วางใจการดูแลด้วยความรักของพระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
วางใจการดูแลด้วยความรักของพระยะโฮวา
เล่าโดยอันนา เดนซ์ เทอร์พิน
แม่พูดยิ้ม ๆ กับฉันว่า “ลูกคนนี้ช่างถามโน่นถามนี่อยู่เรื่อย!” ความที่เป็นเด็ก ฉันระดมถามพ่อแม่ไม่หยุดปาก. แต่พ่อกับแม่ไม่เคยดุฉันเพราะความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก. ถ้าพูดให้ถูก ท่านสั่งสอนฉันให้หาเหตุผลและตัดสินใจด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่ฝึกตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. การอบรมแบบนี้มีค่าอย่างแท้จริง! วันหนึ่งตอนอายุ 14 พวกนาซีได้พรากพ่อและแม่ที่รักไปจากฉัน และฉันไม่ได้เห็นท่านอีกเลย.
พ่อของฉันชื่อออสการ์ เดนซ์ แม่ชื่ออันนา มารีอา อาศัยอยู่ที่เมืองเลอร์รัคในเยอรมนี ติดพรมแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์. ตอนวัยหนุ่มสาว พ่อกับแม่เข้าร่วมการเมืองอย่างแข็งขัน และผู้คนในชุมชนรู้จักและให้ความเคารพนับถือท่าน. พอมาถึงปี 1922 หลังการแต่งงานไม่นาน พ่อกับแม่ก็เปลี่ยนทัศนะด้านการเมืองและเป้าหมายในชีวิตของท่าน. แม่เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา สมัยนั้นเรียกว่านักศึกษาพระคัมภีร์ และท่านรู้สึกตื่นเต้นดีใจเมื่อเรียนรู้ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะนำสันติสุขมาสู่แผ่นดินโลก. ไม่ช้าพ่อก็ได้ร่วมศึกษากับแม่ แล้วเริ่มเข้าร่วมการประชุมของนักศึกษาพระคัมภีร์. ปีนั้นพ่อถึงกับมอบหนังสือพิณของพระเจ้า เป็นของขวัญวันคริสต์มาสให้แม่. ฉันเกิด 25 มีนาคม 1923 เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่.
ฉันเก็บความทรงจำดี ๆ ที่น่าชื่นชมมากมายหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตครอบครัวของเรา เป็นต้นว่า เราเดินเที่ยวทัศนาจรทางไกลในป่าแบล็กฟอเรสต์ที่เงียบสงบในฤดูร้อน และเรียนรู้งานบ้านงานครัวจากแม่! ฉันยังจำภาพแม่ยืนกำกับ
แม่ครัวรุ่นจิ๋วทำอาหาร. สำคัญที่สุด พ่อกับแม่สอนฉันให้รักและวางใจพระยะโฮวาพระเจ้า.ประชาคมของเรามีผู้ประกาศที่ขยันขันแข็งประมาณ 40 คน. พ่อแม่ของฉันชำนิชำนาญในการสร้างโอกาสพูดคุยเรื่องราชอาณาจักร. เนื่องจากท่านเคยร่วมทำกิจกรรมในชุมชนมาก่อน จึงรู้สึกผ่อนคลายเมื่อพูดคุยกับผู้คน และประชาชนเองก็ยินดีต้อนรับท่าน. ตอนฉันอายุเจ็ดขวบ ฉันอยากออกไปประกาศตามบ้านด้วย. วันแรก เพื่อนผู้ประกาศที่ฉันไปด้วยได้ยื่นสิ่งพิมพ์บางเล่มให้ฉัน แล้วชี้ไปที่บ้านหลังหนึ่งและบอกแต่เพียงว่า “ไปที่บ้านนั้นแล้วดูซิว่าเขาต้องการวารสารนี้หรือเปล่า.” มาในปี 1931 พวกเราได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของนักศึกษาพระคัมภีร์ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์. พ่อกับแม่ได้รับบัพติสมาที่นั่น.
