ความอิ่มใจด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าได้ค้ำจุนผมเสมอมา
เรื่องราวชีวิตจริง
ความอิ่มใจด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าได้ค้ำจุนผมเสมอมา
เล่าโดยเบนจามิน อีเคชูควู โอซุเอเค
หลังจากผมเริ่มงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนเต็มเวลาไม่นาน ผมแวะไปที่บ้านพ่อแม่. พอเห็นหน้าผม พ่อก็โถมตัวเข้ามากระชากเสื้อผมและตะโกนว่า “เจ้าคนขโมย!” พ่อคว้าดาบใบกว้างและใช้ส่วนแบนตีผมอย่างแรง. เพราะเสียงดังลั่นชาวบ้านจึงแห่กันมาที่บ้านของเรา. ผมขโมยอะไรหรือ? ขอให้ผมชี้แจง.
ผมเกิดปี 1930 ณ หมู่บ้านอูมูอาเรียม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไนจีเรีย. ผมเป็นลูกหัวปีในจำนวนลูกชายหญิงเจ็ดคน. น้องสาวคนโตตายเมื่ออายุ 13 ปี. พ่อแม่สังกัดในนิกายแองกลิกัน. พ่อเป็นชาวนา และแม่เป็นแม่ค้าขายปลีก. แม่เดินไปซื้อน้ำมันปาล์มเพียงหนึ่งปี๊บที่ตลาดท้องถิ่นซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านของเราราว ๆ 30 กิโลเมตร และกลับถึงบ้านตอนค่ำวันเดียวกัน. พอรุ่งเช้าของวันถัดไป แม่จะเดินไปขายน้ำมันที่สถานีรถไฟในเมืองซึ่งไกลออกไปประมาณ 40 กิโลเมตร. ถ้าแม่ขายได้กำไร ซึ่งปกติจะไม่เกิน 15 เซนต์ (เจ็ดบาท) แม่ก็ซื้ออาหารสำหรับครอบครัวและกลับบ้านวันเดียวกัน. แม่ทำอย่างนี้อยู่นานราว ๆ 15 ปี กระทั่งแม่ตายเมื่อปี 1950.
ผมเริ่มเข้าโรงเรียนในหมู่บ้านซึ่งดำเนินการโดยคริสตจักรแองกลิกัน แต่การจะเรียนจนจบชั้นประถม ผมต้องไปอยู่ที่หอพักไกลจากบ้านประมาณ 35 กิโลเมตร. เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเงินให้ผมเรียนต่อ ผมจึงเริ่มหางานทำ. ทีแรกผมทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านของพนักงานเฝ้าสถานีรถไฟในกรุงลากอส ทางตะวันตกของไนจีเรีย และต่อมาเป็นคนรับใช้ข้าราชการในเมืองคาดูนา ทางภาคเหนือของไนจีเรีย. ในเบนินซิตี ทางภาคตะวันตกตอนกลางของไนจีเรีย
ผมทำหน้าที่เป็นเสมียนของนักกฎหมาย และต่อมาเป็นกรรมกรโรงเลื่อย. จากนั้นผมได้เดินทางไปอยู่กับน้าชายคนหนึ่งที่แคเมอรูนในปี 1953 เขาช่วยหางานให้ผมทำในสวนยาง. ผมได้เงินเดือนประมาณเก้าดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360 บาท). ถึงแม้ผมได้งานต่ำต้อยอย่างนั้น แต่ตราบใดที่ผมมีพอกิน ผมก็พอใจ.คนยากแค้นทำให้ผมมั่งคั่ง
ซิลวานุส โอเคมิริ เพื่อนร่วมงานของผมเป็นพยานพระยะโฮวา. เขาใช้ทุกโอกาสให้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลแก่ผมขณะที่เราตัดหญ้าสุมไว้รอบ ๆ ต้นยาง. แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าฟังเขาพูด. กระนั้น เมื่อน้าชายของผมเห็นว่าผมติดต่อพยานฯ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผมเลิกคบ. เขาเตือนผมว่า “เบ็นจิ นายอย่าไปคบกับโอเคมิริเลย. เขาเป็นคนเชื่อพระยะโฮวาและยากแค้น. คนที่คบหากับเขาก็จะเป็นอย่างเขา.”
