พวกวัลเดนส์จากลัทธินอกรีตมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์
พวกวัลเดนส์จากลัทธินอกรีตมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์
ตอนนั้นเป็นปี 1545 ที่เมืองลูเบรองอันสวยงามในแคว้นโปรวองทางตอนใต้ของฝรั่งเศส. มีการรวบรวมทหารกองหนึ่งขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจอันเลวร้ายซึ่งถูกกระตุ้นจากทัศนะอันคับแคบด้านศาสนา. สิ่งที่ตามมาคือสัปดาห์แห่งการนองเลือด.
หลายหมู่บ้านถูกทำลายราบ และคนในหมู่บ้านเหล่านั้นถูกจับขังคุกหรือไม่ก็ถูกฆ่า. พวกทหารที่โหดเหี้ยมรุนแรงปฏิบัติการอย่างทารุณโหดร้ายในการสังหารหมู่ซึ่งทำให้ชาวยุโรปขนลุกขนพอง. มีผู้ชายประมาณ 2,700 คนถูกฆ่า และประมาณ 600 คนถูกส่งไปเป็นแรงงานฝีพายในเรือใหญ่ ยังไม่นับผู้หญิงและเด็กที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน. นายทหารที่บัญชาการในการรณรงค์นองเลือดครั้งนี้ได้รับคำสดุดีจากกษัตริย์ฝรั่งเศสและจากโปป.
การปฏิรูปศาสนาได้ทำให้เยอรมนีแตกแยกไปเรียบร้อยแล้วเมื่อกษัตริย์ชาวคาทอลิก ฟรานซิสที่หนึ่งแห่งฝรั่งเศส ทำการสอบสวนกลุ่มคนที่เรียกกันว่าพวกนอกรีตในเขตราชอาณาจักร ทั้งนี้ด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับการแผ่ขยายของนิกายโปรเตสแตนต์. แทนที่จะพบคนนอกรีตไม่กี่คน เจ้าหน้าที่ในแคว้นโปรวองได้พบหลายหมู่บ้านของพวกที่เห็นต่างทางศาสนา. มีการผ่านกฤษฎีกาเพื่อกวาดล้างพวกนอกรีตเหล่านี้ และในที่สุดนำไปสู่การสังหารหมู่ในปี 1545.
พวกนอกรีตเหล่านี้เป็นใคร? และเหตุใดพวกเขาจึงตกเป็นเป้าของทัศนะอันคับแคบด้านศาสนาที่รุนแรง?
จากเศรษฐีกลายเป็นยาจก
คนที่ถูกฆ่าในการสังหารหมู่เป็นสมาชิกขบวนการศาสนาซึ่งสืบย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12 และครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ของยุโรป. วิธีที่ขบวนการนี้แผ่ขยายและอยู่รอดมาหลายศตวรรษทำให้ขบวนการนี้โดดเด่นในบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการไม่เห็นพ้องกันด้านศาสนา. นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าขบวนการนี้มีจุดเริ่มต้นประมาณปี 1170. ในเมืองลียงของฝรั่งเศส พ่อค้าผู้มั่งคั่งคนหนึ่งชื่อวอเดเริ่มสนใจอย่างลึกซึ้งในการเรียนรู้แนวทางที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. ดูเหมือนว่าเขาถูกกระตุ้นจากคำตรัสของพระเยซูคริสต์ที่เตือนสติชายที่มั่งคั่งผู้หนึ่งให้ขายทรัพย์สินของตนแล้วแจกแก่คนยากจน วอเดจึงจัดแจงให้ครอบครัวเขาได้รับการดูแลด้านการเงินเป็นอย่างดี แล้วละทิ้งความมั่งคั่งเพื่อมุ่งประกาศกิตติคุณ. (มัดธาย ) ไม่นานนัก เขาก็มีสาวกซึ่งในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าพวกวัลเดนส์. 19:16-22 *