จากความยุ่งยากมาถึงการปกครองแบบกดขี่
สมัยนั้นประเทศเยอรมนีตกอยู่ในภาวะยุ่งยากอย่างรุนแรง และพรรคการเมืองย่อยหลายฝ่ายต่างก็ยกพวกปะทะกันตามถนน. คืนวันหนึ่ง ฉันตกใจตื่นเพราะเสียงกรีดร้องจากบ้านข้าง ๆ. ชายวัยรุ่นสองคนได้ใช้สามง่ามแทงพี่ชายตัวเองจนเสียชีวิต ด้วยสาเหตุที่คนทั้งสองมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกันกับพี่ชาย. การเป็นปรปักษ์ต่อต้านชาวยิวหนักข้อมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด. ที่โรงเรียน เด็กหญิงคนหนึ่งถูกสั่งให้ยืนอยู่คนเดียวที่มุมห้องก็เพราะเธอเป็นเด็กยิว. ฉันรู้สึกสลดใจแทน ไม่รู้เลยว่าในไม่ช้าฉันจะได้ประสบด้วยตัวเองว่าเมื่อถูกตัดออกนอกวงสังคมแล้วรู้สึกอย่างไร.
วันที่ 30 มกราคม 1933 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนี. ห่างไปประมาณสองช่วงตึก เราสังเกตดูพวกนาซีชักธงสวัสติกะขึ้นสู่ยอดเสาหน้าศาลากลางจังหวัดเพื่อแสดงความมีชัย. ที่โรงเรียน ครูของเรามีศรัทธาแก่กล้าสอนนักเรียนให้ทักทายกันด้วยคำ “ไฮล์ ฮิตเลอร์!” บ่ายวันนั้น ฉันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อฟัง. ท่านเริ่มรู้สึกหนักใจและพูดว่า “พ่อไม่ชอบเลย คำ ‘ไฮล์’ นี้หมายถึงความรอด. หากเราพูด ‘ไฮล์ ฮิตเลอร์’ นั่นก็หมายความว่าเราถือว่าความรอดมาจากฮิตเลอร์ ไม่ได้มาจากพระยะโฮวา. พ่อคิดว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ลูกตัดสินใจเองนะว่าลูกควรทำอย่างไร.”
เพื่อนนักเรียนเริ่มปฏิบัติต่อฉันประหนึ่งว่าฉันเป็นคนไม่น่าคบ เพราะฉันไม่กล่าวสดุดีฮิตเลอร์. นักเรียนชายบางคนถึงกับทุบตีฉันเมื่ออยู่ลับหลังครู. ในที่สุด พวกเขาก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับฉัน แม้แต่เพื่อนของฉันยังพูดว่าพ่อของเขาห้ามมาเล่นกับฉัน. ฉันเป็นตัวอันตราย.
สองเดือนภายหลังพวกนาซีกุมอำนาจในเยอรมนี พวกเขาประกาศห้ามงานของพยานพระยะโฮวาเนื่องจากเป็นภัยต่อรัฐ. หน่วยจู่โจมได้ปิดสำนักงานเบเธลที่เมืองมักเดบูร์กและประกาศห้ามพวกเราประชุมกัน. แต่เนื่องจากเราอยู่ใกล้พรมแดน พ่อมีใบผ่านแดนให้เราข้ามไปที่บาเซิลได้ เราจึงเข้าร่วมการประชุมวันอาทิตย์ที่นั่น. พ่อพูดบ่อย ๆ ว่าอยากให้พวกพี่น้องในประเทศเยอรมนีได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณเช่นเดียวกันนี้เพื่อจะเผชิญอนาคตได้อย่างกล้าหาญ.
การเดินเล่นที่เสี่ยงอันตราย
หลังการสั่งปิดสำนักงานที่มักเดบูร์กแล้ว จูเลียส ริฟเฟล อดีตสมาชิกคณะทำงานที่นั่นได้มาที่เมืองเลอร์รัคบ้านเกิดของเขา เพื่อจัดระเบียบงานประกาศใต้ดิน. พ่อเสนอตัวอาสาทันที. ท่านบอกแม่กับฉันให้นั่งฟังท่านอธิบายเรื่องที่ได้ตกลงจะช่วยนำสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลจากสวิตเซอร์แลนด์เข้าประเทศเยอรมนี. ท่านบอกว่าคงเป็นการเสี่ยงไม่น้อยทีเดียว และตัวท่านเองอาจถูกจับวันใดก็ได้. ท่านไม่อยากให้เราคิดว่าท่านกดดันเราให้ร่วมงานนี้ เพราะเป็นงานที่เราต้องเสี่ยงอันตรายด้วย. แม่ตอบทันควันว่า “ฉันอยู่ฝ่ายคุณ.” ท่านทั้งสองจ้องหน้าฉัน และฉันพูดออกมาว่า “ลูกขออยู่ฝ่ายพ่อแม่ด้วยค่ะ!”
