ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แห่งยุคกลาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แห่งยุคกลาง
ตลอดประวัติศาสตร์ มนุษย์รู้สึกอัศจรรย์ใจเมื่อมองดูดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว. มนุษย์ศึกษาตำแหน่งและการโคจรของเทห์ฟากฟ้าเหล่านี้จนสามารถนับวันเดือนปีได้.
ชาวอาหรับเป็นชนชาติหนึ่งซึ่งศึกษาท้องฟ้ายามค่ำคืน. ยุคทองของวิทยาศาสตร์ในดินแดนตะวันออกกลางเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่เก้าสากลศักราช และถือกันว่านักดาราศาสตร์ชาวอาหรับในยุคนั้นเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก. ความสำเร็จของพวกเขามีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านนี้ที่น่าหลงใหล. ขอให้เรามาพิจารณากันว่าเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร.
ผู้บุกเบิกด้านดาราศาสตร์
ในศตวรรษที่เจ็ดและแปด ส.ศ. ศาสนาอิสลามได้แผ่ไปทางตะวันตกจากคาบสมุทรอาหรับผ่านแอฟริกาเหนือเข้าไปถึงสเปน ส่วนทางตะวันออกได้แผ่ไปไกลถึงอัฟกานิสถาน. นักวิชาการในดินแดนอันกว้างใหญ่แถบนี้อาศัยงานค้นคว้า
ทางวิทยาศาสตร์ที่ตกทอดมาจากเปอร์เซียและกรีซ ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากบาบิโลนและอียิปต์.จากนั้น ในศตวรรษที่เก้า ตำราวิทยาศาสตร์สำคัญ ๆ ได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ มีผลงานของปโตเลมี นักดาราศาสตร์ชาวกรีกเป็นต้น. * ราชวงศ์อับบาซียะห์ซึ่งครอบครองตั้งแต่อัฟกานิสถานจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก ได้ตำราภาษาสันสกฤตมาจากอินเดียซึ่งมีความรู้มากมายเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ.
วัฒนธรรมอิสลามถือว่าความรู้ด้านดาราศาสตร์มีค่ามาก. เพราะเหตุใด? เหตุผลหนึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาของพวกเขา. ชาวมุสลิมเชื่อว่าพวกเขาต้องละหมาดโดยหันไปทางนครเมกกะ และนักดาราศาสตร์สามารถชี้ทิศทางของเมกกะได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน. พอถึงศตวรรษที่ 13 มัสยิดบางแห่งถึงกับจ้างนักดาราศาสตร์มืออาชีพ หรือมุวักกิต ซึ่งช่วยผู้นมัสการให้ละหมาดในวิธีที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้อง. ด้วยข้อมูลของพวกเขา นักดาราศาสตร์ยังคำนวณวันที่ของเหตุการณ์และกิจกรรมทางศาสนาได้ด้วย เช่น การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน. นอกจากนี้ พวกเขายังช่วยผู้ปฏิบัติศาสนกิจซึ่งจะไปยังเมกกะให้รู้ระยะทางของการเดินทางและวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุด.
เงินทุนจากรัฐบาล
พอถึงต้นศตวรรษที่เก้า นักวิชาการทุกคนในกรุงแบกแดดต้องศึกษาวิชาดาราศาสตร์. กาหลิบอัลมามูนได้สร้างหอดูดาวขึ้นที่นั่น และสร้างอีกแห่งหนึ่งใกล้เมืองดามัสกัส. คณะนักภูมิศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ทำงานให้เขาได้วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และศึกษาความแตกต่างของข้อมูลด้านดาราศาสตร์จากเปอร์เซีย อินเดีย และกรีซ. มีการสร้างหอดูดาวในเมืองต่าง ๆ แถบตะวันออกกลางอีกหลายเมืองด้วย. *
นักวิชาการในหอดูดาวเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งสำหรับยุคนั้น. ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 1031 แล้วที่อาบู รายัน อัล-บิรูนิได้กล่าวว่าเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์จะโคจรเป็นรูปวงรี ไม่ใช่วงกลม.
วัดโลก
การแผ่ขยายของอิสลามกระตุ้นให้มีความสนใจเรื่องการทำแผนที่และการเดินเรือ. ช่างทำแผนที่และนักภูมิศาสตร์พยายามสร้างผลงานให้เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น และบ่อยครั้งพวกเขาทำได้สำเร็จ. กาหลิบอัล-มามูนตั้งเป้าหมายจะทำแผนที่โลกที่แม่นยำและระบุองศาของละติจูด เขาจึงส่งนักสำรวจสองคณะไปยังทะเลทรายซีเรีย. ทั้งสองคณะมีเครื่องวัดมุมสูงของวัตถุท้องฟ้าแบบแอสโตรเลบ รวมทั้งไม้วัดและสายวัด. พวกเขาเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามจนกระทั่งมุมเงยของดาวเหนือเปลี่ยนไปหนึ่งองศา. พวกเขารู้ว่าระยะทางที่พวกเขาได้เดินทางนั้นเท่ากับหนึ่งองศาละติจูด หรือเศษหนึ่งส่วน 360 ของเส้นรอบวงโลก. พวกเขาคำนวณว่าเส้นรอบวงโลกที่ผ่านขั้วเหนือใต้ของโลกคือ 37,369 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงมากกับตัวเลขที่แท้จริงคือ 40,008 กิโลเมตร!
