จงรับเอาการชี้นำจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่
จงรับเอาการชี้นำจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่
“ให้ท่านกลับ . . . มาหาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่, ซึ่งได้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินและทะเลและสิ่งสารพัตรซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น.”—กิจการ 14:15.
1, 2. เหตุใดจึงเหมาะที่จะรับรองว่าแท้จริงพระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่”?
หลังจากอัครสาวกเปาโลและบาระนาบารักษาชายคนหนึ่งให้หายโรค เปาโลกล่าวยืนยันแก่ผู้เห็นเหตุการณ์ในเมืองลิสตราว่า “เราเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกันกับท่านทั้งหลาย, และมากล่าวสั่งสอนให้ท่านกลับจากการซึ่งหาประโยชน์มิได้, ให้มาหาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่, ซึ่งได้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินและทะเลและสิ่งสารพัตรซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น.”—กิจการ 14:15.
2 เป็นความจริงทีเดียวที่ว่าพระยะโฮวาหาใช่รูปเคารพที่ไร้ชีวิต แต่เป็นพระเจ้า “ผู้ทรงพระชนม์อยู่”! (ยิระมะยา 10:10; 1 เธซะโลนิเก 1:9, 10) นอกจากทรงพระชนม์แล้ว พระยะโฮวายังเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต. “พระองค์เป็นผู้ได้ทรงโปรดประทานชีวิตและลมหายใจและสิ่งสารพัตรแก่คนทั้งปวง.” (กิจการ 17:25) พระองค์สนพระทัยให้ชีวิตของเรามีความสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต. เปาโลกล่าวเสริมว่าพระเจ้า “ไม่ได้ขาดพยาน, คือพระองค์ได้ทรงกระทำคุณให้ฝนตกและให้มีฤดูเกิดผล, ท่านทั้งหลายจึงอิ่มใจยินดีด้วยอาหารนั้น.”—กิจการ 14:17.
3. เหตุใดเราสามารถวางใจการชี้นำที่พระเจ้าประทานให้?
3 การที่พระเจ้าสนพระทัยชีวิตของเราทำให้เรามีเหตุผลอันสมควรที่จะวางใจการชี้นำของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 147:8; มัดธาย 5:45) บางคนอาจไม่ทำอย่างนั้นถ้าเขารู้สึกว่าพระบัญชาในคัมภีร์ไบเบิลบางข้อเขาไม่เข้าใจหรือดูเหมือนเข้มงวด. อย่างไรก็ตาม การวางใจการชี้นำของพระยะโฮวาปรากฏแล้วว่าเป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุม. ตัวอย่างเช่น แม้ว่าชาวอิสราเอลคนใดไม่เข้าใจข้อห้ามที่ไม่ให้แตะต้องซากศพ แต่เขาก็ได้ประโยชน์จากการเชื่อฟังข้อ ห้ามนี้. ประการแรก การเชื่อฟังจะทำให้เขาใกล้ชิดพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์มากขึ้น ประการที่สอง การเชื่อฟังจะช่วยป้องกันเขาไว้จากโรคต่าง ๆ.—เลวีติโก 5:2; 11:24.
4, 5. (ก) พระยะโฮวาทรงให้การชี้นำอย่างไรในเรื่องเลือดก่อนยุคคริสเตียน? (ข) เราทราบได้อย่างไรว่าการชี้นำของพระเจ้าในเรื่องเลือดมีผลบังคับมาถึงคริสเตียน?
