การข้ามทวีปที่ใช้เวลากว่า 120 ปี
การข้ามทวีปที่ใช้เวลากว่า 120 ปี
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2004 รถไฟที่ยาวเกือบ 1.1 กิโลเมตรค่อย ๆ เคลื่อนขบวนเข้าไปที่สถานีรถไฟดาร์วินในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ดินแดนที่อยู่ทางเหนือของออสเตรเลียซึ่งมีประชากรอยู่น้อยมาก. ผู้คนนับพันรออยู่เพื่อฉลองความยินดีที่รถไฟขบวนนั้นมาถึง. รถไฟที่เรียกกันว่ากัน เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์เป็นระยะทาง 2,979 กิโลเมตร โดยแล่นข้ามทวีปจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือเป็นเวลา 2 วัน.—ดูกรอบ “ตำนานเบื้องหลังชื่อนี้” หน้า 25.
คนที่รอดูรถไฟซึ่งแบกกล้องมาด้วยมากกว่า 2,000 คนต่างก็มายืนออกันอยู่ข้างทางรถไฟ ดังนั้นรถไฟขบวนนี้จึงต้องแล่นช้าลงเมื่อมันใกล้จะถึงเมืองดาร์วิน. ผลคือ รถไฟมาถึงช้าไป 30 นาที. แต่ก็ไม่มีใครบ่น. ประชาชนรอคอยมานานกว่าร้อยปีแล้ว. ทางรถไฟจากเมืองแอดิเลดถึงเมืองดาร์วิน ซึ่งสร้างข้ามภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุด, ร้อนที่สุด, และอ้างว้างที่สุดแห่งหนึ่งบนแผ่นดินโลกนั้นต้องใช้เวลาถึง 126 ปีจึงแล้วเสร็จ.
เหตุที่จำเป็นต้องมีทางรถไฟ
ปลายทศวรรษ 1870 เมืองแอดิเลดที่เป็นอาณานิคมเล็ก ๆ ทางตะวันออกสุดของอ่าวที่กว้างใหญ่ซึ่งเรียกกันว่าเกรต ออสเตรเลียน ไบต์ ใฝ่ฝันที่จะเห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นและต้องการสร้างเส้นทางการค้าที่ดีขึ้นเพื่อจะไปถึงภูมิภาคที่อยู่ทางเหนือสุดได้. สหรัฐสร้างทางรถไฟข้ามทวีปของตนเสร็จในปี 1869. เมื่อนึกถึงทางรถไฟที่คล้ายกันนั้น ราษฎรในเมืองแอดิเลดก็ปรารถนาจะสร้างทางรถไฟเชื่อมอาณานิคมของตนไปถึงเมืองพอร์ตดาร์วิน ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกเมืองดาร์วินในสมัยนั้น. ทางหลวงที่สร้างด้วยเหล็กกล้านี้ไม่เพียงช่วยให้เข้าไปถึงส่วนที่อยู่กลางทวีปออสเตรเลียได้ง่ายขึ้น แต่จะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางไปยังทวีปเอเชียและยุโรปได้มากทีเดียว.
แนวคิดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ทางรถไฟสายนี้จะต้องข้ามเส้นทางที่แสนยากลำบากทั้งช่วงที่เป็นภูเขาและเทือกเขาซึ่งเต็มไปด้วยหิน, พุ่มไม้ที่หนาทึบ, และทะเลทรายที่มีหินขรุขระปะปนอยู่ ซึ่งบางช่วงของทะเลทรายก็มักจะเปลี่ยนเป็นโคลนเลนที่เฉอะแฉะหรือกลายเป็นกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากหลังฝนตก. นักสำรวจที่ชื่อจอห์น สจ๊วต เดินทางข้ามภูมิประเทศที่โหดร้ายนี้สำเร็จได้ในที่สุด ในความพยายามรอบที่สามของเขาเมื่อปี 1862. แต่ระหว่างการเดินทางเที่ยวนั้น ทั้งตัวเขาและคณะก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอดเนื่องจากขาดอาหารและน้ำ.
ความร้อนระอุ, พายุทราย, และน้ำท่วมฉับพลัน
ทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรคมากมาย ชาวเมืองแอดิเลดก็ไม่ย่อท้อ. ในปี 1878 พวกเขาเริ่มสร้างรางรถไฟจากเมืองพอร์ตออกัสตา. โดยใช้เครื่องมือธรรมดา ๆ, ม้า, และอูฐ คนงานสร้างทางรถไฟ 900 คนสร้างทางขึ้นไปทางเหนือผ่านเทือกเขาฟลินเดอร์ส ตามเส้นทางของชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินี. เส้นทางนี้ได้ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำไม่กี่บ่อที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากรถจักรไอน้ำต้องใช้น้ำในการขับเคลื่อน.
