.” ในพระคัมภีร์เพียงแต่เรียกเขาว่ากายะฟา. เหตุใดเราควรสนใจบุคคลผู้นี้? อะไรเป็นแรงจูงใจให้เขากล่าวโทษพระเยซู?
ครอบครัวและภูมิหลัง
กายะฟาสมรสกับบุตรสาวของอันนาศ มหาปุโรหิตอีกคนหนึ่ง. (โยฮัน 18:13) เป็นไปได้ว่า อาจมีการตกลงเกี่ยวกับการแต่งงานนานหลายปีก่อนที่จะสมรสกัน เนื่องจากทั้งสองครอบครัวต้องการทำให้แน่ใจว่าต่างฝ่ายต่างได้คู่สมรสที่เหมาะสม. นี่หมายความว่าจะต้องมีการตรวจสอบลำดับวงศ์ตระกูลอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่ามาจากเชื้อสายของปุโรหิตจริง ๆ. ดูเหมือนว่าทั้งสองครอบครัวมีฐานะมั่งคั่งและเป็นชนชั้นสูง และคงจะร่ำรวยเพราะเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่หลายแห่งในเขตเยรูซาเลม. ไม่สงสัยเลยว่า อันนาศต้องการทำให้แน่ใจว่าลูกเขยในอนาคตจะเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ไว้ใจได้. ดูเหมือนว่าทั้งอันนาศและกายะฟาเป็นสมาชิกของนิกายซาดูกายที่ทรงอิทธิพล.—กิจการ 5:17.
ฐานะสมาชิกของตระกูลปุโรหิตที่มีชื่อเสียง กายะฟาคงได้รับการศึกษาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและการตีความ. เขาคงเริ่มงานรับใช้ในพระวิหารเมื่ออายุ 20 ปี แต่เขาเป็นมหาปุโรหิตเมื่ออายุเท่าใดนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด.
มหาปุโรหิตและปุโรหิตใหญ่
เดิมที ตำแหน่งมหาปุโรหิตสืบทอดกันในตระกูลและเป็นตลอดชีวิต. แต่ในศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. คนในตระกูลฮัสโมเนียนแย่งตำแหน่งมหาปุโรหิตมาเป็นของตน. * เฮโรดมหาราชได้แต่งตั้งและถอดถอนมหาปุโรหิต ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าเขาคือผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังตำแหน่งนี้. ผู้สำเร็จราชการโรมันก็ปฏิบัติคล้าย ๆ กันนั้น.
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มที่พระคัมภีร์เรียกว่า “พวกปุโรหิตใหญ่.” (มัดธาย 26:3, 4) กลุ่มดังกล่าวนี้นอกจากจะมีกายะฟาแล้ว ยังมีอดีตมหาปุโรหิต เช่น อันนาศ ซึ่งถูกถอดจากตำแหน่งไปแล้วแต่ยังถูกเรียกด้วยตำแหน่งนี้อยู่. กลุ่มนี้ยังรวมไปถึงญาติใกล้ชิดของมหาปุโรหิตคนปัจจุบันและคนก่อนด้วย.
โรมปล่อยให้ชนชั้นสูงชาวยิว ซึ่งรวมถึงพวกปุโรหิตใหญ่ จัดการบริหารทั่ว ๆ ไปในยูเดีย. ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโรมจึงสามารถควบคุมยูเดียและเก็บภาษีได้โดยไม่ต้องส่งทหารมากมายมาที่นั่น. โรมคาดหมายว่าผู้มีตำแหน่งสูงของศาสนายิวจะรักษาความเป็นระเบียบและปกป้องผลประโยชน์ของโรม. ผู้ว่าราชการโรมันไม่ค่อยชอบพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวเท่าไรนักเนื่องจากรู้ว่าพวกนั้นไม่พอใจที่โรมันเข้ามาปกครอง. แต่ต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนก็คือ ให้ความร่วมมือเพื่อเห็นแก่ความมั่นคงของรัฐ.