ความยากจน, การเทศนาสั่งสอน, และคัมภีร์ไบเบิลคือแกนหลักในชีวิตของวอเด. การคัดค้านความมั่งคั่งหรูหราของคณะนักบวชไม่ใช่เรื่องใหม่. กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับคณะนักบวชได้ประณามการทุจริตและการใช้อำนาจผิด ๆ ของคริสตจักรมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว. แต่วอเดเป็นฆราวาส เช่นเดียวกับพวกผู้ติดตามเขาส่วนใหญ่. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นเหตุที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องมีคัมภีร์ไบเบิลในภาษาท้องถิ่นที่ประชาชนทั่วไปใช้. เนื่องจากมีแต่พวกนักบวชเท่านั้นที่อ่านพระคัมภีร์ฉบับภาษาลาตินได้ วอเดจึงได้จัดการว่าจ้างบางคนให้แปลพระธรรมกิตติคุณและพระธรรมเล่มอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาฟรังโก-โปรวอง ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้คนทั่วไปในฝรั่งเศสแถบภาคกลางค่อนไปทางตะวันออกเข้าใจ. * โดยปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเยซูที่ให้ประกาศ ยาจกแห่งลียงได้ประกาศข่าวสารของตนในที่สาธารณะ. (มัดธาย 28:19, 20) นักประวัติศาสตร์กาบรีเอล ออดีสโยอธิบายว่า การที่พวกเขายืนหยัดในการประกาศแก่สาธารณชนกลายเป็นประเด็นหลักในทัศนะของคริสตจักรที่มีต่อพวกวัลเดนส์.
จากชาวคาทอลิกมาเป็นคนนอกรีต
ในสมัยนั้น การเทศน์สั่งสอนถูกจำกัดให้ทำได้เฉพาะนักบวช และคริสตจักรถือว่าตนมีสิทธิ์ในการให้อำนาจที่จะเทศน์สั่งสอน. คณะนักบวชถือว่าพวกวัลเดนส์โง่เขลาและไม่รู้หนังสือ แต่ในปี 1179 วอเดพยายามร้องขอต่อโปปอะเล็กซานเดอร์ที่สามเพื่อจะมีอำนาจอย่างเป็นทางการในการเทศน์สั่งสอน. เขาได้รับอนุญาต—แต่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุมัติจากนักเทศน์ในท้องถิ่น. นักประวัติศาสตร์มัลคอล์ม แลมเบิร์ต ชี้ว่า การอนุญาตอย่างนี้ “มีค่าพอ ๆ กับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง.” ที่จริง อาร์ชบิชอป ชอง แบลแมง แห่งลียงได้สั่งห้ามอย่างเป็นทางการไม่ให้ฆราวาสเทศน์สั่งสอน. วอเดตอบโต้โดยยกข้อความจากกิจการ 5:29 ขึ้นมาอ้าง ที่ว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.” เนื่องจากไม่ยอมทำตามการสั่งห้าม วอเดถูกตัดขาดจากคริสตจักรในปี 1184.
แม้ว่าพวกวัลเดนส์ถูกเนรเทศจากแขวงปกครองชั้นในของบิชอปแห่งลียงและถูกขับไล่ออกจากเมือง แต่ดูเหมือนว่าคำสั่งในช่วงแรกไม่มีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัด. ชาวบ้านทั่วไปจำนวนมากชื่นชมความจริงใจและวิถีชีวิตของพวกวัลเดนส์ และแม้แต่พวกบิชอปเองก็ยังสนทนากับพวกเขาต่อไป.
ตามที่นักประวัติศาสตร์ อวน แคเมอรอน ได้กล่าวไว้ ดูเหมือนว่านักเทศน์ของพวกวัลเดนส์ไม่ได้ “ต่อต้านคริสตจักรโรมันเพียงเพราะต้องการต่อต้าน.” พวกเขาเพียงแต่ “ปรารถนาจะเทศนาสั่งสอน.” นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า โดยแท้แล้ว ขบวนการนี้ถูกผลักดันให้กลายเป็นพวกออกหากโดยกฤษฎีกาที่ออกติดต่อกันมาเป็นชุดซึ่งลดทอนอำนาจและอิทธิพลของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ และอย่างถาวร. การประณามของคริสตจักรมาถึงจุดสูงสุดเมื่อมีการออกคำสั่งห้ามและตัดขาดพวกวัลเดนส์จากคริสตจักรโดยที่ประชุมสภาลาเทอรันที่สี่ในปี 1215. เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการประกาศของพวกเขา?