แม่ถักกระเป๋าขนาดวารสารหอสังเกตการณ์ แล้วสอดสิ่งพิมพ์ใส่ซอกด้านข้างกระเป๋าแล้วถักปิดไว้. แม่ทำกระเป๋าเล็กติดไว้อย่างมิดชิดในเสื้อของพ่อ และถักผ้าคาดเอวสองชิ้นสำหรับฉันและแม่จะพกพาคู่มือศึกษาพระคัมภีร์เล่มเล็ก ๆ ติดตัวไปได้อย่างแนบเนียน. แต่ละครั้งที่เราแอบนำสิ่งมีค่าที่เป็นความลับมาถึงบ้านได้สำเร็จ เราถอนหายใจด้วยความโล่งอก และขอบพระคุณพระยะโฮวา. เราซุกซ่อนสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไว้ในห้องใต้หลังคา.
ทีแรกพวกนาซีไม่ระแวงพวกเราเลย. เขาไม่เคยสอบถามหรือค้นบ้านของเรา. ถึงกระนั้น เราตกลงใช้รหัส—4711 ยี่ห้อน้ำหอมชื่อดัง—เพื่อเตือนพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเราเมื่อเกิดเรื่องยุ่งยาก. หากการมาที่บ้านจะเป็นอันตรายแก่เขา เราก็จะเตือนเขาโดยใช้รหัสนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. นอกจากนั้น พ่อบอกพี่น้องไว้ล่วงหน้าว่าก่อนจะเข้าบ้านของเราให้มองไปที่หน้าต่างห้องรับแขก. ถ้าหน้าต่างด้านซ้ายเปิดอยู่ แสดงว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติ และควรหลบไปเสีย.
ในช่วงระหว่างปี 1936 ถึง 1937 ตำรวจลับเกสตาโปออกปฏิบัติการจับกุมพยานฯ หลายพันคนขังคุกและส่งเข้าค่ายกักกัน ที่นั่นพวกเขาประสบการกระทำที่โหดร้ายทารุณแสนสาหัส. สำนักงานสาขาในกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในค่ายเหล่านั้น รวมทั้งข่าวที่เล็ดลอดออกมาจากค่าย เพื่อจัดทำหนังสือ Kreuzzug gegen das Christentum (สงครามครูเสดปราบปรามศาสนาคริสเตียน ภาษาเยอรมัน) เป็นการเปิดโปงความผิดทางอาญาของพวกนาซี. พวกเราอาสาทำงานเสี่ยงอันตรายด้วยการนำรายงานลับนี้ข้ามพรมแดนไปยังบาเซิล. ถ้าพวกนาซีจับได้ว่าเราลักลอบนำเอกสารอันเป็นสิ่งต้องห้ามออกมา เราจะถูกจับเข้าคุกทันที. ฉันร้องไห้ขณะอ่านเรื่องราวของพวกพี่น้องที่ทนการทรมาน.
แต่ฉันไม่รู้สึกหวาดกลัว. ฉันวางใจว่าเพื่อนแท้ของฉันซึ่งได้แก่พระยะโฮวาและพ่อแม่ของฉันจะคอยปกป้องดูแลฉัน.ฉันเรียนจบเมื่ออายุ 14 และได้งานเป็นเสมียนที่ร้านขายเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน. ปกติเราเดินทางส่งข่าวสารตอนบ่ายวันเสาร์หรือวันอาทิตย์เมื่อพ่อไม่ได้ไปทำงาน. โดยเฉลี่ย เราเดินทางทุกสองสัปดาห์. เราดูไม่แปลกไปกว่าครอบครัวอื่นที่ท่องเที่ยววันสุดสัปดาห์ และเป็นอย่างนี้เกือบสี่ปี เจ้าหน้าที่ประจำชายแดนไม่เคยสกัดพวกเราหรือพยายามตรวจค้นตัว จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1938.
