ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอทเครื่องมือช่วยในการแปลที่สำคัญยิ่ง

คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอทเครื่องมือช่วยในการแปลที่สำคัญยิ่ง

คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​เครื่อง​มือ​ช่วย​ใน​การ​แปล​ที่​สำคัญ​ยิ่ง

ประมาณ​ปี 1455 มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​เกี่ยว​กับ​การ​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล. โยฮันเนส กูเทนเบิร์ก​ใช้​แท่น​พิมพ์​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​แรก​เท่า​ที่​เคย​พิมพ์​กัน​มา​โดย​ใช้​ตัว​เรียง​พิมพ์. และ​แล้ว โซ่​ตรวน​ที่​ผูก​มัด​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​เป็น​เอกสาร​ที่​ต้อง​เขียน​ด้วย​มือ​ซึ่ง​แทบ​จะ​ไม่​เพียง​พอ​ต่อ​ความ​ต้องการ​ก็​ขาด​สะบั้น​ลง. ใน​ที่​สุด มี​การ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ออก​เป็น​จำนวน​มาก​ด้วย​ค่า​ใช้​จ่าย​ค่อนข้าง​น้อย. ใน​เวลา​ไม่​นาน คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​กลาย​เป็น​หนังสือ​ที่​มี​การ​จำหน่าย​อย่าง​กว้างขวาง​ที่​สุด​ใน​โลก.

คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​กูเทนเบิร์ก​เป็น​ภาษา​ลาติน. แต่​ไม่​นาน บรรดา​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยุโรป​ก็​ตระหนัก​ว่า พวก​เขา​ต้องการ​ข้อ​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เชื่อถือ​ได้​ซึ่ง​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม​คือ​ฮีบรู​และ​กรีก. คริสตจักร​คาทอลิก​ถือ​ว่า​ฉบับ​แปล​ลาติน​วัลเกต เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​เดียว​ที่​ยอม​รับ แต่​ก็​มี​ข้อ​เสีย​หลัก ๆ สอง​ประการ. ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16 ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​เข้าใจ​ภาษา​ลาติน. นอก​จาก​นี้ ตลอด​ช่วง​เวลา​กว่า​หนึ่ง​พัน​ปี ผู้​ที่​คัด​ลอก​ฉบับ​วัลเกต ทำ​ให้​เกิด​ข้อ​ผิด​พลาด​มาก​มาย.

ทั้ง​เหล่า​ผู้​แปล​และ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ต่าง​ก็​ต้องการ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม อีก​ทั้ง​ยัง​ต้องการ​ฉบับ​แปล​ภาษา​ลาติน​ที่​ได้​ปรับ​ปรุง​แล้ว. ใน​ปี 1502 คาร์ดินัล​ฮีเมเนส เด ซิสเนรอส ที่​ปรึกษา​ด้าน​การ​เมือง​และ​ศาสนา​ของ​ราชินี​อีซาเบลลา​ที่​หนึ่ง​แห่ง​สเปน ตัดสิน​ใจ​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​พวก​เขา​โดย​ให้​มี​การ​จัด​ทำ​ฉบับ​หนึ่ง​ขึ้น. เครื่อง​มือ​ช่วย​ใน​การ​แปล​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​นี้​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​ว่า ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท. ซิสเนรอส​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​จะ​มี​ฉบับ​โพลิกลอท หรือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​หลาย​ภาษา​ที่​บรรจุ​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ภาษา​ฮีบรู, กรีก, และ​ลาติน​ใน​เล่ม​เดียว​กัน รวม​ทั้ง​บาง​ส่วน​ใน​ภาษา​อาระเมอิก. ใน​เวลา​นั้น​การ​พิมพ์​ยัง​อยู่​ใน​ช่วง​เริ่ม​ต้น ดัง​นั้น การ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​นี้​จึง​เป็น​เหตุ​การณ์​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​พัฒนาการ​ด้าน​การ​พิมพ์​อีก​ด้วย.

