ส่องแสงดุจดวงสว่างในนครที่ให้ความสว่าง
ส่องแสงดุจดวงสว่างในนครที่ให้ความสว่าง
Fluctuat nec mergitur หรือ “แม้คลื่นซัดกระหน่ำ แต่นครนี้ไม่จม” นี่เป็นคำขวัญของนครปารีส.
ปารีสเปรียบได้กับเรือเดินทะเลที่อยู่รอดตลอดมานานกว่า 2,000 ปี ต้องฝ่าคลื่นลมแรงนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการบุกรุกจากชาวต่างชาติและกบฏภายในประเทศ. ปารีสในปัจจุบันเป็นมหานครที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่ชื่นชอบเนื่องจากมีสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ, สองฟากถนนกว้างมีต้นไม้ขึ้นเรียงราย, อีกทั้งพิพิธภัณฑสถานที่ขึ้นชื่อของโลก. บางคนนึกถึงปารีสในแง่เป็นแหล่งพักพิงของกวี, จิตรกร, และนักปรัชญา. ส่วนคนอื่น ๆ ติดใจอาหารเลิศรส และนิยมชมชอบร้านออกแบบเสื้อผ้าอาภรณ์.
ว่ากันทางด้านประวัติศาสตร์ ปารีสคือฐานที่มั่นของศาสนานิกายโรมันคาทอลิก. สองร้อยปีมาแล้ว สืบเนื่องจากการมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญในขบวนการทางปัญญาของชาวยุโรปซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าความรู้แจ้ง ปารีสจึงได้สมญาว่านครที่ให้ความสว่าง. ทุกวันนี้ ไม่ว่าผู้คนจะตระหนักถึงเรื่องนี้หรือไม่ ชาวปารีสส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากหลักปรัชญาย้อนยุคนั้นมากยิ่งกว่าที่ได้จากศาสนา.
อย่างไรก็ตาม สติปัญญาของมนุษย์ไม่ได้ให้ความสว่างแก่ชีวิตผู้คนตามที่คาดหวัง. เวลานี้หลายคนกำลังแสวงความรู้แจ้งจากแหล่งต่าง ๆ กัน. บัดนี้ เป็นเวลาประมาณ 90 ปีแล้วที่พยานพระยะโฮวา “ปรากฏดุจดวงสว่าง” ในนครปารีส. (ฟิลิปปอย 2:15) เช่นเดียวกับนักเดินเรือที่ชำนาญ พยานฯ ได้ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามกระแสนิยมหรือเหตุการณ์ที่ผันแปรเพื่อเก็บรวบรวม “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” เข้ามาอยู่ในเรือโดยนัย.—ฮาฆี 2:7, ล.ม
นครที่ท้าทายงานเผยแพร่
ย้อนไปในปี 1850 นครปารีสมีพลเมือง 600,000 คน. ประชากรในปัจจุบันรวมทั้งที่อยู่ตามปริมณฑลมีจำนวนเก้าล้านกว่าคน. การเติบโตดังกล่าวยังผลให้ปารีสกลายเป็นเมืองที่มีประชากรหลากหลายมากที่สุดของฝรั่งเศส. ที่นี่เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสูงของโลก มีมหาวิทยาลัยหนึ่งซึ่งเก่าแก่ที่สุดของโลก และมีนักศึกษามหาวิทยาลัย/วิทยาลัยต่าง ๆ ประมาณ 250,000 คน. ชานเมืองบางแห่งรอบปารีสมีตึกสูงผุดขึ้นมาซ้อน ๆ กันมากมาย ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เสเพลและว่างงาน เป็นด้านมืดของนครปารีส. ไม่ต้องสงสัย พยานพระยะโฮวาผู้เผยแพร่ข่าวดีประเภทที่จะดึงดูดใจคนทุกชนิดได้จึงต้องใช้ทักษะและการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม.—1 ติโมเธียว 4:10, ล.ม.
แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปารีสมากกว่า 20 ล้านคน. พวกเขาอาจรู้สึกตื่นเต้นกับการขึ้นหอไอเฟล, เดินเล่นเลียบฝั่งแม่น้ำเซน, หรือนั่งอ้อยอิ่งในร้านกาแฟและร้านเหล้าข้างถนน ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศรอบตัว.
แต่สำหรับชาวปารีส จังหวะชีวิตประจำวันค่อนข้างจะเร่งรีบ. คริสตียองผู้เผยแพร่เต็มเวลาชี้แจงว่า “ประชาชนเร่งรีบตลอดเวลา. พอเลิกงานกลับถึงบ้าน พวกเขาก็หมดเรี่ยวหมดแรง.” การพูดคุยกับบุคคลดังกล่าวซึ่งมีธุระยุ่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย.กระนั้น พยานพระยะโฮวาในปารีสเผชิญปัญหาหนึ่งที่นับว่ายากที่สุดคือการติดต่อกับผู้คนที่อยู่ภายในบ้าน. อาคารบางหลังติดตั้งระบบอินเตอร์คอม. อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น อาคารอพาร์ตเมนต์ต่าง ๆ มักจะใช้รหัสอิเล็กทรอนิกตรงทางเข้า ดังนั้น การจะเข้าไปในอาคารจึงเป็นไปไม่ได้. ข้อนี้เป็นคำอธิบายอย่างดีว่าทำไมในบางพื้นที่จึงมีเฉลี่ยพยานฯ เพียงหนึ่งคนต่อประชากร 1,400 คน. ด้วยเหตุนี้ การให้คำพยานทางโทรศัพท์และเมื่อสบโอกาสจึงทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ. พยานพระยะโฮวาสามารถใช้วิธีอื่นอีกได้ไหมเพื่อให้ ‘ความสว่างของเขาส่องออกไป’?—มัดธาย 5:16.
โอกาสและสถานที่ที่จะให้คำพยานเมื่อสบโอกาสนั้นมีอยู่มากมาย. มาร์ตินแลเห็นผู้หญิงดูท่าทางหดหู่คนหนึ่งยืนอยู่ที่ป้ายรถประจำทาง. หญิงคนนี้เพิ่งเสียลูกสาวคนเดียวไป. มาร์ตินให้จุลสารเธอเล่มหนึ่งซึ่งอธิบายเรื่องความหวังเกี่ยวกับการเป็นขึ้นจากตายที่ให้การปลอบประโลมใจจากคัมภีร์ไบเบิล. และสองสามเดือนหลังจากนั้นไม่มีการติดต่อกันเลย. เมื่อมาร์ตินเจอหญิงคนนั้นอีก จึงเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเธอ. แม้สามีต่อต้านขัดขวาง แต่ในที่สุดเธอก็เข้ามาเป็นพยานฯ.
การให้คำพยานเมื่อสบโอกาสเกิดผล
ระบบขนส่งมวลชนในปารีสเป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก. รถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นชื่อในด้านการขนส่งผู้โดยสาร 5,000,000 คนทุก ๆ วัน. กล่าวกันว่าชัตเล-เล-อัล ศูนย์กลางสถานีรถไฟใต้ดินกรุงปารีสเป็นสถานีใหญ่สุดและจอแจมากที่สุดในโลก. โอกาสจะพบผู้คนนั้นมีมากจริง ๆ. อะเล็กซานดรานั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงานทุกวัน. วันหนึ่งเธอสบโอกาสพูดคุยกับชายหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย. อะเล็กซานดราให้แผ่นพับที่พูดเรื่องความหวังเกี่ยวกับอุทยาน. มีการนัดพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลกันทุกวันในเวลาเดียวกัน ณ สถานที่เดิมเป็นเวลาหกสัปดาห์. แล้ววันหนึ่งชายคนนี้หายหน้าไป. ไม่นานหลังจากนั้น ภรรยาของเขาโทรศัพท์บอกอะเล็กซานดราให้ไปที่โรงพยาบาล เพราะอาการสามีของเธออยู่ในขั้นวิกฤติ. น่าเสียดาย อะเล็กซานดราไปไม่ทัน. ภายหลังการตายของสามี ภรรยาได้ย้ายไปที่เมืองบอร์โดซ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ที่นั่นพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นได้ไปเยี่ยมเธอ. น่าชื่นใจจริง ๆ สำหรับอะเล็กซานดราเมื่อได้ข่าวหลังจากนั้นหนึ่งปีว่าหญิงม่ายคนนี้เข้ามาเป็นคริสเตียนพยานพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้ว พร้อมกับมีความหวังจะเห็นสามีได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย!—โยฮัน 5:28, 29.