ทางรถไฟ 100 กิโลเมตรแรกใช้เวลาสร้างสองปีครึ่ง. อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนบางครั้งสูงถึง 50 องศาเซลเซียส. สภาพอากาศที่แห้งแล้งเช่นนี้ทำให้เล็บมือแตก, น้ำหมึกแห้งคาปลายปากกาก่อนที่จะเขียนลงบนกระดาษ, และรางรถไฟก็คดงอ รถไฟจึงตกรางบ่อยมาก. หลังจากพายุทรายพัดมา พวกคนงานต้องตักทรายออกจากรางรถไฟเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซึ่งทรายบางกองสูงถึงสองเมตร. บ่อยครั้ง พวกคนงานยืนดูด้วยความสิ้นหวังเมื่อพายุอีกหลายลูกหอบเอาทรายมากองทับถมกันบนรางรถไฟของพวกเขา.
แล้วฝนก็มา. ภายในไม่กี่นาที ทางน้ำที่ถูกแดดแผดเผาจนขาวโพลนก็กลับกลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากซึ่งทำให้รางรถไฟคดงอ แถมยังทำให้งานที่พวกเขาทำมาเป็นเดือน ๆ สูญสลายไปหมดสิ้น และทำให้รถไฟรวมทั้งผู้โดยสารติดค้างอยู่ระหว่างทาง. พนักงานขับรถไฟคนหนึ่งไปล่าแพะป่าเพื่อจะมีอาหารให้ผู้โดยสารกิน. หลายปีต่อมา เครื่องบินต้องนำอาหารไปให้รถไฟขบวนที่ติดค้างอยู่โดยทิ้งลงมาพร้อมกับร่มชูชีพ.
หลังจากฝนตก พืชทะเลทรายก็กลับงอกงามขึ้นอีก และนั่นก็เหมือนกับการกวักมือเรียกฝูงตั๊กแตนให้แห่กันมา. ระหว่างที่เกิดภัยตั๊กแตนครั้งหนึ่ง ฝูงแมลงที่ถูกรถไฟทับจนบี้แบนทำให้รางรถไฟลื่นมากจนถึงกับต้องเพิ่มหัวรถจักรอีกคันหนึ่งเพื่อดันขบวนรถไฟจากท้ายขบวน. ภัยร้ายจากหนูก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง. พวกหนูเขมือบทุกสิ่งที่มันคิดว่ากินได้ ไม่ว่าจะเป็นเสบียงในแคมป์สำหรับคนงาน, ผ้าใบ, เครื่องเทียมสัตว์, และแม้กระทั่งรองเท้าบูต. สุสานที่อ้างว้างซึ่งอยู่ข้างทางรถไฟเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงการระบาดของโรคไทฟอยด์ และเป็นหลักฐานที่แสดงถึงสภาพชีวิตในค่ายที่ไม่ถูกสุขอนามัยในช่วงต้น ๆ ของโครงการก่อสร้างนี้.
สำหรับความบันเทิง พนักงานบนรถไฟชอบที่จะเล่นตลกแบบแผลง ๆ. ครั้งหนึ่ง เมื่อพื้นที่บริเวณอะลิซสปริงส์มีฝูงกระต่ายออกอาละวาด พวกพนักงานรถไฟได้ลอบนำกระต่ายขึ้นไปบนกัน. หนังสือเดอะ กัน—จากแอดิเลดถึงอะลิซ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อผู้โดยสารเปิดประตูห้องผู้โดยสารออกไปเพื่อไปรับประทานอาหารเช้า พวกเขาก็เห็น “กระต่ายเป็น ๆ วิ่งพล่านไปทั่ว” ทางเดิน. ในการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง บางคนได้เอาเจ้าจิงโจ้น้อยขึ้นไปปล่อยในตู้นอน.
บางครั้งชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินีซึ่งอาศัยอยู่ในเขตที่ห่างไกลก็เดินเข้ามาใกล้รางรถไฟ เมื่อรถไฟขบวนนี้แล่นผ่าน. จากระยะที่ปลอดภัย พวกเขาเห็นผู้คนอยู่ในนั้น. ไม่แปลกที่ชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้รู้สึกระแวงสงสัยหรือไม่ก็กลัวในตอนแรก. ที่จริง บางคนคิดว่า “ปิศาจงูยักษ์” กลืนผู้โดยสารเหล่านั้นเข้าไปทั้งเป็น!
