ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คนจากภูมิหลังต่ำต้อยแปลคัมภีร์ไบเบิล

คนจากภูมิหลังต่ำต้อยแปลคัมภีร์ไบเบิล

คน​จาก​ภูมิหลัง​ต่ำต้อย​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

ใน​ปี 1835 เฮนรี นอตต์ ช่าง​ก่อ​อิฐ​ชาว​อังกฤษ​กับ​จอห์น เดวีส์ คน​ฝึก​งาน​ขาย​ของชำ​ชาว​เวลส์ ได้​มา​ถึง​ตอน​สิ้น​สุด​ของ​โครงการ​ขนาด​ใหญ่​โครงการ​หนึ่ง. หลัง​จาก​ทำ​งาน​หนัก​มา​นาน​กว่า 30 ปี ใน​ที่​สุด​พวก​เขา​ก็​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี​เสร็จ. ชาย​ซึ่ง​มา​จาก​ภูมิหลัง​ที่​ต่ำต้อย​สอง​คน​นี้​ได้​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​อะไร​บ้าง และ​อะไร​คือ​ผล​จาก​การ​ทุ่มเท​ทำ​งาน​ด้วย​ใจ​รัก​เช่น​นั้น?

การ​ตื่น​ตัว​ครั้ง​ใหญ่

ระหว่าง​ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 18 บรรดา​สมาชิก​กลุ่ม​เคลื่อน​ไหว​ชาว​โปรเตสแตนต์​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า เดอะ เกรท อเวกเคนนิง หรือ อเวกเคนนิง (การ​ตื่น​ตัว​ครั้ง​ใหญ่) ทำ​งาน​ประกาศ​ศาสนา​กัน​ตาม​ลาน​สาธารณะ​ใน​หมู่​บ้าน และ​บริเวณ​ใกล้ ๆ เหมือง​กับ​โรง​งาน​ต่าง ๆ ใน​บริเตน. เป้าหมาย​ของ​พวก​เขา​คือ​เพื่อ​เข้า​ถึง​กลุ่ม​ชน​ชั้น​แรงงาน. เหล่า​ผู้​ประกาศ​กลุ่ม​การ​ตื่น​ตัว​ฯ สนับสนุน​การ​แจก​จ่าย​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​กระตือรือร้น.

วิลเลียม แครีย์ คริสเตียน​นิกาย​แบพติสต์​ผู้​ริเริ่ม​กลุ่ม​เคลื่อน​ไหว​ดัง​กล่าว​เป็น​ผู้​หนึ่ง​ที่​ร่วม​ก่อ​ตั้ง​สมาคม​มิชชันนารี​แห่ง​ลอนดอน (แอล​เอ็ม​เอส) ซึ่ง​ตั้ง​ขึ้น​ใน​ปี 1795. สมาคม​แอล​เอ็ม​เอส​ฝึก​อบรม​ผู้​คน​ที่​เต็ม​ใจ​จะ​เรียน​ภาษา​ของ​ถิ่น​ต่าง ๆ และ​ทำ​งาน​เป็น​มิชชันนารี​ใน​เขต​แปซิฟิก​ใต้. เป้าหมาย​ของ​มิชชันนารี​เหล่า​นี้​คือ​เพื่อ​จะ​ประกาศ​กิตติคุณ​ด้วย​ภาษา​ของ​คน​ใน​ท้องถิ่น.

เกาะ​ตาฮิตี​ที่​เพิ่ง​ค้น​พบ​ได้​ไม่​นาน​กลาย​เป็น​เขต​งาน​แรก​ของ​มิชชันนารี​จาก​สมาคม​แอล​เอ็ม​เอส. สำหรับ​เหล่า​สมาชิก​ของ​กลุ่ม​การ​ตื่น​ตัว​ฯ หมู่​เกาะ​เหล่า​นี้​เป็น ‘สถาน​อัน​มืดมน’ ของ​ลัทธิ​นอก​รีต เป็น​ทุ่ง​นา​ที่​พร้อม​จะ​เก็บ​เกี่ยว.