ช่วงต้นปี 1954 ผมทนสภาพการทำงานที่หนักเกินไปในบริษัทนั้นไม่ไหว ผมจึงกลับไปอยู่บ้าน. สมัยนั้น คริสตจักรแองกลิกันค่อนข้างเคร่งครัดในเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม. ผมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกรังเกียจการผิดศีลธรรม. อย่างไรก็ตาม ไม่นานต่อมา ผมเกลียดการประพฤติแบบหน้าซื่อใจคดของพวกที่เข้าโบสถ์เดียวกับผม. แม้เขาอ้างว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล ทว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตของเขาไม่ได้เป็นตามคำอ้าง. (มัดธาย 15:8) ผมเถียงกับพ่อบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ของเราร้าวฉาน. คืนหนึ่ง ผมก็ออกจากบ้านไป.
ผมย้ายไปโอโมบาซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ มีทางรถไฟผ่าน. ที่นั่น ผมได้พบพยานพระยะโฮวาอีก. ปริสซิลลา อีซีโอชา ซึ่งผมเคยรู้จักที่หมู่บ้าน ได้มอบหนังสือเล่มเล็ก“ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” และภายหลังอาร์มาเก็ดดอน—โลกใหม่ของพระเจ้า ให้ผมอ่าน. * ผมตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือเหล่านี้และเชื่อมั่นว่าผมพบความจริงแล้ว. ที่โบสถ์เราไม่เคยศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราเพ่งเล็งแต่ธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์. แต่สรรพหนังสือของพยานฯ มักจะอ้างถึงคัมภีร์ไบเบิลเสมอ.
ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมา ผมถามบราเดอร์อีซีโอชากับภรรยาว่าเขาไปโบสถ์ของเขาวันไหน. ตอนที่ผมเข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวาครั้งแรก ผมไม่เข้าใจอะไรเลย. บทความในหอสังเกตการณ์ พูดเรื่องการโจมตีของ “โกกแห่งมาโกก” ตามคำกล่าวเชิงพยากรณ์ในพระธรรมยะเอศเคล. (ยะเอศเคล 38:1, 2, ล.ม.) ผมไม่คุ้นคำศัพท์หลายคำ แต่ผมประทับใจการต้อนรับอย่างอบอุ่นจนผมตั้งใจจะกลับไปอีกในวันอาทิตย์ถัดไป. ในการประชุมครั้งที่สอง ผมได้ฟังเรื่องการประกาศเผยแพร่. ดังนั้น ผมจึงถามปริสซิลลาว่าพวกเขาออกประกาศวันไหนบ้าง. วันอาทิตย์ที่สาม ผมไปกับพวกเขา ถือพระคัมภีร์เล่มเล็กไปด้วย. ผมไม่มีกระเป๋าประกาศหรือหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลแม้แต่เล่มเดียว. กระนั้นก็ดี ผมได้มาเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรและส่งรายงานการรับใช้ตอนสิ้นเดือน!