พักยาว
หลังจากตรากตรำทำงานมา 13 ปี รางรถไฟที่เหลือราว ๆ 470 กิโลเมตรก่อนจะถึงเมืองอะลิซสปริงส์ก็เป็นอันต้องหยุดการก่อสร้างเพราะเงินทุนหมด. วารสารออสเตรเลียน จีโอกราฟิก กล่าวว่า “โครงการที่ใหญ่โตขนาดนั้น . . . ทำให้อาณานิคมดังกล่าวแทบหมดเนื้อหมดตัว.” ในปี 1911 รัฐบาลกลางได้เข้ามาควบคุมดูแลโครงการนั้น และต่อขยายทางรถไฟไปจนถึงเมืองอะลิซสปริงส์. อย่างไรก็ตาม แผนงานที่จะสร้างทางรถไฟให้เสร็จถึงเมืองดาร์วิน ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนืออีก 1,420 กิโลเมตรนั้นก็ถูกแขวนไว้ก่อน.
เมื่อกัน มาถึงเมืองอะลิซสปริงส์เป็นครั้งแรกในปี 1929 ประชาชนทั้งเมืองซึ่งมีราว ๆ 200 คนในเวลานั้นก็มาฉลองความยินดีกัน. ชาวเมืองนั้นรู้สึกทึ่งเมื่อเห็นตู้เสบียง แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากที่สุดก็คือห้องอาบน้ำที่โอ่อ่า. ในสมัยนั้น ที่จะมีอ่างอาบน้ำบนรถไฟถือว่าเป็นทั้งเรื่องแปลกใหม่และเป็นสิ่งที่หรูหรามาก. อะลิซสปริงส์ยังคงเป็นสถานีปลายทางที่อยู่ทางเหนือจนถึงปี 1997. ในปีนั้นเอง ดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีและรัฐบาลกลางเห็นชอบที่จะสร้างทางรถไฟส่วนขยายจากเมืองอะลิซสปริงส์ถึงเมืองดาร์วินที่รอคอยกันมานานให้แล้วเสร็จ. งานนี้เริ่มขึ้นในปี 2001.
มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติขนาดมหึมาติดตั้งรางรถไฟมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 1.6 กิโลเมตรต่อวัน โดยสร้างทางรถไฟข้ามสะพานใหม่ ๆ ที่ทนต่อภาวะน้ำท่วมได้ ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 90 สะพานตลอดเส้นทางนั้น. มีการโฆษณาทางรถไฟสายนี้ว่าเป็น “โครงการที่ใหญ่ที่สุดของรัฐในทวีปออสเตรเลีย” ทางรถไฟที่ยาว 1,420 กิโลเมตรนี้สร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2003 ก่อนเวลาที่กำหนดไว้และอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้.
เสน่ห์ของเขตที่ห่างไกล
ปัจจุบัน เมืองแอดิเลดที่ทันสมัยยังคงเป็นสถานีต้นทางที่กัน จะเคลื่อนขบวนออกในตอนบ่ายเพื่อเดินทางข้ามทวีป. โดยทิ้งชานเมืองไว้เบื้องหลัง หัวรถจักรสองคันพร้อมกับตู้โดยสารราว 40 ตู้ก็แล่นไปตามทางของมันผ่านนาข้าวสาลีที่
เป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อไปยังเมืองพอร์ตออกัสตา ซึ่งอยู่เกือบ 300 กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือ. ที่นี่ ทัศนียภาพเปลี่ยนไปจนน่าตกตะลึง คือมีแต่ผืนทรายที่แห้งแล้ง, ต้นซอล์ตบุช, และไม้พุ่มที่ขึ้นติดต่อกันยาวเหยียดจนถึงสุดขอบฟ้า.เลยจากเมืองพอร์ตออกัสตา กัน ก็แล่นไปบนทางรถไฟสายใหม่ที่ทนได้ทุกสภาพอากาศ ซึ่งบางช่วงอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกราว ๆ 250 กิโลเมตรจากทางรถไฟสายเก่าที่มักจะถูกน้ำท่วม. ราตรีกาลครอบคลุมเหนือทะเลทราย และผู้โดยสารต่างก็หลับใหลขณะที่รถไฟแล่นไปอย่างราบรื่นผ่านทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งแห้งขอดเกือบตลอดทั้งปี แต่ก็ส่องประกายระยิบระยับใต้แสงจันทร์หลังฝนตก. ดวงดาวดารดาษเต็มท้องฟ้าที่ไร้เมฆหมอก. แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือเสียงกระฉึกกระฉักของรถไฟที่เคยได้ยินกันในอดีต เนื่องจากมีการเชื่อมรางรถไฟต่อกันเป็นรางยาวรางเดียวโดยไม่มีรอยต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อลดงานซ่อมบำรุง.
