“จงรักษาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเรา และมีชีวิตอยู่ต่อไป”
“จงรักษาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเรา และมีชีวิตอยู่ต่อไป”
เขาเป็นคนหนุ่ม, ฉลาด, “รูปงาม.” ภรรยานายจ้างของเขาเป็นหญิงที่มักมากในกามและไร้ยางอาย. เนื่องจากลุ่มหลงชายหนุ่มคนนั้นอย่างหักห้ามใจไม่ได้ นางจึงพยายามยั่วยวนเขาทุกวัน. “ครั้งหนึ่งโยเซฟเข้าไปในเรือนโดยธุระการงานของตน; ไม่มีบุรุษผู้ใดอยู่ในเรือนนั้น. นางก็เหนี่ยวรั้งเสื้อผ้าโยเซฟไว้, แล้วพูดว่า, ‘จงนอนอยู่ด้วยเราเถิด.’ ” แต่โยเซฟ บุตรของยาโคบปฐมบรรพบุรุษ ทิ้งเสื้อของเขาไว้และหนีไปจากภรรยาของโพติฟา.—เยเนซิศ 39:1-12.
แน่ละ ไม่ใช่ทุกคนหนีไปจากสถานการณ์ที่ล่อใจ. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณากรณีของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติยิศราเอลโบราณเห็นบนถนนยามค่ำคืน. เมื่อถูกหญิงชั่วยั่วยวน “เขาก็ตามนางไปทันที เหมือนวัวตัวผู้เดินมาสู่การฆ่า.”—สุภาษิต 7:21, 22, ล.ม.
คริสเตียนได้รับการเตือนสติให้ “หนีจากการผิดประเวณี.” (1 โกรินโธ 6:18, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลเขียนไปถึงติโมเธียวสาวกคริสเตียนวัยหนุ่มว่า “จงหนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว.” (2 ติโมเธียว 2:22, ล.ม.) เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ล่อใจให้ทำผิดประเวณี, เล่นชู้, หรือทำผิดศีลธรรมแบบอื่น ๆ เราก็เช่นกันต้องหนีให้พ้นอย่างเด็ดขาดเหมือนที่โยเซฟหนีจากภรรยาของโพติฟา. อะไรจะช่วยให้เราตัดสินใจทำอย่างนั้นด้วยความแน่วแน่? ในบทที่ 7 ของพระธรรมสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิล ซะโลโมให้คำแนะนำอันล้ำค่าบางอย่างแก่เรา. ท่านไม่เพียงแต่บอกถึงคำสอนที่จะป้องกันเราจากเล่ห์เหลี่ยมของคนไร้ศีลธรรม แต่ท่านยังเปิดโปงกลอุบายของคนเหล่านั้นโดยพรรณนาอย่างชัดเจนถึงเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งถูกหญิงสำส่อนล่อลวง.
‘จงมัดข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเราติดไว้กับนิ้วของเจ้า’
กษัตริย์เริ่มด้วยคำแนะนำแบบบิดาสอนบุตรดังนี้: “บุตรชายของเราเอ๋ย จงรักษาถ้อยคำของเรา และขอให้เจ้าทะนุถนอมข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเราไว้กับเจ้า. จงรักษาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเรา และมีชีวิตอยู่ต่อไป และรักษากฎหมายของเราเหมือนแก้วตาของเจ้า.”—สุภาษิต 7:1, 2, ล.ม.
บิดาและมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดา มีหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับจากพระเจ้าในการสอนบุตรของตนตามมาตรฐานของพระเจ้าเรื่องความดีและความชั่ว. โมเซกระตุ้นเตือนบิดาทั้งหลายว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ที่เราสั่งเจ้าวันนี้ต้องปรากฏว่าอยู่บนหัวใจเจ้า; และเจ้าต้องพร่ำสอนถ้อยคำเหล่านี้แก่บุตรของเจ้าและพูดถึงถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเจ้านั่งอยู่ในเรือนและเมื่อเจ้าเดินในหนทางและเมื่อเจ้านอนลงและเมื่อเจ้าลุกขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7, ล.ม.) และอัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ คำสั่งสอนของบิดามารดาที่เราควรทะนุถนอม หรือตีค่าอย่างสูง ย่อมรวมไปถึงข้อเตือนใจ, ข้อบัญญัติต่าง ๆ, และกฎหมายที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล.