พวกเขาทำงานแบบลับ ๆ
วอเดเสียชีวิตในปี 1217 และการข่มเหงทำให้สาวกของเขากระจัดกระจายไปในแถบหุบเขาแอลป์ของฝรั่งเศส, เยอรมนี, ตอนเหนือของอิตาลี, และยุโรปภาคกลางและภาคตะวันออก. การข่มเหงยังทำให้พวกวัลเดนส์ตั้งถิ่นฐานกันในเขตชนบท และเมื่อเป็นอย่างนี้จึงจำกัดกิจกรรมการเทศนาสั่งสอนในหลาย ๆ ขอบเขต.
ในปี 1229 คริสตจักรคาทอลิกเสร็จสิ้นสงครามครูเสดกับพวกคาทาร์หรือพวกอัลบิเจนส์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส. * พวกวัลเดนส์ตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างรุนแรงเช่นนั้นเป็นรายต่อไป. ในไม่ช้า ศาลศาสนาจะจัดการพวกผู้ไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรทุกกลุ่มอย่างไร้ความปรานี. ความกลัวทำให้พวกวัลเดนส์ดำเนินงานแบบลับ ๆ. พอถึงปี 1230 พวกเขาก็ไม่ได้เทศนาสั่งสอนอย่างเปิดเผยอีกต่อไป. ออดีสโยอธิบายว่า “แทนที่จะแสวงหาแกะใหม่ ๆ . . พวกเขาทุ่มเทความพยายามในการดูแลผู้ที่เปลี่ยนมาเชื่อถืออยู่แล้ว บำรุงความเชื่อของคนเหล่านี้ให้เข้มแข็งแม้เผชิญแรงกดดันภายนอกและการข่มเหง.” เขากล่าวเสริมอีกว่า “การเทศนาสั่งสอนยังคงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ได้มีการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติโดยสิ้นเชิง.”
ความเชื่อและการปฏิบัติของพวกเขา
แทนที่จะมีทั้งชายและหญิงร่วมในกิจกรรมเทศนาสั่งสอน พอถึงศตวรรษที่ 14 พวกวัลเดนส์ได้แยกความแตกต่างระหว่างนักเทศน์กับผู้เชื่อถือ. เฉพาะชายผู้ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเท่านั้นมีส่วนในงานบำรุงเลี้ยง. ภายหลัง นักเทศน์ที่เดินทางไปเทศน์สั่งสอนในที่ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันด้วยชื่อ บาร์บ (ลุง).
บาร์บ เหล่านี้ซึ่งเยี่ยมครอบครัวของพวกวัลเดนส์ที่บ้านได้ทำหน้าที่เพื่อรักษาขบวนการนี้ให้คงอยู่มากกว่าจะแผ่ขยาย. บาร์บ ทุกคนอ่านออกเขียนได้ และการฝึกอบรมที่พวกเขาได้รับ ซึ่งอาจนานถึงหกปี เน้นหนักเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นพิเศษ. การใช้คัมภีร์ไบเบิลในภาษาท้องถิ่นช่วยพวกเขาในการอธิบายคัมภีร์ไบเบิลแก่ฝูงแกะได้ง่ายขึ้น. แม้แต่พวกผู้ไม่เห็นด้วยก็ยังยอมรับว่าพวกวัลเดนส์ รวมทั้งลูก ๆ ด้วย มีวัฒนธรรมด้านคัมภีร์ไบเบิลที่เข้มแข็งและสามารถยกข้อความส่วนใหญ่ ๆ หลายส่วนจากพระคัมภีร์.
นอกเหนือจากเรื่องอื่น ๆ แล้ว พวกวัลเดนส์รุ่นแรก ๆ ปฏิเสธการโกหก, ไฟชำระ, พิธีมิสซาสำหรับคนตาย, การชำระบาปโดยโปป, และการนมัสการพระแม่มาเรียและพวก “นักบุญ.” พวกเขายังถือฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ปีละครั้ง. ตามที่แลมเบิร์ตได้กล่าวไว้ รูปแบบการนมัสการของพวกเขา “เป็นศาสนาของฆราวาสโดยทั่วไปอย่างแท้จริง.”