คน​จาก​ภูมิหลัง​ต่ำต้อย​ทำ​งาน​ใหญ่​ได้

เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​เก็บ​เกี่ยว​นี้ มิชชันนารี​ประมาณ 30 คน​ซึ่ง​ถูก​เลือก​อย่าง​รีบ​ร้อน​และ​ขาด​ความ​พร้อม​ก็​ลง​เรือ​โดยสาร​ชื่อ​ดัฟฟ์ ซึ่ง​แอล​เอ็ม​เอส​ซื้อ​ไว้. รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​ลง​รายการ “นัก​เทศน์​ที่​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง [ไม่​ได้​รับ​การ​ฝึก​เป็น​ทาง​การ] สี่​คน, ช่าง​ไม้​หก​คน, ช่าง​ทำ​รอง​เท้า​สอง​คน, ช่าง​ก่อ​อิฐ​สอง​คน, ช่าง​ทอ​ผ้า​สอง​คน, ช่าง​ตัด​เสื้อ​สอง​คน, ผู้​จัด​การ​ร้าน​ค้า​หนึ่ง​คน, ช่าง​ทำ​เครื่อง​อาน​ม้า​หนึ่ง​คน, คน​รับใช้​หนึ่ง​คน, คน​สวน​หนึ่ง​คน, หมอ​หนึ่ง​คน, ช่าง​โลหะ​หนึ่ง​คน, ช่าง​ทำ​ถัง​ไม้​หนึ่ง​คน, คน​งาน​โรง​งาน​ผลิต​ฝ้าย​หนึ่ง​คน, ช่าง​ทำ​หมวก​หนึ่ง​คน, คน​งาน​โรง​งาน​ทอ​ผ้า​หนึ่ง​คน, ช่าง​ทำ​ตู้​หนึ่ง​คน, ผู้​เป็น​ภรรยา​ห้า​คน, และ​เด็ก​สาม​คน.”

เครื่อง​มือ​เพียง​อย่าง​เดียว​ที่​มิชชันนารี​เหล่า​นี้​มี​เพื่อ​จะ​คุ้น​เคย​กับ​ภาษา​เดิม​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​คือ พจนานุกรม​กรีก-อังกฤษ​หนึ่ง​เล่ม​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​พจนานุกรม​ภาษา​ฮีบรู​อีก​หนึ่ง​เล่ม. ระหว่าง​เจ็ด​เดือน​ที่​อยู่​ใน​ทะเล พวก​มิชชันนารี​จด​จำ​คำ​ภาษา​ตาฮิตี​บาง​คำ​จาก​รายการ​คำ​ศัพท์​ที่​ผู้​เคย​ไป​เยือน​ตาฮิตี​ได้​ทำ​ไว้ ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เขียน​โดย​พวก​ที่​เคย​ยึด​อำนาจ​บน​เรือ​เบาน์ตี. ใน​ที่​สุด เรือ​ดัฟฟ์ ก็​มา​ถึง​ตาฮิตี และ​ใน​วัน​ที่ 7 มีนาคม ปี 1797 พวก​มิชชันนารี​ก็​ขึ้น​ฝั่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ผ่าน​ไป​หนึ่ง​ปี มิชชันนารี​ส่วน​ใหญ่​ก็​เริ่ม​ท้อ​และ​ออก​จาก​เกาะ​ไป. เหลือ​มิชชันนารี​เพียง​เจ็ด​คน​เท่า​นั้น.

หนึ่ง​ใน​เจ็ด​คน​นั้น​คือ เฮนรี นอตต์ อดีต​ช่าง​ก่อ​อิฐ​วัย​เพียง 23 ปี. พิจารณา​จาก​จดหมาย​ฉบับ​แรก ๆ ที่​เขา​เขียน เห็น​ได้​ว่า​เขา​ได้​รับ​การ​ศึกษา​เพียง​ขั้น​พื้น​ฐาน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​ได้​พิสูจน์​ให้​เห็น​แต่​แรก​ที​เดียว​ว่า​เขา​มี​พรสวรรค์​ใน​การ​เรียน​ภาษา​ตาฮิตี. มี​การ​กล่าว​ถึง​เขา​ว่า​เป็น​คน​จริง​ใจ, ไม่​เรื่อง​มาก, และ​น่า​คบ.

