“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”—เสียงเรียกที่ช่วยชีวิต
“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”—เสียงเรียกที่ช่วยชีวิต
ไฟลุกท่วมเรือประมงพร้อมกับควันหนาทึบ! ทุกคนในเรือกำลังอยู่ในอันตรายร้ายแรง. เจ้าหน้าที่รักษาการณ์ชายฝั่งกล่าวว่า “ถ้ากัปตันไม่ส่งสัญญาณเมย์เดย์ คงไม่มีใครได้เห็นเรือ ‘นอติคัล เลกาซี’ อีกเลย.” กองรักษาการณ์ชายฝั่งแคนาดาได้รีบไปทันทีและช่วยชีวิตลูกเรือได้ทุกคน. *
“เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!” คำนี้ที่ได้ยินผ่านทางวิทยุเป็นการประกาศว่ามีเหตุฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและเป็นเสียงเรียกขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน. การส่งสัญญาณเมย์เดย์ได้ผลไหม? ในปี 2008 กองรักษาการณ์ชายฝั่งสหรัฐออกปฏิบัติการกู้ภัยมากกว่า 24,000 ครั้ง. พวกเขาช่วยชีวิตได้ถึง 4,910 คน—เฉลี่ยแล้ววันละ 13 คน—และยังช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยอีกกว่า 31,000 คน.
แต่ทำไมเราใช้คำว่า “เมย์เดย์”? และก่อนสมัยที่มีการใช้วิทยุสื่อสาร เรือที่ประสบภัยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโดยวิธีใด?
วิธีการขอความช่วยเหลือในสมัยก่อน
ปี 1588 เรือซานตา มาเรีย เด ลา โรซา ในกองเรืออาร์มาดาของสเปนยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อถูกพายุซัดกระหน่ำ. เรือลำนี้จมลงโดยไม่ปรากฏว่ามีคนรอดชีวิตเลย. ในเหตุการณ์อื่น กะลาสีสมัยก่อนจะชักธงที่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ. แม้แต่ปัจจุบัน ทุกประเทศก็รู้กันว่าเรือที่ชักธงสีขาวและมีเส้นทแยงมุมสีแดงไขว้กันคือเรือที่กำลังขอความช่วยเหลือ.
กะลาสีในทศวรรษ 1760 เริ่มเรียนรู้ระบบสัญญาณที่มองเห็นได้ซึ่งเรียกว่าระบบเซมาฟอร์. ที่จะใช้รหัสนี้ ผู้ส่งสัญญาณถือธงในมือทั้งสองข้างเลียนแบบเข็มนาฬิกา. สัญญาณ “บอกเวลา” แต่ละตำแหน่งเป็นเครื่องหมายแสดงตัวอักษรหรือตัวเลขหนึ่งตัว.
อย่างไรก็ตาม ธง, ปืนใหญ่, และสัญญาณที่มองเห็นจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อคนอื่นอยู่ใกล้พอจะเห็นหรือได้ยินการส่งสัญญาณนั้น. บ่อยครั้ง ลูกเรือที่ตกอยู่ในอันตรายแทบไม่มีความหวังว่าจะมีคนมาช่วยเหลือ. จะแก้ไขสภาพการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร?
วิธีการขอความช่วยเหลือที่ได้ผลมากขึ้น
การพัฒนาครั้งสำคัญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเกิดขึ้นในทศวรรษ 1840. แซมมูเอล มอร์ส คิดค้นรหัสที่พนักงานรับส่งโทรเลขสามารถจะใช้เพื่อส่งข้อความไปตามสายไฟด้วยเครื่องส่งที่ควบคุมด้วยมือ. ตราบเท่าที่พนักงานกดปุ่มค้างเอาไว้ อีกคนหนึ่งที่อยู่ปลายทางก็สามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้าได้. มอร์สได้กำหนดเสียงสั้นกับเสียงยาว หรือจุดกับขีด ผสมกันเพื่อหมายถึงตัวอักษรหรือตัวเลขแต่ละตัว.
เพื่อจะใช้รหัสมอร์สในทะเล กะลาสีไม่ได้ใช้เสียงเหมือนพนักงานโทรเลข แต่ใช้ลำแสงจ้า. เพื่อให้สัญญาณจุด ผู้ส่งสัญญาณจะฉายลำแสงเป็นช่วงสั้น และเพื่อให้สัญญาณขีด เขาจะฉายเป็นช่วงยาว. ไม่นานผู้ส่งสัญญาณก็เริ่มใช้วิธีขอความช่วยเหลือที่พิเศษเฉพาะซึ่งประกอบด้วยจุดสามจุด, ขีดสามขีด, และจุดอีกสามจุด ซึ่งหมายถึงตัวอักษร SOS. *
น่าดีใจ ขอบเขตและระยะทางการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น. กูลเยลโม มาร์โกนีได้ส่งสัญญาณวิทยุครั้งแรกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 1901. ตอนนี้สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ “SOS” โดยใช้คลื่นวิทยุแทนการใช้ลำแสงได้แล้ว. ถึงกระนั้น ผู้ส่งวิทยุยังไม่สามารถขอความช่วยเหลือเป็นคำพูดได้. ณ เวลานั้นยังไม่มีการใช้คำ “เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!”