คำสอนของบิดามารดาอาจรวมไปถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ซึ่งก็คือกฎของครอบครัว. กฎเหล่านี้มีไว้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว. จริงอยู่ กฎเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัวขึ้นอยู่กับความจำเป็น. กระนั้น บิดามารดามีหน้าที่ต้องตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของตน. และกฎที่บิดามารดาตั้งขึ้นโดยทั่วไปแล้วเป็นการแสดงความรักและความห่วงใยอันแท้จริงของพวกท่าน. เยาวชนทั้งหลายได้รับคำแนะนำว่าพวกเขาควรถือรักษากฎเหล่านี้รวมทั้งคำสอนตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งได้รับจากบิดามารดาของตน. ใช่แล้ว จำเป็นต้องถือว่าคำสั่งสอนเหล่า
นั้นเป็น ‘เหมือนแก้วตาของคุณ’ กล่าวคือ ต้องปกป้องด้วยความระมัดระวังเต็มที่. นั่นเป็นวิธีหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจทำให้ถึงตายของการไม่เอาใจใส่ต่อมาตรฐานของพระยะโฮวา และถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะ “มีชีวิตอยู่ต่อไป.”ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “จงมัด [ข้อบัญญัติต่าง ๆ ของเรา] ติดไว้กับนิ้วของเจ้า; จงจารึกไว้บนแผ่นหัวใจของเจ้า.” (สุภาษิต 7:3) เช่นเดียวกับที่นิ้วมือโดดเด่นในสายตาของเราและเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ความมุ่งหมายของเราสำเร็จ บทเรียนที่ได้รับจากการอบรมตามหลักพระคัมภีร์หรือการได้รับความรู้จากคัมภีร์ไบเบิลก็ควรเป็นข้อเตือนใจและนำทางเราเสมอในทุก ๆ สิ่งที่เราทำ. เราควรจะจารึกข้อบัญญัติเหล่านั้นไว้บนแผ่นเนื้อหัวใจของเรา คือทำให้ข้อบัญญัติเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของแรงกระตุ้นภายในเรา.
โดยไม่ลืมความสำคัญของสติปัญญาและความเข้าใจ กษัตริย์กระตุ้นเตือนดังนี้: “จงกล่าวแก่พระปัญญาว่า, ‘พระองค์เป็นพี่สาวของข้าพเจ้า.’ และจงเรียกความเข้าใจว่า, ‘ญาติของท่าน.’ ” (สุภาษิต 7:4) สติปัญญาคือความสามารถในการนำความรู้ที่พระเจ้าทรงประทานให้ไปใช้อย่างถูกต้อง. เราควรมีความรักใคร่ต่อสติปัญญาเหมือนกับที่เรารักพี่สาว. ความเข้าใจคืออะไร? ความเข้าใจคือความสามารถมองลึกเข้าไปในเรื่องราวและเข้าใจเรื่องนั้นโดยรู้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของเรื่องกับเรื่องทั้งหมด. ความเข้าใจต้องใกล้ชิดกับเราเหมือนเป็นเพื่อนสนิท.