สตรีคริสเตียนสูงวัยคนหนึ่งคุยกับเรนาทาบนรถไฟขณะเดินทางจากปารีสไปยังลิโมชภาคกลางของฝรั่งเศส. ที่โปแลนด์ประเทศบ้านเกิดของเรนาทา เธอเคยศึกษาด้านเทววิทยา, ภาษาฮีบรูและภาษากรีกเป็นเวลาห้าปี แต่เธอสิ้นศรัทธาในพระเจ้า. สามเดือนก่อนหน้านี้ เธอทูลอธิษฐานต่อพระเจ้า. แม้ไม่สนใจจริงจังในเรื่องราวที่ซิสเตอร์สูงวัยบอกเธอ ทั้งคิดว่าคงจะไม่ได้ข่าวจากเธออีก ถึงอย่างไรเรนาทาก็ให้หมายเลขโทรศัพท์แก่เธอ. แต่ซิสเตอร์คนนี้ไม่ละความพยายามและไม่นานหลังจากนั้นก็จัดการให้มีคนไปเยี่ยมเรนาทา. เมื่อคู่สามีภรรยาพยานฯ ไปเยี่ยม เรนาทาคิดว่า ‘เขาจะเอาอะไรมาสอนฉันนะ?’ ถึงแม้เธอเคยศึกษาเทววิทยามาแล้วก็ตาม แต่เรนาทาน้อมรับความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิลด้วยความถ่อม. เธอชี้แจงว่า “ดิฉันเข้าใจทันทีว่านี่แหละเป็นความจริง.” เวลานี้เธอมีความสุขที่ได้ร่วมงานเผยแพร่ข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลให้แก่คนอื่น ๆ.
มิเชลเข้าชั้นเรียนฝึกขับรถ. นักเรียนอื่น ๆ ในห้องที่กำลังเรียนภาคทฤษฎีเริ่มคุยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส. มิเชลพูดออกมาว่าเธอไม่เห็นด้วย. หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ซิลวีครูสอนขับรถถามมิเชลว่า “คุณเป็นพยานพระยะโฮวาหรือ?” แง่คิดของมิเชลที่ยึดหลักการของคัมภีร์ไบเบิลทำให้ซิลวีรู้สึกประทับใจ. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจึงเริ่มขึ้น ปีถัดมาซิลวีได้รับบัพติสมา.
สวนสาธารณะและสวนธรรมชาติที่ร่มรื่นหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วปารีสเป็นทัศนียภาพที่เหมาะแก่การพูดคุยกับประชาชน. โจเซตต์ฉวยเอาโอกาสช่วงพักผ่อนสั้น ๆ เดินเข้าไปในสวนสาธารณะซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับอะลีนสตรีสูงอายุกำลังเดินเล่น. โจเซตต์คุยกับเธอเรื่องคำสัญญาที่น่าพิศวงซึ่งพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล. แล้วได้มีการจัดเตรียมเพื่อ
เริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ไม่ช้าไม่นาน อะลีนก้าวหน้าถึงขั้นรับบัพติสมา. ตอนนี้ อะลีนวัย 74 ปี ทำงานเผยแพร่อย่างมีประสิทธิผลฐานะไพโอเนียร์ประจำ มีความสุขที่ได้บอกความจริงของคริสเตียนแก่คนอื่น.ความสว่างสำหรับปวงประชาชาติ
เหล่าพยานฯ ในปารีสไม่ต้องเดินทางไปยังแดนไกลเพื่อพบเห็นวัฒนธรรมอันหลากหลายมากมาย. ประชากรเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างชาติ. มีประชาคมคริสเตียนและกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ที่ใช้ภาษาต่าง ๆ ประมาณ 25 ภาษาด้วยกัน.