4 การชี้นำของพระเจ้าในเรื่องเลือดก็เป็นอย่างนั้น. พระองค์บอกแก่โนฮาว่า มนุษย์ไม่ควรรับประทานเลือด. ต่อมาในพระบัญญัติ พระเจ้าเปิดเผยว่า การใช้เลือดวิธีเดียวที่พระองค์ทรงอนุญาตคือบนแท่น—สำหรับการอภัยบาป. โดยพระบัญชาเหล่านั้น พระเจ้าวางพื้นฐานสำคัญไว้สำหรับการใช้เลือดในแนวทางอันล้ำเลิศ กล่าวคือ เพื่อใช้ช่วยชีวิตของหลายคนให้รอดโดยทางค่าไถ่ของพระเยซู. (เฮ็บราย 9:14) ใช่แล้ว การชี้นำจากพระเจ้าแสดงถึงความห่วงใยที่พระองค์มีต่อชีวิตและสวัสดิภาพของเรา. เมื่อพิจารณาเยเนซิศ 9:4 แอดัม คลาร์ก ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 เขียนดังนี้: “พระบัญชานี้ [ที่ตรัสแก่โนฮา] ยังคงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยพวกคริสตจักรตะวันออก . . . ตามพระบัญญัติ เลือดห้ามรับประทานเพราะพระบัญญัติชี้ไปยังพระโลหิตที่จะหลั่งออกเพื่อบาปของโลก, และตามกิตติคุณ เลือดห้ามรับประทานเพราะเตือนให้ระลึกอยู่เสมอถึงพระโลหิตที่ได้หลั่งออก เพื่อไถ่บาป.”
5 ผู้คงแก่เรียนคนนี้คงพาดพิงถึงพื้นฐานของกิตติคุณหรือข่าวดี ซึ่งรวมจุดอยู่ที่พระเยซู. ข่าวดีนี้รวมถึงการที่พระเจ้าส่งพระบุตรของพระองค์มาสิ้นพระชนม์เพื่อพวกเรา หลั่งพระโลหิตของพระองค์เพื่อเราจะมีโอกาสได้ชีวิตนิรันดร์. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16; โรม 5:8, 9) อรรถาธิบายของเขายังพาดพิงถึงคำสั่งในเวลาต่อมาด้วยที่ให้สาวกของพระคริสต์ละเว้นจากเลือด.
6. มีการให้พระบัญชาอะไรแก่คริสเตียนเรื่องเลือด และเพราะอะไร?
6 คุณทราบว่าพระเจ้าประทานข้อกฎหมายแก่ชาวอิสราเอลหลายร้อยข้อ. เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว เหล่าสาวกของพระองค์ไม่จำเป็นต้องถือรักษาข้อกฎหมายเหล่านั้นทั้งสิ้นอีกต่อไป. (โรม 7:4, 6; โกโลซาย 2:13, 14, 17; เฮ็บราย 8:6, 13) อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็เกิดประเด็นขึ้นเกี่ยวกับข้อกำหนดพื้นฐานสำคัญข้อหนึ่ง คือการรับสุหนัตของผู้ชาย. ผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวซึ่งปรารถนาจะได้ประโยชน์จากพระโลหิตของพระคริสต์จำเป็นต้องรับสุหนัตไหม ซึ่งจะแสดงว่าพวกเขายังอยู่ภายใต้พระบัญญัติ? ในปี ส.ศ. 49 คณะกรรมการปกครองคริสเตียนได้จัดการกับประเด็นดังกล่าว. (กิจการบท 15) ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า บรรดาอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ได้ข้อสรุปว่าข้อกำหนดที่ให้รับสุหนัตนั้นสิ้นสุดไปแล้วพร้อมกับพระบัญญัติ. กระนั้น ข้อกำหนดบางอย่างของพระเจ้ายังคงมีผลบังคับมาถึงคริสเตียน. ในจดหมายฉบับหนึ่งถึงประชาคมต่าง ๆ คณะกรรมการปกครองเขียนว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มภาระให้ท่านอีก นอกจากสิ่งจำเป็นเหล่านี้คือ ละเว้นเสมอจากสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพ และจากเลือด และจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี. ถ้าท่านทั้งหลายละเว้นจากสิ่งเหล่านี้อย่างระมัดระวังเสมอ ท่านจะเจริญ.”—กิจการ 15:28, 29, ล.ม.
7. ‘การละเว้นจากเลือด’ เป็นเรื่องสำคัญเพียงไรสำหรับคริสเตียน?