“ชีวิตแบบตีสองหน้า”
ชุมชนของพวกวัลเดนส์ผูกพันกันใกล้ชิด. พวกเขาแต่งงานกับคนในขบวนการเดียวกัน และเมื่อผ่านไปหลายศตวรรษจึงทำให้เกิดมีนามสกุลของพวกวัลเดนส์. อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด พวกวัลเดนส์พยายามปิดซ่อนทัศนะของตน. การที่พวกเขาปกปิดความเชื่อและกิจปฏิบัติด้านศาสนาทำให้ง่ายที่ฝ่ายตรงข้ามจะตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงใส่ความพวกเขา อย่างเช่นกล่าวหาว่าพวกเขานมัสการผีปิศาจ. *
วิธีหนึ่งที่พวกวัลเดนส์รับมือกับข้อกล่าวหาเช่นนั้นคือโดยการประนีประนอมและปฏิบัติอย่างที่นักประวัติศาสตร์แคเมอรอนเรียกว่า “การคล้อยตามเท่าที่จำเป็น” ให้แก่การนมัสการของคาทอลิก. พวกวัลเดนส์จำนวนมากสารภาพบาปกับนักบวชคาทอลิก, เข้าพิธีมิสซา, ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์, และแม้แต่เดินทางจาริกแสวงบุญ. แลมเบิร์ตให้ข้อสังเกตว่า “พวกเขาทำหลายสิ่งแบบเดียวกับเพื่อนบ้านชาวคาทอลิก.” ออดีสโยกล่าวตรง ๆ ว่า ในที่สุดพวกวัลเดนส์ก็ “ดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า.” เขากล่าวเสริมอีกว่า “ด้านหนึ่งนั้น พวกเขาแสดงออกภายนอกเหมือนกับชาวคาทอลิกเพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพที่นับได้ว่าสงบสุข; ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาปฏิบัติตามพิธีกรรมและจารีตประเพณีในหมู่พวกเขาซึ่งให้ความมั่นใจว่าชุมชนวัลเดนส์จะดำรงคงอยู่ต่อ ๆ ไป.”
จากลัทธินอกรีตมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์
ในศตวรรษที่ 16 การปฏิรูปศาสนาได้ทำให้วงการศาสนาของยุโรปเปลี่ยนไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม. ผู้รับเคราะห์จากทัศนะอันคับแคบด้านศาสนาสามารถแสวงหาการยอมรับตามกฎหมายในประเทศของตนเองหรืออพยพออกนอกประเทศเพื่อเสาะหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกว่า. แนวคิดในเรื่อง
ลัทธินอกรีตก็เริ่มมีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากคนจำนวนมากเริ่มตั้งข้อสงสัยศาสนาแบบดั้งเดิมที่ทางการรับรอง.มาร์ติน ลูเทอร์ นักปฏิรูปศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้กล่าวถึงพวกวัลเดนส์ตั้งแต่ปี 1523 แล้ว. ในปี 1526 บาร์บ คนหนึ่งของพวกวัลเดนส์ได้นำข่าวเกี่ยวกับพัฒนาการด้านศาสนาในยุโรปกลับมายังภูมิภาคแถบเทือกเขาแอลป์. หลังจากนั้น ช่วงเวลาที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างชุมชนโปรเตสแตนต์กับชุมชนวัลเดนส์ก็ตามมา. ชาวโปรเตสแตนต์สนับสนุนพวกวัลเดนส์ในการให้เงินสนับสนุนการแปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาดั้งเดิมเป็นภาษาฝรั่งเศสฉบับแรก. ฉบับแปลดังกล่าวซึ่งพิมพ์ในปี 1535 เป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในนามคัมภีร์ไบเบิลฉบับโอลีเวตอง. แต่ที่น่าแปลกก็คือ พวกวัลเดนส์ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศส.