ไม่มีคนมานำการศึกษาพระคัมภีร์กับผม แต่คราใดที่ผมไปเยี่ยมบราเดอร์อีซีโอชากับภรรยา ผมได้เรียนถ้อยคำที่เสริมความเชื่อและการหนุนใจจากข้อพระคัมภีร์และได้หนังสือบางเล่มมาอ่าน. วันที่ 11 ธันวาคม 1954 ณ การประชุมภาคที่เมืองอาบา ผมแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. ญาติทางพ่อซึ่งผมอาศัยอยู่ด้วยและเรียนฝึกงานจากเขาก็ไม่ยอมให้อาหารผม แถมไม่ให้ผมฝึกงาน และไม่จ่ายค่าจ้างแก่ผม. แต่ผมก็ไม่รู้สึกขุ่นแค้น ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้มีสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระเจ้า. นั่นทำให้ผมอุ่นใจและมีใจสงบ. พวกพยานฯ ท้องถิ่นได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ. บราเดอร์อีซีโอชากับภรรยาจัดหาอาหารให้ผม และคนอื่นให้ผมยืมเงินเป็นทุนค้าขาย
เล็ก ๆ น้อย ๆ. กลางปี 1955 ผมซื้อจักรยานมือสอง และเดือนมีนาคม 1956 ผมเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำ. หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ใช้หนี้หมด. การขายของมีกำไรน้อย แต่ผมยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้. สิ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้ผมก็เพียงพออยู่แล้ว.“ขโมย” น้อง ๆ ไป
ทันทีที่ผมอยู่ได้ด้วยตัวเอง สิ่งแรกที่ผมห่วงใยคือการช่วยน้อง ๆ ทางด้านวิญญาณ. เนื่องจากพ่อมีอคติและระแวงแคลงใจมาก ท่านจึงต่อต้านผมที่เข้ามาเป็นพยานฯ. แล้วผมจะช่วยน้อง ๆ ให้มารู้จักความจริงของคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? ผมเสนอจะส่งเสียเอิร์นเนสน้องชาย ดังนั้น พ่อจึงยินยอมให้น้องมาอยู่กับผม. เอิร์นเนสรับความจริงอย่างรวดเร็วและรับบัพติสมาในปี 1956. การเปลี่ยนแปลงของเขายิ่งทำให้พ่อทวีการต่อต้านมากขึ้น. กระนั้นก็ดี น้องสาวคนหนึ่งที่แต่งงานแล้วได้รับเอาความจริงพร้อมกับสามีของเธอ. เมื่อผมเตรียมการให้เฟลิเซีย น้องสาวคนที่สองไปพักอยู่กับผมช่วงปิดเทอม พ่ออนุญาตอย่างไม่สู้เต็มใจ. ในไม่ช้า เฟลิเซียก็เช่นกันได้รับบัพติสมาเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา.
ปี 1959 ผมไปบ้านเพื่อรับเบอร์นีซน้องสาวคนที่สามให้มาอยู่กับเอิร์นเนส. นั่นเป็นตอนที่พ่อทำร้ายผม กล่าวหาผมขโมยลูกของท่านไป. ท่านไม่เข้าใจที่ลูก ๆ ได้ตัดสินใจเองที่จะรับใช้พระยะโฮวา. พ่อสาบานว่าจะไม่มีวันยอมให้เบอร์นีซมากับผม. แต่พระหัตถ์ของพระยะโฮวาไม่สั้นเกินไป เพราะปีถัดมา เบอร์นีซได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมพักอยู่กับเอิร์นเนส. เช่นเดียวกันกับพวกพี่ ๆ เธอยึดเอาความจริงและรับบัพติสมา.
“เรียนรู้เคล็ดลับ”
เดือนกันยายน 1957 ผมเริ่มทำงานฐานะไพโอเนียร์พิเศษ ใช้เวลาทำงานประกาศประมาณ 150 ชั่วโมงทุกเดือน. ผมมีซันเดย์ อีรอเบลาคีเป็นเพื่อนร่วมงาน และรับใช้ในเขตงานกว้างไพศาลในอาคปู-นา-อาบูโอ เขตปกครองเอทเช. ณ การประชุมหมวดครั้งแรกที่เราเข้าร่วมขณะอยู่ที่นั่น มี 13 คนจากกลุ่มของเราได้รับบัพติสมา. ตอนนี้ เราตื่นเต้นมากจริง ๆ ที่เห็น 20 ประชาคมกระจายอยู่ทั่วพื้นที่แถบนั้น!