7 เห็นได้ชัด คณะกรรมการปกครองถือว่า ‘การละเว้นจากเลือด’ เป็นเรื่องสำคัญทางศีลธรรมเท่ากับการละเว้นจากการทำผิดศีลธรรมทางเพศหรือการบูชารูปเคารพ. นี่แสดงว่าข้อห้ามเรื่องเลือดนี้สำคัญมาก. คริสเตียนที่บูชารูปเคารพหรือทำผิดศีลธรรมทางเพศและไม่กลับใจจะไม่ได้ 1 โกรินโธ 6:9, 10, ล.ม.; วิวรณ์ 21:8, ฉบับแปลใหม่; 22:15) ขอสังเกตความแตกต่าง: การฝ่าฝืนการชี้นำของพระเจ้าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดจะนำไปสู่ความตายตลอดกาล. การแสดงความนับถือต่อเครื่องบูชาของพระเยซูจะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.
“รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก”; “มรดกของเขา . . . คือความตายครั้งที่สอง.” (8. อะไรแสดงว่าคริสเตียนยุคแรกถือว่าการชี้นำจากพระเจ้าเรื่องเลือดเป็นเรื่องสำคัญ?
8 คริสเตียนยุคแรกเข้าใจและปฏิบัติตามการชี้นำของพระเจ้าเรื่องเลือดอย่างไร? ขอระลึกถึงอรรถาธิบายของคลาร์ก “ตามกิตติคุณ เลือดห้ามรับประทานเพราะเตือนให้ระลึกอยู่เสมอถึงพระโลหิตที่ได้หลั่งออก เพื่อไถ่บาป.” ประวัติศาสตร์ยืนยันว่าคริสเตียนยุคแรกถือว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ. เทอร์ทูลเลียนเขียนดังนี้: “ขอพิจารณาคนที่เต็มไปด้วยความกระหายอย่างละโมบ ณ การแสดงที่สนามประลอง เอาเลือดสด ๆ ของอาชญากรชั่ว . . . และนำไปเพื่อรักษาโรคลมชักของพวกเขา.” ในขณะที่คนนอกศาสนารับประทานเลือด เทอร์ทูลเลียนกล่าวว่าคริสเตียน “ไม่ยอมแม้แต่จะให้มีเลือดสัตว์ในอาหาร [ของพวกเขา] . . . ในการพิจารณาคดีกับพวกคริสเตียน ท่านได้เสนอไส้กรอกเลือดให้พวกเขา. แน่ละ ท่านรู้อยู่แล้วว่า [นั่น] เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายสำหรับพวกเขา.” ใช่แล้ว แม้อาจต้องเสียชีวิตก็ตาม คริสเตียนจะไม่รับประทานเลือด. พวกเขาถือว่าการชี้นำจากพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก.
9. การละเว้นจากเลือดยังหมายรวมถึงอะไรอีกนอกจากการไม่รับประทานเลือด?
9 บางคนอาจคิดว่าคณะกรรมการปกครองตั้งใจหมายถึงแค่คริสเตียนต้องไม่กินหรือดื่มเลือด หรือไม่กินเนื้อที่ไม่ได้เอาเลือดออกหรืออาหารที่มีเลือดผสม. จริงอยู่ นั่นเป็นความหมายประการแรกของพระบัญชาที่พระเจ้ามอบแก่โนฮา. และที่จริงคำสั่งของพวกอัครสาวกนั้นเป็นการบอกคริสเตียนให้ “ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่รัดคอตาย” คือเนื้อที่ยังมีเลือดอยู่ในนั้น. (เยเนซิศ 9:3, 4; กิจการ 21:25) แต่คริสเตียนยุคแรกรู้ว่าคำสั่งของพวกอัครสาวกไม่จำกัดความหมายอยู่แค่นั้น. บางครั้ง มีการรับเลือดเข้าสู่ร่างกายด้วยเหตุผลทางการแพทย์. เทอร์ทูลเลียนให้ข้อสังเกตว่าในการพยายามรักษาโรคลมชัก คนนอกศาสนาบางคนได้ดื่มเลือดสด ๆ. นอกจากนี้ อาจมีการใช้เลือดในทางอื่นด้วยเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพอย่างที่เชื่อกัน. ฉะนั้น สำหรับคริสเตียนแล้ว การละเว้นจากเลือดจึงรวมไปถึงการไม่รับเลือดเข้าสู่ร่างกายด้วยเหตุผล “ทางการแพทย์” ด้วย. พวกเขายึดมั่นกับจุดยืนดังกล่าวแม้ชีวิตของเขาจะตกอยู่ในอันตราย.
