คุณมองตัวเองอย่างไร?
คุณมองตัวเองอย่างไร?
เขาเป็นคนหยิ่ง. เนื่องจากได้รับการเลื่อนสู่ตำแหน่งสูงส่งในด้านการปกครอง เขาจึงมองดูการประจบประแจงและการยกย่องอย่างมากมายที่ได้รับนั้นด้วยความพึงพอใจ. แต่ยังความขัดเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อข้าราชการอีกคนหนึ่งไม่ยอมให้เกียรติเช่นนั้นแก่เขา. เพื่อเป็นการแก้ลำ ข้าราชการผู้เย่อหยิ่งคนนี้วางแผนร้ายที่จะทำลายประชาชนทั้งสิ้นในจักรวรรดิซึ่งมีภูมิหลังด้านชาติพันธุ์เหมือนกับผู้ที่ทำให้เขาขุ่นเคืองใจนั้น. ช่างเป็นการถือว่าตัวเองสำคัญอย่างผิดเพี้ยนอะไรเช่นนี้!
ผู้วางแผนร้ายนี้คือฮามาน ข้าราชการระดับสูงในราชสำนักของอะหัศวะโรศ กษัตริย์เปอร์เซีย. และเป้าแห่งการมุ่งร้ายของเขาล่ะ? ชาวยิวชื่อมาระดะคาย. ถึงแม้การตอบโต้ของฮามานด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเรื่องที่ทำเกินไปก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นอันตรายและผลที่ร้ายแรงของความหยิ่ง. น้ำใจจองหองของเขาไม่เพียงก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สำหรับคนอื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาประสบความอัปยศอดสูต่อหน้าธารกำนัลและความตายในที่สุดด้วย.—เอศเธระ 3:1-9; 5:8-14; 6:4-10; 7:1-10.
ผู้นมัสการแท้ไม่พ้นจากความหยิ่ง
พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้เรา ‘เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเรา.’ (มีคา 6:8, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลมีเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับบุคคลที่ไม่ได้รักษาทัศนะที่เจียมตัว. นี่นำปัญหาและความทุกข์ระทมมาสู่ตัวเขา. การพิจารณาตัวอย่างเหล่านี้บางเรื่องสามารถช่วยเราเห็นความโง่เขลาและอันตรายของการคิดที่ไม่สมดุล.
ความคิดของโยนาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าไม่สมดุลถึงขนาดที่ท่านพยายามจะหนีไปเมื่อได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้เตือนผู้คนที่ชั่วช้าในเมืองนีนะเวถึงเรื่องการพิพากษาของพระยะโฮวาที่มีต่อพวกเขา. (โยนา 1:1-3) ต่อมา เมื่องานประกาศของท่านบรรลุผลสำเร็จในการทำให้ชาวนีนะเวกลับใจ โยนาขึ้งโกรธ. ท่านเป็นห่วงชื่อเสียงของตนเองฐานะผู้พยากรณ์ถึงขนาดที่ไม่กังวลเท่าไรนักหรือไม่ห่วงใยเสียเลยต่อชีวิตของชาวนีนะเวจำนวนมากมาย. (โยนา 4:1-3) หากเราขาดความเจียมตัวและถือว่าตัวเองสำคัญเกินไป เราอาจพบว่ายากจะรักษาทัศนะที่เที่ยงธรรมและถูกต้องเกี่ยวกับผู้คนและเหตุการณ์รอบตัวเรา.
ขอพิจารณาอุซียาซึ่งเคยเป็นกษัตริย์ที่ดีแห่งอาณาจักรยูดาด้วย. เมื่อกลายเป็นผู้มีความคิดที่ไม่สมดุล ท่านพยายามอย่างจองหองที่จะยึดหน้าที่บางอย่างของปุโรหิต. เนื่องด้วยการกระทำที่ไม่เจียมตัวและถือสิทธิ์อย่างยิ่ง ท่านจึงต้องชดใช้ด้วยการสูญเสียสุขภาพที่ดีและสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้า.—2 โครนิกา 26:3, 16-21.
ความคิดที่ไม่สมดุลเกือบจะทำให้เหล่าอัครสาวกของพระเยซูติดกับ. พวกเขาเป็นห่วงเหลือเกินเกี่ยวกับเกียรติยศและอำนาจส่วนตัว. เมื่อเวลาแห่งการทดสอบที่สำคัญมาถึง พวกเขาได้ละทิ้งพระเยซูแล้วหนีไป. (มัดธาย 18:1; 20:20-28; 26:56; มาระโก 9:33, 34; ลูกา 22:24) การที่พวกเขาขาดความเจียมตัวและมีความคิดที่ถือว่าตัวเองสำคัญนั้น เกือบจะทำให้เขามองไม่เห็นพระประสงค์ของพระยะโฮวาและบทบาทของพวกเขาซึ่งเกี่ยวข้องกับพระทัยประสงค์ของพระองค์.