ถูกจับได้!
ฉันไม่มีวันลืมสีหน้าพ่อเมื่อเรามาถึงจุดนัดรับหนังสือใกล้เมืองบาเซิล และมองเห็นสิ่งพิมพ์กองใหญ่วางอยู่ตรงหน้า. เนื่องจากอีกครอบครัวหนึ่งที่เดินทางรับส่งสารเพิ่งถูกจับ เราจึงต้องขนหนังสือปริมาณมากกว่าเดิม. ตรงจุดผ่านแดน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจับตามองเราอย่างสงสัยและสั่งค้น. พอเห็นหนังสือเท่านั้นแหละ เขาเอาปืนจี้เราให้เดินไปที่รถตำรวจซึ่งคอยอยู่. ขณะเจ้าหน้าที่ขับรถนำเราออกไป พ่อบีบมือฉันพร้อมกับกระซิบว่า “อย่าทรยศ. อย่าเปิดเผยชื่อคนหนึ่งคนใดเป็นอันขาด!” ฉันรับรองกับพ่อว่า “จ้ะ ลูกจะไม่ทำ.” เมื่อเรากลับมาที่เมืองเลอร์รัค พ่อสุดที่รักก็ถูกพรากตัวไปจากฉันเสียแล้ว. ฉันเห็นพ่อครั้งสุดท้ายเมื่อพ่อเดินคล้อยหลัง แล้วประตูคุกก็ปิด.
ตำรวจลับสี่นายสอบถามฉันนานถึงสี่ชั่วโมง ต้องการให้ฉันบอกชื่อและที่อยู่ของพยานฯ คนอื่น ๆ แก่เขา. เมื่อฉันไม่ยอม ตำรวจนายหนึ่งโกรธมากและขู่ว่า “เรามีหลายวิธีที่จะทำให้แกพูดให้ได้!” กระนั้น ฉันไม่ได้เปิดเผยเรื่องใด ๆ เลย. ครั้นแล้วพวกตำรวจลับก็พาฉันกับแม่กลับมาที่บ้าน นี่เป็นครั้งแรกที่บ้านเราถูกตรวจค้น. พวกเขาคุมขังแม่ไว้และมอบฉันให้อยู่ในความควบคุมดูแลของป้า พวกเขาหารู้ไม่ว่าป้าก็เป็นพยานฯ เหมือนกัน. ถึงแม้เขาอนุญาตฉันไปทำงานนอกบ้าน แต่มีตำรวจลับสี่นายนั่งในรถซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านคอยจับตาดูการเคลื่อนไหวของฉันทุกฝีก้าว ขณะที่ตำรวจอีกนายหนึ่งเดินตรวจบริเวณทางเท้า.
สองสามวันต่อมา ฉันเดินออกจากบ้านตอนเที่ยงวัน และเห็นพยานฯ สาวถีบจักรยานรี่เข้ามา. ครั้นประชิดตัว เธอยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้ฉัน. พอคว้ากระดาษได้ ฉันก็หันไปดูว่าตำรวจได้เห็นฉันทำอะไรไปหรือเปล่า. น่าอัศจรรย์แท้ ๆ เสี้ยววินาทีนั้นเอง พวกเขากำลังสนุกหัวเราะกันลั่นทีเดียว!
ข้อความสั้น ๆ บนกระดาษชิ้นนั้นแนะให้ฉันไปที่บ้านพ่อแม่ของเธอตอนเที่ยง. แต่เมื่อพวกตำรวจลับจับตาดูอยู่ ฉันจะเสี่ยงอันตรายทำให้พ่อแม่ของเธอโดนข้อหาอย่างไรได้? ฉันมองไปที่ตำรวจลับสี่คนในรถ แล้วหันไปดูตำรวจที่เดินตรวจบริเวณถนน. ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร ฉันจึงอธิษฐานด้วยใจร้อนรนขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. อึดใจนั้นเอง ตำรวจที่เดินตรวจหน้าบ้านเดินไปที่รถและพูดกับตำรวจลับ แล้วขึ้นรถ และพวกนั้นก็ขับออกไปเลย!