ทักษะและจินตนาการมักจะอำนวยผลดีบ่อย ๆ แก่งานมอบหมายเผยแพร่พิเศษนี้. พยานฯ ชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งคิดสร้างเขตงานพิเศษสำหรับตนเอง. ระหว่างการออกไปจับจ่ายซื้อของ เธอสามารถเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ได้หลายราย โดยเริ่มสนทนากับชาวฟิลิปปินส์ในร้านค้า.
นับว่าได้ผลคุ้มค่าทีเดียวที่จะคิดริเริ่มในงานเผยแพร่. เดือนธันวาคม 1996 เมื่อได้ข่าวคณะละครสัตว์ที่โด่งดังของโลกจะมาเปิดการแสดงในเมือง พยานพระยะโฮวาในประชาคมแห่งหนึ่งที่พูดภาษาต่างประเทศจึงตัดสินใจจะไปพบนักละครสัตว์. คืนวันหนึ่งหลังเลิกการแสดง พยานฯ มีโอกาสได้พูดคุยกับนักแสดงระหว่างทางกลับโรงแรม. การริเริ่มดังกล่าวบังเกิดผล มีการจำหน่ายคัมภีร์ไบเบิลได้ 28 เล่ม, หนังสือต่าง ๆ 59 เล่ม, จุลสาร 131 เล่ม, และวารสาร 290 เล่ม. วันสุดท้ายภายหลังพักอยู่นานสามสัปดาห์ นักกายกรรมคนหนึ่งถามว่า “ผมจะเข้าเป็นพยานพระยะโฮวา ผมควรทำอย่างไร?” อีกรายหนึ่งประกาศว่า “ผมจะเผยแพร่ในประเทศของผม!”
ได้พบทรัพย์ที่ซ่อนอยู่
ไม่ว่านักท่องเที่ยวมองไปทางไหนในปารีส พวกเขาพบเห็นสิ่งมีค่าทางสถาปัตยกรรมอันงามวิจิตรแห่งยุคอดีต. แต่สิ่งอันมีค่ายิ่งกว่านั้นยังรอการค้นพบอยู่. อานิซามาถึงประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับลุงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทางการทูตฝ่ายต่างประเทศ. เธออ่านคัมภีร์ไบเบิลที่บ้านเป็นประจำ. วันหนึ่ง ขณะที่เธอเร่งรีบออกจากบ้าน ไพโอเนียร์ให้แผ่นพับคุณไว้ใจพระคัมภีร์ไบเบิลได้ไหม? มีการนัดหมายพบกันสัปดาห์ถัดไป แล้วการศึกษาพระคัมภีร์ก็เริ่มต้น. ทางครอบครัวทัดทานขัดขวางอานิซาอย่างหนัก. แต่เธอก้าวหน้าในการเรียนรู้กระทั่งถึงขั้นรับบัพติสมา. เธอมองสิทธิพิเศษแห่งการแบ่งปันความจริงแก่คนอื่น ๆ อย่างไร? “แรก ๆ การประกาศเผยแพร่นี้ยาก เพราะดิฉันเป็นคนขี้อาย. แต่กระนั้น เมื่อดิฉันอ่านคัมภีร์ไบเบิล ดิฉันได้รับแรงกระตุ้น. ดิฉันไม่อาจทำใจให้สงบถ้าไม่ได้บอกคนอื่น.” ทัศนคติดังกล่าวเป็นลักษณะเด่นของพยานฯ หลายคนในปารีส ซึ่ง “มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.