ใน​ปี 1801 นอตต์​ได้​รับ​เลือก​ให้​เป็น​คน​สอน​ภาษา​ตาฮิตี​แก่​มิชชันนารี​เก้า​คน​ที่​มา​ใหม่. คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​นี้​คือ จอห์น เดวีส์ หนุ่ม​ชาว​เวลส์​วัย 28 ปี​ซึ่ง​เป็น​นัก​เรียน​ที่​มี​ความ​สามารถ​และ​เป็น​คน​ขยัน​ขันแข็ง มี​นิสัย​อ่อนโยน​และ​ใจ​กว้าง. ต่อ​มา​ไม่​นาน ชาย​หนุ่ม​ทั้ง​สอง​ก็​ตัดสิน​ใจ​จะ​ร่วม​กัน​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี.

งาน​ที่​ยาก​ลำบาก

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​แปล​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี​เป็น​งาน​ที่​ยาก​มาก​เพราะ​ใน​เวลา​นั้น​ภาษา​ตาฮิตี​ยัง​ไม่​มี​ภาษา​เขียน. พวก​มิชชันนารี​ต้อง​เรียน​ภาษา​จาก​การ​ฟัง​เพียง​อย่าง​เดียว. พวก​เขา​ไม่​มี​ทั้ง​พจนานุกรม​หรือ​หนังสือ​ไวยากรณ์. ลักษณะ​เสียง​ภาษา​ตาฮิตี​ที่​เกิด​จาก​การ​หายใจ​ออก​และ​ขณะ​เดียว​กัน​ปิด​ช่อง​เส้น​เสียง​ใน​ลำคอ, สระ​ที่​ติด​กัน​เป็น​พืด (ถึง​ขนาด​ที่​ใน​หนึ่ง​คำ​อาจ​มี​สระ​มาก​ถึง​ห้า​เสียง), และ​พยัญชนะ​ที่​มี​ไม่​กี่​ตัว​ทำ​ให้​พวก​มิชชันนารี​ท้อ​ใจ​มาก. พวก​เขา​โอด​ครวญ​ว่า “คำ​หลาย​คำ​มี​แต่​สระ​เท่า​นั้น และ​สระ​แต่​ละ​ตัว​ก็​ออก​เสียง​หนึ่ง​เสียง.” พวก​เขา​ยอม​รับ​ว่า​ไม่​สามารถ “จับ​เสียง​ของ​คำ​ต่าง ๆ ได้​ชัดเจน​ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​จำเป็น.” พวก​เขา​ถึง​กับ​คิด​กัน​ว่า​ได้​ยิน​เสียง​ที่​ไม่​มี​อยู่​จริง​ด้วย​ซ้ำ!

สิ่ง​ที่​เพิ่ม​ความ​ลำบาก​ให้​อีก​คือ บาง​ครั้ง​คำ​บาง​คำ​ถูก​ห้าม​ไม่​ให้​ใช้ หรือ​เป็น​คำ​ต้อง​ห้าม​ใน​ภาษา​ตาฮิตี ทำ​ให้​ต้อง​หา​คำ​อื่น​มา​ใช้​แทน. พวก​คำ​ที่​มี​ความหมาย​เหมือน​กัน​ก็​เป็น​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ปวด​หัว. คำ​ที่​แปล​ว่า “การ​อธิษฐาน” มี​มาก​กว่า 70 คำ​ใน​ภาษา​ตาฮิตี. โครง​สร้าง​ประโยค​ภาษา​ตาฮิตี​ซึ่ง​แตกต่าง​จาก​ภาษา​อังกฤษ​อย่าง​สิ้นเชิง​ก็​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ด้วย. แต่​แม้​จะ​มี​ความ​ยุ่งยาก​มาก​มาย​เช่น​นั้น ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย​พวก​มิชชันนารี​ได้​รวบ​รวม​คำ​ต่าง ๆ ไว้​เป็น​รายการ ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​เดวีส์​ได้​นำ​มา​พิมพ์​เป็น​พจนานุกรม​ซึ่ง​บรรจุ​คำ​ศัพท์ 10,000 คำ​อีก 50 ปี​ให้​หลัง.