ทำไมเราควรยึดมั่นกับการฝึกอบรมตามหลักพระคัมภีร์และสร้างความใกล้ชิดกับสติปัญญาและความเข้าใจ? ก็เพื่อ “จะป้องกัน [ตัวเรา] ไว้จากหญิงแปลกหน้า จากหญิงต่างชาติซึ่งใช้ถ้อยคำหวานหู.” (สุภาษิต 7:5, ล.ม.) ใช่แล้ว การทำเช่นนั้นจะป้องกันเราจากวิธีการที่นุ่มนวลชวนใจของคนแปลกหน้า หรือคนต่างชาติ กล่าวคือ คนผิดศีลธรรม. *
ชายหนุ่มพบกับ ‘หญิงหัวใจเจ้าเล่ห์’
ต่อจากนั้นกษัตริย์แห่งยิศราเอลพรรณนาถึงเหตุการณ์ที่ท่านเห็นดังนี้: “จากหน้าต่างของเรา, เราได้มองออกไปทางเกล็ด [“ช่องตะแกรง,” ล.ม.]; และในหมู่คนโง่, ในหมู่ยุวชนเราเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งผู้ไร้ความเข้าใจ [“ขาดด้านหัวใจ,” ล.ม.]. กำลังเดินไปตามถนนใกล้มุมบ้านของหญิงนั้น, และเดินไปตามทางที่จะไปบ้านนางนั้น. ในเวลาขมุกขมัว, ในเวลาพลบค่ำ, ในเวลาเที่ยงคืนและในยามมืดทึบ.”—สุภาษิต 7:6-9.
หน้าต่างซึ่งซะโลโมมองลอดออกไปนั้นมีช่องตะแกรง—ดูเหมือนว่าเป็นไม้ระแนงขัดแตะและอาจเป็นลายฉลุ. ขณะที่แสงอาทิตย์ยามอัสดงค่อย ๆ จางหายไป ความมืดมิดแห่งรัตติกาลเข้าปกคลุมท้องถนน. ท่านมองเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งถูกล่อลวงได้ง่ายเป็นพิเศษ. เนื่องจากขาดความสังเกตเข้าใจหรือไหวพริบ เขาจึงขาดด้านหัวใจ. เขาคงจะรู้ว่าเขาเข้าไปในย่านไหนและอาจเกิดอะไรขึ้นกับเขาที่นั่น.
ชายหนุ่มเข้ามาใกล้ “มุมบ้านของหญิงนั้น” ซึ่งเป็นทางที่จะไปบ้านของนาง. นางคือใคร? นางจะทำอะไร?กษัตริย์ผู้ช่างสังเกตกล่าวต่อไปว่า “นี่แน่ะ, มีหญิงคนหนึ่งมาพบเขา; หญิงนั้นแต่งตัวเยี่ยงหญิงโสเภณี, และมีหัวใจเจ้าเล่ห์. (หล่อนเป็นคนจัดจ้านและหัวเห็ด; นางเป็นคนอยู่บ้านไม่ติด; ประเดี๋ยวก็ไปอยู่ที่ถนน, ประเดี๋ยวก็ไปอยู่ตามลานกว้าง, และซุ่มคอยอยู่ทุกแพร่ง).”—สุภาษิต 7:10-12.
วิธีที่ผู้หญิงคนนี้แต่งตัวบ่งชัดว่านางเป็นคนอย่างไร. (เยเนซิศ 38:14, 15) นางแต่งตัวแบบยั่วยวนเยี่ยงโสเภณี. ยิ่งกว่านั้น นางมีหัวใจเจ้าเล่ห์ กล่าวคือ จิตใจของนาง “ทรยศ” ความมุ่งหมายของนาง “เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม.” (แอน อเมริกัน แทรนสเลชัน; นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน) นางเป็นคนเอะอะและดื้อดึง, ช่างพูดและหัวแข็ง, ชอบส่งเสียงดังและเอาแต่ใจตัวเอง, หน้าด้านและก้าวร้าว. แทนที่จะอยู่กับบ้าน นางชอบออกไปข้างนอกบ่อย ๆ คอยดักจับเหยื่อตามมุมถนน. นางกำลังรอคนแบบชายหนุ่มคนนี้.