การใช้เลือดในทางการแพทย์
10. มีการใช้เลือดอย่างไรบ้างในทางการแพทย์ และเรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
10 การใช้เลือดในทางการแพทย์เป็นเรื่องธรรมดาในทุกวันนี้. การให้เลือดในยุคแรก ๆ ใช้เลือดครบส่วนที่ได้จากผู้บริจาค แล้วเก็บไว้ถ่ายให้ผู้ป่วยต่อไป ซึ่งอาจเป็นผู้บาดเจ็บในสงคราม. ต่อมา นักวิจัยรู้วิธีแยกเลือดออกเป็นส่วนประกอบหลัก ๆ. โดยการใช้เฉพาะส่วนประกอบหลักของเลือด แพทย์สามารถแบ่งเลือดที่ได้จากการบริจาคให้แก่ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น เช่น พลาสมา (น้ำเลือด) ให้แก่ผู้บาดเจ็บคนหนึ่ง และเม็ดเลือดแดงให้แก่อีกคนหนึ่ง. การวิจัยที่ดำเนินต่อมาแสดงว่าส่วนประกอบหลักของเลือด เช่น พลาสมา ยังสามารถนำไปผ่านกระบวนการแยกเป็นส่วนย่อยได้อีกมากมาย ซึ่งนำไปแบ่งให้แก่ผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้นอีก. การพยายามที่จะแยกเลือดเป็นส่วนย่อยลงไปอีกยังคงดำเนินต่อไป และมีรายงานการใช้ส่วนประกอบย่อยในวิธีใหม่ออกมาเรื่อย ๆ. คริสเตียนควรมีท่าทีเช่นไรต่อเรื่องการใช้ส่วนประกอบย่อยนี้? ถ้าหากเขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่รับการถ่ายเลือด แต่แพทย์สนับสนุนให้รับส่วนประกอบหลักของเลือดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นให้รับเม็ดเลือดแดง. หรือการรักษาอาจรวมถึงการใช้ส่วนย่อยที่สกัดจากส่วนประกอบหลัก. ผู้รับใช้ของพระเจ้าควรตัดสินใจอย่างไรในเรื่องนี้ ขณะที่คำนึงเสมอว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์และพระโลหิตของพระคริสต์ช่วยชีวิตให้รอดในความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า?
11. จุดยืนอะไรเกี่ยวกับเลือดที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงทางการแพทย์ซึ่งพยานฯ ยึดมั่นมานานแล้ว?
11 นานมาแล้วที่พยานพระยะโฮวาแสดงชัดเจนถึงจุดยืนของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น พวกเขาส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา (27 พฤศจิกายน 1981; พิมพ์ซ้ำในจุลสารเลือดจะช่วยชีวิตคุณได้อย่างไร? หน้า 27-29). * บทความดังกล่าวยกข้อคัมภีร์จากพระธรรม เยเนซิศ, เลวีติโก, และกิจการ. บทความนั้นอธิบายว่า “ถึงแม้ข้อคัมภีร์เหล่านี้ไม่ได้เป็นคำแถลงทางการแพทย์ พยานฯ ถือว่าข้อคัมภีร์เหล่านี้ห้ามไม่ให้รับการถ่ายเลือด เม็ดเลือดแดงเข้มข้น และพลาสมา (น้ำเลือด) รวมทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดด้วย.” ตำราการบริบาลในภาวะฉุกเฉิน (ภาษาอังกฤษ) ที่จัดพิมพ์ในปี 2001 กล่าวไว้ในหัวข้อ “ส่วนประกอบของเลือด” ว่า “เลือดประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้: พลาสมา, เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด.” ด้วยเหตุนี้ ลงรอยกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ พยานฯ จึงไม่รับการถ่ายเลือดครบส่วน หรือส่วนประกอบหลักใด ๆ ของเลือด.
12. (ก) เคยมีการแสดงจุดยืนเช่นไรในเรื่องส่วนย่อยที่สกัดจากส่วนประกอบหลักของเลือด? (ข) จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้จากที่ไหน?