ซิสเนรอส​เริ่ม​ต้น​งาน​ชิ้น​ใหญ่​ของ​เขา​โดย​การ​กว้าน​ซื้อ​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​สเปน. เขา​ยัง​เก็บ​สะสม​ฉบับ​สำเนา​ต่าง ๆ ใน​ภาษา​กรีก​และ​ภาษา​ลาติน​ไว้​ด้วย. ทั้ง​หมด​นี้​จะ​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​ข้อ​ความ​ใน​ฉบับ​โพลิกลอท. ซิสเนรอส​มอบหมาย​ให้​ผู้​คง​แก่​เรียน​กลุ่ม​หนึ่ง​ทำ​การ​รวบ​รวม​อย่าง​จริงจัง เขา​ได้​จัด​ตั้ง​กลุ่ม​นี้​ขึ้น​ที่​มหาวิทยาลัย​อัล​คาลา เด เฮนาเรส​ที่​เพิ่ง​ตั้ง​ขึ้น​ใหม่​ใน​สเปน. หนึ่ง​ใน​ผู้​ที่​ถูก​ขอ​ให้​เข้า​มา​ร่วม​กลุ่ม​คือ​เอราสมุส แห่ง​รอตเทอร์ดัม แต่​นัก​ภาษา​ศาสตร์​ที่​มี​ชื่อเสียง​คน​นี้​ปฏิเสธ​คำ​เชิญ.

เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใช้​เวลา​ถึง​สิบ​ปี​ใน​การ​รวบ​รวม​งาน​ชิ้น​สำคัญ​ยิ่ง​นี้ หลัง​จาก​นั้น​ยัง​ใช้​เวลา​อีก​สี่​ปี​สำหรับ​การ​พิมพ์. มี​ความ​ยุ่งยาก​ทาง​ด้าน​เทคนิค​การ​พิมพ์​มาก​มาย เนื่อง​จาก​ช่าง​พิมพ์​ชาว​สเปน​ไม่​มี​แบบ​อักษร​ตัว​พิมพ์​ใน​ภาษา​ฮีบรู, กรีก, หรือ​อาระเมอิก. ด้วย​เหตุ​นี้ ซิสเนรอส​จึง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​ชำนาญ​ด้าน​การ​พิมพ์​ที่​ชื่อ อาร์นัลโด กิเยอร์โม โบรคาริโอ เพื่อ​เตรียม​แบบ​อักษร​ตัว​พิมพ์​ของ​ภาษา​เหล่า​นี้. ใน​ที่​สุด พวก​ช่าง​พิมพ์​ก็​ได้​เริ่ม​ต้น​พิมพ์​ใน​ปี 1514. การ​พิมพ์​ทั้ง​ชุด​ที่​มี​หก​เล่ม​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​วัน​ที่ 10 กรกฎาคม​ปี 1517 เพียง​สี่​เดือน​ก่อน​ที่​คาร์ดินัล​จะ​เสีย​ชีวิต. มี​การ​ผลิต​ฉบับ​ครบ​ชุด​ออก​มา​ประมาณ​หก​ร้อย​ชุด ซึ่ง​ก็​น่า​แปลก เพราะ​ใน​ช่วง​นั้น​นั่น​เอง​ที่​ศาล​ศาสนา​ใน​สเปน​กำลัง​มี​อำนาจ​สูง​สุด. *

การ​จัด​รูป​เล่ม

ทุก​หน้า​ของ​ฉบับ​โพลิกลอท​อัด​แน่น​ไป​ด้วย​เนื้อหา. ใน​สี่​เล่ม​บรรจุ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู แต่​ละ​หน้า​มี​ข้อ​ความ​จาก​ฉบับ​วัลเกต อยู่​กลาง​หน้า ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​อยู่​คอลัมน์​นอก​สุด และ​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​พร้อม​กับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ลาติน​บรรทัด​ต่อ​บรรทัด​อยู่​คอลัมน์​ด้าน​ใน. บริเวณ​ส่วน​ริม​ของ​กระดาษ มี​รากศัพท์​คำ​ภาษา​ฮีบรู​หลาย​คำ. และ​ส่วน​ล่าง​ของ​หน้า​กระดาษ​มี​เพนทาทุก​ของ​ทาร์กุม​แห่ง​อังเกลาส (พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ถอด​ความ​ใน​ภาษา​อาระเมอิก) พร้อม​ส่วน​ที่​แปล​เป็น​ภาษา​ลาติน.