ปี 1958 ผมเริ่มรู้จักคริสเตียนา อาซูอีเค ไพโอเนียร์ประจำที่สมทบกับประชาคมอาบา อีสต์. ผมนิยมชมชอบความกระตือรือร้นของเธอ และเดือนธันวาคมปีนั้นเราแต่งงานกัน. พอต้นปี 1959 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลเดินทางทำการเยี่ยมและชูกำลังพี่น้องฝ่ายวิญญาณในประชาคมต่าง ๆ. นับแต่นั้นจนกระทั่งปี 1972 ผมกับภรรยาออกเดินทางเยี่ยมแทบทุกประชาคมแห่งประชาชนของพระยะโฮวาในภาคตะวันออกและภาคตะวันตกตอนกลางของประเทศไนจีเรีย.
ประชาคมอยู่ห่างไกลกัน และพาหนะหลักสำหรับการเดินทางของเราคือรถจักรยาน. เมื่อรับใช้ประชาคมในเมืองใหญ่ พี่น้องจะจ้างแท็กซี่ส่งเราต่อไปยังอีกประชาคมหนึ่ง. บางแห่ง พื้นห้องที่เราพักนั้นเป็นดิน และไม่มีเพดาน. เตียงที่เรานอนนั้นทำด้วยต้นปาล์มราฟเฟีย. บางเตียงก็เอาหญ้าปูเป็นที่นอนแล้วปูเสื่อทับ บางทีก็ไม่มีเบาะรองนอนเลย. ปริมาณและคุณภาพของอาหารไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา. เนื่องจากได้เรียนรู้ในอดีตที่จะพึงพอใจกับสิ่งจำเป็นพออยู่รอด เราจึงยินดีกับอาหารไม่ว่าเขาจะจัดอะไรให้ และคนที่ให้การต้อนรับก็ชอบที่เรามีทัศนะเช่นนั้น. สมัยนั้นบางเมืองไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นเราจึงเอาตะเกียงน้ำมันก๊าดติดตัวไปเสมอ. ถึงแม้สภาพการณ์ยากลำบาก แต่เรามีช่วงเวลาที่น่ายินดีมากมายร่วมกับประชาคมต่าง ๆ.
ในระหว่างปีเหล่านั้น เราได้ตระหนักถึงคุณค่าคำตักเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค เราจะอิ่มใจด้วยของเหล่านี้.” (1 ติโมเธียว 6:8, ล.ม.) เพราะเคยผ่านความยากลำบาก เปาโลได้เรียนรู้เคล็ดลับซึ่งช่วยท่านอยู่อย่างอิ่มใจพอใจ. นั่นคืออะไร? ท่านอธิบายว่า “แท้จริงข้าพเจ้ารู้จักที่จะอยู่อย่างอัตคัด แท้จริงข้าพเจ้ารู้จักที่จะมีอย่างบริบูรณ์. ในทุกสิ่งและในทุกสภาพการณ์ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เคล็ดลับทั้งที่จะอิ่มและที่จะอด ทั้งที่จะมีบริบูรณ์และที่จะขาดแคลน.” เราเรียนรู้เคล็ดลับเดียวกัน. เปาโลกล่าวด้วยว่า “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ [พระเจ้า] ผู้ทรงประทานพลังให้ข้าพเจ้า.” (ฟิลิปปอย , ล.ม.) ข้อนี้เป็นความจริงเพียงใดในกรณีของเรา! เราประสบซึ่งความอิ่มใจ, กิจกรรมฝ่ายคริสเตียนที่เสริมสร้างเต็มขนาด, และความสงบใจ. 4:12, 13
รับใช้ประชาคมต่าง ๆ ฐานะเป็นครอบครัว
ปลายปี 1959 เราได้ลูกชายคนแรก โจเอล และปี 1962 เราได้ลูกชายคนที่สอง แซมมูเอล. ผมกับคริสเตียนายังคงเดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ และพ่วงลูกสองคนไปด้วย. ปี 1967 ไนจีเรียเกิดสงครามกลางเมือง. โรงเรียนปิดการเรียนการสอนเนื่องจากเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างไม่ขาดสาย. ภรรยาของผมเคยเป็นครูมาก่อนที่จะร่วมเดินหมวดกับผม ดังนั้น ในช่วงสงคราม เธอจึงสอนหนังสือลูกที่บ้าน. พอแซมมูเอลอายุหกขวบก็สามารถอ่านและเขียนได้. หลังสงครามสงบ เขาเข้าโรงเรียนล้ำหน้าเด็กรุ่นเดียวกันไปสองปี.