12 บทความที่พิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นั้นกล่าวต่อไปว่า “ความเข้าใจทางศาสนาของพยานฯ มิได้ห้ามเด็ดขาดในเรื่องการใช้ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น อัลบูมิน อิมมูนกลอบูลิน หรือส่วนผสมต่าง ๆ ที่ใช้กับผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย พยานฯ แต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองว่าเขาจะรับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่.” ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา มีการแยกเอาส่วนประกอบย่อยของเลือดหลายอย่างมาใช้ในทางการแพทย์. ด้วยเหตุนั้น วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 2000 จึงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ไว้ในบทความ “คำถามจากผู้อ่าน.” เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านหลายล้านคนในปัจจุบัน เราจึงพิมพ์ซ้ำคำตอบดังกล่าวไว้ที่หน้า 29-31 ของวารสารฉบับนี้. บทความนั้นให้ข้อมูลพร้อมเหตุผลต่าง ๆ ที่สนับสนุน กระนั้น คุณจะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวก็สอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานที่ให้ไว้ในปี 1981.
บทบาทของสติรู้สึกผิดชอบของคุณ
13, 14. (ก) สติรู้สึกผิดชอบคืออะไร และสติรู้สึกผิดชอบมีบทบาทอย่างไรในเรื่องเลือด? (ข) พระเจ้าให้การชี้นำชาวอิสราเอลเรื่องการรับประทานเนื้อไว้อย่างไร แต่นั่นอาจทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
13 ข้อมูลเหล่านั้นทำให้การใช้สติรู้สึกผิดชอบกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? คริสเตียนเห็นพ้องกันว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามการชี้นำของพระเจ้า แต่ในบางสภาพการณ์ แต่ละคนจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และสติรู้สึกผิดชอบจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ. สติรู้สึกผิดชอบเป็นความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเพื่อใช้ประเมินและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ บ่อยครั้งในด้านศีลธรรม. (โรม 2:14, 15) กระนั้น คุณทราบว่าสติรู้สึกผิดชอบของแต่ละคนให้การชี้นำแตกต่างกันไป. * คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าบางคนมี “สติรู้สึกผิดชอบที่อ่อนแอ” ซึ่งก็แสดงนัยว่าคนอื่น ๆ มีสติรู้สึกผิดชอบที่เข้มแข็ง. (1 โกรินโธ 8:12, ล.ม.) คริสเตียนแต่ละคนได้ก้าวหน้าในระดับที่ต่างกันในการเรียนรู้พระทัยประสงค์ของพระเจ้า, ในการคำนึงถึงพระดำริของพระองค์, และในการนำพระดำรินั้นมาใช้ประกอบการตัดสินใจ. เราชี้ ให้เห็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้จากกรณีของชาวยิวกับการรับประทานเนื้อ.
14 คัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดว่าผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้าจะไม่รับประทานเนื้อที่ไม่เอาเลือดออก. ข้อห้ามดังกล่าวสำคัญถึงขนาดที่แม้แต่ในภาวะฉุกเฉิน เมื่อทหารชาวอิสราเอลรับประทานเนื้อที่ไม่ได้เอาเลือดออก ก็นับเป็นบาปร้ายแรง. (พระบัญญัติ 12:15, 16; 1 ซามูเอล 14:31-35) ถึงกระนั้น ก็ยังอาจเกิดคำถามต่าง ๆ ขึ้นมา. เมื่อชาวอิสราเอลคนหนึ่งฆ่าแกะสักตัว เขาต้องเร่งรีบขนาดไหนในการเอาเลือดออก? เขาจำเป็นต้องเชือดตรงคอแกะไหมเพื่อจะเอาเลือดออก? ต้องแขวนแกะโดยผูกที่ขาหลังไหม? และแขวนไว้นานแค่ไหน? เขาจะทำอย่างไรในกรณีที่เป็นวัวตัวใหญ่? แม้แต่หลังจากปล่อยให้เลือดออกแล้ว ก็อาจยังมีเลือดติดอยู่ในเนื้อ. เขาจะกินเนื้อนั้นได้ไหม? ใครจะเป็นผู้ตัดสิน?
15. ชาวยิวบางคนปฏิบัติอย่างไรในเรื่องการรับประทานเนื้อ แต่พระเจ้าบัญชาไว้เช่นไร?