ช่วงนั้นเอง ป้าก็เดินมาถึงหัวมุมถนนพอดี. นั่นหลังเที่ยงวันแล้ว. ป้าอ่านข้อความสั้น ๆ และคิดว่าเราควรไปตามที่แนะนำไว้ เดาเอาว่าพวกพี่น้องคงเตรียมการจะพาฉันไปสวิตเซอร์แลนด์. เมื่อเราไปถึง ครอบครัวนั้นได้แนะนำฉันให้รู้จักชายผู้หนึ่งซึ่งฉันไม่รู้จัก เขาชื่อไฮน์ริค ไรฟฟ์. เขาบอกฉันว่าเขาดีใจที่ฉันพ้นมาได้อย่างปลอดภัย เขามาที่นี่เพื่อจะพาฉันหลบหนีเข้าประเทศสวิตเซอร์แลนด์. เขานัดฉันให้ไปพบที่ป่าไม้ภายในครึ่งชั่วโมง.
การอยู่ต่างถิ่น
ฉันไปพบบราเดอร์ ไรฟฟ์ทั้งน้ำตาอาบแก้ม ใจคอห่อเหี่ยวเมื่อนึกถึงการจำพรากจากพ่อแม่ไปอยู่ที่อื่น. มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วเหลือเกิน. หลังจากวิตกกังวลอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เราออกเดินปะปนไปกับกลุ่มนักท่องเที่ยวข้ามพรมแดนถึงสวิตเซอร์แลนด์อย่างปลอดภัย.
เมื่อไปถึงสำนักงานสาขาในกรุงเบิร์น ฉันจึงได้รู้ว่าพี่น้องที่นั่นจัดเตรียมการหลบหนีให้ฉัน. พวกเขาเอื้อเฟื้อให้ที่พักอาศัย. ฉันทำงานในครัว งานที่ฉันชอบมาก. แต่มันยากเสียนี่กระไรที่อาศัยอยู่ต่างถิ่น ไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่ระหว่างที่ท่านทั้งสองถูกตัดสินจำคุกสองปี! บางครั้ง ความทุกข์โศกและความกระวนกระวายทำให้ฉันหมด
กำลัง และขังตัวเองร้องไห้ในห้องน้ำ. แต่ฉันสามารถเขียนจดหมายติดต่อกับพ่อแม่เป็นประจำ และท่านเป็นกำลังใจสนับสนุนฉันให้ซื่อสัตย์ภักดีอยู่เสมอ.ตัวอย่างความเชื่อของพ่อแม่เป็นพลังกระตุ้นฉันให้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและฉันรับบัพติสมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1938. หลังจากอยู่ที่เบเธลหนึ่งปี ฉันไปทำงานที่ชาเนลา ที่นี่สาขาสวิสได้ซื้อฟาร์มแห่งหนึ่งเพื่อผลิตอาหารส่งครอบครัวเบเธล และยังใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับพวกพี่น้องที่หลบหนีการข่มเหงอีกด้วย.
เมื่อพ่อแม่ฉันครบกำหนดการต้องโทษในปี 1940 พวกนาซีเสนอให้อิสรภาพหากท่านยอมละทิ้งความเชื่อ. แต่ท่านปฏิเสธอย่างหนักแน่น พวกนาซีจึงส่งเข้าค่ายกักกัน พ่อถูกส่งไปที่ค่ายดาเคา ส่วนแม่ถูกส่งไปที่ราเฟนส์บรึค. ในช่วงฤดูหนาวปลายปี 1941 แม่และบรรดาพยานฯ หญิงในค่ายไม่ยอมทำงานที่พัวพันกับการทหาร. พยานฯ หญิงถูกลงโทษด้วยการปล่อยทิ้งให้อยู่กลางแจ้งสามวันสามคืนท่ามกลางอากาศหนาวจัด หลังจากนั้นพวกเขาถูกขังในห้องมืดและอดอยากนานถึง 40 วันเพราะการปันส่วนอาหารน้อยมากจนไม่พอกิน. ครั้นแล้วพวกเขาโดนเฆี่ยนอีก. แม่ถึงแก่ความตายในวันที่ 31 มกราคม 1942 สามสัปดาห์หลังจากถูกเฆี่ยนอย่างโหดร้ายทารุณ.