ผลเสียหายจากการถือว่าตัวเองสำคัญ
ทัศนะที่ไม่สมดุลเกี่ยวกับตัวเราเองอาจก่อความเจ็บปวดและทำลายความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นได้. ตัวอย่างเช่น เราอาจนั่งอยู่ในห้องหนึ่งและสังเกตว่ามีสองคนกำลังกระซิบกระซาบกันอยู่แล้วก็หัวเราะ. หากเราเป็นคนมุ่งแต่ตัวเอง เราอาจสันนิษฐานอย่างผิด ๆ ว่าเขากำลังหัวเราะเยาะเราอยู่เพราะเขาพูดกันเบามาก. ความคิดของเราอาจไม่ยอมพิจารณาคำอธิบายอื่นใดที่เป็นไปได้สำหรับการกระทำของเขา. ที่แท้แล้ว เขาอาจคุยกันถึงใครอื่นไหม? เราอาจอารมณ์เสียแล้วตัดสินใจว่าจะไม่พูดกับสองคนนั้นอีก. โดยวิธีนั้น ทัศนะที่ไม่สมดุลเกี่ยวกับความสำคัญของตัวเราเองอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและทำลายความสัมพันธ์กับมิตรสหาย, สมาชิกในครอบครัว, และคนอื่น.
คนเหล่านั้นที่ถือว่าตัวเองสำคัญเกินไปอาจกลายเป็นคนคุยโว โอ้อวดไม่หยุดหย่อนในเรื่องที่เขาคิดเอาเองว่า1 โกรินโธ 13:4.
เป็นพรสวรรค์, สิ่งที่เขาได้กระทำ, หรือทรัพย์สมบัติมากมายของตน. หรือเขาอาจผูกขาดการสนทนา พูดถึงเรื่องตัวเองอยู่ร่ำไป. คำพูดดังกล่าวเผยให้เห็นการขาดความรักด้วยน้ำใสใจจริงและอาจก่อความรำคาญใจมากทีเดียว. ดังนั้น คนที่ทะนงตนมักทำให้ตัวเองห่างเหินจากคนอื่นเสมอ.—ในฐานะพยานพระยะโฮวา เราอาจประสบการเยาะเย้ยและการปฏิเสธในงานเผยแพร่แก่สาธารณชน. เราต้องจำไว้ว่าการต่อต้านดังกล่าวจริง ๆ แล้วมิได้มุ่งมาที่ตัวเรา แต่มุ่งไปที่พระยะโฮวา ผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งข่าวสารของเรา. อย่างไรก็ตาม ทัศนะที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับความสำคัญของตัวเราเองอาจนำไปสู่ผลเสียหายร้ายแรง. หลายปีมาแล้ว พี่น้องชายคนหนึ่งคิดว่าเจ้าของบ้านพูดโจมตีตน จึงพูดตอบโต้อย่างหยาบหยาม. (เอเฟโซ 4:29) หลังจากนั้น พี่น้องชายคนนี้ไม่เข้าร่วมในงานเผยแพร่ตามบ้านอีกเลย. ถูกแล้ว ความหยิ่งอาจกระตุ้นเราให้อารมณ์เสียขณะทำการประกาศ. ขอเราพยายามอย่าให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเลย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอย่างถ่อมใจเพื่อรักษาไว้ซึ่งความหยั่งรู้ค่าที่เหมาะสมต่อสิทธิพิเศษแห่งการมีส่วนร่วมในงานเผยแพร่แบบคริสเตียน.—2 โกรินโธ 4:1, 7; 10:4, 5.
การมีเจตคติที่ถือว่าตัวเองสำคัญยังอาจขัดขวางเรามิให้ยอมรับคำแนะนำที่จำเป็นต้องได้รับอีกด้วย. ในประเทศหนึ่งแถบอเมริกากลางหลายปีมาแล้ว เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่งกล่าวคำบรรยายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าในประชาคมคริสเตียน. เมื่อผู้ดูแลโรงเรียนให้คำแนะนำที่ค่อนข้างจะตรงไปสักหน่อย เด็กหนุ่มที่เดือดดาลคนนี้เหวี่ยงพระคัมภีร์ลงกับพื้นแล้วกระทืบเท้าเดินออกจากหอประชุมไปโดยตั้งใจว่าจะไม่กลับมาอีกเลย. แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เขากล้ำกลืนความหยิ่งไว้ ไปคืนดีกับผู้ดูแลโรงเรียน และยอมรับคำแนะนำของเขาอย่างถ่อมใจ. ในที่สุด ชายหนุ่มคนนี้เติบโตสู่ความอาวุโสฝ่ายคริสเตียน.