ตอนนั้น เราไม่ค่อยตระหนักถึงความยากลำบากในเรื่องการเลี้ยงลูกระหว่างที่เราเดินหมวด. อย่างไรก็ดี การถูกมอบหมายให้รับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในปี 1972 ปรากฏว่าเป็นประโยชน์แก่พวกเรา. ทั้งนี้ การอยู่เป็นที่เป็นทางช่วยเราสามารถให้ความเอาใจใส่ฝ่ายวิญญาณแก่ครอบครัวได้มากเท่าที่ควร. ตั้งแต่แรก เราสอนลูกชายให้รู้คุณค่าความเลื่อมใสพระเจ้าประกอบกับสันโดษ. ปี 1973 แซมมูเอลรับบัพติสมา และปีเดียวกันโจเอลก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำ. ลูกชายสองคนของเราแต่งงานกับหญิงคริสเตียนที่เรียบร้อยน่ารัก และเวลานี้ต่างก็เลี้ยงดูครอบครัวของตัวเองให้อยู่ในความจริง.
ความทุกข์ยากเนื่องจากสงครามกลางเมือง
ตอนที่เกิดสงครามกลางเมือง ผมรับใช้ในประชาคมหนึ่งที่เมืองโอนีชาฐานะผู้ดูแลหมวด และมีครอบครัวของผมเดินทางไปด้วย. สงครามครั้งนั้นยิ่งฝังรอยประทับแก่เรามากขึ้นในเรื่องความไร้ประโยชน์ที่จะสั่งสมสิ่งฝ่ายวัตถุหรือไว้วางใจในสิ่งเหล่านั้น. ผมเห็นผู้คนวิ่งพล่านเอาชีวิตรอด ละทิ้งสมบัติอันมีค่าของเขาเกลื่อนถนน.
ขณะสงครามขยายวงกว้าง บรรดาชายฉกรรจ์ถูกเกณฑ์เป็นทหาร. พี่น้องชายหลายคนที่ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารก็ถูกทรมาน. พวกเราไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี. อาหารขาดแคลนทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายในประเทศ. ราคามันสำปะหลังพุ่งสูงจากปอนด์ละ 7 เซนต์เป็น 14 ดอลลาร์สหรัฐ และเกลือหนึ่งถ้วยขึ้นราคาจาก 8 ดอลลาร์เป็น 42 ดอลลาร์. นม, เนย, และน้ำตาลขาดตลาด. เพื่อจะรอดตาย เราขูดมะละกอดิบแล้วเอามาคลุกกับแป้งมันสำปะหลังเล็กน้อย. นอกจากนั้น เรากินตั๊กแตน, เปลือกหัวมันสำปะหลัง, ใบชบา, และต้นหญ้าลำต้นเป็นปล้องอวบคล้ายอ้อย—ผักหญ้าอะไรก็ตามเท่าที่เราจะหาได้. อาหารจำพวกเนื้อมีราคาแพงและหาซื้อไม่ค่อยได้ ดังนั้นผมจึงจับกิ้งก่าเอามาให้เด็ก ๆ กิน. แต่ไม่ว่าสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้พวกเราเสมอ.