พ่อถูกย้ายจากค่ายดาเคาไปที่เมาเทาเซนในออสเตรีย. ณ ค่ายแห่งนี้ พวกนาซีมีระบบการสังหารนักโทษด้วยการปล่อยให้อดอาหารตาย และบังคับให้ทำงานหนักอย่างไม่มีทางโต้. แต่หกเดือนหลังจากแม่ตาย พวกนาซีได้ฆ่าพ่อโดยวิธีที่ต่างกัน เป็นการทดลองทางการแพทย์. แพทย์ประจำค่ายได้จงใจฉีดเชื้อวัณโรคให้แก่นักโทษ. ต่อจากนั้น เขาฉีดยาที่เป็นอันตรายถึงตายเข้าหัวใจ นักโทษก็สิ้นชีวิต. บันทึกของทางการระบุว่าพ่อฉันตายด้วย “โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ.” อายุท่านแค่ 43 ปี. กว่าฉันได้มารู้เรื่องการสังหารอย่างทารุณแบบนี้ เวลาผ่านไปหลายเดือนแล้ว. ฉันน้ำตาซึมทุกครั้งที่ระลึกถึงพ่อแม่ผู้เป็นที่รักของฉัน. กระนั้น ฉันได้รับการชูใจทั้งที่ผ่านมาและในตอนนี้ เพราะรู้ว่าพ่อแม่ของฉันมีความหวังจะได้ชีวิตทางภาคสวรรค์ ท่านปลอดภัยแล้วในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันมีสิทธิพิเศษได้เป็นนักเรียนรุ่นที่ 11 ในโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดที่นิวยอร์ก. ช่างเป็นความชื่นชมอย่างแท้จริงที่ได้หมกมุ่นศึกษาพระคัมภีร์เป็นเวลานานห้าเดือน! ครั้นจบหลักสูตรในปี 1948 สมาคมส่งฉันไปรับใช้ฐานะมิชชันนารีที่สวิตเซอร์แลนด์. จากนั้นไม่นาน ฉันพบเจมส์ แอล. เทอร์พิน บราเดอร์ที่ซื่อสัตย์จบจากโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ห้า. เมื่อมีการตั้งสำนักงานสาขาเป็นครั้งแรกในตุรกี เขารับใช้ฐานะผู้ดูแลสาขา. เราแต่งงานกันในเดือนมีนาคม 1951 และไม่นานหลังจากนั้นฉันก็ตั้งครรภ์และเราจะมีลูก! เราย้ายไปประเทศสหรัฐ และได้ต้อนรับมาลีน ทารกเพศหญิงที่ออกมาลืมตาดูโลกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน.
ในช่วงเวลาหลายปี ฉันกับจิม (เจมส์) ประสบความชื่นชมยินดีมากมายในงานรับใช้ราชอาณาจักร. ฉันชื่นชมเมื่อนึกถึงนักศึกษาพระคัมภีร์คนหนึ่ง เธอเป็นสาวจีนชื่อเพนนี เธอชอบศึกษาพระคัมภีร์เสียจริง ๆ. เธอรับบัพติสมา และในเวลาต่อมาแต่งงานกับกาย เพียร์ซ เวลานี้รับใช้ในคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา. คนน่ารักแบบนี้มีค่าจริง ๆ ที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกอ้างว้างด้วยเหตุที่ฉันได้สูญเสียพ่อแม่ไป.
ต้นปี 2004 ที่เมืองเลอร์รัค ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อแม่ พี่น้องพยานฯ ได้สร้างหอประชุมราชอาณาจักรหลังใหม่บนถนนชทิค. เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับนับถือสิ่งที่พยานพระยะโฮวาได้ประพฤติปฏิบัติ สภาเทศบาลจึงตกลงเปลี่ยนชื่อถนนเสียใหม่ว่าเดนซ์สทราเซ (ถนนเดนซ์) เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อและแม่ของฉัน. บาดิเช ไซทุง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแถลงใต้หัวข่าวว่า “เพื่อเป็นการรำลึกถึงครอบครัวเดนซ์ที่ถูกสังหาร ถนนจึงมีชื่อใหม่อย่างนี้” และกล่าวถึงพ่อแม่ของฉันว่า “ถูกฆ่าในค่ายกักกันสมัยจักรวรรดิไรช์ที่สามเนื่องด้วยความเชื่อของเขา.” ในความคิดของฉันแล้ว ดำเนินการครั้งนี้ของสภาเทศบาลเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย แต่ก็เป็นการเปลี่ยนที่ทำให้ปลาบปลื้มอย่างยิ่ง.