15 สมมุติว่าชาวยิวที่เคร่งศาสนาคนหนึ่งกำลังเผชิญกับคำถามเหล่านั้น. เขาอาจคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่สุดที่จะไม่รับประทานเนื้อที่ขายตามตลาดเลย ส่วนอีกคนจะไม่กินเนื้อที่อาจเป็นได้ว่าถูกถวายแก่รูปเคารพมาก่อน. ส่วนชาวยิวบางคนอาจรับประทานเฉพาะเนื้อที่ได้เอาเลือดออกตามพิธีกรรมบางอย่างแล้วเท่านั้น. * (มัดธาย 23:23, 24) คุณคิดอย่างไรที่แต่ละคนปฏิบัติแตกต่างกันไปอย่างนั้น? นอกจากนี้ เนื่องจากพระเจ้าก็ไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวไป จะดีไหมที่ชาวยิวจะส่งคำถามของตนไปยังสภารับบีเพื่อจะได้คำวินิจฉัยชี้ขาดสำหรับแต่ละคำถาม? แม้ว่ามีการพัฒนาธรรมเนียมเช่นนั้นในศาสนายูดาห์ เรารู้สึกโล่งใจว่าพระยะโฮวาไม่ได้บัญชาผู้นมัสการแท้ของพระองค์ให้แสวงหาคำตัดสินเรื่องเลือดด้วยวิธีดังกล่าว. พระเจ้าประทานคำชี้นำพื้นฐานสำหรับการฆ่าสัตว์ที่สะอาดเพื่อเป็นอาหารและการหลั่งเลือดสัตว์ออก แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดอะไรมากไปกว่านั้น.—โยฮัน 8:32.
16. เหตุใดคริสเตียนจึงอาจมีทัศนะแตกต่างกันไปในเรื่องการฉีดสารที่เป็นส่วนย่อยของส่วนประกอบหลักของเลือด?
16 ดังที่กล่าวไปในวรรค 11, 12 พยานพระยะโฮวาไม่รับการถ่ายเลือดครบส่วน หรือส่วนประกอบหลักสี่ส่วนของเลือด คือพลาสมา, เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด. แต่จะว่าอย่างไรกับส่วนย่อยที่สกัดจากส่วนประกอบหลัก เช่น เซรุ่มซึ่งมีแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) เพื่อต่อสู้กับโรคหรือแก้พิษงู? (ดูหน้า 30 ย่อหน้า 4.) บางคนลงความเห็นว่าส่วนประกอบย่อยขนาดนั้นไม่อาจจะถือเป็นเลือดได้อีกต่อไป จึงไม่จัดอยู่ภายใต้คำสั่งที่ให้ ‘ละเว้นจากเลือด.’ (กิจการ 15:29; 21:25; หน้า 31 ย่อหน้าแรก) คนเหล่านั้นควรถือว่าตนต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง. ส่วนสติรู้สึกผิดชอบของคนอื่นกระตุ้นเขาให้ปฏิเสธทุกสิ่งที่ได้มาจากเลือด (ทั้งของคนและสัตว์) รวมถึงส่วนย่อยของส่วนประกอบหลักใด ๆ. * ส่วนบางคนอาจรับการฉีดพลาสมาโปรตีน (ในพลาสมา) เพื่อต่อสู้กับโรคหรือแก้พิษงู แต่อาจไม่รับส่วนประกอบย่อยอย่างอื่น. นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีส่วนประกอบย่อยของเลือดที่ทำหน้าที่แทบไม่ต่าง กันเลยกับหน้าที่ของส่วนประกอบหลักที่สกัดมานั้น และยังทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตเซลล์ในร่างกายถึงขั้นที่ทำให้คริสเตียนส่วนมากเห็นว่าไม่อาจยอมรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้.
17. (ก) สติรู้สึกผิดชอบของเราช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเผชิญการตัดสินใจเรื่องส่วนประกอบย่อยของเลือด? (ข) เหตุใดการตัดสินใจเรื่องนี้จึงสำคัญมาก?