อย่างไรก็ดี การขาดแคลนฝ่ายวิญญาณเนื่องจากสงครามยิ่งเป็นอันตรายมากกว่า. พี่น้องส่วนใหญ่หนีภัยสงครามเข้าป่าหรือหนีไปยังหมู่บ้านอื่น และระหว่างที่หนี หนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลของพวกเขาสูญหายไปแทบทั้งหมด. นอกจากนั้น กองทหารของรัฐยังได้ปิดกั้นการคมนาคมเป็นเหตุให้สรรพหนังสือใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไม่อาจจะผ่านเข้าในอาณาเขตสาธารณรัฐเบียฟราได้. แม้ประชาคมส่วน
ใหญ่พยายามจัดให้มีการประชุม แต่สภาพฝ่ายวิญญาณของพวกพี่น้องพลอยได้รับผลกระทบเนื่องจากการชี้นำจากสำนักงานสาขาไปไม่ถึงพวกเขา.บากบั่นเอาชนะความอดอยากฝ่ายวิญญาณ
ผู้ดูแลเดินทางทั้งหลายทำสุดกำลังความสามารถเพื่อจัดให้มีการเยี่ยมทุกประชาคมต่อไป. เนื่องจากพี่น้องหลายคนหนีไปอยู่นอกเมือง ผมจึงสืบเสาะหาเขาตามที่ต่าง ๆ เท่าที่ทำได้. คราวหนึ่ง ผมละภรรยากับลูก ๆ ไว้ในที่ปลอดภัยและตัวเองเดินทางนานถึงหกสัปดาห์ แวะเยี่ยมและเสาะหาพวกพี่น้องตามหมู่บ้านต่าง ๆ และในป่าหลายแห่ง.
ขณะรับใช้ประชาคมหนึ่งที่ออกบุนคา ผมได้ข่าวว่ามีพยานฯ จำนวนมากอยู่ในเขตอีซูโอชี ท้องที่ออคิกเว. ดังนั้นผมจึงส่งข่าวแจ้งพี่น้องในบริเวณนั้นให้มารวมตัวกันที่ไร่มะม่วงหิมพานต์ ณ หมู่บ้านอูมูอาคู. แล้วผมกับบราเดอร์สูงอายุคนหนึ่งก็ถีบจักรยานระยะทาง 15 กิโลเมตรไปที่ไร่ ซึ่งมีพยานฯ ประมาณ 200 คนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กอยู่ที่นั่น. ด้วยความช่วยเหลือของไพโอเนียร์หญิงคนหนึ่ง ผมจึงสามารถหาพบพยานฯ อีกกลุ่มหนึ่งประมาณร้อยคนซึ่งได้มาหลบภัยอยู่ในป่าโลมารา.
ลอว์เรนซ์ อุกวูเอกบูเป็นหนึ่งในกลุ่มพี่น้องผู้กล้าหาญที่อาศัยอยู่ในเมืองโอเวอร์รีซึ่งเสียหายยับเยินจากสงคราม. เขาบอกว่ามีพยานฯ จำนวนมากในพื้นที่โอฮาจิ. พวกเขาไม่สามารถจะไปที่ไหน ๆ ได้อย่างสะดวก เพราะทหารเข้ายึดครองพื้นที่นั้น. เราสองคนจึงขี่จักรยานฝ่าความมืดไปพบพวกพี่น้องประมาณ 120 คนที่ลานบ้านของบราเดอร์คนหนึ่ง. เราใช้โอกาสนั้นเยี่ยมพี่น้องคนอื่น ๆ ตามที่หลบซ่อนของเขาอีกด้วย.