พ่อเคยพูดว่าเราควรวางแผนล่วงหน้าเสมือนว่าอาร์มาเก็ดดอนยังจะไม่เกิดขึ้นในสมัยของเรา แต่ประพฤติปฏิบัติตัวประหนึ่งว่าอาร์มาเก็ดดอนจะมาพรุ่งนี้ เป็นคำแนะนำที่มีคุณค่ายิ่งซึ่งฉันพยายามปฏิบัติตามเสมอมา. การรักษาความสมดุลระหว่างความพากเพียรและความหวังอันแรงกล้าเช่นนั้นใช่ว่าจะง่ายเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากผลกระทบอันเนื่องมาจากความชราทำให้ฉันต้องอยู่แต่ในบ้าน. กระนั้น ฉันไม่เคยสงสัยคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ตรัสแก่เหล่าผู้รับใช้สัตย์ซื่อของพระองค์ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า . . . จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”—สุภาษิต 3:5, 6.
[กรอบ/ภาพหน้า 29]
ถ้อยคำอันทรงค่าจากอดีต
ผู้หญิงคนหนึ่งจากหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลพอประมาณได้แวะมาที่เมืองเลอร์รัคในช่วงทศวรรษ 1980. ช่วงนั้น ชาวบ้านนำสิ่งของที่เขาไม่ต้องการมาวางไว้ ณ ที่สาธารณะ ซึ่งใคร ๆ ก็อาจมองหาของที่ตนต้องการและหยิบเอาได้. ผู้หญิงคนนี้หยิบได้กล่องเครื่องเย็บปักถักร้อยและเอาไปที่บ้าน. ต่อมา เธอพบรูปถ่ายเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ก้นกล่องและพบจดหมายหลายฉบับที่ใช้กระดาษของค่ายกักกันเขียน. หญิงคนนี้สนใจมากเรื่องจดหมาย และอยากสืบหาหลักฐานของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่ไว้ผมเปียคนนั้น.
วันหนึ่งในปี 2000 เธอได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์แจ้งการแสดงนิทรรศการเชิงประวัติศาสตร์ในเมืองเลอร์รัค. บทความนี้พรรณนาประวัติพยานพระยะโฮวาสมัยนาซี รวมถึงครอบครัวของเรา. บทความดังกล่าวมีรูปถ่ายสมัยฉันเป็นเด็กวัยรุ่นปรากฏอยู่ด้วย. เมื่อเปรียบเทียบรายละเอียดต่าง ๆ และเห็นว่าตรงกัน เธอได้ติดต่อกับนักหนังสือพิมพ์และบอกเล่าความเป็นมาของจดหมายเหล่านั้น รวมทั้งสิ้น 42 ฉบับ! เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา จดหมายเหล่านั้นก็ตกมาอยู่ในมือฉัน. ลายมือในจดหมายเป็นของพ่อกับแม่เขียนถึงป้าและถามข่าวคราวของฉันเสมอ. ความห่วงใยรักใคร่ที่ท่านมีต่อฉันไม่ได้เสื่อมคลาย. น่าพิศวงอย่างยิ่งที่จดหมายเหล่านี้ผ่านกาลเวลามาได้และปรากฏให้เห็นอีกแม้ล่วงเลยนานกว่า 60 ปีแล้ว!
[ภาพหน้า 25]
ครอบครัวของเราที่มีความสุขต้องพลัดพรากจากกันเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ
[ที่มาของภาพ]
Hitler: U.S. Army photo
[ภาพหน้า 26]
1. สำนักงานสาขาที่มักเดบูร์ก
2. พวกเกสตาโปจับกุมพยานพระยะโฮวาหลายพันคน
[ภาพหน้า 28]
ฉันกับจิมชื่นชมเหลือล้นในงานรับใช้ราชอาณาจักร