โพลิกลอท​เล่ม​ที่​ห้า​บรรจุ​พระ​ธรรม​ภาค​ภาษา​กรีก ใน​แต่​ละ​หน้า​มี​สอง​คอลัมน์. คอลัมน์​หนึ่ง​เป็น​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก และ​อีก​คอลัมน์​หนึ่ง​เป็น​ข้อ​ความ​เดียว​กัน​ใน​ภาษา​ลาติน​จาก​ฉบับ​แปล​วัลเกต. มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​ข้อ​ความ​ที่​ตรง​กัน​ของ​ทั้ง​สอง​ภาษา​โดย​ใช้​ตัว​อักษร​เล็ก ๆ กำกับ​ไว้​ซึ่ง​จะ​ชี้​นำ​ผู้​อ่าน​ไป​ยัง​คำ​ที่​มี​ความหมาย​ตรง​กัน​ใน​แต่​ละ​คอลัมน์. ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​ของ​ฉบับ​โพลิกลอท​เป็น​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​หรือ “ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” ฉบับ​ที่​สมบูรณ์​ฉบับ​แรก​เท่า​ที่​เคย​พิมพ์​มา และ​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ฉบับ​แปล​ที่​จัด​ทำ​โดย​เอราสมุส​ก็​พิมพ์​ออก​มา.

เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ให้​ความ​เอา​ใจ​ใส่​ใน​เรื่อง​การ​พิสูจน์​อักษร​ข้อ​ความ​เล่ม​ที่​ห้า​เป็น​พิเศษ จึง​มี​การ​พิมพ์​ผิด​พลาด​เพียง 50 คำ​เท่า​นั้น. เพราะ​การ​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​ละเอียด​ถี่ถ้วน​เช่น​นี้ บรรดา​นัก​วิจารณ์​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​จึง​ยก​ให้​หนังสือ​เล่ม​นี้​เหนือ​กว่า​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​เอราสมุส. ตัว​อักษร​ภาษา​กรีก​งดงาม​เหมือน​กับ​สำเนา​ที่​เขียน​ด้วย​มือ​ฉบับ​เก่า​แก่. ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​การ​พิมพ์​ภาษา​กรีก​ใน​ศตวรรษ​ที่​สิบ​ห้า (ภาษา​สเปน) อาร์. พรอคเตอร์​กล่าว​ว่า “สเปน​ได้​รับ​เกียรติ​เนื่อง​จาก​ได้​ทำ​ตัว​พิมพ์​ภาษา​กรีก​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก ซึ่ง​ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​เป็น​แบบ​อักษร​ตัว​พิมพ์​ภาษา​กรีก​ที่​งดงาม​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​การ​ทำ​ขึ้น​มา.”

โพลิกลอท​เล่ม​ที่​หก​บรรจุ​เครื่อง​ช่วย​สำหรับ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​มาก​มาย อาทิ​เช่น พจนานุกรม​ภาษา​ฮีบรู​และ​อาระเมอิก, การ​แปล​ชื่อ​ภาษา​กรีก, ฮีบรู, และ​อาระเมอิก, การ​อธิบาย​ไวยากรณ์​ภาษา​ฮีบรู, และ​ดัชนี​ภาษา​ลาติน​สำหรับ​พจนานุกรม. ไม่​แปลก​เลย​ที่​ฉบับ​แปล​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น “อนุสรณ์​ทาง​ด้าน​ศิลปะ​การ​พิมพ์​และ​วิทยาศาสตร์​ทาง​ด้าน​พระ​คัมภีร์.”