17 สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสติรู้สึกผิดชอบช่วยเราได้เมื่อทำการตัดสินใจในเรื่องนี้. สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียนรู้สิ่งที่พระคำของพระเจ้าตรัส และพยายามนวดปั้นสติรู้สึกผิดชอบของคุณด้วยสิ่งที่คุณเรียนรู้นั้น. นั่นจะช่วยคุณให้สามารถตัดสินใจประสานกับการชี้นำจากพระเจ้า แทนที่ขอให้ใคร ๆ ตัดสินใจแทนคุณ. (บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5) ในเรื่องการรับส่วนประกอบย่อยของเลือด บางคนคิดว่า ‘นั่นเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับสติรู้สึกผิดชอบ จึงไม่ต้องเป็นห่วงอะไร.’ นี่เป็นการลงความเห็นที่ผิดพลาด. การที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นอยู่กับสติรู้สึกผิดชอบไม่ได้หมายความว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ. การตัดสินใจของเราอาจเป็นเรื่องสำคัญมาก. เหตุผลอย่างหนึ่งคืออาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นที่มีสติรู้สึกผิดชอบต่างไปจากเรา. เราทราบเรื่องนั้นได้จากคำแนะนำของเปาโลที่กล่าวถึงเนื้อซึ่งขายตามตลาดที่อาจ ถวายแก่รูปเคารพมาก่อน. คริสเตียนควรเป็นห่วงในเรื่องที่จะไม่ “ทำร้ายสติรู้สึกผิดชอบที่อ่อนแอ.” ถ้าเราทำให้ผู้อื่นสะดุด เราอาจทำให้ ‘พี่น้องของเราพินาศ ซึ่งพระคริสต์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อเขา’ และเรากำลังทำบาปต่อพระคริสต์. ฉะนั้น แม้ว่าประเด็นเรื่องส่วนประกอบย่อยของเลือดเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ควรถือว่าการตัดสินใจเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว.—1 โกรินโธ 8:8, 11-13, ล.ม.; 10:25-31.
18. คริสเตียนจะป้องกันไม่ให้สติรู้สึกผิดชอบของตนด้านชาได้อย่างไรเมื่อตัดสินใจในเรื่องเลือด?
18 อีกแง่หนึ่งที่เน้นความสำคัญของการตัดสินใจในเรื่องเลือดคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณเองจากการตัดสินใจนั้น. ถ้าการรับส่วนประกอบย่อยของเลือดรบกวนสติรู้สึกผิดชอบของคุณที่ได้รับการฝึกฝนโดยทางคัมภีร์ไบเบิล คุณก็ไม่ควรมองข้ามสติรู้สึกผิดของคุณ. อย่าฝืนสิ่งที่สติรู้สึกผิดชอบของคุณบอกเพียงเพราะใครบางคนบอกว่า “ไม่ผิดหรอกที่จะรับส่วนประกอบย่อยของเลือด หลายคนก็รับกัน.” ขออย่าลืมว่า ผู้คนมากมายในทุกวันนี้เพิกเฉยการชี้นำของสติรู้สึกผิดชอบของตน จนในที่สุดสติรู้สึกผิดชอบของพวกเขาด้านชา ปล่อยให้ตัวเขาพูดโกหกหรือทำสิ่งอื่น ๆ ที่ผิดโดยไม่รู้สึกเสียใจ. คริสเตียนไม่อยากดำเนินตามแนวทางแบบนั้นอย่างแน่นอน.—2 ซามูเอล 24:10; 1 ติโมเธียว 4:1, 2.
19. ในการตัดสินใจประเด็นทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเลือดนั้น อะไรควรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราคำนึงถึงเสมอ?
19 ส่วนท้าย ๆ ของคำตอบที่พิมพ์ซ้ำในหน้า 29-31 นั้น มีข้อความว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่าทัศนะและการตัดสินใจตามสติรู้สึกผิดชอบอาจแตกต่างกันไปหมายความว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญกระนั้นไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น. นี่เป็นเรื่องสำคัญ.” ที่กล่าวเช่นนั้นก็เนื่องจากสัมพันธภาพระหว่างคุณกับ “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย. สัมพันธภาพที่ว่านี้ซึ่งอาศัยพระโลหิตของพระเยซูที่มีอานุภาพในการช่วยชีวิตให้รอด เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะนำคุณไปถึงชีวิตนิรันดร์ได้. จงปลูกฝังความนับถืออย่างสูงต่อเลือดเพราะสิ่งที่พระเจ้ากำลังดำเนินการให้สำเร็จโดยใช้เลือดคือการช่วยชีวิตให้รอด. เปาโลเขียนได้เหมาะทีเดียวว่า “เมื่อก่อนท่าน . . . ไม่มีที่หวัง และอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า. แต่บัดนี้ท่านทั้งหลายอยู่ในพระเยซูคริสต์, ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล แต่ได้เข้ามาใกล้แล้วโดยพระโลหิตของพระคริสต์นั้น.”—เอเฟโซ 2:11-13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 13 ครั้งหนึ่ง เปาโลกับเพื่อนคริสเตียนอีกสี่คนไปยังพระวิหารเพื่อชำระตัวตามพิธีกรรม. พระบัญญัติถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เปาโลทำตามคำแนะนำของพวกผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลม. (กิจการ 21:23-25) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนบางคนอาจรู้สึกว่าตัวเขาเองจะไม่เข้าไปในพระวิหารหรือทำพิธีกรรมดังกล่าว. สติรู้สึกผิดชอบของแต่ละคนแตกต่างกันไปในสมัยนั้น ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน.
^ วรรค 15 สารานุกรมจูไดกา (ภาษาอังกฤษ) บอกคร่าว ๆ ถึงกฎที่ “สลับซับซ้อนและปลีกย่อย” เกี่ยวกับเนื้อ “โคเชอร์” (เนื้อที่ได้จากการฆ่าและเตรียมเป็นอาหารตามวิธีที่บัญญัติไว้โดยศาสนายูดาห์). สารานุกรมนั้นบอกถึงจำนวนนาทีที่ต้องแช่เนื้อทิ้งไว้ในน้ำ, วิธีผึ่งเนื้อเพื่อให้น้ำไหลออกบนแผ่นกระดาน, ความหยาบละเอียดของเกลือที่จะใช้ทาบนเนื้อ, และจำนวนครั้งที่ต้องล้างเนื้อในน้ำเย็น.
^ วรรค 16 มีการใช้ผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ที่ไม่ได้มาจากเลือดเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาฉีดบางตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. กระนั้น ในยาฉีดบางตัว อาจมีส่วนประกอบย่อยของเลือด เช่น แอลบูมิน ผสมอยู่ในปริมาณเล็กน้อย.—ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 1994.
คุณจำได้ไหม?
• พระเจ้าประทานการชี้นำเรื่องเลือดอย่างไรแก่โนฮา, ชาวอิสราเอล, และคริสเตียน?
• พยานพระยะโฮวาปฏิเสธอะไรอย่างเด็ดขาดในเรื่องเลือด?
• ในความหมายใดที่ว่าการรับส่วนประกอบย่อยที่สกัดจากส่วนประกอบหลักของเลือดนั้นขึ้นอยู่กับสติรู้สึกผิดชอบของแต่ละคน แต่เรื่องนี้ไม่ได้หมายความเช่นไร?
• เมื่อทำการตัดสินใจ ทำไมเราควรคำนึงถึงสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้าว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ?
[คำถาม]
[แผนภูมิหน้า 22]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
จุดยืนพื้นฐานในเรื่องเลือด
เลือดครบส่วน
ยอมรับไม่ได้
เม็ดเลือดแดง
เม็ดเลือดขาว
เกล็ดเลือด
พลาสมา
คริสเตียนต้องตัดสินใจเอง
ส่วนประกอบย่อยที่ได้จากเม็ดเลือดแดง
ส่วนประกอบย่อยที่ได้จากเม็ดเลือดขาว
ส่วนประกอบย่อยที่ได้จากเกล็ดเลือด
ส่วนประกอบย่อยที่ได้จากพลาสมา
[ภาพหน้า 20]
คณะกรรมการปกครองสรุปว่าคริสเตียนต้อง ‘ละเว้นจากเลือด’
[ภาพหน้า 23]
อย่าเพิกเฉยการชี้นำจากสติรู้สึกผิดชอบหากคุณเผชิญการตัดสินใจในเรื่องส่วนประกอบย่อยของเลือด