บราเดอร์ไอแซ็ก วากวูยอมเสี่ยงชีวิตช่วยผมให้ได้พบปะพี่น้องคนอื่น ๆ ที่ได้หนีไป. เขาพาผมลงเรือแคนูข้ามแม่น้ำโอทามิริไปพบเหล่าพยานฯ 150 กว่าคนที่ร่วมชุมนุมกันอยู่ที่หมู่บ้านเอกบู-เอตเช. บราเดอร์คนหนึ่งที่นั่นร้องขึ้นว่า “วันนี้เป็นวันดีที่สุดในชีวิตของผม! ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นหน้าผู้ดูแลหมวดอีก. ถึงผมจะตายขณะสงครามยังลุกเป็นไฟเช่นนี้ ผมก็พอใจแล้ว.”
ผมเสี่ยงต่อการถูกเกณฑ์ทหาร แต่ผมรู้สึกได้ถึงการพิทักษ์คุ้มครองของพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่า. บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ผมเดินทางกลับที่พักภายหลังประชุมกับพี่น้องประมาณ 250 คน ทหารคอมมานโดกลุ่มหนึ่งเรียกผมให้หยุดตรงด่านสกัดที่ถนนและถามว่า “ทำไมคุณไม่เป็นทหาร?” ผมได้ชี้แจงว่าผมเป็นนักสอนศาสนาประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ผมรู้ว่าพวกเขาตั้งใจจับกุมผม. ผมอธิษฐานในใจสั้น ๆ และได้ขอร้องผู้บังคับการว่า “กรุณาปล่อยผมไปเถอะ.” น่าประหลาดใจ เขาพูดว่า “คุณบอกให้พวกเราปล่อยคุณไปอย่างนั้นหรือ?” ผมตอบ “ใช่ครับ ปล่อยผมเถอะ.” เขาบอกว่า “ไปได้.” ไม่มีทหารสักคนในกลุ่มนั้นปริปาก.—บทเพลงสรรเสริญ 65:1, 2.
ความอิ่มใจนำมาซึ่งพระพรอื่น ๆ อีก
หลังสงครามยุติในปี 1970 ผมยังคงรับใช้ต่อไปในงานหมวด. ผมถือเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ช่วยจัดระเบียบประชาคมต่าง ๆ ใหม่. ครั้นแล้ว ผมกับคริสเตียนาทำงานฐานะไพโอเนียร์พิเศษกระทั่งถึงปี 1976 เมื่อผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดู
แลเดินทางอีกครั้งหนึ่ง. พอย่างเข้ากลางปี ผมถูกมอบหมายงานภาค. เจ็ดปีต่อมา ผมกับภรรยาได้รับเชิญเข้าไปทำงานในสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นบ้านของเราในปัจจุบัน. ที่สาขาแห่งนี้เป็นแหล่งที่ยังความชื่นชมแก่เราเสมอเมื่อพบเห็นพี่น้องชายหญิงซึ่งเราได้พบในช่วงสงครามกลางเมือง และ ณ โอกาสอื่น ๆ อีก และพวกเขายังคงรับใช้พระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์.ตลอดเวลาหลายปี คริสเตียนาเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ภักดีและให้การสนับสนุนผมอย่างวิเศษ. เธอเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมีจิตใจแน่วแน่ ถึงแม้นมีปัญหาด้านสุขภาพยืดเยื้อ ซึ่งเธอได้อดทนมาตั้งแต่ปี 1978 ก็ตาม แต่เธอก็สนับสนุนผมในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบให้ลุล่วงไปได้. เราได้ประสบความสัตย์จริงแห่งถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแล้วที่ว่า “พระยะโฮวาพระองค์เองจะทรงค้ำจุนเขาในยามที่นอนป่วยอยู่.”—บทเพลงสรรเสริญ 41:3, ล.ม.