พอถึงสมัยของกายะฟา มหาปุโรหิตคือผู้นำการเมืองของชาวยิว. กุเรเนียว ผู้ว่าราชการโรมันที่ปกครองซีเรียได้แต่งตั้งอันนาศขึ้นดำรงตำแหน่งมหาปุโรหิตในปี ส.ศ. ที่ 6 หรือ 7. คำสอนสืบปากของพวกรับบีบ่งชี้ว่า ครอบครัวชนชั้นสูงซึ่งเป็นผู้นำชาวยิวนี้มีนิสัยละโมบ, เห็นแก่ญาติ, กดขี่, และชอบใช้กำลัง. ผู้เขียนคนหนึ่งเชื่อว่า ในฐานะมหาปุโรหิต อันนาศจะทำให้แน่ใจว่าบุตรเขยของตน “จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วให้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญในพระวิหาร ที่จริง ยิ่งกายะฟาได้ตำแหน่งสูงขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่ออันนาศเท่านั้น.”
วาเลริอุส กราตุส ผู้ว่าราชการที่ปกครองยูเดียได้ถอดอันนาศจากตำแหน่งมหาปุโรหิตราว ๆ ปี ส.ศ. 15. หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งมหาปุโรหิตอีกสามคนติดต่อกัน รวมถึงบุตรชายคนหนึ่งของอันนาศ. กายะฟาได้เป็นมหาปุโรหิตประมาณปี ส.ศ. 18. ปนเตียว ปีลาต ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการยูเดียในปี ส.ศ. 26 ให้กายะฟาอยู่ในตำแหน่งนี้ตลอดสิบปีที่ปีลาตปกครอง. กายะฟาเป็นมหาปุโรหิตในช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้และช่วงแรก ๆ ที่สาวกของพระองค์ทำงานประกาศ. แต่กายะฟาต่อต้านข่าวสารของคริสเตียนอย่างชิงชัง.
กลัวพระเยซู กลัวพวกโรมัน
กายะฟามองว่าพระเยซูเป็นบุคคลอันตรายที่ชอบสร้างปัญหา. พระเยซูคัดค้านเรื่องที่พวกปุโรหิตตีความพระบัญญัติเรื่องวันซะบาโต และทรงขับไล่พวกพ่อค้าและคนแลกเงินออกจากพระวิหารโดยประกาศว่าคนพวกนี้ทำให้พระวิหารเป็น “ถ้ำของพวกโจร.” (ลูกา 19:45, 46) นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ครอบครัวของมหาปุโรหิตอันนาศเป็นเจ้าของกิจการการค้าในพระวิหาร บางทีนั่นอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าเหตุใดกายะฟาพยายามขัดขวางพระเยซู. เมื่อพวกปุโรหิตใหญ่ส่งเจ้าหน้าที่มาจับพระเยซู พวกเขาก็กลับไปมือเปล่าเพราะรู้สึกประทับใจคำตรัสของพระองค์อย่างยิ่ง.—โยฮัน 2:13-17; 5:1-16; 7:14-49.
ขอพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อพวกปุโรหิตชาวยิวได้ยินว่าพระเยซูได้ปลุกลาซะโรให้กลับเป็นขึ้นจากตาย. กิตติคุณของโยฮันรายงานว่า “พวกปุโรหิตใหญ่กับพวกฟาริซายจึงเรียกประชุมพวกที่ปรึกษาแล้วว่า, ‘เราจะทำอย่างไร, ด้วยว่าคนนั้นทำการเป็นศุภนิมิตหลายประการ. ถ้าเราปล่อยเขาไว้เช่นนี้, คนทั้งปวงจะเชื่อถือเขา, แล้วพวกโรมจะมาริบเอาทั้งที่และพลเมืองของเราไป.’ ” (โยฮัน 11:47, 48) ศาลซันเฮดรินถือว่าพระเยซูเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของศาสนาและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งปีลาตมอบหมายให้พวกเขารับผิดชอบเรื่องนี้. การ เคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตามของประชาชนที่โรมเข้าใจว่าเป็นการก่อความไม่สงบอาจกระตุ้นให้โรมเข้าแทรกแซงกิจการของพวกยิว ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลซันเฮดรินต้องการหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง.
แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์หลายอย่าง แต่กายะฟากลับไม่สำแดงความเชื่อในพระเยซู เขาพยายามหาวิธีรักษาฐานะและอำนาจของตนไว้. เขาจะยอมรับได้อย่างไรกันว่าลาซะโรเป็นขึ้นจากตาย? ในฐานะซาดูกาย กายะฟาไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย!—กิจการ 23:8.