การเป็นคนไม่เจียมตัวและถือว่าตัวเองสำคัญเกินไปอาจนำไปสู่การทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าได้. สุภาษิต 16:5 เตือนว่า “ทุกคนที่มีใจหยิ่งจองหองเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา.”
ทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับตัวเรา
ปรากฏชัดว่า เราไม่ควรทำตัวเป็นคนจริงจังเกินไป. แน่นอน นี่มิได้หมายความว่าเราไม่ควรจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำหรือพูด. คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าผู้ดูแล, ผู้ช่วยงานรับใช้—ที่จริง ทุกคนในประชาคม—ควรเป็นคนเอาจริงเอาจัง. (1 ติโมเธียว 3:4, 8, 11, ล.ม.; ติโต 2:2, ล.ม.) ดังนั้น คริสเตียนจะพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งทัศนะที่เจียมตัว, สมดุล, และเป็นคนเอาจริงเอาจังได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างที่ให้กำลังใจหลายเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่รักษาไว้ซึ่งทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับตัวเอง. ที่โดดเด่นก็คือตัวอย่างของพระเยซูคริสต์ในเรื่องความถ่อมใจ. เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาและนำความรอดมาสู่มนุษยชาติ พระบุตรของพระเจ้าเต็มพระทัยละทิ้งตำแหน่งอันรุ่งโรจน์บนสวรรค์แล้วกลายมาเป็นมนุษย์ต่ำต้อยบนแผ่นดินโลก. ทั้ง ๆ ที่ได้รับการสบประมาท, ทารุณ, และความตายที่น่าอัปยศอดสู พระองค์ก็ยังรักษาไว้ซึ่งการรู้จักบังคับตัวและศักดิ์ศรี. (มัดธาย 20:28; ฟิลิปปอย 2:5-8; 1 เปโตร 2:23, 24) พระเยซูทรงสามารถทำเช่นนี้ได้อย่างไร? พระองค์ทรงไว้วางใจเต็มที่ในพระยะโฮวาและมุ่งมั่นกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระเยซูทรงขยันศึกษาพระคำของพระเจ้า, อธิษฐานอย่างแรงกล้า, และทุ่มเทตัวพระองค์อย่างแข็งขันในงานรับใช้. (มัดธาย 4:1-10; 26:36-44; ลูกา 8:1; โยฮัน 4:34; 8:28; เฮ็บราย 5:7) การเจริญรอยตามแบบอย่างของพระเยซูสามารถช่วยเราพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับตัวเราเอง.—1 เปโตร 2:21.
ขอพิจารณาตัวอย่างที่ดีของโยนาธานราชบุตรของกษัตริย์ซาอูลด้วย. เนื่องจากการไม่เชื่อฟังของราชบิดา โยนาธานจึงหมดโอกาสที่จะสืบราชสมบัติต่อจากซาอูล. (1 ซามูเอล 15:10-29) โยนาธานรู้สึกขมขื่นใจเนื่องจากการสูญเสียนี้ไหม? ท่านรู้สึกริษยาดาวิด ชายหนุ่มซึ่งจะปกครองในตำแหน่งของท่านไหม? ถึงแม้โยนาธานมีอายุแก่กว่าและบางทีอาจมีประสบการณ์ยิ่งกว่าดาวิดมากนัก ท่านก็ยอมตามการจัดเตรียมของพระยะโฮวาอย่างเจียมตัวและถ่อมใจและสนับสนุนดาวิดด้วยความภักดี. (1 ซามูเอล 23:16-18) การมีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและความเต็มใจที่จะยินยอมตามนั้น จะช่วยเรา ‘มิให้คิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น.’—โรม 12:3, ล.ม.