เมื่อมองย้อนหลังไปหลายปีในกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้า ผมขอบคุณพระยะโฮวาอย่างแท้จริงที่ได้รับพระพรอันดีวิเศษจากพระองค์. การอิ่มใจกับสิ่งที่พระองค์จัดเตรียมให้เราทำให้ผมสามารถพูดจากใจจริงว่าผมประสบความสุขเป็นอันมาก. ความยินดีที่เห็นพวกน้อง ๆ อีกทั้งลูกชายของผมและครอบครัวของเขาทั้งหมดกำลังรับใช้พระยะโฮวาพร้อมกับผมและภรรยาเป็นความสุขอย่างหาที่เปรียบไม่ได้. พระยะโฮวาทรงโปรดให้ผมมีชีวิตที่บริบูรณ์และเปี่ยมความหมาย. ผมได้ทุกอย่างสมดังใจปรารถนา ไม่ขาดสักสิ่งเดียว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. เดี๋ยวนี้งดพิมพ์แล้ว.
[กรอบหน้า 27]
การจัดเตรียมเหมาะกับเวลาช่วยค้ำจุนภราดรภาพ
ช่วงกลางทศวรรษ 1960 การเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของไนจีเรียก่อความยุ่งเหยิง, จลาจล, ภาวะบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป, และความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์. สถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบรุนแรงต่อพยานพระยะโฮวา ผู้ซึ่งมุ่งมั่นจะรักษาความเป็นกลางอย่างจริงจังเมื่อเกิดการขัดแย้ง. พยานฯ ประมาณ 20 คนถูกฆ่า. พยานฯ ส่วนใหญ่สูญเสียสมบัติข้าวของทุกอย่าง.
วันที่ 30 พฤษภาคม 1967 รัฐต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกของไนจีเรียแยกตัวจากสหพันธ์แล้วก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐเบียฟรา. กองทัพสหพันธรัฐเร่งระดมพล และทำการปิดกั้นพรมแดนทุกด้านที่ติดกับรัฐตะวันออก. สิ่งที่ตามมาคือสงครามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยการนองเลือดและความรุนแรง.
ความเป็นกลางของเหล่าพยานพระยะโฮวาในพื้นที่ภายในเขตการปกครองของเบียฟราทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของการโจมตี. หนังสือพิมพ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ยุยงส่งเสริมความคิดเห็นของประชาชนให้ต่อต้านพยานฯ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงดูแลผู้รับใช้ของพระองค์เพื่อให้พวกเขาได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณ. โดยวิธีใด?
ช่วงต้นปี 1968 ข้าราชการคนหนึ่งได้รับตำแหน่งไปทำงานในยุโรป และอีกคนหนึ่งได้รับหน้าที่ดูแลลานบินที่เบียฟรา. ทั้งสองเป็นพยานพระยะโฮวา. งานมอบหมายของเขาทำให้เขาอยู่สุดปลายทางคนละด้านของเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างเบียฟรากับโลกภายนอก. พยานฯ ทั้งสองคนนี้อาสาทำงานเสี่ยงอันตรายในการนำอาหารฝ่ายวิญญาณเข้าไปในเบียฟรา. ทั้งสองยังได้ช่วยสงเคราะห์พี่น้องที่ทุกข์ยากด้วยการจัดหาปัจจัยบรรเทาทุกข์ให้. พี่น้องสองคนนี้สามารถดำเนินงานที่สำคัญเช่นนี้ตลอดช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสิ้นสุดในปี 1970. คนหนึ่งในสองคนนี้กล่าวภายหลังว่า “การจัดเตรียมเช่นนี้เป็นกลวิธีที่แยบคายเกินความสามารถของมนุษย์จะวางแผน.”
[ภาพหน้า 23]
ในปี 1956
[ภาพหน้า 25]
ในปี 1965 กับโจเอลและแซมมูเอลลูกชายของเรา
[ภาพหน้า 26]
ช่างเป็นพระพรเสียนี่กระไรที่ได้รับใช้พระยะโฮวาร่วมกันเป็นครอบครัว!
[ภาพหน้า 27]
ปัจจุบัน ผมกับคริสเตียนารับใช้ในสำนักงานสาขาไนจีเรีย