จะไว้วางใจใคร ๆ ได้ไหม?
จะไว้วางใจใคร ๆ ได้ไหม?
หลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 แล้ว ความลับที่เก็บรักษาไว้อย่างดีหลายเรื่องได้ถูกเปิดเผย. ตัวอย่างเช่น ลิเดีย *ได้ค้นพบว่าระหว่างระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมในเยอรมนีตะวันออก หน่วยสตาซี หรือฝ่ายความปลอดภัยของรัฐได้รวบรวมแฟ้มเกี่ยวกับกิจกรรมส่วนตัวของเธอ. ถึงแม้ลิเดียรู้สึกประหลาดใจที่ได้ยินเรื่องแฟ้มดังกล่าว เธอตกตะลึงที่รู้ว่าผู้ซึ่งจัดหาข้อมูลให้หน่วยสตาซี ก็คือสามีของเธอนั่นเอง. เธอถูกทรยศโดยคนที่เธอน่าจะไว้วางใจได้อย่างเต็มที่.
โรเบิร์ตเป็นสุภาพบุรุษสูงอายุซึ่งมองแพทย์ประจำท้องถิ่นของเขาด้วย “ความนับถือ นิยมชมชอบและไว้วางใจอย่างยิ่ง” ดังที่เดอะ ไทมส์ แห่งลอนดอนรายงาน. กล่าวกันว่าแพทย์คนนี้มี “ท่าทีกรุณาและเห็นอกเห็นใจ.” ครั้นแล้วโรเบิร์ตได้เสียชีวิตโดยไม่มีใครคาดคิด. เป็นเพราะโรคหัวใจวายหรือโรคเส้นเลือดสมองไหม? เปล่าเลย. พวกเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่าแพทย์คนนั้นได้ไปเยี่ยมโรเบิร์ตที่บ้าน แล้วฉีดยาที่ทำให้ถึงตายให้โรเบิร์ตโดยที่เขากับครอบครัวไม่รู้เลย. ปรากฏว่าโรเบิร์ตถูกฆ่าโดยคนที่เขาไว้วางใจอย่างเต็มที่.
ลิเดียและโรเบิร์ตต่างก็ถูกทำลายความไว้วางใจอย่างน่าตกใจ พร้อมด้วยผลที่ร้ายแรง. ในกรณีอื่น ๆ ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น. ถึงอย่างไรก็ตาม การที่คนซึ่งเราไว้วางใจทำให้เราผิดหวังนั้นไม่ใช่ประสบการณ์ที่ผิดปกติ. รายงานที่ตีพิมพ์โดยสถาบันสำรวจความเห็นชั้นนำของเยอรมนีชื่ออัลลันส์เบเคอร์ ยาร์บูค เดอร์ เดมอสโคพี 1998-2002 ได้เปิดเผยในการสำรวจครั้งหนึ่งว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบคำถาม เคยถูกคนที่เขาไว้วางใจทำให้ผิดหวัง. บางทีคุณเคยมีประสบการณ์คล้ายกัน. เพราะฉะนั้น เราไม่ควรแปลกใจที่หนังสือพิมพ์สวิสชื่อนอยเอ ซือร์เคอร์ ไซทุงรายงานในปี 2002 ว่า “ในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ความสัมพันธ์แบบที่ไว้วางใจกันและกันได้ลดน้อยลงตลอดหลายสิบปี.”
พัฒนาช้า แต่ถูกทำลายเร็ว
ความไว้วางใจคืออะไร? ตามพจนานุกรมเล่มหนึ่ง การไว้วางใจใครสักคนหมายถึง “การเชื่อว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์และจริงใจ และเขาจะไม่จงใจทำสิ่งใดซึ่งจะก่อความเสียหายให้แก่คุณ. ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่พัฒนาช้า ทว่าทำลายได้เร็ว. เนื่องจากหลายคนรู้สึกว่าความไว้วางใจของเขาถูกทำลาย จึงเป็นเรื่องน่าแปลกไหมที่ผู้คนลังเลที่จะไว้วางใจคนอื่น? ตามการสำรวจที่ตีพิมพ์ในเยอรมนี ปี 2002 “หนุ่มสาวน้อยกว่า 1 ใน 3 มีความไว้วางใจขั้นพื้นฐานในคนอื่น.”
เราอาจถามตัวเองว่า ‘เราจะไว้วางใจใคร ๆ ได้อย่างแท้จริงไหม? คุ้มค่าไหมที่เราจะไว้วางใจคนอื่นโดยที่ต้องเสี่ยงต่อการถูกทำให้ผิดหวัง?’
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 ชื่อต่าง ๆ เป็นชื่อสมมุติ.
[คำโปรยหน้า 3]
การสำรวจรายหนึ่งเปิดเผยว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ ตอบคำถาม เคยถูกคนที่เขาไว้วางใจทำให้ผิดหวัง