พอฟ้าสาง ทะเลทรายใกล้เมืองอะลิซสปริงส์ก็ทอประกายด้วยแสงสีแดงและสีเหลืองทองของดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ. ผู้โดยสารคนหนึ่งพูดว่า “ภาพนี้ช่างน่าครั่นคร้ามเหลือเกิน. แม้แต่ขณะที่อยู่ในรถไฟ ผมก็ยังสัมผัสได้ถึงพลังของดวงอาทิตย์. มันสาดแสงอยู่เหนือทะเลทรายที่เป็นลูกคลื่นต่อกันเป็นผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา, มีสีสันสวยงาม, และน่าสะพรึงกลัวในความเวิ้งว้างว่างเปล่าซึ่งแผ่คลุมไปทั่ว. นี่เป็นที่ที่ทำให้ผมรู้สึกถึงความกระจ้อยร่อยของตัวเอง.”
จากใจกลางประเทศถึงเขตร้อน
หลังจากจอดพักที่เมืองอะลิซสปริงส์ในช่วงบ่าย กัน ก็แล่นต่อไปถึงเมืองแคเทอรีน และแล้วก็ไปถึงเมืองดาร์วินในเขตร้อน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่อยู่ทางตอนเหนือ. แลรีย์ เยอเรส ผู้จัดการรถไฟขบวนที่เดินทางข้ามทวีปเที่ยวปฐมฤกษ์ของกัน กล่าวว่า ตู้โดยสารที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ภายในอย่างมิดชิดทำให้ “ผู้โดยสารบนกัน เดินทางได้อย่างแสนสำราญ.” เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พวกเขาก็ได้แค่นึกภาพถึงอันตรายและความยากลำบากต่าง ๆ ที่ผู้บุกเบิกรุ่นแรก ๆ ได้ประสบ.
นอกจากจะช่วยพัฒนาด้านการค้าและเป็นการเดินทางโดยรถไฟที่ดีเยี่ยมที่สุดสายหนึ่งของโลกแล้ว กัน ยังนำความเจริญของโลกในสมัยปัจจุบันเข้าไปถึงใจกลางประเทศด้วย. หญิงสาวชาวอะบอริจินีวัย 19 ปีซึ่งเห็นการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ของรถไฟขบวนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2004 บอกว่า “ฉันไม่เคยเห็นรถไฟมาก่อนในชีวิต. มันช่างสวยงามเหลือเกิน.”
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
ตำนานเบื้องหลังชื่อนี้
กันเป็นคำที่ย่อมาจากชื่อเล่นอัฟกัน เอกซเพรส. รถไฟขบวนนี้ถูกเรียกตามชื่อของคนขี่อูฐชาวอัฟกันได้อย่างไรนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด. อย่างไรก็ตาม ชื่อเล่นนี้ชวนให้นึกถึงผู้อพยพที่ทรหดอดทนเหล่านั้นซึ่งช่วยแผ้วถางทางให้เข้าไปถึงใจกลางประเทศออสเตรเลียได้. ในกลุ่มที่เรียกกันว่าชาวอัฟกันนั้น ที่จริงหลายคนมาจากที่ต่าง ๆ กันอย่างเช่น บาลูชิสถาน, อียิปต์, ทางเหนือของอินเดีย, ปากีสถาน, เปอร์เซีย, และตุรกี.
อูฐของพวกเขากลายเป็นพาหนะในแถบใจกลางประเทศ พวกมันคุกเข่าลงหรือยืนขึ้นอย่างว่าง่ายเมื่อได้ยินคำสั่งว่า “ฮูชตา!” ขบวนอูฐซึ่งอาจมีถึง 70 ตัวได้ขนส่งผู้คนและสินค้าด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอประมาณ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. เมื่อการสร้างถนนและทางรถไฟทำให้ขบวนอูฐไม่จำเป็นอีกต่อไป ชาวอัฟกันจึงปล่อยพวกมันเป็นอิสระ. ปัจจุบันนี้ มีลูกหลานของอูฐเหล่านั้นจำนวนหลายแสนตัวท่องไปทั่วพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลีย.—ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) 8 เมษายน 2001 หน้า 16-17.
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Northern Territory Archives Service, Joe DAVIS, NTRS 573
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Train photos: Great Southern Railway