พระเยซูทรงสอนคุณค่าของการแสดงความเจียมตัวและความถ่อมใจ. พระองค์ทรงแสดงให้เห็นเรื่องนี้โดยตรัสว่า เมื่อเหล่าสาวกอยู่ ณ งานเลี้ยงสมรส เขาไม่ควรเลือกเอา “ที่นั่งสูง [“เด่นที่สุด,” ล.ม.]” เพราะคนที่มีเกียรติมากกว่าอาจจะมา แล้วพวกสาวกอาจได้รับความอัปยศอดสูเนื่องจากต้องไปนั่งในที่ต่ำสุด. เพื่อทำให้บทเรียนแจ่มชัดจริง ๆ พระเยซูตรัสเสริมว่า “เพราะว่าทุกคนที่ได้ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง, และผู้ที่ถ่อมตัวลงผู้นั้นจะต้องถูกยกขึ้น.” (ลูกา 14:7-11) เราเป็นคนฉลาดถ้าเอาใจใส่ฟังคำแนะนำของพระเยซู และ ‘สวมตัวเราด้วยจิตใจอ่อนน้อม.’—โกโลซาย 3:12, ล.ม.; 1 โกรินโธ 1:31.
พระพรของการมีทัศนะที่สมดุล
การมีน้ำใจเจียมตัวและถ่อมใจทำให้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสามารถประสบความยินดีแท้ในงานรับใช้. ผู้ปกครองเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายขึ้นเมื่อเขา “ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน” อย่างถ่อมใจ. (กิจการ 20:28, 29, ล.ม.) ครั้นแล้ว ทุกคนในประชาคมรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดคุยกับเขาและแสวงหาความช่วยเหลือจากเขา. โดยวิธีนี้ ประชาคมถูกชักนำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยน้ำใจแห่งความรัก, ความอบอุ่น, และความไว้วางใจ.
การไม่ถือว่าตัวเองสำคัญเกินไปทำให้เราสามารถหาเพื่อนที่ดีได้. ความเจียมตัวและความถ่อมใจจะป้องกันเราไว้จากการพัฒนาน้ำใจแข่งขันชิงดีและพยายามเหนือกว่าคนอื่นทั้งในด้านการกระทำหรือในสิ่งฝ่ายวัตถุ. คุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้าเช่นนี้จะช่วยทำให้เราเป็นคนเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และโดยวิธีนี้ เราจะอยู่ในฐานะดีกว่าที่จะปลอบโยนและเกื้อหนุนคนเหล่านั้นที่ต้องการ. (ฟิลิปปอย 2:3, 4) เมื่อผู้คนรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจในความรักและความกรุณา ตามปกติเขาย่อมตอบสนองเป็นอย่างดี. และความสัมพันธ์ที่ไม่เห็นแก่ตัวเช่นนั้นกลายเป็นพื้นฐานในการสร้างมิตรภาพอันแน่นแฟ้นขึ้นมิใช่หรือ? การไม่ถือว่าตัวเราสำคัญเกินไปนั้นช่างเป็นพระพรเสียจริง ๆ!—โรม 12:10.
ทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับตัวเราทำให้ง่ายขึ้นด้วยที่จะยอมรับผิดเมื่อเราทำให้คนอื่นขุ่นเคืองใจ. (มัดธาย 5:23, 24) นี่ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เปิดโอกาสให้มีการคืนดีกันและความนับถือซึ่งกันและกัน. คนเหล่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งเกี่ยวกับการดูแล เช่น คริสเตียนผู้ปกครอง หากเขาเป็นคนถ่อมใจและเจียมตัวแล้ว ก็มีโอกาสที่จะทำดีมากมายเพื่อคนอื่น. (สุภาษิต 3:27; มัดธาย 11:29) บุคคลที่ถ่อมใจจะพบว่าง่ายขึ้นด้วยที่จะให้อภัยคนอื่นซึ่งทำผิดต่อเขา. (มัดธาย 6:12-15) เขาจะไม่แสดงปฏิกิริยามากเกินไปกับสิ่งที่เข้าใจเอาเองว่าเป็นการดูถูก และเขาจะไว้วางใจในพระยะโฮวาให้แก้ไขเรื่องราวที่ไม่อาจแก้ได้โดยวิธีอื่นใด.—บทเพลงสรรเสริญ 37:5; สุภาษิต 3:5, 6.
พระพรใหญ่ยิ่งที่สุดจากการมีทัศนะที่เจียมตัวและถ่อมใจเกี่ยวกับตัวเรานั้นคือการได้รับความพอพระทัยและความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. “พระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ.” (1 เปโตร 5:5, ล.ม.) ขอเราอย่าตกเข้าสู่กับดักของการคิดว่าเราดีกว่าที่เป็นอยู่จริง ๆ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ขอให้เราถ่อมใจยอมรับฐานะของเราในการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ. พระพรอันยอดเยี่ยมรออยู่สำหรับทุกคนซึ่งบรรลุข้อเรียกร้องของพระองค์ที่ให้ “เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้า.”
[ภาพหน้า 22]
โยนาธานสนับสนุนดาวิดอย่างถ่อมใจ