“คำอ่อนหวานนานา”
โดยวิธีนี้ ชายหนุ่มจึงได้พบกับหญิงสำส่อนซึ่งมีแผนการอันแยบยล. เรื่องนี้คงทำให้ซะโลโมสนใจสักเพียงไร! ท่านเล่าว่า “หล่อนก็จับเขาไว้, และจูบเขา, และกล่าวแก่เขาอย่างหน้าด้านว่า: ‘ถึงกำหนดที่ฉันต้องถวายเครื่องบูชาสมานไมตรี; วันนี้เองฉันได้แก้สินบนแล้ว. เพราะฉะนั้นฉันจึงออกมาเพื่อจะพบเธอ, อุสส่าห์มองหาดวงหน้าของเธอ, และฉันก็ได้พบเธอแล้ว.’ ”—สุภาษิต 7:13-15.
ริมฝีปากของหญิงคนนี้พรั่งพรูถ้อยคำหวานหู. ด้วยความหน้าด้านไร้ยางอาย นางพูดออกมาอย่างมั่นใจ. ทุกสิ่งที่นางพูดนั้นได้รับการไตร่ตรองมาอย่างดีเพื่อล่อลวงชายหนุ่ม. โดยกล่าวว่านางได้ถวายเครื่องบูชาสมานไมตรีในวันนั้นเองและได้แก้สินบนแล้ว นางแสดงท่าว่าตัวเองชอบธรรม และบอกเป็นนัยว่านางไม่ได้อ่อนแอทางฝ่ายวิญญาณ. เครื่องบูชาสมานไมตรีที่พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมประกอบด้วยเนื้อสัตว์, แป้งสาลี, น้ำมัน, และเหล้าองุ่น. (เลวีติโก 19:5, 6; 22:21; อาฤธโม 15:8-10) เนื่องจากผู้ถวายสามารถรับเอาเครื่องบูชาส่วนหนึ่งมาเป็นของตัวเองและครอบครัว นางจึงพูดเป็นเชิงว่ามีอาหารและเครื่องดื่มมากมายที่บ้านของนาง. สิ่งที่นางบอกแสดงนัยชัดเจน คือชายหนุ่มจะมีความสุขที่นั่น. นางออกมาจากบ้านเพื่อมองหาชายหนุ่มคนนี้โดยเฉพาะ. น่าประทับใจจริง ๆ—สำหรับคนที่หลงเชื่อเรื่องราวอย่างนี้ได้. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าวว่า “เป็นเรื่องจริงที่นางกำลังมองหาใครบางคน แต่นางกำลังมองหาพ่อหนุ่มคนนี้โดยเฉพาะไหม? คนโง่เท่านั้น—ซึ่งอาจเป็นชายหนุ่มคนนี้—ที่จะเชื่อนาง.”
หลังจากทำให้ตัวเองดูมีเสน่ห์ด้วยเสื้อผ้า, เสียงที่เอ่ยแต่คำยกยอปอปั้น, สัมผัสด้วยอ้อมกอด, และรสแห่งริมฝีปาก, หญิงผู้ล่อลวงก็ใช้ประสาทรับกลิ่น. นางกล่าวว่า “ฉันได้ประดับเตียงของฉันด้วยผ้าคลุม เป็นผ้าลินินอียิปต์สีต่าง ๆ ฉันได้อบที่นอนของฉันด้วยมดยอบ กฤษณา และอบเชย.” (สุภาษิต 7:16, 17, ฉบับแปลใหม่) นางได้จัดเตียงนอนอย่างสวยงามด้วยผ้าลินินสีสดใสจากอียิปต์และใส่กลิ่นที่หอมละมุนของมดยอบ, กฤษณา, และอบเชย.
