พวกเขาทำให้ใจของบิดามารดาปีติยินดี
พวกเขาทำให้ใจของบิดามารดาปีติยินดี
“บุตรชายของเราเอ๋ย ถ้าหัวใจของเจ้ามีปัญญา หัวใจของเรา ใช่ หัวใจของเราจะปีติยินดี.” (สุภาษิต 23:15, ล.ม.) จริงทีเดียว บิดามารดาคริสเตียนปีติยินดีเมื่อบุตรของตนรับเอาสติปัญญาจากพระเจ้า. ในวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2005 คนจากหลายชาติจำนวน 6,859 คน ได้เข้าร่วมระเบียบวาระการสำเร็จการศึกษาของนักเรียนรุ่นที่ 119 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด. ทุกคนต่างหัวใจพองโตด้วยความปลื้มปีติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดาของผู้สำเร็จการศึกษา 56 คน.
เดวิด วอล์กเกอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลสหรัฐมานานเป็นผู้เปิดระเบียบวาระด้วยคำอธิษฐานที่ซาบซึ้งใจ. แล้วเดวิด สเปลน สมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาซึ่งทำหน้าที่ประธานก็เริ่มระเบียบวาระโดยกล่าวกับบิดามารดาของผู้สำเร็จการศึกษาว่า “พวกคุณสมควรจะได้รับคำชมเชยที่อบอุ่นจากเรา. คุณลักษณะที่พวกคุณได้ปลูกฝังไว้ในตัวลูกชายและลูกสาวได้กระตุ้นพวกเขาให้รับเอางานรับใช้ประเภทมิชชันนารี.” ผู้ที่เป็นบิดามารดาอาจรู้สึกกังวล เพราะอีกไม่นานลูกชายและลูกสาวของพวกเขาจะจากไปทำงานมอบหมายในดินแดนที่ห่างไกล. แต่บราเดอร์สเปลนได้ให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่า “อย่ากังวลเกี่ยวกับลูกของคุณ. พระยะโฮวาทรงดูแลพวกเขาได้ดีกว่าที่คุณอาจทำได้มากนัก.” แล้วเขาก็พูดว่า “ขอให้คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่ลูกชายและลูกสาวของคุณจะทำ. ผู้คนที่ทนทุกข์กำลังจะได้รับการปลอบโยนที่แท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต.”
วิธีทำให้ผู้อื่นปีติยินดีต่อ ๆ ไป
ประธานได้แนะนำผู้บรรยายสี่คน. คนแรกคือ ราล์ฟ วอลส์ สมาชิกคณะกรรมการสาขาสหรัฐ ได้บรรยายเรื่อง “จงเปิดตาอยู่เสมอ.” เขาเน้นว่าการตาบอดฝ่ายวิญญาณนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าตาบอดจริง ๆ มากนัก. ประชาคมลาโอดิเคียในศตวรรษแรกสูญเสียการมองเห็นฝ่ายวิญญาณ. มีการเสนอความช่วยเหลือแก่คริสเตียนในประชาคมนั้นซึ่งตาบอดฝ่ายวิญญาณ แต่การป้องกันไม่ให้ตาบอดโดยเปิดตาฝ่ายวิญญาณของเราไว้เสมอย่อมจะดีกว่าอย่างแน่นอน. (วิวรณ์ 3:14-18) ผู้บรรยายกล่าวว่า “จงเปิดตาฝ่ายวิญญาณไว้เสมอ และมองคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้วยทัศนะอย่างเดียวกับพระยะโฮวา.” ผู้สำเร็จการศึกษาไม่ควรกังวลเกินไปเมื่อมีปัญหาในประชาคม. พระเยซูคริสต์เจ้าทรงทราบทุกสิ่ง. พระองค์จะทรงดูแลให้มีการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ในเวลาที่เหมาะอย่างแน่นอน.
ถัดมา แซมมูเอล เฮิร์ด สมาชิกคณะกรรมการปกครองได้ตอบคำถามที่ว่า “คุณพร้อมหรือยัง?” เช่นเดียวกับผู้จะออกเดินทางต้องมีเสื้อผ้าที่จำเป็นไปด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาก็ต้องสวมตัวเองด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ แห่งบุคลิกภาพใหม่. พวกเขาต้องมีความเมตตาสงสารแบบพระเยซู. เมื่อคนโรคเรื้อนคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “เพียงพระองค์ต้องการ พระองค์ก็จะทำให้ข้าพเจ้าสะอาดได้.” พระเยซูตรัสว่า “เราต้องการ. จงสะอาดเถิด.” (มาระโก 1:40-42, ล.ม.) แล้วผู้บรรยายกล่าวว่า “ถ้าคุณต้องการจะช่วยผู้คนจริง ๆ คุณจะหาวิธีช่วยพวกเขาจนได้.” ฟิลิปปอย 2:3 บอกให้คริสเตียนคิดว่า “คนอื่นดีกว่าตัว.” บราเดอร์เฮิร์ดกล่าวว่า “การมีใจถ่อมสำคัญยิ่งกว่าการมีความรู้. คนที่คุณพบในงานรับใช้และพี่น้องชายหญิงในประชาคมจะได้ประโยชน์จากความรู้ที่คุณมีก็ต่อเมื่อคุณถ่อมใจเท่านั้น.” เขาสรุปโดยกล่าวว่า หากผู้สำเร็จการศึกษาสวมตัวด้วยความรักแบบคริสเตียนต่อ ๆ ไป พวกเขาก็พร้อมแล้วที่จะเดินทางไปยังเขตมอบหมายของตน โดยมั่นใจได้ถึงความสำเร็จที่รออยู่เบื้องหน้า.—โกโลซาย 3:14.
มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียดได้สร้างความคาดหมายด้วยชื่อคำบรรยายว่า “คุณจะรักษาสิ่งนั้นไว้ไหม?” “สิ่งนั้น” หมายถึงการสำนึกในคุณความดีของพระยะโฮวา. บทเพลงสรรเสริญ 103:2 กล่าวว่า “จิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย, จงสรรเสริญพระยะโฮวา, และอย่าลืมบรรดาพระคุณของพระองค์.” ชาวอิสราเอลได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาขาดความสำนึกบุญคุณสำหรับมานาที่เลี้ยงชีวิตพวกเขา โดยเรียกมานาว่า “อาหารอันจืดจางนี้.” (อาฤธโม 21:5) ขณะที่เวลาผ่านไป คุณค่าของมานาไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เหือดหายไปคือความหยั่งรู้ค่าของพวกเขาต่อมานา. ผู้สอนกล่าวว่า “ถ้าคุณลืมสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงทำและปล่อยให้งานรับใช้ในต่างแดนของคุณกลายเป็นเรื่องธรรมดา นั่นจะมีผลกระทบต่อทัศนะที่คุณมีต่องานที่คุณได้รับมอบหมายจากพระยะโฮวา.” บทเพลงสรรเสริญ 103:4 กล่าวว่า พระยะโฮวาทรง “ครอบพระเมตตาและพระกรุณาคุณอันอ่อนละมุนให้เป็นมงกุฎเจ้า.” ผู้สำเร็จการศึกษาจะประสบความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าในประชาคมใหม่ของพวกเขา.
ลอว์เรนซ์ โบเวน ผู้สอนอีกคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียดได้ให้คำบรรยายเรื่อง “พระพรจะตกแก่คุณไหม?” เขาให้ข้อสังเกตว่านักเรียนรุ่นที่ 119 ของกิเลียดได้ฝึกอย่างหนักเพื่อจะเป็นมิชชันนารีที่ประสบความสำเร็จ. แต่ตอนนี้ พวกเขาจำเป็นต้องติดสนิทกับพระยะโฮวาและงานมอบหมายที่ได้รับจากพระองค์. ที่วิวรณ์ 14:1-4 มีการพรรณนาถึงชน 144,000 คนว่า “พระเมษโปดกนั้นเสด็จไปข้างไหน, คนเหล่านี้ก็ตามเสด็จไป.” ทุกคนในกลุ่มนั้นติดสนิทกับพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ด้วยความภักดีไม่ว่าจะเผชิญการทดลองใด ๆ และพวกเขาก็บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้. ผู้บรรยายกล่าวว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็เช่นกันจะติดสนิทอยู่กับพระยะโฮวาและงานที่พระองค์ทรงมอบหมายแก่เราด้วยความภักดี.” โดยการทำเช่นนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาจะพบว่าพระพรของพระยะโฮวาจะ “ตกอยู่” กับตน.—พระบัญญัติ 28:2.
การบังเกิดผลในงานรับใช้
ในระหว่างการเรียน นักเรียนได้เข้าร่วมในงานประกาศทุกสุดสัปดาห์. วอลเลซ ลิเวอร์รันซ์ นายทะเบียนโรงเรียนกล่าวกับนักเรียนว่า พวกเขาได้ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด. พวกเขาประกาศข่าวดีในอย่างน้อยสิบภาษาและได้เริ่มการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย. นักเรียนสามีภรรยาคู่หนึ่งได้เริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับชายชาวจีนคนหนึ่ง. หลังจากการเยี่ยมสองครั้ง พวกเขาถามชายคนนั้นว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้มารู้จักพระยะโฮวา. เขาเปิดคัมภีร์ไบเบิลของเขาเองแล้วให้ทั้งคู่อ่านโยฮัน 17:3. เขารู้สึกว่ากำลังอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิต.
จากนั้นแอนโทนี มอร์ริส จากคณะกรรมการปกครองได้สัมภาษณ์พี่น้องสามคนซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขาจากโกตดิวัวร์, สาธารณรัฐโดมินิกัน, และเอกวาดอร์. พี่น้องทั้งสามได้ให้ความมั่นใจแก่ผู้สำเร็จการศึกษาว่า คณะกรรมการสาขากำลังรอคอยพวกเขาอยู่และจะช่วยพวกเขาให้ปรับตัวเข้ากับงานมอบหมาย.