หอดูดาวในตะวันออกกลางมีเครื่องมืออันซับซ้อนน่าประทับใจหลายอย่าง เช่น แอสโตรเลบ ควอแดรนต์ เซกซ์แทนต์
นาฬิกาแดด และเครื่องมืออื่น ๆ ซึ่งใช้ในการศึกษาและติดตามเทห์ฟากฟ้า. เครื่องมือบางอย่างมีขนาดใหญ่มาก. ผู้สร้างคิดว่ายิ่งเครื่องมือมีขนาดใหญ่เท่าไรก็จะถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น.มรดกที่นักดาราศาสตร์ยุคกลางได้ละไว้
ความสำเร็จของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ยุคกลางนั้นน่าประทับใจมาก. พวกเขาบันทึกและวาดกลุ่มดาวต่าง ๆ ตั้งชื่อดาวหลายดวง คิดค้นปฏิทินที่ถูกต้องมากขึ้น และปรับปรุงตารางข้อมูลการโคจรของเทห์ฟากฟ้า. พวกเขาสามารถชี้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้งห้าที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่ว่าจะเป็นเวลาใดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยได้มากในการเดินเรือ. นอกจากนี้ พวกเขาสามารถดูเวลาและปรับปรุงปฏิทินให้ถูกต้องมากขึ้นโดยอาศัยการดูตำแหน่งของเทห์ฟากฟ้าอีกด้วย.
ทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ชาวอาหรับคิดค้นขึ้นเพื่ออธิบายการโคจรของดาวเคราะห์เกือบจะอธิบายความผิดปกติของทฤษฎีเอกภพของปโตเลมีได้อยู่แล้ว. เพียงแต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของวงโคจรดาวเคราะห์ ไม่ใช่โลก. ถึงกระนั้น พวกเขาได้บันทึกการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ อย่างถูกต้องแม่นยำมาก และการค้นพบของพวกเขามีค่าอย่างยิ่งกับนักดาราศาสตร์รุ่นหลังทั่วโลก.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 ชาวกรีกรู้แล้วว่าโลกกลม. พวกเขาหาเหตุผลว่า ถ้าโลกไม่กลม จะเป็นไปได้อย่างไรที่ดาวเหนืออยู่ต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อคนเราเดินทางไปทางใต้?
^ วรรค 9 บ่อยครั้ง มีการก่อสร้างหอดูดาวเหล่านี้เพราะผู้ครองเมืองสนใจเรื่องโหราศาสตร์.
[คำโปรยหน้า 17]
นักดาราศาสตร์บันทึกการโคจรของดาวเคราะห์ไว้ในปูมหลายเล่มซึ่งมีการเขียนขึ้นทั่วดินแดนของอิสลาม
[กรอบ/ภาพหน้า 19]
“คอมพิวเตอร์พกพา” แห่งยุคโบราณ
แอสโตรเลบ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะถูกพัฒนาต่อไปเป็นเซกซ์แทนต์ ถูกเรียกว่า “เครื่องมือดาราศาสตร์ที่สำคัญที่สุดก่อนจะมีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์.” นักวิทยาศาสตร์ยุคกลางในตะวันออกกลางใช้เครื่องมือนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องเวลาและตำแหน่งของ เทห์ฟากฟ้า.
แอสโตรเลบประกอบด้วยแผนที่ดาวอันประณีตบรรจงสลักบนแผ่นโลหะขัดเงา. แผ่นโลหะนี้ยึดอยู่กับแผ่นรองด้านล่างซึ่งมีการสลักองศาหรือเวลาในรอบวันไว้ที่ขอบด้านนอก. เข็มชี้ที่เลื่อนไปมาได้ (อะลิเดด) มีไว้เพื่อระบุค่ามุมเงยของดาวเมื่อมีการชูแอสโตรเลบขึ้นและห้อยไว้ในระยะหนึ่งช่วงแขน. จากนั้นก็มีการอ่านค่าจากสเกลที่สลักไว้ คล้ายบรรทัดคำนวณ.
แอสโตรเลบที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างช่วยให้ผู้ใช้รู้จักดาวฤกษ์ คำนวณเวลาอาทิตย์ขึ้นและตก รู้ทิศทางของเมกกะ สำรวจภูมิประเทศ คำนวณความสูงของวัตถุ และช่วยนำทาง. มันเป็น “คอมพิวเตอร์พกพา” แห่งยุคนั้น.
[รูปภาพ]
แอสโตรเลบสมัยศตวรรษที่ 13
ควอดแรนต์ของแอสโตรเลบสมัยศตวรรษที่ 14
[ที่มาของภาพ]
Astrolabe: Erich Lessing/Art Resource NY; astrolabe quadrant: © New York Public Library/Photo Researchers Inc.
[ภาพหน้า 16]
ภาพเขียนสมัยศตวรรษที่ 16 รูปนักดาราศาสตร์ ชาวออตโตมานซึ่งกำลังใช้วิธีการที่นักวิชาการชาวอาหรับได้คิดค้นขึ้น
[ภาพหน้า 18]
ทรงกลมท้องฟ้า ส.ศ. 1285
[ภาพหน้า 18]
หนังสือกลุ่มดาวภาษาอาหรับที่เขียนโดยนักดาราศาสตร์อับดุลราฮ์มาน อัล-ซูฟี ประมาณ ส.ศ. 965
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Pages 16 and 17: Art Resource NY
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Manuscript: By permission of the British Library; globe: © The Bridgeman Art Library