การข่มเหงทางศาสนาเพราะเหตุใด?
การข่มเหงทางศาสนาเพราะเหตุใด?
คุณคิดว่าผู้คนควรถูกข่มเหงเนื่องจากศาสนาของเขาไหม? ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น—อย่างน้อยก็ตราบใดที่เขาไม่ไปขัดขวางสิทธิของคนอื่น. ถึงกระนั้น การข่มเหงทางศาสนาก็มีประวัติมายาวนานและยังคงมีอยู่. ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้ง พยานพระยะโฮวาหลายคนในยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้ถูกลิดรอนเสรีภาพทางศาสนาและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณตลอดศตวรรษที่ 20.
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว พยานพระยะโฮวาประสบการข่มเหงที่ทารุณอย่างเป็นระบบและแบบยืดเยื้อ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่เด่นในยุโรปทั้งสองแบบ. ประสบการณ์ของพวกเขาสอนอะไรแก่เราในเรื่องการข่มเหงทางศาสนา? และเราจะเรียนอะไรได้จากวิธีที่พวกเขาแสดงปฏิกิริยาต่อการทนทุกข์?
“ไม่เป็นส่วนของโลก”
พยานพระยะโฮวาพยายามจะเป็นคนที่เคารพกฎหมาย, รักสันติ, และเป็นคนซื่อตรงทางด้านศีลธรรม. พวกเขาไม่ต่อต้านรัฐบาลหรือพยายามเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ทั้งพวกเขาไม่ยั่วยุให้เกิดการข่มเหงเพราะอยากเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ. คริสเตียนเหล่านี้เป็นกลางด้านการเมือง. เรื่องนี้สอดคล้องกับคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “[เหล่าสาวกของข้าพเจ้า] ไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) รัฐบาลส่วนใหญ่ยอมรับจุดยืนที่เป็นกลางของพยานฯ. แต่ผู้ปกครองแบบเผด็จการไม่มีความนับถือเท่าไรนักต่อข้อเรียกร้องของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าคริสเตียนไม่ควรเป็นส่วนของโลก.
มีการอธิบายเหตุผลในเรื่องนี้ระหว่างการประชุมที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน 2000. การประชุมนั้นมีสาระสำคัญเรื่อง “การกดขี่และการยืนยันในสิทธิของตัวเอง: พยานพระยะโฮวาภายใต้ระบอบสังคมนิยมแห่งชาติและระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์.” ดร. เคลเมนส์ ฟอล์นฮัลส์แห่งสถาบันฮันนาห์-อะเรนต์เพื่อการวิจัยระบอบการปกครองแบบเผด็จการได้ให้ความเห็นว่า “ระบอบการปกครองแบบเผด็จการไม่ได้จำกัดกิจกรรมแค่ในเรื่องการเมืองเท่านั้น. พวกเขาเรียกร้องให้คนเรามอบตัวอย่างสิ้นเชิงให้แก่ระบอบนั้น.”
คริสเตียนแท้ไม่สามารถมอบตัว “อย่างสิ้นเชิง” ให้แก่รัฐบาลมนุษย์ เนื่องจากพวกเขาได้ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีอย่างแท้จริงต่อพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เดียว. พวกพยานฯ ที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการได้พบว่าสิ่งที่รัฐเรียกร้องเอาจากพวกเขาและข้อเรียกร้องแห่งความเชื่อของเขานั้นขัดกันในบางครั้ง. พวกเขาได้ทำประการใดเมื่อรับมือกับความขัดแย้งดังกล่าว? หลายครั้งในอดีต พยานพระยะโฮวาได้นำหลักการที่สาวกของพระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้มาใช้ที่ว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:29, ล.ม.
พยานฯ จำนวนมากภักดีต่อความเชื่อทางศาสนาของตนและคงความเป็นกลางในเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ทั้ง ๆ ที่ประสบการข่มเหงแบบทารุณที่สุด. พวกเขาอดทนได้อย่างไร? พวกเขาได้รับกำลังที่จะอดทนจากที่ไหน? ขอให้พวกเขาตอบด้วยตัวเอง. และขอเราพิจารณาดูสิ่งที่ทุกคน ทั้งพยานฯ และคนที่ไม่ใช่พยานฯ สามารถเรียนได้จากประสบการณ์ของพวกเขา.
[คำโปรยหน้า 4]
พยานพระยะโฮวาในเยอรมนีประสบการข่มเหงที่ทารุณและยืดเยื้อภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทั้งสองแบบในศตวรรษที่ 20
[คำโปรยหน้า 4]
“ระบอบการปกครองแบบเผด็จการไม่ได้จำกัดกิจกรรมแค่ในเรื่องการเมืองเท่านั้น. พวกเขาเรียกร้องให้คนเรามอบตัวอย่างสิ้นเชิงให้แก่ระบอบนั้น.”—ดร. เคลเมนส์ ฟอล์นฮัลส์
[ภาพหน้า 4]
ครอบครัวคุสเซโรถูกลิดรอนเสรีภาพเพราะพวกเขาไม่ยอมอะลุ่มอล่วยความเชื่อของตน
[ภาพหน้า 4]
โยฮันเนส ฮามส์ถูกประหารชีวิตในคุกของนาซีเนื่องด้วยความเชื่อของเขา