นางพูดต่อว่า “มาซิ, ให้เราอิ่มใจในเสน่หาจนรุ่งเช้า; ให้เรากำหนัดยินดีในความรัก.” นี่ไม่ได้เป็นเพียงคำเชิญไปรับประทานอาหารค่ำที่น่ายินดีสองต่อสองเท่านั้น. นางสัญญาว่าจะมีการดื่มด่ำกับความเพลิดเพลินทางกามารมณ์. สำหรับชายหนุ่ม คำเชื้อเชิญนี้น่าลิ้มลองและน่าตื่นเต้น! ขณะที่เชิญชวนต่อไป นางพูดเสริมดังนี้: “เพราะนายผู้ชายไม่อยู่บ้าน; เขาไปทางไกล. เขาเอาถุงเงินไปด้วย; วันพระจันทร์เต็มดวงเขาจึงจะกลับบ้าน.” (สุภาษิต 7:18-20) นางรับประกันว่าพวกเขาจะปลอดภัยแน่นอน เพราะสามีของนางออกเดินทางไปทำธุรกิจและคงไม่กลับมาอีกสักระยะหนึ่ง. นางช่ำชองในการล่อลวงคนหนุ่มเสียจริง! “ด้วยคำอ่อนหวานนานาหล่อนทำให้เขาต้องยอมตาม: ด้วยคำเล่ห์สวาทจากลิ้นของหล่อน ๆ บังคับให้เขายอมตาม.” (สุภาษิต 7:21) ผู้ที่จะต้านทานการล่อใจนี้ได้คงต้องเป็นคนที่มีความสามารถทางจิตใจพอ ๆ กับโยเซฟ. (เยเนซิศ 39:9, 12) ชายหนุ่มคนนี้ต้านทานได้ไหม?
“เหมือนวัวตัวผู้เดินมาสู่การฆ่า”
ซะโลโมรายงานว่า “เขาก็ตามนางไปทันที เหมือนวัวตัวผู้เดินมาสู่การฆ่า และเหมือนกับถูกล่ามไว้สำหรับการตีสอนสุภาษิต 7:22, 23, ล.ม.
คนโง่ จนกระทั่งลูกธนูผ่าตับของเขา เหมือนนกที่รีบเข้าไปในกับดัก และเขาไม่รู้ว่านั่นเกี่ยวพันถึงจิตวิญญาณของเขา.”—คำเชื้อเชิญปรากฏว่าเป็นที่เย้ายวนใจจนชายหนุ่มคนนี้หักห้ามใจไม่ได้. โดยเพิกเฉยต่อสติสัมปชัญญะทุกอย่าง เขาก็ตามนางไป “เหมือนวัวตัวผู้เดินมาสู่การฆ่า.” เหมือนกับคนที่ถูกล่ามไม่อาจหนีจากการถูกลงโทษ ในทำนองเดียวกัน ชายหนุ่มก็ถูกนำไปสู่การทำบาป. เขามองไม่เห็นอันตรายของมันจนกระทั่ง “ลูกธนูผ่าตับของเขา” นั่นคือ จนกระทั่งเขาได้รับบาดแผลที่อาจทำให้ถึงตาย. การตายอาจเป็นตามตัวอักษรคือเขาทำให้ตัวเองเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งทำให้ถึงตาย. * บาดแผลอาจก่อให้เกิดการตายทางฝ่ายวิญญาณด้วย; “นั่นเกี่ยวพันถึงจิตวิญญาณของเขา.” ความเป็นอยู่และชีวิตทั้งสิ้นของเขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเขาได้ทำบาปอย่างร้ายแรงต่อพระเจ้า. เขาจึงเหมือนติดอยู่ในอุ้งมือของความตายเหมือนนกติดอยู่ในกับดัก!