นอก​จาก​นั้น การ​เขียน​ภาษา​ตาฮิตี​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​เช่น​กัน. พวก​มิชชันนารี​พยายาม​จะ​เขียน​ภาษา​ตาฮิตี​โดย​ใช้​วิธี​การ​สะกด​แบบ​ที่​ใช้​กัน​อยู่​ใน​ภาษา​อังกฤษ. แต่​ตัว​อักษร​ลาติน​ที่​ใช้​ใน​ภาษา​อังกฤษ​ไม่​ตรง​กับ​เสียง​ภาษา​ตาฮิตี. ดัง​นั้น พวก​มิชชันนารี​จึง​มี​เรื่อง​ต้อง​พิจารณา​ตก​ลง​กัน​ไม่​จบ​สิ้น​เกี่ยว​กับ​การ​ออก​เสียง​คำ​และ​การ​สะกด. บ่อย​ครั้ง​ที่​มิชชันนารี​จะ​คิด​วิธี​การ​สะกด​ขึ้น​เอง​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​เป็น​คน​กลุ่ม​แรก​ใน​แถบ​ทะเล​ใต้​ที่​แปลง​ภาษา​พูด​เป็น​ภาษา​เขียน. พวก​เขา​ไม่​รู้​เลย​ว่า​งาน​ของ​พวก​เขา​จะ​กลาย​เป็น​ต้น​แบบ​สำหรับ​ภาษา​อื่น ๆ อีก​หลาย​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​แถบ​แปซิฟิก​ใต้.

ขาด​แคลน​เครื่อง​มือ แต่​ความ​สามารถ​ล้น​เหลือ

ผู้​แปล​ทั้ง​สอง​มี​หนังสือ​อ้างอิง​ที่​จะ​ใช้​ได้​เพียง​ไม่​กี่​เล่ม. สมาคม​แอล​เอ็ม​เอส​แนะ​ให้​พวก​เขา​ใช้​เท็กซ์ทุส เรเซ็พทุส และ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​คิง เจมส์ เป็น​คู่มือ​หลัก. นอตต์​ได้​ขอ​ให้​แอล​เอ็ม​เอส​ส่ง​พจนานุกรม​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก​มา​เพิ่ม รวม​ถึง​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​สอง​ภาษา​ด้วย. ไม่​มี​ใคร​รู้​ว่า​เขา​ได้​รับ​หนังสือ​เหล่า​นั้น​หรือ​ไม่. ส่วน​เดวีส์​ก็​ได้​ตำรา​ทาง​วิชาการ​บาง​เล่ม​จาก​เพื่อน ๆ ชาว​เวลส์. บันทึก​ต่าง ๆ แสดง​ว่า​อย่าง​น้อย​เขา​มี​พจนานุกรม​ภาษา​กรีก, คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู, พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธะ​สัญญา​ใหม่​ภาษา​กรีก, และ​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์.

ใน​เวลา​นั้น กิจกรรม​การ​ประกาศ​ของ​พวก​มิชชันนารี​ยัง​ไม่​เกิด​ผล. แม้​ว่า​พวก​มิชชันนารี​จะ​อยู่​ใน​ตาฮิตี​มา 12 ปี​แล้ว แต่​ไม่​มี​ชาว​เกาะ​รับ​บัพติสมา​แม้​แต่​คน​เดียว. ใน​ที่​สุด สงคราม​กลาง​เมือง​ที่​ยืดเยื้อ​ก็​ทำ​ให้​พวก​มิชชันนารี​ทั้ง​หมด​ต้องหนี​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย เว้น​แต่​นอตต์​ผู้​เด็ด​เดี่ยว. ใน​ช่วง​หนึ่ง นอตต์​เป็น​มิชชันนารี​เพียง​คน​เดียว​ที่​ยัง​อยู่​ใน​หมู่​เกาะ​วินด์วาร์ด​ซึ่ง​อยู่​ใน​กลุ่ม​หมู่​เกาะ​โซ​ไซ​เอ​ตี แต่​เมื่อ​กษัตริย์​โพ​มาเร​ที่​สอง​เสด็จ​หนี​ไป​ประทับ​ที่​เกาะ​โมโอเรีย​ซึ่ง​อยู่​ใกล้​เคียง นอตต์​จึง​ออก​จาก​เกาะ​ไป​อยู่​ที่​นั่น​ด้วย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ย้าย​ที่​อยู่​ของ​นอตต์​ไม่​ได้​ทำ​ให้​งาน​แปล​ต้อง​ยุติ และ​หลัง​จาก​เดวีส์​อยู่​ใน​ออสเตรเลีย​ได้​สอง​ปี เขา​ก็​มา​สบ​ทบ​กับ​นอตต์​อีก​ครั้ง. ก่อน​เดวีส์​จะ​มา นอตต์​ได้​ศึกษา​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก​จน​มี​ความ​เชี่ยวชาญ​ใน​ทั้ง​สอง​ภาษา. ดัง​นั้น เขา​จึง​เริ่ม​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​บาง​ส่วน​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี. เขา​เลือก​แปล​ส่วน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​เรื่อง​ราว​ซึ่ง​คน​พื้นเมือง​จะ​เข้าใจ​ได้​ง่าย.

