คนจนก็ยิ่งจนลง
คนจนก็ยิ่งจนลง
“ไม่มีสังคมใดจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูและมีความสุขได้แน่นอน หากสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมนั้นเป็นคนจนและทุกข์ยาก.”
นักเศรษฐศาสตร์แอดัม สมิทได้กล่าวถ้อยคำนี้ย้อนหลังไปในศตวรรษที่ 18. หลายคนเชื่อมั่นว่าความจริงของถ้อยคำที่เขากล่าวนั้นยิ่งปรากฏชัดมากขึ้นในทุกวันนี้. ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนกลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนยิ่งขึ้น. ในฟิลิปปินส์ หนึ่งในสามของประชากรยังชีพด้วยเงินไม่ถึง 45 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่บ่อยครั้งหาได้ในไม่กี่นาทีในประเทศที่ร่ำรวยกว่า. รายงานพัฒนาการของมนุษย์ประจำปี 2002 (ภาษาอังกฤษ) ของสหประชาชาติแจ้งว่า “5% ของประชากรโลกที่รวยที่สุด มีรายได้มากกว่า 5% ของคนที่จนที่สุดถึง 114 เท่า.”
ขณะที่บางคนมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสบาย มีคนมากมายรุกเข้าไปอยู่ในที่ของคนอื่น สร้างกระท่อมโกโรโกโสขึ้นไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่เขาจะอยู่ได้. ส่วนบางคนไม่ได้มีโอกาสดีอย่างนั้น เขาอาศัยอยู่ข้างถนน บางทีมีเพียงแค่กระดาษแข็งหรือพลาสติกแผ่นหนึ่งปูพื้น. พวกเขาหลายคนพยายามยังชีพด้วยวิธีใดก็ตามเท่าที่จะทำได้ โดยคุ้ยกองขยะ, รับเข็นของ, หรือเก็บของเก่าขายโดยใช้รถเข็น.
ความไม่เสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจนไม่เพียงมีให้เห็นในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ดังที่ธนาคารโลกแจ้งไว้ “‘พื้นที่เป็นหย่อม ๆ ของคนยากจน’ พบเห็นได้ทั่วไปในทุกประเทศ.” จากบังกลาเทศไปจนถึงสหรัฐ ไม่ว่าบางคนอาจมีฐานะดีเพียงใดก็ตาม แต่ก็มีคนที่ดิ้นรนเพื่อจะมีพอกินหรือมีที่ซุกหัวนอน. เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ยกรายงานของสำนักสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2001 ของสหรัฐขึ้นมากล่าวที่บ่งชี้ว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสหรัฐยังคงขยายออกไปอยู่เรื่อย ๆ. รายงานนั้นกล่าวว่า “หนึ่งในห้าของประชากรที่ร่ำรวยที่สุดได้รับ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมของครอบครัวทั้งหมดในปีที่แล้ว . . . หนึ่งในห้าของคนยากจนที่สุดได้รับ 3.5 เปอร์เซ็นต์.” สภาพการณ์เป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ก็แย่กว่านั้นในอีกหลายประเทศ. รายงานของธนาคารโลกแสดงว่าประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกยังชีพโดยอาศัยเงินน้อยกว่า 90 บาทต่อวัน.
ที่ทำให้สภาพการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้นในปี 2002 ก็คือ ผู้คนมากมายไม่สบายใจเนื่องจากรายงานเกี่ยวกับ
นักบริหารซึ่งกลายเป็นคนร่ำรวยภายใต้สภาพการณ์ที่น่าสงสัย. ถึงแม้ว่าไม่มีการทำอะไรที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง ดังที่นิตยสารฟอร์จูน กล่าวไว้ หลายคนรู้สึกว่าผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้ “ร่ำรวยมหาศาลผิดปกติอย่างน่าเกลียด.” เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก บางคนสงสัยว่าลาภลอยจำนวนมหาศาลดังกล่าว ประมาณว่าเป็นเงินหลายพันล้านบาทสำหรับบางคน เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ ในขณะที่หลายคนทีเดียวมีชีวิตอยู่ในสภาพยากจน.ความยากจนจะมีอยู่ตลอดไปไหม?
นี่มิได้หมายความว่าไม่มีใครพยายามจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสภาพความลำบากของคนจน. เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่เจตนาดีและองค์การสงเคราะห์ต่าง ๆ ได้เสนอโครงการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง. ถึงกระนั้น ความเป็นจริงยังคงเป็นเรื่องที่ทำให้หมดกำลังใจอยู่. รายงานพัฒนาการของมนุษย์ประจำปี 2002 กล่าวว่า “หลายประเทศยากจนกว่าเมื่อ 10 ปี, 20 ปี, และในบางกรณี 30 ปีที่แล้ว” ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามมากมายอันควรแก่การยกย่องเพื่อทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น.
เรื่องนี้ทำให้คนจนไม่มีความหวังไหม? เราขอเชิญคุณให้อ่านบทความต่อไปเพื่อจะพิจารณาสติปัญญาที่ใช้ได้จริงบางอย่างซึ่งสามารถช่วยได้ในขณะนี้รวมทั้งวิธีแก้ที่คุณอาจไม่ได้คิดถึง.