กายะฟาเผยความชั่วช้าของตนออกมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเขาพูดกับพรรคพวกที่เป็นผู้นำว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้อะไร, และไม่เข้าใจว่า, ถ้าจะให้คนตายเสียคนหนึ่งแทนที่คนทั้งประเทศจะพินาศ, ก็จะเป็นประโยชน์แก่เราท่านทั้งหลาย.” เรื่องราวกล่าวต่อไปว่า “เขากล่าวอย่างนั้นมิใช่ความเห็นของตัวเอง, แต่เพราะเขาเป็นมหาปุโรหิตในปีนั้น, จึงกล่าวเป็นเหมือนพยากรณ์ว่าพระเยซูจะตายแทนพลประเทศนั้น และมิใช่แทนประเทศนั้นอย่างเดียว, แต่เพื่อจะประมวญลูกทั้งหลายของพระเจ้าที่กระจัดกระจายไปนั้นให้เข้ารวมเป็นพวกเดียวกัน. ตั้งแต่วันนั้นมาเขาทั้งหลายจึงคิดอ่านจะฆ่า [พระเยซู] เสีย.”—โยฮัน 11:49-53.
กายะฟาไม่รู้เลยว่าคำพูดของเขามีความหมายอย่างยิ่ง. เนื่องจากเป็นมหาปุโรหิต คำกล่าวของเขาจึงเป็นเหมือนคำพยากรณ์. * การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจะเป็นประโยชน์—ไม่เฉพาะต่อพวกยิวเท่านั้น. เครื่องบูชาไถ่ของพระองค์จะเปิดโอกาสให้มนุษยชาติทั้งมวลพ้นจากพันธนาการแห่งบาปและความตาย.
คบคิดเพื่อวางแผนสังหาร
พวกปุโรหิตใหญ่ชาวยิวและพวกผู้เฒ่าผู้แก่รวมตัวกันที่บ้านของกายะฟาเพื่อหารือกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะจับกุมและสังหารพระเยซู. ดูเหมือนว่ามหาปุโรหิตมีส่วนช่วยตัดสินใจให้ติดสินบนยูดาอิศการิโอดให้ทรยศพระเยซู. (มัดธาย 26:3, 4, 14, 15) อย่างไรก็ตาม เพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่ชั่วร้ายของกายะฟา การฆ่าคนไปคนหนึ่งนั้นยังไม่พอ. “พวกปุโรหิตใหญ่จึงปรึกษากันเพื่อจะฆ่าลาซะโรด้วย, เพราะลาซะโรเป็นเหตุให้พวกยูดายหลายคน . . . เชื่อถือในพระเยซู.”—โยฮัน 12:10, 11.
มาละโค ทาสคนหนึ่งของกายะฟา อยู่ในกลุ่มคนที่ถูกส่งไปจับพระเยซู. พระเยซูในฐานะผู้ต้องหาถูกส่งไปให้อันนาศสอบสวนก่อน แล้วก็ส่งต่อไปให้กายะฟาที่นั่งรออยู่พร้อมกับพวกผู้เฒ่าผู้แก่ชาวยิวเพื่อจะพิจารณาคดีพระองค์กลางดึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายยิว.—มัดธาย 26:57; โยฮัน 18:10, 13, 19-24.
กายะฟาไม่ได้ทักท้วงเมื่อคนที่ปรักปรำพระเยซูให้การขัดแย้งกันเองตอนที่พวกนั้นเบิกความกล่าวหาพระองค์. มหาปุโรหิตรู้ว่าพรรคพวกของตนที่ร่วมกันวางแผนนั้นคิดอย่างไรกับคนที่อ้างตัวเองเป็นมาซีฮา. ดังนั้น เขาจึงต้องการจะรู้ว่าพระเยซูอ้างเช่นนั้นหรือไม่. พระเยซูตอบว่า ผู้กล่าวหาพระองค์จะเห็นพระองค์ “นั่งอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธานุภาพ, และเสด็จมาบนเมฆฟ้า.” โดยต้องการแสดงว่าตนเคร่งครัดในข้อบัญญัติ “มหาปุโรหิตจึงฉีกเสื้อของตนแล้วว่า, ‘เขาพูดหมิ่นประมาทแล้ว เราต้องการพยานอะไรอีกเล่า?’ ” ศาลซันเฮดรินลงความเห็นว่าพระเยซูสมควรตาย.—มัดธาย 26:64-66.
การประหารชีวิตใครคนหนึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการโรมัน. ฐานะเป็นคนกลางระหว่างโรมกับพวกยิว เป็นไปได้ที่กายะฟาเป็นผู้ที่ฟ้องร้องต่อปีลาต. เมื่อปีลาตพยายามจะปล่อยพระเยซู กายะฟาคงจะอยู่ในกลุ่มปุโรหิตใหญ่ที่ตะโกนว่า “เอาไปตอกบนหลักเสีย! เอาไปตอกบนหลักเสีย!” (โยฮัน 19:4-6, ล.ม.) บางทีกายะฟาอาจจะยุยงฝูงชนให้ร้องตะโกนว่า ให้ปล่อยอาชญากรคนหนึ่งแทนการปล่อยพระเยซู และอยู่ในกลุ่มของพวกปุโรหิตใหญ่ที่กล่าวอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมว่า “กษัตริย์ของพวกเราไม่มีเว้นแต่กายะซา.”—โยฮัน 19:15; มาระโก 15:7-11.
กายะฟาไม่ยอมรับหลักฐานที่ว่าพระเยซูกลับเป็นขึ้นจากตาย. เขาต่อต้านเปโตรและโยฮัน แล้วต่อมาก็ซะเตฟาโน. กายะฟายังมอบอำนาจให้เซาโลจับกุมคริสเตียนคนใดก็ตามที่พบในเมืองดามัสกัส. (มัดธาย 28:11-13; กิจการ 4:1-17; 6:8–7:60; 9:1, 2) อย่างไรก็ตาม วิเทลลิอุส ผู้ว่าราชการโรมันที่ปกครองซีเรียได้ปลดกายะฟาจากตำแหน่งประมาณปี ส.ศ. 36.
ข้อเขียนของชาวยิวกล่าวถึงครอบครัวกายะฟาในทางที่ไม่ค่อยดีนัก. ตัวอย่างเช่น ทัลมุดของบาบิโลนคร่ำครวญว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้าเพราะครอบครัวฮานิน [อันนาศ] วิบัติแก่ข้าพเจ้าเพราะเหตุที่พวกเขาซุบซิบกัน,” หรือ “ใส่ร้าย.” คาดกันว่าข้อความที่แสดงความคับข้องใจนี้พาดพิงถึง “การประชุมลับเพื่อวางแผนชั่ว.”
บทเรียนจากเรื่องราวของกายะฟา
ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งพรรณนานิสัยของมหาปุโรหิตเหล่านี้ว่า เป็นคน “แข็งกร้าว, ฉลาด, มีความสามารถ—และคงจะหยิ่งยโสมาก.” ความหยิ่งยโสทำให้กายะฟาไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นมาซีฮา. ดังนั้น เราไม่ควรรู้สึกแปลกใจที่ผู้คนในทุกวันนี้ปฏิเสธข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล. บางคนไม่ได้เลื่อมใสความจริงในพระคัมภีร์มากพอจนยอมทิ้งความเชื่อที่เขายึดมั่น. ส่วนคนอื่นอาจรู้สึกว่าการเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่ถ่อมใจทำให้พวกเขาเสื่อมเสียเกียรติ. และมาตรฐานคริสเตียนไม่เปิดช่องให้กับคนที่ไม่ซื่อสัตย์และโลภ.
ฐานะเป็นมหาปุโรหิต กายะฟาสามารถช่วยชาวยิวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติให้ยอมรับพระมาซีฮาได้ แต่ความกระหายอำนาจทำให้เขากล่าวโทษพระเยซู. กายะฟาคงจะต่อต้านคริสเตียนเรื่อยมาจนกระทั่งเขาถูกเก็บไว้ในอุโมงค์ฝังศพ. บันทึกเกี่ยวกับการกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่า เมื่อเสียชีวิต สิ่งที่เราละไว้ไม่ใช่แค่กระดูกเท่านั้น. การกระทำของเรายังมีผลต่อชื่อเสียงที่จะคงอยู่ตลอดไปจำเพาะพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 สำหรับประวัติของพวกฮัสโมเนียน โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 2001 หน้า 27-30.
^ วรรค 19 ก่อนหน้านี้ พระยะโฮวาเคยใช้บีละอามผู้ชั่วร้ายกล่าวคำพยากรณ์ที่เป็นความจริงเกี่ยวกับชาวอิสราเอล.—อาฤธโม 23:1–24:24.
[ภาพหน้า 10]
โยเซฟบุตรของกายะฟา
[ภาพหน้า 10]
หีบอัฐิที่ถูกค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Ossuary, inscription, and cave in background: Courtesy of Israel Antiquities Authority