โดย​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​เดวีส์​อย่าง​ใกล้​ชิด นอตต์​เริ่ม​แปล​กิตติคุณ​ของ​ลูกา​ซึ่ง​แล้ว​เสร็จ​ใน​เดือน​กันยายน ปี 1814. เขา​เรียบเรียง​งาน​แปล​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี​ที่​ฟัง​เป็น​ธรรมชาติ โดย​มี​เดวีส์​เป็น​ผู้​สอบ​ทาน​งาน​แปล​กับ​ต้น​ฉบับ. ใน​ปี 1817 กษัตริย์​โพ​มาเร​ที่​สอง​ทรง​ขอ​พิมพ์​หน้า​แรก​ของ​กิตติคุณ​ของ​ลูกา. พระองค์​ทรง​พิมพ์​โดย​ใช้​แท่น​พิมพ์​ด้วย​มือ​ขนาด​เล็ก​ที่​นำ​เข้า​มา​ใน​โมโอเรีย​โดย​มิชชันนารี​กลุ่ม​อื่น. เรื่อง​ราว​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี​คง​ไม่​สมบูรณ์​หาก​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​ชาย​ชาว​ตาฮิตี​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ชื่อ​ตัวฮีน​ที่​อยู่​กับ​พวก​มิชชันนารี​ตลอด​เวลา​หลาย​ปี​และ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​เข้าใจ​ราย​ละเอียด​ปลีกย่อย​ต่าง ๆ ของ​ภาษา​ตาฮิตี.

เสร็จ​สิ้น​การ​แปล

ใน​ปี 1819 หลัง​จาก​พวก​เขา​ทำ​งาน​หนัก​มา​หก​ปี ส่วน​ของ​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​เล่ม, กิจการ​ของ​อัครสาวก, และ​พระ​ธรรม​บทเพลง​สรรเสริญ​ก็​แล้ว​เสร็จ. แท่น​พิมพ์​ที่​พวก​มิชชันนารี​กลุ่ม​ใหม่​นำ​เข้า​มา​ช่วย​ให้​การ​พิมพ์​และ​การ​แจก​จ่าย​พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ขึ้น.

ถัด​จาก​นั้น​เป็น​ช่วง​เวลา​ของ​การ​ทุ่มเท​อย่าง​เต็ม​ที่​กับ​กิจกรรม​การ​แปล, การ​พิสูจน์​อักษร, และ​การ​แก้ไข. หลัง​จาก​อยู่​ที่​ตาฮิตี​ได้ 28 ปี นอตต์​ก็​ล้ม​ป่วย​ใน​ปี 1825 และ​สมาคม​แอล​เอ็ม​เอส​อนุญาต​ให้​เขา​ลง​เรือ​กลับ​ไป​ยัง​อังกฤษ. น่า​ดีใจ​ที่​ใน​เวลา​นั้น​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เกือบ​จะ​เสร็จ​สมบูรณ์​แล้ว. นอตต์​แปล​ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ต่อ​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​และ​ระหว่าง​ที่​เขา​พำนัก​อยู่​ใน​อังกฤษ. เขา​กลับ​มา​ที่​ตาฮิตี​ใน​ปี 1827. แปด​ปี​ต่อ​มา ใน​เดือน​ธันวาคม ปี 1835 เขา​ก็​เลิก​แปล. หลัง​จาก​กว่า 30 ปี​ที่​ได้​ทำ​งาน​อย่าง​หนัก คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ก็​ได้​รับ​การ​แปล​จน​เสร็จ.