“อย่าหลงไปในทางของหล่อน”
โดยยกบทเรียนจากสิ่งที่ท่านได้เห็น กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกระตุ้นว่า “เพราะฉะนั้นนี่แน่ะศิษย์ [“บุตร,” ล.ม.] ของเราเอ๋ย, จงฟังเรา, และเอาใจใส่ต่อคำซึ่งออกมาจากปากของเรา. อย่าให้ใจของเจ้าน้อมไปในทางของหญิงนั้น; อย่าหลงไปในทางของหล่อน. เพราะหญิงนั้นได้ทำให้คนเป็นอันมากต้องบาดเจ็บ; เออ, คนที่หล่อนผลาญชีวิตเสียนั้นนับจำนวนมากนักหนา. เรือนของหญิงนั้นคือทางไปหลุมฝังศพ, ลงไปสู่ขุมแห่งความมรณา.”—สุภาษิต 7:24-27.
เห็นได้ชัด ซะโลโมแนะนำให้หันหนีไปจากแนวทางของคนที่ทำผิดศีลธรรมซึ่งมีอันตรายถึงตายเพื่อจะ “มีชีวิตอยู่ต่อไป.” (สุภาษิต 7:2, ล.ม.) คำแนะนำนี้เหมาะกับสมัยของเราสักเพียงไร! แน่นอนว่ามีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งมีคนซุ่มรอจับเหยื่ออยู่บ่อย ๆ. ทำไมคุณจะยอมหลงกลพวกเขาโดยเข้าไปในสถานที่เหล่านั้น? ที่จริง ทำไมคุณจะเป็นคนซึ่ง “ขาดด้านหัวใจ” และเดินเข้าไปในถนนของ “หญิงต่างชาติ”?
“หญิงแปลกหน้า” ที่กษัตริย์เห็นนั้นได้ล่อลวงชายหนุ่มด้วยคำเชื้อเชิญให้มา “กำหนัดยินดีในความรัก.” หนุ่มสาวหลายคน—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสาว—ถูกแสวงประโยชน์คล้าย ๆ กันนี้มิใช่หรือ? แต่ลองคิดดู: เมื่อใครสักคนพยายามล่อลวงคุณให้ประพฤติผิดทางเพศ นั่นเป็นความรักแท้หรือความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตัว? ทำไมชายซึ่งรักหญิงคนหนึ่งอย่างแท้จริงจะกดดันให้เธอฝ่าฝืนการฝึกอบรมตามหลักคริสเตียนรวมทั้งสติรู้สึกผิดชอบของเธอ? ซะโลโมเตือนสติว่า ‘อย่าให้ใจของเจ้าหลงไป.’
ถ้อยคำของผู้ล่อลวงมักจะน่าฟังและได้รับการไตร่ตรองมาอย่างดี. การรักษาสติปัญญาและความเข้าใจไว้กับตัวเราจะช่วยให้เรามองเห็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของถ้อยคำเหล่านั้น. อย่าลืมว่าสิ่งที่พระยะโฮวาทรงบัญชาจะป้องกันเรา. ด้วยเหตุนี้ ขอให้เราบากบั่นพยายามอยู่เสมอที่จะ ‘รักษาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้า และมีชีวิตอยู่ต่อไป’ ตลอดชั่วกาลนาน.—1 โยฮัน 2:17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 มีการใช้คำ “คนแปลกหน้า” กับคนที่ทำให้ตัวเองเหินห่างจากพระยะโฮวาโดยหันหลังให้พระบัญญัติ. ด้วยเหตุนี้ หญิงที่ผิดศีลธรรม เช่น โสเภณี จึงถูกเรียกว่า “หญิงแปลกหน้า.”
^ วรรค 24 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางอย่างมีผลต่อตับ. ตัวอย่างเช่น โรคซิฟิลิสในระยะสุดท้าย เชื้อแบคทีเรียจะมีมากจนเต็มตับ. และเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคหนองในอาจทำให้ตับอักเสบ.
[ภาพหน้า 29]
คุณมีทัศนะอย่างไรต่อกฎของบิดามารดา?
[ภาพหน้า 31]
การรักษาข้อบัญญัติของพระเจ้าหมายถึงชีวิต