การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต—จะเกิดกับคุณได้ไหม?
การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต—จะเกิดกับคุณได้ไหม?
วิลเลียม ซึ่งเป็นครูเกษียณอายุในฟลอริดา สหรัฐ ได้รับอีเมลที่เขาคิดว่ามาจากบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของเขา. อีเมลระบุว่าข้อมูลสำหรับการส่งใบแจ้งค่าบริการของเขาสูญหายไป. วิลเลียมกรอกแบบฟอร์มที่แนบมาแล้วส่งอีเมลกลับไป. เขาไม่รู้ตัวว่าข้อมูลส่วนตัวของเขาถูกส่งให้ศิวะ ซึ่งเป็นอาชญากรในย่านควีนส์ นิวยอร์ก. วันรุ่งขึ้น ศิวะใช้หมายเลขบัตรเครดิตของวิลเลียมซื้อของทางอินเทอร์เน็ต คือซื้อเครื่องพิมพ์รูปสำหรับทำบัตรเพื่อใช้ในการต้มตุ๋นคนอื่นอีก. อีเมลที่วิลเลียมได้รับเป็นหนึ่งใน 100,000 อีเมลที่ศิวะส่งไป. ผู้สืบสวนกล่าวว่ามีประมาณหนึ่งร้อยคนที่ตอบอีเมลนั้นและถูกหลอก.
หญิงวัย 56 ปีคนหนึ่งในควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เริ่มติดต่อฝากรักทางอินเทอร์เน็ตกับชายคนหนึ่งซึ่งเธอคิดว่าเป็นวิศวกรชาวอังกฤษ. เธอส่งเงินไปให้เขา 47,000 ดอลลาร์ก่อนจะรู้ว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นวัย 27 ปีอยู่ที่ไนจีเรีย. *
น่าเศร้า การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตมีอยู่ทั่วไป. รายงาน “สถานการณ์ของอินเทอร์เน็ตปี 2010” ของนิตยสารคอนซูเมอร์ รีพอตส์ กล่าวว่า “ภัยในอินเทอร์เน็ตยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ ทำให้ผู้บริโภคสูญเสียหลายพันล้านดอลลาร์. จำนวนการโจมตีของไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในสหรัฐที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบ. บางครัวเรือนรายงานว่าประสบปัญหาเรื่องนี้หลายครั้ง.” ก่อนจะพิจารณาว่าคุณสามารถป้องกันตัวเองจากการโจมตีเช่นนั้นได้อย่างไร ให้เรามาดูว่าอาชญากรใช้กลวิธีอะไรบ้าง.
เขาโกงอย่างไร?
การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตหลายครั้งเกิดขึ้นทางอีเมล. อีเมลที่วิลเลียมได้รับนั้นเรียกกันว่าอีเมลฟิชชิง (phishing). เหมือนกับการ
เอาเหยื่อล่อปลา อีเมลลักษณะนี้หลอกให้ผู้รับใส่รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลบัญชีธนาคารในเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือบริษัท. นักต้มตุ๋นอาจได้ที่อยู่อีเมลของคุณโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าโปรแกรมคัดแยกอีเมล (e-mail extractor).อีเมลฟิชชิงบางอีเมลอาจบรรลุเป้าหมายแม้ว่าคุณไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ ก็ตาม. การเปิดอีเมลของคุณอาจใส่สปายแวร์ (spy software) ลงในคอมพิวเตอร์ของคุณ. โปรแกรมเหล่านี้อาจบันทึกสิ่งที่คุณทำในคอมพิวเตอร์. บางโปรแกรมบันทึกว่าคุณกดคีย์อะไรบ้างเพื่อขโมยรหัสผ่านและข้อมูลส่วนตัวของคุณ. ส่วนบางโปรแกรมเปิดเว็บไซต์หลอกลวง. คุณจะป้องกันตัวเองได้ไหม?
สิ่งที่คุณทำได้
จงระวังอีเมลที่มีลิงก์น่าสงสัย. การเปิดลิงก์เหล่านั้นอาจทำให้โปรแกรมที่เรียกว่าม้าโทรจัน หรือโทรจัน เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ ซึ่งจะเปิดช่องให้นักฉ้อโกงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และดูข้อมูลส่วนตัวของคุณ. นอกจากนั้น นักต้มตุ๋นยังได้ข้อมูลมีค่าจากฟอรัม เว็บไซต์ลามก เว็บไซต์ที่ให้ซอฟท์แวร์จากแหล่งที่ไม่รู้จัก และเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกด้วย และพวกเขาอาจฝังโปรแกรมสปายแวร์เพื่อขโมยข้อมูล. อีกอย่างหนึ่ง อย่าตอบรับอีเมลซึ่งสัญญาจะให้ผลกำไรที่ดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้.
คุณอาจเคยได้รับข้อความออนไลน์ทำนองนี้: “คอมพิวเตอร์ของคุณอยู่ในอันตราย! คลิกที่นี่เพื่อปกป้องคอมพิวเตอร์ของคุณ!” หรือ “โปรแกรมถนอมหน้าจอฟรี. คลิกที่นี่.” ถ้าคุณคลิกที่นั่น คุณอาจกำลังเปิดสปายแวร์ก็ได้.