ในที่สุด ก็สามารถถ่ายทอดเสียงพูดจริง ๆ ผ่านคลื่นวิทยุได้ในปี 1906 เมื่อเรจินัลด์ เฟสเซนเดนได้ถ่ายทอดเสียงพูดและเสียงดนตรี. กะลาสีที่มีเครื่องรับวิทยุสามารถได้ยินการถ่ายทอดของเฟสเซนเดนห่างออกไป 80 กิโลเมตร. ในปี 1915 ผู้คนอีกมากมายตื่นเต้นที่ได้ยินเสียงพูดสด ๆ ถ่ายทอดจากอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ ไปยังหอไอเฟลในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งห่างกันถึง 14,000 กิโลเมตร! และนึกภาพความตื่นเต้นของกะลาสีในเรือเอส. เอส. อเมริกา ในปี 1922 เมื่อมีการสนทนาทางวิทยุจากเรือไปถึงฝั่งเป็นครั้งแรกระหว่างเมืองดีลบีช รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐและเรือของพวกเขา ซึ่งอยู่ไกลออกไปในทะเล 600 กิโลเมตร.
กำหนดมาตรฐานเดียวขึ้นมาเพื่อขอความช่วยเหลือ
ไม่นาน หลายคนในทศวรรษ 1920 และ 1930 ก็เริ่มใช้วิทยุสำหรับการสนทนา. เนื่องจากลูกเรือในทะเลอาจพูดภาษาต่างกัน กัปตันจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเร่งด่วนซึ่งทุกคนจะเข้าใจได้โดยวิธีใด? อนุสัญญาว่าด้วยโทรเลขวิทยุนานาชาติตอบประเด็นนี้ในปี 1927 โดยกำหนดให้คำ “เมย์เดย์” เป็นคำที่ใช้ขอความช่วยเหลือที่ทุกชาติเข้าใจได้. *
เราดีใจที่การสื่อสารยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ. ยกตัวอย่าง เรดาร์และระบบกำหนดตำแหน่งทั่วโลกได้เข้ามาแทนที่ปืนใหญ่และสัญญาณธง. อีกอย่างหนึ่ง วิทยุได้กลายมาเป็นเครื่องมือมาตรฐานและหน่วยงานกู้ภัยก็ติดตามฟังคลื่นวิทยุและเฝ้าระวังตลอดเวลา. ดังในกรณีเรือนอติคัล เลกาซี ไม่ว่าเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไหนและเมื่อไร เสียงร้อง “เมย์เดย์! เมย์เดย์! เมย์เดย์!” ก็คงมีคนได้ยิน. ไม่เหมือนคนในยุคอดีต ถ้าคุณประสบภัยในทะเล แทนที่จะมีความหวังเพียงริบหรี่ว่าจะมีคนมาช่วย คุณย่อมมั่นใจได้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 รายงานนี้มีอยู่ในหนังสือเรื่องจริงเกี่ยวกับการกู้ภัยและการรอดชีวิต—ผู้กล้าหาญซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของแคนาดา (ภาษาอังกฤษ).
^ วรรค 11 อักษร SOS ถูกเลือกมาใช้เพราะรับส่งได้ง่าย. อักษรสามตัวนี้ไม่มีความหมายพิเศษใด ๆ.
^ วรรค 15 คำว่า “เมย์เดย์” จะต้องพูดสามครั้งเพื่อแสดงความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความสับสนกับคำอื่น.
[ภาพหน้า 27]
ไฟลุกท่วมเรือ “นอติคัล เลกาซี” และมีควันหนาทึบ
[ที่มาภาพ]
Courtesy Fisheries and Oceans Canada reproduced with the permission of © Her Majesty the Queen in Right of Canada 2010
[ภาพหน้า 28]
เพื่อจะใช้รหัสมอร์สในทะเล กะลาสีไม่ได้ใช้เสียงเหมือนพนักงานโทรเลข แต่ใช้ลำแสงจ้า
[ที่มาภาพ]
© Science and Society/SuperStock