ซิสเนรอส​ตั้งใจ​จะ​ให้​ผล​งาน​ชิ้น​นี้ “ฟื้นฟู​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นี้​อยู่​ใน​ภาวะ​ซบเซา” กระนั้น เขา​ไม่​ต้องการ​ที่​จะ​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​หา​ได้​ง่าย​สำหรับ​คน​ทั่ว​ไป. เขา​คิด​ว่า “พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ควร​ถูก​ผนึก​ไว้​ใน​อำนาจ​แห่ง​ความ​ลึกลับ ให้​ไกล​เกิน​ที่​คน​ธรรมดา​จะ​เอื้อม​ถึง.” เขา​ยัง​เชื่อ​ด้วย​ว่า “พระ​คัมภีร์​ควร​จะ​ถูก​จำกัด​ไว้​ใน​ภาษา​โบราณ​สาม​ภาษา​ที่​พระเจ้า​ทรง​อนุญาต​ให้​จารึก​ไว้​เหนือ​พระ​เศียร​พระ​บุตร​ที่​ถูก​ตรึง​ของ​พระองค์.” * ด้วย​เหตุ​นี้ ฉบับ​แปล​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​จึง​ไม่​ได้​รวม​เอา​การ​แปล​เป็น​ภาษา​สเปน​เข้า​ไว้​ด้วย.

ฉบับ​วัลเกต​เทียบ​กับ​ฉบับ​ภาษา​ดั้งเดิม

ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​ฉบับ​โพลิกลอท​ทำ​ให้​บรรดา​ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​มี​ส่วน​เกี่ยว​ของ​ใน​การ​ทำ​ฉบับ​นี้​มี​ความ​เห็น​ไม่​ลง​รอย​กัน​บาง​ประการ. อันโตนโย เด เนบริฮา *ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​สเปน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ปรับ​ปรุง​ข้อ​ความ​ของ​ฉบับ​วัลเกต ซึ่ง​จะ​อยู่​ใน​ฉบับ​โพลิกลอท​ขึ้น​ใหม่. แม้​คริสตจักร​คาทอลิก​ถือ​ว่า​ฉบับ​วัลเกต ของ​เจโรม​เป็น​ฉบับ​แปลเดียว​ที่​ได้​รับ​อนุญาต แต่​เนบริฮา​เห็น​ว่า​มี​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​เปรียบ​เทียบ​ฉบับ​วัลเกต กับ​ข้อ​ความ​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม​คือ​ฮีบรู, อาระเมอิก, และ​กรีก. เขา​ต้องการ​แก้ไข​ข้อ​ผิด​พลาด​ที่​ปรากฏ​ชัด​ใน​สำเนา​ของ​ฉบับ​วัลเกต ที่​มี​อยู่.

เพื่อ​แก้​ข้อ​ขัด​แย้ง​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​เกิด​ขึ้น​ระหว่าง​ฉบับ​วัลเกต และ​ภาษา​ดั้งเดิม เนบริฮา​ได้​กระตุ้น​ซิสเนรอส​ว่า “จง​จุด​คบเพลิง​สอง​อัน​แห่ง​ศาสนา​ของ​เรา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง คือ​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก. จง​ให้​รางวัล​แก่​ผู้​ที่​อุทิศ​ตัว​เอง​เพื่อ​งาน​นี้.” และ​เขา​ยัง​ให้​ข้อ​เสนอ​แนะ​ดัง​ต่อ​ไป​นี้​ด้วย: “ทุก​ครั้ง​ที่​มี​ความ​แตกต่าง​ปรากฏ​ขึ้น​ใน​สำเนา​ภาษา​ลาติน​ของ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่ เรา​ควร​กลับ​ไป​เปรียบ​เทียบ​กับ​ฉบับ​ภาษา​กรีก. ทุก​ครั้ง​ที่​เกิด​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​ระหว่าง​สำเนา​ภาษา​ลาติน​ฉบับ​ต่าง ๆ หรือ​ระหว่าง​สำเนา​ภาษา​ลาติน​กับ​ภาษา​กรีก​ของ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​เดิม เรา​ควร​ค้น​หา​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​จาก​แหล่ง​ที่​เชื่อถือ​ได้​ใน​ภาษา​ฮีบรู.”