ใน​ปี 1836 นอตต์​เดิน​ทาง​กลับ​ไป​อังกฤษ​เพื่อ​จะ​นำ​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ภาษา​ตาฮิตี​ไป​พิมพ์​ที่​ลอนดอน. ใน​วัน​ที่ 8 มิถุนายน ปี 1838 นอตต์​ผู้​ปลื้ม​ปีติ​ได้​นำ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ตาฮิตี​ฉบับ​แรก​ขึ้น​ทูล​เกล้า​ถวาย​สมเด็จ​พระ​นาง​เจ้า​วิกตอเรีย. เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ที​เดียว​ว่า นี่​คง​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​น่า​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​อดีต​ช่าง​ก่อ​อิฐ​ผู้​เดิน​ทาง​มา​กับ​เรือ​ดัฟฟ์ เมื่อ 40 ปี​ก่อน​และ​ได้​ฝัง​ตัว​อยู่​กับ​วัฒนธรรม​ของ​ชาว​ตาฮิตี​เพื่อ​ทำ​งาน​ชิ้น​ใหญ่​นี้​ที่​กิน​เวลา​ทั้ง​ชีวิต​ของ​เขา​ให้​เสร็จ​สิ้น.

สอง​เดือน​ต่อ​มา นอตต์​มุ่ง​หน้า​กลับ​ไป​ยัง​แปซิฟิก​ใต้​พร้อม​กับ​ลัง​ไม้ 27 ลัง​ที่​บรรจุ​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ภาษา​ตาฮิตี​รุ่น​แรก​จำนวน 3,000 เล่ม. หลัง​จาก​แวะ​ที่​ซิดนีย์​เขา​ก็​ล้ม​ป่วย​อีก แต่​เขา​ไม่​ยอม​แยก​จาก​ลัง​ไม้​ล้ำ​ค่า​เหล่า​นั้น. เมื่อ​หาย​ป่วย​แล้ว เขา​มา​ถึง​ตาฮิตี​ใน​ปี 1840 โดย​มี​ฝูง​ชน​ยืน​ออ​กัน​ด้วย​ใจ​จดจ่อ​เพื่อ​รอ​รับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ตาฮิตี. นอตต์​เสีย​ชีวิต​ที่​ตาฮิตี​ใน​เดือน​พฤษภาคม ปี 1844 เมื่อ​อายุ​ได้ 70 ปี.

ผล​กระทบ​ที่​กว้างขวาง

อย่าง​ไร​ก็​ตาม งาน​ของ​นอตต์​ยัง​คง​อยู่. งาน​แปล​ของ​เขา​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ภาษา​ต่าง ๆ ใน​แถบ​โพลีนีเซีย​อย่าง​กว้างขวาง. โดย​การ​แปลง​ภาษา​ตาฮิตี​ให้​อยู่​ใน​รูป​ของ​ตัว​เขียน พวก​มิชชันนารี​ได้​ช่วย​รักษา​ภาษา​นี้​ไว้. นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ไว้​ว่า “นอตต์​เป็น​ผู้​กำหนด​ภาษา​ตาฮิตี​ที่​มี​ระบบ​ไวยากรณ์​ที่​เป็น​มาตรฐาน. เพื่อ​จะ​เรียน​ภาษา​ตาฮิตี​แท้​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​คัมภีร์​ไบเบิล​เสมอ.” งาน​ที่​กิน​เวลา​เนิ่นนาน​ของ​ผู้​แปล​เหล่า​นี้​ได้​ช่วย​เก็บ​รักษา​คำ​ศัพท์​นับ​หมื่น ๆ คำ​ไว้​ไม่​ให้​ถูก​ลืม. หนึ่ง​ศตวรรษ​ต่อ​มา นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ที่​โดด​เด่น​ของ​นอตต์​เป็น​ผล​งาน​ภาษา​ตาฮิตี​ชั้น​ยอด ทุก​คน​ต่าง​ยอม​รับ​ใน​เรื่อง​นี้.”