นอกจากนั้น ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลยังส่องเข้าไปถึงโครงการบ้านจัดสรรชานเมืองรอบนอกกรุงปารีส เผยให้เห็น “อัญมณี” อื่น ๆ. ด้วยความตั้งใจจะขอยืมตลับเทป บรูซจึงไปหาเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. บรูซเห็นเพื่อนสนทนาเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับบางคนที่เขารู้จัก บรูซอยู่ฟังการสนทนาด้วย. เขาตอบรับคำเสนอของเพื่อนที่ชวนให้ศึกษาพระคัมภีร์ แต่ก็มีข้อขัดข้องบางประการ. “ใคร ๆ ในละแวกนั้นรู้จักผมดี. พี่ชายคนโตของผมก่อเรื่องชกต่อยเสมอ และผมเองมักจัดงานเต้นรำสังสรรค์ส่งเสียงอึกทึก. คนอื่นจะยอมรับข้อเท็จจริงอย่างไรว่าผมได้มาเป็นพยานฯ?” ถึงแม้มีการขอร้องอยู่เรื่อย ๆ ให้จัดงานสังสรรค์ แต่บรูซเลิกกิจกรรมนั้นโดยเด็ดขาด. หนึ่งเดือนหลังจากนั้น เขาเริ่มออกไปเผยแพร่: “ทุกคนในละแวกบ้านอยากรู้ว่าทำไมผมจึงได้มาเป็นพยานฯ.” หลังจากนั้นไม่นาน บรูซรับบัพติสมา. ต่อมา เขามีสิทธิพิเศษได้เข้าโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้.
การค้นหาสมบัติล้ำค่าย่อมต้องทุ่มเทความพยายามมิใช่น้อย. ทว่า ความชื่นชมยินดีช่างมากมายเหลือเกินเมื่อเห็นผล! แจ็กกี, บรูโน, และเดเมียนต่างก็มีอาชีพทำขนมปังในปารีส. “เนื่องจากเราทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดและไม่เคยอยู่บ้าน ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะติดต่อกับเรา” แจ็กกีชี้แจง. แพทริก ซึ่งเป็นไพโอเนียร์ประจำมองเห็นว่าที่ชั้นบนสุดของตึกมีห้องเล็ก ๆ อยู่บ้าง และเขาลงความเห็นว่าอย่างน้อยคงมีคนอยู่สักห้องหนึ่ง. ความบากบั่นพยายามของเขาเพื่อจะได้พบผู้อาศัยอยู่ที่ห้องนั้นประสบผลสำเร็จ ในที่สุดบ่ายวันหนึ่งเขาก็ได้พบแจ็กกี ซึ่งมาอยู่ที่นั่นชั่วคราว. ผลเป็นเช่นไร? ทั้งสามคนที่เป็นเพื่อนกันได้มาเป็นพยานฯ และสามารถหางานอื่นทำได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีเวลาพอที่จะร่วมทำกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้าได้เต็มที่.
การห้ามลมพายุ
เมื่อไม่นานมานี้ สื่อมวลชนบางรายในฝรั่งเศสให้ภาพพยานพระยะโฮวาเป็นนิกายทางศาสนาที่เป็นภัย. ปี 1996 เหล่าพยานฯ ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างกระตือรือร้นแจกจ่ายแผ่นพับมากกว่าเก้าล้านแผ่นที่ให้ข้อมูลเฉพาะเรื่องพยานพระยะโฮวา—สิ่งที่คุณควรทราบ. ผลที่ตามมาน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง.
ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อจะเข้าถึงทุกคน. เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายคนแสดงความขอบคุณต่อพวกพยานฯ. สมาชิกสภาเทศบาลท่านหนึ่งเขียนว่า “การแจกแผ่นพับนี้พยานพระยะโฮวาทำได้ดีมาก. ถือได้ว่าเป็นการแก้ข้อกล่าวหาผิด ๆ ได้เป็นอย่างดี.” นายแพทย์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า “ผมรอรับข้อมูลข่าวสารแบบนี้มานานแล้ว!” กระทาชายนายหนึ่งจากเขตปารีสเขียนดังนี้ “ผมบังเอิญได้อ่านแผ่นพับชื่อพยานพระยะโฮวา—สิ่งที่คุณควรทราบ. ผมอยากรู้มากกว่านี้และขอถือโอกาสตอบรับข้อเสนอจะให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่บ้านฟรี.” อีกรายหนึ่งเป็นสตรีเขียนว่า “ขอบคุณค่ะ สำหรับความสุจริตใจของคุณ.” สตรีคาทอลิกคนหนึ่งบอกพยานพระยะโฮวาว่า “ดีจริง พวกคุณในที่สุดก็ได้ตอบคำโกหกเหล่านี้!”