ซิสเนรอส​ตอบรับ​อย่าง​ไร? ซิสเนรอส​กล่าว​ถึง​ความ​เห็น​ของ​เขา​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ใน​คำนำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท. “เรา​ให้​ฉบับ​แปล​ภาษา​ลาติน​ของ​เจโรม​ผู้​ได้​รับ​พระ​พร​อยู่​ตรง​กลาง​ระหว่าง​ธรรมศาลา [ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู] และ​คริสตจักร​ตะวัน​ออก [ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก] เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ร้าย​ที่​ถูก​แขวน​อยู่​คน​ละ​ข้าง​ของ​พระ​เยซู​ซึ่ง​หมาย​ถึง​คริสตจักร​โรมัน​หรือ​คริสตจักร​ลาติน.” ด้วย​เหตุ​นี้ ซิสเนรอส​จึง​ไม่​ยอม​ให้​เนบริฮา​แก้ไข​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต ให้​สอดคล้อง​กับ​ข้อ​ความ​ใน​ภาษา​ดั้งเดิม. ใน​ที่​สุด เนบริฮา​ตัดสิน​ใจ​ล้ม​เลิก​งาน​นี้​แทน​ที่​จะ​ให้​มี​ชื่อ​ของ​เขา​ใน​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​ที่​มี​ข้อ​บกพร่อง.

คอมมา โยฮานเนอุม

แม้​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​โพลิกลอท​แห่ง​อัล​คาลา เด เฮนาเรส​จะ​เป็น​ก้าว​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​ใน​การ​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ดั้งเดิม​ได้​รับ​การ​ปรับ​ปรุง​ใหม่ แต่​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​ธรรมเนียม​ประเพณี​ก็​มี​อิทธิพล​เหนือ​กว่า​การ​ศึกษา​หา​ความ​รู้. ฉบับ​วัลเกต ได้​รับ​การ​นับถือ​อย่าง​สูง​เสีย​จน​บาง​ครั้ง​เหล่า​ผู้​รวบ​รวม​รู้สึก​ว่า​มี​พันธะ​หน้า​ที่​ที่​จะ​ต้อง​แก้ไข​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​ของ “คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ข้อ​ความ​นั้น​ตรง​กัน​กับ​ภาษา​ลาติน​แทน​ที่​จะ​ทำ​ใน​ทาง​กลับ​กัน. หนึ่ง​ใน​ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้​คือ​ข้อ​ความ​แปลกปลอม​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​ที่​เรียก​ว่า คอมมา โยฮานเนอุม. * ไม่​มี​ฉบับ​ใด​เลย​ใน​สำเนา​ภาษา​กรีก​ดั้งเดิม​มี​ข้อ​ความ​นี้ จึง​ดู​เหมือน​ว่า นาน​หลาย​ศตวรรษ​หลัง​จาก​โยฮัน​เขียน​จดหมาย​ของ​ท่าน​ได้​มี​การ​แทรก​วลี​นี้​ลง​ไป; อีก​ทั้ง​ไม่​มี​ข้อ​ความ​นี้​ปรากฏ​ใน​สำเนา​ภาษา​ลาติน​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​ฉบับ​วัลเกต ด้วย. ด้วย​เหตุ​นี้ เอราสมุส​จึง​ลบ​วลี​ที่​แทรก​เข้า​มา​นี้​ใน “คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” ฉบับ​ภาษา​กรีก​ของ​เขา.

เหล่า​ผู้​รวบ​รวม​ฉบับ​โพลิกลอท​รู้สึก​ลังเล​ใจ​ที่​จะ​เปลี่ยนถ้อย​คำ​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ข้อ​ความ​ใน​ฉบับ​วัลเกต ที่​ยึด​ถือ​กัน​มา​นาน​หลาย​ศตวรรษ. ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​รักษา​วลี​ปลอม​นี้​ไว้​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ลาติน และ​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​แปล​วลี​นี้​และ​แทรก​ไว้​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​เพื่อ​ว่า​ข้อ​ความ​ทั้ง​สอง​คอลัมน์​จะ​สอดคล้อง​ตรง​กัน.