งาน​ชิ้น​สำคัญ​นี้​ไม่​เพียง​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ชาว​ตาฮิตี​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ได้​วาง​รากฐาน​ไว้​สำหรับ​การ​แปล​ภาษา​อื่น ๆ ใน​แถบ​แปซิฟิก​ใต้​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ผู้​แปล​ใน​หมู่​เกาะ​คุก​และ​หมู่​เกาะ​ซามัว​ได้​ใช้​ฉบับ​แปล​ของ​นอตต์​เป็น​ต้น​แบบ. ผู้​แปล​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า “ที่​จริง​แล้ว ผม​ติด​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​มิสเตอร์​นอตต์ ซึ่ง​ผม​ได้​ศึกษา​งาน​แปล​ของ​เขา​อย่าง​ละเอียด.” มี​รายงาน​ว่า​ผู้​แปล​อีก​คน​หนึ่ง ‘ได้​วาง​พระ​ธรรม​บทเพลง​สรรเสริญ​ภาษา​ฮีบรู, ภาษา​อังกฤษ, และ​ภาษา​ตาฮิตี​ไว้​ตรง​หน้า ขณะ​ที่​เขา​แปล​บทเพลง​สรรเสริญ​ของ​ดาวิด​เป็น​ภาษา​ซามัว.’

โดย​ติด​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​กลุ่ม​การ​ตื่น​ตัว​ฯ แห่ง​อังกฤษ มิชชันนารี​ใน​ตาฮิตี​ได้​ส่ง​เสริม​การ​รู้​หนังสือ​อย่าง​กระตือรือร้น. ที่​จริง ใน​ช่วง​เวลา​มาก​กว่า​หนึ่ง​ศตวรรษ คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​เพียง​หนังสือ​เล่ม​เดียว​ที่​ประชาชน​ตาฮิตี​จะ​หา​อ่าน​ได้. ด้วย​เหตุ​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ได้​กลาย​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​วัฒนธรรม​ชาว​ตาฮิตี.

หนึ่ง​ใน​ข้อ​ดี​เยี่ยม​หลาย​อย่าง​ที่​พบ​ใน​ฉบับ​แปล​ของ​นอตต์ คือ​พระ​นาม​พระเจ้า​ที่​ปรากฏ​อยู่​หลาย​แห่ง​ทั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก. ผล​คือ ทุก​วัน​นี้​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ที่​รู้​จัก​ดี​ใน​ตาฮิตี​และ​ใน​เกาะ​ต่าง ๆ ของ​ตาฮิตี. กระทั่ง​ปรากฏ​ใน​โบสถ์​โปรเตสแตนต์​บาง​แห่ง​ด้วย​ซ้ำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปัจจุบัน พระ​นาม​พระเจ้า​ถูก​เชื่อม​โยง​เข้า​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​และ​การ​ประกาศ​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ของ​พวก​เขา ซึ่ง​โดย​การ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​ได้​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ตาฮิตี​ซึ่ง​นอตต์​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ได้​แปล​ไว้​มี​การ​ใช้​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย. และ​ความ​พยายาม​อย่าง​ไม่​ท้อ​ถอย​ของ​ผู้​แปล​อย่าง​เฮนรี นอตต์ ทำ​ให้​เรา​ได้​สำนึก​ว่า​เรา​ควร​รู้สึก​ขอบคุณ​เพียง​ไร​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​อยู่​พร้อม​สำหรับ​คน​ส่วน​มาก​ใน​ทุก​วัน​นี้.

[ภาพ​หน้า 26]

ส่วน​แรก ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ตาฮิตี ปี 1815. มี​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​ปรากฏ​อยู่

เฮนรี นอตต์ (1774-1844) ผู้​เป็น​หลัก​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ตาฮิตี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Tahitian Bible: Copyright the British Library (3070.a.32); Henry Nott and letter: Collection du Musée de Tahiti et de ses Îles, Punauia, Tahiti; catechism: With permission of the London Missionary Society Papers, Alexander Turnbull Library, Wellington, New Zealand

[ภาพ​หน้า 28]

หนังสือ​คู่มือ​ถาม​ตอบ​ปี 1801 ฉบับ​สอง​ภาษา ตาฮิตี​และ​เวลส์ ซึ่ง​มี​พระ​นาม​พระเจ้า​ปรากฏ​อยู่

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

With permission of the London Missionary Society Papers, Alexander Turnbull Library, Wellington, New Zealand

[ภาพ​หน้า 29]

โบสถ์​โปรเตสแตนต์​ที่​มี​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ด้าน​หน้า ที่​เกาะ​ฮัวฮิเน เฟรนช์โปลินีเซีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Avec la permission du Pasteur Teoroi Firipa