ต่อมา เลนนาร์ด เพียร์สัน สมาชิกครอบครัวเบเธลสหรัฐได้พูดคุยกับสมาชิกคณะกรรมการสาขาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, ปาปัวนิวกินี, และยูกันดา. พี่น้องเหล่านี้ได้สนับสนุนผู้สำเร็จการศึกษาให้เข้าร่วมในงานประกาศอย่างเต็มที่. มิชชันนารีสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งอยู่ในคองโกมา 21 ปีแล้วได้ช่วย 60 คนให้อุทิศตัวและรับบัพติสมา. ขณะนี้ทั้งคู่กำลังนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 30 ราย และมี 22 รายในจำนวนนี้เข้าร่วมการประชุมประจำประชาคม. เนื่องจากการเก็บเกี่ยวฝ่ายวิญญาณนี้ใหญ่โตเหลือเกิน ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่ดีเยี่ยมที่จะรับใช้พระยะโฮวาในฐานะมิชชันนารี.
ให้คำพยานโดยสำนึกถึงความเร่งด่วน
แกร์ริต เลิช สมาชิกคณะกรรมการปกครองเป็นผู้บรรยายคนสุดท้าย. หัวเรื่องคำบรรยายของเขาคือ “การพูดถึงพระเจ้าและให้คำพยานถึงพระเยซูในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” คำว่า “พยาน,” “เป็นพยาน,” และ “คำพยาน” ปรากฏ 23 ครั้งในพระธรรมวิวรณ์. โดยวิธีนี้พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอะไรคืองานที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์ทำ. เราจะให้คำพยานเช่นนั้นเมื่อไร? ในช่วง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (วิวรณ์ 1:9, 10) วันดังกล่าวซึ่งเริ่มในปี 1914 ยังคงดำเนินเรื่อย มาจนถึงสมัยของเรา และจะดำเนินต่อไปในอนาคต. ตามที่กล่าวในวิวรณ์ 14:6, 7 งานให้คำพยานเกี่ยวกับพระเจ้าได้รับการสนับสนุนจากทูตสวรรค์. วิวรณ์ 22:17 แสดงให้เห็นว่ามีการมอบหน้าที่รับผิดชอบในการชี้นำงานให้คำพยานถึงพระเยซูแก่ชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม. แต่เราทุกคนต้องฉวยประโยชน์จากสิทธิพิเศษดังกล่าวเสียแต่เดี๋ยวนี้. ข้อ 20 บันทึกว่าพระเยซูกำลังตรัสดังนี้: “แท้จริงเราจะมาโดยเร็วพลัน.” บราเดอร์เลิชได้กระตุ้นเตือนทุกคนที่มาร่วมดังนี้: “จงออกไปประกาศแก่ประชาชนว่า ‘เชิญมารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย.’ พระเยซูจะเสด็จมาโดยเร็วพลัน. พวกเราพร้อมแล้วไหม?”
เฟรด รัสก์ ซึ่งเคยเป็นผู้สอนในโรงเรียนกิเลียดเป็นเวลา 11 ปีได้ปิดระเบียบวาระด้วยคำอธิษฐานขอบพระคุณพระยะโฮวาซึ่งทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมรู้สึกซาบซึ้ง. นี่เป็นตอนจบที่เหมาะสมสำหรับวาระโอกาสแห่งความปลื้มปีตินี้.
[ภาพหน้า 13]
สถิติชั้นเรียน
ตัวแทนมาจาก: 10 ประเทศ
ได้รับมอบหมายไปยัง: 25 ประเทศ
จำนวนนักเรียน: 56 คน
เฉลี่ยอายุ: 32.5 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 16.4 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับใช้เต็มเวลา: 12.1 ปี
[ภาพหน้า 15]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 119 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้นับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และรายชื่อเรียงลำดับจากซ้ายไปขวาของแต่ละแถว.
(1) Helgesen, S.; Daugaard, H.; Pierluissi, A.; Joseph, I.; Racanelli, C. (2) Byrge, T.; Butler, D.; Freedlun, J.; Nuñez, K.; Pavageau, C.; Doumen, T. (3) Camacho, O.; Lindqvist, L.; Broomer, A.; Wessels, E.; Burton, J.; Woodhouse, O.; Doumen, A. (4) Tirion, A.; Connally, L.; Fournier, C.; Gil, A.; Johnsson, K.; Hamilton, L. (5) Byrd, D.; Scribner, I.; Camacho, B.; Laschinski, H.; Hallahan, M.; Libuda, O. (6) Joseph, A.; Lindqvist, M.; Helgesen, C.; Nuñez, D.; Scribner, S.; Fournier, J. (7) Pierluissi, F.; Pavageau, T.; Broomer, C.; Racanelli, P.; Butler, T.; Woodhouse, M.; Libuda, J. (8) Laschinski, M.; Freedlun, S.; Burton, I.; Tirion, M.; Byrd, M.; Byrge, J. (9) Wessels, T.; Hallahan, D.; Connally, S.; Gil, D.; Daugaard, P.; Hamilton, S.; Johnsson, T.