ถ้าคุณกำลังหางานทางอินเทอร์เน็ต จงระวังตัว. นักหลอกลวงใช้เว็บไซต์ปลอมเพื่อเรียกเก็บ “ค่าลงทะเบียน” และถึงกับเก็บข้อมูลทางการเงินของคุณด้วยซ้ำ.
สมัยนี้ พวกขโมยฉลาดพอที่จะเข้าสู่ฐานข้อมูลของบริษัทหรือสถาบันการเงิน และขโมยข้อมูล. ในเดือนมกราคม 2007 กลุ่มโจรได้ลอบเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในสหรัฐและได้ข้อมูลของลูกค้าหลายล้านรายการ รวมทั้งข้อมูลบัตรเครดิตด้วย. ที่ไนจีเรีย พวกอาชญากรเข้าไปในฐานข้อมูลของธนาคารหลายแห่ง และขโมยหมายเลขประจำตัว 1.5 ล้านหมายเลขเพื่อเบิกเงินจากเครื่องเอทีเอ็ม. ขณะนี้ พวกลูกจ้างที่ทุจริตและพวกแฮ็กเกอร์นำข้อมูลบัตรเครดิตที่ขโมยมาไปขายในตลาดมืดที่กำลังเฟื่องฟู และพวกเขาขายแม้กระทั่งข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดของบางคนด้วยซ้ำ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ตื่นเถิด!เคยเตือนถึงอันตรายของการหาคู่ทางอินเทอร์เน็ต. โปรดดูฉบับ 8 พฤษภาคม 2005 หน้า 16-18 และฉบับ 8 มิถุนายน 2005 หน้า 12-14.
[กรอบหน้า 11]
อีเมลฟิชชิง (phishing): อีเมลที่หลอกให้ผู้รับใส่รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลบัญชีธนาคารในเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือบริษัท
สปายแวร์: โปรแกรมซึ่งบันทึกสิ่งที่คุณทำในคอมพิวเตอร์
ม้าโทรจัน: โปรแกรมซึ่งทำขึ้นเพื่อฝ่าระบบรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ขณะที่ดูเหมือนว่าทำงานอย่างอื่นที่ไม่เป็นอันตราย
[กรอบ/ภาพหน้า 12, 13]
อย่าตกเป็นเหยื่อ
เพื่อจะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้:
1 เปิดไฟร์วอลล์ไว้เสมอ และอัพเดทระบบปฏิบัติการ โปรแกรม และซอฟท์แวร์ป้องกันไวรัสให้ทันสมัยอยู่เสมอ.
2 สำรองข้อมูลของคุณเป็นประจำ และเก็บข้อมูลที่สำรองไว้ในที่ปลอดภัย.
3 ใช้สามัญสำนึก. อย่ารีบเชื่อข้อมูลในอินเทอร์เน็ต. สุภาษิต 14:15 กล่าวว่า “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.”
4 อย่าโลภ. (ลูกา 12:15) ระวังข้อเสนอ “ฟรี” หรือเว็บไซต์ที่ขายสินค้าในราคาต่ำมาก. นั่นอาจเป็นเหยื่อในการฟิชชิงก็ได้.
5 ระวังอีเมลหรือข้อความด่วนที่คุณไม่ได้ขอให้ส่งมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีลิงก์หรือมีการขอข้อมูลส่วนตัว เช่น ให้ตรวจสอบรหัสผ่าน.—สุภาษิต 11:15
6 เลือกรหัสผ่านที่คนอื่นเดาได้ยาก. เปลี่ยนรหัสผ่านในอินเทอร์เน็ตเป็นระยะ ๆ และอย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันสำหรับหลาย ๆ บัญชี.
7 ให้ข้อมูลบัตรเครดิตหรือข้อมูลธนาคารแก่เว็บไซต์ที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือเท่านั้น.
8 ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณพิมพ์ที่อยู่เว็บไซต์ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสถาบันการเงิน. การสะกดผิดหนึ่งตัวอาจทำให้คุณเข้าไปในเว็บไซต์หลอกลวง.
9 ให้ใช้เว็บไซต์ที่เข้ารหัสในการถ่ายโอนข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต แล้วออกจากระบบของเว็บไซต์นั้นเมื่อคุณดำเนินการเสร็จแล้ว.
10 ตรวจสอบการใช้จ่ายทางบัตรเครดิตและใบแจ้งรายการบัญชีธนาคารอย่างละเอียดและทำบ่อย ๆ. เมื่อคุณเห็นรายการแปลก ๆ ให้ติดต่อบริษัทนั้นทันที.
11 จงระวังเมื่อใช้การเชื่อมโยงไร้สาย (Wi-Fi) สาธารณะ เพราะอาจมีคนขโมยข้อมูลและนำคุณไปสู่เว็บไซต์หลอกลวง.
12 เมื่อระบบถามว่า “จดจำรหัสผ่านนี้ไหม?” ให้ตอบว่าไม่. โปรแกรมโทรจันอาจเข้าไปดูรหัสผ่านของคุณที่เก็บไว้ได้.