ขณะที่การข่มเหงจากคริสตจักรคาทอลิกดำเนินต่อไป พวกวัลเดนส์จำนวนมากได้ตั้งถิ่นฐานกันในแคว้นโปรวองทางตอนใต้ของฝรั่งเศสซึ่งปลอดภัยกว่า เช่นเดียวกับชาวโปรเตสแตนต์ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศ. ไม่ช้า ทางการก็ตระหนักถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานดังกล่าว. แม้ว่ามีรายงานด้านดีมากมายเกี่ยวกับแบบชีวิตและศีลธรรมของพวกวัลเดนส์ แต่บางคนยังสงสัยความภักดีของพวกเขาและกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม. มีการออกกฤษฎีกาเมอแรงดอล ยังผลให้เกิดการนองเลือดดังกล่าวไปในตอนต้นบทความนี้.
ความสัมพันธ์ระหว่างคาทอลิกกับพวกวัลเดนส์เสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ. เพื่อตอบโต้การโจมตี พวกวัลเดนส์ถึงกับหันไปใช้กำลังรบเพื่อป้องกันตัวเอง. ความขัดแย้งดังกล่าวผลักดันพวกเขาให้เข้าสู่กลุ่มโปรเตสแตนต์. โดยวิธีนี้ พวกวัลเดนส์จึงเข้าเป็นพันธมิตรกับนิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ทั่วไป.
ตลอดศตวรรษต่าง ๆ ได้มีการก่อตั้งคริสตจักรวัลเดนส์ขึ้นในประเทศต่าง ๆ ที่ไกลจากฝรั่งเศสไปจนถึงอุรุกวัยและสหรัฐ. อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับออดีสโยซึ่งกล่าวไว้ว่า “ลัทธิวัลเดนส์ถึงกาลอวสานไปแล้วในสมัยที่มีการปฏิรูปศาสนา” เมื่อขบวนการนี้ถูก “กลืน” โดยนิกายโปรเตสแตนต์. ที่จริง ขบวนการวัลเดนส์ได้สูญเสียความกระตือรือร้นอันแรงกล้าที่เคยมีในตอนแรกตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว. การสูญเสียความกระตือรือร้นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกของขบวนการนี้ละเลิกการเทศนาสั่งสอนตามหลักคัมภีร์ไบเบิลเนื่องด้วยความกลัว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 มีการเรียกวอเดกันหลายแบบ คือ วัลเดส, วัลเดซิอุส, หรือวัลโด. ชื่อหลังสุดนี้เป็นที่มาของชื่อเรียก “พวกวัลเดนส์.” พวกวัลเดนส์หรือพวกวัลเดนเซียนเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือยาจกแห่งลียง.
^ วรรค 8 ตั้งแต่ปี 1199 แล้วที่บิชอปแห่งเมืองเมตซ์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ร้องครวญต่อโปปอินโนเซนต์ที่สามว่า มีบางคนอ่านและพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลในภาษาท้องถิ่น. คนที่บิชอปกำลังกล่าวถึงคงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพวกวัลเดนส์.
^ วรรค 15 โปรดดู “พวกคาทาร์—เขาเป็นคริสเตียนผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อไหม?” ในหอสังเกตการณ์ 1 กันยายน 1995 หน้า 27-30.
^ วรรค 21 การทำลายชื่อเสียงของพวกวัลเดนส์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้เกิดคำวอเดอรี (จากคำภาษาฝรั่งเศส วอดัว). คำนี้ใช้พรรณนาคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นพวกออกหากหรือผู้นมัสการผีปิศาจ.
[แผนที่/ภาพหน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อาณาเขตที่พวกวัลเดนส์เคยมีอิทธิพล
ฝรั่งเศส
ลียง
แคว้นโปรวอง
ลูเบรอง
สตราสบูร์ก
มิลาน
โรม
เบอร์ลิน
ปราก
เวียนนา
[รูปภาพ]
พวกวัลเดนส์ให้เงินสนับสนุนการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับโอลีเวตอง ปี 1535
[ที่มาของภาพ]
Bible: © Cliché Bibliothèque nationale de France, Paris
[ภาพหน้า 20, 21]
วอเด
การเผาหญิงสูงอายุสองคนที่เป็นพวกวัลเดนส์
[ที่มาของภาพ]
Pages 20 and 21: © Landesbildstelle Baden, Karlsruhe