วาระชื่นชมเป็นพิเศษสำหรับพยานฯ หนุ่มสาวในปารีสได้แก่การจัดการรณรงค์เผยแพร่ขึ้นในช่วงการชุมนุมเยาวชนคาทอลิกจากทั่วโลกเมื่อปี 1997. แม้อุณหภูมิสูงถึง 35 องศาเซลเซียส กระนั้น มีพยานฯ ประมาณ 2,500 คนเข้าส่วนร่วม. ชั่วเวลาสองสามวัน พยานฯ ได้แจกจุลสารหนังสือสำหรับทุกคน 18,000 เล่มให้แก่กลุ่มเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก. นอกจากเป็นการให้คำพยานที่ดีแด่พระนามพระยะโฮวา และหว่านเมล็ดแห่งความจริงแล้ว การรณรงค์ยังได้กระตุ้นพยานฯ หนุ่มสาวอีกด้วย. ซิสเตอร์วัยสาวคนหนึ่งซึ่งย่นเวลาพักร้อนของเธอเพื่อเข้าส่วนร่วมงานที่ต้องทุ่มเทเป็นพิเศษนี้ให้เต็มที่ ได้เขียนว่า “พระยะโฮวาทรงมีไพร่พลผู้เปี่ยมด้วยความสุขอยู่บนแผ่นดินโลก ซึ่งใช้กำลังเรี่ยวแรงของตนสรรเสริญพระนามพระองค์. ช่วงสองวันนี้ที่เต็มไปด้วยพระพรอันอุดมนับว่ามีค่าเทียบได้กับวันหยุดพักร้อนทั้งหมดเท่าที่เคยผ่านมา! (บทเพลงสรรเสริญ 84:10)”
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1998 เป็นวันสำคัญครบรอบ 65 ปีที่ฮิตเลอร์ได้ออกกฎหมายห้ามกิจการของพยานพระยะโฮวาในประเทศเยอรมนี. อาศัยวันครบรอบดังกล่าว พยานพระยะโฮวาในประเทศฝรั่งเศสได้เช่าห้องประชุมใหญ่หลายแห่งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมวีดิทัศน์เรื่องพยานพระยะโฮวายืนหยัดมั่นคงภายใต้การโจมตีของนาซี ซึ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่นับถือพระยะโฮวาประสบการกดขี่ข่มเหง. มีการแจกใบเชิญมากกว่าเจ็ดล้านแผ่น. นักประวัติศาสตร์และอดีตนักโทษในค่ายได้ให้การเป็นพยานอย่างน่าสะเทือนใจ. มีผู้เข้าชมเกือบ 5,000 คนในเขตปารีส ซึ่งนับรวมบุคคลที่ไม่ใช่พยานฯ จำนวนไม่น้อยด้วย.
หลายคนในปารีสหยั่งรู้ค่าความสว่างฝ่ายวิญญาณมากจริง ๆ และเขาดีใจที่ผู้ประกาศราชอาณาจักรส่องแสงแรงกล้าฐานะเป็นดวงสว่าง. ดังที่พระเยซูทรงแถลงไว้ว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่.” (มัดธาย 9:37) ด้วยน้ำใจแน่วแน่ของพยานพระยะโฮวาที่พยายามเอาชนะอุปสรรคขัดขวางการเผยแพร่ในนครนี้ ปารีสจึงเป็นนครที่ให้ความสว่างในแง่ความหมายพิเศษเพื่อการสรรเสริญพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 9]
ศาลากลาง
[ภาพหน้า 9]
พิพิธภัณฑสถานลุฟร์
[ภาพหน้า 9]
โรงละครโอเปราการ์เนียร์
[ภาพหน้า 10]
การบอกข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้คนที่วุ่นกับกิจธุระ ไม่ว่าพบพวกเขา ณ ที่ใด