พื้น​ฐาน​สำหรับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ใหม่

คุณค่า​ของ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​เพียง​แค่​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า หนังสือ​ชุด​นี้​บรรจุ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เซปตัวจินต์ ที่​พิมพ์​ครบ​ชุด​เป็น​ฉบับ​แรก. เช่น​เดียว​กับ​ที่ “คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” ฉบับ​ภาษา​กรีก​ของ​เอราสมุส​กลาย​เป็น​ข้อ​ความ​ที่​ได้​รับ​มา (เท็กซ์ตุส เรเซปตุส) ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก (ซึ่ง​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​งาน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อื่น ๆ) ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ของ​โพลิกลอท​ก็​เป็น​ข้อ​ความ​ต้น​ฉบับ​สำหรับ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู-อาระเมอิก. * วิลเลียม ทินเดล​ใช้​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ของ​ฉบับ​โพลิกลอท​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​งาน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ.

ด้วย​เหตุ​นี้ งาน​ศึกษา​ค้นคว้า​ของ​กลุ่ม​คน​ที่​ผลิต​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​จึง​ถือ​เป็น​งาน​หนึ่ง​ที่​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ยิ่ง​สำหรับ​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิชาการ​ด้าน​พระ​คัมภีร์. มี​การ​พิมพ์​หนังสือ​นี้​ออก​ใน​ช่วง​ที่​ความ​สนใจ​ใน​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​มาก​ขึ้น​ตลอด​ทั่ว​ยุโรป​เป็น​การ​เริ่ม​ต้น​สนับสนุน​ให้​มี​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ธรรมดา​ของ​ประชาชน. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ฉบับ​โพลิกลอท​เป็น​ห่วง​โซ่​อีก​ห่วง​หนึ่ง​ของ​การ​ริเริ่ม​ที่​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​กลั่นกรอง​และ​เก็บ​รักษา​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​และ​ฮีบรู. ความ​พยายาม​ทั้ง​หมด​นี้​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้ “คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​คำ​ตรัส​ที่​กลั่นกรอง​แล้ว,” “พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ.”—บทเพลง​สรรเสริญ 18:30, ล.ม.; ยะซายา 40:8; 1 เปโตร 1:25.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 มี​การ​พิมพ์​หก​ร้อย​ชุด​บน​กระดาษ​และ​อีก​หก​ชุด​บน​แผ่น​หนัง. ใน​ปี 1984 มี​การ​พิมพ์​ใหม่​ใน​จำนวน​จำกัด​โดย​คง​ลักษณะ​เดิม​ไว้​ทุก​ประการ.

^ วรรค 12 ภาษา​ฮีบรู, กรีก, และ​ลาติน.—โยฮัน 19:20.

^ วรรค 14 ถือ​กัน​ว่า​เนบริฮา​เป็น​นัก​มนุษยนิยม​ชาว​สเปน​รุ่น​บุกเบิก (ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​มี​ความ​คิด​แบบ​เสรี​นิยม). ใน​ปี 1492 เขา​ออก​หนังสือ​เล่ม​แรก​ที่​ชื่อ​แกรมมาติกา คาสเทลลานา (ไวยากรณ์​ของ​ภาษา​คาสติเลียน). สาม​ปี​ต่อ​มา​เขา​ตัดสิน​ใจ​อุทิศ​ชีวิต​ที่​เหลือ​ของ​เขา​เพื่อ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์.

^ วรรค 18 ส่วน​แปลกปลอม​เพิ่ม​เติม​นี้​พบ​ได้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​ฉบับ​แปล​ที่ 1 โยฮัน 5:7 ที่​อ่าน​ว่า “ใน​สวรรค์, พระ​บิดา, พระ​วาทะ, และ​พระ​จิตต์​บริสุทธิ์: และ​ทั้ง​สาม​รวม​เป็น​หนึ่ง​เดียว.”

^ วรรค 21 สำหรับ​เรื่อง​ราว​การ​งาน​ของ​เอราสมุส โปรด​ดู​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 กันยายน 1982 หน้า 8-11.

[ภาพ​หน้า 29]

คาร์ดินัล​ฮีเมเนส เด ซิสเนรอส

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid

[ภาพ​หน้า 30]

อันโตนโย เด เนบริฮา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 28]

Biblioteca Histórica. Universidad Complutense de Madrid