ทำไมจึงควรพัฒนาความดีงาม?
ทำไมจึงควรพัฒนาความดีงาม?
ชายญี่ปุ่นวัยกลางคนชื่อคุนิฮิโตะได้ย้ายไปสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้. * หลังจากมาถึงไม่กี่สัปดาห์ เขาได้เผชิญกับสถานการณ์อย่างหนึ่งซึ่งอาจก่อผลเสียหายแก่ชีวิตการงานของเขาได้. คุนิฮิโตะเล่าว่า “เมื่อหัวหน้างานถามผมว่า จะรับหน้าที่รับผิดชอบอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ผมรู้สึกมั่นใจทีเดียวที่จะรับหน้าที่นั้น. แต่เนื่องจากได้รับการอบรมมาให้ถือว่าความเจียมตัวเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ผมจึงตอบไปว่า ‘ผมไม่แน่ใจว่าจะทำงานนี้ได้หรือไม่ แต่ผมจะพยายามทำสุดความสามารถ.’ สำหรับหัวหน้างานของผมซึ่งเป็นชาวอเมริกันแล้ว นี่ฟังดูราวกับว่าผมเป็นคนไร้ความสามารถและขาดความมั่นใจ. เมื่อรู้อย่างนั้น ผมตระหนักว่าต้องแก้ไขอะไรบางอย่าง.”
มาเรียซึ่งอยู่ในนครนิวยอร์ก เป็นนักศึกษาที่เรียนเก่ง มักจะยินดีช่วยเหลือเพื่อนร่วมชั้นของเธอเสมอ. ฮวนเป็นเพื่อนนักศึกษาที่ขอความช่วยเหลือจากมาเรียเป็นครั้งคราว. แต่เขาแสดงความสนใจเธอในเชิงชู้สาวด้วยและพยายามทำให้เธอประทับใจ. ทั้ง ๆ ที่เธอปรารถนาจะคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องด้านศีลธรรมก็ตาม แต่มาเรียก็ได้ยอมจำนนต่อการเกี้ยวพานของฮวนแล้วเข้าไปพัวพันในความประพฤติผิดทางเพศ.
การสำแดงความสะอาดหมดจดทางศีลธรรมในโลกที่เบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมและเสื่อมทรามด้านศีลธรรมในทุกวันนี้นับว่าเป็นข้อท้าทายจริง ๆ. ดังนั้น ทำไมจึงควรพัฒนาความดีงาม? เพราะความประพฤติที่ดีงามทำให้พระเจ้าพอพระทัย และพวกเราส่วนใหญ่ปรารถนาจะได้รับความพอพระทัยจากพระองค์อย่างแน่นอน.
คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้ากระตุ้นเตือนผู้อ่านให้พัฒนาความดีงาม. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “มีคุณความดีประการใดและมีสิ่งที่น่าสรรเสริญประการใด ก็จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ต่อ ๆ ไป.” (ฟิลิปปอย 4:8, ล.ม.) และอัครสาวกเปโตรกระตุ้นเราให้ใช้ ‘ความพยายามอย่างจริงจังทุกอย่างเพื่อเพิ่มความเชื่อของเราด้วยคุณความดี.’ (2 เปโตร 1:5, ล.ม.) แต่ความดีงามคืออะไร? จะสอนเรื่องนี้ในห้องเรียนได้ไหม? เราจะพัฒนาความดีงามได้อย่างไร?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.